ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยง
ส่วนหนึ่งของ ความขัดแย้งภายในพม่า

หน่วยแพทย์ KNLA รักษาผู้พลัดถิ่นภายในที่Hpapun District, รัฐกะเหรี่ยง
วันที่31 มกราคม พ.ศ. 2492 – ปัจจุบัน
(75 ปี 2 เดือน 2 สัปดาห์)
สถานที่
รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า (โดยหลัก)
สถานะ

ดำเนินอยู่

คู่สงคราม

 พม่า

อดีต:
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
อดีต:
หน่วยที่เกี่ยวข้อง

กองทัพพม่า

KNLA/KNDO
กำลัง

43,000 นาย (2494)[2]


30,000 นาย

มากกว่า 4,000 นาย (2494)[2]


6,000–7,000 นาย[3]
1,500 นาย[4]
ความสูญเสีย
ตั้งแต่ พ.ศ. 2532:
ถูกฆ่าประมาณ 4,500 คน[5][6]
พลเรือน 200,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย [7]

ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยง (พ.ศ. 2492 – ปัจจุบัน) เป็นการขัดกันด้วยอาวุธในพม่า ซึ่งถือว่าเป็นสงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดในโลก[8][9] ขบวนการชาตินิยมกะเหรี่ยงได้ต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองหรือเอกราชจากพม่า[10] ชาวกะเหรี่ยงได้ต่อสู้เพื่อให้รัฐกะเหรี่ยงเป็นเอกราชตั้งแต่ พ.ศ. 2492 ในชื่อภาษากะเหรี่ยงว่ากอทูเลย ในความขัดแย้งนานกว่าหกสิบปี มีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย โดยกลุ่มที่มีบทบาทมากที่สุดคือสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (ကရင် အမျိုးသား အစည်းအရုံး; ตัวย่อ KNU) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองและมีกองกำลังติดอาวุธคือกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง กับตะมะดอ กองทัพของพม่า[11] ความขัดแย้งทำให้พลเมืองหลายแสนคนต้องอพยพออกนอกพื้นที่ โดย 200,000 คนหลบหนีไปที่ประเทศไทยและยังคงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย[7]

กะเหรี่ยง[แก้]

แผนที่กลุ่มชาติพันธุ์ตามภาษาในพม่า ชาวกะเหรี่ยงอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดีตอนใต้ และตามแนวชายแดนไทย

ชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประชากรราว 5–7 ล้านคน มีภาษาพูดที่เป็นสำเนียงต่าง ๆ มากถึงราว 20 สำเนียง โดยกลุ่มที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดคือกะเหรี่ยงสะกอและกะเหรี่ยงโปว์ กะเหรี่ยงกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ กะยาห์ บเว กะยิน เบร ปะโอ เป็นต้น[12] ภาษากะเหรี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มภาษาทิเบต-พม่า และตระกูลภาษาจีน-ทิเบต

ชาวกะเหรี่ยงมาถึงดินแดนที่เป็นประเทศพม่าในปัจจุบันเมื่อราว พ.ศ. 43 เชื่อว่าชาวกะเหรี่ยงเดินทางมาจากบริเวณมองโกเลียและลงใต้มายังบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง อิรวดี และสาละวิน คำว่ากะเหรี่ยงนั้นเป็นคำที่ชาวไตและชาวพม่าใช้เรียก หมายถึงคนที่อยู่ตามภูเขาและป่า แต่พวกเขาไม่เคยเรียกตัวเองว่ากะเหรี่ยง

กะเหรี่ยงไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน[13][14] กะเหรี่ยงต่างกลุ่มไม่ได้มีประวัติศาสตร์ร่วมกันภายในราชอาณาจักรก่อนที่พม่าจะเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ชาวกะเหรี่ยงบางคนทำหน้าที่เป็นเสนาบดีภายในราชอาณาจักรอื่น ๆ เช่น ราชอาณาจักรหงสาวดี ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ชาวกะเหรี่ยงอื่น ๆ อยู่ในป่าตามแนวชายแดนไทย ชาวกะเหรี่ยง 20% เป็นชาวคริสต์ ในขณะที่อีก 75% เป็นชาวพุทธ มีชาวกะเหรี่ยงกลุ่มเล็ก ๆ ที่นับถือผีอยู่ในพื้นที่ที่ราบลุ่มแม่น้ำ และมีกลุ่มเล็ก ๆ เรียกกะเหรี่ยงดำเป็นมุสลิม[15] กะเหรี่ยงโปว์คิดเป็น 80% ของประชากรกะเหรี่ยงทั้งหมด และเป็นชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่[16] ผู้พูดภาษากะเหรี่ยงโปว์อยู่ในที่ราบตอนกลางและตอนล่างของพม่า และมีระบบสังคมคล้ายชาวมอญ ทำให้บางครั้งเรียกกะเหรี่ยงมอญ (Talaing Kayin) ส่วนกะเหรี่ยงสะกอเป็นกลุ่มที่มีระบบสังคมคล้ายชาวพม่า บางครั้งเรียกกะเหรี่ยงพม่า (Bama Kayin) กลุ่มนี้ถูกผลักดันให้มาอยู่ตามแนวชายแดนไทย ชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในเทือกเขาดอว์นาและตะนาวศรีในพม่าตะวันออก พวกเขาได้พัฒนาสังคมและประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง[17] ในปัจจุบันมีชาวกะเหรี่ยงอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดีราว 3 ล้านคน มีวิถีชีวิตเป็นชาวนา ชุมชนชาวกะเหรี่ยงมีความแตกต่างกันทั้งทางศาสนา ภาษา วัฒนธรรม และการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์

ยุคอาณานิคม[แก้]

การเกิดขึ้นของความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงและพม่า มีสาเหตุมาจากยุคที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในพุทธศตวรรษที่ 24 เผ่ากะเหรี่ยงที่อยู่ตามหุบเขาได้หันมานับถือศาสนาคริสต์โดยการเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารีชาวอเมริกัน ชาวกะเหรี่ยงได้รับราชการในกองทัพอังกฤษระหว่างสงครามพม่า-อังกฤษ[18] การที่กะเหรี่ยงสะกอหันมานับถือศาสนาคริสต์ ทำให้พวกเขาก้าวขึ้นมามีสถานะสูงในสังคมพม่าได้[19] กะเหรี่ยงคริสต์จงรักภักดีต่ออังกฤษ การศึกษาแบบศาสนาคริสต์ได้สอนภาษาอังกฤษ ทำให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองระบอบอาณานิคม ในขณะที่ชาวพม่าไม่ได้รับราชการทหาร และไม่ได้เข้าร่วมในระบอบอาณานิคม[20][21][22]

การเปลี่ยนเป็นชาวคริสต์[แก้]

ผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงในเขตภูเขาเมื่อ พ.ศ. 2465

มิชชันนารีชาวสหรัฐคนแรกมาถึงพม่าเมื่อ พ.ศ. 2356 ชาวกะเหรี่ยงคนแรกเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์เมื่อ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2371[23] มิชชันนารีนิกายแบปติสต์พบว่าชาวกะเหรี่ยงสะกอเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ได้ง่ายกว่ากะเหรี่ยงโปว์ เพราะกะเหรี่ยงโปว์ส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธก่อนที่มิชชันนารีจะเข้ามา[24] การเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ของชาวกะเหรี่ยงสะกอทำให้พวกเขาต่างจากกะเหรี่ยงโปว์และชาวพม่าที่เป็นชาวพุทธ มิชชันนารีได้เรียนภาษากะเหรี่ยงและได้พัฒนาการเขียนภาษากะเหรี่ยงด้วยอักษรพม่า ดร.โจนาธาน วาเดได้สร้างพจนานุกรมและเขียนกฏไวยากรณ์ของทั้งภาษากะเหรี่ยงสะกอและภาษากะเหรี่ยงโปว์ ใน พ.ศ. 2398 ดร.ฟรานซิส มาซอน ได้ตีพิมพ์ไบเบิลเป็นภาษากะเหรี่ยงสะกอ ส่วนไบเบิลภาษากะเหรี่ยงโปว์ตีพิมพ์โดย ดี แอล ไบรตัน ในช่วง พ.ศ. 2403–2433 ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ใน พ.ศ. 2418 ได้จัดตั้งวิทยาลัยแบปติสต์ในย่างกุ้ง ต่อมาโรงเรียนนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อวิทยาลัยกะเหรี่ยง เพราะเป็นที่ที่ชาวกะเหรี่ยงคริสต์มาเรียนภาษาอังกฤษ ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มที่ผ่านการศึกษาเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ การศึกษา และสถานะทางสังคมได้[25]

มิชชันนารีชาวสหรัฐพยายามอธิบายจุดกำเนิดของชาวกะเหรี่ยง การพัฒนาภาษาเขียนของภาษากะเหรี่ยงทำให้มีการเรียนรู้ เกิดวรรณกรรมและวารสารที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาขึ้น ใน พ.ศ. 2385 มิชชันนารีแบบติสต์ได้ตีพิมพ์นิตยสารภาษากะเหรี่ยงสะกอชื่อวาทูกอ (ดวงตายามเช้า) ที่ตีพิมพ์มาตลอดจนถูกเนวินยึดกิจการใน พ.ศ. 2505[26][27] สิ่งนี้ทำให้เกิดชาตินิยมกะเหรี่ยงขึ้น

ชาวกะเหรี่ยงในแถบภูเขาไม่เคยพัฒนาอาณาจักรของตนเองและไม่เคยมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การติดต่อกับอังกฤษจึงเป็นโอกาสในการปรับปรุงชีวิตของตน การปกครองของพม่าในช่วงก่อนเป็นอาณานิคม ได้ผลักให้ชาวกะเหรี่ยงเข้าหาอังกฤษมากขึ้น ในช่วงที่อังกฤษยังไม่ได้ยึดครองดินแดนพม่าทั้งหมด ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในดินแดนของพม่าไม่ได้รับการศึกษา ชาวกะเหรี่ยงได้หนีมายังเขตที่อังกฤษปกครองและช่วยให้อังกฤษยึดครองพม่า การที่รู้ภาษาอังกฤษและได้รับการศึกษาแบบคริสต์ทำให้กะเหรี่ยงสะกอก้าวหน้ากว่าชาวกะเหรี่ยงกลุ่มอื่น ๆ ที่เป็นกะเหรี่ยงพุทธ[28] และทำให้กะเหรี่ยงสะกอเป็นกลุ่มแรกที่เกิดความคิดเกี่ยวกับความเป็นชาติกะเหรี่ยง และเป็นกลุ่มแรกที่สร้างองค์กรทางการเมืองของกะเหรี่ยง[29][30][31] และเป็นกลุ่มที่เด่นในบรรดาขบวนการของชาวกะเหรี่ยงทั้งหมด

นโยบายในสมัยอาณานิคม[แก้]

ในสงครามระหว่างพม่ากับอังกฤษ กะเหรี่ยงเป็นทหารที่สำคัญในกองทัพ ในสงครามพม่า-อังกฤษ[32][33] ชาวกะเหรี่ยงได้เป็นผู้นำทางให้กองทัพอังกฤษ ฝ่ายพม่าได้ลงโทษชาวกะเหรี่ยงที่เข้าข้างอังกฤษ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงอพยพไปยังดินแดนที่อังกฤษปกครองและเกิดกลุ่มต่อต้านพม่า หลังจากอังกฤษได้ปกครองพม่าทั้งหมด และยึดมัณฑะเลย์ได้ในสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3 กะเหรี่ยงได้เป็นผู้ช่วยอังกฤษเมื่อชาวพม่าก่อกบฏ มิชชันนารีได้เข้ามามีบทบาทในการชักนำชาวกะเหรี่ยงกดดันการก่อกบฏของพม่า จนอังกฤษปราบปรามได้สำเร็จ[34][35]

นโยบายของอาณานิคมนั้นได้ใช้ที่ราบลุ่มแม่น้ำเป็นแหล่งผลิตข้าว ส่วนพื้นที่หุบเขารอบ ๆ ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสำหรับอังกฤษ อังกฤษปกครองพม่าตอนกลางโดยตรง ส่วนเขตชายแดนที่เป็นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ อังกฤษปกครองโดยอ้อม การปกครองแบบนี้ส่งผลต่อปัญหาทางการเมืองในพม่ายุคหลังอาณานิคม ใน พ.ศ. 2473–2475 เกิดกบฏในพม่าเพื่อต่อต้านรัฐบาลอาณานิคมในชื่อกบฏซายาซาน ชาวกะเหรี่ยงได้ช่วยอังกฤษปราบกบฏ รวมทั้งการนัดหยุดเรียนของนักศึกษาใน พ.ศ. 2479 และการนัดหยุดงานทั่วไปใน พ.ศ. 2481

องค์กรทางการเมืองของชาวกะเหรี่ยง[แก้]

ธงกะเหรี่ยง

กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แรกในพม่าที่จัดตั้งองค์กรทางการเมือง ใน พ.ศ. 2383 ได้ตั้งองค์กรกะเหรี่ยงแบบติสต์ซึ่งเป็นองค์กรทางศาสนา องค์กรทางการเมืองแห่งแรกจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2424 ในชื่อสมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยงซึ่งมีเป้าหมายในการเป็นตัวแทนของกะเหรี่ยงทั้งหมด ไม่ว่าจะในด้านศาสนา ภาษา หรือที่อยู่อาศัย สมาชิกของสมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยงส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงคริสต์ กลุ่มของกะเหรี่ยงพุทธได้จัดตั้งสมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยงพุทธจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2482 ทั้งนี้ สมาคมของกะเหรี่ยงคริสต์มีความใกล้ชิดกับอังกฤษ ส่วนสมาคมของกะเหรี่ยงพุทธมีความใกล้ชิดกับพม่า สมาคมของกะเหรี่ยงคริสต์ได้ช่วยอังกฤษรบในสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2429 ด้วย ชาวพุทธกะเหรี่ยงโปว์ปฏิเสธความพยายามของกะเหรี่ยงคริสต์ในการเป็นตัวแทนองค์กรทางการเมือง

สมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยงเป็นองค์กรทางการเมืองที่สำคัญในสมัยอาณานิคม ในราว พ.ศ. 2463 ขบวนการชาตินิยมกะเหรี่ยงและขบวนการชาตินิยมพม่า เคลื่อนไหวในช่วงเวลาเดียวกัน ดร. ซาน ซี โป ทนายความชาวกะเหรี่ยงที่สำเร็จการศึกษาจากตะวันตกและเป็นชาวกะเหรี่ยง เป็นคนแรกที่ประกาศในที่สาธารณะว่าต้องการจัดตั้งรัฐกะเหรี่ยงใน พ.ศ. 2471 ปีเดียวกันสมาชิกสมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยง ซอทาอายจี ได้เขียนเกี่ยวกับสัญลักษณ์แห่งชาติกะเหรี่ยง ใน พ.ศ. 2480 ได้ออกแบบธงกะเหรี่ยง ชาวกะเหรี่ยงถือว่าตนเองเป็นกลุ่มแรกที่ตั้งหลักแหล่งในพม่า สมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยงได้พัฒนามาเป็นสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 หนึ่งปีก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราช และได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้น สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงทำหน้าที่เป็นรัฐบาลมาครึ่งศตวรรษในพื้นที่ที่เป็นรัฐกะเหรี่ยง

ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ไม่ได้สนับสนุนความขัดแย้งทางทหาร และไม่เคยเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธกับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงสามารถครอบครองพื้นที่ที่ชาวกะเหรี่ยงเป็นชนส่วนใหญ่ได้น้อย ทำให้กลายเป็นปัญหาหลักในการรวมชาติกะเหรี่ยง

สงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังจากนั้น[แก้]

ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขบวนการชาตินิยมกะเหรี่ยงได้เคลื่อนไหวในขั้วตรงข้ามกับขบวนการชาตินิยมพม่า ชาวกะเหรี่ยงเป็นชาวคริสต์และจงรักภักดีกับอังกฤษ ส่วนชาวพม่าต่อต้านจักรวรรดินิยมและเป็นชาวพุทธ ใน พ.ศ. 2484 มีชาวกะเหรี่ยงในกองทัพถึง 35% ในขณะที่มีประชากรเป็นชาวกะเหรี่ยงเพียง 9.34% ชาวพม่าอยู่ในกองทัพเพียง 23.7% ในขณะที่มีประชากรเป็นชาวพม่าถึง 75.11%

การยึดครองของญี่ปุ่น[แก้]

การรุกรานพม่าของญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2485 เป็นจุดเริ่มต้นของการครองอำนาจของชาวพม่า ญี่ปุ่นจัดตั้งกองทัพเอกราชพม่าเพื่อช่วยในการควบคุมประเทศ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เป็นการสร้างกองทัพของชาวพม่า โดยกองทัพนี้ไม่มีชนกลุ่มน้อยที่มีความเกี่ยวข้องกับอังกฤษอยู่ด้วย กองพลกะเหรี่ยงกองพลแรกจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2486

ชาวกะเหรี่ยงคริสต์ส่วนใหญ่ยังคงจงรักภักดีกับอังกฤษ แม้จะเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามายึดครอง กองทัพต่อต้านของชาวกะเหรี่ยงได้จัดตั้งขึ้นในเขตเทือกเขาทางตะวันออกของพม่า ใน พ.ศ. 2488 มีทหารกะเหรี่ยงถึง 12,000 คน กองทัพนี้ถูกฝึกเพื่อสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่และชาวพม่าที่เข้าร่วมกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นได้ลงโทษชาวกะเหรี่ยงอย่างรุนแรง ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2487 กองทัพกะเหรี่ยงมีบทบาทสำคัญในการรบชนะญี่ปุ่นที่ตองอู นอกจากนั้นยังสามารถต่อต้านญี่ปุ่นที่เทือกเขาดอว์นาได้เป็นเวลานาน[36][37] เหตุการณ์สำคัญระหว่างสงครามคือการสังหารชาวกะเหรี่ยงโดยกองทัพเอกราชพม่าใน พ.ศ. 2485 กองทัพทำลายหมู่บ้าน 400 แห่ง และคาดว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 1,800 คน เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างเชื้อชาติกะเหรี่ยงและเชื้อชาติพม่า ที่อองซานพยายามเข้ามาไกล่เกลี่ย

การกลับมาของรัฐอาณานิคม[แก้]

นายพลสมิท ดุน นายพลคนแรกของกองทัพพม่าหลังได้รับเอกราช

หลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้และอังกฤษกลับมาฟื้นฟูระบอบอาณานิคมในพม่า แต่ระบบการปกครองในพม่าถูกทำลาย มีเพียงเจ้าที่ดินในท้องถิ่นมีอำนาจและมีกลุ่มติดอาวุธจำนวนมาก กองทัพเอกราชพม่าของอองซานอยู่ในฐานะกลุ่มที่เข้มแข็งที่สุด ในสภาพดังกล่าว ลอร์ดเมาท์แบตเทิร์นได้เสนอให้สร้างกองทัพขึ้นมาสองกลุ่มคือกองทัพของชาวพม่า และของกลุ่มที่ไม่ใช่ชาวพม่า และควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษ กองทัพดังกล่าวนั้นตั้งขึ้นเมื่อกลางปี พ.ศ. 2488 ประกอบด้วยกองพลทหารพม่า 4 กอง ทหารกะเหรี่ยง 2 กอง ทหารกะชีน 2 กอง และทหารชีน 2 กอง ความต้องการของอองซานที่ต้องการให้คงหน่วยทหารของเขาร่วมกับกองทัพใหม่ได้รับการยืนยันในการประชุมแคนดีเมื่อ 6-7 กันยายน พ.ศ. 2488 ที่ศรีลังกา

อังกฤษยังคงใช้นโยบายในการสร้างหน่วยทางการเมืองหลังยุคอาณานิคม 2 หน่วยในเขตการปกครองพม่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของอองซานและกองทัพของเขาที่สนับสนุนด้วยขบวนการเสรีชนต่อต้านฟาสต์ซิสต์ได้เพิ่มขึ้น ชาวกะเหรี่ยงและชนกลุ่มน้อยอื่นๆกลัวที่จะต้องถูกบีบให้อยู่ในรัฐที่มีชาวพม่าเป็นชนกลุ่มใหญ่ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ผู้นำชาวกะเหรี่ยง ซอบาอูจี และซิดนีย์ ลูนี ได้เสนอให้อังกฤษตั้งรัฐใหม่เรียกกะเรนิสถาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 ชาวกะเหรี่ยงเสนอจะจัดตั้วสหรัฐกะเหรี่ยงชายแดน แต่รัฐบาลอังกฤษไม่ได้สนใจมากนัก เพราะอาจทำให้มีข้อเรียกร้องแบบเดียวกันจากชาวกะชีน ชีน และไทใหญ่ได้

อองซานพยายามจะรวมชนกลุ่มน้อยทั้งหมดเข้าในประเทศพม่าในอนาคต ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 อองซานได้ลงนามในความตกลงเวียงปางหลวงกับตัวแทนชาวไทใหญ่ ชีน และกะชีน แต่ไม่มีตัวแทนจากกะเหรี่ยง หนึ่งวันก่อนการลงนามในความตกลงเวียงปางหลวง องค์กรของชาวกะเหรี่ยงได้รวมตัวเป็นสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและคว่ำบาตรการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่มีเสียงของชาวกะเหรี่ยงเข้าไปร่วมโต้แย้ง รัฐธรรมนูญใหม่ของพม่าใน พ.ศ. 2490 ไม่สามารถแก้ปัญหาของชาวกะเหรี่ยงได้ ในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงในย่างกุ้งสั่งให้จัดตั้งองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง และจัดตั้งการดำเนินงานใต้ดิน ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2490 รัฐบาลของสันนิบาตเสรีชนฯเสนอให้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงจัดตั้งรัฐกะเหรี่ยง แต่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงปฏิเสธเพราะต้องการควบคุมดินแดนมากกว่าในข้อเสนอ

อังกฤษเกรงจะเสียการควบคุมกองทัพของชาวพม่า และเห็นกะเหรี่ยงเป็นกุญแจสำคัญ โดยผลักดันให้ทหารกะเหรี่ยงเข้ามามีบทบาทในกองทัพ สมิท ดุนเป็นนายพล ซอซีโซควบคุมกองทัพอากาศ และหัวหน้าหน่วยที่สำคัญเป็นชาวกะเหรี่ยง

พม่าหลังได้รับเอกราช[แก้]

รัฐกะเหรี่ยง ในพม่า
ซอว์ บา อู จี หัวหน้าคนแรกของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง

ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่โครงสร้างของรัฐยังคงอ่อนแอ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 ชาวกะเหรี่ยง 400,000 คน ได้ประท้วงโดยสงบเพื่อแสดงความสามัคคีในการจัดตั้งรัฐกะเหรี่ยง[38] สามเดือนหลังจากได้รับเอกราช พรรคคอมมิวนิสต์พม่าเริ่มก่อการกบฏด้วยอาวุธ และกลุ่มกะเหรี่ยงที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนได้เริ่มการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช สมาชิกขององค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงเคยเป็นทหารในกองทัพต่อต้านญี่ปุ่นและพม่ามาก่อน การเกิดขึ้นขององค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงและรัฐบาลของสันนิบาตเสรีภาพประชาชนฯ ทำให้ความร่วมมือของชาวกะเหรี่ยงลดลงและความตึงเครียดเก่าๆระหว่างชาวกะเหรี่ยงและพม่าเกิดขึ้นอีก

การสู้รบระหว่างทหารกะเหรี่ยงและพม่าเกิดขึ้นในต้นปี พ.ศ. 2491 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2491 รัฐบาลสันนิบาตเสรีภาพฯพยายามเจรจากับกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์ และเปิดทางให้กลุ่มคอมมิวนิสต์เข้าร่วมในการเมืองระดับชาติ ในขณะที่กองทัพกะเหรี่ยงประกาศว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะร่วมมือกับรัฐบาลนี้ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2491 ได้มีการประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่กองทัพกะเหรี่ยงเติบโตขึ้นและหยุดการก่อกบฏของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นน้อยระหว่างกะเหรี่ยงและพม่าเพราะทั้งสองฝ่ายต่างต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2491 เกิดความขัดแย้งระหว่างทหารพม่าและทหารกะเหรี่ยงอย่างรุนแรง ซึ่งในเวลานั้นองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงควบคุมพื้นที่ในเขตชนบทไว้ได้มาก ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2491 กองทัพกะเหรี่ยงบุกเข้าทวันเตใกล้ย่างกุ้ง และยึดท่าตอน และไจคะมีในอีกสัปดาห์ต่อมา ในวันที่ 30 สิงหาคม องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงเข้ายึดมะละแหม่ง[39]

พ.ศ. 2491 เป็นปีที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นมากในพม่า แต่ละกลุ่มต่างมีกำลังทหารเป็นของตนเอง และพยายามเพิ่มพื้นที่ปกครองโดยใช้ความรุนแรง แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 2 กลุ่ม คือกลุ่มฝ่ายขวาและนิยมตะวันตกได้แก่กองทัพกะเหรี่ยง องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง กองโจรสันติภาพกะเหรี่ยง ตำรวจและกองกำลังสหภาพส่วนใหญ่ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นฝ่ายซ้ายและต่อต้านอังกฤษ ได้แก่รัฐบาลสันนิบาตเสรีภาพฯ ทหารพม่าบางส่วนในกองทัพพม่า ชิตวุนดันซึ่งเป็นตำรวจที่ตั้งขึ้นโดยอูนุเพื่อต่อต้านกองทัพกะเหรี่ยงและตำรวจที่นิยมฝ่ายขวา กองกำลังท้องถิ่นระดับหมู่บ้านปฏิเสธคอมมิวนิสต์และฝ่ายขวา ในช่วงสี่เดือนสุดท้ายของ พ.ศ. 2491 เกิดความรุนแรงขึ้นทั่วพม่า เจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษบางส่วนที่อยู่ในพม่าตะวันออก สนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชของพม่า และมีคนหนึ่งถูกจับกุมในย่างกุ้งเมื่อ 18 กันยายน ในวันที่ 19 กันยายน ติน ตุต ผู้นำฝ่ายขวาถูกลอบสังหารในย่างกุ้ง นายพล สมิท ดุนได้พยายามเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงกับรัฐบาลสันนิบาตเสรีภาพฯ ในเดือนพฤศจิกายน แต่สื่อในพม่าเห็นว่าเป็นการต่อต้านสหภาพ ความตึงเครียดนี้ทำให้เกิดเหตุรุนแรงในเดือนธันวาคม กลุ่มชิตวุนดันได้ขว้างระเบิดใส่โบสถ์คริสต์ในปะลอว์ สังหารชาวกะเหรี่ยงคริสต์ 80 คน ในสัปดาห์ต่อมากลุ่มชิตวุนดันได้สังหารชาวกะเหรี่ยงไป 100 คน

การปะทุของความขัดแย้ง พ.ศ. 2492[แก้]

รัฐบาลของสันนิบาตเสรีภาพฯได้อาศัยกองกำลังชาวกะเหรี่ยง กะชีน และชีนในการควบคุมการก่อความไม่สงบในพม่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทหารกะเหรี่ยงยังคงต่อสู้กับรัฐบาลพม่าจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2491 ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2491 อูนุและผู้นำกะเหรี่ยง ซอว์ บา อู จี ได้สำรวจบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี เพื่อหาทางป้องกันความรุนแรงจากกองกำลังคอมมิวนิสต์ แต่หลังจากนั้นได้เกิดความตึงเครียดระหว่างชาวกะเหรี่ยงและพม่าขึ้น

องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงได้บุกยึดเมืองอินเส่งและปืดล้อมเมือง ทำให้ชาวพม่าในเมืองนั้นต้องตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเอง การเผชิญหน้าระหว่างชาวพม่าและชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ใกล้กันได้แพร่กระจายออกไปทั้งเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี ในช่วงกลางเดือกมกราคม ชาวกะเหรี่ยง 150 คนถูกฆ่าในไตก์กจี กองทัพองค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงที่ไม่ได้ถูกควบคุมจากส่วนกลางเข้าโจมตีชาวพม่า

นายพลมิน หม่องซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงถูกร้องขอให้ทำลายหน่วยที่นำโดยซอว์ บา อูจี ผู้นำสหภาพกะเหรี่ยง ในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2492 นายพลมิน หม่อง เข้ายึดเมืองตองอู และกลุ่มทหารกะเหรี่ยงอื่นๆเข้ายึดเมืองปยู ในวันที่ 30 มกราคม รัฐบาลพม่าประกาศให้องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงเป็นองค์กรนอกกฎหมาย อูนุประกาศปลดทหารในกองทัพที่เป็นชาวกะเหรี่ยงออกทั้งหมด นายพลสมิท ดุนถูกปลดและตั้งเนวินขึ้นมาแทน ทหารที่เป็นชาวกะเหรี่ยงนั้นถ้าเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏจะถูกส่งตัวเข้าค่าย และสั่งทหารเข้ายึดเมืองอินเส่งคืนเมื่อ 31 มกราคม พ.ศ. 2492 ส่วนตองอูยึดคืนมาได้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2492 และยึดเมืองอินเส่งคืนได้สำเร็จในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2492 หลังจากที่สูญเสียอย่างหนักทั้งสองฝ่าย ในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2492 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงประกาศจัดตั้งรัฐกะเหรี่ยงอิสระหรือกอทูเลย์[40]

พัฒนาการของความขัดแย้งพม่า-กะเหรี่ยง[แก้]

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ประกาศสงครามกับรัฐบาลทหารพม่าเมื่อ 31 มกราคม พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่มีการสู้รบตามฤดูกาล ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา ความขัดแย้งได้ดำเนินไป นายพลสมิท ดุน ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ต่อสู้กับกองทัพพม่าและประสบความสำเร็จหลายครั้ง ใน พ.ศ. 2497 หน่วยบริการของอังกฤษซึ่งเป็นหน่วยงานในสมัยอาณานิคมและลูกจ้างหลายคนโน้มเอียงไปทางฝ่ายกะเหรี่ยงถูกปิด กองทัพพม่าพยายามปิดล้อมกองทัพกะเหรี่ยงด้วยนโยบายสี่ตัด ซึ่งจะควบคุมในด้านอาหาร เงินทุน การศึกษา และกำลังคน วิธีนี้มีประสิทธิภาพมาก[41][42] ในระหว่าง พ.ศ. 2506 – 2507 มีการเจรจาสันติภาพแต่ไม่ได้ผล

ใน พ.ศ. 2513 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงมีความขัดแย้งภายใน เช่น เกิดกลุ่มเทเลคอนที่ประกาศตนเป็นกะเหรี่ยงแท้ ใน พ.ศ. 2515 ผู้นำเทเลคอนถูกฆ่า ความขัดแย้งอีกกรณีหนึ่งคือกรณีของทูมูแฮที่แสดงตัวเป็นองค์กรอิสระตั้งแต่ พ.ศ. 2523[43][44]

ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยงได้ปรากฏออกไปภายนอกในรูปของความขัดแย้งที่มีการสู้รบในเขตเทือกเขาตามแนวชายแดนไทย-พม่า แต่ในช่วง พ.ศ. 2493 – 2503 มีทหารกะเหรี่ยงเข้าโจมตีชาวพม่าในที่ราบลุ่มปากแม่น้ำอิรวดี นโยบายสี่ตัดของกองทัพพม่าทำให้กองทัพกะเหรี่ยงในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดีต้องไปสู้รบในเขตเทือกเขาตามแนวชายแดน ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 โบเมียะขึ้นเป็นผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงในเขตตะวันออกและได้เป็นหัวหน้าสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงใน พ.ศ. 2519 และได้เปลี่ยนข้อเรียกร้องจากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องรัฐเอกราชหรือกอทูเลย์มาเป็นสิทธิในการปกครองตนเอง ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงจึงถูกเขียนขึ้นใหม่ และประวัติศาสตร์ของคอมมิวนิสต์กลายเป็นแรงบันดาลใจของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงขึ้นถึงจุดสูงสุดของอำนาจในระหว่าง พ.ศ. 2523 – 2533 ใน พ.ศ. 2532 ได้มีข้อเสนอหยุดยิงที่เสนอโดยกองทัพพม่าแต่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงปฏิเสธ ใน พ.ศ. 2537 มีการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง แต่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงไม่ยอมรับการสงบศึก[45] สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงคาดหวังว่าประชาคมนานาชาติจะกดดันพม่าได้ ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 มีการจัดตั้งกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย ทหารกะเหรี่ยงพุทธได้แสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับการต่อต้านชาวพุทธของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เป็นชาวคริสต์ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง และไม่พอใจการฉ้อราษฎร์บังหลวงภายในสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ของผู้นำที่นับถือศาสนาคริสต์[46] และการตัดสินใจยุติการเจรจาของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง กองทัพกะเหรี่ยงพุทธเข้ายึดมาเนอปลอว์ที่ใกล้ชายแดนไทยได้ ด้วยความช่วยเหลือของกองทัพพม่า

ในระหว่าง พ.ศ. 2538 – 2540 มีการประชุมกันหลายครั้งระหว่างทหารพม่ากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงแต่โบเมียะไม่ยอมรับการสงบศึกที่เสนอโดยรัฐบาล ใน พ.ศ. 2540 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง ในปีเดียวกันนี้ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้จัดตั้งกองกำลังสันติภาพกะเหรี่ยง ใน พ.ศ. 2541 ได้มีการจัดตั้งกลุ่มสงบศึกขนาดเล็กทางเหนือของรัฐกะเหรี่ยงในตองอู ส่วนทางตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยง มีชาวกะเหรี่ยงสองพี่น้องฝาแฝดจัดตั้งกองกำลังพระเจ้า หรือก๊อด อาร์มี่ ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 กลุ่มนี้ได้เข้ายึดสถานทูตพม่าในกรุงเทพและโรงพยาบาลในจังหวัดราชบุรี แต่ถูกปราบปรามไป[47]

หลังจากที่มาเนอปลอว์แตก สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้สูญเสียพื้นที่ทางเหนือคือกอมูราไปด้วย จึงสูญเสียรายได้จากภาษีและการค้าชายแดน รวมทั้งผลจากการเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐและไทยเปลี่ยนไป การให้ที่พักคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง ดังนั้นเมื่อสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงโจมตีท่อส่งน้ำมันในรัฐกะเหรี่ยงเมื่อ พ.ศ. 2538 รัฐบาลสหรัฐได้ส่งคำเตือนถึงสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก[48]

กองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย[แก้]

ในช่วงแรก กองทัพกะเหรี่ยงพุทธร่วมมือกับกองทัพพม่า การจัดองค์กรจึงเป็นไปเพื่อสนับสนุนรัฐบาลพม่า ไม่เคยพัฒนานโยบายทางการเมืองเกี่ยวกับชาตินิยมกะเหรี่ยง พรรคนี้ขาดทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ ทำให้ได้รับการสนับสนุนในระดับนานาชาติต่ำ ไม่มีนโยบายประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และอื่นๆ ที่เป็นที่นิยมในประชาธิปไตยแบบตะวันตก ในบริเวณควบคุมของกะเหรี่ยงพุทธจะสอนภาษาพม่าแทนที่จะเป็นภาษากะเหรี่ยง กองทัพกะเหรี่ยงพุทธส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนรูปไปเป็นกองกำลังป้องกันชายแดน[49]

บทบาทของไทยและสหรัฐอเมริกา[แก้]

เด็กหญิงชาวกะเหรี่ยงสะกอในอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน
หมู่บ้านกะเหรี่ยงในประเทศไทย

รัฐบาลไทยเคยใช้รัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐกันชนกับพม่า หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยเกรงภัยจากคอมมิวนิสต์ที่ได้ตั้งพรรคทั้งในไทยและพม่า โดยได้รับการสนับสนุนจากจีน ไทยและสหรัฐจึงสนับสนุนกบฏกะเหรี่ยงในช่วง พ.ศ. 2503 – 2533 สหรัฐยังให้การสนับสนุนรัฐบาลพม่าในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ด้วย โบเมียะกล่าวว่ารัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐกันชนที่ไม่ให้คอมมิวนิสต์ในไทยและพม่ารวมตัวกัน[50] นโยบายของรัฐไทยเปลี่ยนไปในช่วง พ.ศ. 2533 พม่าได้เป็นสมาชิกอาเซียนใน พ.ศ. 2540 ไทยได้ยุติการให้ความช่วยเหลือกองกำลังกะเหรี่ยง[51][52]

ชาวกะเหรี่ยงเริ่มข้ามพรมแดนมายังไทยใน พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายสี่ตัดของกองทัพพม่า ในราว พ.ศ. 2538 มีชาวกะเหรี่ยงนับหมื่นคนอาศัยในค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย หลังจากมาเนอปลอว์แตกใน พ.ศ. 2538 มีชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากข้ามพรมแดนมายังไทย การนำวิถีพม่าสู่สังคมนิยมมาใช้ทำให้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเพิ่มฐานทางการเงินของตนเอง จากการค้าผ่านแนวชายแดนกับไทย โดยเก็บภาษีขาเข้าและขาออก สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงติดอาวุธอื่นๆใช้ค่ายผู้อพยพในไทยเป็นแหล่งสนับสนุนวัตถุดิบ

หลังจากมาเนอปลอว์แตกใน พ.ศ. 2538 ผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ย้ายฐานที่มั่นมาอยู่ใกล้ชายแดนไทยที่แม่สอด ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและเจ้าหน้าที่ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงที่อยู่ในพม่า โดยเฉพาะเขตตะนาวศรี กองทัพพม่าได้รุกใหญ่ใน พ.ศ. 2540 ทำให้มีผู้อพยพระลอกใหม่เข้ามาในไทย ชายแดนไทยในบริเวณแม่สอดได้ปิดลงในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อ พ.ศ. 2553 เพราะความตึงเครียดระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงกับกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย

ผู้อพยพ[แก้]

ค่ายผู้อพยพแม่ลาในประเทศไทย

มีประชาชนอย่างน้อย 2 ล้านคนจากชนกลุ่มน้อยที่หลากหลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยในพม่า ชนกลุ่มน้อยอีกราว 2 ล้านคนกลายเป็นผู้อพยพในประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มใหญ่ที่สุดคือชาวกะเหรี่ยงที่เริ่มอพยพเข้าสู่ไทยใน พ.ศ. 2527 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ประโยชน์จากค่ายผู้อพยพในไทยในฐานะเป็นที่หลบภัยและเป็นแหล่งสนับสนุนอาหารและวัสดุอื่นๆ ผ่านสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย มีชาวกะเหรี่ยงและกะเรนนีราว 2 แสนคนอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ตามแนวชายแดนไทย-พม่า มีชาวกะเหรี่ยง 73,775 คน ที่ได้ไปตั้งหลักแหล่งในประเทศตะวันตกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ส่วนใหญ่เป็นที่สหรัฐ

ความขัดแย้งตั้งแต่ พ.ศ. 2543[แก้]

หลัง พ.ศ. 2533 กองกำลังติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงแตกออกเป็นหลายกลุ่ม และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงก็อ่อนแอลง ใน พ.ศ. 2547 ได้มีการเจรจาสงบศึกระหว่างโบเมียะกับนายพลขิ่น ยุ้น แต่ไม่นานต่อมา ขิ่น ยุ้นถูกขับออกจากรัฐบาล ใน พ.ศ. 2548 มีการเจรจาสงบศึกกันอีก แต่รัฐบาลที่นำโดยตันฉ่วยไม่สนใจการสงบศึก โบเมียะเสียชีวิตใน พ.ศ. 2549 เลขาธิการทั่วไปคนเก่าของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ปะโดะห์ มัญ ชาละห์พัน ได้เข้าทำงานแทนที่โบเมียะ แต่ถูกลอบสังหารเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ใน พ.ศ. 2550 นายพลทินหม่อง ได้นำกำลังพล KNLA ส่วนหนึ่งแยกออกไป กลุ่มนี้เรียกตนเองว่าสภาสันติภาพ KNU-KNLA ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553 เกิดระเบิดบนรถบัสในรัฐกะเหรี่ยง ตาย 2 คน บาดเจ็บ 11 คน[53] ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ตามแนวชายแดนไทย-พม่าได้เกิดการสู้รบหลังการเลือกตั้ง ทำให้มีประชาชนราว 2 หมื่นคนข้ามเข้ามาในดินแดนไทย และเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงกับกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตยรวมตัวกันต่อสู้กับกองทัพพม่า ต้นปี พ.ศ. 2554 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเป็นเพียง 1 ใน 7 กองกำลังกะเหรี่ยงติดอาวุธที่ยังต่อสู้กับรัฐบาล การลงนามในสัญญาสงบศึกเกิดขึ้นเมื่อ 12 มกราคม พ.ศ. 2555 ที่เมืองพะอาน ทำให้การสู้รบในรัฐกะเหรี่ยงสิ้นสุดลง[54]

กะเหรี่ยงที่อยู่นอกความขัดแย้ง[แก้]

กะเหรี่ยงพุทธในย่างกุ้ง

ประชากร 75% ของชาวกะเหรี่ยงไม่ได้อาศัยอยู่ภายในรัฐกะเหรี่ยง และอยู่นอกการควบคุมของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง[55] ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ไม่ได้สนับสนุนการต่อสู้ด้วยอาวุธต่อต้านรัฐบาลพม่า เพราะเห็นว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธมีความเสี่ยงสูงหรือไม่เห็นด้วยกับกลวิธีของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง[56]

ในราว พ.ศ. 2533 ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายกะเหรี่ยงพัฒนาในลุ่มแม่น้ำอิรวดี ซึ่งเป็นองค์กรที่ฝึกชาวกะเหรี่ยงในท้องถิ่นให้มีความเป็นผู้นำ เพิ่มทักษะทางการพัฒนาและชุมชน ในบางตำบล ชาวกะเหรี่ยงทั้งหมดพูดภาษาพม่า ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2533 มีพรรคการเมืองของชาวกะเหรี่ยงเข้าร่วม 3 พรรค ซึ่งใช้วิธีที่แตกต่างกันในการเรียกความสนใจจากชาวกะเหรี่ยง พรรคประชาชนกะเหรี่ยง ตั้งขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2553 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงคริสต์จากย่างกุ้งและดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี พรรคนี้ได้ 1 ที่นั่งในสภาสูง และ 4 ที่นั่งในรัฐกะเหรี่ยง พรรคประชาธิปไตยปะหล่อง-สะวอ เป็นพรรคที่เข้าร่วมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2553 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงพุทธ ได้ 3 ที่นั่งในสภาสูง 2 ที่นั่งในสภาล่าง และ 4 ที่นั่งในรัฐกะเหรี่ยง ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 ได้จัดตั้งพรรคประชาธิปไตยและการพัฒนารัฐกะเหรี่ยงโดยมีความสัมพันธ์กับผู้นำกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย องค์กรทางสังคมพลเรือนมีบทบาทมากขึ้นในการรวมชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงเข้ากับการเมืองของพม่า

อ้างอิง[แก้]

  1. "DKBA appoints new Commander-in-Chief". Mizzima (ภาษาอังกฤษ). 22 April 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 January 2018. สืบค้นเมื่อ 8 January 2018.
  2. 2.0 2.1 Richard, p. 88
  3. Burma center for Ethnic Studies, Jan. 2012, "Briefing Paper No. 1" http://www.burmalibrary.org/docs13/BCES-BP-01-ceasefires(en).pdf เก็บถาวร 3 มีนาคม 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. "Myanmar Peace Monitor: Stakeholders – DKBA-5". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 November 2015. สืบค้นเมื่อ 13 November 2015.
  5. "Government of Myanmar (Burma) - KNU". ucdp.uu.se. Uppsala Conflict Data Program. สืบค้นเมื่อ 17 May 2020.
  6. "Government of Myanmar (Burma) - DKBA 5". ucdp.uu.se. Uppsala Conflict Data Program. สืบค้นเมื่อ 17 May 2020.
  7. 7.0 7.1 South, Burma's Longest war. p. 10 and Shirley L. Worland, "Displaced and misplaced or just displaced: Christian Displaced Karen Identity after Sixty Years of War in Burma" PhD. Philosophy at The University of Queensland, March 2010, p. 23
  8. Patrick Winn (13 May 2012). "Myanmar: ending the world's longest-running civil war". Pittsburgh Post-Gazette. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-25. สืบค้นเมื่อ 27 March 2013.
  9. Callahan M.P., Making Enemies. War and Statebuilding in Burma. Cornell University Press (Ithaca/London, 2013)
  10. South, A., "Burma’s Longest war. Anatomy of the Karen conflict." Transnational Institute and Burma Center Netherlands: Amsterdam, 2011, p. 6
  11. Pattisson, Pete (16 January 2007). "On the run with the Karen people forced to flee Burma's genocide". The Independent (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 April 2019. สืบค้นเมื่อ 20 April 2019.
  12. Gravers, M., "The Karen Making of a Nation." in: Asian Forms of the Nation, Stein Tonnesson and Hans Antlöv, eds. Curzon Press: Richmond, Surrey, 1996. pp. 237 – 269, p. 241.
  13. Hinton, P., "Do the Karen really exist?" in: J. McKinnon and W. Bhruksasri (eds.), Highlanders of Thailand (Kuala Lumpur: Oxford University Press, 1983), 155 - 168
  14. South, p. 2
  15. Harriden, J., “Making a name for themselves: “Karen identity and the politization of ethnicity in Burma”, in: The Journal of Burma Studies, vol. 7, 2002, pp. 84 – 144, p. 85, 92-95.
  16. Thawnghmung, A. Maung, The Karen Revolution in Burma: Diverse Voices, Uncertain Ends. Washington: East – West Center, 2008, p. 3.
  17. Christie, Clive J., “Anatomy of a Betrayal: The Karens of Burma.” In: I.B. Tauris (Eds.), A Modern History of Southeast Asia. Decolonization, Nationalism and Separatism (pp. 54-80). London, England, 2000, p. 53.
  18. Brant, Charles S. and Mi Mi Khaing, “Missionaries among the Hill Tribes of Burma”, in: Asian Survey, Vol. 1, No. 1 (Mar. 1961), p. 44, 46 – 50.
  19. Worland, "Displaced and misplaced or just displaced, p. 27
  20. Callahan, M., Making Enemies. War and State Building in Burma. United States of America: Cornell University Press, 2003, p. 34 - 36
  21. Holliday, I., Burma Redux: Global Justice and the Quest for Political reform in Myanmar. Columbia University Press: New York, 2011, p. 34, 131, 211
  22. Myint-U, T., The Making of Modern Burma, Cambridge University Press: Cambridge, 2001.p. 131, 211
  23. Jorgensen, Anders Baltzer, Foreword in: The Karen People of Burma. A study in Anthropology and Ethnology H. I. Marshall Bangkok: White Lotus Press 1997. Original work from 1945. p. V - XI and page 296
  24. Marshall, Harry I., The Karen people of Burma. A study in Anthropology and Ethnology White Lotus Press: Bangkok, 1997 (original published in 1945)p. 300
  25. Marshall, The Karen people of Burma." p. 300, 306-309
  26. Callahan, Making Enemies, p. 34
  27. Brant,Charles S. and Mi Mi Khaing, “Missionaries among the Hill Tribes of Burma”, in: Asian Survey, Vol. 1, No. 1 (Mar. 1961), p. 49
  28. Keyes, Charles. ‘Afterwords: The Politics of “Karen-Ness” in Thailand’. ed. Claudio O. Delang, 210–9. London: RoutledgeCurzon, 2003, p. 211
  29. Harriden, “Making a name for themselves:”, in: The Journal of Burma Studies, vol. 7, 2002, p. 94 - 98
  30. Callahan,Making Enemies. p. 34
  31. Brant and Khaing, “Missionaries among the Hill Tribes of Burma”, in: Asian Survey, p. 44 and 50
  32. Aung-thwin and Aung-Thwin, A History of Myanmar. London, 2013, p. 180
  33. Brant and Khaing, p. 49-50 and for British historical narratives on the role of Christian Karen please see: Worland, p. 13
  34. Aung-thwin and Aung-Thwin, A History of Myanmar. London, 2013, p. 180
  35. Brant and Khaing, p. 49-50 and for British historical narratives on the role of Christian Karen please see: Worland, p. 13
  36. Callahan, p.71
  37. BBC documentary 'The History of the Karen people', https://www.youtube.com/watch?v=0SRyirsQkkU
  38. Worland, p. 20
  39. Callahan, p. 125–130
  40. Brouwer, Jelmer & Joris van Wijk (2013) "Helping hands: external support for the KNU insurgency in Burma" in: Small Wars & Insurgencies, 24:5, pp. 835–856, p. 837
  41. Callahan, M., Making Enemies. War and State Building in Burma. United States of America: Cornell University Press, 2003, p. 149 and 168
  42. Smith, Burma. p. 391.
  43. South, p. 37-38
  44. Callahan, p. 209
  45. Myint-U, Thant, The Making of Modern Burma, Cambridge University Press: Cambridge, 2001, 66
  46. Smith, Burma. p. 446.
  47. South, p.37
  48. Smith, Burma. p. 448.
  49. South, p. 13, 36, 44
  50. Smith, Burma. p. 297 - 298.
  51. South, p. 20 and 34
  52. Brouwer & van Wijk "Helping hands" p. 840
  53. "Myanmar: Bombings and Pre-Election Tensions". 15 April 2011. สืบค้นเมื่อ 5 December 2014.
  54. Brouwer & van Wijk "Helping hands" p. 839
  55. Brouwer & van Wijk "Helping hands: external support for the KNU insurgency in Burma" p. 838
  56. Thawnghmung, A. Maung, The Karen Revolution in Burma: Diverse Voices, Uncertain Ends. Washington: East – West Center, 2008, p. 10

บรรณานุกรม[แก้]

  • Aung-thwin, M. and M. Aung-Thwin, A History of Myanmar since ancient times. Traditions and Transformations. Reaktion Books: London, 2013.
  • Brant, Charles S. and Mi Mi Khaing, “Missionaries among the Hill Tribes of Burma”, in: Asian Survey, Vol. 1, No. 1 (Mar. 1961), pp. 44 – 51.
  • Brouwer, Jelmer & Joris van Wijk (2013) "Helping hands: external support for the KNU insurgency in Burma" in: Small Wars & Insurgencies, 24:5, pp. 835–856.
  • Callahan, M., Making Enemies. War and State Building in Burma. United States of America: Cornell University Press, 2003.
  • Callahan, M., “Myanmar’s perpetual junta. Solving the Riddle of the Tatmadaw’s Long Reign.” In: New Left Review, vol. 60, nov/dec 2009, pp. 27 – 63.
  • Christie, Clive J., “Anatomy of a Betrayal: The Karens of Burma.” In: I.B. Tauris (Eds.), A Modern History of Southeast Asia. Decolonization, Nationalism and Separatism(pp. 54–80). London, England, 2000.
  • Gravers, M., "The Karen Making of a Nation." in: Asian Forms of the Nation, Stein Tonnesson and Hans Antlöv, eds. Curzon Press: Richmond, Surrey, 1996. pp. 237 – 269.
  • Harriden, J., “Making a name for themselves: “Karen identity and the politization of ethnicity in Burma”, in: The Journal of Burma Studies, vol. 7, 2002, pp. 84 – 144.
  • Hinton, P., "Do the Karen really exist?" in: J. McKinnon and W. Bhruksasri (eds.), Highlanders of Thailand (Kuala Lumpur: Oxford University Press, 1983), p. 155 – 168.
  • Keyes, Charles. ‘Afterwords: The Politics of “Karen-Ness” in Thailand’. ed. Claudio O. Delang, 210–9. London: RoutledgeCurzon, 2003.
  • Lang, Hazel J., Fear and Sanctuary. Burmese refugees in Thailand. Cornell Southeast Asia Program: United States of America, 2002.
  • Marshall, Harry I., The Karen people of Burma. A study in Anthropology and Ethnology White Lotus Press: Bangkok, 1997 (original published in 1945).
  • Myint-U, Thant, The Making of Modern Burma, Cambridge University Press: Cambridge, 2001.
  • Pedersen, D., Secret Genocide. Voices of the Karen of Burma. Maverick House Publisher: Dunboyne, Ireland, 2011.
  • Petry, Jeffrey L.,The Sword of the Spirit: Christians, Karens, Colonists, and the Creation of a Nation of Burma. University Microfilms international: Ann Arbor, 1995.
  • Rajah, A., "Contemporary Developments in Kawthoolei: The Karen and Conflict Resolution in Burma." Thai-Yunnan Project Newsletter 19, 1992. (http://www.nectec.or.th/thai-yunnan/19.html#3)
  • Selth, A., "Race and resistance in Burma, 1942 – 1945" in: Modern Asian Studies Vol. 20, issue 3, 1987, pp. 483 – 507.
  • Silverstein, J., "Ethnic Protest in Burma: Its Causes and Solutions." in: Protest movements in South and South-East Asia: Traditional and Modern Idioms of Expression. Rajeswari Ghose, ed. Centre of Asian Studies, University of Hong Kong: Hong Kong, 1987. pp. 81 – 94.
  • Smith, Martin J., Burma: insurgency and the politics of ethnicity. Zed Books: London, 1999.
  • South, A., Burma’s Longest war. Anatomy of the Karen conflict. Transnational Institute and Burma Center Netherlands: Amsterdam, 2011, pp. 1–53.
  • Thawnghmung, A. Maung, The Karen Revolution in Burma: Diverse Voices, Uncertain Ends. Washington: East – West Center, 2008.
  • "Burma's Ethnic Challenge: From Aspirations to Solutions." Burma Policy Briefing no. 12, Transnational Institute and Burma Centre Netherlands: Amsterdam, 2013. pp. 1 – 20.
  • Worland, Shirley L., "Displaced and misplaced or just displaced: Christian Displaced Karen Identity after Sixty Years of War in Burma" PhD. Philosophy at The University of Queensland, March 2010, p. 1 – 323.

วารคดี[แก้]

อ่านเพิ่ม[แก้]

  • Charney, Michael W., A History of Modern Burma. Cambridge University Press, 2009.
  • Falla, J., True Love and Bartholomew: Rebels on the Burmese Border. Cambridge University Press: New York, 1991.
  • Fong, Jack. Revolution as Development: The Karen Self-Determination Struggle Against Ethnocracy (1949–2004). Boca Raton, FL: Brownwalker Press.
  • Fredholm, M., Burma: Ethnicity and Insurgency. Praeger: Westport,1993.
  • Holliday, I., Burma Redux: Global Justice and the Quest for Political reform in Myanmar. Columbia University Press: New York, 2011.
  • Hlaing, Kyaw Yin, Prisms on the Golden Pagoda. Perspectives on national reconciliation in Myanmar. National University of Singapore Press: Singapore, 2014.
  • Keyes, Charles F. (ed), Ethnic Adaptation and Identity: The Karen on the Thai Frontier with Burma. Institute for the Study of Human Issues: Philadelphia, 1979.
  • Keyes, Charles F., The Golden Peninsula: Culture and Adaptation in Mainland Southeast Asia. University of Hawaii Press: Honolulu, 1995.
  • Lintner, B., Burma in Revolt: Opium and Insurgency since 1948. White Lotus Press: Bangkok, 1994
  • MacDonald, M., Kawthoolei Dreams, Malaria Nights: Burma's Civil War. White Lotus Press: Bangkok, 1999.
  • Marks, Thomas A., "The Karen Revolt in Burma." in: Issuas and Studies vol. 14, issue 12, pp. 48 – 84.
  • Rajah, A., "Ethnicity, Nationalism, and the Nation-State: The Karen in Burma and Thailand." in: Ethnic Groups Across National Boundaries in Mainland Southeast Asia. Gehan Wijeyewardene, ed. Institute of Southeast Asian Studies: Singapore, 1990. pp. 102 – 133. ISBN 981-3035-57-9.
  • Renard, Ronald D., "The Karen Rebellion in Burma." in: Secessionist movements in comparative perspective. Ralph R. Premadas, S.W.R. De A. Samarasinghe and Alan Anderson, eds. Pinter: London, 1990. pp. 95 – 110.
  • Smith, Martin J., "Ethnic Politics and regional Development in Myanmar: The Need for new approaches" in: Myanmar: Beyond Politics to Societal imperatives. ISEAS Press: Singapore, 2005.
  • South, A., Ethnic Politics in Burma: States of Conflict London: Routledge, 2008.
  • South, A., “Karen Nationalist Communities: The “Problem” of Diversity””, in: Contemporary Southeast Asia, vol. 29, no. 1 (April 2007), pp. 55 – 76.
  • Steinberg, David I., Burma/Myanmar. What everyone needs to know. Oxford University Press: New York, 2013.
  • Stern, T., "Ariya and the Golden Book: A millenarion Buddhist Sect among the Karen." in: The Journal of Asian Studies vol. 27, issue 2, pp. 297 – 328.
  • Tambiah, Stanley J., “Ethnic conflict in the world today.” In: American Ethnologist, Vol. 16, No. 2 (May 1989), pp. 335–349.
  • Taylor, Robert H., The State in Burma. C. Hurst & Co. Publishers, 1987.
  • Thomson, Curtis N., “Political Stability and Minority Groups in Burma”, in: Geographical Review, Vol. 85, no. 3 (July 1995), pp. 269 – 285.
  • Tinker, H. (ed.), Burma: The Struggle for Independence, 1944 – 1948: Documents from Official and Private Sources. 2 vols. H.M.S.O: London, 1983.
  • Walton, Matthew J., “Ethnicity, Conflict, and history in Burma: The Myths of Panglong” in: Asian survey, vol. 48, no. 6 (November/December 2008), pp. 889–910.
  • Yhome, K., Myanmar. Can the generals resist change? Rupa & Co.: New Delhi, 2008.