พระยานมาศสามลำคาน
พระยานมาศสามลำคาน | |
---|---|
พระยานมาศสามลำคาน (2 องค์กลาง) พระที่นั่งราเชนทรยาน (2 องค์ซ้าย) และพระเวชยันตราชรถ (ขวา) | |
ภาพรวม | |
เริ่มผลิตเมื่อ | ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (จำนวน 2 องค์) |
ผู้ออกแบบ | ช่างสิบหมู่ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร |
ตัวถังและช่วงล่าง | |
ประเภท | ราชยาน[1] |
แพลตฟอร์ม | คานหาม |
มิติ | |
ความยาว |
|
ความสูง |
|
น้ำหนัก |
|
พระยานมาศสามลำคาน เป็นคานหามขนาดใหญ่ กลางตั้งแท่นทำด้วยไม้สลักปิดทองประดับกระจกสี มีพนักโดยรอบ 3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน จึงเรียกว่า พระยานมาศสามลำคาน ลักษณะเป็นแท่นซ้อนลด 4 ชั้น ย่อมุมไม้สิบสอง ชั้นบนสุดทำเป็นแผงราชวัตรจำหลักลายประดับกระจกกั้น เว้นช่องที่ส่วนหน้าและส่วนหลัง และมีมุขยื่นออกมา ฐานชั้นที่ 3 ประดับรูปครุฑแกะสลักโดยรอบ 38 ตัว ชั้นที่ 4 ประดับเทพนม 26 องค์ ตัวแท่นยานมาศตั้งยึดติดกับลำคานทั้ง 3 บนยานมีแผ่นไม้ขนาดใหญ่รูปแปดเหลี่ยมพร้อมขอเกี่ยว 4 ตัว ติดไว้ พื้นไม้ด้านบนทาสีแดง รอบข้างสลักลายปิดทอง เป็นที่สำหรับตั้งพระโกศให้มั่นคง คานทั้ง 3 เป็นไม้กลึงกลมทาสีแดง สร้างจากไม้เนื้อแข็งจำนวนสามลำ ปลายสลักเป็นหัวเม็ดปิดทองประดับกระจกสี ใช้พนักงานหาม 60 คน เวลาหามจริงใช้คน 2 ผลัด พระยานมาศสามลำคานองค์แรกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมโกศทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นครั้งแรก
การใช้งาน
[แก้]เพื่ออัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ โดยกระบวนพยุหยาตราสี่สายจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถที่จอดเทียบรออยู่ใกล้พลับพลายกตรงสี่แยกบริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อพระมหาพิชัยราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพไปถึงพระเมรุมาศแล้ว ก็จะใช้พระยานมาศสามลำคานนี้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพจากพระมหาพิชัยราชรถเวียนรอบพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง อีกครั้งหนึ่ง ยกเว้นถ้าเป็นพระบรมศพหรือพระศพของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงรับราชการทหารเมื่อยังทรงพระชนม์ จะใช้ราชรถปืนใหญ่เวียนรอบแทน
งานพระบรมศพ
[แก้]- งานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2454
- งานพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ. 2463
- งานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2469
- งานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พ.ศ. 2493
- งานพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พ.ศ. 2499
- งานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2528
- งานพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พ.ศ. 2539
- พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ. 2551
- พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พ.ศ. 2555
- พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560
สถานที่เก็บพระยานมาศสามลำคาน
[แก้]พระยานมาศสามลำคานเก็บรักษา ณ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร ซึ่งมีการบูรณะซ่อมแซมเมื่อจำเป็นต้องใช้เท่านั้น
ระเบียงภาพ
[แก้]-
พลแบกหามเชิญพระยานมาศสามลำคานจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ใช้เส้นทางถนนมหาราช เลียบกำแพงพระบรมมหาราชวังฝั่งตะวันตก เพื่อนำกลับไปยังโรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
-
พระยานมาศสามลำคาน ขณะเชิญพระโกศประกอบพระบรมราชอิสริยยศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในริ้วกระบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วกระบวนที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ‘ราชรถ ราชยาน’ เครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ร.9, เว็บไซด์:www.matichon.co.th .วันที่ 24 ตุลาคม 2560
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ‘ราชรถ ราชยาน’ เครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ร.9, เว็บไซด์:https://www.matichon.co.th/ .วันที่ 24 ตุลาคม 2560
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- พระยานมาศสามลำคาน (๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑)[ลิงก์เสีย], ราชบัณฑิตยสถาน