จำปูน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จำปูน
จำปูน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Magnoliales
วงศ์: Annonaceae
สกุล: Anaxagorea
สปีชีส์: A.  javanica
ชื่อทวินาม
Anaxagorea javanica
Blume

จำปูน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Anaxagorea javanica) เป็นพรรณไม้ดอกชนิดหนึ่ง มีกลิ่นหอมหวาน ดอกมีขนาดเล็ก กลีบหนา อูม ดอกมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Anaxagorea javanica Blume

ลักษณะทั่วไป[แก้]

เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ต้นใบและกิ่งคล้าย ๆ กระดังงา ลำต้นสูงประมาณ 2-4 เมตร ทรงพุ่มค่อนข้างโปร่ง กิ่งก้านเกลี้ยง ลำต้นตรง เปลือกเรียบมีสีเทาคล้ำ ใบสีเขียวเป็นมัน พื้นใบเกลี้ยง ยาวประมาณ 4-6 นิ้ว ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามยอดหรือโคนก้านใบ ลักษณะดอกจะแข็ง มีสีขาวนวลเป็นมัน มี 3 กลีบ โคนกลีบสีเขียว เมื่อบานเต็มที่ประมาณ 1 นิ้ว มีกลิ่นหอมแรงในช่วงกลางคืนและหอมอ่อนในช่วงเช้า ดอกบานวันเดียวแล้วร่วง ออกดอกตลอดปี แต่จะมีดอกดกในช่วงฤดูฝน ผลเป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย 4-10 ผล เมื่อผลแก่แล้วเมล็ดจะแตกตัวกระเด็นไปได้ไกล

การขยายพันธุ์[แก้]

โดยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่เพาะเมล็ดจะได้ผลดีกว่า เมล็ดที่ได้จากต้นควรรีบเพาะทันทีเนื่องจากเมล็ดจะสูญเสียสภาพการงอกเร็วมาก การเพาะเมล็ดใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

สภาพที่เหมาะสม[แก้]

เป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตช้าในช่วงแรก ต้นกล้าอายุหนึ่งปีจะมีความสูงเพียง 10 เซนติเมตร แต่จะเจริญเติบโตเร็วขึ้นได้ในปีถัดไป สภาพธรรมชาติต้องการแสงแดดรำไร ขึ้นได้ในดินทุกชนิด หากปลูกเลี้ยงควรปลูกในดินร่วนมีการระบายน้ำดี ชอบน้ำ จะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง หรือฝนตกชุก หากต้องการปลูกให้ออกดอกจะต้องจัดสภาพแวดล้อมให้มีความเหมาะสม และควรระวังอย่าให้โดนแดดจัดเกินไป จำปูนเป็นไม้ดอกที่ได้รับความนิยมมานาน แต่มีน้อยคนที่จะปลูกเลี้ยงได้เจริญเติบโตและออกดอกดกได้ในที่ราบภาคกลาง หรือสภาพแวดล้อมอื่นที่ต่างไปจากถิ่นกำเนิดเดิม

ถิ่นกำเนิด[แก้]

ภาคใต้ของประเทศไทย บริเวณคาบสมุทรมลายู และยังพบในภาคตะวันออกเฉียงใต้แถบจังหวัดจันทบุรี จำปูนเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพังงา

อ้างอิง[แก้]

  • ปิยะ เฉลิมกลิ่น, ไม้ดอกหอม เล่ม 1, กรุงเทพมหานคร : บ้านและสวน, 2540.
  • ปิยะ เฉลิมกลิ่น, 100 ชนิดพรรณไม้วงศ์กระดังงาแสนสวย, ปทุมธานี : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, 2554.