ข้ามไปเนื้อหา

พญาโคตรตะบอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อนุสาวรีย์พญาตะบองขยุง

พญาโคตรตะบอง หรือชาวลาวเรียกว่า ท้าวศรีโคตร พระยาศรีโคตรบอง หรือ ศรีโคตร เขมรเรียก พระยาตะบองขยุง เป็นตำนานเก่าแก่ที่แพร่หลายในไทย ลาว และเขมร เรื่องเล่าปรากฏตั้งแต่ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง (ประเทศลาวและในจังหวัดริมฝั่งขวาแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดหนองคายไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานีในภาคอีสานของไทย) ลุ่มแม่น้ำน่าน (จังหวัดพิจิตร ลพบุรี ภาคกลางของประเทศไทย) และบริเวณเมืองพระตะบอง (ประเทศกัมพูชา)

เรื่องราวของพญาโคตรตะบองปรากฏใน พงศาวดารเหนือ ซึ่งรัชกาลที่ 2 โปรดให้พระวิเชียรปรีชา (น้อย) รวบรวมมาจากหนังสือหลายเรื่องที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ยังปรากฏในนิทานประจำถิ่นของชาวพิจิตร มาแต่โบราณ ใน พงศาวดารเหนือ สันนิษฐานว่าพญาโคตรตะบองเป็นกษัตริย์ชาวพุทธของชนพื้นเมืองลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา แต่พญาโคตรตะบองเทวราชของเมืองพิจิตร ผู้ครองนครไชยวานน่าจะเป็นขอม (พราหมณ์) เพราะปรากฏว่าตอนตั้งเมืองนั้นมีการเขนงและมีพิธีโล้ชิงช้าถวายพระอิศวร พระนารายณ์[1] ชาวพิจิตรเรียกว่า "พ่อปู่" เชื่อกันว่าเป็นผู้ก่อตั้งเมืองพิจิตร ปัจจุบันรูปปั้นพญาโคตรตะบองประดิษฐานอยู่ด้านล่างของศาลหลักเมืองพิจิตร[2] ในประเทศลาว ได้สร้างอนุสาวรีย์พระยาศรีโคตรบองไว้ที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ซึ่งอยู่ด้านหน้าของพระธาตุศรีโคตรบองซึ่งเป็นพระธาตุสำคัญ[3]

พระยาโคตรตะบอง มีภาพสลักขบวนแห่ของพล (เมือง) ละโว้บนปราสาทนครวัด[4] สำหรับเมืองพระตะบอง หรือชื่อกัมพูชาว่า บัดตัมบอง หรือ บัตดอมบอง แปลว่า "ตะบองหาย" ก็มีตำนานที่ต่อเนื่องจากเรื่องพญาโคตรตะบอง[5]

เนื้อหา

[แก้]

พงศาวดารเหนือ

[แก้]

พญาโคตรตะบอง เป็นโอรสของพญาโคดมเชื้อสายพระมหาพุทธสาครผู้ครองอาณาจักรอยู่ริมเกาะหนองโสนตรงที่เป็นวัดเดิม (ปัจจุบัน คือวัดอโยธยา) พญาโคตรตะบองเป็นกษัตริย์มีพละกำลังมาก มีตะบองเป็นอาวุธคู่มือ ไม่มีอาวุธใดจะสังหารพระองค์ได้ วันหนึ่งโหรหลวงทำนายว่าจะมีผู้มีบุญมาเกิดในเมืองของพระองค์ พระองค์จึงสั่งให้ฆ่าหญิงมีครรภ์เสียทั้งหมด จนโหรทำนายต่อว่า ผู้มีบุญได้เกิดมาแล้ว พระองค์จึงสั่งให้จับเด็กทารกมาเผาไฟ แต่มีทารกผู้หนึ่งรอด เพราะพระภิกษุรูปหนึ่งไปพบเข้าจึงนำไปเลี้ยงไว้ที่ วัดโพธิ์ผีให้ ผ่านมา 17 ปี ทารกเติบโตเป็นหนุ่มแต่พิการเดินไม่ได้เพราะถูกไฟคลอกมือ และเท้างอมาแต่เล็ก จะไปไหนก็ต้องลากเท้าเสียงดังแกรก ๆ คนจึงเรียกว่านายแกรก และมีข่าวลือว่า ผู้มีบุญกำลังมาแล้ว นายแกรกจึงพยายามไปดูผู้มีบุญ พระอินทร์ได้แปลงตัวเป็นชายชราจูงม้า มาฝากไว้และบอกว่าจะไปดูแล้วกลับมาเล่าให้ฟัง ถ้าหิวข้าว ก็ให้เอาข้าวที่ห่อไว้กินไป นายแกรกรออยู่นานจนหิวก็เอาข้าว มากิน เมื่อกินแล้วเกิดมีกำลัง ในห่อนั้นยังมีขวดน้ำมันอยู่ด้วย จึงเอาน้ำมันมาทาตัว แขนขาที่งอหงิกก็หายเป็นปลิดทิ้ง จึงขึ้น ม้าสวมเครื่องกกุธภัณฑ์ที่พระอินทร์มอบไว้ ม้าก็เหาะมาที่พระตำหนัก

พญาโคตรตะบองเห็นก็ตกใจจึงหยิบตะบองขว้างใส่ แต่พลาดไปตกที่เมืองล้านช้าง พญาโคตรตะบองจึงหนีตามตะบองไปที่เมืองล้านช้าง ฝ่ายนายแกรกก็ได้ขึ้นครองเมือง โดยอภิเษกกับเชื้อสายของพญาโคตรตะบอง มีชื่อว่าพระเจ้าสินธพอมรินทร์ ฝ่ายพญาล้านช้างกลัวอำนาจพญาโคตรตะบองจึงยก พระราชธิดาให้เป็นมเหสี แต่ใจก็คิดกำจัดอยู่ตลอดเวลา จึงสั่งให้พระธิดาสอบถามจุดอ่อนเพื่อจะหาทางฆ่าพญาโคตรตะบองให้ตาย พญาโคตรตะบองหลงกลมเหสีได้หลุดปากบอกความลับไปว่าไม่มีอาวุธใดประหารพระองค์ได้ นอกจากใช้ไม้เสียบ ทวารหนักเท่านั้น

พญาล้านช้างจึงทำกลโดยทำกาจับหลักไว้ที่พระบังคน เอาหอกขัดเข้าไว้ ครั้นเมื่อพญาเข้าที่บังคน จึงถูกหอกลั่น สวนทวารเข้าไป พญาโคตรตะบองเสียใจที่เสียรู้สตรีจึงหนีกลับเมืองตน พอมาถึงพระนครก็สวรรคต พระเจ้าสินธพอมรินทร์จึงจัดการพระศพและสร้าง พระอาราม ณ สถานที่พระราชทานเพลิงให้ชื่อว่าวัดศพสวรรค์ (ปัจจุบันคือ วัดสวนหลวงสบสวรรค์)

สำนวนของกลุ่มล้านช้าง

[แก้]

พระยาศรีโคตรบองเป็นสามัญชน ในวัยเด็กได้รับความลำบาก บิดามารดาต้องนำไปบวชเป็นสามเณร แต่เกียจคร้าน วันหนึ่งทางวัดได้ให้ชาวบ้านช่วยตัดไม้มาสร้างศาลา เณรศรีโคตรบองมีหน้าที่หุงข้าว เมื่อข้าวจะสุกเณรศรีโคตรบองได้ใช้ไม้งิ้วดำคนข้าวทำให้ข้าวมีสีดำจึงกลัวความผิด เณรศรีโคตรบองจึงกินข้าวดำหมดหม้อและรู้สึกว่ามีกำลังมาก จากนั้นจึงหุงข้าวใหม่อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาตอนเย็นเณรศรีโคตรบองจึงไปแบกต้นไม้มาไว้ที่วัดคนเดียวจนเสร็จ จนทำให้หลวงพ่อตกใจ ต่อมาที่เวียงจันทน์มีข่าวเกี่ยวกับช้างเข้ามาทำลายสิ่งของ พระยาอนุพาวันดีจึงประกาศหาคนปราบช้างพร้อมกับลูกสาวและเมืองให้ ศรีโคตรบองเมื่อสึกแล้ว จึงรับอาสาและปราบช้างได้ จึงได้ครองเมืองเวียงจันทน์และได้นางเขียวค่อมเป็นเมีย ต่อมาพระยาอนุพาวันกลัวว่าพระยาศรีโคตรบองจะครองเมืองทั้งหมด เพราะเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ จึงออกอุบายถามความลับกับนางเขียวค่อม จึงได้รู้ความจริงในการปราบพระยาศรีโคตรบอง วันหนึ่งพระยาอนุพาวันดีจึงเชิญพระยาศรีโคตรเข้ามากินข้าว เมื่อพระยาศรีโคตรบองจะขับถ่าย จึงถูกหอกยนต์แทงทะลุทวารถึงปาก ก่อนจะตายได้สาปแช่งชาวเมืองเวียงจันทน์ไว้ไม่ให้เจริญรุ่งเรือง พระยาศรีโคตรบองจึงเหาะกลับไปตายที่เมืองเปงจาน

สำนวนเมืองพระตะบอง

[แก้]

พระยาตะบองขยุงถูกเกณฑ์แรงงานไปตัดฟืนเพื่อมาทำเมรุให้กับเจ้าเมืองที่พึ่งเสียชีวิตไป แต่ถูกจัดให้อยู่ฝ่ายอาหาร เมื่อเวลาหุงข้าวเมื่อข้าวจะสุกใช้ไม้สีดำคนข้าวทำให้ข้าวดำ ตะบองขยุง กลัวเพื่อนว่าจึงกินข้าวดำหมดหม้อ และหุงใหม่ เมื่อสุกแล้วจึงแขวนหม้อข้าวไว้ที่กิ่งไม้ พอเพื่อน ๆ มาจึงเหนี่ยวกิ่งไม้ลงมาเพื่อนำหม้อข้าวมาให้ พวกกลุ่มตัดไม้เห็นดังนั้นจึงคิดว่าอัศจรรย์นัก จึงกล่าวว่าน่าจะเป็นเจ้าเมือง หลังจากนั้นตะบองขยุงจึงได้นำพรรคพวกเข้ารบกับเจ้าเมืองจนสู้ไม่ได้จึงยอมยกเมืองให้กับตะบองขยุงเป็นเจ้าเมือง

อ้างอิง

[แก้]
  1. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. 2542. ISBN 9748365301.
  2. จังหวัดพิจิตร จัดงานบวงสรวงพ่อปู่ บูชาเสาหลักเมือง และรดน้ำผู้สูงอายุ[ลิงก์เสีย]
  3. "พระยาศรีโคตรบอง".
  4. สุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘พระยาแกรก’ สัญลักษณ์พุทธเถรวาท ขัดแย้งพราหมณ์และมหายาน
  5. "พระตะบอง ตระกูลอภัยวงศ์และประวัติศาสตร์นอกตำรา". สารคดี.