ฟุตบอลในประเทศญี่ปุ่น
ฟุตบอลในประเทศญี่ปุ่น เป็นกีฬาที่นิยมอันดับสองรองลงมาจากเบสบอล ควบคุมและดูแลโดยสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น มีการจัดการแข่งขันที่สำคัญหลายอย่างได้แก่ เจลีก เจเอฟแอล และถ้วยจักรพรรดิ นอกจากนี้แล้วฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นยังเป็นทีมชาติทีมหนึ่งที่ประสบความสำเร็จสูงในระดับเอเชีย
ชื่อเรียก
[แก้]คำว่า "ฟุตบอล" ในภาษาญี่ปุ่นนั้นมีเรียกกันหลายชื่อ โดยชื่อที่นิยมมากที่สุดคือ "ซักกา" (ญี่ปุ่น: サッカー; โรมาจิ: sakkā) ซึ่งเป็นคำยืมมาจากคำว่า "ซอกเกอร์" ในภาษาอังกฤษ ตามที่สหรัฐพยายามให้ยกเลิกความชาตินิยมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แทนที่คำเดิมว่า "ชูคีว" (ญี่ปุ่น: 蹴球; โรมาจิ: shūkyū; ทับศัพท์: แปลว่า บอลเตะ) นอกจากนี้คำว่า "ฟุตโตะโบรุ" (ญี่ปุ่น: フットボール; โรมาจิ: futtobōru) ยังมีให้เห็นถึงการใช้งานบ้าง
ประวัติ
[แก้]ฟุตบอลเริ่มมีการเล่นในญี่ปุ่นในยุคเมจิเช่นเดียวกับกีฬาประเภทอื่นที่มีการแนะนำโดยชาวต่างชาติ มีการเล่นทั่วไปในมหาวิทยาลัยและโรงเรียน ในปี พ.ศ. 2464 สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นได้ก่อตั้งขึ้นและต่อมาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกฟีฟ่าในปี พ.ศ. 2472 และเอเอฟซีในปี พ.ศ. 2497
ในปี พ.ศ. 2536 เจลีก ลีกฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่นได้ก่อตั้งขึ้นแทนที่ลีกฟุตบอลสมัครเล่นเดิมคือ เจแปนซอกเกอร์ลีก ซึ่งทำให้เริ่มมีกระแสการนิยมฟุตบอลมากขึ้นในญี่ปุ่น
ในปี พ.ศ. 2541 ญี่ปุ่นได้ร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกใน ฟุตบอลโลก 1998 ที่ถูกจัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส และต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2002 ร่วมกับประเทศเกาหลีใต้
การแข่งขัน
[แก้]การแข่งขันฟุตบอลที่สำคัญในญี่ปุ่นได้แก่
- เจลีก ลีกฟุตบอลอาชีพแบ่งเป็นสามดิวิชันได้แก่ เจลีก ดิวิชัน 1, เจลีก ดิวิชัน 2 และ เจลีก ดิวิชัน 3
- เจแปนฟุตบอลลีก ลีกฟุตบอลสมัครเล่นระดับประเทศ
- ถ้วยจักรพรรดิ ฟุตบอลชิงถ้วยสูงสุดของประเทศญี่ปุ่นประจำปี เริ่มครั้งแรก พ.ศ. 2464 การแข่งขันรอบสุดท้ายจะถูกจัดขึ้นทุกวันปีใหม่เฉลิมฉลองกษัตริย์ญี่ปุ่น
นอกจากนี้ทีมที่ชนะเลิศและรองชนะเลิศในเจลีกดิวิชัน 1 จะได้รับสิทธิไปแข่งขันใน เอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก นอกจากนี้ทีมที่ชนะเลิศของดิวิชัน 1 ยังได้รับสิทธิแข่งขันใน เอ3แชมเปียนส์คัพ ที่เป็นการแข่งขันระหว่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนอีกด้วย
การแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญที่จัดในญี่ปุ่น
[แก้]- เอเชียนเกมส์ 1958 (โตเกียว)
- โอลิมปิกฤดูร้อน 1964
- ฟุตบอลโลกเยาวชน 1979
- เอเชียนคัพ 1992
- ฟุตบอลโลกเยาวชน 1993
- เอเชียนส์เกมส์ 1994 (ฮิโระชิมะ)
- คอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2001
- ฟุตบอลโลก 2002
- โอลิมปิกฤดูร้อน 2020
สัญญาผู้เล่นในเจลีก
[แก้]ฟุตบอลญี่ปุ่นในระบบเจลีกจะมีระบบการเซ็นสัญญากับผู้เล่น 3 ชนิด [1] ได้แก่
- โปรเอ (Pro A)
- สัญญาหลักสำหรับผู้เล่นอาชีพ โดยผู้เล่นจะต้องได้ค่าเล่นต่อปีอย่างน้อย 4.8 ล้านเยน โดยในแต่ละสโมสรจะมีผู้เล่นที่มีสัญญาโปรเอได้ไม่เกิน 25 คนต่อสโมสร และขณะเดียวกันสโมสรในลีกเจ1 ต้องมีผู้เล่นในระดับโปรเออย่างน้อย 15 คน และสโมสรในลีกเจ2 ต้องมีอย่างน้อย 5 คน
- โปรบี (Pro B)
- สัญญาสำหรับผู้เล่นระดับรองลงมา โดยผู้เล่นจะได้ค่าตัวไม่เกิน 4.8 ล้านเยนต่อปี ในแต่ละสโมสรสามารถมีผู้เล่นในระดับโปรบีได้ไม่จำกัด
- โปรซี (Pro C)
- สัญญาชั่วคราวสำหรับในช่วงร่างสัญญา โดยผู้เล่นจะได้ค่าตัวไม่เกิน 4.8 ล้านเยนต่อปี โดยผู้เล่นจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นสัญญาโปรเอหรือโปรบีในช่วงเวลา 450 นาทีสำหรับสโมสรในเจ1 และ 900 นาทีสำหรับสโมสรในเจ2
ฟุตบอลในวัฒนธรรมสมัยนิยม
[แก้]ในวัฒนธรรมสมัยนิยมได้มีการกล่าวถึงฟุตบอลหลายด้าน โดยเริ่มจากการ์ตูนเรื่องกัปตันสึบาสะ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 โดยการ์ตูนนี้มีอิทธิพลต่อการ์ตูนเรื่องอื่นตามมา โดยนอกจากนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับ ฮิเดะโตะชิ นะกะตะ [2] และ โยะชิคัตสึ คาวางุจิ ในการเริ่มเล่นฟุตบอล
นอกจากนี้ยังมีการ์ตูนอื่นที่กล่าวถึงฟุตบอลในญี่ปุ่นได้แก่ อิตโต้ นักเตะเลือดกังฟู ชู๊ต!! เจ-ดรีม ยิงประตูสู่ฝัน ไอ้หนูแข้งทอง มหัศจรรย์สิงห์นักเตะ ราชันย์ลูกหนัง ฮามิสตีนระเบิด
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ สัญญานักเตะในเจลีก เก็บถาวร 2006-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ญี่ปุ่น)
- ↑ ‘I don’t understand why people are football fans. I don’t like to watch any kind of sport’ เก็บถาวร 2007-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แรงบันดาลใจของฮิเดะ
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น)