สาธารณรัฐตะวันออกไกล
สาธารณรัฐตะวันออกไกล Дальневосточная Республика Dalnevostochnaya Respublika | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1920–1922 | |||||||||||||
| |||||||||||||
สถานะ | รัฐหุ่นเชิดและรัฐกันชนของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย | ||||||||||||
เมืองหลวง | เวียร์ฮเนอูดินสค์ (ถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1920) ชีตา | ||||||||||||
ภาษาทั่วไป | รัสเซีย | ||||||||||||
การปกครอง | สาธารณรัฐสังคมนิยม | ||||||||||||
ประธานรัฐบาล | |||||||||||||
• 1920–1921 | อะเลคซันดร์ ครัสโนชิโอคอฟ | ||||||||||||
• 1921–1922 | นีโคไล มัตเวเยฟ | ||||||||||||
นายกรัฐมนตรี | |||||||||||||
• 1920 | อะเลคซันดร์ ครัสโนชิโอคอฟ | ||||||||||||
• 1920–1921 | บอริส ชุมยัซกี | ||||||||||||
• 1921 | ปิออตร์ นีคีโฟรอฟ | ||||||||||||
• 1921–1922 | นีโคไล มัตเวเยฟ | ||||||||||||
• 1922 | ปิออตร์ โคโบเซฟ | ||||||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||||||
• ก่อตั้ง | 6 เมษายน 1920 | ||||||||||||
• สิ้นสุด | 15 พฤศจิกายน 1922 | ||||||||||||
|
สาธารณรัฐตะวันออกไกล (รัสเซีย: Дальневосто́чная Респу́блика, ДВР, อักษรโรมัน: Dalnevostochnaya Respublika, DVR) บางครั้งเรียกว่า สาธารณรัฐชีตา เป็นรัฐเอกราชแต่ในนามที่ดำรงอยู่ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 1920 ถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1922 ในพื้นที่ตะวันออกสุดของรัสเซียตะวันออกไกล แม้ว่าจะมีเอกราชแต่ในนาม แต่ด้วยส่วนใหญ่อยู่ในการควบคุมของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (รัสเซียโซเวียต) รัฐจึงเปรียบเสมือนเป็นรัฐกันชนระหว่างรัสเซียโซเวียตและดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครองในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย ค.ศ. 1917–1922 โดยมีประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐ คือ อะเลคซันดร์ ครัสโนชิโอคอฟ
สาธารณรัฐตะวันออกไกลครอบคลุมพื้นที่ของดินแดนซาไบคัลสกี แคว้นอามูร์ แคว้นปกครองตนเองยิว ดินแดนฮาบารอฟสค์ และดินแดนปรีมอร์เยของประเทศรัสเซียในปัจจุบัน (ในอดีตคือ แคว้นทรานส์ไบคัลและอามูร์ รวมถึงดินแดนปรีมอร์เย) เมืองหลวงของสาธารณรัฐเริ่มแรกอยู่ที่เวียร์ฮเนอูดินสค์ (ปัจจุบันคืออูลัน-อูเด) แต่ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1920 มีการย้ายเมืองหลวงมาที่ชีตา
กองทัพแดงเข้ายึดครองวลาดีวอสตอคเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1922 จากนั้นสามสัปดาห์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 สาธารณรัฐตะวันออกไกลจึงถูกผนวกรวมเข้ากับรัสเซียโซเวียต
ประวัติ
[แก้]การก่อตั้ง
[แก้]สาธารณรัฐตะวันออกไกลก่อตั้งขึ้นในช่วงท้ายของสงครามกลางเมืองรัสเซีย ซึ่งในระหว่างสงครามกลางเมือง เมืองและนครต่าง ๆ ในรัสเซียตะวันออกไกลอยู่ภายใต้การควบคุมของทางการท้องถิ่นที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลฝ่ายขาวไซบีเรียของอะเลคซันดร์ คอลชัค และกองทัพญี่ปุ่นที่เข้าบุกครองประเทศ เมื่อญี่ปุ่นถอนกำลังพลออกจากแคว้นทรานส์ไบคัลและอามูร์ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1920 เป็นผลให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองในบริเวณนี้
มีการจัดตั้งรัฐบาลส่วนกลางชุดใหม่ขึ้นที่ชีตาเพื่อปกครองสาธารณรัฐตะวันออกไกลต่อจากญี่ปุ่น[1] ในช่วงแรกของการจัดตั้ง สาธารณรัฐตะวันออกไกลครอบคลุมพื้นที่บริเวณเวียร์ฮเนอูดินสค์เท่านั้น แต่ในฤดูร้อน ค.ศ. 1920 รัฐบาลโซเวียตของดินแดนอามูร์ได้ยินยอมที่จะรวมเข้ากับสาธารณรัฐ
สาธารณรัฐตะวันออกไกลจัดตั้งขึ้นภายหลังจากอสัญกรรมของคอลชัคได้สองเดือน โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโซเวียตรัสเซียอย่างเงียบ ๆ ซึ่งทางการโซเวียตมองสาธารณรัฐว่าเป็นรัฐกันชนระหว่างรัสเซียโซเวียตกับญี่ปุ่น[2] สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจยินยอมให้มีรัฐบาลใหม่ในภูมิภาค โดยมีสมาชิกประมาณ 4,000 คน เชื่อว่าสามารถยึดอำนาจได้ด้วยสิทธิของพรรค[3] อย่างไรก็ดี วลาดีมีร์ เลนิน และผู้นำพรรคคนอื่น ๆ ในมอสโก กังวลว่าทหารญี่ปุ่นประมาณ 70,000 นาย และทหารอเมริกันอีก 12,000 นาย จะมองว่าการกระทําดังกล่าวเป็นการยั่วยุ ซึ่งอาจกระตุ้นการโจมตีเพิ่มเติมที่สาธารณรัฐโซเวียตมิอาจรับมือได้[3]
เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1920 กองกำลังรบนอกประเทศอเมริกันในไซบีเรียภายใต้บัญชาของนายพลวิลเลียม เอส. เกรฟส์ ได้ถอนกำลังพลไปจากไซบีเรีย เหลือเพียงกองทัพญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังคงอยู่ในภูมิภาค[4] อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความสมดุลพื้นฐานสำหรับรัฐบาลบอลเชวิคในมอสโก ที่ยังคงมองว่าการก่อตั้งสาธารณรัฐตะวันออกไกลเป็นเหมือนดังสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ในตะวันออก ทําให้ระบอบการปกครองมีพื้นที่หายใจที่จําเป็นที่จะช่วยให้สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการทหารได้[5]
เมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1920 มีการจัดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญอย่างเร่งรีบ ณ เมืองเวียร์ฮเนอูดินสค์ พร้อมทั้งประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐตะวันออกไกล โดยสัญญาว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของสาธารณรัฐจะรับประกันการเลือกตั้งโดยเสรีภายใต้หลักการของสากล เที่ยงตรง และมีสิทธิออกเสียงเท่าเทียมกัน รวมถึงการลงทุนระหว่างประเทศในสาธารณรัฐจะได้รับการสนับสนุนด้วย[3]
ในช่วงปลาย ค.ศ. 1920 เมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคต่างไม่เต็มใจยอมรับสาธารณรัฐตะวันออกไกลที่อยู่ในการควบคุมของนักสังคมนิยมสายกลาง[2] ความรุนแรง ความโหดร้าย และการตอบโต้ยังคงปะทุเป็นระยะ ๆ เป็นเวลา 18 เดือน[2] ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในดินแดนชินฮันชอนของชาวเกาหลี ที่ซึ่งพลเรือนเกาหลีถูกสังหารหมู่โดยทหารญี่ปุ่น [6]
ญี่ปุ่นตกลงที่จะรับรองรัฐกันชนใหม่ในการสงบศึกกับกองทัพแดง ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1920 และละทิ้งการช่วยเหลือพื้นที่รัสเซียโอครายีนาของอะตามันกรีโกรี เซมิโอนอฟ[3] โดยในเดือนตุลาคม เซมิโอนอฟถูกขับไล่จากฐานกำลังหลักของเขาในชีตา และเมืองหลวงของสาธารณรัฐจึงยัายมาที่เมืองนี้[2]
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920 การประชุมสมัชชาชั่วคราวแห่งชาติตะวันออกไกลจัดขึ้นในวลาดีวอสตอค โดยที่ประชุมได้รับรองรัฐบาลที่ชีตา และกําหนดวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1921 เป็นวันเลือกตั้งใหม่สําหรับสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐตะวันออกไกล[3] รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เขียนและประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ส. 1921 ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญสหรัฐเป็นอย่างมาก[3]
รัฐประหาร ค.ศ. 1921
[แก้]อย่างไรก็ตาม พวกนิยมการเมืองฝ่ายขวาปฏิเสธแนวคิดสาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบอ่อน ๆ ในรัสเซียตะวันออกไกล ทำให้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1921 รัฐประหารของกองทัพขาวจึงเกิดขึ้นในวลาดีวอสตอค โดยมีกองกำลังยึดครองของญี่ปุ่นอยู่เบื้องหลัง[2] วงล้อมของกองทัพญี่ปุ่นช่วยป้องกันการกบฏ และมีการจัดตั้งระบอบใหม่ในชื่อ "รัฐบาลชั่วคราวปรีอามูร์เย"[7] ในแคว้นปรีมอร์เย ไม่นานหลังจากการยึดอำนาจ กรีโกรี เซมิโอนอฟ จึงพำนักอยู่ที่วลาดีวอสตอคและพยายามประกาศตนเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเคยเป็นความพยายามที่ล้มเหลว เนื่องจากญี่ปุ่นได้ทอดทิ้งเขา[8]
รัฐบาลชั่วคราวปรีอามูร์เยใหม่พยายามที่จะระดมกําลังต่อต้านบอลเชวิคต่าง ๆ ไปที่กองกำลังของตน (ซึ่งสำเร็จเพียงเล็กน้อย)[9] ผู้นำของรัฐบาลใหม่เป็นสองพี่น้องนักธุรกิจชาววลาดีวอสตอค ได้แก่ สปีรีดอน เมียร์คูลอฟ และนีโคไล เมียร์คูลอฟ พบว่าตนเองกำลังโดดเดี่ยว โดยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน กองทัพญี่ปุ่นได้ประกาศว่าจะถอนกําลังทหารทั้งหมดออกจากไซบีเรียภายในสิ้นเดือนตุลาคม [9] และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1922 รัฐสภาได้ขับไล่พี่น้องเมียร์คูลอฟ พร้อมกับแต่งตั้งนายพลมีฮาอิล ดีเตริคส์ ผู้ซึ่งเคยประจำการในหน่วยทหารเชโกสโลวัก เป็นผู้นำเผด็จการทหาร[9]
ชัยชนะของสาธารณรัฐและการสิ้นสุด
[แก้]เมื่อญี่ปุ่นถอนทหารออกจากประเทศในฤดูร้อน ค.ศ. 1922 กบฏรัสเซียขาวจึงเริ่มตื่นตระหนก กองทัพแดงที่แอบแฝงเป็นกองทัพประชาชนปฏิวัติแห่งสาธารณรัฐตะวันออกไกล เคลื่อนพลไปทางตะวันออก ส่งผลให้ชาวรัสเซียหลายพันคน รวมถึงดีเตริคส์และกองทหารที่เหลือของเขา อพยพออกจากประเทศเพื่อหลบหนีระบอบการปกครองใหม่[2] กองทัพสาธารณรัฐตะวันออกไกลพิชิตวลาดีวอสตอคได้สำเร็จเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1922 สมรภูมิหลักของสงครามกลางเมืองรัสเซียจึงเป็นอันสิ้นสุดลง
เมื่อสิ้นสุดสงครามกลางเมือง รัสเซียโซเวียตผนวกสาธารณรัฐตะวันออกไกลเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922[3] รัฐบาลสาธารณรัฐได้ยุบเลิกลงและโอนอํานาจกับอาณาเขตทั้งหมดให้กับรัฐบาลบอลเชวิคในมอสโก[9]
ผลที่ตามมา
[แก้]ญี่ปุ่นยังคงครอบครองเกาะซาฮาลินตอนเหนือไว้จนถึง ค.ศ. 1925 เพื่อเป็นการชดเชยสำหรับกรณีนีโคลาเยฟสค์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ทหารและพลเมืองญี่ปุ่นราว 700 คน ที่เมืองนีโคลาเยฟสค์-นา-อามูร์เยในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ค.ศ. 1920[4] แรงจูงใจสำหรับการชดเชยนี้ปฏิเสธความจริงที่ว่าการตอบโต้ของญี่ปุ่นสําหรับการกระทําของรัสเซียได้คร่าชีวิตชาวรัสเซียไปมากกว่าสองถึงสามเท่า[4]
พื้นที่และทรัพยากร
[แก้]สาธารณรัฐตะวันออกไกลครอบคลุมพื้นที่ 4 แคว้นของอดีตจักรวรรดิรัสเซีย (แคว้นทรานส์-ไบคัล แคว้นอามูร์ แคว้นภาคพื้นสมุทร และตอนเหนือของเกาะซาฮาลิน[1] ซึ่งเป็นพรมแดนหลักของภูมิภาคทรานส์ไบคัลและแมนจูเรียนอก พรมแดนของสาธารณรัฐทอดยาวตามแนวชายฝั่งตะวันตกของทะเลสาบไบคาล พาดผ่านพรมแดนทางตอนเหนือของมองโกเลียและแมนจูเรียไปจนถึงทะเลญี่ปุ่นและทะเลโอค็อตสค์
มีการประมาณพื้นที่ทั้งหมดของสาธารณรัฐตะวันออกไกลไว้ราว 730,000 ตารางไมล์ (1,900,000 ตารางกิโลเมตร) และมีประชากรอยู่ที่ 3.5 ล้านคน[1] ประมาณ 1.62 ล้านคนเป็นชาวรัสเซีย และอีก 1 ล้านคนเป็นชาวเอเชียที่มีเชื้อสายบรรพบุรุษจากประเทศจีน ญี่ปุ่น มองโกเลีย และเกาหลี[1]
สาธารณรัฐตะวันออกไกลเป็นพื้นที่ที่มีแร่จำนวนมาก รวมถึงยังเป็นดินแดนที่ผลิตทองคําได้ประมาณหนึ่งในสามของทองคําทั้งหมดในรัสเซีย และยังเป็นแหล่งผลิตดีบุกแห่งเดียวของประเทศอีกด้วย[1] แร่สํารองอื่น ๆ ของสาธารณรัฐตะวันออกไกล ได้แก่ สังกะสี เหล็ก และถ่านหิน[1]
อุตสาหกรรมประมงในอดีตแคว้นภาคพื้นสมุทรก็มีจำนวนมากเช่นกัน โดยมีปริมาณการทำประมงมากกว่าไอซ์แลนด์ และเป็นแหล่งชุกชุมของปลาเฮร์ริง ปลาแซลมอน และปลาสเตอร์เจียน[1] นอกจากนี้ สาธารณรัฐยังมีทรัพยากรป่าไม้ที่กว้างขวาง รวมถึงสนเขา เฟอร์ เซดาร์ พอปลาร์ และเบิร์ช ที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยวทั้งหมด 120 ล้าน เอเคอร์ (490,000 ตารางกิโลเมตร)[1]
กองทัพประชาชนปฏิวัติ
[แก้]เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1922 มีการจัดระเบียบกองทัพน้อยไรเฟิลบาลากันสค์ที่ 104 เช้ากับกองพันไรเฟิลทรานส์ไบคัลที่ 1 ของกองทัพประชาชนปฏิวัติแห่งสาธารณรัฐตะวันออกไกล โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาชายแดนฝั่งแมนจูเรีย และในระหว่างวันที่ 4 ถึง 25 ตุลาคม กองพันได้เช้าไปมีส่วนร่วมในปฏิบัติการปรีมอร์เยเพื่อพิชิตกองทัพขาวในแคว้นอามูร์ กองกำลังส่วนสุดท้ายของขบวนการขาวในตะวันออกไกล ในช่วงปฏิบัติการ กองพันไรเฟิลทรานส์ไบคัลที่ 1 สามารถเข้ายึดโกรเดโคโว นีคอลสค์-อุสซูรีสค์ และวลาดีวอสตอค
กองทัพโซเวียตที่ 5 จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งของคณะกรรมการบริหารกลางรัสเซียทั้งปวงแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 โดยเปลี่ยนชื่อจากกองทัพประชาชนปฏิวัติแห่งสาธารณรัฐตะวันออกไกล กองพันไรเฟิลทรานส์ไบคัลที่ 1 จึงอยู่ภายใต้คำสั่งนี้ด้วยเหมือนกันและประจำการอยู่ที่วลาดีวอสตอค กองพันเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกองพันไรเฟิลแปซิฟิกที่ 1 (รัสเซีย: 1-я Тихоокеанская стрелковая дивизия) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 เพื่อเป็นการระลึกถึงความปราชัยของกองทัพขาวบนชายฝั่งแปซิฟิก[10][11]
ผู้นำ
[แก้]ประธานรัฐบาล (ประมุขแห่งรัฐ)
[แก้]ลำดับ | รูปภาพ | ชื่อ | การดำรงตำแหน่ง | |
---|---|---|---|---|
เริ่มต้น | สิ้นสุด | |||
1 | อะเลคซันดร์ ครัสโนชิโอคอฟ (ค.ศ. 1880–1937) Александр Краснощёков (Alexander Krasnoshchyokov) |
6 เมษายน ค.ศ. 1920 | ธันวาคม ค.ศ. 1921 | |
2 | นีโคไล มัตเวเยฟ (ค.ศ. 1877–1951) Николай Матвеев (Nikolay Matveyev) |
ธันวาคม ค.ศ. 1921 | 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 |
ประธานคณะรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรี)
[แก้]ลำดับ | รูปภาพ | ชื่อ | การดำรงตำแหน่ง | |
---|---|---|---|---|
เริ่มต้น | สิ้นสุด | |||
1 | อะเลคซันดร์ ครัสโนชิโอคอฟ (ค.ศ. 1880–1937) Александр Краснощёков (Alexander Krasnoshchyokov) |
6 เมษายน ค.ศ. 1920 | พฤศจิกายน ค.ศ. 1920 | |
2 | บอริส ชุมยัซกี (ค.ศ. 1886–1938) Борис Шумяцкий (Boris Shumyatsky) |
พฤศจิกายน ค.ศ. 1920 | เมษายน ค.ศ. 1921 | |
3 | ปิออตร์ นีคีโฟรอฟ (ค.ศ. 1882–1974) Пётр Никифоров (Pyotr Nikiforov) |
8 พฤษภาคม ค.ศ. 1921 | ธันวาคม ค.ศ. 1921 | |
4 | นีโคไล มัตเวเยฟ (ค.ศ. 1877–1951) Николай Матвеев (Nikolay Matveyev) |
ธันวาคม ค.ศ. 1921 | 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 | |
5 | ปิออตร์ โคโบเซฟ (ค.ศ. 1878–1941) Пётр Ко́бозев (Pyotr Kobozev) |
14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 | 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 |
บุคคลที่มีชื่อเสียง
[แก้]- ยูล บรีนเนอร์ นักแสดงชาวรัสเซีย เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1920
ดูเพิ่ม
[แก้]- การแทรกแซงสงครามกลางเมืองรัสเซียโดยฝ่ายสัมพันธมิตร
- แมนจูเรีย
- สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทรานส์คอเคซัส
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 "The Far Eastern Republic," Russian Information and Review, vol. 1, no. 10 (Feb. 15, 1922), pp. 232–233.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Alan Wood, "The Revolution and Civil War in Siberia," in Edward Acton, Vladimir Iu. Cherniaev, and William G. Rosenberg (eds.), Critical Companion to the Russian Revolution, 1914–1921. Bloomington, Indiana University Press, 1997; pp. 716–717.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 George Jackson and Robert Devlin (eds.), Dictionary of the Russian Revolution. Westport, CT: Greenwood Press, 1989; pp. 223–225.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 N.G.O. Pereira, White Siberia: The Politics of Civil War. Montreal: McGill-Queen's University Press, 1996; pg. 153.
- ↑ Pereira, White Siberia, pg. 152.
- ↑ 신, 재홍. "4월참변 (四月慘變)". Encyclopedia of Korean Culture. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 21, 2023.
- ↑
Wood, Alan (15 April 2011). "Revolution and Civil War". Russia's Frozen Frontier: A History of Siberia and the Russian Far East 1581 - 1991. London: A&C Black (ตีพิมพ์ 2011). p. 189. ISBN 9780340971246. สืบค้นเมื่อ 19 September 2022.
[...] before the final Bolshevik victory in the Far East, one last desperate throw by two Vladivostok businessmen, the brothers S.D. and N.D. Merkulov, took place in the early summer of 1921. Having by various ruses managed to overthrow the Vladivostok agents of the Far Eastern Republic, they and their supporters declared the formation of a new 'Provisional Priamurskii Government'.
- ↑ Pereira, White Siberia, pg. 155.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 Pereira, White Siberia, pg. 156.
- ↑ "39-я Тихоокеанская Краснознаменная стрелковая дивизия". Rkka.ru. สืบค้นเมื่อ 2022-03-21.
- ↑ "Историческая справка" [Historical Reference] (PDF) (ภาษารัสเซีย). Council of Veterans of the 392nd District Training Centre. สืบค้นเมื่อ 10 June 2017.
หนังสืออ่านเพิ่ม
[แก้]- A Short Outline of the History of the Far Eastern Republic. Washington, DC: Special Delegation of the Far Eastern Republic to the United States of America, 1922.
- Alan Wood, Russia's Frozen Frontier: A History of Siberia and the Russian Far East 1581–1991. London: A&C Black, 2011. ISBN 9780340971246.
- Canfield F. Smith, Vladivostok Under Red and White Rule: Revolution and Counterrevolution in the Russian Far East, 1920–1922. Seattle: University of Washington Press, 1975.
- Jamie Bisher, White Terror: Cossack Warlords of the Trans-Siberian. London: Routledge, 2005. ISBN 9780714656908.
- John Albert White, The Siberian Intervention. Princeton, NJ: Princeton University Press, 1950.
- Richard K. Debo, Survival and Consolidation: The Foreign Policy of Soviet Russia, 1918–1921. Montreal/Kingston: McGill-Queen's Press, 1992. ISBN 9780773562851.