ฟุตบอลหญิงทีมชาติญี่ปุ่น
ฉายา | なでしこジャパン (นาเดชิโกะเจแปน) | ||
---|---|---|---|
สมาคม | สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น | ||
สมาพันธ์ย่อย | อีเอเอฟเอฟ (เอเชียตะวันออก) | ||
สมาพันธ์ | เอเอฟซี (ทวีปเอเชีย) | ||
หัวหน้าผู้ฝึกสอน | ฟูโตชิ อิเกดะ[1] | ||
กัปตัน | ซากิ คูมาไง | ||
ติดทีมชาติสูงสุด | โฮมาเระ ซาวะ (205 ครั้ง) | ||
ทำประตูสูงสุด | โฮมาเระ ซาวะ (83 ประตู) | ||
รหัสฟีฟ่า | JPN | ||
| |||
อันดับฟีฟ่า | |||
อันดับปัจจุบัน | 8 3 (25 สิงหาคม 2023)[2] | ||
อันดับสูงสุด | 3 (23 ธันวาคม ค.ศ. 2011) | ||
อันดับต่ำสุด | 14 (กรกฎาคม ค.ศ. 2003) | ||
เกมระดับนานาชาติครั้งแรก | |||
จีนไทเป 1–0 ญี่ปุ่น (ฮ่องกง; 7 มิถุนายน ค.ศ. 1981) | |||
ชนะสูงสุด | |||
ญี่ปุ่น 21–0 กวม (เมืองกว่างโจว ประเทศจีน; 5 ธันวาคม ค.ศ. 1997) | |||
แพ้สูงสุด | |||
อิตาลี 9–0 ญี่ปุ่น (โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น; 9 กันยายน ค.ศ. 1981)[3] สหรัฐ 9–0 ญี่ปุ่น (ชาร์ลอตต์ สหรัฐ; 29 เมษายน ค.ศ. 1999)[3] | |||
ฟุตบอลโลก | |||
เข้าร่วม | 7 สมัย (ครั้งแรกใน 1991) | ||
ผลงานดีที่สุด | ผู้ชนะ ค.ศ. 2011 | ||
เอเชียนคัพ | |||
เข้าร่วม | 15 สมัย (ครั้งแรกใน 1981) | ||
ผลงานดีที่สุด | ผู้ชนะ ค.ศ. 2014 ผู้ชนะ ค.ศ. 2018 | ||
ฟุตบอลหญิงทีมชาติญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: サッカー日本女子代表; โรมาจิ: Sakkā Nippon Joshi Daihyō) หรือที่รู้จักในฉายา นาเดชิโกะเจแปน (ญี่ปุ่น: なでしこジャパン)[4] เป็นตัวแทนทีมฟุตบอลหญิงของประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การดำเนินงานโดยสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (เจเอฟเอ)[5] มีอันดับโลกที่ดีที่สุดคืออันดับ 3 ซึ่งทำได้ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2011[6]
ทีมชาติญี่ปุ่นถือเป็นทีมฟุตบอลหญิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในทวีปเอเชีย พวกเธอเอาชนะสหรัฐอเมริกาในการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง 2011 รอบชิงชนะเลิศ ส่งผลให้เป็นทีมแรกของเอเชียที่ชนะการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง และถือเป็นทีมที่ 4 ของโลกที่คว้าแชมป์ได้ และยังประสบความสำเร็จในอีกหลายรายการต่อมา โดยคว้าเหรียญเงินจากการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 และได้รองแชมป์ฟุตบอลโลกหญิง 2015[7] และยังชนะการแข่งขันเอเชียนคัพ 2 สมัยใน ค.ศ. 2014 และ 2018, กีฬาเอเชียนเกมส์สองสมัยใน ค.ศ. 2010 และ 2018 และฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติเอเชียตะวันออก 3 สมัยใน ค.ศ. 2008, 2010 และ 2019
ประวัติ
[แก้]ยุค 70 และยุค 80
[แก้]ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ได้มีจำนวนนักฟุตบอลหญิงและทีมฟุตบอลหญิงเพิ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และมีการจัดการแข่งขันลีกระดับภูมิภาคขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของประเทศญี่ปุ่น จากนั้นในปี ค.ศ. 1980 ได้มีการจัดการแข่งขัน "ออลเจแปนวีเมนส์ฟุตบอลแชมเปียนชิพ" และในปี ค.ศ. 1981 ฟุตบอลหญิงทีมชาติญี่ปุ่นได้เข้าแข่งขันในระดับนานาชาติครั้งแรกที่ฮ่องกง ทีมนี้ยังคงเข้าแข่งขันอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ แต่ก็ไม่ใช่ทีมชาติ "ออลเจแปน" หากแต่เป็นการจัดทีมชั่วคราวที่ได้คัดเลือกจากลีกระดับภูมิภาค[8]
ในปี ค.ศ. 1986 เรียวเฮ ซุสุกิ ได้รับเลือกให้เป็นผู้ฝึกสอนฟุตบอลหญิงทีมชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นทีม "ออลเจแปน" ชุดแรก ส่วนในปี ค.ศ. 1989 ได้มีการก่อตั้ง "ฟุตบอลลีกหญิงแห่งประเทศญี่ปุ่น" (หรือที่เรียกในชื่อย่อว่า "แอลลีก") และฟุตบอลหญิงทีมชาติญี่ปุ่นยังได้รับการคัดเลือกสู่การแข่งขัน "ฟุตบอลโลกหญิง 1991" ที่จัดขึ้น ณ ประเทศจีน
ตกต่ำ
[แก้]ทีมฟุตบอลหญิงของญี่ปุ่นยังมีส่วนร่วมในการแข่งขันระดับโลกอย่างต่อเนื่องทั้งในโอลิมปิกฤดูร้อน 1996 และ ฟุตบอลโลกหญิง 1995 ส่งผลให้ชื่อเสียงของทีมชาติและการแข่งขันแอลลีกในประเทศเป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พวกเธอไม่ผ่านรอบคัดเลือกในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2000 และจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่เรียกว่า "ทศวรรษที่สาบสูญ (Lost Decades)" ส่งผลให้หลายสโมสรได้รับผลกระทบถึงขั้นมีการถอนตัวจากแอลลีก และเรียกได้ว่าเป็นยุคตกต่ำของทีมชาติญี่ปุ่น
ฟื้นตัว
[แก้]ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2002 เอจิ อุเอดะ อดีตผู้จัดการทีมชาติมาเก๊าได้รับการแต่งตั้งให้มาคุมทีม โดยได้รับความคาดหวังว่าจะเข้ามาฟื้นฟูทีมฟุตบอลหญิงของญี่ปุ่นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2004 ในช่วงแรกทีมยังมีผลงานที่ไม่ดีนัก แต่อุเอดะก็ปรับปรุงทีมจนค่อย ๆ พัฒนาขึ้นและเริ่มได้รับความสนใจจากแฟน ๆ ในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการแข่งขันในนัดตัดสินที่พบกับเกาหลีเหนือเพื่อหาทีมที่ผ่านเข้าสู่โอลิมปิกมีแฟน ๆ เข้าไปให้กำลังใจที่สนามรวมถึงรับชมการถ่ายทอดสดอย่างล้นหลาม
สืบเนื่องจากกระแสความนิยมในทีมฟุตบอลหญิงที่มากขึ้น สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นจึงจัดการประกวดการตั้งชื่อเล่นให้กับทีม และในที่สุดชื่อ "นะเดะชิโกะเจแปน" ก็ได้รับเสียงโหวตให้เป็นชื่อที่ได้รับคัดเลือกจากชื่ออื่น ๆ อีกกว่า 2,700 ชื่อและได้รับการประกาศให้เป็นชื่อเล่นของทีมอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 2004 โดยชื่อนะเดะชิโกะมาจากชื่อของดอกไม้ "Dianthus" และมาจากวลี "ยะมะโตะ นะเดะชิโกะ (Yamato nadeshiko)" ในภาษาญี่ปุ่นซึ่งหมายถึง "ตัวตนของผู้หญิงญี่ปุ่นในอุดมคติ" หรือ "ตัวอย่างของความงามที่บริสุทธิ์และความเป็นหญิง"
ฟุตบอลโลก 2003 และ 2007
[แก้]ในการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง 2003 ญี่ปุ่นอยู่ร่วมกลุ่มกับเยอรมนี, แคนาดา และทีมหน้าใหม่อย่างอาร์เจนตินา ญี่ปุ่นเริ่มต้นด้วยการเอาชนะอาร์เจนตินา 6–0 แต่พวกเธอแพ้ทีมแชมป์ในครั้งนั้นอย่างเยอรมนี 0–3 และแพ้แคนาดาซึ่งจบในอันดับ 4 ของการแข่งขันไป 1–3 ตกรอบแรก
ต่อมาในฟุตบอลโลกหญิง 2007 ญี่ปุ่นอยู่ร่วมกลุ่มกับเยอรมนี, อาร์เจนตินา และอังกฤษ ญี่ปุ่นสามารถเสมอกับอังกฤษได้ 2–2 และเอาชนะอาร์เจนตินา 1–0 แต่แพ้เยอรมนีในนัดสุดท้าย 0–2 ตกรอบแรก และไม่มีใครคาดคิดว่าความล้มเหลวในฟุตบอลโลกสองสมัยติดต่อกันจะนำไปสู่ความสำเร็จใน ค.ศ. 2011
ยุคทอง
[แก้]ฟุตบอลโลก 2011
[แก้]ญี่ปุ่นได้สิทธิ์ร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง 2011 ในฐานะทีมอันดับสามจากการแข่งขันเอเชียนคัพหญิงใน ค.ศ. 2010 และหลังจากจบอันดับสองในรอบแบ่งกลุ่มฟุตบอลโลก ญี่ปุ่นเอาชนะเยอรมนีได้ 1–0 ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ตามด้วยการชนะสวีเดน 3–1 ผ่านเข้าชิงชนะเลิศไปพบสหรัฐ และสามารถเอาชนะได้ในการดวลจุดโทษหลังจากเสมอกันในช่วงต่อเวลาพิเศษ 2–2 สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์โลกครั้งแรก โดยเป็นทีมฟุตบอลหญิงทีมแรกของเอเชียที่ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลโลก[9] และความสำเร็จนี้เกิดขึ้นหลังจากการชนะเลิศการแข่งขันเอเชียนคัพ 2011 ของทีมฟุตบอลชายญี่ปุ่น ถือเป็นปีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของวงการฟุตบอลญี่ปุ่น
โอลิมปิกฤดูร้อน 2012
[แก้]ญี่ปุ่นร่วมแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ในฐานะทีมอันดับหนึ่งจากการแข่งขันรอบคัดเลือกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2011 เพียง 6 สัปดาห์หลังจากคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก ญี่ปุ่นจบในอันดับสองของกลุ่มตามหลังสวีเดน และเอาชนะบราซิล 2–0 ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ตามด้วยการชนะฝรั่งเศส 2–1 ในรอบรองชนะเลิศ ซึ่งฝรั่งเศสเป็นทีมที่เอาชนะญี่ปุ่นได้ในเกมกระชับมิตรก่อนการแข่งขันโอลิมปิก
ในรอบชิงชนะเลิศเป็นการพบกันอีกครั้งของคู่ชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2011 แต่ในครั้งนี้ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สหรัฐ 1–2 ทำได้เพียงคว้าเหรียญเงินไปครอง โดยสหรัฐได้สองประตูจาก คาร์ลี ลอยด์ ในขณะที่ ยูกิ นางาซาโตะ ทำประตูให้ญี่ปุ่น
เอเชียนคัพ 2014
[แก้]แม้จะชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลโลก 2011 แต่ทีมฟุตบอลหญิงของญี่ปุ่นเข้าร่วมการแข่งขัน ฟุตบอลหญิงเอเชียนคัพ 2014 โดยไม่เคยชนะเลิศรายการนี้มาก่อน พวกเธออยู่ร่วมกลุ่มเดียวกับทีมแชมป์เก่าอย่างออสเตรเลีย, เจ้าภาพอย่างเวียดนาม และทีมหน้าใหม่อย่างจอร์แดน ญี่ปุ่นประเดิมด้วยการเสมอออสเตรเลีย 2–2[10] และเอาชนะเวียดนาม (4–0) และจอร์แดน (7–0) ไปอย่างง่ายดายในสองนัดต่อมา จบรอบแบ่งกลุ่มในฐานะทีมอันดับหนึ่งด้วยผลประตูได้เสียที่ดีกว่าออสเตรเลีย
ในรอบรองชนะเลิศญี่ปุ่นต้องเล่นกับจีนถึงช่วงต่อเวลาก่อนจะเอาชนะไปได้ 2–1 และพบออสเตรเลียในรอบชิงชนะเลิศ ก่อนจะเอาชนะได้ 1–0 จากประตูของ อาซึสะ อิวะชิมิซุ คว้าแชมป์เป็นสมัยแรก และความสำเร็จในรายการนี้ทำให้พวกเธอได้รับการยกย่องเป็น "ทีมราชินีแห่งทวีปเอเชีย" และถือเป็นทีมฟุตบอลหญิงทีมแรกของเอเชียที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกและเอเชียนคัพได้ทั้งสองรายการ และจากผลงานอันโดดเด่นในรายการนี้ร่วมกับออสเตรเลีย, จีน, เกาหลีใต้ และทีมหน้าใหม่อย่างทีมชาติไทย ส่งผลให้ทุกทีมได้สิทธิ์แข่งขันฟุตบอลโลกหญิง 2015 ที่ประเทศแคนาดาในปีต่อไป[11]
ฟุตบอลโลก 2015
[แก้]ทีมฟุตบอลหญิงของญี่ปุ่นในฐานะทีมอันดับ 4 ของโลกในขณะนั้น[12] ถูกจับสลากอยู่ในกลุ่มซีร่วมกับเอกวาดอร์ซึ่งลงแข่งขันครั้งแรก, สวิตเซอร์แลนด์ และแคเมอรูน ญี่ปุ่นเอาชนะได้ทั้งสามนัด ไปพบกับเนเธอร์แลนด์ซึ่งลงแข่งขันครั้งแรกในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ญี่ปุ่นเอาชนะได้ 2–1 ตามด้วยการชนะออสเตรเลียซึ่งพบกันในรอบชิงชนะเลิศเอเชียนคัพครั้งที่แล้ว 1–0 จากประตูของ มานะ อิวะบุจิ
ญี่ปุ่นพบอังกฤษในรอบรองชนะเลิศ ทั้งสองทีมเล่นกันอย่างสนุก ญี่ปุ่นนั้นออกนำไปก่อนจากจุดโทษของ อายะ มิยะมะ แต่อังกฤษก็ได้จุดโทษตีเสมอจาก ฟารา วิลเลียมส์ และเกมดำเนินไปอย่างสูสีก่อนที่ญี่ปุ่นจะมาได้ประตูชัยในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ จากการทำเข้าประตูตัวเองของผู้เล่นอังกฤษ ลอรา บาสเซ็ตต์ ผ่านเข้าชิงชนะเลิศไปพบคู่ปรับเก่าอย่างสหรัฐในรอบชิงชนะเลิศ
โชคไม่ดีที่ในครั้งนี้ญี่ปุ่นไม่สามารถต่อกรกับสหรัฐได้ โดยญี่ปุ่นเสียถึงสี่ประตูในระยะเวลาเพียง 16 นาทีแรก โดย คาร์ลี ลอยด์ ผู้เล่นคนสำคัญของสหรัฐทำแฮตทริกด้วยการยิง 3 ประตู และแม้ญี่ปุ่นจะตามเอาคืนได้สองประตูในช่วงครึ่งหลัง พวกเธอก็เสียอีกหนึ่งประตู เกมจบลงโดยความพ่ายแพ้ด้วยผลประตู 2–5 ของญี่ปุ่น ได้เพียงรองแชมป์[13]
เอเชียนคัพ 2018
[แก้]ญี่ปุ่นยังคงประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยป้องกันแชมป์เอเชียนคัพได้อีกครั้งในการแข่งขัน ฟุตบอลหญิงเอเชียนคัพ 2018 แม้พวกเธอเกือบจะไม่ผ่านรอบแบ่งกลุ่มด้วยการมี 5 คะแนนเท่ากับออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ และมีเฮดทูเฮดที่เท่ากับเกาหลีใต้ แต่ญี่ปุ่นผ่านเข้ารอบด้วยจำนวนประตูที่ยิงได้มากกว่า พวกเธอเอาชนะจีนในรอบรองชนะเลิศ 3–1 เข้าไปพบกับออสเตรเลียอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศเช่นเดียวกับในการแข่งขัน 4 ปีที่แล้ว และญี่ปุ่นก็เอาชนะได้อีกครั้งด้วยผลประตู 1–0 คว้าแชมป์เอเชียนคัพสมัยที่สอง[14]
ปัจจุบัน
[แก้]ญี่ปุ่นไม่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลโลกหญิง 2019 ที่ประเทศฝรั่งเศส พวกเธออยู่ในกลุ่มดีร่วมกับอังกฤษ, อาร์เจนตินา และสกอตแลนด์ ผ่านเข้ารอบในฐานะทีมอันดับสองของกลุ่มด้วย 4 คะแนน แต่ก็ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายโดยแพ้เนเธอร์แลนด์ 1–2 ต่อมา ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ทีมฟุตบอลหญิงของญี่ปุ่นผ่านรอบแบ่งกลุ่มในฐานะทีมอันดับสามตามหลังสหราชอาณาจักรและแคนาดา แต่ก็ยุติเส้นทางไว้ที่รอบก่อนรองชนะเลิศโดยแพ้สวีเดน 1–3
ผู้ฝึกสอนปัจจุบัน
[แก้]- ณ วันที่ 8 มกราคม 2022[15]
ตำแหน่ง | รายชื่อ |
---|---|
ผู้ฝึกสอน | ฟุโตะชิ อิเกดะ |
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน | โทโมมิ มิยาโมโตะ |
ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน | มิชิอิสะ คาโนะ |
ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู | โทชิฮิโระ นิชิริ |
ผู้ฝึกสอนด้านสมรรถภาพ | เคซูเกะ โอสึกะ |
อันดับโลก
[แก้]- ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2021
อันดับที่ดีทีสุด การเปลี่ยนแปลงอันดับที่ดีที่สุด อันดับที่แย่ที่สุด การเปลี่ยนแปลงอันดับที่แย่ที่สุด
อันดับโลกของทีมชาติญี่ปุ่น | |||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อันดับ | ปี | จำนวนนัด | ชนะ | แพ้ | เสมอ | ดีที่สุด | แย่ที่สุด | ||||
อันดับ | การเปลี่ยนแปลง | อันดับ | การเปลี่ยนแปลง | ||||||||
13 (10 ธันวาคม 2021)[16] | 2022 | 0 | 0 | 0 | 0 | 13 | 13 | ||||
13 | 2021 | 11 | 6 | 3 | 2 | 10 | 1 | 13 (10 ธันวาคม) |
3 |
ดูเพิ่ม
[แก้]- ฟุตบอลในประเทศญี่ปุ่น
- ฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น
- ฟุตซอลทีมชาติญี่ปุ่น
- ฟุตบอลโลกหญิง
- เอเชียนคัพหญิง
- โอลิมปิกฤดูร้อน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Mr. IKEDA Futoshi appointed as coach of Nadeshiko Japan (Japan Women's National Team)". Japan Football Association (JFA). Tokyo. 1 October 2021. สืบค้นเมื่อ 1 October 2021.
- ↑ "The FIFA/Coca-Cola Women's World Ranking". FIFA. 25 สิงหาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2023.
- ↑ 3.0 3.1 "Japan Football Association" (PDF).
- ↑ "なでしこジャパン". JFA|公益財団法人日本サッカー協会 (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2022-01-17.
- ↑ "JFA.jp - The official website of the Japan Football Association (JFA)". JFA|公益財団法人日本サッカー協会 (ภาษาญี่ปุ่น).
- ↑ "Japan: FIFA/Coca-Cola World Ranking". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 August 2007. สืบค้นเมื่อ 23 June 2017.
- ↑ News, A. B. C. "2015 FIFA Women's World Cup: Complete Tournament Results". ABC News (ภาษาอังกฤษ).
{{cite web}}
:|last=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ Hongo, Jun, "Nadeshiko Japan eyes London Olympic gold เก็บถาวร 2012-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", Japan Times, 24 January 2012, p. 3.
- ↑ https://www.bbc.co.uk/sport/football/14168601
- ↑ Author, No (2014-05-26). "Nadeshiko Japan beats Australia to win Women's Asian Cup". The Japan Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-19. สืบค้นเมื่อ 2022-01-19.
{{cite web}}
:|last=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ "Japan lift 2014 AFC Women's Asian Cup | Goal.com". www.goal.com.
- ↑ Gibney, Andrew. "Women's World Cup 2015: Japan Team Guide". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Lutz, Tom (2015-07-06). "Women's World Cup 2015 final: USA beat Japan 5-2 – as it happened". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2022-01-19.
- ↑ "Japan 1-0 Australia (AFC Women's Asian Cup 2018: Final)". the-AFC (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Nadeshiko Japan (Japan Women's National Team) squad - AFC Women's Asian Cup India 2022 (1/20-2/6)". Japan Football Association (JFA). Tokyo. 7 January 2022. สืบค้นเมื่อ 8 January 2022.
- ↑ "Women's Ranking". www.fifa.com (ภาษาอังกฤษ).[ลิงก์เสีย]
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Official website at JFA.jp (ในภาษาอังกฤษ)
- Japan profile at FIFA.com
- Japan at FIFA.com