ข้ามไปเนื้อหา

มังกรโกโมโด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มังกรโกโมโด
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่:
สมัยไพลโอซีนสมัยโฮโลซีน,[1] 3.8–0Ma
เพศผู้ที่สวนสัตว์ซินซินแนติ
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix I (CITES)[3]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์เลื้อยคลาน
Reptilia
อันดับ: กิ้งก่าและงู
Squamata
วงศ์: เหี้ย
Varanidae
สกุล: Varanus
Varanus
สกุลย่อย: Varanus
Varanus (Varanus)
Ouwens, 1912[4]
สปีชีส์: Varanus komodoensis
ชื่อทวินาม
Varanus komodoensis
Ouwens, 1912[4]
แผนที่แสดงที่อยู่ของมังกรโกโมโด

มังกรโกโมโด (อังกฤษ: Komodo dragon; ชื่อวิทยาศาสตร์: Varanus komodoensis) เป็นสัตว์เลื้อยคลานในอันดับกิ้งก่าชนิดหนึ่ง มีถิ่นอาศัยอยู่บนเกาะโกโมโด, รินจา, โฟลเร็ซ และกีลีโมตังในประเทศอินโดนีเซีย อยู่ในวงศ์เหี้ย (Varanidae) จัดเป็นตะกวดชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบันนี้ ตัวโตเต็มวัยมีขนาดความยาวโดยเฉลี่ย 2–3 เมตร (6.6 ถึง 9.8 ฟุต) และมีน้ำหนักประมาณ 90 กิโลกรัม (150 ปอนด์)

มังกรโกโมโดมีรูปร่างหน้าตาเหมือนตัวเงินตัวทองชนิดอื่นทั่วไป แต่ทว่ามีลำตัวใหญ่และยาวกว่ามาก มีลำตัวสีเทาออกดำกว่า

บทนำ

[แก้]

ประวัติ

[แก้]
ขนาดเมื่อเทียบกับมนุษย์ (มังกรโกโมโด คือ หมายเลข 1)

มังกรโกโมโดเป็นที่รู้จักครั้งแรกของชาวโลก เมื่อพันตรีปีเตอร์ เอาเวินส์ ทหารชาวดัตช์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สัตววิทยาและสวนพฤกษศาสตร์ชวาที่เมืองเบยเตินซอร์ค (ปัจจุบันคือโบโกร์) ได้ยินเรื่องราวของมันและต้องการข้อมูลของมัน ดังนั้นในปี ค.ศ. 1910 เขาได้ติดต่อไปยังข้าหลวงของเกาะโฟลเร็ซ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเกาะโกโมโด ข้าหลวงซึ่งเป็นนักธรรมชาติวิทยาสมัครเล่นคนหนึ่งรับปากว่าจะหาข้อมูลมาให้

ต่อมาในปี ค.ศ. 1912 นักบินผู้หนึ่งเกิดเครื่องยนต์ขัดข้องขณะบินผ่านเกาะโกโมโด จึงต้องนำเครื่องลงฉุกเฉินที่นั่น เครื่องบินเสียหายแต่ตัวนักบินไม่เป็นอะไร ทว่าเมื่อเขาออกมาจากเครื่องก็ต้องตกใจ เมื่อพบว่ามีสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ หน้าตาเหมือนสัตว์ดึกดำบรรพ์รายล้อมเครื่องบิน เขารีบวิ่งหนีออกมาทันที และรอดชีวิตออกมาได้ นี่นับเป็นครั้งแรกที่ชาวยุโรปได้พบกับจระเข้บกในตำนานของชาวพื้นเมือง ในปีเดียวกันข้าหลวงแห่งเกาะโฟลเร็ซได้ไปที่นั่น และได้รับการยืนยันเรื่องสัตว์ดังกล่าว จากนั้นข้าหลวงได้มีโอกาสยิงสัตว์ดังกล่าวได้ตัวหนึ่ง และส่งหนังยาว 2.20 เมตรของมันไปให้เอาเวินส์ และบอกว่ามันไม่ใช่จระเข้แต่ใกล้เคียงพวกเหี้ยมากกว่า จากนั้นไม่นาน ทางสวนพฤกษศาสตร์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังเกาะโกโมโด และสามารถจับสัตว์ดังกล่าวเป็น ๆ ได้ถึง 4 ตัว มีอยู่ตัวหนึ่งยาวถึง 3 เมตร เอาเวินส์ได้เขียนเรื่องของมันลงวารสารวิชาการ และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้มันว่า Varanus komodoensis แปลว่า "เหี้ยแห่งโกโมโด" แต่ด้วยขนาดอันใหญ่โตของมัน ทำให้ผู้คนเรียกมันว่า "มังกรโกโมโด" อย่างที่รู้จักกัน[5]

แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับมังกรโกโมโดก็ยังเป็นที่รู้จักน้อยมาก เนื่องด้วยจากที่อยู่บนเกาะห่างไกลและภาวะจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในปี ค.ศ. 1926 จึงได้มีการศึกษามังกรโกโมโดอย่างจริงจังโดยคณะนักวิทยาศาสตร์และนักสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกัน โดยได้มีภาพยนตร์เกี่ยวกับวิถีชีวิตของมังกรโกโมโดในธรรมชาติ ภาพยนตร์ชุดนี้ได้สร้างความฮือฮาเป็นอย่างยิ่ง และในปีถัดมา มังกรโกโมโดที่มีชีวิต 2 ตัวก็ได้ถูกส่งไปยังทวีปยุโรป[6] แม้จะมีรูปร่างหน้าตาน่ากลัว แต่มังกรโกโมโดทั้ง 2 ตัวนี้กลับมีอุปนิสัยอ่อนโยนน่ารัก

อุปนิสัย

[แก้]
มังกรโกโมโดตามล่ากวางป่า

มังกรโกโมโดเป็นสัตว์ที่พบได้เฉพาะบนเกาะโกโมโดและหมู่เกาะใกล้เคียงเท่านั้น ไม่พบในที่อื่นใดของโลกอีก มีอุปนิสัยดุร้าย ชอบอยู่เป็นฝูง มังกรโกโมโดเป็นสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร จะวิ่งล่าเหยื่อด้วยการซุ่มจู่โจมกัดเหยื่อด้วยฟันที่คม แต่มันจะวิ่งไล่ได้เพียงครั้งเดียว ถ้าหากมันจับเหยื่อไม่ได้ มันจะต้องหยุดนิ่งเพื่อชาร์จพลังสำหรับการวิ่งครั้งใหม่ มังกรโกโมโดเป็นสัตว์ไม่มีพิษแต่ก็เสมือนว่ามีพิษ เนื่องจากในน้ำลายของมันมีเชื้อแบคทีเรียอยู่มากกว่าถึง 50 ชนิด เหยื่อที่ถูกกัดจะเกิดอาการโลหิตเป็นพิษ และจะถึงแก่ความตายในเวลาไม่เกิน 3 วัน ซึ่งบางครั้งเมื่อเหยื่อที่มังกรโกโมโดกัดและทิ้งน้ำลายไว้ในแผล หลบหนีไป มังกรโกโมโดจะติดตามไปเพื่อรอให้เหยื่อตายก่อนจะลงมือกินอีกด้วย เหยื่อของมังกรโกโมโดตามธรรมชาตินั้น มักเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น กวาง หรือวัวควายของชาวบ้าน

มังกรโกโมโดอาจจู่โจมมนุษย์บ้าง แต่มีไม่บ่อยนัก ซึ่งผู้ที่มันจะจู่โจมมักจะเป็นผู้ที่อ่อนแอหรือบาดเจ็บ แต่ในต้นปี ค.ศ. 2009 มีรายงานว่ามังกรโกโมโดได้รุมกัดชายหนุ่มคนหนึ่งจนถึงแก่ชีวิต ขณะที่เขากำลังเก็บผลไม้อยู่[7]

ในปัจจุบันนี้มีมังกรโกโมโดจัดเป็นสัตว์ที่มีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยมีปริมาณเหลืออยู่ราว 4,000 ตัว จากสาเหตุจำนวนผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะเพิ่มขึ้น เหยื่อของมันถูกล่าจนลดน้อยลง การขยายตัวของกสิกรรมทำลายพื้นที่หากินของมัน อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่พบได้เฉพาะถิ่นอีกด้วย

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

ด้วยความใหญ่โตและอุปนิสัยอันน่าสะพรึงกลัว ทำให้มังกรโกโมโดได้ถูกกล่าวถึงในวัฒนธรรมร่วมสมัยมากมาย เช่น ภาพยนตร์สัญชาติฮอลลีวูดเรื่อง Komodo ในปี ค.ศ. 1999[8], The Curse of the Komodo ในปี ค.ศ. 2004[9] และ Komodo vs King Cobra ในปี ค.ศ. 2005[10] เป็นต้น

นิเวศวิทยา

[แก้]

มังกรโกโมโดเป็นเหี้ยพันธุ์ใหญ่ที่สุดของโลก โตเต็มที่เมื่อมีอายุได้สิบห้าปี และมีอายุยืนกว่าห้าสิบปีในป่าธรรมชาติ ชาวพื้นเมืองบนเกาะโกโมโดเรียกมันว่า โอรา (ora) หรือจระเข้บก ส่วนบนเกาะโฟลเร็ซเรียกว่า บียาวักรักซาซา (biawak raksasa) หมายถึง เหี้ยหรือตะกวดยักษ์[11] มังกรโกโมโดเป็นสัตว์ผู้ล่า เดิมเหยื่อของมันเกิดขึ้นเพื่อล่าช้างแคระที่บัดนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่มันก็สามารถล้มควาย กวาง แพะ หรือแม้กระทั่งลูกของมังกรโกโมโดด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ลูกของมังกรโกโมโดจึงใช้เวลาช่วงแรก ๆ ของชีวิตอยู่บนยอดของต้นไม้เพื่อไม่ให้ถูกกิน และจะป้องกันตัวด้วยการกลิ้งไปมาในมูลหรือปัสสาวะของเหยื่อ เพื่อไม่ให้ตัวที่ใหญ่กว่ากิน มังกรโกโมโดกินอาหารเดือนละครั้ง และสามารถกินได้มากถึง 3 ใน 4 ของน้ำหนักตัว[12] โดยกินด้วยการกลืนลงไปเลยโดยไม่เคี้ยว[13]

ความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของมังกรโกโมโดและญาติ

[แก้]

บรรพบุรุษของมังกรโกโมโดมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับไดโนเสาร์[14][15] โดยมีบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อ 300 ล้านปีมาแล้ว (ยุคคาร์บอนิเฟอรัส) และเริ่มแยกออกจากกันเมื่อประมาณ 250 ล้านปีก่อน โดยไดโนเสาร์เริ่มมีวิวัฒนาการในการเดิน 2 ขา ส่วนมังกรโกโมโดยังคลาน 4 เท้า เมื่อ 100 ล้านปีก่อน ต้นตระกูลของมังกรโกโมโด เริ่มออกเดินทางจากเอเชียมุ่งสู่ยุโรป อเมริกาเหนือ และเดินทางมายังออสเตรเลียเมื่อ 15 ล้านปีก่อน โดยเดินทางผ่านอินโดนีเซีย เมื่อระดับนํ้าทะเลเพิ่มสูงขึ้น แผ่นดินอินโดนีเซียถูกแยกเป็นเกาะ ๆ มังกรโกโมโดจึงตกค้างอยู่ตามเกาะเหล่านั้นมาจนทุกวันนี้[16]

การปรับตัวเชิงวิวัฒนาการ

[แก้]

การล่าเหยื่อ

[แก้]

มังกรโกโมโดสามารถวิ่งได้เร็ว 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรง แต่มันจะวิ่งได้ระยะสั้นแล้วต้องหยุดพักเพราะมีขนาดลำตัวที่ใหญ่ มันจึงมักล่าโดยใช้วิธีซุ่มดักเหยื่ออยู่ตามทางเดินของสัตว์ รอจนกระทั่งเหยื่อเข้ามาใกล้ระยะที่มันจู่โจมได้ มันจึงจะจู่โจมด้วยฟันที่คมกริบ และเล็บที่แข็งแรง[17]อีกทั้งยังมีน้ำลายที่เต็มไปด้วยจุลินทรีย์ที่เป็นพิษมากมายแม้มันจะล้มเหยื่อไม่ได้ในการล่า แต่ถ้าหากเหยื่อถูกกัดแล้วจะเกิดอาการเลือดเป็นพิษ และตายในเวลาไม่เกินสามวัน จากนั้นมังกรโกโมโดก็จะตามกลิ่นของเหยื่อที่ตายเพื่อไปกินได้[12]

ประสาทรับกลิ่น

[แก้]

มังกรโกโมโดมีประสาทในการรับกลิ่นและแยกกลิ่นดีมาก มันสามารถรับกลิ่นได้ไกลหลายกิโลเมตร โดยมันจะใช้ลิ้นในการรับกลิ่น และใช้ปุ่มที่เพดานปากในการแยกกลิ่น มันสามารถบอกได้ว่าเหยื่อของมันอยู่ที่ใด และมีอาการเป็นอย่างไร ซึ่งก็เป็นการเพิ่มโอกาสในการหาอาหารของมัน[18]

การพัฒนาขนาดร่างกาย

[แก้]

มังกรโกโมโดมีขนาดร่างกายที่ใหญ่โต เนื่องจากบนเกาะเหล่านี้เคยมีช้างแคระอาศัยอยู่สองชนิด (จากหลักฐานทางซากดึกดำบรรพ์) ซึ่งน่าจะเป็นเป็นอาหารเดิมของมังกรโกโมโด และจากการที่พวกมันต้องล่าเหยื่อขนาดใหญ่นี้เอง จึงทำให้มันต้องวิวัฒนาการร่างกายให้ใหญ่โต เพื่อล่าเหยื่อ[19]

การสืบพันธุ์

[แก้]

มังกรโกโมโดตัวผู้จะต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงตัวเมีย ในฤดูผสมพันธุ์ที่อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม การผสมพันธุ์จะเริ่มต้นที่ตัวผู้ใช้ข้างแก้มถูไปตามข้างลำตัวของตัวเมีย ตัวเมียโดยปกติแล้ว จะวางไข่ครั้งละ 20 ฟอง ใช้เวลาฟักราว 7–8 เดือน ลูกมังกรโกโมโดจะฟักเป็นตัวในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นฤดูที่มีแมลงชุกชุมมากที่สุด เนื่องจากเป็นอาหารของมังกรโกโมโดวัยอ่อน ในช่วงที่ยังเป็นวัยอ่อนซึ่งสีของลำตัวยังไม่เหมือนกับตัวเต็มวัย ส่วนมากจะใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้โดยสามารถปีนป่ายต้นไม้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากต้องหลบหนีจากมังกรโกโมโดตัวเต็มวัยที่กินมังกรโกโมโดวัยอ่อนเป็นอาหาร ซึ่งเป็นสัญชาติญาณในการกำจัดคู่แข่ง[20]

นอกจากนี้แล้ว ยังมีกรณีที่มังกรโกโมโดตัวเมีย 2 ตัว ที่สวนสัตว์เชสเตอร์ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ออกไข่แล้วฟักออกมาเป็นตัวโดยที่ไม่ต้องมีการผสมพันธุ์กับตัวผู้ นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า การสืบพันธุ์โดยไม่ใช้เพศนั้น (การเกิดโดยไม่ผสมพันธุ์) เกิดขึ้นกับสัตว์มีกระดูกสันหลังราว 70 ชนิด เช่น งู, ปลาฉลาม, กิ้งก่า หรือแม้แต่ไก่งวงหรือปลากระเบน แต่มักถูกมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก การให้กำเนิดโดยไม่ใช้เพศผู้ของมังกรโกโมโดนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว[21][22]

ในกรณีของมังกรโกโมโดพบว่า ลูกมังกรโกโมโดที่เกิดจากไข่ที่เกิดจากการเกิดโดยไม่ผสมพันธุ์นั้นเป็นตัวผู้ทั้งหมด เนื่องจากมังกรโกโมโดตัวเมียมีโครโมโซมเพศ 2 ชุด ที่แตกต่างกัน คือ W และ Z ขณะที่ตัวผู้มีโครโมโซมที่เหมือนกัน 2 ชุด คือ Z และ Z ถ้าไม่มีตัวผู้จะเหลือโครโมโซม W และ Z ในตัวเมีย ในกรณีนี้ตัวเมียจะแบ่งเซลล์ไข่ของตัวเองออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งมีโครโมโซม W และอีกส่วนเป็นโครโมโซม Z จากนั้นตัวเมียจะทำสำเนาตัวเองเป็นโครโมโซม W และ W กับ Z และ Z สำหรับมังกรโกโมโดโครโมโซม W และ W จะไม่ทำงาน ดังนั้นจึงมีเพียงแต่โครโมโซม Z และ Z เท่านั้น จึงทำให้ไข่ที่เกิดมาเป็นตัวผู้ทั้งหมด[23][24] ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นผลมาจากการวิวัฒนาการในอดีต ที่บรรพบุรุษของมังกรโกโมโดเดินทางยังเกาะโกโมโดจากแผ่นดินใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังมีจำนวนประชากรที่น้อยและขาดแคลน ทำให้ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาเช่นนี้

จากการสำรวจพบว่ามังกรโกโมโดในธรรมชาติ 2 ใน 3 เป็นตัวผู้ นั่นแสดงว่าแม้มังกรโกโมโดจะสามารถสืบพันธุ์โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ได้ แต่ก็มีความยืดหยุ่นที่มีการสืบพันธุ์โดยใช้การผสมพันธุ์ได้ด้วย แต่ทว่าด้วยความสามารถพิเศษในการสืบพันธุ์แบบนี้ ทำให้มังกรโกโมโดตัวเมียมีอายุสั้นกว่าตัวผู้ถึงครึ่งต่อครึ่ง[25]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Hocknull SA, Piper PJ, van den Bergh GD, Due RA, Morwood MJ, Kurniawan I (2009). "Dragon's Paradise Lost: Palaeobiogeography, Evolution and Extinction of the Largest-Ever Terrestrial Lizards (Varanidae)". PLOS ONE. 4 (9): e7241. Bibcode:2009PLoSO...4.7241H. doi:10.1371/journal.pone.0007241. PMC 2748693. PMID 19789642.
  2. Jessop, T.; Ariefiandy, A.; Azmi, M.; Ciofi, C.; Imansyah, J.; Purwandana, D. (2021). "Varanus komodoensis". IUCN Red List of Threatened Species. 2021: e.T22884A123633058. doi:10.2305/IUCN.UK.2021-2.RLTS.T22884A123633058.en. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2021.
  3. "Appendices | CITES". cites.org. สืบค้นเมื่อ 14 มกราคม 2022.
  4. Ouwens, P. A. (1912). "On a large Varanus species from the island of Komodo". Bulletin de l'Institut Botanique de Buitenzorg. 2. 6: 1–3. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2017.
  5. มังกรโคโมโด ตำนานที่มีชีวิต. Dek-D.com. 28 มีนาคม 2006.
  6. Chalmers Mitchell, Peter (15 มิถุนายน 1927). "Reptiles at the Zoo: Opening of new house today". The London Times. London, UK. p. 17.
  7. หนุ่มอินโดสุดซวย! มังกรโกโมโดรุมกัดเสียชีวิตขณะเก็บผลไม้. สำนักข่าวไทย. 24 มีนาคม 2009.
  8. Komodo. ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส.
  9. The Curse of the Komodo. ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส.
  10. Komodo vs King Cobra. ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส.
  11. "มังกรโคโมโด ตำนานที่มีชีวิต (KOMODO THE LIVING LEGEND)". KomKid.com. 31 ธันวาคม 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2013.
  12. 12.0 12.1 Lawwell, L. 2006. Varanus komodoensis Komodo Dragon. Animal Diversity Web.
  13. Ballance, Alison; Morris, Rod (2003). South Sea Islands: A natural history. Hove: Firefly Books Ltd. ISBN 978-1-55297-609-8.
  14. Karen Moreno; Stephen Wroe; และคณะ (มิถุนายน 2008). "Cranial performance in the Komodo dragon (Varanus komodoensis) as revealed by high-resolution 3-D finite element analysis". Journal of Anatomy. 212 (6): 736–746. doi:10.1111/j.1469-7580.2008.00899.x. PMID 18510503.
  15. Scott A. Hocknull; Philip J. Piper; และคณะ (30 กันยายน 2009). "Dragon's Paradise Lost: Palaeobiogeography, Evolution and Extinction of the Largest-Ever Terrestrial Lizards (Varanidae)". Plos One. doi:10.1371/journal.pone.0007241.
  16. "มังกรโคโมโด" (PDF). Mahidol Wittayanusorn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 6 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2013.
  17. Megan Borgen (2007). "How has the komodo dragon adapted to obtain its food?". University of Wisconsin-La Crosse.
  18. "Komodo Dragon, Varanus komodoensis". AZ Animals. 11 พฤษภาคม 2022.
  19. "มังกรโคโมโด (Komodo Dragon) สัตว์ร่างยักษ์ที่มีปากร้ายกาจ". Bicycle2011.com. 2011-05-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-18. สืบค้นเมื่อ 2013-10-10.
  20. David Badger; photography by John Netherton (2002). Lizards: A Natural History of Some Uncommon Creatures, Extraordinary Chameleons, Iguanas, Geckos, and More. Stillwater, MN: Voyageur Press. pp. 32, 52, 78, 81, 84, 140–145, 151. ISBN 978-0-89658-520-1.
  21. "พบฉลามมีลูกโดยไม่ผสมพันธุ์". foosci.com. 11 ตุลาคม 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2010. สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2010.
  22. การค้นพบพืชและสัตว์ทั่วโลก ตอนที่ 31 : เวอร์จินเบิร์ธ !! มังกรโคโมโดสาวฟักไข่ไม่ใช้ตัวผู้. Dek-D.com. 30 มีนาคม 2008.
  23. "Virgin births for giant lizards". BBC News. 20 ธันวาคม 2006. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2008.
  24. "Strange but True: Komodo Dragons Show that "Virgin Births" Are Possible: Scientific American". Scientific American. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2008.
  25. จุดประกาย 7 WILD, เล่ห์ร้ายยัยตัวแสบ. กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 29 ฉบับที่ 10479. วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560. ISSN 1685-537X.

อ่านเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]