ข้ามไปเนื้อหา

จังหวัดพระตะบอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จังหวัดพระตะบอง

ខេត្តបាត់ដំបង
สมญา: 
ชามข้าวแห่งกัมพูชา
แผนที่แสดงที่ตั้งของจังหวัดพระตะบอง
แผนที่แสดงที่ตั้งของจังหวัดพระตะบอง
ประเทศธงของประเทศกัมพูชา กัมพูชา
ตั้งถิ่นฐานก่อนพระนคร
ปกครองไทยคริสต์ศตวรรษที่ 18
ปกครองโดยฝรั่งเศส23 มีนาคม ค.ศ. 1907
ยึดครองโดยญี่ปุ่นค.ศ. 1941-1946
กลับคืนแก่กัมพูชากัมพูชาได้เอกราช
เมืองหลักพระตะบอง
การปกครอง
 • ผู้ว่าราชการปราชญ์ จัน (พรรคประชาชนกัมพูชา)
 • รองผู้ว่าราชการอีล ซาย
สัง สกตูม
 • ที่นั่งรัฐสภาในพระราชอาณาจักร
8 / 125
พื้นที่
 • ทั้งหมด11,702 ตร.กม. (4,518 ตร.ไมล์)
อันดับพื้นที่อันดับที่ 5
ความสูง11.89 เมตร (39.01 ฟุต)
ประชากร
 (พ.ศ. 2551)[1]
 • ทั้งหมด1,036,523 คน
 • อันดับอันดับที่ 4
 • ความหนาแน่น89 คน/ตร.กม. (230 คน/ตร.ไมล์)
เขตเวลาUTC+07
รหัสโทรศัพท์+855 (023)
อำเภอ14
ตำบล102
หมู่บ้าน799
เว็บไซต์battambang.gov.kh

พระตะบอง[2] หรือ บัตดอมบอง[2] (เขมร: បាត់ដំបង แปลว่า "ตะบองหาย") เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศกัมพูชา อยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ มีเขตติดต่อกับจังหวัดสระแก้วและจังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย พื้นที่นี้อดีตเคยเป็นจังหวัดพระตะบองในมณฑลบูรพาของสยาม

จังหวัดพระตะบองมีเมืองหลักคือ เมืองพระตะบอง

ประวัติ

[แก้]

ประวัติศาสตร์ยุคต้น

[แก้]

ชื่อของพระตะบองในภาษาเขมรคือ บัตฎ็อมบอง แปลว่ากระบองหาย มีที่มาจากนิทานพื้นบ้านว่าในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จสินธพอมรินทร์เป็นกษัตริย์ โหรได้ทำนายว่าเชื้อสายของราชวงศ์เก่าจะได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์ พระองค์จึงให้ทหารฆ่าเชื้อสายราชวงศ์เก่าให้หมด มีเพียงกุมารองค์เดียวที่ตากุเหเอาไปเลี้ยงไว้ ที่รอดชีวิตได้ ตากุเหพากุมารไปต้อนโคด้วยแล้วทำกระบองหายไปในลำห้วย หาเท่าใดก็ไม่พบ ที่ที่กระบองหายจึงเรียก "บัตฎ็อมบอง" ต่อมา กุมารนั้นได้ครองราชย์ที่พระนครหลวง มีนามว่าพระบาทสมเด็จพระกมรแดงอัญ[3]

พระตะบองเป็นหัวเมืองที่มีความสัมพันธ์กับสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีบทบาทสำคัญเมื่อกษัตริย์กัมพูชายกทัพมาตีสยาม ซึ่งจะเดินทัพทางบกผ่านมาทางพระตะบอง ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อยกทัพไปตีกรุงละแวก ก็ได้ยึดพระตะบองไว้ด้วย ใน พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพไปตีเสียมราฐและพระตะบองและจัดให้อยู่ภายใต้การปกครองของไทยโดยตรง ในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังจากที่สถาปนานักองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์กัมพูชาแล้ว ได้ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน - ต้นสกุลอภัยวงศ์) ปกครองพระตะบองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ[4]และมีเจ้าเมืองในสกุลอภัยวงศ์สืบทอดต่อมาอีก 5 คน จนพระตะบองกลายเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศส

ในสมัยนักองค์จันทร์ เวียดนามพยายามขยายอิทธิพลเข้ามาในกัมพูชา ขุนนางกัมพูชาที่นิยมไทยได้ลี้ภัยมายังพระตะบองและพาพระอนุชาของนักองค์จันทร์ คือนักองค์สงวน นักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วงมาด้วย หลังจากที่นักองค์ด้วงได้ครองราชย์สมบัติในกัมพูชา พระตะบองยังคงอยู่ใต้อำนาจของไทย หลังจากที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองกัมพูชาและบังคับให้สยามยอมรับว่ากัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสก็ยังยอมรับอำนาจของสยามเหนือเสียมราฐ พระตะบองและศรีโสภณ[4] (ปัจจุบันคือจังหวัดพระตะบอง จังหวัดเสียมราฐ จังหวัดบันทายมีชัย และจังหวัดอุดรมีชัย) ที่เรียกว่าเขมรส่วนใน จนเมื่อสยามมีข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนกับฝรั่งเศส จึงยอมยกเขมรส่วนในให้ฝรั่งเศสแลกกับอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย จังหวัดตราด และให้ฝรั่งเศสผ่อนคลายสิทธิสภาพนอกอาณาเขตต่อสยาม ตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449

หลังจากนั้นในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ได้มีพระบรมราชโองการให้แบ่งเขตการปกครองของเมืองพระตะบองออกเป็น 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดเสียมราฐ และจังหวัดศรีโสภณ ต่อมาจึงแบ่งเขตการปกครองใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2468 เป็น 2 เขต คือ จังหวัดพระตะบองและจังหวัดเสียมราฐ โดยจังหวัดพระตะบองมีเมือง (อำเภอ) ในความปกครอง 2 เมือง คือ เมืองพระตะบองกับเมืองศรีโสภณ ถึงปี พ.ศ. 2483 จังหวัดพระตะบองก็มีเมืองในความปกครองเพิ่มขึ้นเป็น 7 เมือง คือ เมืองพระตะบอง เมืองสังแก เมืองระสือ (โมงฤๅษี) เมืองตึกโช เมืองมงคลบุรี เมืองศรีโสภณ และเมือง Bei Thbaung

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

[แก้]
ตราประจำจังหวัดพระตะบอง (สมัยไทยปกครอง พ.ศ. 2484 - 2489)
แผนที่จังหวัดพระตะบอง (แสดงด้วยพื้นที่สีแดง)

ในปี พ.ศ. 2484 หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทอินโดจีนไทย-ฝรั่งเศส ไทยได้ดินแดนส่วนที่เรียกว่าเขมรส่วนในและลาวฝั่งขวาของแม่น้ำโขงคืน จึงได้ประกาศจัดตั้งจังหวัดขึ้นใหม่ในดินแดนเหล่านี้ 4 จังหวัดคือ จังหวัดพระตะบอง, จังหวัดพิบูลสงคราม, จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง เฉพาะจังหวัดพระตะบองนั้นเมื่อแรกตั้งจังหวัดนั้น ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ ตามประกาศเรื่องตั้งอำเภอ ลงวันที่ 23 กรกฎาคม พุทธศักราช 2484 ดังนี้

  1. อำเภอเมืองพระตะบอง ตามเขตอำเภอพระตะบองเดิม
  2. อำเภอพรหมโยธี ตามเขตอำเภอสังแกเดิม ตั้งชื่อตามพันเอก หลวงพรหมโยธี (มังกร พรหมโยธี ยศสุดท้ายเป็นที่พลเอก)
  3. อำเภออธึกเทวเดช ตามเขตอำเภอระสือเดิม ตั้งชื่อตามพลอากาศโท หลวงอธึกเทวเดช (บุญเจียม โกมลมิศร์) แม่ทัพอากาศสนาม ภายหลังในเดือนเมษายน 2486 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภออธึกเทวเดชเป็นอำเภอรณนภากาศ เนื่องจากแม่ทัพอากาศ/ผู้บัญชาการทหารอากาศ (พลอากาศโท หลวงอธึกเทวเดช) ได้ลาออกจากตำแหน่ง
  4. อำเภอมงคลบุรี ตามเขตอำเภอมงคลบุรีเดิม
  5. อำเภอศรีโสภณ ตามเขตอำเภอศรีโสภณเดิม
  6. อำเภอสินธุสงครามชัย ตามเขตอำเภอตึกโชเดิม (ภายหลังโอนไปขึ้นกับจังหวัดพิบูลสงคราม) ตั้งชื่อตามพลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน ยศสุดท้ายเป็นที่พลเรือเอก) ผู้บัญชาการทหารเรือและแม่ทัพเรือในขณะนั้น
  7. อำเภอไพลิน ตามเขตอำเภอไพลินเดิม

อนึ่ง ชื่ออำเภอที่ไทยตั้งขึ้นใหม่ในทั้ง 4 จังหวัดที่ได้คืนมาจากฝรั่งเศสนั้น ส่วนหนึ่งตั้งชื่อตามบุคคลที่มีบทบาทอย่างสูงในการรบสงครามอินโดจีนในจังหวัดพระตะบอง มีชื่ออำเภอลักษณะดังกล่าว 3 อำเภอดังกล่าวข้างต้น ต่อมาทางการไทยได้ปรับปรุงเขตการปกครองจังหวัดพระตะบองเสียใหม่ โดยโอนท้องที่อำเภอศรีโสภณและอำเภอสินธุสงครามชัยไปขึ้นจังหวัดพิบูลสงครามแทนในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน จังหวัดพระตะบองจึงมีเขตการปกครองตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 จนถึง พ.ศ. 2489 รวมทั้งสิ้น 5 อำเภอ คือ อำเภอเมืองพระตะบอง อำเภอพรหมโยธี อำเภออธึกเทวเดช อำเภอมงคลบุรี และอำเภอไพลิน

ในระหว่างที่จังหวัดนี้อยู่ในการปกครองของประเทศไทย ได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 นายชวลิต อภัยวงศ์ได้เป็นส.ส. ของจังหวัดพระตะบอง และเมื่อเลือกตั้งเพิ่มเติมเมื่อ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้นายสวาสดิ์ อภัยวงศ์ และพระพิเศษพาณิชย์เป็น ส.ส.จังหวัดพระตะบองเพิ่มเติม ก่อนจะคืนดินแดนดังกล่าวให้ฝรั่งเศส[5]

สำหรับตราประจำจังหวัดนั้น กรมศิลปากรได้กำหนดให้จังหวัดพระตะบองใช้ตราประจำจังหวัด เป็นรูปพระยาโคตรตระบองยืนทำท่าจะขว้างตะบอง ตามตำนานในท้องถิ่นที่เล่าถึงที่มาของชื่อจังหวัด

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน

[แก้]

ไทยคืนดินแดนที่ได้มาเหล่านี้รวมทั้งพระตะบองให้ฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และพระตะบองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชาเมื่อได้รับเอกราช ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2496 ได้มีการจัดตั้งเขตบริหารปอยเปต (Poi Pet administration) โดยอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองศรีโสภณ (เมืองนี้ได้ถูกแบ่งเป็น 2 เมืองในปีนั้น คือ เมืองศรีโสภณและเมืองบันทายฉมาร์) ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองชื่อว่า เมือง O Chrov ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2508 และในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ได้มีการแบ่งเขตการปกครองของเมืองระสือส่วนหนึ่งออกเป็นเขตการปกครองใหม่ คือ เขตบริหาร Kors Kralor หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2509 รัฐบาลกัมพูชาก็ได้ตั้งเมืองถมอปวก (Thmar Pouk) ขึ้นเป็นเมืองในความปกครองของจังหวัดพระตะบอง และได้แบ่งเมืองบันทายฉมาร์ไปขึ้นกับจังหวัดอุดรมีชัยซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ในปีนั้น

แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชาแล้ว แต่พระตะบองก็ยังมีความห่างเหินจากศูนย์กลางอำนาจที่พนมเปญ ในสมัยระบอบสังคม พระตะบองเป็นที่ตั้งของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ การลุกฮือที่สัมลวต พ.ศ. 2510 เป็นการลุกฮือครั้งใหญ่ของประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล พระนโรดม สีหนุได้สั่งให้ลน นลปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างรุนแรง[4] ในสมัยการปกครองของเขมรแดง ได้มีการอพยพประชาชนออกจากเมืองต่าง ๆ ไปอยู่ในชนบทเพื่อขยายผลผลิตทางการเกษตร จังหวัดพระตะบองกลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้ชื่อว่าทุ่งสังหาร อันเนื่องมาจากการปกครองที่เลวร้ายของเขมรแดง ในยุคนี้ เขมรแดงได้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ในเขตจังหวัดพระตะบองอีก 2 เมือง คือ เมืองบานันและเมืองโกรส ลอร์ (Kors Lor)

จังหวัดพระตะบองได้รับการปลดปล่อยจากระบอบเขมรแดงในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2522 และได้มีการจัดตั้งคณะกรมการเมืองขึ้นปกครองจังหวัดนี้จนกระทั่งมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2526 โดยในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 - 2529 จังหวัดพระตะบองมีเมืองในปกครอง 9 เมือง และ 1 เขตการปกครอง ในปี พ.ศ. 2529 ตั้งมีการจัดตั้งเมืองบานัน เมืองโบเวล และเมืองเอกพมนขึ้น ทำให้จังหวัดพระตะบองมีเมืองในความปกครองรวม 12 เมือง แต่สองปีต่อมา ก็ได้แบ่งเอาเมือง 5 เมืองในความปกครอง ไปจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดบันทายมีชัยหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2536 พระตะบองยังเป็นที่ตั้งของกองกำลังติดอาวุธฝ่ายเขมรแดงจนกระทั่ง พล พตเสียชีวิตใน พ.ศ. 2541[4]

ในปี พ.ศ. 2542 หลังจากการสลายตัวของเขมรแดงอย่างแท้จริงแล้ว ก็ได้มีการแบ่งอาณาเขตของจังหวัดพระตะบองไปจัดตั้งเป็นกรุงไพลิน และในปี พ.ศ. 2543 ก็ได้แบ่งเอาเขตเมืองระสือส่วนหนึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นเมืองกะห์กรอลอ[6]

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

จังหวัดพระตะบองแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ (ស្រុក สฺรุก)

รหัสอำเภอ ชื่ออำเภอ
(ภาษาเขมร)
เขียนด้วยอักษรไทย เขียนด้วยอักษรโรมัน
0201 បាណន់ บานัน (บาณาน่) Bananh
0202 ថ្មគោល ทมอโกล (ถฺมโคล) Tamor Coul
0203 បាត់ដំបង พระตะบอง (บาต̍ฎํบง) Batdombong
0204 បវេល บอเวล (บเวล) Bowel
0205 ឯកភ្នំ เอกพนม (เอภฺนุ˚) Ek Pnum
0206 មោងប្ញស្សី โมงรืซเซ็ย, เมืองระสือ (โมงฤสฺสี) Moung Ruessie
0207 រតនមណ្ឌល รัตนมณฑล (รตนมณฺฑล) Rotana Mondol
0208 សង្កែ สังแก (สฺงแก) Sangcae
0209 សំឡូត ซ็อมลูต (สํฬูต) Samlut
0210 សំពៅលូន ซ็อมปึวลูน (สํเพาลูน) Sampoulun
0211 ភ្នំព្រឹក พนมพรึก (ภฺนุ˚พฺรึก) Pnumpruek
0212 កំរៀង ก็อมเรียง (กํเรียง) Camriang
0213 គាស់ក្រឡ กะห์กรอลอ (คาส่กฺรฬ) Cahcrala

อาณาเขต

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "General Population Census of Cambodia 2008 - Provisional population totals" (PDF). National Institute of Statistics, Ministry of Planning. 3 September 2008.
  2. 2.0 2.1 "ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (พิเศษ 205 ง). 1 กันยายน 2565.
  3. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา แปลโดย พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์). นนทบุรี. สำนักพิมพ์ศรีปัญญา.2550
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ธีระ นุชเปี่ยม. พระตะบอง ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 410 - 412
  5. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชาและกรณีศึกษาปราสาทพระวิหาร. กทม. โครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ.2552
  6. "Welcome to Battambang District". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-03. สืบค้นเมื่อ 2008-06-23.