ข้ามไปเนื้อหา

อาร์เอ็มเอส มอริเทเนีย (ค.ศ. 1938)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพเรือมอริเทเนียขณะแล่นอยู่ในทะเล ปลายทศวรรษที่ 1940
ประวัติ
สหราชอาณาจักร
ชื่อมอริเทเนีย (Mauretania)
เจ้าของ
ท่าเรือจดทะเบียนลิเวอร์พูล
เส้นทางเดินเรือเซาแทมป์ตัน-เลออาฟวร์-โคฟ-นิวยอร์ก
อู่เรือแคมเมิลเลิร์ด, เบอร์เคนเฮด, อังกฤษ[1]
Yard number1029
ปล่อยเรือ24 พฤษภาคม 1937[1]
เดินเรือแรก28 กรกฎาคม 1938[1]
Christened28 กรกฎาคม 1938[1]
Maiden voyage17 มิถุนายน 1939[1]
บริการ1939[1]
หยุดให้บริการ1965[1]
รหัสระบุหมายเลขประจำเรือ 5522977
ความเป็นไปแยกชิ้นส่วนที่โดส. ดับเบิลยู. วอร์ด ในปี 1965–66[1]
ลักษณะเฉพาะ
ประเภท: เรือเดินสมุทร
ขนาด (ตัน): 35,738 ตันกรอส[1] 19,654 ตันเนต
ความยาว: 772 ฟุต (235 เมตร)[1]
ความกว้าง: 89 ฟุต (27 เมตร)[1]
ระบบขับเคลื่อน:
ความเร็ว: 23 นอต (43 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 26 ไมล์ต่อชั่วโมง) (บริการ)[1]
ความจุ:
  • ผู้โดยสาร 1,360 คน[1]
  • ผู้โดยสาร 1,127 คน (ตั้งแต่ปี 1962)[1]
ลูกเรือ: 802 คน

อาร์เอ็มเอส มอริเทเนีย (อังกฤษ: RMS Mauretania) เป็นเรือเดินสมุทรสัญชาติบริติช ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1938 ณ อู่ต่อเรือแคมเมิลเลิร์ด ในเมืองเบอร์เคนเฮด ประเทศอังกฤษ และแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1939 เรือลำนี้เป็นหนึ่งในเรือลำแรก ๆ ที่สร้างขึ้นสำหรับสายการเดินเรือคูนาร์ด-ไวต์สตาร์ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่หลังจากการควบรวมกิจการระหว่างคูนาร์ดไลน์และไวต์สตาร์ไลน์ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1934 เมื่อเรือมอริเทเนียลำแรกถูกปลดระวางในปี ค.ศ. 1935 บริษัทจึงได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อเรือกลไฟพายโดยสารชื่อควีนของบริษัทเรดฟันเนิลให้เป็นมอริเทเนียชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทคู่แข่งนำชื่อดังกล่าวไปใช้ และรักษาชื่อนี้ไว้สำหรับเรือลำใหม่[2]

เรือลำใหม่นี้ได้รับการประเมินว่ามีน้ำหนักบรรทุกรวม 35,739 ตันกรอส มีความยาวตลอดลำ 772 ฟุต (235 เมตร) กว้าง 89 ฟุต (27 เมตร)[1] และมีรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายกับเรืออาร์เอ็มเอส ควีนอลิซาเบธ ขับเคลื่อนด้วยกังหันไอน้ำพาร์สันส์แบบเฟืองทดรอบเดี่ยวจำนวน 2 ชุด ให้กำลังขับเพลา 42,000 แรงม้า (31,000 กิโลวัตต์) และไปยังใบจักรคู่[ต้องการอ้างอิง] ความเร็วในการให้บริการของเรือคือ 23 นอต (43 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)[1] โดยมีความเร็วสูงสุด 26 นอต (48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)[ต้องการอ้างอิง]

การออกแบบและการสร้าง

[แก้]
แบบจำลองของเรือมอริเทเนีย สร้างโดยบริษัทแคมเมิลเลิร์ด ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์วิลเลียมสัน

เรือมอริเทเนียลำที่สองสร้างขึ้นโดยบริษัทแคมเมิลเลิร์ด ในเมืองเบอร์เคนเฮด และเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดที่สร้างขึ้นในประเทศอังกฤษ ณ เวลานั้น เรือลำนี้ยังเป็นเรือลำที่สองที่ส่งมอบให้แก่บริษัทคูนาร์ด-ไวต์สตาร์ไลน์ หลังจากการควบรวมกิจการ เรือมอริเทเนียถูกวางกระดูกงูในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1937 โดยมีหมายเลขอู่ต่อเรือคือ 1029 เรือโดยสารขนาดกลางลำใหม่ของคูนาร์ดได้รับการปล่อยลงน้ำในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1938 โดยแมรี เบตส์ ภริยาของเพอร์ซีย์ เบตส์ ประธานบริษัทคูนาร์ด-ไวต์สตาร์ไลน์

วันนี้เป็นวันสำคัญยิ่ง ไม่เพียงแต่สำหรับตัวข้าพเจ้า แต่ยังรวมถึงชาวเมอร์ซีย์ไซด์ทั้งหมดด้วย การเปิดตัวเรือลำใหญ่ที่สุดที่เคยถูกสร้างขึ้นในอังกฤษ ข้าพเจ้าหวังว่าเรือลำนี้จะสามารถสร้างความประทับใจและความผูกพันแก่บุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องจากทั้งสองฝั่งแอตแลนติกเช่นเดียวกับเรือลำก่อนหน้าที่มีชื่อเดียวกัน ข้าพเจ้าขออาราธนาความสุข ความเจริญ และความสำเร็จจงมีแด่เรือลำนี้ และแก่ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่หรือโดยสารอยู่บนเรือลำนี้ทุกคน ข้าพเจ้าขอตั้งชื่อเรือลำนี้ว่า "มอริเทเนีย"

— เลดีเบตส์ ในพิธีปล่อยเรือ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1938

เรือลำนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า "มอริเทเนีย" เพื่อเป็นเกียรติแก่เรือเดินสมุทรที่เคยทำลายสถิติความเร็วมาก่อน และได้ปลดระวางไปแล้วในปี ค.ศ. 1935[1] เรือลำนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้บริการในเส้นทางระหว่างกรุงลอนดอนและนครนิวยอร์ก และเป็นเรือลำใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยแล่นผ่านแม่น้ำเทมส์และใช้ท่าเรือโรยัลด็อกส์ เรือลำนี้ยังถูกออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่แทนที่หนึ่งในเรือควีนของคูนาร์ดเมื่อเรือลำนั้นเข้ารับการซ่อมบำรุง

ที่พักอันทันสมัยและมีสไตล์ของเรือมอริเทเนียลำใหม่ นับเป็นการยกระดับมาตรฐานของห้องโดยสาร ห้องสาธารณะ และสิ่งอำนวยความสะดวกทั่วไปที่สายการเดินเรือคูนาร์ด-ไวต์สตาร์ มอบให้แก่ผู้โดยสารทุกระดับชั้นอย่างเห็นได้ชัด

สงครามโลกครั้งที่สอง

[แก้]
ภาพเรือมอริเทเนียบนโปสต์การ์ดเก่า
ปกหนังสือการเดินทางครั้งแรก

เรือมอริเทเนียออกเดินทางครั้งแรกจากลิเวอร์พูล มุ่งหน้าสู่นิวยอร์กในวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1939 ภายใต้การบัญชาการของกัปตันอาร์เทอร์ ทิลล็อตสัน บราวน์[ต้องการอ้างอิง] (ผู้เคยนำเรือมอริเทเนียลำก่อนไปยังโรงแยกชิ้นส่วนเรือ) หลังจากเทียบท่าอยู่ในนิวยอร์กเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เรือได้เดินทางกลับมายังเซาแทมป์ตันโดยแวะจอดที่แชร์บูร์ในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1939 เช่นเดียวกับเรืออาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย เมื่อ 25 ปีก่อน เรือมอริเทเนียอยู่ในช่วงเวลาการให้บริการเชิงพาณิชย์เพียงสั้น ๆ ก่อนที่การปะทุของสงครามจะหยุดชะงักการดำเนินงานนี้ไปนานกว่า 6 ปี เมื่อเสร็จสิ้นการเดินทางครั้งต่อไป เรือมอริเทเนียได้แวะจอดที่เซาแทมป์ตัน[1] เลออาฟวร์ และสุดท้ายที่ลอนดอน ที่ซึ่งเรือได้เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือคิงจอร์จที่ 5 ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เรือลำนี้ได้ถูกเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือมาให้บริการระหว่างลอนดอนและนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเส้นทางที่ออกแบบมาสำหรับเรือลำนี้โดยเฉพาะ ณ ที่นี้ เรือลำนี้ได้เข้ามาเสริมทัพกับเรือเอ็มวี บริแทนนิก (MV Britannic) และเอ็มวี จอร์จิก (MV Georgic) บนเส้นทางเดียวกัน[3]

เรือมอริเทเนียในตัวเรือสีเทาได้เข้าเทียบท่าที่เมืองนิวพอร์ตนิวส์ รัฐเวอร์จิเนีย โดยมีเชลยศึกชาวเยอรมันจำนวน 2,036 นายอยู่บนเรือ ในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1942

ในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1939 เรือได้ออกเดินทางครั้งสุดท้ายก่อนสงครามไปยังนิวยอร์ก เรือได้เริ่มต้นการเดินทางกลับในวันที่ 30 กันยายน และในวันที่ 2 ตุลาคม สถานีวิทยุภาษาอังกฤษของเยอรมนีที่ตั้งอยู่ในฮัมบวร์คได้ออกอากาศข้อความที่ส่อถึงภัยคุกคามต่อเรือลำนี้[4] เมื่อกลับมาถึง เรือก็ถูกเรียกใช้โดยรัฐบาล เรือมอริเทเนียได้รับการติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 6 นิ้ว (152 มิลลิเมตร) และอาวุธขนาดเล็กอื่น ๆ โดยมีการทาสีเรือเป็นสีเทาตามแบบเรือรบ จากนั้นจึงถูกส่งไปยังสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 1939

เรือมอริเทเนียจอดนิ่งอยู่ในท่าเรือนิวยอร์กเป็นเวลาสามเดือน โดยจอดเรียงเคียงกับเรืออาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ อาร์เอ็มเอส ควีนแมรี และเอสเอส นอร์ม็องดี ของสายการเดินเรือเฟรนช์ไลน์[1] จนกระทั่งมีการตัดสินใจนำเรือลำนี้ไปใช้เป็นเรือขนส่งกำลังพล ในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1940 เรือได้ออกเดินทางจากนิวยอร์กมุ่งหน้าสู่ซิดนีย์ โดยผ่านคลองปานามา เพื่อปรับปรุงสภาพเรือให้เหมาะสมกับภารกิจใหม่[1] งานปรับปรุงครั้งนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน และในเดือนพฤษภาคม เรือก็ได้ออกเดินทางจากซิดนีย์ในฐานะส่วนหนึ่งของขบวนเรือขนส่งกำลังพลที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เรือที่ร่วมเดินทางไปด้วยในครั้งนี้ได้แก่ เรือควีนแมรี ควีนเอลิซาเบธ และอาควิเทเนีย พร้อมด้วยทหาร 2,000 นาย โดยมีเส้นทางผ่านแอฟริกาใต้ มุ่งหน้าสู่แม่น้ำไคลด์[ต้องการอ้างอิง] เรือโดยสารลำอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงในขบวนเรือครั้งยิ่งใหญ่นี้ ได้แก่ อาร์เอ็มเอส เอ็มเพรสออฟบริเตน (RMS Empress of Britain) อาร์เอ็มเอส เอ็มเพรสออฟแคนาดา (RMS Empres of Canada) อาร์เอ็มเอส เอ็มเพรสออฟเอเชีย (RMS Empress of Asia) และเอสเอส นิวอัมสเตอร์ดัม (SS Nieuw Amsterdam) ในช่วงเริ่มต้นของสงคราม เรือลำนี้ได้ทำการขนส่งกำลังพลชาวออสเตรเลียไปยังคลองสุเอซ อินเดีย และสิงคโปร์ แต่ในภายหลังได้ปฏิบัติหน้าที่ส่วนใหญ่ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ขนส่งเชลยศึกชาวอิตาลีจากตะวันออกกลางไปยังแอฟริกาใต้ เพื่อควบคุมตัวหลังจากพ่ายแพ้ในแอฟริกาเหนือ[ต้องการอ้างอิง] เช่นดียวกับเรืออาควิเทเนีย ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ในสงคราม เรือลำนี้ได้เดินทางเป็นระยะทางมากกว่า 500,000 ไมล์ทะเล (930,000 กิโลเมตร) โดยเริ่มจากการข้ามมหาสมุทรอินเดียเป็นครั้งแรก จากนั้นปฏิบัติการในมหาสมุทรแอตแลนติก ร่วมกับกองทัพสหรัฐและแคนาดา และสุดท้ายได้เข้าร่วมปฏิบัติการในมหาสมุทรแปซิฟิก[ต้องการอ้างอิง] หนึ่งในภารกิจการเดินเรือในช่วงสงครามนั้นใช้ระยะทางทั้งสิ้น 28,662 ไมล์ทะเล (53,082 กิโลเมตร) โดยใช้เวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 82 วัน[ต้องการอ้างอิง] ในระหว่างการเดินทางอันยิ่งใหญ่นี้ เรือได้ทำลายสถิติความเร็วในการเดินทางข้ามมหาสมุทรจากเมืองฟรีแมนเทิล ประเทศออสเตรเลีย ไปยังเมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้[ต้องการอ้างอิง] เรือสามารถเดินทาง 4,000 ไมล์ (6,400 กิโลเมตร) ได้ภายในเวลา 8 วัน 19 ชั่วโมง ด้วยความเร็วเฉลี่ย 21.06 นอต (39.00 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เรือขนส่งกำลังพลได้ออกเดินทางจากนครนิวยอร์กอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1943 และสิ้นสุดการเดินทางในบอมเบย์ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1943 โดยมีการแวะจอดระหว่างทางที่เกาะตรินิแดด เมืองรีโอเดจาเนโร เคปทาวน์ และดีเอโกซัวเรซ[ต้องการอ้างอิง] ในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1944 เรือได้ประสบอุบัติเหตุชนท้ายเรือบรรทุกน้ำมันแฮตครีก (Hat Creek) สัญชาติอเมริกัน อย่างไม่รุนแรงในท่าเรือนิวยอร์ก[ต้องการอ้างอิง]

ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรือลำนี้ได้เดินทางไปเป็นระยะทางกว่า 540,000 ไมล์ (870,000 กิโลเมตร) และขนส่งกำลังพลไปมากกว่า 340,000 นาย[ต้องการอ้างอิง] เรือมอริเทเนียไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีความเร็วเป็นพิเศษ และในช่วงหกปีของการปฏิบัติหน้าที่ในสงคราม เครื่องยนต์ของเรือได้รับการดูแลน้อยมาก แต่ยังคงสามารถทำความเร็วได้ในปี ค.ศ. 1945 โดยทำการเดินทางจากบอมเบย์ไปยังสหราชอาณาจักรผ่านแหลมกู๊ดโฮปด้วยความเร็วเฉลี่ย 23.4 นอต (43.3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)[ต้องการอ้างอิง]

หลังสิ้นสุดสงคราม เรือมอริเทเนียได้ทำการเดินทางเพิ่มเติมอีกหลายครั้งในนามของรัฐบาลเพื่อนำทหารกลับประเทศ[1] โดยส่วนใหญ่ไปยังประเทศแคนาดาและสิงคโปร์ นอกจากนี้เรือยังได้ทำการเดินทางอย่างน้อยหนึ่งครั้งจากนิวซีแลนด์ ผ่านออสเตรเลียและแอฟริกาใต้ไปยังลิเวอร์พูล สตรีและเด็กถูกอัดแน่นไว้ในห้องพักคนละ 10 คนบนเตียงสองชั้นที่ทหารเคยใช้ ในขณะที่บุรุษต้องอยู่ใน "หอพัก" ขนาดใหญ่ห้องละ 60 คนโดยนอนในเปลญวน ในการเดินทางครั้งนั้นเรือได้ออกเดินทางจากเคปทาวน์ในวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1945 เรือถูกพายุลมแรงขัดขวางการเดินทางเป็นเวลา 3 วันนอกน่านน้ำลิเวอร์พูล และสามารถเข้าเทียบท่าได้ในที่สุดในวันที่ 25 กันยายน[5] เรือมอริเทเนียได้ทำการเดินทางครั้งแรกโดยเฉพาะเพื่อส่งเจ้าสาวสงครามชาวอังกฤษและบุตรหลานของพวกเขากลับประเทศแคนาดาเพื่อไปพบกับสามี ณ ท่าเทียบเรือ 21 เมืองแฮลิแฟกซ์ รัฐโนวาสโกเชีย ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1946

วันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1946 เรือมอริเทเนียได้เดินทางกลับมายังลิเวอร์พูล และได้รับการปลดจากการใช้ในราชการ จากนั้นจึงถูกส่งไปยังท่าเรือกลัดสโตนทันทีเพื่อเข้ารับการปรับปรุงสภาพโดยแคมเมิลเลิร์ด สำหรับการกลับมาให้บริการโดยคูนาร์ด-ไวต์สตาร์ไลน์อีกครั้ง[1]

หลังสงคราม

[แก้]
เรือมอริเทเนียที่โรงแยกชิ้นส่วนเรือในปี ค.ศ. 1965

ภายในปี ค.ศ. 1962 เรือมอริเทเนียก็ประสบปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงจากเรือลำใหม่ที่ทันสมัยกว่า ทำให้คูนาร์ดไลน์เริ่มประสบภาวะขาดทุน ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1962 เรือลำนี้ได้ถูกทาสีใหม่เป็นสีเขียวอ่อนคล้ายกับเรืออาร์เอ็มเอส คาโรเนีย (RMS Caronia) ซึ่งมีชื่อเสียงในฉายาเทพธิดาสีเขียว (Green Goddess) และถูกดัดแปลงให้เป็นเรือสำราญ[1] ที่พักผู้โดยสารได้รับการปรับปรุงเพื่อรองรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง 406 คน ชั้นแคบิน 364 คน และชั้นท่องเที่ยว 357 คน ในวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1963 เรือได้เริ่มให้บริการเส้นทางใหม่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ระหว่างนิวยอร์ก กาน เจโนวา และเนเปิลส์[1] ทว่าโครงการนี้กลับล้มเหลว และในปี ค.ศ. 1964 เรือลำนี้ถูกนำมาใช้ในการล่องเรือสำราญจากนิวยอร์กไปยังหมู่เกาะเวสต์อินดีส์

เรือมอริเทเนียทำการเดินทางครั้งสุดท้ายเป็นการล่องเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยออกเดินทางจากนิวยอร์กในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1965[1] มีการประกาศว่าเมื่อเรือเดินทางกลับถึงเซาแทมป์ตันแล้ว จะมีการนำเรือออกจากการให้บริการและขาย เรือมอริเทเนียเดินทางถึงเซาแทมป์ตันในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1965 และก่อนหน้านั้นได้มีการขายเรือให้แก่บริษัทบริติชไอรอนแอนด์สตีลคอร์ปอเรชัน (British Iron & Steel Corporation) แล้ว เรือได้ออกเดินทางจากเซาแทมป์ตันในวันที่ 20 พฤศจิกายน เพื่อทำการเดินทางครั้งสุดท้ายสู่โรงแยกชิ้นส่วนเรือของบริษัทโดส. ดับเบิลยู. วอร์ด (Thos. W. Ward) เพื่อทำการปลดระวาง ณ เมืองอินเวอร์คีติง มณฑลไฟฟ์ ประเทศสกอตแลนด์ ภายในระยะเวลา 3 วันหลังจากนั้น[1] เรือลำนี้มีกัปตันจอห์น เทรเชอร์ โจนส์ เป็นกัปตันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 เขาสามารถนำเรือผ่านช่องแคบโคลนเลนของแม่น้ำฟอร์ทได้โดยไม่ต้องอาศัยเรือลากจูง และสามารถจอดเทียบท่าครั้งสุดท้ายในบริเวณน้ำตื้นเหนือตลิ่งโคลนเลนได้สำเร็จในช่วงน้ำขึ้นสูงตอนเที่ยงคืน[6]

มีข่าวลือว่าระหว่างการเดินทางไปยังไฟฟ์ เรือได้แล่นเข้าสู่แม่น้ำดักลาสในแลงคาเชอร์โดยไม่ตั้งใจ และเกยตื้นบริเวณโคลนตม อย่างไรก็ตามข่าวลือนี้น่าจะไม่เป็นความความจริง เนื่องจากมีภาพถ่ายและวิดีโอของเรือมอริเทเนียขณะอยู่ที่อินเวอร์คีติงหลังจากที่เดินทางมาถึงแล้ว การแยกชิ้นส่วนเรือได้เริ่มขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ต่อมา[7] ภายในปลายเดือนเมษายน ค.ศ. 1966 ปล่องไฟของเรือได้ถูกถอดออก และภายในกลางปีเดียวกัน โครงสร้างส่วนบนของเรือก็ถูกถอดออกเช่นกัน กระบวนการแยกชิ้นส่วนเรือเสร็จสิ้นภายในปลายปีเดียวกัน

หลังปลดระวาง

[แก้]
ระฆังของเรือที่พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์วิลเลียมสัน

เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งภายในของเรือถูกขายไปทั้งในระหว่างและหลังจากการแยกชิ้นส่วนเรือ แผ่นไม้บุผนัง งานไม้ และวัสดุอื่น ๆ จากเรือถูกนำไปใช้ในการตกแต่งห้อง "มอริเทเนียรูม" (Mauretania Room) ของร้านเฟมัส-บาร์ (Famous-Barr) ภายในศูนย์การค้าเวสต์เคาน์ตีเซ็นเตอร์ (West County Center Mall) ย่านเดสเปเรส รัฐมิสซูรี ซึ่งเป็นชานเมืองของเซนต์หลุยส์

มอริเทเนียรูมเป็นห้องรับรองดื่มชาสุดหรูสำหรับสุภาพสตรีขนาด 120 ที่นั่ง เปิดให้บริการพร้อมกับร้านค้าในปี ค.ศ. 1969[8] ห้องดังกล่าวถูกรื้อถอนออกไปก่อนการสร้างศูนย์การค้าขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 2001 เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการจับจ่ายซื้อของเพิ่มเติมตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันยังไม่ทราบที่ตั้งของเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้น

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 1.24 1.25 TGOL
  2. Adams, R. B. [1986] Red Funnel and Before. Kingfisher Publications
  3. "Mauretania". Chris' Cunard Page. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 April 2010. สืบค้นเมื่อ 11 February 2010.
  4. https://news.google.com/newspapers?nid=Fr8DH2VBP9sC&dat=19391003&printsec=frontpage&hl=en The Gazette, Montreal, 3 October 1939, page 6
  5. "Betty Clay | 1945 Voyage to England". www.spanglefish.com.
  6. Jones, John Treasure (2008). Tramp to Queen. The History Press. pp. 105–106.
  7. Trafford, Pauline (2009). "Visit of 'The Mauritania' to Hesketh Bank". heskethbank.com.
  8. "Lost Tables: Department Store Tea Rooms". www.losttables.com. สืบค้นเมื่อ 19 June 2018.