อะเลคซันดร์ คอลชัค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อะเลคซันดร์ คอลชัค
Александр Васильевич Колчак
ผู้ปกครองสูงสุดแห่งรัสเซีย[a]
ดำรงตำแหน่ง
18 พฤศจิกายน 1918 – 7 กุมภาพันธ์ 1920
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
(นีโคไล อัฟค์เซนเตียฟ ในฐานะประธานแห่งรัฐบาลชั่วคราวแห่งรัสเซียทั้งปวง)
ถัดไปอันตอน เดนีกิน
(โดยพฤตินัย)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1874
เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก จักรวรรดิรัสเซีย
เสียชีวิต7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920(1920-02-07) (45 ปี)
อีร์คุตสค์ สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย
คู่สมรสโซเฟีย เฟโดรอฟนา โอมีโรวา คอลชัค
บุตรรอสติสลาฟ คอลชัค
ลายมือชื่อ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้
สังกัด
ประจำการค.ศ. 1886–1920
ยศพลเรือโท
พลเรือเอก (ตั้งแต่ ค.ศ. 1918)
ผ่านศึกสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
สงครามกลางเมืองรัสเซีย

อะเลคซันดร์ วาซีเลียวิช คอลชัค (รัสเซีย: Александр Васильевич Колчак; 16 พฤศจิกายน [ตามปฏิทินเก่า 4 พฤศจิกายน] ค.ศ. 1874 – 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920) เป็นพลเรือเอกแห่งจักรวรรดิรัสเซียและนักสำรวจขั้วโลก เป็นนายทหารประจำกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซียและได้ร่วมต่อสู้ในสงครามที่สำคัญสองครั้งคือ สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1904–1905 และสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[1] ต่อมาเขาเป็นผู้นำของขบวนการต่อต้านบอลเชวิคหรือที่รู้จักกันในชื่อ "ขบวนการขาว" ในระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซีย ซึ่งได้ก่อตั้งรัฐบาลในไซบีเรียเพื่อต่อต้านรัฐบาลของเลนินตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920

คอลชัคเริ่มต้นอาชีพแรกจากการเป็นนักสมุทรศาสตร์และนักอุทกวิทยาในกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย ต่อมาเขากลายเป็นผู้นำในการสำรวจขั้วโลกอยู่หลายครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์รัสเซีย[2] "เกาะคอลชัค" ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลคารา ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ในช่วงสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1904−1905) คอลชัคได้มีโอกาสร่วมต่อสู้ในสงครามและประสบความสำเร็จในยุทธนาวีที่พอร์ตอาเธอร์ เมื่อทุ่นระเบิดของเรือพิฆาตที่อยู่ภายใต้การบัญชาของเขาได้จมเรือลาดตระเวนทากาซาโกะของญี่ปุ่น ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง คอลชัคกลายเป็นหนึ่งในผู้ปรับปรุงกองทัพเรือรัสเซียใหม่หลังจากความเสียหายในระหว่างสงคราม และได้รับเลื่อนยศเป็นนายทหารเสนาธิการทั่วไปแห่งกองทัพเรือ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาสลับงานศึกษาวิทยาศาสตร์และการสำรวจกับงานในการปรับปรุงกองทัพเรือรัสเซียให้ทันสมัยในฐานะเสนาธิการกองทัพเรือ

หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุขึ้น เขาได้มีส่วนร่วมในการปกป้องพื้นที่แถบทะเลบอลติก ซึ่งกองเรือของเขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการเรือธง ใน ค.ศ. 1916 เนื่องจากความกล้าหาญและทักษะประสบการณ์ของเขา ทำให้คอลชัคได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเรือโทที่อายุน้อยที่สุดของกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย และได้รับคำสั่งจากทัพเรือทะเลดำ ซึ่งทำให้เขาสามารถสร้างชื่อเสียงได้อีกครั้ง ด้วยการควบคุมพื้นที่ทะเลดำและอำนวยความปลอดภัยในการคมนาคมสำหรับกองทัพที่ต่อสู้ในคอเคซัส หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. 1917 เขาสนับสนุนรัฐบาลชั่วคราวรัสเซีย โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถส่งเสริมขวัญกำลังใจและดำเนินการทางทหารต่อไปจนสามารถเอาชนะฝ่ายมหาอำนาจกลางได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้คอลชัคถูกเรียกกลับจากแนวรบเมื่อสิ้นสุดฤดูร้อน

จากเหตุการณ์การปฏิวัติเดือนตุลาคมและการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับเยอรมนี เขาจึงตกลงรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามของรัฐบาลต่อต้านบอลเชวิคแห่งออมสค์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 เป็นเหตุให้นักสังคมนิยมปฏิวัติทั้งหลายถูกขับไล่ออกจากรัฐบาล ต่อมาคอลชัคได้ทำการรัฐประหารและสถาปนาตนเป็น "ผู้ปกครองสูงสุดแห่งรัสเซีย"[3] แม้ว่าปฏิบัติการทางทหารของคอลชัคในช่วงแรกจะประสบความสำเร็จ แต่เพราะรัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรเพียงน้อยนิด ประกอบกับการประสานงานที่ย่ำแย่ และบางครั้งการบัญชาการทางทหารก็ไม่เป็นผล ภายในรัฐบาลเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงและมีความเป็นพวกปฏิกิริยา รวมถึงความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับหน่วยทหารเชโกสโลวักและผู้นำคอสแซ็ก คอลชัคจึงสูญเสียการสนับสนุนที่สำคัญจากประชากรท้องถิ่น ในระหว่างการล่าถอยในไซบีเรียเมื่อฤดูหนาว ค.ศ. 1919 เกิดการจราจลขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากกองกำลังของเขาเสียเอง ในช่วงปลาย ค.ศ. 1919 กองกำลังทหารที่หลงเหลืออยู่และพลเรือนหลายแสนคนต่างพากันหลบหนีการรุกรานจากบอลเชวิคที่สามารถยึดออมสค์ได้ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งต่อมาคอลชัคถูกกลุ่มกบฏที่ต่อต้านเขาจับกุมและส่งตัวไปยังอีร์คุตสค์ คอลชัคถูกเจ้าหน้าที่บอลเชวิคสอบสวนและตัดสินประหารชีวิตพร้อมกับ วิคตอร์ เปเปลยาเยฟ นายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920

คอลชัคถูกมองว่าเป็นศัตรูของประชาชนและการสำรวจขั้วโลกของเขาได้รับการลดทอนคุณค่าต่ำกว่าความเป็นจริงโดยนักประวัติศาสตร์และนักข่าวโซเวียต ชื่อเสียงของเขาได้รับการกู้ฐานะในยุคหลังรัสเซียโซเวียต[4] ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2016 มีการติดตั้งป้ายระลึกที่บ้านในเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ซึ่งคอลชัคเคยอาศัยอยู่ตั้งแต่ ค.ศ. 1906 จนถึง ค.ศ. 1912[5]

ปฐมวัยและการงาน[แก้]

เรือซาร์ยา (Zarya) ซึ่งเป็นเรือของคณะสำรวจขั้วโลกของเอดูอาร์ด โทลล์ ใน ค.ศ. 1902 โดยคอลชัคเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะสำรวจนี้

เขาเกิดที่ชานเมืองเซนต์ปีเตอส์เบิร์กเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1874 [ตามปฎิทินเก่า: 4 พฤศจิกายน][6][b] ในครอบครัวชนชั้นกลาง[8] ที่มีคตินิยมแบบทหารและมีแนวคิดอนุรักษนิยมและรักชาติ[9][10] เป็นบุตรชายของนายทหารเรือตระกูลขุนนางยูเครน[8][7] วาซีลี อีวาโนวิช คอลชัค ทหารปืนใหญ่นาวิกโยธินชั้นพลตรีที่เกษียณแล้ว[11] ซึ่งอะเลคซันดร์ในวัยหนุ่มถูกเลี้ยงดูให้เจริญตามรอยพ่อของเขา[12] ส่วนแม่ของเขา ออลกา อีลีนิชนา โปโซโฮวา เป็นชาวออแดซาที่มีเชื้อสายจากตระกูลขุนนางในแคร์ซอน[7] เขาเข้าศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่เมืองหลวงของรัสเซีย (ในตอนนั้นคือเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก)[12] และสำเร็จการศึกษาในระดับสองที่โรงเรียนนายร้อยทหารเรือเซนต์ปีเตอส์เบิร์กใน ค.ศ. 1894[12][11][8] (ซึ่งคอลชัคใช้ระยะเวลาในการเข้าศึกษารวมหกปี) และได้เข้าร่วมกับกองพันทหารเรือที่ 7[13][14] ไม่กี่เดือนต่อมาเขาถูกย้ายไปประจำการที่เรือลาดตระเวนรูริค (Rurik) ในตะวันออกไกล[13][14] ในช่วงปลาย ค.ศ. 1896 เขาถูกย้ายไปประจำการที่เรือลาดตระเวนในวลาดีวอสตอค ซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสเดินทางในมหาสมุทรแปซิฟิกหลายครั้ง[14] คอลชัคอยู่ประจำการในวลาดีวอสตอคตั้งแต่ ค.ศ. 1895 จนถึง ค.ศ. 1899[13] โดยสำหรับเวลาว่างที่เหลือจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น เขาทุ่มเทกับการศึกษาด้านสมุทรศาสตร์อย่างต่อเนื่อง นั่นจึงทำให้เขาได้รับความสนใจจากนักสำรวจต่าง ๆ รวมถึงพลเรือโทมาคารอฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักสมุทรศาสตร์ที่สำคัญของกองทัพ[11][14]

ในเวลาต่อมาเขาถูกย้ายไปยังฐานทัพเรือครอนสตัดต์[15] ซึ่ง ณ ที่แห่งนี้ คอลชัคเกิดความสนใจในการสำรวจอาร์กติกมาอย่างต่อเนื่อง[15] ดังนั้นเขาจึงเข้าร่วมกับคณะสำรวจขั้วโลกของพลเรือโทมาคารอฟ[15] อย่างไรก็ตาม เขาถูกส่งไปประจำการที่เรือประจัญบานปิตราปัฟลัฟสค์ (Petropavlovsk) ต่อมาเป็นเรือรบหุ้มเกราะคเนียซโปจาร์สกี (Kniaz Pozharsky) ในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1900 และกลับไปที่เรือปิตราปัฟลัฟสค์อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้เขาได้รับมอบหมายให้ไปประจำการที่กองเรือแปซิฟิก[15][14] แต่ในระหว่างที่เขาหยุดพักที่ไพรีอัสขณะกำลังเดินทางไปแปซิฟิกนั้น[15] คอลชัคได้ทราบข่าวว่าเขาถูกรับเลือกให้เข้าร่วมการสำรวจขั้วโลกของคณะสำรวจบารอนโทลล์ใน ค.ศ. 1900[13][16][11][8] ดังนั้นเขาจึงเดินทางกลับเซนต์ปีเตอส์เบิร์กทันที[14] ในเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก เขาอุทิศตนให้กับการศึกษาที่หอสังเกตการณ์ปัฟลัฟสค์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทาง[16][14] จากนั้นเขาเดินทางไปที่ออสโล เพื่อเรียนรู้เทคนิคการสำรวจจากฟริตจ็อฟ นันเซิน[14] จนในที่สุดคณะสำรวจของโทลล์ก็พร้อมออกเดินทาง โดยเริ่มแล่นเรือจากคาบสมุทรไทมืยร์ไปยังหมู่เกาะอาร์กติกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1900[12][17] คอลชัคใช้ชีวิตเป็นเวลาสองปีในอาร์กติก[13][12] และเมื่อคณะสำรวจต้องเผชิญกับความเป็นไปไม่ได้ที่จะเดินทางต่อโดยเรือ โทลล์จึงตัดสินใจเดินทางต่อด้วยการเดินเท้ากับชายอีกสามคน ส่วนคนอื่น ๆ ที่เหลือนั้น โทลล์สั่งให้พวกเขาเดินทางกลับ[18] ภายหลังการเผชิญกับความลำบากยากแค้น คอลชัคเดินทางกลับไปที่เมืองหลวงในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1902[19] อย่างไรก็ตาม คณะสำรวจคนอื่น ๆ รวมถึงโทลล์หายตัวไปในอาร์กติก[18][16] คอลชัคจึงเดินทางกลับไปอาร์กติกอีกครั้งพร้อมคณะช่วยเหลือ[16][8][20] ด้วยความซื่อตรงและความกล้าหาญของเขา[13] คอลชัคจึงใช้เวลาสิบแปดเดือนอยู่ในอาร์กติกเพื่อพยายามค้นหาสมาชิกของคณะสำรวจ และเดินทางด้วยเรือเป็นระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร[13] ซึ่งในที่สุดก็ค้นพบหลักฐานการเสียชีวิตของทั้งคณะในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1903[18][13][21]

กองเรือรัสเซียที่พอร์ตอาเธอร์ระหว่างสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น

เขาอยู่พำนักในยาคุตสค์เพื่อพักฟื้นร่างกายหลังการเดินทาง ซึ่งต่อมาไม่นานในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1904 สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นได้ปะทุขึ้น[22][16][23] เขาจึงได้รับอนุญาตจากราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์ในการเข้าร่วมกองทัพเรืออีกครั้ง[23] ในระหว่างเดินทางไปแปซิฟิก คอลชัคหยุดพักชั่วครู่เพื่อแต่งงานที่อีร์คุตสค์[22] กับคู่หมั้นของเขาในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา โซเฟีย เฟโดรอฟนา โอมีโรวา[24][23] คอลชัคอาสาร่วมต่อสู้[24] แม้จะสุขภาพไม่ดี[25] เขาถูกส่งตัวไปที่พอร์ตอาเธอร์[18] ซึ่งได้รับมอบหมายให้ประจำการบนเรือลาดตระเวนอัสคอล์ด (Askold) และต่อมาเป็นเรือพิฆาตอามูร์ (Amur)[23] ซึ่งท้ายที่สุดก็ถูกย้ายไปประจำการอยู่บนเรือพิฆาตเซียร์ดีตี (Serdity) โดยเป็นเรือลำแรกภายใต้การบัญชาของเขา[23] คอลชัคได้รับชื่อเสียงจากการป้องกันเรือประจัญบานเซวาสโตปอล และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งเซนต์จอร์จ[25] จากการวางทุ่นระเบิดจมเรือลาดตระเวนทากาซาโกะของญี่ปุ่น[26][22] ขณะที่การปิดล้อมฐานทัพรัสเซียทวีความรุนแรงขึ้น เขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับบัญชากองทหารแบตเตอรี่ชายฝั่ง[27][23] ต่อมาเขาได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุมเมื่อกองทัพเรือรัสเซียยอมจำนนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1904[26][28] เขายังคงรักษาตัวในโรงพยาบาลที่พอร์ตอาเธอร์จนกระทั่งย้ายไปโรงพยาบาลที่นางาซากิในเดือนเมษายน ค.ศ. 1905[27][23][28] ด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่ของเขา ประกอบกับโรคปอดบวมและโรคไขข้อ[28] ทำให้คอลชัคถูกส่งตัวไปรักษาที่ประเทศแคนาดาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1905[27][23]

หลังสงครามยุติลงได้สี่เดือน ในช่วงต้น ค.ศ. 1906 เขาใช้เวลากับการศึกษาเนื้อหาที่รวบรวมระหว่างการเดินทางไปยังอาร์กติกทั้งสองครั้งที่ราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์รัสเซีย[18][12][28][23] เพื่อให้ผู้อื่นรับรู้ถึงความพยายามและการสำรวจของเขา ทางสมาคมภูมิศาสตร์รัสเซียได้มอบรางวัลเหรียญคอนสแตนตินให้แก่เขา[18][22][8][29] และยอมรับเขาเป็นหนึ่งในสมาชิก อีกทั้งยังตั้งชื่อเกาะในทะเลคาราเป็นชื่อของเขาด้วย[30] ในช่วงเวลาหนึ่ง คอลชัคได้รับสมญานามว่า "คอลชัคแห่งขั้วโลก" (รัสเซีย: Kolchak-Poliarnyi)[31]

คอลชัคดำรงตำแหน่งทหารเสนาธิการกองทัพเรือคนใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 1906[26][27][32] จนถึง ค.ศ. 1909 คอลชัคเป็นหนึ่งในผู้ปรับปรุงกองทัพเรือรัสเซียให้ทันสมัย[26] ในฐานะกลุ่มนายทหารนักปฏิรูปรุ่นเยาว์ที่รู้จักกันในชื่อ "ทหารเรือกลมแห่งเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก"[27][32][25][29] อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่าการปรับปรุงกองทัพของเขาเป็นไปอย่างไร้ประโยชน์สำหรับการทำสงครามกับเยอรมนีในอนาคต[32] ทำให้เขาลาออกจากการเป็นทหารเสนาธิการและกลับไปสำรวจเหมือนเดิม[32][33]

ในช่วง ค.ศ. 1908 ถึง ค.ศ. 1910 เขาได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเรือตัดน้ำแข็งไวกัช (Vaigach)[34] ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือโลหะสองลำที่สร้างขึ้นสำหรับการเดินทางในอาร์กติกครั้งใหม่ เพื่อทดสอบถึงความเป็นไปได้ในการสำรวจอาร์กติกในช่วงฤดูร้อน[35][32][36] และเป็นผู้เตรียมการสำหรับการเดินทางไปอาร์ติกอีกครั้ง เนื่องจากประสบการณ์สำรวจครั้งก่อนของเขา[29] แต่ก่อนการเดินทางจะเริ่มขึ้น คอลชัคถูกเรียกตัวกลับเซนต์ปีเตอส์เบิร์กในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1910[34][36] เพื่อทำงานในกองทัพเรือต่อไป เนื่องจากโอกาสที่เป็นไปได้สำหรับการทำสงครามกับเยอรมนี[35][32][36] คอลชัคกลับมารับตำแหน่งในกองทัพเรืออีกครั้งในฐานะทหารเสนาธิการตั้งแต่ ค.ศ. 1910 จนถึง ค.ศ. 1912[12][32][37] เขาเป็นผู้โน้มน้าวให้สภาดูมาเพิ่มงบประมาณสำหรับกองทัพเรือ[35] และมีความสัมพันธ์อันดีกับสภานิติบัญญัติ[27][32] งานหลักของคอลชัคในฐานะทหารเสนาธิการคือการปรับปรุงกองทัพเรือให้ทันสมัย[34] เพื่อเตรียมทำสงครามกับเยอรมนี[37]

หลังจากความเหน็ดเหนื่อยจากงานในฐานะทหารเสนาธิการ คอลชัคจึงลาออกเพื่อไปเข้าร่วมกับกองเรือบอลติก หลังได้รับข้อเสนอจากผู้บัญชาการใน ค.ศ. 1912[32] เขารับหน้าที่ดูแลเรือพิฆาตอุสซูรีซ (Ussuriets) ซึ่งเป็นเรือหลักสำหรับการวางทุ่นระเบิดของกองเรือ[12][38] หลังจากที่ประจำการอยู่ในลีบูอา เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ[32] ตามความสามารถของเขา[35] ใน ค.ศ. 1913 คอลชัคได้เป็นผู้บัญชาการเรือธงโปกรานิชนิค (Pogranichnik) และเป็นกัปตันของเรือลาดตระเวนรูริค[38] ใน ค.ศ. 1914 เขาออกจากการเป็นผู้บัญชาการเรือโปกรานิชนิคและแต่ยังคงประจำการบนเรือรูริคภายใต้การบัญชาการของพลเรือเอกนีโคไล เอสเซน ต่อไป[32][39]

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[แก้]

พลเรือโทคอลชัคใน ค.ศ. 1916

ในข่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คอลชัคเป็นนายทหารที่กระตือรือร้นคนหนึ่งในกองเรือบอลติก[27] เขาเป็นผู้ดูแลการวางทุ่นระเบิดตามชายฝั่ง[35] เพื่อปกป้องกองเรือรัสเซียจากการโจมตีของกองทัพเยอรมัน[40] เขามีส่วนร่วมในการวางทุ่นระเบิดตามฐานทัพเรือเยอรมันในคีลและดันท์ซิช[35][41][25] และเป็นผู้บัญชาการกองเรือในอ่าวรีกาด้วย[42][43] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1915 เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นกัปตัน[44] เนื่องจากความสำเร็จในการปกป้องรีกาและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งเซนต์จอร์จ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทางทหารสูงสุดของรัสเซีย[27][44] ต่อมาเขาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเรือโท[42][43][12][45][8] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1916[45][46][c] นั่นจึงทำให้เขากลายเป็นพลเรือโทที่อายุน้อยที่สุดของกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย[42][8] และได้ไปประจำการที่กองเรือทะเลดำ[12][45][46][25] เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1916 [ตามปฎิทินเก่า: 16 กรกฎาคม] แทนที่พลเรือเอกอันเดรย์ เอเบียร์ฮรัดต์[47][42][43]

ภารกิจหลักของคอลชัคในทะเลดำคือการสนับสนุนนายพลยูเดนิชสำหรับปฏิบัติการต่อต้านจักรวรรดิออตโตมันในคอเคซัส (เนื่องจากไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ความช่วยเหลือระหว่างกองทัพของนายพลยูเดนิชและกองเรือทะเลดำทำให้สามารถยึดเมืองทรับซอน ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของออตโตมันได้) และพยายามทำความเสียหายให้แก่กองทัพเรือออตโตมัน[47] เขาประสบความสำเร็จในการตอบโต้เรือรบยาวุซสุลตันเซลิม (Yavuz Sultan Selim) ซึ่งเป็นเรือภายใต้ผู้บัญชาการชาวเยอรมันประจำกองเรือออตโตมัน และเรือมีดิลลี (Midilli) ทำให้กองเรือออตโตมันละทิ้งการโจมตีในทะเลดำและหันไปป้องกันการโจมตีช่องแคบบอสพอรัสแทน[48] นอกจากนี้ คอลชัคยังจัดการกับภัยคุกคามจากเรืออูของเยอรมนีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กองเรือจากฐานทัพเรือวาร์นาผ่อนคลายความรุนแรงลง[49] และด้วยเหตุนี้ ทำให้เส้นทางเดินเรือของรัสเซียสำหรับการจัดหาทรัพยากรให้แก่แนวรบคอเคซัสและแนวรบตะวันตกเฉียงใต้สะดวกปลอดภัยยิ่งขึ้น[48] เขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้วางแผนสำหรับการรุกรานเข้าช่องแคบบอสพอรัส[50] แต่แผนการนี้ก็ไม่เคยถูกนำมาปฏิบัติจริง[42][43][49] กองเรือของคอลชัคประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการจมเรือบรรทุกถ่านหินของตุรกี และเนื่องจากไม่มีเส้นทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างเหมืองถ่านหินตะวันออกของตุรกีกับกรุงคอนสแตนติโนเปิล จึงทำให้จักรวรรดิออตโตมันเผชิญกับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในสงคราม[42] กองเรือภายใต้การบัญชาการของคอลชัคได้รับชัยชนะเหนือศัตรูอย่างเด็ดขาด[43]

อุบัติเหตุทางเรือครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นภายใต้การบัญชาการของเขา คือ เหตุระเบิดเรือเดรดนอตอิมเพรัตริตซามารียา (Imperatritsa Mariya) ที่ท่าเรือเซวัสโตปอลในวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916[51] แม้การสอบสวนเป็นไปอย่างรอบคอบ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถระบุได้ว่าเหตุระเบิดในครั้งนี้เกิดจากอุบัติเหตุหรือการก่อวินาศกรรม[51]

สมัยแห่งการปฏิวัติ[แก้]

คอลชัคโยนดาบของตนลงน้ำเพื่อไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของบอลเชวิค ซึ่งการกระทำนี้ได้รับความชื่นชมอย่างมากจากแวดวงต่อต้านการปฏิวัติ[52]

เมื่อเริ่มต้น ค.ศ. 1917 สถานการณ์ทางการเมืองภายในจักรวรรดิรัสเซียย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว และในช่วงที่คอลชัคเดินทางไปยังบาตูมเพื่อเข้าหารือกับเจ้าอุปราชแห่งคอเคซัส แกรนด์ดยุกนีโคไล นีโคลาเยวิช เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมของท่าเรือคอเคซัสและทรับซอนสำหรับการจัดหาทรัพยากรให้แก่แนวรบรัสเซียในภูมิภาค[53] เขาได้รับโทรเลขพร้อมข่าวการปฏิวัติในเปโตรกราด ดังนั้นเขาจึงรีบเดินทางกลับเซวัสโตปอลทันที[54] เมื่อเขามาถึงได้ไม่นานนัก คอลชัคก็ได้รับข่าวการสละราชสมบัติของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 อันเป็นผลพวงจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. 1917[55] แม้ว่าในช่วงเวลานี้ กองเรือทะเลดำจะตกอยู่ภายใต้ความโกลาหลทางการเมือง แต่ด้วยชื่อเสียงและความเคารพที่มีต่อเขา ทำให้คอลชัคสามารถรอดพ้นจากการถูกลอบสังหารเหมือนที่เกิดขึ้นกับผู้บัญชาการกองเรือบอลติก[43][25]

ในตอนแรก คอลชัคตระหนักดีว่ารัฐบาลซาร์องค์สุดท้ายนั้นไร้ความสามารถ และมีมุมมองต่อการปฏิวัติเป็นไปในทางที่ดี[56][57] เขาเชื่อว่าการหลีกทางให้คณะรัฐมนตรีเสรีนิยมเข้ามาบริหารประเทศจะสามารถนำพาไปสู่ชัยชนะทางทหารได้[58][59] คอลชัคเชื่อว่าสงครามคือตัวแทนแห่งการชำระล้างความชั่วร้าย เช่นเดียวกับลัทธิชาตินิยมและลัทธิทหาร เขาถือว่านี่คือหนึ่งในคุณธรรมหลักของมวลมนุษย์ ในขณะที่เขาไม่เห็นด้วยกับลัทธิสันตินิยม สังคมนิยม และลัทธิอยู่ร่วมกันระหว่างประเทศของชนกรรมาชีพ ซึ่งเป็นแนวทางของลัทธิประชาธิปไตยตะวันตก โดยเชื่อว่าการปลูกฝังด้วยความสะดวกสบายเป็นไปไม่ได้ในรัสเซีย[57] อุดมการณ์ทางการเมืองของเขามีลักษณะโน้มเอียงไปทางราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ[57] ในช่วงสองสามสัปดาห์แรกหลังการปฏิวัติ คอลชัคยังคงสามารถร่วมมือกับสภาทหารโซเวียตใหม่ได้อยู่[60] จนเมื่อเกิดความโกลาหลขึ้นในกองทัพ ทําให้เขาเชื่อว่าการโฆษณาชวนเชื่อในหมู่สภาทหารบ่อนทําลายความพยายามในการทําสงคราม[58][25] ภายหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ คอลชัคได้รับคำเชิญจำนวนมากจากกลุ่มการเมืองเสรีนิยมและอนุรักษนิยม เพื่อให้เขาเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยชื่อเสียงด้านความรักชาติและความเป็นผู้นำของเขาในช่วงสงคราม[58]

ในเดือนเมษายน กองเรือทะเลดำเริ่มเข้าสู่ความโกลาหลอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความหัวรุนแรงของเหล่ากะลาสีโซเวียต[55] ในเดือนพฤษภาคม คอลชัคเดินทางไปยังเปโตรกราดชั่วครู่ เนื่องจากเขาได้รับคำสั่งจากกองเรือบอลติกให้พยายามจำกัดสถานการณ์การปฏิวัติที่ละเอียดอ่อนไว้ที่นั่น[60] ระหว่างที่อยู่ในเปโตรกราด คอลชัคแสดงความเห็นดีด้วยกับการใช้ทหารระงับจราจลตามข้อเสนอของผู้บัญชาการทหารเปโตรกราดลัฟร์ คอร์นีลอฟ ซึ่งในขณะนั้นได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองอย่างรุนแรง[58] หลังจากเดินทางกลับทะเลดำ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 9 มิถุนายน] เขาถูกเรียกร้องให้ปลดอาวุธโดยสภาทหารโซเวียต[25] เนื่องจากทางนั้นเชื่อว่ามีผู้สมรู้ร่วมคิดต่อต้านการปฏิวัติในหมู่นายทหารเรือ[52][61] อย่างไรก็ตาม คอลชัลได้ปฏิเสธที่จะมอบดาบประจำตัวของเขาให้แก่สภาโซเวียต[61] แล้วจึงโยนดาบเล่มนี้ทิ้งลงทะเล[52][12][25] และเดินทางไปเปโตรกราดอีกครั้งเพื่อพยายามโน้มน้าวรัฐบาลให้เห็นถึงความจำเป็นในการฟื้นฟูระเบียบวินัยภายในกองทัพ[62][d]

นายกรัฐมนตรีอะเลคซันดร์ เคเรนสกี เกิดความกังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้ค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับการที่จะนำคอลชัคขึ้นเป็นว่าที่เผด็จการคนใหม่[63] และเมื่อสหรัฐได้ร้องขอถึงคำแนะนำจากรัสเซียสำหรับปฏิบัติการที่เป็นไปได้กับการโจมตีคอนสแตนติโนเปิล เคเรนสกีจึงสั่งให้คอลชัคเดินทางออกนอกประเทศทันทีในฐานะที่ปรึกษาทางทหารของสหราชอาณาจักรและสหรัฐ[64] เขาเดินทางไปสหรัฐโดยผ่านบาร์เกิน ลอนดอน และแคนาดา การเดินทางของเขาในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการรับเชิญจากรัฐบาลสหรัฐ แต่จากคณะผู้แทนกองเรืออเมริกันที่ไปเยือนรัสเซียในคราวก่อน[63] เมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 28 สิงหาคม] เขาเดินทางมาถึงเมืองหลวงของสหรัฐ[63] ซึ่งทางรัฐบาลวอชิงตันที่ไม่ได้รับเชิญเขานั้น ไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์ในภารกิจของเขา[65] คอลชัคได้ตั้งข้อสันนิษฐานจากการหารือกับคณะผู้แทนกองทัพเรือสหรัฐในรัสเซียว่ารัฐบาลวอชิงตันวางแผนที่จะปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกเพื่อโจมตีช่องแคบออตโตมัน และน่าจะต้องการคำแนะนำจากรัสเซียเกี่ยวกับปฏิบัติการนี้ แต่เมื่อมาถึงสหรัฐก็เป็นที่ชัดเจนว่าไม่ใช่เพราะเรื่องนี้[66] หลายสัปดาห์ต่อมา หลังจากการพาเยี่ยมชมศูนย์และให้คำแนะนำต่าง ๆ แก่กองทัพเรือสหรัฐ เขาก็เตรียมที่จะเดินทางกลับรัสเซีย[67] แต่ด้วยทะเลบอลติกในขณะนี้ถูกฝ่ายมหาอำนาจกลางก่อกวน คอลชัคจึงตัดสินใจที่จะกลับรัสเซียโดยผ่านเอเชียในปลายเดือนถัดไป[67] ในวันที่ 26 ตุลาคม คณะผู้แทนรัสเซียเดินทางมาถึงซานฟรานซิสโก และในวันที่ 9 พฤศจิกายน เขาออกเดินทางกลับวลาดีวอสตอคด้วยเรือญี่ปุ่น[67]

สงครามกลางเมืองรัสเซีย[แก้]

การเคลื่อนไหวต่อต้านปฏิวัติครั้งแรก[แก้]

คอลชัค (ซ้าย) พร้อมด้วยนายพลเปรชคอฟ ผู้บัญชาการกองทัพรัสเซียประจำทรานส์แมนจูเรีย (กลาง) และกงสุลรัสเซียประจำฮาร์บินปาเวล โปปอฟ (ขวา) ความพยายามของคอลชัคในการรวมกองกำลังต่อต้านบอลเชวิคในแมนจูเรียไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากความขัดแย้งกันระหว่างขบวนการต่าง ๆ และถูกญี่ปุ่นต่อต้าน

ในขณะที่คอลชัคอยู่ที่สหรัฐและกำลังเดินทางไปซานฟรานซิสโกเพื่อที่จะกลับรัสเซียโดยใช้เส้นทางผ่านญี่ปุ่น ได้เกิดการปฏิวัติบอลเชวิคขึ้นในรัสเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1917[64][2] เขาประกาศว่าจะอุทิศตนอย่างถึงที่สุดเพื่อต่อสู้กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง และเสนอตัวให้กับทางราชนาวีอังกฤษเพื่อดำเนินการต่อสู้ต่อไป[64][68] แม้ว่าเขาจะทราบดีถึงความจำเป็นในการสถาปนาระบอบเผด็จการในรัสเซีย แต่คอลชัคก็ไม่เต็มใจที่จะเป็นผู้นำขบวนการขาวเพื่อตอบสนองต่อจุดประสงค์นี้ และเห็นชอบที่จะเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษเพื่อเข้าร่วมสงครามต่อไป[68] ซึ่งทางกองทัพอังกฤษได้ตอบรับข้อเสนอของเขาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1917[69] เขาคัดค้านสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์และมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับเยอรมนีต่อไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะทางทหาร[57]

ในตอนแรก ทางอังกฤษจะส่งเขาไปที่เมโสโปเตเมีย[64][69] แต่ท้ายที่สุด รัฐบาลอังกฤษก็พิจารณาว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่า หากเขาช่วยกวาดล้างพวกบอลเชวิคและนำรัสเซียกลับเข้าสู่สงคราม[64] ระหว่างทางกลับรัสเซีย ที่กรุงปักกิ่งเขาไม่สามารถดำเนินการรวบรวมหน่วยรัสเซียในแมนจูเรียเพื่อสนับสนุนการต่อต้านบอลเชวิคได้[70][69][2][71][72] เนื่องจากเผชิญกับการคัดค้านของญี่ปุ่น[73] เป็นเวลาเกือบสองเดือนตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ค.ศ. 1918 ที่เขาพยายามรวบรวมกองกำลังจากรัสเซีย จีน และมองโกเลีย ซึ่งอยู่ในความควบคุมของรัสเซียตามเส้นทางรถไฟสายทรานส์แมนจูเรีย แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ[74] ในช่วงเวลานี้ คอลชัคได้เข้าพบกับผู้นำต่อต้านปฏิวัติคนอื่น ๆ ในภูมิภาค ทั้งผู้นำคอสแซคกริกอรี เซมิโอนอฟ และอีวาน คัลมือคอฟ ซึ่งต่อมาพวกเขาเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกันในภายหลัง[73]

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 คอลชัคเข้าเป็นนายทหารของรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นโดยนายพลฮอร์วัตในฮาร์บิน ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น[75] เขาพยายามอย่างสูญเปล่าที่จะโน้มน้าวเซมิโอนอฟ ซึ่งหลังจากการสนทนากับคอลชัค เขาก็ได้ประกาศตนเป็นผู้นำอิสระไม่ตรงต่อนายพลฮอร์วัต พร้อมทั้งแยกทางกับคอลชัคที่พยายามให้เขาละทิ้งความร่วมมือกับญี่ปุ่น[76] หลังจากการโต้เถียงกับเซมิโอนอฟ คอลชัคจึงถอนความเชื่อมั่นของเขาที่มีต่อญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ไป[72] เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างเขากับญี่ปุ่นแย่ลง ฮอร์วัตจึงปลดเขาเขาออกจากตำแหน่งในปลายเดือนพฤษภาคม โดยให้เขาไปเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารระดับรองแทน[77] คอลชัคได้พยายามใช้หน่วยทหารนี้เคลื่อนกำลังไปยังวลาดีวอสตอค แต่ก็ถูกคัลมือคอฟขัดขวางไว้[77]

ล้มล้างคณะกรรมาธิการออมสค์และก้าวเป็นผู้ปกครองสูงสุด[แก้]

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน เขาตัดสินใจลาออกจากหน่วยทหารท่ามกลางการคัดค้านจากเหล่านายพล เนื่องจากอาการป่วยของเขาและเข้าพักฟื้นในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงนี้เขาได้ติดต่อกับอังกฤษอีกครั้ง[73] ที่ญี่ปุ่นเขาได้สร้างมิตรภาพกับนายพลอัลเฟรด น็อกซ์ อดีตนายทหารอังกฤษประจำรัสเซียและเป็นหัวหน้าภารกิจทางทหารของกองทัพอังกฤษ[71] ซึ่งเขาผู้นี้กำลังมีแผนที่จะเดินทางไปไซบีเรีย โดยนายพลน็อกซ์นั้นนอกจากจะถูกมองว่าเป็นผู้สังเกตสถานการณ์ในรัสเซียได้อย่างเฉียบขาดแล้ว เขายังเป็นผู้มีแนวคิดเผด็จการและเกลียดชังขบวนการสังคมนิยมอีกด้วย[73] คอลชัคได้เดินทางพร้อมน็อกซ์กลับรัสเซีย[71] และไปถึงยังวลาดีวอสตอคเมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1918[78]

คอลชัค (คนที่นั่ง) พร้อมด้วยนายพลอังกฤษอัลเฟรด น็อกซ์ หัวหน้าภารกิจของกองทัพอังกฤษ และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ กำลังเยี่ยมชมแนวรบหน้า

จากนั้นคอลชัคได้เดินทางต่อไปยังออมสค์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1918[78] โดยมีจุดมุ่งหมายการเดินทางที่ไครเมีย ซึ่งครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ที่นั่น และเขาวางแผนที่จะเข้าร่วมการต่อสู้กับรัฐบาลโซเวียต[70] ขณะที่อยู่ในเมืองนี้ คอลชัคได้รับข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการชุดใหม่ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม[79][78] ซึ่งเขาตอบตกลงในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918[70][2] โดยได้รับความเห็นชอบจากน็อกซ์ด้วย[80] คณะกรรมาธิการชุดนี้เป็นการจัดตั้งขึ้นผ่านข้อตกลงระหว่างรัฐบาลชั่วคราวไซบีเรียและโคมุช ที่รวมตัวกันเป็นพันธมิตรอย่างหละหลวมในกลุ่มเสรีนิยม อนุรักษนิยม และแนวร่วมประชาธิปไตยสังคมนิยม (พรรคสังคมนิยมปฏิวัติและเมนเชวิค)[80] ซึ่งมีจุดประสงค์เพียงหนึ่งเดียวคือการต่อต้านบอลเชวิค[81] คอลชัคกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดในคณะรัฐมนตรีสิบสี่คน โดยคณะกรรมาธิการหวังว่าจะใช้ประโยชน์จากความเคารพที่ฝ่ายสัมพันธมิตรมีให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนายพลอัลเฟรด น็อกซ์ แห่งกองทัพอังกฤษ[82] ด้วยประสบการณ์การต่อสู้ ความรักชาติ และความอนุรักษนิยมของเขา ทำให้คอลชัคเป็นดังสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ท่ามกลางความเสื่อมทรามและการทุจริต จากชื่อเสียงในฐานะนักสำรวจและหนึ่งในนายทหารที่ดีที่สุดในกองทัพเรือ ทำให้เขากลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนหลากหลายฝ่าย[2]

แม้จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จในปลายเดือนตุลาคม แต่การสิ้นสุดลงของคณะกรรมาธิการก็ใกล้เข้ามาทุกที; กองกำลังสำคัญต่าง ๆ ได้สมคบคิดแผนการเพื่อโค่นล้มรัฐบาลและประกาศระบอบเผด็จการโดยมีน็อกซ์ร่วมด้วย ตามบันทึกของผู้บัญชาการกองกำลังประจำคณะกรรมาธิการ นายพลบอลดือเรฟ ได้เพ่งเล็งไปที่คอลชัคในฐานะว่าที่เผด็จการ[2] ก่อนที่น็อกซ์จะเดินทางออกจากวลาดีวอสตอคไปออมสค์ เขาได้บอกกับผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองของอังกฤษว่าคอลชัคเป็น "ชาวรัสเซียที่ดีที่สุดสำหรับจุดประสงค์ของเราในตะวันออกไกล"[71]

ไม่กี่วันต่อมา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่คอสแซคอีวาน คราซิลนีคอฟ ได้จับกุมนีโคไล อัฟค์เซนเตียฟ วลาดีมีร์ เซนซีนอฟ และผู้นำกลุ่มสังคมนิยมปฏิวัติคนอื่น ๆ[83][84][85] การรัฐประหารนี้เป็นการสมรู้ร่วมคิดของน็อกซ์และกองทัพอังกฤษ[3] แม้ว่าการมีส่วนร่วมโดยตรงของพวกเขาจะเป็นที่ถกเถียงกันก็ตาม[86][87] ทางอังกฤษได้มอบหมายกองทหารของตนให้คุ้มกันตัวของคอลชัค (นับเป็นรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ได้รับการปฏิบัติเช่นนี้) อีกทั้งยังปกป้องอาคารราชการและลาดตระเวนตามท้องถนนในเมืองหลังการรัฐประหาร เพื่อป้องกันการกระทำทางอาวุธที่เป็นไปได้ในการป้องกันทำเนียบโดยหน่วยทหารเชโกสโลวัก[88][80][89] โดยส่วนมากแล้ว ตัวแทนจากฝ่ายสัมพันธมิตรประจำรัสเซียสนับสนุนการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นเผด็จการทหาร[87]

ภายหลังการพิจารณาโทษและขับไล่ผู้บัญชาการกองกำลังของคณะกรรมาธิการ นายพลวาซีลี บอลดือเรฟ[83][82] บรรดาสมาชิกคณะรัฐมนตรีตัดสินใจมอบอำนาจเต็มให้แก่คอลชัค[90] ในฐานะผู้ปกครองสูงสุด (Verjovny Pravítel)[85] ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ[84][91] และผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพบกและกองทัพเรือ[3] แม้ว่าคอลชัคจะสนับสนุนการสถาปนาระบอบเผด็จการทหาร แต่เขาก็ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการรัฐประหารในครั้งนี้[83] และในเวลานั้นเขาจงใจไม่พำนักอยู่ในออมสค์[90] ต่อมาคอลชัคได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเรือเอกโดยคณะรัฐมนตรี[89][92] หลังจากนั้นไม่นาน มีการเนรเทศผู้นำฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติจำนวนมากที่ถูกจับกุมระหว่างการรัฐประหาร[82] โดยมีเงื่อนไขว่าต้องละทิ้งกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมด[93] สำหรับกำลังทหารที่เข้าร่วมในการรัฐประหารได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นจำนวนมาก[94][82][90][85]

ปฏิกิริยาต่อการรัฐประหารนั้นมีอย่างหลากหลาย[90] ทั้งจากฝ่ายตรงข้าม (ฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติและเมนเชวิค) หน่วยทหารเชโกสโลวัก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประธานาธิบดีสหรัฐ ไปจนถึงความกังขาของผู้สนับสนุนการปกครองตนเองในไซบีเรียอย่างเซมิโอนอฟและญี่ปุ่น อีกทั้งยังถูกเมินเฉยโดยชาวนาส่วนใหญ่ คาเดตส์และพรรคฝ่ายขวา บรรดาข้าราชการ วงการธุรกิจ หรือแม้แต่ตัวแทนฝ่ายพันธมิตรต่าง ๆ ในภูมิภาค[95]

ระบอบเผด็จการและผู้ปกครองสูงสุด[แก้]

ช่วงเริ่มแรก[แก้]

ดวงตราไปรษณียากรที่ออกใน ค.ศ. 1919 พร้อมข้อความ: "เพื่อรัสเซียเป็นหนึ่งเดียว − คอลชัค ผู้ปกครองสูงสุดแห่งรัสเซีย"

บรรดานักสังคมนิยมปฏิวัติทั้งหลายต่างถูกจับกุมและเนรเทศออกจากไซบีเรียระหว่างการรัฐประหาร พร้อมทั้งคอลชัคได้กล่าวแถลงการณ์โดยมีใจความดังนี้:[96]

รัฐบาลชั่วคราวรัสเซียได้สิ้นสุดลงแล้ว คณะรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือได้มอบอำนาจนี้แก่ข้าพเจ้า พลเรือเอกอะเลคซันดร์ คอลชัค ข้าพเจ้าจะยอมรับความรับผิดชอบนี้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างยิ่งของสงครามกลางเมืองและความระส่ำระสายของประเทศ และบัดนี้ข้าพเจ้าได้แสดงให้รู้ว่าข้าพเจ้าจะไม่เดินตามเส้นทางปฏิกิริยาหรือเส้นทางมรณะของการต่อสู้แบบพลพรรค จุดประสงค์หลักของข้าพเจ้าคือการจัดตั้งกองกำลังต่อสู้ การโค่นล้มพวกบอลเชวิค และการจัดตั้งกฎหมายและความสงบเรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนรัสเซียสามารถเลือกรูปแบบการปกครองตามความปรารถนาของพวกเขาได้ พร้อมทั้งบรรลุถึงอุดมคติอันสูงส่งแห่งเสรีภาพและอิสรภาพ ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านที่เป็นพลเมืองให้รวมกันและเสียสละทุกอย่างหากจำเป็น เพื่อต่อสู้กับพวกบอลเชวิค

หนึ่งในมาตรการที่ได้รับการอนุมัติโดยรัฐบาลชุดใหม่ คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจสินค้าบางส่วน ที่ก่อนหน้านี้ถูกบอลเชวิคกำหนดให้เป็นของส่วนรวม เพื่อให้เป็นที่พอใจของสภาการค้าและอุตสาหกรรมไซบีเรีย ซึ่งทำให้เกิดกระแสการเก็งกำไรและการขาดแคลนผลิตภัณฑ์[97] นักธุรกิจที่สนับสนุนการรัฐประหารยังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อประเด็นเศรษฐกิจในยุคเผด็จการทั้งจากภายในและภายนอกรัฐบาล[97]

ฝ่ายสัมพันธมิตร[แก้]

คอลชัคพร้อมด้วยผู้บัญชาการทหารฝรั่งเศส โมริส ฌาแน็ง ตรวจตรากองทัพขาวในเดือนเมษายน ค.ศ. 1919 ณ เมืองออมสค์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองหลวงโดยพฤตินัยของรัฐรัสเซีย

เพื่อให้ได้รับความชื่นชอบจากฝ่ายสัมพันธมิตรและต่อความคิดเห็นสาธารณชนต่างประเทศ ระบอบเผด็จการยังคงโฆษณาชวนเชื่อสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง แม้ในภูมิภาคจะประสบผลสำเร็จเพียงเล็กน้อยเท่านั้น[98] นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแสดงท่วงท่าต่อฝ่ายสัมพันธมิตร รัฐบาลใหม่จึงสัญญาจะชำระหนี้ต่างประเทศจำนวนมหาศาลของรัสเซีย[99][100] ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลบอลเชวิคปฏิเสธ[98] ภารกิจทางทหารของกองทัพอังกฤษกลายมาเป็นหนึ่งในเสาหลักพื้นฐานของระบอบการปกครองใหม่ของคอลชัคในไซบีเรีย[101][100] เมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1919 นายพลน็อกซ์ได้รับมอบหมายให้ดูแลหน่วยรบแนวหลัง ส่วนนายพลฝรั่งเศสโมริส ฌาแน็ง ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทหารต่างชาติในแนวรบหน้า[102][103][80] อังกฤษถือเป็นผู้จัดหายุทโธปกรณ์และเงินทุนสนับสนุนหลักให้แก่ระบอบคอลชัค[100][104] ภายหลังการถอนกำลังพลของหน่วยทหารเชโกสโลวักจากแนวหน้าเพื่อเฝ้าระวังทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียในช่วงต้น ค.ศ. 1919[102] ส่งผลให้คำสั่งและอิทธิพลของนายพลฌาแน็ง มีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับน็อกซ์[80]

ทหารอเมริกันราวแปดพันนายที่ประจำการอยู่ในไซบีเรียได้รับคำสั่งให้เป็นกลางต่อ "กิจการภายในของรัสเซีย" อย่างเคร่งครัด โดยถูกจำกัดหน้าที่อยู่เพียงการดำเนินการรักษาทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียในตะวันออกไกลเท่านั้น[100] ผู้บัญชาการทหารสหรัฐวิลเลียม เอส. เกรฟส์ แสดงท่าทีไม่พอใจต่อรัฐบาลของคอลชัคที่มีลักษณะเป็นพวกปฏิกิริยาและอำนาจนิยม[100] ประธานาธิบดีสหรัฐวูดโรว์ วิลสัน ยังคงมีเจตคติที่จะช่วยเหลือรัฐบาลคอลชัคทั้งทางอาวุธและการรับรอง แม้จะมีความวิตกกังวลต่อระบอบเผด็จการรัสเซียก็ตาม ถึงอย่างนั้นรัฐบาลคอลชัคก็ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ[100]

เชโกสโลวาเกียเป็นปรปักษ์กับคอลชัคตั้งแต่แรก[105] เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ทางสภาแห่งชาติเช็กได้ออกมติประณามการทํารัฐประหารและปฏิเสธที่จะร่วมมือกับระบอบการปกครองใหม่[105] ต่อมาไม่นานก็เกิดกบฏขึ้นในหมู่กองทหาร พร้อมทั้งราโดลา กัยดา ผู้บัญชาการหน่วยทหารเชโกสโลวัก ซึ่งถูกทางสภาแห่งชาติเช็กขัดขวางมิให้ลงโทษผู้ก่อการจราจล ได้ปลดตนเองจากหน่วยทหารและไปเข้าร่วมกับกองทัพในสังกัดคอลชัค[106] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1919 หน่วยทหารปฏิเสธที่จะประจำการในแนวรบหน้าและถอนกำลังกลับไปดูแลยังแนวหลัง โดยรับหน้าที่ลาดตระเวนทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียระหว่างเยคาเตรินบุร์ก เชเลียบินสค์ และอีร์คุตสค์[106][102]

ในช่วงเวลานั้น กองทัพสัมพันธมิตรประมาณหนึ่งแสนนายที่ประจำการอยู่ในไซบีเรียถูกส่งไปยังแนวหน้า ซึ่งตามคำสั่งอย่างเป็นทางการระบุว่าเพื่อช่วยเหลือหน่วยทหารเชโกสโลวักในการสร้างแนวรบด้านตะวันออกกับฝ่ายมหาอำนาจกลางอีกครั้ง แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลโซเวียต[107] หน่วยทหารเช็กและกองกำลังภารกิจทางทหารของอังกฤษ สหรัฐ อิตาลี และฝรั่งเศส ยังคงปกป้องแนวหลังของคอลชัคและเปิดเส้นทางเสบียงยาว 4,000 ไมล์ จากวลาดีวอสตอคไปยังออมสค์ ตามทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย[108][102] คอลชัคไม่เคยเห็นด้วยกับการแบ่งพื้นที่เฝ้าระวังของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่เขาก็ไม่ได้คัดค้านอะไรมากมายนัก เพราะมองว่าเป็นการเปิดเส้นทางส่งเสบียงที่จำเป็นสำหรับรัฐบาลของเขา อีกทั้งฝ่ายสัมพันธมิตรก็รับประกันการดำเนินการเหล่านี้อีกด้วย[109]

ในช่วงปลาย ค.ศ. 1918 คอลชัคได้มอบหมายให้อดีตนายกรัฐมนตรีเสรีนิยมของรัฐบาลชั่วคราวรัสเซีย เจ้าชายเกออร์กี ลวอฟ เป็นตัวแทนของรัฐบาลเพื่อพยายามขอการรับรองในระดับสากลจากฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ[108] อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ยังสนับสนุนคอลชัคทั้งทางทหารและเสบียงต่อไป โดยในช่วงหกเดือนแรกของ ค.ศ. 1919 กองทัพขาวได้รับปืนไรเฟิลหนึ่งล้านกระบอก ปืนกลหนึ่งหมื่นห้าพันกระบอก ปืนใหญ่เจ็ดร้อยกระบอก ตลับกระสุนแปดร้อยล้านตลับ เสื้อผ้า และยุทโธปกรณ์ทางทหารสำหรับกำลังพลกว่าครึ่งล้านคน[108] แม้ว่าจะเป็นการยากที่จะทราบว่าสัดส่วนของยุทโธปกรณ์เหล่านั้นไปถึงแนวหน้าเท่าใด[110] ปริมาณกระสุนที่ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งไปให้กองกำลังของคอลชัคในช่วงเวลานี้เทียบเท่าได้กับการผลิตของโซเวียตตลอดทั้งปี[108]

เผด็จการและประชาธิปไตย[แก้]

นอกจากรัฐธรรมนูญที่อยู่เพียงเบื้องหน้า ระบอบเผด็จการคอลชัคได้ละทิ้งความพยายามทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพ[98] มีการกีดกันไม่ให้คณะรัฐมนตรีเก่าจากคณะกรรมาธิการเข้าควบคุมงานของรัฐบาลและได้มอบอำนาจให้แก่กองทัพ ซึ่งส่งผลให้เกิดการทุจริตและความไร้ประสิทธิภาพภายในรัฐบาล โดยกองทัพได้ใช้อำนาจต่าง ๆ ในการฟื้นฟูศักดินาและดำเนินการแก้แค้นเป็นการส่วนตัวต่อผู้ที่ถูกพิจารณาว่ามีความผิดจากการสูญเสียสิทธิพิเศษในอดีต[111][107] เสนาธิการทหารคนใหม่ พันเอกดมีตรี เลเบเดฟ ได้ขยายอำนาจควบคุมกองทัพทีละน้อยผ่านดินแดนภายใต้การดูแลของคอลชัคและเริ่มแทรกซึมเข้าไปในฝ่ายบริหาร[112] เลเบเดฟที่ตอนนี้มีทหารในสังกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้ว่าจ้างทหารหลายพันคนให้หลบเลี่ยงแนวหน้า[113] และมอบหมายงานที่ไร้ประโยชน์ในคณะกรรมการต่าง ๆ โดยไม่มีผลลัพธ์ใด ๆ[112] ฝ่ายของคอลชัคซึ่งก่อตัวขึ้นจากการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในสภาปกครองสูงสุด[95] ได้รับความสำคัญทางการเมืองเพิ่มขึ้นและทำให้คณะรัฐมนตรีจนตรอก[95] โดยคณะรัฐมนตรีค่อย ๆ สูญเสียอิทธิพลของตนไปในช่วงครึ่งแรกของ ค.ศ. 1919[114]

การนำประชาธิปไตยมาไว้ฉากหน้าจำเป็นอย่างมากต่อการได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตรและการได้รับการรับรองในฐานะรัฐบาลที่แท้จริงของรัสเซีย (ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่ได้รับการยอมรับ) เนื่องจากจะทำให้รัฐบาลได้รับประโยชน์หลายประการ เช่น การมีส่วนร่วมในการประชุมสันติภาพปารีส, ได้รับอาวุธและเสบียงที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้กับรัฐบาลโซเวียต, ควบคุมการเคลื่อนไหวที่ไม่มั่นคงของญี่ปุ่นในตะวันออกไกล และบรรเทาความเป็นปรปักษ์ลงระหว่างหน่วยทหารเชโกสโลวัก[115] อย่างไรก็ตาม คอลชัคได้เก็บงำความเห็นอกเห็นใจเพียงเล็กน้อยที่มีต่อประชาธิปไตยและปฏิเสธที่จะพิจารณาให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในอนาคตภายหลังสงครามหรือยอมรับการมีส่วนร่วมของฝ่ายสังคมนิยม[116][107]

บรรดาคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่แล้วมาจากพรรคประชาธิปัตย์รัฐธรรมนูญ (คาเดตส์) ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่นเดียวกับโครงการของรัฐบาลและอุดมการณ์ของระบอบการปกครอง[117] ซึ่งความใกล้ชิดระหว่างคอลชัคและคาเดตส์นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากประสบการณ์ทางการเมืองของเขาที่ขาดแคลนและเพื่อแบ่งปันความทุ่มเทต่ออุดมคติของรัฐรัสเซียอันยิ่งใหญ่[117] ด้วยความพ่ายแพ้ทางทหารในฤดูร้อน ค.ศ. 1919 จุดเด่นสามประการที่ปรากฏอย่างเห็นได้ชัดในรัฐบาลคอลชัค ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในอดีต ได้แก่ ลัทธิคลั่งชาติ ความเกลียดกลัวต่างชาติ และการต่อต้านยิว สิ่งทั้งหมดนี้มักถูกใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนสำหรับความผิดพลาดของเขา[118][119]

เผด็จการและสภาพแวดล้อม[แก้]

ผู้ปกครองสูงสุดอะเลคซันดร์ คอลชัค พร้อมด้วยผู้ติดตามใน ค.ศ. 1919

แทนที่คอลชัคจะปกครองดินแดนผ่านอำนาจของคณะรัฐมนตรี เขากลับนิยมใช้อำนาจทางอ้อมในการบริหารมากกว่า กลุ่มของเขาจึงเต็มไปด้วยบุคคลใกล้ชิดและที่ปรึกษานอกราชการ[120] ตามหลักทางกฎหมายแล้ว อำนาจของเขาถูกคณะรัฐมนตรีควบคุม[117] แต่เขาได้ผ่าน "มาตรการพิเศษ" ที่ทำให้เขาสามารถหลบเลี่ยงการควบคุมอำนาจได้[121] นอกจากนี้ กองกำลังปฏิกิริยาส่วนใหญ่ก็เข้าร่วมกับรัฐบาลคอลชัคด้วย[122] ซึ่งบุคคลเหล่านี้กีดกันเขาให้ห่างออกจากคณะรัฐมนตรีมากขึ้นเรื่อย ๆ[121] และในไม่ช้าพวกคนประจบสอพลอและผู้แสวงหาผลประโยชน์จึงสามารถใช้อำนาจของคอลชัคได้ตามอำเภอใจ[121] เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1918 มีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการประทุษร้ายเผด็จการ โดยผู้ที่ต่อต้านเผด็จการมีโทษถึงประหารชีวิต ส่วนผู้ที่กล่าวหาว่าร้ายมีโทษจำคุกตลอดชีวิต[123] แม้จะมีการโฆษณาชวนเชื่อ แต่คอลชัคผู้รักชาติอย่างแรงกล้า มีบุคลิกที่แปลกประหลาด[117] และเป็นที่สนใจของฝ่ายสัมพันธมิตร[123] ก็ไม่ได้เปิดเผยตนเองว่าเป็นนักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์[123] หรือผู้บัญชาการทหารแต่อย่างใด[124] เขาปราศจากความเฉลียวฉลาดทางการเมืองและความสามารถพิเศษที่จำเป็นในการได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ภูมิหลังทางการศึกษาและการเป็นทหารไม่ได้เตรียมให้เขาพร้อมสำหรับงานที่ยากอย่างยิ่งในการเอาชนะรัฐบาลโซเวียตจากไซบีเรียที่ด้อยพัฒนา[124] โครงการทางการเมืองของคอลชัคสะท้อนให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ในทัศนคติส่วนตัวของเขามากกว่าเพื่อดึงดูดแรงสนับสนุนจากประชาชน[125] ความสามารถในการจัดการกับผู้ใต้บัญชาของเขาไม่มีเลย ซึ่งเขาคุ้นเคยกับการออกคำสั่งและวิธีไม่เจรจาเป็นปรกติวิสัย[125] ด้วยความทุ่มเทและทำงานหนัก ทำให้เขาแทบไม่รู้สึกถึงความซับซ้อนของการบริหารรัฐกิจเลย แต่ถึงอย่างนั้นก็ได้สร้างความประทับให้กับผู้ร่วมสมัยเดียวกับช่วงเผด็จการของเขาเช่นกัน[125]

คอลชัคให้ความสำคัญกับเรื่องการทหารมากกว่าการเมือง: โดยเขามุ่งเน้นสนใจเรื่องการทหารอย่างเข้มข้น แต่กลับปล่อยละเลยการเมืองและเข้าพบคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งคราว[126] แม้ว่าเขาจะไม่ทราบถึงเรื่องการรบภาคพื้นดิน แต่คอลชัคก็พยายามควบคุมการปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างมาก[126] ประมาณหนึ่งในสามของช่วงเวลาการปกครองของเขา คอลชัคมักจะออกตรวจตราแนวรบหน้าตลอดและไม่ชอบที่จะทำงานอยู่ในเมืองหลวง[127] อย่างไรก็ตาม การออกตรวจตราแนวรบหน้าก็ไม่ได้รับประกันว่าเขาจะสามารถควบคุมกองกำลังติดอาวุธได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ผู้นำคอสแซ็กที่ทำตัวเหมือนเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ยังรวมถึงกองทัพแนวหน้าที่บางครั้งก็ดื้อรั้นและไม่เชื่อฟังด้วย[117]

แม้ว่าเขาจะดำรงตำแหน่งผู้เผด็จการ แต่บุคลิกภาพของคอลชัคนั้นกลับไม่เหมาะสมกลับตำแหน่งดังกล่าว[127][117] ด้วยกฎเกณฑ์ทางการเมืองและการทหารเพียงเล็กน้อย เขาจึงได้รับอิทธิพลอย่างง่ายดายและได้กำหนดเป้าหมายของตนเพียงเล็กน้อย[127] เขาอ่อนไหวต่อคำวิจารณ์อย่างมาก มักจะได้รับข้อมูลผิด ๆ และนิยมมอบหมายการตัดสินใจต่าง ๆ ให้กับผู้อื่น แม้เรื่องนั้นจะสำคัญที่สุดก็ตาม[117] โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ดำรงตำแหน่งในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1919 ได้กล่าวไว้ดังนี้:[128]

ไม่มีแผนการ ระบบ หรือเป้าหมายของตนเอง ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นเหมือนขี้ผึ้งอ่อนที่ที่ปรึกษาและผู้ติดตามของเขาหล่อหลอมขึ้นมาตามความประสงค์ เขาเป็นเหมือนของเล่นที่ทำอะไรไม่ถูกในมือของผู้ที่ได้รับความไว้วางใจและชนะใจเขา

ในภาพรวมแล้ว คอลชัคขาดความสามารถที่จำเป็นในการบริหาร เขาไม่มีแม้กระทั่งที่ปรึกษาหรือผู้บริหารร่วมกับเขา ตัวเขาอยู่ท่ามกลางนักฉวยโอกาสและผู้แสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้รู้จุดอ่อนของคอลชัคเป็นอย่างดี เพียงแค่เสนอแผนการจอมปลอมโดยอ้างถึงความจำเป็นของประเทศหรือขบวนการขาวก็พอแล้วสำหรับการทุจริตต่าง ๆ[128] ส่วนหนึ่งของความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารของคอลชัค เกิดจากการเลือกบุคลากรของเขาเอง[110][117] แต่นั่นก็ไม่ใช่สาเหตุเดียว เพราะตามจริงแล้วรัฐบาลของเขาขาดแคลนนักการเมืองและผู้บริหารที่มีความสามารถในภูมิภาคนี้[129]

สุขภาพของคอลชัคก็ไม่สอดคล้องกับตำแหน่งเผด็จการเช่นกัน: จากการเดินทางสำรวจอาร์กติก, การทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีในกองทัพเรือและแนวหน้า และสภาพจิตใจที่ตกต่ำอย่างหนักในช่วงการปฏิวัติได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเขาอย่างยิ่ง[129] คอลชัคเป็นโรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวมในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1918 ซึ่งเกือบทำให้เขาเสียชีวิต คอลชัคกลับมาปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ท่าทางของเขาแสดงความรู้สึกผ่านความเหนื่อยล้าและอาการป่วยอยู่ตลอดเวลา[129]

สภาพสังคม[แก้]

ธนบัตร 300 รูเบิล ในสมัยรัฐบาลคอลชัค ระบอบเผด็จการประสบปัญหาทางการเงินอย่างร้ายแรงและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อสังคมเป็นจำนวนมาก

จากชัยชนะทางทหารในฤดูหนาว ค.ศ. 1919 ทำให้การผ่านกฎหมายเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายทางสังคมที่ล่าช้าไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิ[130] เนื่องจากรัฐบาลมุ่งความสนใจไปที่กิจการทางทหารและไม่เต็มใจที่จะจัดการกับประเด็นขัดแย้งในขบวนการขาว[131] ซึ่งท้ายที่สุดกฎหมายฉบับที่ผ่านในฤดูใบไม้ผลิก็ไม่สมบูรณ์ มีความขัดกับฉบับอื่น และถูกกำหนดเป็นฉบับชั่วคราวเท่านั้น[131]

ในช่วงปลาย ค.ศ. 1919 เซอร์ชาลส์ เอเลียต ผู้แทนสหราชอาณาจักรในไซบีเรีย ได้อธิบายต่อรัฐบาลลอนดอนว่าระบอบคอลชัคนั้นไม่เป็นที่นิยม ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นผู้มั่งคั่ง กองทัพ และข้าราชการเท่านั้น ภายในกองทัพเต็มไปด้วยพวกปฏิกิริยา[132] ฝักใฝ่ราชาธิปไตยเป็นส่วนใหญ่ และมีภาพลักษณ์เสรีนิยมน้อยกว่าการโฆษณาชวนเชื่อในหมู่ประชากรมาก[133] การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลโซเวียตยังมีประสิทธิผลมากกว่าระบอบคอลชัคที่เน้นสร้างความประทับใจให้แก่พวกปฏิกิริยาและสนับสนุนการฟื้นฟูระบอบซาร์เก่า[132]

การที่ไม่สามารถกำหนดการควบคุมพื้นที่ชนบทจากรัฐบาลกลางได้ คอลชัคจึงตัดสินใจละทิ้งการจัดเลือกตั้งและขยายโครงสร้างขององค์กรเซมสตโว (Zemstvo) ในท้องที่ชนบท อีกทั้งยังถูกกวาดล้างโดยสมาชิกของกองทัพที่เป็นศัตรูกับรัฐบาล[134] องค์กรส่วนท้องถิ่นจำนวนมากเป็นอัมพาต เนื่องจากปราศจากอำนาจที่แท้จริง[134] การควบคุมด้านการบริหารยังคงอยู่ในมือของกระทรวงมหาดไทย[134]

แม้จะมีการจัดการเลือกตั้งสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือสภาดูมาท้องถิ่น แต่เนื่องด้วยการปราบปรามฝ่ายค้านทางการเมืองของระบอบคอลชัค และความเสี่ยงที่ฝ่ายตรงข้ามจะโจมตีกลับ จึงมีการงดออกเสียงในจำนวนที่สูงอย่างยิ่ง[135]

ความสัมพันธ์ของชาวไร่ชาวนาที่มีต่อระบอบคอลชัคไม่ดีมากนัก เป็นเพราะฝ่ายบริหารไม่สามารถกำหนดถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ชัดเจน[136][137] ด้วยกลวิธีทางกฎหมายได้ระบุว่าเรื่องเหล่านี้ถือเป็นการตัดสินใจของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในอนาคต จากการคืนที่ดินบางส่วนให้กับเจ้าของที่ดิน และการเวนคืนพื้นที่ที่ชาวนาครอบครองโดยรัฐ ตลอดจนการตัดสินใจของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้สร้างความหวาดระแวงต่อชาวนาอย่างมาก ซึ่งพวกเขามองว่าการกระทำเหล่านี้เป็นเพียงกลอุบายที่ซ่อนไว้เพื่อที่จะกลับคืนสู่สถานการณ์ก่อนการปฏิวัติเท่านั้น[136][138] อีกทั้งการใช้ความรุนแรงของผู้นำคอสแซ็ก (ซึ่งในทางกฎหมายได้ยอมสวามิภักดิ์แก่คอลชัค แต่ในทางปฏิบัติแล้วอยู่นอกเหนือการควบคุมของเขา[100][105]) ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเป็นปรปักษ์ของชาวนาที่มีต่อระบอบคอลชัค ซึ่งด้วยการกระทำที่เป็นการลงโทษอย่างป่าเถื่อนต่อเมืองที่ต่อต้าน และการเรียกเก็บหรือการชำระภาษี ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง[139][140][138]

การบูรณะทางรถไฟในไซบีเรียเมื่อ ค.ศ. 1919 เส้นทางคมนาคมหลักสำหรับการจัดหาทรัพยากรในสมัยคอลชัค คือ ทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย ถึงแม้จะเสื่อมสภาพอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถรองรับความต้องการของกองทัพและพลเรือนได้ในเวลาพร้อม ๆ กันก็ตาม

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยในภูมิภาคก็ไม่ดีเช่นกัน เนื่องจากการสร้างลัทธิคลั่งชาติรัสเซียของคอลชัค ข้าราชการ และนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์รัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อต้านลัทธิชาตินิยมของชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่แล้วมีอุดมการณ์ต่อต้านแนวคิดรัสเซียเดียว[141][142][143] แม้ว่าประเด็นนี้จะมีความสำคัญรองลงมาในภูมิภาคไซบีเรีย[141] แต่ก็ทำให้ขบวนการขาวขาดการสนับสนุนที่สำคัญไป และยังสร้างความขัดแย้งกับขบวนการชาตินิยมด้วย เช่น กรณีของรัฐบาลฟินแลนด์ในฤดูร้อน ค.ศ. 1919 ซึ่งยินดีที่จะเคลื่อนกำลังพลเข้าสู่เปโตกราดเพื่อแลกกับเงื่อนไขในการรับรองเอกราชของประเทศ แต่คอลชัคปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าว[144][143]

อุตสาหกรรมภายในภูมิภาคเป็นไปอย่างจำกัด โดยในตอนต้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไซบีเรียมีจำนวนโรงงานเพียง 10.5 % ของโรงงานทั้งหมดในประเทศ มีจำนวนแรงงาน 4.3 % และการผลิตภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 2.2 % เท่านั้น[145] โรงงานในไซบีเรียส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและเก่ากว่าโรงงานในส่วนอื่น ๆ ของประเทศ โดยโรงงานเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบในภูมิภาคนี้ ขณะที่การผลิตเครื่องจักร สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ หรืออาวุธแทบเป็นศูนย์[145] ในทรานส์ไซบีเรียต้องจ้างแรงงานราวหนึ่งในสามของแรงงานทั้งหมดในประเทศ และการบำรุงรักษาเกือบทั้งหมดขึ้นอยู่กับโรงงานที่อยู่ในมือของโซเวียต[145]

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสหภาพแรงงานก็ตึงเครียดเช่นกัน โดยกองทัพกระทำการปราบปรามสหภาพแรงงานอย่างรุนแรง แม้ว่าการเรียกร้องโดยทั่วไปของสหภาพจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจและไม่ใช่การเมือง[146] สิทธิในการนัดหยุดงานเป็นสิ่งต้องห้าม[147] ก่อนการยึดอำนาจของคอลชัค คนงานในไซบีเรียซึ่งเห็นด้วยกับการจลาจลต่อต้านโซเวียตนั้นเมินเฉยต่อรัฐบาลใหม่: ภายใต้การปกครองของคอลชัคสร้างความไม่พอใจ[130] และการประท้วงที่เพิ่มมากขึ้น[148] กระทรวงแรงงานที่อยู่ในการควบคุมของอดีตสมาชิกเมนเชวิค ไม่มีอำนาจที่จะบังคับมาตรการใด ๆ หรือหยุดการละเมิดโดยกองทัพได้เลย[147] กองทัพต้องการระงับสหภาพแรงงานเป็นที่สุด แต่ด้วยความสัมพันธ์กับพันธมิตรขัดขวางไม่ให้มีการยุบสหภาพแรงงาน แม้ว่าจะถูกปราบปรามอย่างรุนแรงก็ตาม[149]

ในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลแสดงท่าทีให้เห็นอย่างชัดเจนว่านิยมบริษัทเอกชนมากกว่าสหกรณ์ที่แข็งแกร่งในภูมิภาค แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอุปทานและสงครามการผลิตได้[150] เมื่อเทียบกับสองร้อยล้านคนในสหกรณ์ที่สนับสนุนการทำสงครามของคอลชัค มีบริษัทเอกชนไม่ถึงสิบสองแห่งที่สนับสนุนรัฐบาล[151] ในแวดวงราชการบางส่วน โดยเฉพาะกองทัพ ถือว่าสหกรณ์มีความข้องเกี่ยวกับบอลเชวิค[152]

ส่วนหนึ่งของความไม่พอใจของประชาชนเกิดจากสาเหตุทางเศรษฐกิจ: สินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่นำเข้ามาจากภูมิภาคอื่นหรือต่างประเทศก่อนสงครามกลางเมือง หรือแม้แต่สินค้าที่จำเป็นที่สุดก็มีราคาสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าโดยใช้เส้นทางรถไฟทรานส์ไซบีเรียได้ ซึ่งสงวนไว้ใช้เฉพาะทางการทหารเท่านั้น[153] ปัญหาการแจกจ่ายและขาดแคลนอาหารส่งผลกระทบต่อประชากรของเมือง ซึ่งเอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้รากสาดใหญ่ ไข้ดำแดง หรือไข้หวัดใหญ่ ที่เริ่มหนักขึ้นตลอดช่วง ค.ศ. 1919[154] มาตรการของรัฐบาลในการปรับปรุงสถานการณ์แรงงานล่าช้าและไม่เต็มที่[155]

ปัญหาร้ายแรงอีกประการหนึ่งของรัฐบาลคือจำนวนผู้ลี้ภัยที่กระจุกตัวอยู่ในเมือง ซึ่งรัฐบาลไม่พร้อมที่จะรับพวกเขา: ประชากรในออมสค์เปลี่ยนแปลงจาก 130,000 คน (ค.ศ. 1917) เป็นมากกว่าครึ่งล้านคนในสมัยรัฐบาลคอลชัค[155] สภาพความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อยที่แม้จะมีฐานะมั่งคั่ง แต่บางส่วนยังอาศัยอยู่ในรถรางที่คับแคบ บ้างก็อยู่ในโรงแรมที่พลุกพล่านหรือกระท่อมแถบชานเมืองที่มีสภาพคล้ายกับที่พักแรงงาน[156] ประชากรเพิ่มสูงขึ้นจาก 15 ล้านคน ใน ค.ศ. 1917 เป็น 20 ล้านคน ใน ค.ศ. 1919 และตามการคำนวณของสหกรณ์ มีเพียงไซบีเรียตะวันตกเท่านั้นที่สามารถรองรับทรัพยากรสำหรับประชากรหกสิบล้านคนได้[157]

ทางรัฐบาลแม้จะทราบดีถึงความไม่พอใจของแรงงาน อันเป็นเหตุมาจากการที่ไม่สามารถจัดหาทรัพยากรอาหารและเชื้อเพลิงได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์เหล่านี้ได้เนื่องจากปัจจัยหลายประการ: ทั้งด้วยความเมินเฉยของกองทัพต่อความต้องการของพลเรือน ความไม่พร้อมของฝ่ายบริหาร การนิยมบริษัทเอกชนมากกว่าสหกรณ์ท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และปัญหาการขนส่งภายใน[158]

การต่อสู้ครั้งแรก (พฤศจิกายน ค.ศ. 1918-มกราคม ค.ศ. 1919)[แก้]

คอลชัคพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารประจำกองทัพขาว ซึ่งคนที่นั่งทางซ้ายข้างเขาคือ ราโดลา กัยดา หนึ่งในผู้บัญชาการที่ชำนาญการที่สุดแห่งกองทัพไซบีเรีย ซึ่งต่อมาเขาได้ขัดแย้งกับคอลชัคและถูกเนรเทศออกจากกองทัพ

จากการที่กองกำลังขาวของคอลชัคประสบความสำเร็จในการรบอย่างโดดเด่นในช่วงแรก[159] ทำให้ข่าวความโกลาหลและการทุจริตภายในกองทัพถูกกลบเกลื่อน[130] อย่างไรก็ตาม คอลชัคมิได้ชำนาญในการรบภาคพื้นดินเท่าใดนัก เขาจึงมอบหมายการวางแผนเชิงกลยุทธ์ส่วนใหญ่ให้กับพันเอกดมีตรี เลเบเดฟ แต่เขาผู้นี้กลับไม่มีประสบการณ์ในการบัญชาการกองทัพเลย[159]

กองทัพทางเหนือภายใต้การบัญชาการของราโดลา กัยดา[109] รุกคืบเข้าสู่เยคาเตรินบุร์กในเดือนพฤศจิกายน ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1918 กองทัพเข้ายึดเปียร์มเป็นผลสำเร็จและหยุดจัดระเบียบใหม่ชั่วคราว[160][161][109] ในหนึ่งเดือนของการต่อสู้ท่ามกลางอุณหภูมิที่ติดลบ 35 องศา[160][161] กองทัพแดงที่ 3 พ่ายแพ้และล่าถอยออกจากแนวหน้าไปราว 200 กิโลเมตร[109] ด้วยชัยชนะในครั้งนี้ ทำให้ขบวนการขาวของคอลชัคได้รับทรัพยากรอันทรงคุณค่ามากมาย[109] ทั้งจำนวนพลจากนักโทษ อาวุธ และทรัพยากรในระบบคมนาคม รวมถึงยังได้ควบคุมโรงงานผลิตยุทโธปกรณ์ที่สำคัญอีกด้วย[160][161] และชัยชนะทางทหารได้เบี่ยงเบนความสนใจของมวลชนจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นจากการจราจลในออมสค์[160]

อย่างไรก็ตาม ความโกลาหลครั้งแรกเริ่มจุดประกายขึ้น เมื่อกองทัพโซเวียตเข้าพิชิตอูฟาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1919[162] หลังจากสูญเสียเมืองอุตสาหกรรมและโรงงานผลิตอาวุธในอีเจฟสค์และวอตกินสค์ในเดือนพฤศจิกายน การยึดอูฟาทำให้กองทัพขาวไม่สามารถป้องกันการรุกข้ามเทือกเขายูรัลของกองทัพแดงได้[162] ในปลายเดือนมกราคม กองทัพแดงเข้ายึดอูรัลสค์และเมืองยุทธศาสตร์อย่างโอเรนบุร์ก ซึ่งเป็นการตัดการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างซามาราและทาชเคนต์ และสามารถเอาชนะผู้นำคอสแซ็กท้องถิ่นได้สำเร็จ[163]

การรุกฤดูใบไม้ผลิ[แก้]

เนื่องด้วยการรุกในฤดูหนาวประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด จึงมีการวางแผนการทัพใหม่ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1919[164] โดยตามแผนการนั้น จะแบ่งการรุกหน้าออกเป็นสามแนวรบตามที่ตั้งมั่นไว้ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ดังนี้:

  • ราโดลา กัยดา (ผู้บัญชาการกองทัพไซบีเรียซึ่งประจำการอยู่ที่เปียร์ม)[165] นำกองทัพรุกหน้าเข้าสู่ยัตกา[166] ซึ่งกองกำลังของเขาจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในสามกอง และประกอบด้วยจำนวนทหารราว 60,000 คน[109]
ทหารของกองทัพคอลชัคที่มีภูมิฐานจากชาวนา และโดยทั่วไปแล้วมีความรู้ทางทหารอันน้อยนิด

คอลชัคสามารถรวบรวมทหารได้จำนวน 112,000 นายในสนามรบ[168] เพื่อต่อสู้กับกองทหารบอลเชวิค ประมาณ 100,000 นาย[167] การขาดแคลนระบบอุตสาหกรรมในไซบีเรีย ทำให้ขบวนการขาวของคอลชัคจำเป็นต้องพึ่งพาอาวุธ เครื่องนุ่งห่ม และสินค้าจากฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสหราชอาณาจักร:[169] ด้วยการสงบศึกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1919 รัฐบาลสหราชอาณาจักรทุ่มเงินจำนวน 69,285,000 ปอนด์สเตอร์ลิง ให้กับฝ่ายขาวตามรายงานของกระทรวงกลาโหม[170] แม้ว่ากองทัพคอลชัคจะมีกำลังอยู่มาก แต่ทหารที่ถูกเกณฑ์ส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ไม่ได้รับการฝึกฝนทางทหารและมีอายุน้อย โดยเงื่อนไขเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการผ่านศึกในสงครามโลก และด้วยเหตุนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อบอลเชวิคอย่างมาก[171]

การรุกหน้าของกองทัพคอลชัคในการรุกฤดูใบไม้ผลิ (เดือนมีนาคม–ต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1919)

การรุกเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1919[172] กองทัพคอลชัคเคลื่อนกำลังพลไปตามเส้นทางรถไฟเปียร์ม-ยัตกาประมาณ 150 กิโลเมตร[172] กองทัพแดงที่ 2 ถูกขับไล่กลับไปทางเหนือและสูญเสียโอฮันสค์ (7 มีนาคม) พ่ายแพ้ในโอซา (8 มีนาคม) และซาราปุลเมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1919[173]

ในการทัพส่วนกลาง กองทัพตะวันตกสามารถโต้กลับการรุกของกองทัพแดงที่ 5 และเข้ายึดบีร์สค์ (10 มีนาคม) และอูฟา (14 มีนาคม)[173] ต่อมาในต้นเดือนเมษายน สามารถพิชิตเบเลเบย์ (7 เมษายน) และบูกุลมา (10 เมษายน) และรุกหน้ามาถึงแม่น้ำอิค ซึ่งบรรลุเป้าหมายเกินกว่าที่วางไว้[173] มีการเปลี่ยนแปลงแผนการ อันเนื่องมาจากการรุกหน้าอย่างรวดเร็วโดยไม่คาดคิด คอลชัคออกคำสั่งให้ดำเนินการต่อไปในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1919[173] กองทัพตะวันตกยังคงรุกคืบต่อไปตามทางรถไฟสายอูฟา-ซามาราและสายอูฟา-ซิมบีร์สค์ ขณะเดียวกันกองกำลังอีกส่วนก็เคลื่อนพลตามแม่น้ำคามา โดยมีจุดหมายเข้ายึดชิสโตปอลในปลายเดือนเมษายน ซึ่งจะเป็นทางผ่านสู่คาซันต่อไป[174]

ในการทัพส่วนใต้ การถอนกำลังของกองทัพแดงที่ 5 บังคับให้กองทัพแดงที่ 1 ต้องล่าถอยเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีจากปีกซ้ายของกองทัพและละทิ้งสเตียร์ลีตามัคในต้นเดือนเมษายน[174] กองกำลังของดูตอฟเข้าสู่อัคตูบินสค์เมื่อวันที่ 11 เมษายน ซึ่งได้ตัดทางรถไฟสายโอเรนบุร์ก-ทาชเคนต์และแยกกองกำลังโซเวียตออกจากเอเชียกลาง[174]

ในเวลาไม่ถึงสองเดือน ขบวนการขาวของคอลชัครุกกองกำลังไปประมาณสามร้อยกิโลเมตร ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องรองรับประชากรเพิ่มกว่าห้าล้านคน มีการจับเชลยศึกจากกองทัพแดงหลายพันคน และวางฐานกำลังห่างจากคาซัน ซามารา และซิมบีร์สค์ ไม่ถึงหนึ่งร้อยกิโลเมตร[174][161] กองทัพคอลชัคสามารถแยกกองกำลังโซเวียตตะวันออกได้เป็นสองส่วนหลังจากการยึดชิสโตปอล โดยทำให้กองทัพแดงที่ 2 และ 3 (ที่อยู่ทางเหนือ) ตัดขาดจากกองทัพแดงที่ 1, 4 และ 5 (ที่อยู่ทางใต้)[174][168] ส่วนในแนวรบทางตอนใต้ กองกำลังของคอลชัคเข้ายึดฐานกำลังที่หน่วยทหารเชโกสโลวักยึดได้ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1918[175]

การจราจลต่อต้านบอลเชวิคในซิมบีร์สค์ คาซัน ยัตกา และซามารา ช่วยอำนวนความสะดวกต่อการรุกหน้าของคอลชัค[172][166] กองทัพแดงที่พึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่มีกำลังใจในการต่อสู้เพียงน้อยนิด และถอนกำลังพลโดยที่ปล่อยให้กองทัพขาวเคลื่อนกองกำลังไปสู่แนวที่ขยายจากกลาซอฟจนถึงอูรัลสค์ โดยผ่านโอเรนบุร์ก จากนั้นรัฐบาลคอลชัคก็เข้าครองอาณาเขตมากกว่า 300,000 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรอยู่ในการควบคุมเพิ่มขึ้นเป็นเจ็ดล้านคน ในเดือนเมษายน คณะกรรมาธิการบริหารส่วนกลางของบอลเชวิคเริ่มให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับคอลชัคเป็นลำดับแรก ซึ่งทำให้โซเวียตได้เปรียบทางจำนวนกำลังพล คิดเป็นประมาณสองหมื่นหรือสามหมื่นนายในแนวรบตะวันออกเมื่อเดือนมิถุนายน[176]

ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ได้อธิบายถึงความสำเร็จในการรุกหน้าของคอลชัค: กลุ่มของกองทัพโซเวียตตะวันออกสูญเสียหน่วยที่ดีที่สุดจากการย้ายไปแนวรบอื่น การรุกของกองทัพแดงเป็นไปอย่างประมาท ทำให้กองกำลังกระจัดกระจาย ส่วนผู้บัญชาการทหารบกและทหารเรือนั้นก็ยังอายุน้อยและไม่มีประสบการณ์ การจัดการการโจมตีของคอลชัคนั้นคาดไม่ถึง และด้วยความเหนือกว่าเชิงจำนวนกำลังพลของเขาในตอนเริ่มต้นเป็นที่น่าทึ่งอย่างมาก[177]

อย่างไรก็ตาม เมื่อการสิ้นสุดฤดูใบไม้ผลิมาถึง สถานะของกองทัพคอลชัคก็แย่ลง: กองทัพของเขาใช้เสบียงเกินขีดจำกัดที่มีอยู่ และกองทัพแดงได้เพิ่มกำลังพลจำนวนมากในพื้นที่ โดยการเกณฑ์ทหารใหม่อย่างหนาแน่น[178] เมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม กองทัพแดงกลุ่มตะวันออกมีกำลังพลเพิ่มขึ้นสามเท่าเป็น 341,424 นาย และอาวุธยุทโธปกรณ์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน[178] โดยมีฮาอิล ฟรุนเซ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพโซเวียตที่ 5[167]

การรุกตอบโต้ของโซเวียตในฤดูร้อน (พฤษภาคม-กรกฎาคม ค.ศ. 1919)[แก้]

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1919 ฟรุนเซนำกำลังโจมตีปีกซ้ายของหน่วยของฮันจิน และเข้ายึดบูกูรูสลันหลังจากนั้นสองวันต่อมา พร้อมทั้งขู่ว่าจะล้อมแนวหน้าของกองทัพตะวันตก[178] อย่างไรก็ดี จากการละทิ้งการบัญชาการกองพันโซเวียตที่ 25 ทำให้หน่วยของฮันจินถอนกำลังออกไปตามหลังแม่น้ำอิกได้อย่างเป็นระเบียบในกลางเดือนพฤษภาคม[178] ไกลออกไปทางเหนือ ทหารราบโซเวียตพิชิตชิสโตปอลสำเร็จในวันที่ 4 พฤษภาคม และได้ปิดช่องเชื่อมต่อระหว่างหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพบกขาว[178]

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม กองทัพแดงตีเบเลเบย์แตก และในวันที่ 7 มิถุนายน กองพันที่ 26 ของกองทัพโซเวียตที่ 5 เคลื่อนกำลังข้ามแม่น้ำเบลายาตามติดกองทัพตะวันตกที่ตื่นตระหนก[167] ซึ่งพวกเขาได้ละทิ้งเมืองทรัพยากรอาวุธและอาหารที่สำคัญอย่างอูฟาในอีกสองวันต่อมา[178][179] กองพลคัดเลือกของนายพลคัปเปลพยายามป้องกันการยึดเมืองอย่างสิ้นหวัง ซึ่งพวกเขาเช้าจู่โจมหน่วยทหารโซเวียตของฟรุนเซด้วยดาบปลายปืน แต่ประสบความล้มเหลวและทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นจำนวนมากกว่าสามพันคน[180]

การรุกตอบโต้ของโซเวียตในฤดูร้อน ค.ศ. 1919 ทำให้กองกำลังของคอลชัคถอยทัพกลับสู่แนวรบเดิมในต้นฤดูใบไม้ผลิและสูญเสียการควบคุมเหนือเทือกเขายูรัล ความพยายามรุกตอบโต้ในเดือนสิงหาคมที่มุ่งหมายไปที่เชเลียบินสค์ประสบความล้มเหลวและส่งผลให้นายพลเลเบเดฟถูกถอดจากตำแหน่งเสนาธิการทหาร

อย่างไรก็ตาม ทางตอนเหนือกองทัพไซบีเรียของกัยดายังคงรุกรานอย่างต่อเนื่องและเข้ายึดกลาซอฟได้ในต้นเดือนมิถุนายน[109][181] แต่ไม่นานเมื่อทราบข่าวถึงการถอนกำลังของกองทัพตะวันตก กัยดาจึงตัดสินใจเริ่มถอนกำลังของตน[167] กองทัพขาวเคลื่อนพลออกจากกลาซอฟเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน[181] ทำให้ขบวนการขาวไม่สามารถเชื่อมต่อกับกองทัพอังกฤษที่อาร์ฮันเกลสค์ได้[109] กองทัพโซเวียตที่ 2 เข้ายึดซาราปุลในวันที่ 2 มิถุนายน[181] และในวันที่ 6 จึงสามารถพิชิตอีเจฟสค์ได้สำเร็จ ซึ่งฝ่ายโซเวียตใช้เมืองแห่งนี้ในการผลิตปืนเล็กยาวห้าร้อยกระบอกต่อวัน[180] ภายในเวลาเพียงสองสัปดาห์ กองกำลังของกัยดาจึงถอยทัพกลับสู่เปียร์มเช่นเดิม[181]

ทางตอนใต้ แนวหน้ายังคงตั้งรับได้อย่างดีตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม หน่วยของคอสแซ็กสามารถเจาะแนวรบของกองทัพโซเวียตที่ 4 และรุกกำลังเข้าไปยังนีโคลาเยฟสค์ โดยเข้าใกล้หน่วยของนายพลปิออตร์ วรานเกล ซึ่งกำลังปิดล้อมซาริตซึนและอยู่ห่างจากซามาราเพียง 40 กิโลเมตร[181] ภายหลังการคุกคามกองกำลังฝ่ายหลังของกองทัพโซเวียตที่ 5 กองทัพขาวจึงถอนกำลังเพียงเล็กน้อยเพื่อรักษาแนวรบ[181]

ในเดือนพฤษภาคม หน่วยทหารบัชคีร์ (Bashkirs) แปรพักตร์เข้ากับกองทัพโซเวียตเป็นจำนวนมาก[113] โดยการแปรพักตร์ครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมีทหารบัชคีร์สองพันนายเข้าร่วมกับโซเวียต หลังจากโซเวียตรับประกันการจัดตั้งสาธารณรัฐปกครองตนเองใหม่และคอลชัคยืนยันที่จะยุบหน่วยทหารบัชคีร์ให้รวมเข้ากับกองทัพไซบีเรีย[182]

ปลายเดือนมิถุนายน กองกำลังของคอลชัคกลับไปอยู่ที่แนวรบเดิมที่การรุกฤดูใบไม้ผลิได้เริ่มขึ้น[181][113] คณะกรรมการส่วนกลางบอลเชวิคกังวลว่าคอลชัคจะเตรียมการรบไว้เป็นอย่างดี จึงตัดสินใจรุกกำลังข้ามเทือกเขายูรัลในระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม แม้ว่าจะได้รับการคัดค้านจากทรอตสกีและยูคุมส์ วาเซติสก็ตาม[181][183]

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ในระหว่างการเฉลิมฉลองครบรอบการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวไซบีเรีย กองทัพขาวต้องประสบกับการสูญเสียเปียร์มที่ถูกละทิ้งในวันเดียวกัน[183][184] ความปราชัยของแนวหน้าทำให้ความเหนื่อยล้าและความวิตกทางจิตใจของคอลชัคตกต่ำลง ซึ่งตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม เขาแสดงความรู้สึกผ่านความประหม่า หมดกำลัง มีอารมณ์ฉุนเฉียวจากอาการโกรธ[184] ลักษณะภายนอกของเขาย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด[184]

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ทางการโซเวียตได้ช่วยเหลือกองทหารรักษาการณ์ในอูรัลสค์ที่ถูกปิดล้อมเป็นเวลานาน[185] ในแนวรบตอนกลาง กองทัพโซเวียตที่ 5 เข้ายึดซลาโตอุสต์[183] อันเป็นเมืองหน้าด่านหลักในเส้นทางข้ามเทือกเขายูรัลเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม[185][186] ภายในเมืองที่ถูกทิ้งร้างอย่างเร่งรีบยังคงหลงเหลืออุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งตกไปอยู่ในมือของโซเวียต[185] ทางตอนเหนือหลังจากการพิชิตเปียร์มไม่นาน เยคาเตรินบุร์กจึงถูกยึดครองเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม[183][185][187] เมืองนี้ต้องเผชิญกับการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ โดยมีประชากรยิวจำนวนสองพันคนเสียชีวิตไม่นานก่อนที่โซเวียตจะยึดครอง ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ได้จุดประกายความกังวลใจที่เพิ่มขึ้นของผู้สนับสนุนคอลชัคและการค้นหาแพะรับบาปสําหรับความพ่ายแพ้ของพวกเขา[186][118]

ในเวลาเพียงสิบสัปดาห์ กองทัพแดงได้รุกหน้าไปประมาณ 500 กิโลเมตรในแนวรบด้านเหนือ และ 600 กิโลเมตรในแนวรบตอนกลาง ซึ่งทําให้ขบวนการของคอลชัคถูกตัดขาดเหมืองและโรงงานในเทือกเขายูรัล ซึ่งเป็นฐานอุตสาหกรรมเพียงแห่งเดียวของพวกเขา[185][186] ความพ่ายแพ้ทางทหารยังนำมาซึ่งผลกระทบทางการเมือง จากการยุติการพิจารณายอมรับรัฐบาลออมสค์ของฝ่ายสัมพันธมิตรอีกด้วย[185][183]

ข้อบกพร่องของฝ่ายบริหารและกลยุทธ์ของขบวนการขาว พร้อมทั้งความไร้ประสิทธิภาพของกองทัพซึ่งมีจุดอ่อนอย่างมากตั้งแต่ก่อนความพ่ายแพ้ครั้งแรก[110] เริ่มปรากฏเด่นชัดในระหว่างการรุกกลับของโซเวียต[188] การหนีทหารและการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากในหมู่ทหารที่ขาดประสบการณ์ได้ลดขนาดกองทัพของคอลชัคลงอย่างมหาศาล ซึ่งเหลือน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงที่มีกำลังพลสูงสุดหกหมื่นนายในเดือนมีนาคม[189] ความพยายามในการระดมพลและการทุ่มกำลังพลสำรองนั้นล้มเหลว[189] ทางอังกฤษไม่มีความพยายามใด ๆ ที่จะให้เชลยศึกโซเวียตเข้าเกี่ยวข้องกับภารกิจทางทหารของตน ซึ่งเชลยศึกเหล่านี้ล้วนแล้วเป็นทหารเกณฑ์ที่มีศักยภาพ[190] เจ้าหน้าที่ของคอลชัคชื่นชอบที่จะประหารชีวิตหรือกุมขังเชลยศึกไว้ในค่ายกักกัน ซึ่งผู้คนเหล่านี้มักเสียชีวิตลงจากโรคไข้หวัดหรือไข้รากสาดใหญ่[190] แม้กองทัพขาวจะมีภาพลักษณ์ของความกล้าหาญที่โดดเด่น แต่แท้จริงแล้ว ภายในกองทัพกลับขาดระเบียบวินัยและปฏิบัติตนตามอำเภอใจ ทำให้เป็นการยากต่อการปฏิบัติตามคำสั่ง[191]

ความพ่ายแพ้ในฤดูร้อนของขบวนการขาวยังรวมถึงความตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของคอลชัคด้วย โดยความเป็นไปได้ในการได้รับการรับรองจากฝ่ายสัมพันธมิตรในฐานะรัฐบาลรัสเซียอย่างเป็นทางการและความเชื่อถือจากรัฐบาลพันธมิตรนั้นสูญเสียไป[192] ภายใต้การปกครองของเขายังคงต้องพึ่งพาสหกรณ์อย่างมากสำหรับแหล่งเงินทุนเพียงแห่งเดียวในภูมิภาค[193][194] อย่างไรก็ตาม ด้วยความนิยมต่ออุดมการณ์แบบบริษัทเอกชน ทำให้รัฐบาลไม่ได้รักษาความสัมพันธ์อันดีกับระบบสหกรณ์มากเท่าที่ควร[152] แม้จะได้รับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจและความชอบธรรมอย่างมหาศาล (เป็นจำนวนเงิน 200 ล้านรูเบิลจนถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1919)[195] การล่าถอยของกองทัพส่งผลให้เกิดวิกฤตทางการเมืองในรัฐบาล ซึ่งผู้คนทั้งหลายเริ่มไม่แน่ใจในชัยชนะสุดท้ายของสงคราม[186]

การโต้กลับที่เชเลียบินสค์[แก้]

ระหว่างการล่าถอยของกองทัพจึงมีการพิจารณาจัดระเบียบใหม่[183] แต่เป็นไปอย่างเชื่องช้าหลายสัปดาห์ เนื่องจากการอภิปรายระหว่างผู้บัญชาการแนวหน้ากับเสนาธิการทหาร รวมถึงการลาออกของนายพลกัยดา[187] หลังจากความล้มเหลวในการเรียกร้องให้ปลดเลเบเดฟจากตำแหน่ง[159] และร้องขออำนาจบัญชาการกองทัพโดยรวมให้แก่ตน[196]

ในขณะที่การหารือเกี่ยวกับความเหมาะสมในการโจมตีโต้กลับยังไม่สิ้นสุด การถอยทัพยังคงดำเนินต่อไป การอพยพกำลังพลที่เยคาเตรินบุร์กเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม เป็นไปอย่างไม่มีระเบียบ[197] แม้จะมีการคัดค้านจะนายพลบางส่วน แต่เลเบเดฟซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายพลคอนสตันติน ซาฮารอฟ และการอนุมัติจากคอลชัค จึงเริ่มปฏิบัติการโจมตีตอบโต้รอบเมืองเชเลียบินสค์[198] จุดประสงค์หลักของคอลชัคคือการสร้างความประทับใจให้กับผู้แทนสัมพันธมิตรด้วยชัยชนะทางทหาร ซึ่งผู้แทนชาติต่าง ๆ ยังคงพำนักอยู่ที่ออมสค์เพื่อพิจารณาถึงการสนับสนุนรัฐบาลของเขาต่อไป[198]

นายกรัฐมนตรีสัมพันธมิตร: เดวิด ลอยด์ จอร์จแห่งสหราชอาณาจักร วิตโตรีโอ ออร์ลันโดแห่งอิตาลี ฌอร์ฌ เกลม็องโซแห่งฝรั่งเศส และประธานาธิบดีสหรัฐวูดโรว์ วิลสันกรุงปารีสใน ค.ศ. 1919 จากความปราชัยทางทหารในฤดูร้อนนำไปสู่การทบทวนความเป็นไปได้ที่จะรับรองรัฐบาลคอลชัคอย่างเป็นทางการ

แผนการในครั้งนี้คือการปล่อยเชเลียบินสค์ให้กับกองทัพโซเวียต แล้วจึงล้อมเมืองไว้ด้วยการใช้ปฏิบัติการเคลื่อนทัพแบบก้ามปูจากกำลังพลทั้งทางด้านเหนือ (กองพันทหาราบ 6 กอง และกองพันทหารม้า 1 กอง ภายใต้การบัญชาของวอยเซฮอฟสกี) และด้านใต้ (กองพันทหารราบ 3 กอง และกองพลน้อยทหารม้า 1 กอง ภายใต้การบัญชาของคัปเปล)[198] ซึ่งการสู้รบควรจบลงโดยการพิชิตกองทัพโซเวียตที่ 5 ที่ถูกล้อมอยู่ในเมือง[198]

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม หน่วยทหารโซเวียตหน่วยแรกย่างเข้ามาสู่เชเลียบินสค์[187] ซึ่งถูกปล่อยร้างไว้ตามแผน[199] หน่วยของคัปเปลที่ไร้ความชำนาญเปิดการโจมตีแต่ล้มเหลว โดยถูกกองพันโซเวียตที่ 26 ขับไล่ไปอย่างง่ายดาย[199] ในทางเหนือ วอยเซฮอฟสกีสามารถตัดการเชื่อมต่อทางรถไฟเชเลียบินสค์-เยคาเตรินบุร์กได้อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะถูกหน่วยทหารของกองทัพโซเวียตที่ 3 ภายใต้การบัญชาของฟรุนเซโจมตีและบีบบังคับให้กองทัพขาวล่าถอยไปยังคูร์กันและแม่น้ำโตบอล (Tobol) ในวันที่ 2 สิงหาคม[199] คอลชัคสูญเสียทหารหลายพันคน รวมถึงทรัพยากรและเสบียงจำนวนมากจากปฏิบัติการในครั้งนี้[199] เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม กองทัพขาวสูญเสียทรอยซต์ ทำให้ยุติความหวังในการเชื่อมต่อกับกองทัพทางตอนใต้ ซึ่งเริ่มถอยทัพไปยังเตอร์กิสถานเช่นกัน[199]

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม กองทัพแดงเข้ายึดเชเลียบินสค์ อันเป็นศูนย์กลางเกษตรกรรมทางตะวันออกของเทือกเขายูรัลได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทหารโซเวียตจับเชลยศึกได้หลายพันคน ซึ่งจุดเปลี่ยนแห่งชัยชนะนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงความไร้ความสามารถของผู้บังคับบัญชาระดับสูงของคอลชัคที่อยู่ภายใต้อำนาจของเลเบเดฟที่ไร้ประสบการณ์[196] ต้นเดือนสิงหาคม กองกำลังของคอลชัคประจำอยู่ด้านตะวันออกของแม่น้ำโตบอล ห่างจากออมสค์เพียงไม่มากนักเมื่อเทียบจากระยะทางที่ห่างจากเทือกเขายูรัล[187]

หลังจากความล้มเหลวในการโต้กลับที่เชเลียบินสค์ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1919 ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงปฏิเสธแนวคิดที่ว่าคอลชัคและรัฐบาลของเขาเป็นศูนย์กลางหลักของขบวนการขาวและละทิ้งการรับรองรัฐบาลของเขาในฐานะรัฐบาลรัสเซียอย่างเป็นทางการ ถึงแม้จะมีการทบทวนอีกครั้ง เนื่องด้วยการรุกหน้าของกองทัพขาวภายใต้นายพลยูเดนิชและเดนีกินในฤดูใบไม้ร่วง[200] ฝ่ายสัมพันธมิตรจำกัดการช่วยเหลือไว้เพียงตามที่สัญญาและสนับสนุนระบอบการปกครองอย่างมีศีลธรรม ในขณะที่ได้โอนการสนับสนุนทางวัตถุจํานวนมากให้แก่เดนีกิน[200] มีความพยายามของบางภาคส่วนที่จะข่มขู่พันธมิตรด้วยกลอุบายในการสร้างสายสัมพันธ์กับเยอรมนี แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายสำหรับการกู้คืนความช่วยเหลือในอดีต อีกทั้งการกระทำดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากคอลชัค ซึ่งเขาปฏิเสธที่จะพิจารณาความร่วมมือกับเยอรมนีและผู้สนับสนุนอื่น ๆ[201]

นอกเหนือจากความปราชัยที่เบื้องหน้าแล้ว สถานการณ์เบื้องหลังก็น่ากังวลอยู่เช่นกันในฤดูร้อน[202] กองทัพที่มากเกินไปในชนบทและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดความไม่พอใจของชาวนาและการปรากฏตัวของขบวนการพลพรรคที่เพิ่มมากขึ้น[203] ซึ่งสร้างความปั่นป่วนในทางเหนือและใต้ตลอดเส้นทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียและมีอำนาจควบคุมเหนือดินแดนขนาดใหญ่[202][204] แม้ว่าอาวุธส่วนใหญ่ของพลพรรคต่าง ๆ จะไม่มีประสิทธิภาพก็ตาม[205] จากความพ่ายแพ้ในแนวรบหน้าเน้นย้ำถึงการปราบปรามและการใช้กำลังเกินจำเป็นของทหาร ที่แม้จะมีคำสั่งจากกองบัญชาการให้ยุติการกระทำเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาหมู่บ้านเพื่อลงโทษ[202]

มีความพยายามของนักสังคมนิยมสายกลาง (ซึ่งส่วนใหญ่มีความเป็นพวกปฏิกิริยามากกว่ากลุ่มผู้สนับสนุนเคเรนสกีเพียงเล็กน้อย) ในการปฏิรูประบอบการปกครองและจัดตั้งหน่วยงานควบคุมของเผด็จการ แม้จะมีความก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงต้นฤดูร้อน แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวเช่นเคย โดยคอลชัคปฏิเสธที่จะศึกษาข้อเสนอการปฏิรูปของพวกเขาเมื่อสิ้นสุดฤดูร้อน[202]

การรุกตอบโต้อีชิม-โตบอล (กันยายน-ตุลาคม ค.ศ. 1919)[แก้]

การตรวจตราขบวนทหารของพลเรือเอกคอลชัคบริเวณแม่น้ำโตบอลใน ค.ศ. 1919

หลังจากชัยชนะของยุทธการที่เชเลียบินสค์ในต้นเดือนสิงหาคม กองทัพแดงยังคงรุกหน้าต่อไปตลอดทั้งเดือน[206] กองทัพโซเวียตที่ 1 และ 4 ซึ่งรวมทัพกันที่แนวรบเตอร์กิสถานภายใต้การนำของฟรุนเซ ได้ผลักดันกองทัพขาวทางใต้ของผู้นำคอสแซ็กแห่งโอเรนบุร์กและยูรัลไปสู่เปอร์เซียและซินเจียง ในขณะที่กองทัพที่ 3 และ 5 รุกหน้าไปตามทางรถไฟสายเยคาเตรินบุร์ก-ตูย์เมน-อีชิม และสายเชเลียบินสค์-คูร์กัน-เปโตรปัฟลอฟสค์ ตามลำดับ[206] กลางเดือนสิงหาคม โซเวียตเข้ายึดตูย์เมนและคูร์กันถูกละทิ้งโดยปราศจากการต่อสู้จากกองทัพของคอลชัค[206] จนถึงสิ้นเดือน กองทัพแดงอยู่ห่างจากแม่น้ำอีชิมเพียง 70 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นปราการธรรมชาติสุดท้ายก่อนถึงออมสค์[206] เมื่อกองทัพขาวต้องเผชิญกับความเป็นไปได้ในการอพยพเมืองหลวง จึงมีการพิจารณาทางเลือกทางทหาร โดยทางเลือกแรก คือพยายามต่อสู้กับศัตรูที่อีชิมและผลักดันให้โซเวียตกลับไปที่แม่น้ำโตบอล หรือทางเลือกที่สอง คือย้ายเมืองหลวงและสร้างแนวรบใหม่บริเวณริมแม่น้ำอ็อบหรือพื้นที่แถบไบคาล[206] ท้ายที่สุดจึงได้ตัดสินใจที่จะพยายามรักษาเมืองหลวงต่อไป เนื่องจากความกังวลว่ากองทัพจะล่มสลายในกรณีที่การรุกครั้งใหม่ล้มเหลว[206]

แผนการของนายพลมีฮาอิล ดีเตริคส์ คือการโจมตีจุดกลางของแนวรบ โดยจะเริ่มจากอีชิมในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1919 ประสานกับกองกำลังปีกขาวภายใต้กองทัพโซเวียตที่ 5 ที่เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะสามารถตัดการล่าถอยของกองทัพแดงไปยังแม่น้ำโตบอลได้[207] การวางแผนการโจมตีนั้นบกพร่อง[207] และถึงแม้จะมีการปรับโครงสร้างกองทัพในช่วงกลางเดือนสิงหาคม[183] แต่ยังคงมีหน่วยทหารและกองบัญชาการส่วนเกินสําหรับทหารเพียง 60,000 นาย[208] กองทัพขาวที่ 3 ซึ่งจัดตั้งขึ้นจากกำลังพลที่หลงเหลือของกองทัพตะวันตก มีกองบัญชาการสูงที่สามารถบริหารกองทัพหนึ่งล้านนายได้[208] กองทัพใหม่ทั้งสาม (กองทัพที่ 1 และ 2 ก่อตั้งขึ้นจากกองพันของกองทัพไซบีเรีย และกองทัพที่ 3 จากกองทัพตะวันตก) อยู่ในความดูแลของเสนาธิการทหารห้านาย ประกอบด้วยกองบัญชาการกองทัพบก 11 กอง กอง และกองพันและกองพลน้อย 35 กอง[208] ความพยายามที่จะระดมชนชั้นกระฎุมพีเพื่อเพิ่มขนาดของหน่วยทหารล้มเหลวอีกครั้ง และการเกณฑ์ทหารแทบจะไม่ถึง 25 % ของเป้าประสงค์ในพื้นที่ส่วนใหญ่ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างมากสำหรับการเตรียมการโจมตี[209] ปลายเดือนสิงหาคม ทหารที่ได้รับการเกณฑ์เข้ามามีจำนวนเพียงหนึ่งกองพันเท่านั้น ถึงแม้จะมีการจัดตั้งกองบัญชาการมาแล้วสิบเอ็ดกองก็ตาม[209] ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารในแนวรบหน้าขาดแคลน หน่วยบัญชาการประจำเมืองหลวงยังคงมีขนาดใหญ่และไม่สมสัดส่วน[209] มีนายทหารหนุ่มในเครื่องแบบที่เปล่งประกายมากมายที่สามารถพบเห็นได้ทั้งกลางวันและกลางคืนภายในเมืองหลวง แต่ไม่ใช่กับแนวรบหน้า[194]

ความพยายามในการรวบรวมกองกำลังคอสแซ็กสำหรับการโจมตีตามแผนของดีเตริคส์ก็ไม่เกิดผลเช่นกัน[210] คอสแซ็กส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธไม่มีความสนใจที่จะเข้าร่วมกองทัพ และไม่ต้องการที่จะเข้าไปพัวพันกับสงครามกลางเมือง[210] ณ วันที่การรุกตอบโต้เริ่มต้นขึ้น มีทหารคอสแซ็กเพียง 7,500 นายเท่านั้นที่สามารถรวบรวมได้ จากที่คาดการณ์อย่างน้อย 20,000 นาย[210] แม้ว่าหน่วยทหารจะไม่มีความพร้อม แต่ก็มีคำสั่งให้เริ่มการโจมตีตามแผนที่วางไว้[210]

ด้วยความประหลาดใจดังกล่าว หน่วยของคอลชัคจึงเริ่มการรุกตอบโต้และอาศัยประโยชน์จากการรุกของโซเวียตที่ห่างไกลจากศูนย์บัญชาการกองทัพมากเกินไป[211] กองกำลังของคอลชัคได้เปรียบเชิงกำลังพลเล็กน้อย เนื่องจากการโอนกำลังทหารของกองทัพแดงจากไซบีเรียไปยังแนวรบด้านใต้[211] กองทัพขาวที่ 2 ล้มเหลวในการขนาบข้างกองทัพโซเวียตที่ 2 ในทางกลับกัน กองกำลังคอสแซ็กได้รับชัยชนะเหนือสมรภูมิทางใต้ของเปโตรปัฟลอฟสค์ในช่วงเริ่มแรก และสามารถเอาชนะกองพันที่ 5 และ 35 สังกัดกองทัพโซเวียตที่ 5 ได้ตั้งแต่วันที่ 7 ถึงวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1919[211] การรุกยังคงดําเนินต่อไปอีกสองสัปดาห์[212] อย่างไรก็ตาม กองกำลังคอสแซ็กได้ชะลอการโจมตีคูร์กันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้กองทัพแดงหยุดโอนกำลังทหารกลับมาได้อย่างเป็นระเบียบ ซึ่งสิ่งนี้สร้างความสิ้นหวังต่อคอลชัคและกองบัญชาการทหาร[212] ดีเตริคส์ออกคำสั่งให้กองกำลังคอสแซ็กภายใต้การนำของนายพลปาเวล อีวานอฟ-รีนอฟ ดำเนินการโจมตีถึงหกครั้ง แต่อีวานอฟ-รีนอฟเพิกเฉยต่อคำสั่งนั้น เป็นเหตุให้เขาถูกขับออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารคอสแซ็กเป็นการชั่วคราว[212] เมื่อวันที่ 30 กันยายน แม้ว่าจะไม่มีการโจมตีของกองกำลังคอสแซ็กต่อกองกำลังฝ่ายหลังของโซเวียตตามที่คาดหวังไว้ แต่กองทัพที่ 1 ของคอลชัคสามารถข้ามแม่น้ำโตบอลและเข้ายึดโตบอลสค์ รวมทั้งยังได้กำลังพลและทรัพยากรจากเมืองนี้เป็นจำนวนมาก[213] ทว่าการพิชิตในครั้งนี้เป็นเพียงภาพลวงตา: ด้วยกองกําลังที่ลดน้อยลงเรื่อย ๆ กว่าสองหมื่นนาย โดยไม่มีกําลังเสริมสำคัญ อีกทั้งฝ่ายศัตรูมีการเสริมกําลังพลในบางครั้ง ทำให้ความน่าจะเป็นที่การรุกครั้งต่อไปจะสำเร็จเป็นศูนย์ และความเป็นไปได้ในการรักษาแนวแม่น้ำโตบอลจวบจนกระทั่งฤดูใบไม้ผลิยังคงมีความเคลือบแคลงใจ[214] จุดอ่อนของแนวรบทําให้กองทัพขาวอ่อนแอมากหาเผชิญกับการโจมตีโต้กลับของโซเวียต[214]

ความพยายามของดีเตริคส์ในการเปลี่ยนการรุกให้เป็นสงครามครูเสด เพื่อเพิ่มจำนวนทหารเกณฑ์และสามารถรักษาแนวรบหน้าได้นั้นไม่เป็นไปดังประสงค์ ทั้งด้านจำนวนและประสิทธิภาพของกำลังพลที่เรียกเกณฑ์[215] ในขณะเดียวกัน โซเวียตสามารถเสริมกำลังพลในหน่วยของตนได้เป็นจำนวนหลายหมื่นนายตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1919 และยังได้เปรียบทางด้านจำนวนเป็นสามต่อหนึ่งในช่วงกลางเดือนเดียวกัน[215] เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม กองทัพแดงได้รับคำสั่งให้โจมตีโต้กลับและสามารถข้ามแม่น้ำโตบอลได้สำเร็จในวันที่ 18[215] กองทัพคอลชัคจึงเริ่มล่าถอยอย่างไม่มีเงื่อนไขจนกว่าจะสิ้นสุดที่มหาสมุทรแปซิฟิก[215]

การล่าถอยและการสูญเสียเมืองหลวง[แก้]

แนวขบวนทหารขาวในการล่าถอยเมื่อ ค.ศ. 1919 การถอยทัพไปยังไซบีเรียตะวันออกหลังจากการอพยพจากออมสค์ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1919 ด้วยสภาพที่น่าเวทนาได้คร่าชีวิตผู้อพยพเป็นจำนวนมากและมีการยุบเลิกกองกำลังติดอาวุธ

วันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1919 กองทัพขาวที่ 1 ละทิ้งโตบอลสค์ให้กับโซเวียต ในขณะที่กองทัพที่ 2 และ 3 ถอยทัพไปยังอีชิมและเปโตรปัฟลอฟสค์[215] แม้ว่าเปโตรปัฟลอฟสค์จะมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ แต่ท้ายที่สุดก็ถูกทิ้งร้างเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม เช่นเดียวกับอีชิมที่มีการอพยพเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน โดยที่สะพานทั้งหมดภายในเมืองยังคงมีสภาพสมบูรณ์[216]

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1919 ดีเตริคส์สั่งการอพยพจากออมสค์ โดยมีแผนที่จะปฏิรูปแนวรบต่อไปทางตะวันออก[217] อย่างไรก็ตาม คอลชัคตัดสินใจปกป้องเมืองหลวงและทำให้เขาต้องสละคำสั่งนั้น แม้ว่าจะมีบางหน่วยที่ได้เดินทัพไปทางตะวันออกแล้วก็ตาม[217] คอลชัคระดมติดอาวุธให้ประชากรทั้งหมดเพื่อป้องกันเมือง[217]

จากการกีดกันคำสั่งของดีเตริคส์ ทำให้เขาลาออกและให้นายพลซาฮารอฟแทนที่ตำแหน่งนี้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน[218] ซึ่งคําสั่งการของกองทัพต่าง ๆ ก็ถูกจัดระเบียบใหม่ด้วยเช่นกัน[218]

แม้ว่าซาฮารอฟจะกล่าวแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ในเชิงบวก แต่คณะผู้แทนทางการทูตสัมพันธมิตรได้ออกจากเมืองเมื่อวันที่ 7 และเช่นเดียวกันกับคณะรัฐมนตรีในอีกสามวันต่อมา[219] การตัดสินใจป้องกันเมืองหลวง นำไปสู่ความโกลาหลที่เกิดจากกองทัพเหมือนดังช่วงแรกของการปกครองแบบเผด็จการ[219] นักโทษการเมืองจากเรือนจำประมาณสี่ร้อยคนถูกสังหาร และยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้งอยู่ภายนอก[220]

คอลชัคเป็นหนึ่งในคนสุดท้ายที่ออกจากเมืองในคืนวันที่ 13 พฤศจิกายน โดยรถไฟ 5 ขบวน ซึ่งได้มีการนำทองคําสํารองสมัยจักรวรรดิที่หลงเหลือไปด้วย[220][221][222] ในช่วงเช้าตรู่ของวันถัดมา[223][224] หลังจากการบังคับเดินทัพเป็นระยะทาง 200 กิโลเมตรภายในสองวัน กองทัพโซเวียตที่ 5 ภายใต้การนำของมีฮาอิล ตูฮาเชฟสกี จึงเข้าไปในเมืองเป็นหน่วยแรก[225] ณ ที่แห่งนั้น ตูคาเชฟสกีพบการต่อต้านเพียงเล็กน้อยจากกองทหารรักษาการณ์ในท้องถิ่น เขาสามารถควบคุมออมสค์ได้สมบูรณ์ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน[220] กองทัพแดงได้รับทรัพยากรจำนวนมากและนักโทษอีกหลายหมื่นคน[220][221]

การจลาจลและการสลายตัวของกองทัพ[แก้]

แผนที่แสดงการล่าถอยของกองทัพขาวในช่วงเดือนสุดท้ายของรัฐรัสเซีย ซึ่งคอลชัคต้องเผชิญกับการจราจลต่อต้านและการรุกหน้าของกองทัพแดง

ระหว่างการเดินทางไปอีร์คุตสค์เพื่อพบรัฐมนตรีของเขา คอลชัคได้รับข่าวถึงการตัดสินของผู้บัญชาการหน่วยทหารเชโกสโลวักในการเริ่มต้นถอนกำลังพลและละทิ้งกิจกรรมสนับสนุนรัฐบาลเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1919[226] ห้าวันต่อมา เขาได้ทราบข่าวถึงการจราจลของของกลุ่มสังคมนิยมปฏิวัติในวลาดีวอสตอค ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากราโดลา กัยดา ที่ถูกขับไล่[226][227] ฝ่ายค้านซึ่งสมคบคิดต่อต้านคอลชัคมาเป็นเวลานาน[228][227] ได้หลบหนีการปราบปรามจากเจ้าหน้าที่ของคอลชัคเพื่อคุ้มครองผู้แทนสัมพันธมิตร ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังในเมืองของกองทหารคอสแซ็กภายใต้นายพลคัลมือคอฟ[229]

ต้นเดือนพฤศจิกายน กัยดาแจ้งฝ่ายสัมพันธมิตรถึงการเตรียมการจราจลภายใต้ความร่วมมือของเขา เขาได้รับความเห็นใจจากผู้แทนฝ่ายสัมพันธมิตรที่พำนักอยู่ในเมือง[230] การจราจลเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1919[231][232] ซึ่งในช่วงแรกได้รับการยอมรับจากบางภาคส่วน[230] อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมของการจราจลถูกปิดผนึก เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยทหารเชโกสโลวักแปดพันคนที่ประจำอยู่ในเมือง ซึ่งพวกเขาประกาศตัวเป็นกลางและแสดงความปรารถนาที่จะอพยพโดยเร็วที่สุด[233] กองกำลังทหารญี่ปุ่นใช้วลี "การจำกัดความเป็นศัตรู" (localizing of hostilities) เป็นข้ออ้างในการแยกกองกำลังกบฏและปิดล้อมสถานีรถไฟออกจากตัวเมือง[233][232] จากนั้นกองกำลังจึงถูกปิดล้อมโดยคัลมือคอฟและกองทัพเรือที่ภักดีต่อคอลชัค[233]

ขบวนรถไฟของคอลชัคในระหว่างการล่าถอยของกองทัพขาวในไซบีเรียตะวันออก

หลังจากการเจรจาเป็นเวลาสั้น ๆ กองกำลังปิดล้อมได้ทิ้งระเบิดลงสถานีรถไฟเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พร้อมทั้งบดขยี้กบฏจนกลายเป็นการสังหารหมู่[234] กัยดาถูกเนรเทศอย่างรวดเร็ว[235] และผู้นําฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติแนวหน้าแสวงหาการคุ้มครองจากกองกำลังสหรัฐในเมือง[234]

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติและรัฐบาลได้เจรจาความตกลงร่วมมือกันในอีร์คุตสค์ท่ามกลางความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน[236] คอลชัคไม่สนับสนุนการเจรจาและยังคงถอนกำลังอย่างช้า ๆ ไปตามทางรถไฟ และมาถึงไตกาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1919[237] โดยที่นี่เขาได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งพยายามโน้มน้าวเขาถึงความจําเป็นในการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงแก่นและรวดเร็วในรัฐบาล แต่ไม่สําเร็จ[238] หลังจากคอลชัคเดินทางออกจากไตกา นายกรัฐมนตรีใช้กำลังบังคับให้นายพลซาฮารอฟให้พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงที่เขาเสนอ[238]

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1919 นายพลชาวเชโกสโลวัก ยัน ซีโรวี ได้แจ้งผู้บัญชาการของเขา นายพลชาวฝรั่งเศส มอริส ฌาแน็ง ถึงความจําเป็นในการเริ่มอพยพหน่วยทหารทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงการกบฏ ซึ่งฌาแน็งอนุมัติและให้ความสําคัญกับกองทหารเชโกสโลวักมากกว่ากองทหารอื่น ๆ เช่น โปแลนด์ เซอร์เบีย โรมาเนีย หรืออิตาลี ซึ่งจะอพยพในภายหลัง[239] ไม่กี่วันหลังจากนั้น กองกำลังเชโกสโลวักเข้าควบคุมทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียแทนที่หัวหน้าสถานีเดิม และกําหนดคําสั่งอพยพให้กับกองทัพรัสเซีย ซึ่งหน่วยของคอลชัคจะออกจากประเทศเป็นหน่วยสุดท้าย หลังจากกองทหารต่างประเทศอื่น ๆ[239] หน่วยทหารเชโกสโลวักสั่งห้ามการถ่ายโอนขบวนรถไฟรัสเซียทางตะวันออกของโนโวนีโคลาเยฟสค์ ก่อนที่กองกำลังเชโกสโลวักจะถอนกำลังออกไปทั้งหมด เป็นเหตุให้การถอนกำลังของรัสเซียเป็นไปอย่างเชื่องช้า[225] และขบวนของคอลชัคได้หยุดรถที่ครัสโนยาสค์เป็นเวลาหลายวัน[239] แม้จะมีการประท้วงจากฝ่ายรัสเซียอย่างดุเดือด แต่เชโกสโลวาเกียปฏิเสธที่จะเปลี่ยนคําสั่ง ทําให้รถไฟผู้ลี้ภัยมากกว่า 120 ขบวนติดอยู่บนราง และถูกโซเวียตยึดในอัตราประมาณ 10-20 ขบวนต่อวัน[221][239] ในขณะเดียวกัน คอลชัคยังคงเดินหน้าไปยังอีร์คุตสค์อย่างช้า ๆ เมื่อใดก็ตามที่เชโกสโลวาเกียอนุญาต[240][221] เมื่อมาถึงครัสโนยาสค์ เขาถูกควบคุมตัวในระหว่างวันที่ 17 ถึง 21 ธันวาคม โดยฌาแน็งปฏิเสธที่จะให้ความสําคัญกับขบวนของเขา[240]

หลังจากการสนทนาที่ยาวนาน คอลชัคเดินทางออกจากเมืองก่อนที่ไม่นานจะตกอยู่ภายใต้กบฏฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติที่เรียกว่า "ศูนย์การเมือง" (รัสเซีย: Политцентр) ซึ่งกบฏเข้าควบคุมนิจเนอูดินสค์เมื่อคอลชัคเดินทางมาถึงเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม และในเวลาเดียวกัน เขาได้รับการคุ้มครองและถูกควบคุมตัวโดยกองทหารเชโกสโลวักที่ควบคุมสถานี[240] ต่อมาในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1919 ศูนย์การเมืองได้เข้าควบคุมอีร์คุตสค์[235][241]

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1919 กองทัพแดงที่ 5 เข้ายึดโนโวนีโคลาเยฟสค์ ที่ซึ่งการจราจรทางรางติดขัด ทำให้กองทัพขาวที่ 2 และ 3 ถูกปิดกั้นอยู่ด้านหลังห่างจากขบวนรถไฟผู้ลี้ภัยที่ทอดยาวตั้งแต่ชูลิมถึงโนโวนีโคลาเยฟสค์เป็นระยะทาง 100 กิโลเมตร ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลต่อการล่มสลายของกองทัพอย่างรวดเร็ว[242] ภายหลังการยึดเมือง โซเวียตจับนักโทษหลายพันคนและยึดทรัพยากรมากมาย[242] หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ กองกำลังกบฏในตอมสค์และไตกาสังหารเจ้าหน้าที่ขาวจำนวนหนึ่ง และเรียกร้องให้ลงนามในสันติภาพกับโซเวียตซึ่งกําลังรุกหน้าเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อย ๆ[242]

นายพลคัปเปลได้รับการสืบต่อตำแหน่งจากนายพลซาฮารอฟ[241] เขาพยายามที่จะหยุดการรุกของโซเวียตในครัสโนยาสค์ แต่เนื่องจากการจราจลที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติและการกบฏของกองทหาร ทําให้ความพยายามของพวกเขาเป็นที่น่าผิดหวัง[243] จากสถานการณ์ที่มีผู้ลี้ภัยเป็นจํานวนมาก ความโกลาหลของกองทหาร และการควบคุมทางรถไฟโดยเชโกสโลวาเกีย ซึ่งให้ความสําคัญอย่างเต็มที่สำหรับการอพยพหน่วยของพวกเขาเอง ทำให้ความพยายามในการต่อต้านใด ๆ เป็นไปอย่างไร้ผล[243] การถอนทัพพร้อมกับการอพยพผู้ลี้ภัยจำนวนมากเป็นไปอย่างยากลำบากในช่วงกลางฤดูหนาวของไซบีเรียบนเส้นทาง 1,500 กิโลเมตร ตั้งแต่ออมสค์ถึงครัสโนยาสค์[243] จากความหนาวเย็นของฤดูหนาว การปราศจากการตั้งหลักเพื่อลี้ภัย การขนส่งเพื่อหนีกองทัพโซเวียต การแพร่ระบาดของไข้รากสาดใหญ่ และธรรมชาติอันโหดร้ายของภูมิภาคที่เต็มไปด้วยหมาป่า ทําให้การอพยพเป็นไปอย่างน่าสะพรึงกลัว[243]

หลังจากการเจรจาที่ยาวนานอีกครั้งหนึ่ง คอลชัคจึงประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยหน่วยทหารเชโกสโลวักได้จัดหารถไฟให้เขาเพื่อเดินทางต่อไปและป้องกันไม่ให้เขาตกอยู่ในเงื้อมมือของกลุ่มกบฏที่ควบคุมนิจเนอูดินสค์ แต่อยู่ภายใต้การคุ้มกันของทหารเชโกสโลวักและปลดอาวุธ[244] อย่างไรก็ดี เมื่อบรรดาคนสนิทของคอลชัคที่ไว้วางใจได้เดินทางมาถึงอีร์คุตสค์ พวกเขาขับไล่กองทหารเชโกสโลวัก ซึ่งโดยสภาพแล้วเป็นศัตรูกับคอลชัค และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยทหารญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ในเมือง[244] ในวันที่ 5 มกราคม ด้วยท่าทีที่ไร้จุดหมาย คอลชัคได้โอนตําแหน่งผู้ปกครองสูงสุดให้แก่นายพลเดนีกิน[245] ซึ่งในขณะนี้ก็กำลังล่าถอยเช่นเดียวกัน[231]

การจับกุม ปฏิบัติการทางทหารครั้งสุดท้าย และอสัญกรรม[แก้]

เนื่องด้วยการทรุดตัวลงของฝ่ายบริหารขาว รวมถึงขบวนการพลพรรคและกลุ่มคนงานที่อยู่บนเส้นทาง ทำให้การเดินทางตึงเครียดมากขึ้น[244] เมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1920 ขบวนการพลพรรคขู่ว่าจะระเบิดทางรถไฟและตัดการจัดหาถ่านหินให้กับเชโกสโลวาเกีย พวกเขาจึงตกลงที่จะให้ตัวแทนของพลพรรคขึ้นรถไฟของพลเรือเอก[244] ในวันรุ่งขึ้น เชโกสโลวาเกียอนุญาตให้กลุ่มกบฏหลายสิบคนขึ้นขบวนรถไฟ[246] และมาถึงอีร์คุตสค์ในเวลา 15 นาฬิกาของวันที่ 15 มกราคม[245] และได้รับการต้อนรับจากกองกำลังกบฏของศูนย์การเมือง ซึ่งควบคุมเมืองอย่างไม่มั่นคง[246][231] ผู้บัญชาการกองทหารญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ในเมืองร้องขอการคุ้มกันคอลชัค ซึ่งซีโรวีปฏิเสธ เนื่องจากกลัวการตอบโต้จากคนงานเหมืองและกลุ่มกบฏ ซึ่งอาจต่อต้านการอพยพของกองทหารเชโกสโลวักได้ คอลชัคถูกควบคุมตัวในรถม้าของกลุ่มกบฏ[247] ฌาแน็งอนุมัติการส่งมอบตัวคอลชัคแก่กลุ่มกบฏ[245] โดยได้ส่งตัวแทนเชโกสโลวักไปแจ้งให้เขาทราบในเย็นวันเดียวกัน[247] ก่อนหน้านี้ฝ่ายสัมพันธมิตรให้สัญญาว่าจะปกป้องคอลชัคและพาเขาไปทุกที่ที่เขาต้องการ[245]

การตัดสินใจของซีโรวีและฌาแน็งเป็นที่ถกเถียงอย่างมาก[245] และมักถูกตราหน้าว่าเป็นการทรยศ แต่ในมุมมองของหน่วยทหารเชโกสโลวัก ซึ่งให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏ หากเลือกหนทางอื่นใดแล้ว อาจต้องเผชิญหน้ากับกำลังกบฏเหล่านั้น และทำให้เกิดการขัดขวางการล่าถอยของเชโกสโลวาเกียตลอดระยะทางหลายพันกิโลเมตรในระหว่างฤดูหนาวที่ไซบีเรีย[248] จากผลลัพธ์ของความทารุณที่กระทำโดยคอลชัค แนวโน้มของการสูญเสียครั้งใหญ่และการอพยพที่ยากลำบาก รวมถึงการรุกหน้าอย่างรวดเร็วของกองทัพโซเวียต คอลชัคจึงตัดสินใจยอมจำนนต่อกลุ่มกบฏ[249]

เขาถูกจับกุมพร้อมกับคนสนิทและรัฐมนตรีบางคน[250] ในระหว่างการจับกุม คอลชัคถูกสอบสวนจากคณะกรรมการสังคมนิยม 5 คน ซึ่งเป็นสมาชิกของพลพรรคที่เข้าควบคุมเมืองตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์[250]

แท้จริงแล้ว ศูนย์การเมืองที่ควบคุมตัวคอลชัคได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเพียงเล็กน้อย และดำรงอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนจากเชโกสโลวาเกีย การที่ศูนย์การเมืองไม่สามารถหยุดยั้งการรุดหน้าของโซเวียตหรือป้องกันการยึดอำนาจของพรรคบอลเชวิคท้องถิ่นในเมืองต่าง ๆ เริ่มปรากฏเด่นชัดมากขึ้น[251] คณะผู้แทนจากพรรคสังคมนิยมปฏิวัติพยายามขัดขวางการรุกคืบของโซเวียตผ่านการเจรจาที่ตอมสค์ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากเลนิน[252] อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงกับผู้บัญชาการทหารโซเวียตในการสร้างรัฐกันชนระหว่างโซเวียตและญี่ปุ่นกลับเป็นโมฆะ เนื่องจากการสูญเสียอำนาจของฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติในอีร์คุตสค์เมื่อวันที่ 21 มกราคม[231] โดยพวกเขาสมัครใจที่จะมอบอำนาจให้กับคณะกรรมการปฏิวัติบอลเชวิค[252]

ภาพถ่ายสุดท้ายของคอลชัคก่อนถูกประหารชีวิตในอีร์คุตสค์ จากการที่กองทัพขาวขู่ว่าจะปลดปล่อยตัวเขา เจ้าหน้าที่โซเวียตคนใหม่ของเมืองจึงได้รับอนุญาตให้ดําเนินการประหารชีวิตคอลชัคร่วมกับนายกรัฐมนตรีเพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้นี้ ถึงแม้จะมีคำแนะนำจากเลนินก่อนหน้านี้ว่าให้มีการพิจารณาคดีก่อน

หนึ่งวันก่อนการยุบลงของศูนย์การเมือง กองทัพขาวที่ล่าถอยเริ่มรวมกำลังพลอีกครั้งที่นิจเนอูดินสค์ และขู่ว่าจะยึดอีร์คุตสค์คืน[252] ซึ่งกองกำลังเหล่านี้อยู่ภายใต้บัญชาของนายพลคัปเปล[253] กองทัพขาวมุ่งหน้าไปทางเหนือ ถอยห่างจากแนวรุกหลักของโซเวียตที่เคลื่อนกำลังไปตามทางรถไฟทรานส์-ไซบีเรีย โดยเริ่มแรกได้เคลื่อนกำลังไปยังแม่น้ำเยนีเซย์ จากนั้นจึงมุ่งลงใต้เลียบไปกับแม่น้ำคัน (Кан) เพื่อไปสู่คันสค์[254] ส่วนกองกำลังอื่น ๆ ได้ติดตามนายพลเซียร์เกย์ วอยเซฮอฟสกี ไปตามเส้นทางรุกของโซเวียต กองทัพแดงบังคับให้หน่วยทหารโปแลนด์ห้าพันนายยอมจำนนเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1920 ดังนั้นเชโกสโลวาเกียจึงปฏิเสธที่จะอพยพผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยชาวโปแลนด์[255] ไม่นานหลังจากนั้น หน่วยทหารโรมาเนียประมาณสองถึงสามกองกำลังก็มาถึงเช่นกัน และหลังจากความพยายามที่จะอาศัยขบวนรถไฟกับเชโกสโลวาเกียไม่สำเร็จ พวกเขาจึงยอมจํานนต่อโซเวียต[255] ในขณะนี้ จึงเหลือเพียงการต่อสู้ระหว่างแนวรบหน้าของโซเวียตกับกองหลังของเชโกสโลวาเกียเท่านั้น[255] กองกำลังคัปเปลไปถึงคันสค์เมื่อวันที่ 15 มกราคม ภายหลังทหารเชโกสโลวักหน่วยสุดท้ายออกจากเมืองไปได้สองวัน แม้ว่าคัปเปลจะล้มเหลวในความพยายามยึดคืนเมืองนี้จากเงื้อมมือของกองทัพโซเวียต แต่ก็สามารถเติมเสบียงและเคลื่อนกำลังต่อไปทางตะวันออก[255] เมื่อวันที่ 20 มกราคม คัปเปลเอาชนะกองกําลังของศูนย์การเมืองและขบวนการพลพรรคในอุค (Ук) และในวันถัดมาจึงสามารถยึดนิจเนอูดินสค์ได้อีกครั้ง และรวมทัพกับกองกำลังของวอยเซฮอฟสกี[255] หลังจากนั้นกองทัพขาวจึงเริ่มปฏิบัติการพิชิตอีร์คุตสค์ เพื่อปลดปล่อยคอลชัคและคนสนิท กู้คืนทองคําสํารอง และสร้างแนวรบใหม่ทางตะวันตกของเมือง[255]

ห้องขังของเรือนจําอีร์คุตสค์ ที่ซึ่งคอลชัคถูกกุมขังจนกระทั่งถูกประหารชีวิต

ความพยายามในการเจรจากับฝ่ายบริหารบอลเชวิคชุดใหม่ในอีร์คุตสค์กับวอยเซฮอฟสกี (ซึ่งได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร เนื่องจากการเสียชีวิตของคัปเปล) เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันทั้งสองฝ่ายล้มเหลว[256] เมื่อเผชิญกับความเป็นไปไม่ได้ในการปกป้องอีร์คุตสค์จากวอยเซฮอฟสกี และเพื่อลบล้างจุดประสงค์ในการช่วยเหลือคอลชัค คณะกรรมการเมืองจึงพิจารณาประหารชีวิตเขา[256][235][253] เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920 กองกำลังขาวหน่วยแรกเคลื่อนทัพมาถึงบริเวณชานเมือง แม้ว่าจะมีความพยายามในการยับยั้งจากฝ่ายอีร์คุตสค์แล้วก็ตาม[256] ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการเมืองได้ฟื้นฟูโทษประหารชีวิตกลับมาอีกครั้ง และในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ มีการส่งคำร้องสำหรับการประหารชีวิตคอลชัคและนายกรัฐมนตรีวิคตอร์ เปเปลยาเยฟ ไปยังองค์กรโซเวียตที่ใกล้ที่สุด ซึ่งทางประธานคณะกรรมาธิการทหารปฏิวัติของกองทัพโซเวียตที่ 5 อีวาน สมีร์นอฟ ได้ตอบรับอนุญาตต่อคำร้องนั้น ถึงแม้จะมีคำแนะนำจากเลนินที่ต้องการให้จับกุมคอลชัคไปพิจารณาคดีที่มอสโก[231][253] สมีร์นอฟตระหนักว่าภัยคุกคามจากวอยเซฮอฟสกีมีความเสี่ยงที่จะทำให้คอลชัคถูกปล่อยตัว[257]

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920 หัวหน้าเชการ์ท้องถิ่นทราบถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นของคอลชัค ผู้สงบเสงี่ยมอยู่ตลอดเวลาซึ่งแตกต่างจากเปเปลยาเยฟ[258][253] องค์กรลับพยายามปลดปล่อคอลชัค แต่เขาปฏิเสธที่จะละทิ้งเพื่อนร่วมคุกของเขา[259] สองชั่วโมงต่อมา ในเวลา 4 นาฬิกา คอลชัคและเปเปลยาเยฟถูกนำตัวออกจากคุกและถูกยิงเป้า[231] จากนั้นร่างของพวกเขาจึงถูกโยนลงแม่น้ำอูชาคอฟกา (แม่น้ำสาขาของแม่น้ำอันการา) ผ่านรูน้ำแข็ง[259][235][253][7]

ในวันเดียวกันนั้นเอง มีการประกาศข้อตกลงระหว่างโซเวียตและเชโกสโลวาเกีย ซึ่งทำให้การต่อสู้ระหว่างทั้งสองฝ่ายยุติลง และอำนวยความสะดวกในการอพยพของฝ่ายหลังเพื่อแลกกับความเป็นกลางของทั้งสองฝ่าย[260] ผลที่ตามมาคือ เชโกสโลวาเกียสั่งให้วอยเซฮอฟสกีละทิ้งการโจมตีอีร์คุตสค์เพื่อประกันความเป็นกลางบนทางรถไฟ และเขาถูกบังคับให้ถอนกำลังไปทางตะวันออก[261] ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ผู้รอดชีวิตจากกองทัพคอลชัคประมาณหนึ่งหมื่นสองพันคนได้ไปถึงชีตา ซึ่งเป็นกองทัพเพียงกลุ่มเดียวที่เหลืออยู่[261]

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1920 กองทหารเชโกสโลวักหน่วยสุดท้ายได้อพยพชาวเมืองอีร์คุตสค์ และหนึ่งสัปดาห์ต่อมากองทัพโซเวียตที่ 5 หน่วยแรกจึงเข้ามาในเมือง[261] ในเดือนเดียวกันนั้น ทองคำสำรองของรัสเซียได้เดินทางกลับคาซันด้วยรถไฟพร้อมป้ายข้อความ "ถึงวลาดีมีร์ อิลลิช อันเป็นที่รัก, เมืองอีร์คุตสค์"[261]

การประเมินค่า[แก้]

หลังจากเดินทางกลับมาที่สหราชอาณาจักร นายพลน็อกซ์ได้ส่งรายงานไปยังกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับข้อสรุปที่ลงตัวสำหรับคอลชัคและระบอบเผด็จการ ดังนี้:[262]

ความรับผิดชอบทั้งหมดสำหรับความล้มเหลวในไซบีเรียไม่ควรตกอยู่ที่พลเรือเอกคอลชัค เป็นความจริงที่บุคลิกของเขาเหมาะสมกับตำแหน่งผู้ว่าการสูงสุดได้ไม่ดีนัก แม้ว่าเขาจะถือทิฐิ แต่อุปนิสัยของเขาขาดความแข็งแกร่งที่แท้จริงและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบุคคลใด ๆ ที่อยู่ในกลุ่มของเขาอย่างต่อเนื่อง เขาใจดีเกินไป และยินยอมให้โครงสร้างทางทหารได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากข้อพิพาทและความหวาดระแวงของผู้ใต้บัญชา แทนที่จะใช้มาตรการที่รุนแรงซึ่งปฏิบัติได้ด้วยความเที่ยงธรรมและความรักชาติ เขาเสียเวลาไปกับการนําปฏิบัติการทางทหารซึ่งเขาไม่รู้อะไรเลย ในขณะที่การดูแลบริหารราชการพลเรือนอยู่เบื้องหลัง เขายังเป็นนักการทูตที่ขาดประสบการณ์ และด้วยความขี้กลัว เขาจึงไม่ค่อยปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชน ทำให้สูญเสียความภักดีจากประชาสังคมไป

ในทางกลับกัน พลเรือเอกคอลชัคซื่อตรงและรักชาติอย่างมิต้องสงสัย เขารู้วิธีบังคับบัญชาและได้รับชื่อเสียงจากการบัญชาการทัพเรือทะเลดำ ในทางการเมืองนั้น อุดมการณ์ของเขาก้าวหน้าและมีความเป็นกังวลอย่างมากกับการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของชาวนา ซึ่งเขาเชื่อว่าจะจบลงด้วยการเป็นชนชั้นปกครองในรัสเซีย ชาวอังกฤษทุกคนที่อยู่เคียงข้างประทับใจในความจริงใจและการตัดสินใจของเขา พวกเขา [ชาวอังกฤษ] มองว่าเขา [คอลชัค] เป็นคนที่ดีที่สุดในไซบีเรียและสมควรได้รับการสนับสนุน

หากงานได้ครอบงำเขา มันไม่ใช่ความผิดของพลเรือเอก การจะประสบความสําเร็จได้ต้องมีนโปเลียนอย่างน้อยหนึ่งคน ต้องเข้าใจว่าในขณะนั้นความโกลาหลได้เกิดขึ้นทั่วไซบีเรียและการพัฒนายังไม่เพียงพอ ไซบีเรียไม่มีโรงงานและคอลชัคก็ไม่สามารถจัดหากองทัพหรือประชาสังคมได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับเสบียงที่ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งมาทั้งหมดซึ่งไม่เพียงพอ และความเชื่อถือจากต่างประเทศซึ่งไม่ได้รับ กองทัพจึงไม่มีความพร้อมและประชากรไม่ได้รับการคุ้มครองความต้องการ ความจริงที่การมิได้เตรียมพร้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า เพราะปราศจากเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถและซื่อสัตย์ในการบริหารกองกําลังติดอาวุธและประเทศ ซึ่งผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ถึงแม้จะมีความพยายามของคอลชัค แต่กองทัพก็ค่อย ๆ สูญเสียความสามารถในการต่อสู้ ประชาสังคมเริ่มไม่พอใจและไม่ซื่อสัตย์มากขึ้น และท้ายที่สุดก็เต็มใจที่จะต้อนรับบอลเชวิค

บารอน อะเลคเซย์ ฟอน บุดเบียร์ก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลคอลชัค กล่าวถึงผลกระทบจากการที่คอลชัคขาดความสามารถในฐานะเผด็จการไว้ดังนี้:[263]

ความเสื่อมโทรมในกองทัพ ความไม่รู้และความไร้ความสามารถในกองบัญชาการสูงสุด รัฐบาลที่ผิดศีลธรรม การทะเลาะวิวาท และการวางอุบายของคนเห็นแก่ตัวที่มีความทะเยอทะยาน ในสังคมโดยทั่วไปมีความตื่นตระหนก ความเห็นแก่ตัว สินบน และพฤติกรรมอื้อฉาวทุกประเภท

ตามคำกล่าวของนักวิจารณ์ของฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติในเวลานั้น ได้ระบุว่าคอลชัคปราศจากอำนาจที่แท้จริง:[263]

ระบอบเผด็จการคอลชัคเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ซ่อนระบอบเผด็จการของผู้เผด็จการน้อยระดับมณฑล (Уе́зд) เขตผู้ว่าการ (Губерния) และแคว้น (область) ทั้งหลาย ซึ่งเต็มไปด้วยความรักอันลึกซึ้งในอำนาจของตนเอง แม้ว่าพวกเขาจะสวมอินทรธนูบนไหล่เป็นครั้งแรก และอยู่ภายใต้การสั่งการของผู้บัญชายี่สิบถึงสามสิบคน สิ่งเดียวที่เผด็จการเหล่านี้มีเหมือนกัน คือความเชื่อมั่นว่าความอยู่รอดของรัสเซียขึ้นอยู่กับชัยชนะ ทั้งชัยชนะในค่ายทหารหรือในหมู่บ้าน การต่อต้านชาวชนบท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านแรงงาน ซึ่งทั้งหมดถือว่าเป็นบอลเชวิคผู้ก่อปัญหา

คอลชัคไม่ทราบถึงวิธีชักจูงการสนับสนุนจากฝ่ายค้านสายกลาง จึงเลือกปฏิเสธกับทุก ๆ ฝ่าย ดังที่นายพลเกรฟส์บรรยายไว้ว่า:[264]

[...]คำว่า "บอลเชวิค" ถูกนำไปใช้กับใครก็ตามที่ไม่สนับสนุนคอลชัคและชนชั้นเผด็จการที่รายล้อมตัวเขา ความหมายของคำว่า "บอลเชวิค" ที่ใช้ในไซบีเรีย ได้แก่ ตัวแทนทั้งหมดของเซมสตโว (земство) ที่ต่อต้านแนวคิดของคอลชัค

จากความพ่ายแพ้ทางทหารจากฤดูร้อน เป็นเหตุให้ความมั่นคงและสุขภาพของคอลชัคย่ำแย่ลงอย่างมาก และทําให้การดำเนินงานใด ๆ ยากขึ้นเช่นกัน[264] ตามที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เกออร์กี กินส์ ได้บันทึกไว้ในการประชุมกับรัฐมนตรีเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาการขนส่ง:

เขาทุบโต๊ะด้วยหมัด โยนทุกอย่างลงกับพื้น หยิบมีดแล้วเริ่มขูดแขนเก้าอี้[...] "ปล่อยฉันไว้คนเดียว!" เขาตะโกน "ฉันห้ามไม่ให้คุณเอ่ยถึงปัญหาเหล่านั้นอีก วันนี้ฉันจะไปพบคณะรัฐมนตรีและสั่งไม่ให้อนุมัติการปฏิรูปใด ๆ ทั้งสิ้น"

ด้วยบุคลิกที่แปรปรวนของคอลชัค ส่งผลกระทบต่อการไร้ความสามารถของเขาในการเลือกผู้ใต้บัญชาที่มีความสามารถหรือยอมรับคําวิจารณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาไม่เหมาะสมที่จะดํารงตําแหน่งนี้[264]

การที่ไม่สามารถควบคุมผู้นำคอสแซ็กบางส่วนสร้างความเสียหายอย่างมากต่อรัฐบาล เช่นเดียวกับการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ดังที่บารอนบุดเบียร์กระบุไว้ว่า:[265]

พวกเขาต้องการสร้างพลังเพื่อทําลายล้างลัทธิบอลเชวิค แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการช่วยเหลือเสียเอง โดยให้โอกาสอันล้ำค่าแก่เขาเพื่อพิสูจน์คําเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า "ไฮดราของการต่อต้านการปฏิวัติฟื้นคืนจากศีรษะอันนองเลือดของมัน" มีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง

สำหรับการทุจริตอย่างกว้างขวาง ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม การวางอุบาย และการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน บุดเบียร์กบันทึกไว้ว่า:[264]

อิทธิพลของอะตามันช์ชีนา (atamanshchina) และความหอมหวนของการประพฤติชีวิตนอกกฎหมายได้แทรกซึมลึกไปทุกที่ เป็นไปได้มากว่าเขาจะกลืนกินพวกเราทุกคนและเราจะพินาศด้วยกลิ่นเหม็นของเขาเอง

รอลันด์ มอร์รีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำญี่ปุ่นได้บรรยายไว้ว่า:[265]

ทั่วทั้งไซบีเรีย[...] มีการจับกุมโดยไม่มีข้อกล่าวหา การประหารชีวิตที่ไม่มีแม้แต่การพิจารณาคดี และการริบทรัพย์สินทั้งที่ไม่มีอํานาจ

ความล้มเหลวของคอลชัคส่วนมากเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าการทหาร[266][104] โดยถือว่าระบอบเผด็จการของเขาไม่สำเร็จในแง่มุมทางการเมืองขั้นพื้นฐาน ทั้งอำนาจและความชอบธรรมที่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในภูมิภาค รูปแบบเผด็จการไม่มีความแตกต่างจากระบอบซาร์เก่าอย่างชัดเจน รัฐบาลไม่สามารถวางภาพนโยบายก้าวหน้าให้กับบอลเชวิคได้ และพึ่งพาความช่วยเหลือหรืออิทธิพลของกองกําลังชาติมากเกินไป[267] เจ้าหน้าที่จากระบอบเก่าก็กระจุกตัวอยู่รอบ ๆ คอลชัค[268] ซึ่งเริ่มปรากฏอย่างเด่นชัดว่าหากรัฐบาลของเขาได้รับชัยชนะ จะไม่มีการก่อตั้งรัฐบาลแบบใหม่ขึ้นมา แต่จะเป็นการหวนคืนสู่ระบอบเก่า[268] โดยนีโคไล อูสเตรียลอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศของคอลชัค ได้บรรยายไว้ว่า:[268]

นี่ไม่ใช่รัสเซียใหม่ ไม่ใช่อนาคต[...] และไม่มีอะไรจะเฉลิมฉลองต่อชัยชนะของเขา นี่ไม่ใช่เบื้องหน้าของระบอบการปกครองที่ปรับปรุงใหม่ แต่เป็นเบื้องหลังของอดีตที่ผ่านไปชั่วนิรันดร์

การกู้ฐานะ[แก้]

ในประวัติศาสตร์สมัยโซเวียต คอลชัคและขบวนการขาวถูกมองว่าเป็นศัตรูของประชาชน และความทรงจำของเขาถูกลดทอนคุณค่า[4] อย่างไรก็ดี หลังจากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ มีการพิสูจน์ให้เห็นถึงความชอบธรรมสำหรับบทบาทของคอลชัคและการรับราชการเพื่อประโยชน์ของรัสเซีย โดยส่วนมากมีการกล่าวถึงในสื่ออนุรักษนิยมหรือชาตินิยมที่ได้รับความนิยม ซึ่งปรากฏในเป็นรูปแบบชีวประวัตินักบุญ[4] ผู้สนับสนุนคอลชัคพูดถึงตัวเขาในฐานะผู้พลีชีพ รักชาติ และเสียสละตนเองอย่างกล้าหาญเพื่อพยายามฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ[4] ถึงอย่างนั้น ความทรงจำของเขายังคงไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับจักรพรรดินีโคไลที่ 2, อันตอน เดนีกิน, วลาดีมีร์ คัปเปล และบุคคสำคัญอื่น ๆ ในสงครามกลางเมืองและผู้นำขบวนการขาว ปัจจุบันมีการสร้างรูปปั้นและอนุสาวรีย์หลายแห่งเพื่อเป็นเกียรติแก่คอลชัค ทั้งในเซนต์ปีเตอส์เบิร์กสองแห่ง และในอีร์คุตสค์หนึ่งแห่งซึ่งมีความสูงห้าเมตร และเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 เกาะคอลชัคซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเกาะราสโตร์กูเยฟ (остров Расторгуева) ใน ค.ศ. 1937 ได้รับการเปลี่ยนชื่อมาเป็นเช่นเดิม[269]

ใน ค.ศ. 2008 มีการสร้างภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ของรัสเซียอย่าง แอดมิรัล ซึ่งเล่าถึงชีวประวัติของคอลชัค[270] ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในโรงภาพยนตร์ของรัสเซีย (เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับสามและเป็นภาพยนตร์รัสเซียเรื่องแรกใน ค.ศ. 2008)[271] ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากช่องหนึ่งรัสเซียที่ดำเนินการโดยรัฐ เพื่อสอดคล้องกับความพยายามของรัฐบาลรัสเซียในการเชื่อมโยงอำนาจที่เกิดขึ้นใหม่กับจักรวรรดิรัสเซียในอดีต นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังถูกมองว่าเป็นความพยายามกู้ฐานะของคอลชัคอีกด้วย[272]

อ้างอิง[แก้]

  1. Yegorov, O. (2019-12-27). "Meet Russian Imperial officers who almost stopped the Bolsheviks". Russia Beyond the Headlines. สืบค้นเมื่อ 2020-01-29.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Lincoln 1989, p. 240.
  3. 3.0 3.1 3.2 Ullman 1968b, p. 33.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Pereira 1996, p. 179.
  5. A Kolchak memorial plaque installed in the house where the white admiral lived (ภาษารัสเซีย)
  6. 6.0 6.1 Smele 1996, p. 62.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Barr 1981, p. 507.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 8.8 Weeks & Baylen 1976, p. 63.
  9. Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 38.
  10. Smirnov 1933, p. 373.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 Smirnov 1933, p. 374.
  12. 12.00 12.01 12.02 12.03 12.04 12.05 12.06 12.07 12.08 12.09 12.10 Pereira 1996, p. 201.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 13.6 13.7 Smele 1996, p. 63.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 14.6 14.7 Barr 1981, p. 508.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 11.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 Connaughton 1990, p. 6.
  17. Barr 1981, p. 509.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 Smirnov 1933, p. 375.
  19. Barr 1981, p. 515.
  20. Barr 1981, p. 516.
  21. Barr 1981, p. 518.
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 Smele 1996, p. 64.
  23. 23.0 23.1 23.2 23.3 23.4 23.5 23.6 23.7 23.8 Barr 1981, p. 519.
  24. 24.0 24.1 Connaughton 1990, p. 7.
  25. 25.00 25.01 25.02 25.03 25.04 25.05 25.06 25.07 25.08 25.09 Weeks & Baylen 1976, p. 64.
  26. 26.0 26.1 26.2 26.3 Smirnov 1933, p. 376.
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 27.5 27.6 27.7 Smele 1996, p. 65.
  28. 28.0 28.1 28.2 28.3 Connaughton 1990, p. 11.
  29. 29.0 29.1 29.2 Barr 1981, p. 520.
  30. Колчак на необитаемом острове (Kolchak en una isla desierta). Rossíiskaya Gazeta (ภาษารัสเซีย). 20 กรกฎาคม 2005. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2014.
  31. Pipes 1993, p. 48.
  32. 32.00 32.01 32.02 32.03 32.04 32.05 32.06 32.07 32.08 32.09 32.10 Connaughton 1990, p. 12.
  33. Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 23.
  34. 34.0 34.1 34.2 Barr 1981, p. 521.
  35. 35.0 35.1 35.2 35.3 35.4 35.5 Smirnov 1933, p. 377.
  36. 36.0 36.1 36.2 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 24.
  37. 37.0 37.1 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 25.
  38. 38.0 38.1 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 26.
  39. Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 27.
  40. Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 28.
  41. Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 30.
  42. 42.0 42.1 42.2 42.3 42.4 42.5 Smirnov 1933, p. 379.
  43. 43.0 43.1 43.2 43.3 43.4 43.5 Smele 1996, p. 66.
  44. 44.0 44.1 44.2 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 32.
  45. 45.0 45.1 45.2 Connaughton 1990, p. 13.
  46. 46.0 46.1 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 33.
  47. 47.0 47.1 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 35.
  48. 48.0 48.1 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 36.
  49. 49.0 49.1 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 37.
  50. Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 34.
  51. 51.0 51.1 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 50.
  52. 52.0 52.1 52.2 Smele 1996, p. 68.
  53. Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 51.
  54. Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 52.
  55. 55.0 55.1 Smirnov 1933, p. 381.
  56. Pereira 1987, p. 52.
  57. 57.0 57.1 57.2 57.3 Pereira 1996, p. 109.
  58. 58.0 58.1 58.2 58.3 Smele 1996, p. 67.
  59. Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 48.
  60. 60.0 60.1 Connaughton 1990, p. 19.
  61. 61.0 61.1 Connaughton 1990, p. 20.
  62. Smirnov 1933, p. 382.
  63. 63.0 63.1 63.2 Weeks & Baylen 1976, p. 65.
  64. 64.0 64.1 64.2 64.3 64.4 Smirnov 1933, p. 384.
  65. Weeks & Baylen 1976, pp. 65–66.
  66. Weeks & Baylen 1976, pp. 64–65.
  67. 67.0 67.1 67.2 Weeks & Baylen 1976, p. 66.
  68. 68.0 68.1 Smele 1996, p. 71.
  69. 69.0 69.1 69.2 Smele 1996, p. 72.
  70. 70.0 70.1 70.2 Smirnov 1933, p. 385.
  71. 71.0 71.1 71.2 71.3 Lincoln 1989, p. 241.
  72. 72.0 72.1 Morley 1957, p. 204.
  73. 73.0 73.1 73.2 73.3 Smele 1996, p. 74.
  74. Smele 1996, p. 73.
  75. Pereira 1996, p. 53.
  76. Morley 1957, p. 199.
  77. 77.0 77.1 Morley 1957, p. 206.
  78. 78.0 78.1 78.2 Smele 1996, p. 76.
  79. Smele 1996, p. 61.
  80. 80.0 80.1 80.2 80.3 80.4 Ullman 1968b, p. 34.
  81. Lincoln 1989, p. 237.
  82. 82.0 82.1 82.2 82.3 Lincoln 1989, p. 244.
  83. 83.0 83.1 83.2 Smirnov 1933, p. 386.
  84. 84.0 84.1 Pereira 1987, p. 51.
  85. 85.0 85.1 85.2 Dotsenko 1983, p. 62.
  86. Smele 1996, p. 97.
  87. 87.0 87.1 Pereira 1996, p. 104.
  88. Smele 1996, p. 98.
  89. 89.0 89.1 Dotsenko 1983, p. 63.
  90. 90.0 90.1 90.2 90.3 Pereira 1996, p. 106.
  91. Lincoln 1989, p. 245.
  92. Smele 1996, p. 107.
  93. Smele 1996, p. 113.
  94. Smele 1996, p. 111.
  95. 95.0 95.1 95.2 Pereira 1996, p. 107.
  96. Smirnov 1933, pp. 386–387.
  97. 97.0 97.1 Smele 1996, p. 116.
  98. 98.0 98.1 98.2 Smele 1996, p. 109.
  99. Pereira 1987, p. 53.
  100. 100.0 100.1 100.2 100.3 100.4 100.5 100.6 Lincoln 1989, p. 246.
  101. Smele 1996, p. 119.
  102. 102.0 102.1 102.2 102.3 Pereira 1996, p. 122.
  103. Smele 1996, p. 120.
  104. 104.0 104.1 Pereira 1996, p. 172.
  105. 105.0 105.1 105.2 Ullman 1968b, p. 35.
  106. 106.0 106.1 Ullman 1968b, p. 36.
  107. 107.0 107.1 107.2 Lincoln 1989, p. 247.
  108. 108.0 108.1 108.2 108.3 Figes 1998, p. 652.
  109. 109.00 109.01 109.02 109.03 109.04 109.05 109.06 109.07 109.08 109.09 Pereira 1996, p. 123.
  110. 110.0 110.1 110.2 Figes 1998, p. 655.
  111. Smele 1996, p. 110.
  112. 112.0 112.1 Smele 1996, p. 114.
  113. 113.0 113.1 113.2 Figes 1998, p. 654.
  114. Smele 1996, p. 138.
  115. Smele 1996, p. 186.
  116. Smele 1996, p. 257.
  117. 117.0 117.1 117.2 117.3 117.4 117.5 117.6 117.7 Pereira 1996, p. 110.
  118. 118.0 118.1 Pereira 1996, p. 139.
  119. Pereira 1996, p. 138.
  120. Smele 1996, p. 123.
  121. 121.0 121.1 121.2 Smele 1996, p. 124.
  122. Ullman 1968b, p. 164.
  123. 123.0 123.1 123.2 Smele 1996, p. 125.
  124. 124.0 124.1 Smele 1996, p. 126.
  125. 125.0 125.1 125.2 Smele 1996, p. 127.
  126. 126.0 126.1 Smele 1996, p. 128.
  127. 127.0 127.1 127.2 Smele 1996, p. 129.
  128. 128.0 128.1 Smele 1996, p. 130.
  129. 129.0 129.1 129.2 Smele 1996, p. 131.
  130. 130.0 130.1 130.2 Pereira 1996, p. 130.
  131. 131.0 131.1 Smele 1996, p. 184.
  132. 132.0 132.1 Pereira 1996, p. 134.
  133. Ullman 1968b, p. 42.
  134. 134.0 134.1 134.2 Smele 1996, p. 268.
  135. Smele 1996, p. 272.
  136. 136.0 136.1 Smele 1996, p. 282.
  137. Pereira 1987, p. 61.
  138. 138.0 138.1 Figes 1998, p. 656.
  139. Smele 1996, p. 385.
  140. Pereira 1987, p. 60.
  141. 141.0 141.1 Smele 1996, p. 295.
  142. Pereira 1987, p. 54.
  143. 143.0 143.1 Pereira 1996, p. 113.
  144. Smele 1996, p. 304.
  145. 145.0 145.1 145.2 Smele 1996, p. 330.
  146. Smele 1996, p. 337.
  147. 147.0 147.1 Smele 1996, p. 341.
  148. Smele 1996, p. 339.
  149. Smele 1996, p. 344.
  150. Smele 1996, p. 443.
  151. Smele 1996, p. 449.
  152. 152.0 152.1 Smele 1996, p. 442.
  153. Smele 1996, p. 362.
  154. Smele 1996, p. 366.
  155. 155.0 155.1 Smele 1996, p. 369.
  156. Smele 1996, p. 370.
  157. Smele 1996, p. 375.
  158. Smele 1996, p. 374.
  159. 159.0 159.1 159.2 Pereira 1996, p. 125.
  160. 160.0 160.1 160.2 160.3 Smele 1996, p. 181.
  161. 161.0 161.1 161.2 161.3 Lincoln 1989, p. 249.
  162. 162.0 162.1 Smele 1996, p. 187.
  163. Smele 1996, p. 188.
  164. Smele 1996, p. 212.
  165. 165.0 165.1 165.2 Smele 1996, p. 226.
  166. 166.0 166.1 166.2 166.3 166.4 Figes 1998, p. 653.
  167. 167.0 167.1 167.2 167.3 167.4 Pereira 1996, p. 124.
  168. 168.0 168.1 Lincoln 1989, p. 250.
  169. Smele 1996, p. 331.
  170. Ullman 1968b, p. 211.
  171. Smele 1996, p. 227.
  172. 172.0 172.1 172.2 Smele 1996, p. 308.
  173. 173.0 173.1 173.2 173.3 Smele 1996, p. 309.
  174. 174.0 174.1 174.2 174.3 174.4 Smele 1996, p. 310.
  175. Ullman 1968b, p. 161.
  176. Pereira 1996, p. 219.
  177. Smele 1996, p. 313.
  178. 178.0 178.1 178.2 178.3 178.4 178.5 Smele 1996, p. 316.
  179. Ullman 1968b, p. 170.
  180. 180.0 180.1 Lincoln 1989, p. 262.
  181. 181.0 181.1 181.2 181.3 181.4 181.5 181.6 181.7 Smele 1996, p. 317.
  182. Pereira 1996, p. 132.
  183. 183.0 183.1 183.2 183.3 183.4 183.5 183.6 Pereira 1996, p. 141.
  184. 184.0 184.1 184.2 Smele 1996, p. 472.
  185. 185.0 185.1 185.2 185.3 185.4 185.5 Smele 1996, p. 318.
  186. 186.0 186.1 186.2 186.3 Lincoln 1989, p. 263.
  187. 187.0 187.1 187.2 187.3 Ullman 1968b, p. 205.
  188. Smele 1996, p. 319.
  189. 189.0 189.1 Smele 1996, p. 320.
  190. 190.0 190.1 Smele 1996, p. 322.
  191. Smele 1996, p. 324.
  192. Smele 1996, p. 417.
  193. Smele 1996, p. 438.
  194. 194.0 194.1 Pereira 1996, p. 58.
  195. Smele 1996, p. 441.
  196. 196.0 196.1 Smele 1996, p. 474.
  197. Smele 1996, p. 480.
  198. 198.0 198.1 198.2 198.3 Smele 1996, p. 481.
  199. 199.0 199.1 199.2 199.3 199.4 Smele 1996, p. 482.
  200. 200.0 200.1 Smele 1996, p. 487.
  201. Smele 1996, p. 492.
  202. 202.0 202.1 202.2 202.3 Smele 1996, p. 513.
  203. Pereira 1996, p. 144.
  204. Figes 1998, p. 657.
  205. Lincoln 1989, p. 265.
  206. 206.0 206.1 206.2 206.3 206.4 206.5 Smele 1996, p. 521.
  207. 207.0 207.1 Smele 1996, p. 523.
  208. 208.0 208.1 208.2 Smele 1996, p. 524.
  209. 209.0 209.1 209.2 Smele 1996, p. 527.
  210. 210.0 210.1 210.2 210.3 Smele 1996, p. 533.
  211. 211.0 211.1 211.2 Smele 1996, p. 534.
  212. 212.0 212.1 212.2 Smele 1996, p. 535.
  213. Smele 1996, p. 536.
  214. 214.0 214.1 Smele 1996, p. 538.
  215. 215.0 215.1 215.2 215.3 215.4 Smele 1996, p. 542.
  216. Smele 1996, p. 543.
  217. 217.0 217.1 217.2 Smele 1996, p. 544.
  218. 218.0 218.1 Smele 1996, p. 545.
  219. 219.0 219.1 Smele 1996, p. 548.
  220. 220.0 220.1 220.2 220.3 Smele 1996, p. 549.
  221. 221.0 221.1 221.2 221.3 Lincoln 1989, p. 266.
  222. Figes 1998, p. 659.
  223. Figes 1998, p. 658.
  224. Pereira 1996, p. 142.
  225. 225.0 225.1 Pereira 1987, p. 58.
  226. 226.0 226.1 Smele 1996, p. 551.
  227. 227.0 227.1 Ullman 1968b, p. 234.
  228. Smele 1996, p. 552.
  229. Smele 1996, p. 558.
  230. 230.0 230.1 Smele 1996, p. 567.
  231. 231.0 231.1 231.2 231.3 231.4 231.5 Lincoln 1989, p. 267.
  232. 232.0 232.1 Ullman 1968b, p. 251.
  233. 233.0 233.1 233.2 Smele 1996, p. 568.
  234. 234.0 234.1 Smele 1996, p. 569.
  235. 235.0 235.1 235.2 235.3 Ullman 1968b, p. 252.
  236. Smele 1996, p. 579.
  237. Smele 1996, p. 584.
  238. 238.0 238.1 Smele 1996, p. 585.
  239. 239.0 239.1 239.2 239.3 Smele 1996, p. 600.
  240. 240.0 240.1 240.2 Smele 1996, p. 627.
  241. 241.0 241.1 Pereira 1996, p. 148.
  242. 242.0 242.1 242.2 Smele 1996, p. 589.
  243. 243.0 243.1 243.2 243.3 Smele 1996, p. 592.
  244. 244.0 244.1 244.2 244.3 Smele 1996, p. 635.
  245. 245.0 245.1 245.2 245.3 245.4 Pereira 1996, p. 149.
  246. 246.0 246.1 Smele 1996, p. 636.
  247. 247.0 247.1 Smele 1996, p. 637.
  248. Smele 1996, p. 646.
  249. Smele 1996, p. 647.
  250. 250.0 250.1 Smele 1996, p. 3.
  251. Smele 1996, p. 648.
  252. 252.0 252.1 252.2 Smele 1996, p. 653.
  253. 253.0 253.1 253.2 253.3 253.4 Pereira 1996, p. 150.
  254. Smele 1996, p. 654.
  255. 255.0 255.1 255.2 255.3 255.4 255.5 Smele 1996, p. 655.
  256. 256.0 256.1 256.2 Smele 1996, p. 661.
  257. Smele 1996, p. 662.
  258. Smele 1996, p. 664.
  259. 259.0 259.1 Smele 1996, p. 665.
  260. Smele 1996, p. 666.
  261. 261.0 261.1 261.2 261.3 Smele 1996, p. 667.
  262. Smele 1996, p. 669.
  263. 263.0 263.1 Smele 1996, p. 671.
  264. 264.0 264.1 264.2 264.3 Lincoln 1989, p. 259.
  265. 265.0 265.1 Lincoln 1989, p. 258.
  266. Pereira 1987, p. 45.
  267. Pereira 1987, p. 62.
  268. 268.0 268.1 268.2 Lincoln 1989, p. 260.
  269. "Постановление Правительства Российской Федерации от 15 июля 2005 г. N 433 (Decreto del Gobierno n.º 433 15 กรกฎาคม 2005)" (ภาษารัสเซีย). Rossíiskaya Gazeta. 15 กรกฎาคม 2005.
  270. Almirante en IMDb.
  271. Russian box office rises 47%, Variety, 2 มกราคม 2009 (ภาษาอังกฤษ).
  272. Latest Russian blockbuster fits Kremlin script เก็บถาวร 2015-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Reuters, 6 ตุลาคม 2008 (ภาษาอังกฤษ).

หมายเหตุ[แก้]

  1. ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย
  2. Smele ชี้แจงว่า ระหว่าง ค.ศ. 1873–1874 เป็นปีเกิดของคอลชัค แต่ลูกชายของเขาได้ยืนยันว่า ค.ศ. 1874 เป็นปีที่ถูกต้อง[6] ส่วน Barr ระบุวันและเดือนเกิดของคอลชัคถูกต้อง แต่ให้ปีผิด[7]
  3. Weeks และ Baylen ระบุว่าได้เลื่อนยศในเดือนตุลาคม[8] แต่คอลชัคยืนยันว่าเป็นเดือนมิถุนายน[44]
  4. คอลชัคถูกปลดจากการเป็นผู้บัญชาการกองเรือเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 6 มิถุนายน] และเดินทางออกจากเปโตรกราดโดยที่ยังไม่ได้ต้อนรับคณะผู้แทนจากทหารสหรัฐ ซึ่งเดินทางมายังฐานทัพเรือเพื่อร่วมมือในการปรับปรุงกองเรือรัสเซีย[25]

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]