คลองแสนแสบ
คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ขุดขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน ซึ่งมีการใช้ส่วนหนึ่งของคลองสำหรับการขนส่งสาธารณะโดยเรือด่วนที่กรุงเทพ คลองนี้มีความยาว 72 กิโลเมตรไหลผ่าน 21 เขต และเชื่อมคลองสายย่อยกว่า 100 แห่ง[1][2]
คลองแสนแสบช่วงที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครและช่วงที่อยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน ส่วนกรมเจ้าท่าจะดูแลในส่วนของยานพาหนะที่สัญจรในคลองแสนแสบ[3]
ชื่อ
[แก้]แสนแสบ
[แก้]ที่มาของชื่อคลองแสนแสบนั้น มีข้อสันนิษฐานดังนี้[4]
- ว่ากันว่าชื่อคลองที่เรียกว่า "แสนแสบ" นั้นเพราะยุงชุม โดยมีหลักฐานจากบันทึกการเดินทางของนักสำรวจชาวอังกฤษชื่อนาย ดี.โอ. คิง ความว่า "...คลองนี้ยาวถึง 55 ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯ กับแม่น้ำบางปะกง บริเวณที่ราบชนบท... คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์... ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ ..."
- "แสนแสบ" อาจเพี้ยนมาจากคำที่ยืมมาจากภาษาเขมรว่า แสสาบ เพราะในสมัยหนึ่งคนไทยเคยเรียกทะเลว่า เส หรือ แส ส่วนคำว่า สาบ เป็นภาษาเขมรแปลว่า "จืด" คำนี้คนไทยยืมมาใช้เรียกทะเลน้ำจืดว่า "ทะเลสาบ" อย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น แสสาบ หรือที่แปลว่าทะเลน้ำจืด อาจถูกนำมาใช้เรียกคลองน้ำจืดอันกว้างและยาวแห่งนี้ แล้วเพี้ยนเสียงกลายมาเป็น แสนแสบ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป ประกอบกับในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยได้กวาดต้อนเชลยศึกชาวเขมรมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ย่านบางกะปิเป็นจำนวนมาก ชาวเขมรจึงอาจเรียกคลองที่ไหลผ่านแหล่งชุมชนของตนด้วยภาษาเขมร แล้วเพี้ยนมาเป็นแสนแสบดังที่กล่าวไปแล้ว
- "แสนแสบ" อาจเพี้ยนมาจากคำมลายูว่า เซอญัป ซึ่งเป็นชื่อเรียกขานของชาวมุสลิมที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองภาคใต้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และมาตั้งบ้านเรือนแถบวัดชนะสงคราม กระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จและเสร็จศึกจึงให้มาอยู่ตามแนวคลองนั้น และเนื่องจากเคยอาศัยอยู่ริมคลองใกล้ทะเล กระแสน้ำแรง เมื่อมาอยู่ริมคลองที่น้ำไหลช้า ค่อนข้างนิ่ง จึงเรียกคลองนี้ว่า ซูไงเซอญัป หรือคลองที่เงียบสงบ โดย ซูไง แปลว่าคลองหรือแม่น้ำ และ เซอญัป แปลว่า "เงียบ" ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนกันไปเป็น แสนแสบ
ชื่อต่าง ๆ
[แก้]ในช่วงคลองแสนแสบใต้มีชื่อค่อนข้างสับสนดังนี้ ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ (สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) เรียกคลองช่วงนี้ว่า "คลองนางหงส์" ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งสร้างพระราชวังประทุมวันที่ริมคลองในที่นาหลวง เรียกชื่อคลองว่า "คลองบางกะปิ" ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏในแผนที่มณฑลกรุงเทพ สยาม ร.ศ. 120 เรียกว่า "คลองแสนแสบ" แต่ในแผนที่บริเวณกรุงเทพฯ ร.ศ. 126 เรียกว่า "คลองมหานาค" ครั้นในแผนที่บริเวณกรุงเทพฯ ร.ศ. 129 กลับเรียกว่า "คลองบางกะปิ" ในจดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2525 เรียกคลองว่า "คลองแสนแสบใต้" บางแห่งได้ระบุช่วงตั้งแต่แยกคลองมหานาคถึงวัดใหม่ช่องลมว่า "คลองบางกะปิ" จากนั้นถัดไปจึงเรียก "คลองแสนแสบ"[5]
ส่วนที่เรียกว่า "คลองบางขนาก" นั้น เอนก นาวิกมูล ระบุว่า "ทางปลายข้างซ้ายของคลองบางขนากต่อกับคลองแสนแสบตรงแยกนครเนื่องเขต ปลายข้างขวาตกแม่น้ำบางปะกง"[6]
ประวัติ
[แก้]ขุดคลอง
[แก้]คลองแสนแสบเริ่มต้นที่คลองมหานาคตรงบริเวณป้อมมหากาฬในกรุงเทพ แล้วสิ้นสุดลงที่แม่น้ำบางปะกง ส่วนตั้งแต่ช่วงคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงหัวหมากนั้น (เรียก คลองแสนแสบเหนือ) ยังไม่พบหลักฐานว่าขุดขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าหลังจากขุดคลองมหานาคในสมัยรัชกาลที่ 1[7]
คลองแสนแสบใต้ได้ขุดขึ้นตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[8] ในช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่างสยามกับอันนัมเหนือกัมพูชา เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการขนส่งเสบียงอาหารและยุทธภัณฑ์ที่ยาวนานถึง 14 ปี[9][10] การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2380 ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 3 ระบุว่า "คลองแสนแสบขุดขึ้นเมื่อเดือน 2 ขึ้น 4 ค่ำ ปีระกา จุลศักราช 1199 ตรงกับวันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2380"[11] และใช้ค่าใช้จ่ายไป 96,000 บาท[12] ต่อมาจึงแล้วเสร็จในเวลา 3 ปี[13]
วิธีการขุดคลองคือใช้กระบือเหยียบย่ำลงไปในโคลนเลนที่ขุดไว้ เพื่อให้ลำคลองมีความลึก แม้จุดประสงค์หลักในการขุดคลองเพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ แต่ก็ได้ผลประโยชน์ทางด้านการค้าด้วยเช่นกัน คือเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางการเกษตร อย่างน้ำตาล และข้าว รวมถึงสินค้าต่าง ๆ รัฐมีการตั้งด่านภาษีขึ้นบริเวณที่ปัจจุบันคือ วัดภาษี[14]
ผู้ดูแลในการขุดคลองคือ พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) ภายหลังเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้เข้ามาดูแลการขุดคลองแสนแสบ แทนพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) เนื่องจากพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาต้องคุมทัพไปช่วยราชการเมืองไทรบุรี[15] ระยะแรกหลังจากขุดคลอง คงมีชุมชนไม่มากนัก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2382 หลังจากที่พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) ได้ยกทัพไปจัดการหัวเมืองมลายูแล้วยกทัพกลับมา ได้กวาดต้อนชาวมลายูเมืองกลันตันและไทรบุรีมาตั้งชุมชนอยู่ริมคลองแสนแสบ
คลองที่ขุดตั้งแต่ช่วงหัวหมากไปถึงบางขนาก ได้จ้างจีนขุดคลอง เป็นทาง 1,337 เส้น 19 วา 2 ศอก (ระยะทาง 53.52 กม. ค่าจ้างขุด 93,660 บาท) แต่ยังขาดระยะทางอีก 247 เส้น หรือ 9.88 กม จึงออกแม่น้ำบางปะกงได้ สันนิษฐานว่าหากไม่เพิ่มค่าจ้างจีนเพิ่ม ก็คงเกณฑ์ชาวเขมร ชาวมลายูปัตตานีที่กวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1–3 เป็นผู้ขุด[16]
จับจองพื้นที่
[แก้]ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีนโยบายจัดสรรที่ดินที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มคนต่าง ๆ เมื่อ พ.ศ. 2313 ตามนโยบายการปกครอง เช่น กลุ่มมุสลิม ดังแนวพระราชกระแสของสมเด็จพระเจ้าตากสินว่า "...สำหรับมุสลิมนั่น ข้าขอให้อยู่ทางฝั่งตะวันออกแถวมักกะสันไปจนถึงทุ่งแสนแสบ คอยช่วยข้าดูแลฝั่งโน้น..."[17]
ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวมุสลิมได้อพยพมาจังจองพื้นที่ริมคลองแสนแสบ ในช่วงแรกเป็นที่ดินที่ไม่มีราคาและเป็นท้องที่ห่างไกล มีช้างป่าอาศัยอยู่ชุกชุม
นายมาน มูฮำหมัด ได้เล่าว่า "บรรพบุรุษเป็นชาวมลายูปัตตานีถูกกวาดต้อนเข้ามาอาศัยที่ทุ่งพญาไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมาเมื่อเกิดสงครามกับญวนและเขมร ได้เกณฑ์ชาวมลายูเหล่านี้ไปขุดคลองแสนแสบที่ปลายคลองมหานาคซึ่งแต่เดิมเป็นลำประโดงเล็ก ๆ คดโค้งไปตามธรรมชาติ การขุดจึงเป็นเพียงแค่ขุดร่องน้ำให้กว้างขึ้นเป็นคลอง ผ่านคลองตัน คลองสามเสน มีนบุรี หนองจอกถึงบางขนาก ภายหลังการขุดคลองเสร็จได้โยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในทุ่งแสนแสบ หักร้างถางพงจนเป็นที่นา เหตุนี้ทำให้ตลอดลำคลองแสนแสบเป็นชุมชนมุสลิมตั้งแต่มหานาค บ้านครัว บ้านดอน คลองตัน บางกะปิ บึงกุ่ม หลอแหล มีนบุรี แสนแสบ คู้ เจียระดับ หนอกจอก กระทุ่มราย บางน้ำเปรี้ยวและบางขนาก"[18]
วัดและมัสยิดริมคลองแสนแสบ มีการสร้างวัดในพระพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยธนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2315 คือ วัดแสนแสบหรือวัดแสนสุขในปัจจุบัน มีการสร้างสุเหร่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือ สุเหร่ากองอาสาจามหรือมัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ (บ้านครัว) ในปัจจุบัน กลุ่มผู้สร้างสุเหร่าเป็นกลุ่มมุสลิมจามหรือเขมรรุ่นแรกคือ พระยาบังสัน (แม้น) ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการสร้างวัดเพิ่มจำนวน 8 แห่ง ซึ่งเป็นสมัยที่ขุดคลองแสนแสบ[19]
ราษฎรเริ่มมาจับจองพื้นที่บริเวณริมคลองแสนแสบมากขึ้นภายหลังจากโครงการขุดคลองรังสิต ปรากฏรายชื่อผู้จับจองที่ดินทุ่งแสนแสบ พ.ศ. 2433 มีทั้งหมด 51 รายชื่อ เป็นที่นา 53,900 ไร่ แบ่งเป็นเจ้านาย 13 ราย จำนวน 21,000 ไร่ หม่อมเจ้า 7 พระองค์ หม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวงอีก 19 ราย ผู้มีบรรดาศักดิ์ของจองที่นา 20,000 ไร่ ที่เหลือเป็นราษฎรอีก 19 ไร่ ขอจองที่นา 12,900 ไร่[20]
พ.ศ. 2449 มีการขุดแต่งและขยายคลองแสนแสบ ระยะทาง 75 กิโลเมตร[21] และยังสร้างประตูน้ำ 3 ประตู คือ ประตูน้ำวังสระปทุม ประตูน้ำบางขนาก และประตูน้ำท่าไข่
ช่วงปี พ.ศ. 2451 นายเลิศริเริ่มเดินเรือเมล์ในคลองแสนแสบ ชาวบ้านจะเรียกว่า เรือเมล์ขาว ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้เกิดชุมชนการค้าขึ้นตามริมคลองแสนแสบหลายแห่ง เช่น ตลาดประตูน้ำเฉลิมโลก ตลาดคลองตัน ตลาดวัดตึก ตลาดบางกะปิ ตลาดบางเตย ตลาดหลอแหล ตลาดบางชัน ตลาดมีนบุรี ตลาดคู้ ตลาดเจียรดับ และตลาดหนองจอก[22] อีกทั้งนายเลิศชอบแล่นเรือเที่ยวตามคลองแสนแสบจึงได้รู้จักคนแถวนั้น ชาวบ้านมักเอาลูกหลานมาฝากให้อยู่กับท่านเพื่อเรียนหนังสือ ภายหลังจึงได้สร้างโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญบริเวณริมคลองแสนแสบ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2453 ภายหลังมีการแยกโรงเรียนเป็นหญิงและชาย ได้ย้ายโรงเรียนชายอยู่บนถนนรามอินทรา ส่วนที่ตั้งเก่าเป็นโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ[23] นอกจากนั้นนายเลิศยังมาบุกเบิกพื้นที่ด้วยการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และบ้านเรือนให้เช่าบริเวณคลองแสนแสบแถบมีนบุรี ภายหลังชาวจีนจึงอพยพเข้ามาตั้งรกรากที่นี่ ปัจจุบันคือ ชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์ ชุมชนแห่งนี้ยังคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมของชุมชนชาวจีนอพยพที่มีลักษณะเฉพาะตัว อาคารยุคแรกสร้างขึ้นในช่วงราว พ.ศ. 2448[24]
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังปทุมวันในย่านสยาม ชื่อวังและเขตปทุมวันในปัจจุบันมาจากที่นี่[25] พระตำหนักเขียวซึ่งเป็นพระตำหนักแรกในวังสระปทุมสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2459 ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ[26]
พ.ศ. 2479 เมื่อมีการตัดถนนสุขุมวิทขนานไปกับคลองแสนแสบจึงเกิดบ้านเดี่ยว ตึกแถวริมถนน มีการจัดสรรที่ดินเป็นแปลงย่อย พัฒนาพื้นที่เข้าไปจากแนวถนนจนติดคลอง ในช่วง พ.ศ. 2505–2508 มีการตัดถนนเพชรบุรีตัดใหม่ขนานไปกับคลองแสนแสบ รวมถึงมีการก่อสร้างสะพานข้ามคลองแสนแสบในช่วงนานา อโศก และเอกมัย เพื่อเชื่อมถนนสุขุมวิทกับถนนเพชรบุรี ในช่วง พ.ศ. 2536–2538 มีการก่อสร้างสะพานข้ามคลองแสนแสบในซอยทองหล่อ[27]
ปัจจุบัน
[แก้]ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ตามแนวคลองแสนแสบในปัจจุบัน เป็นผู้ที่เพิ่งโยกย้ายถิ่นฐานไม่นาน อยู่รวมกันเป็นชุมชน เช่น ชุมชนบ้านครัว ชุมชนหลังวัดปทุมวนาราม ชุมชนบ้านดอน ชุมชนเทพลีลา ชุมชนวัดไผ่ดำ เป็นต้น ชุมชนเหล่านี้มีราษฎรที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินถึงร้อยละ 50 เป็นครัวเรือนที่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยร้อยละ 27.1 เป็นครัวเรือนที่มีกรรมสิทธิ์เฉพาะที่พักอาศัยแต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ เป็นครัวเรือนที่มีกรรมสิทธิ์เฉพาะที่พักอาศัยแต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินร้อยละ 22.924[28]
นับแต่ พ.ศ. 2520–2537 คลองแสนแสบเริ่มมีสภาพเน่าเสีย อันเนื่องมาจากแผนพัฒนาการอุตสาหกรรมของรัฐบาลและการสร้างถนน ผู้คนที่พักตามริมคลองในลักษณะหอพักหรือ ห้องเช่าสำหรับผู้ใช้แรงงานที่โยกย้ายถิ่นฐานจากต่างจังหวัดมาหางานทำในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในเมือง ผู้พักอาศัยเหล่านี้มักทิ้งของเสียลงในคลอง ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมก็ปล่อยน้ำเสียลงในคลองเช่นกัน จากข้อมูล พ.ศ. 2563 น้ำเสียส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากกิจกรรมชุมชนบริเวณริมคลอง รองลงมาเกิดจากโรงงานและสถานประกอบการ ปริมาณน้ำเสียเมื่อ พ.ศ. 2563 มีปริมาณน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดถูกปล่อยลงคลองแสนแสบและคลองสาขารวม 807,672 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีค่าเฉลี่ยความสกปรกหรือบีโอดี (BOD) อยู่ระหว่าง 6.9–12.2 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งแหล่งน้ำที่มีค่าบีโอดีมากกว่า 8 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือเป็นแหล่งน้ำที่มีมลพิษอย่างรุนแรง[29]
หลัง พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา รัฐบาลในแต่ละสมัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของคลองแสนแสบ จึงพยายามแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแสนแสบอย่างต่อเนื่อง[14] ในปี 2558 รัฐบาลประยุทธ์เตรียมงบประมาณ 7 พันล้านบ้านเพื่อต้องการให้คลองแสนแสบใสภายใน 2 ปี[30]
คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนหลักการพัฒนา ฟื้นฟู สภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564 โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2564) ระยะกลาง (พ.ศ. 2565-2570) และระยะยาว (พ.ศ. 2571-2574) มีโครงการที่จะดำเนินการจำนวน 84 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 82,563 ล้านบาท วงเงินส่วนใหญ่ร้อยละ 88 เป็นของกรุงเทพมหานคร[31] มีโครงการเช่น โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย โครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองแสนแสบ โครงการเดินเรือคลองแสนแสบส่วนต่อขยายระยะทาง 10 กิโลเมตร โครงการต่อเรือไฟฟ้า 12 ลำ และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำ เป็นต้น[32]
ความยาวและเส้นทาง
[แก้]คลองแสนแสบเป็นคลองสำคัญที่เชื่อมต่อจากปลายคลองมหานาค ผ่านย่านสำคัญของกรุงเทพฯ ได้แก่ ย่านมหานาค ประตูน้ำ ในพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิต เขตปทุมวัน เขตราชเทวี เขตวัฒนา เขตห้วยขวาง เขตสวนหลวง เขตบางกะปิ เขตวังทองหลาง เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว เขตสะพานสูง เขตมีนบุรี เขตคลองสามวา และเขตหนองจอก ไปออกแม่น้ำบางปะกงที่เขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา มีความยาวประมาณ 73.8 กิโลเมตร โดยแรงงานสำคัญของการขุดในช่วงต้น คือ ชาวจีนขุดคลองตั้งแต่ปลายคลองมหานาคไปจนถึงช่วงหัวหมาก และขุดจากคลองบางกะปิไปเชื่อมกับคลองบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นแรงงานจ้างชาวจีน[33]
คลองสาขา
[แก้]เนื่องจากคลองแสนแสบเป็นคลองหลัก ในการคมนาคมระหว่างลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำบางปะกง จึงมีการขุดคลองซอยขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนี้
ผลกระทบ
[แก้]ตั้งเมือง
[แก้]จุดประสงค์การขุดคลองแสนแสบเพื่อลำเลียงเสบียงอาหารและเครื่องยุโธปกรณ์ส่งกองทัพที่ตั้งกัมพูชา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงโปรดให้ตั้งเมืองขึ้นเป็นระยะเป็นสถานีประชุมพล ได้แก่ ตั้งบ้านกบแจะเป็นเมืองประจันตคาม (ขึ้นเมืองปราจีนบุรี เมือง 1) ตั้งด่านหนุมานเป็นเมืองกบินทร์บุรี (ขึ้นเมืองปราจีนบุรี เมือง 1) ตั้งบ้านทุ่งแขยกเป็นเมืองวัฒนานคร (ขึ้นเมืองปราจีนบุรี เมือง 1) ตั้งบ้านหินแร่เป็นเมืองอรัญประเทศ (ขึ้นเมืองปราจีนบุรี เมือง 1) ตั้งบ้านท่าสวายเป็นเมืองศรีโสภณ (ขึ้นเมืองพระตะบอง เมือง 1) และโปรดให้ปันเขตเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรารวมเป็นเมืองพนัสนิคมอีกเมือง 1[34]
วัฒนธรรมประชานิยม
[แก้]คลองแสนแสบเป็นฉากหลังของนิยายเรื่อง แผลเก่า ของไม้ เมืองเดิม ออกสู่สาธารณะเมื่อ พ.ศ. 2478 นิยายเรื่องนี้ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครหลายครั้ง[35] โดยมีเพลงประกอบ "ขวัญของเรียม" และ "แสนแสบ"[36] และยังทำให้เกิดสถานท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมคือ ตลาดน้ำขวัญ-เรียมในย่านมีนบุรี แม้สถานที่ตั้งไม่ตรงกับสถานที่ในนิยายแต่ก็อยู่ในแนวคลองแสนแสบเดียวกัน[37]
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่องเสด็จประพาสคลองแสนแสบ ซึ่งเจ้าจอมมารดาอ่อนในรัชกาลที่ 5 พิมพ์ในงานทำบุญหน้าพระศพพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพครบ 50 วัน ณ วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 รูปแบบงานเขียนนี้เป็นบันทึกการเดินทางแบบจดหมายเหตุรายวันระยะทาง เมื่อ ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450)[38]
เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2537 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จประพาสคลองแสนแสบทางเรือจากท่าน้ำผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงประตูท่าไข่[39] ทรงมีพระราชดำรัสในการเสด็จครั้งนี้ว่า "คลองแสนแสบเป็นคลองสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สมควรได้รับการดูแลรักษาต่อไป" หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็น "วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ" ได้มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อเป็นองค์กรหลักในการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อม คู คลอง[40]
ภาพลักษณ์
[แก้]คลองแสนแสบเป็นที่จดจำว่าเป็นคลองสกปรกส่งกลิ่นเหม็นเน่า ทางเดินไม่มีแสงไฟส่องสว่างและดูอันตราย ในปี 2564 มีการเผยแพร่ภาพทางสื่อสังคมระบุว่าคลองได้รับการปรับปรุงแล้ว น้ำสะอาด และมีทางเดินที่ดูสวยงาม แต่คนในพื้นที่ยืนยันว่าเป็นแค่การจัดฉาก[41]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Wipatayotin, Apinya (26 January 2017). "Pollution fee high on canal clean-up list". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 26 January 2017.
- ↑ Wipatayotin, Apinya (20 December 2017). "49 fined over canal discharges". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 20 December 2017.
- ↑ "ความเป็นมา". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์.[ลิงก์เสีย]
- ↑ พัชรเวช สุขทอง. "คลอง "แสนแสบ" ชื่อนี้มาจากไหน หรือจะมาจากยุง?". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "คลองเก่าเล่าประวัติเมือง". สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. p. 129.
- ↑ เอนก นาวิกมูล. "ต้นคลองปลายคลองของ มหานาค-บางกะปิ-แสนแสบ อยู่ที่ไหน". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "เขตบางกะปิ ฯลฯ". มติชน.
- ↑ Gerald W. Fry; Gayla S. Nieminen; Harold E. Smith (8 August 2013). Historical Dictionary of Thailand. Scarecrow Press. pp. 206–. ISBN 978-0-8108-7525-8.
- ↑ Maryvelma Smith O'Neil (2008). Bangkok: A Cultural History. Oxford University Press. pp. 108–. ISBN 978-0-19-534251-2.
- ↑ The Journal of the Siam Society. 1977.
- ↑ ชลธิรา สัตยาวัฒนา และ เรืองศักดิ์ ดำริห์เลิศ (2545). สิทธิชุมชนบ้านครัว กรุงเทพมหานคร ผลงานวิจัยเล่มที่ 3 ประวัติศาสตร์บ้านครัว และการต่อต้านทางด่วนซีดีโร้ดของชาวชุมชน: รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
- ↑ Porphant Ouyyanont (14 February 2018). Regional Economic History of Thailand. Flipside Digital Content Company Inc. pp. 19–. ISBN 978-981-4786-14-0.
- ↑ Tanabe, Shigeharu (1977). "Historical Geography of the Canal System in the Chao Phraya Delta". Journal of the Siam Society. 65 (2).
- ↑ 14.0 14.1 วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์. "คลองแสนแสบ : ความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลง" (PDF). ไทยศึกษา.
- ↑ ศานติ ภักดีคำ. "วัดเทพลีลา วัดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สร้างคราวขุดคลอง "แสนแสบ"". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "คลองแสนแสบและบรรพชนมุสลิมเชื้อสายต่างๆ". อาลี เสือสมิง.
- ↑ วินัย สะมะอุน, มุสลิมนอกพื้นที่ภาคใต้, เอเชียปริทัศน์ 23, 2 (กรกฎาคม–ธันวาคม 2545): 81.
- ↑ ดำริห์เลิศ, เรืองศักดิ์ (2545). ประวัติศาสตร์บ้านครัวและการต่อต้านทางด่วนซีดีโรดของชาวชุมชน. อรุณการพิมพ์. p. 30.
- ↑ รุ่งอรุณ กุลธำรง. "วัดกับมัสยิดริมคลองแสนแสบ : ความเป็นมาและการดำรงอยู่" (PDF). p. 77.
- ↑ พิมพ์อุมา โตสินธพ. "คลองเชื่อมกับพัฒนาการของชุมชนในลุ่มแม่น้ำบางปะกง ระหว่าง พ.ศ. 2420-2500" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ สุวิชัย โกศัยยะวัฒน์. "ปกิณกะ การพัฒนาด้านการซลประทานในภาคตะวันออก : การพัฒนาคุณภาพชีวิตในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411–2453)".
- ↑ โรม บุนนาค. "เปิดตำนาน "เลิดสะมันเตา" คนแรกที่ปั้นน้ำเป็นตัว ทำเรือเมล์-รถเมล์ ทายาทเพิ่งขายอู่รถเมล์ไปหมื่นกว่าล้าน!". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ ""ท่านเลิด" ผู้ก่อตั้งโรงเรียน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-20. สืบค้นเมื่อ 2022-07-16.
- ↑ "ชมห้องแถวโบราณของชาวจีนอพยพแห่งย่านการค้าในอดีต ที่ชุมชนชานกรุงฯ "มีนบุรีอุปถัมภ์"".
- ↑ "Bangkok's Crucible of Construction". 2Bangkok.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 November 2005. สืบค้นเมื่อ 26 January 2017.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "วังสระปทุม บ้านแห่งรักและผูกพันของในหลวงรัชกาลที่ 9". สุดสัปดาห์.
- ↑ เจนการ เจนการกิจ. "ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรม ในย่านสุขุมวิท" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
- ↑ วาสินี พงศ์ชินฤทธ์, คุณภาพชีวิตของประชาชนสองฝั่งคลองแสนแสบ, (วิทยานิพนธ์ปริญญาพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2540), หน้า 5.
- ↑ "วิจารณ์สนั่น เท 8 หมื่นล้าน ฟื้น 'คลองแสนแสบ' ป้อมเมินตอบ เร่งฝีเท้าขึ้นทำเนียบ". ข่าวสด.
- ↑ "ครม.ทุ่มงบ 7 พันล้านฟื้นฟูคลองแสนแสบใสสะอาดใน 2 ปี". ผู้จัดการออนไลน์. 10 November 2015. สืบค้นเมื่อ 5 June 2022.
- ↑ "สทนช.ชี้แผนหลักพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ". รัฐบาลไทย.
- ↑ "ครม. ผ่านแผนพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ระยะ 11 ปี 84 โครงการ รวมกว่า 8.25 หมื่นลบ". กรมประชาสัมพันธ์.
- ↑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) (1938-03-17). "117. ขุดคลองบางขนากและแก้คลองพระโขนง". พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3.
- ↑ ศานติ ภักดีคำ. "คลองแสนแสบ: ความสำคัญในฐานะเส้นทางเดินทัพไทย-กัมพูชส" (PDF). หน้าจั่ว. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-07-16. สืบค้นเมื่อ 2022-07-16.
- ↑ โรม บุนนาค. "ความเปลี่ยนแปลงของคลองแสนแสบ! เมื่อ ร.๓ ขุด ร.๕ ประทับแรม ๒ คืน ร.๙-สมเด็จพระเทพฯสำรวจ!!". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ พรรณราย เรือนอินทร์. "จากบางปะกงถึงกรุงเทพฯ ล่องประวัติศาสตร์'แสนแสบ' (ก่อน) 2380-2563". มติชน.
- ↑ "ตลาดน้ำ "ขวัญ–เรียม" แหล่งเที่ยวใหม่ชานเมือง". ไทยรัฐ.
- ↑ พรรณราย ชาญหิรัญ. "พระราชนิพนธ์ร้อยแก้วบันทึกการเสด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2419-2452): วรรณคดีกับโลกสันนิวาส" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ "วันอนุรักษ์คูคลองแห่งชาติ". สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-03. สืบค้นเมื่อ 2022-07-03.
- ↑ "วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ (In Thai)". Thailand Environment Institute Foundation (TEI).[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ชาวเน็ตจวกแรง! แสนแสบโฉมใหม่ สวยแต่รูป-ดีแค่บางจุด ของจริงยังเหม็นจัด". ข่าวสด. 8 June 2021. สืบค้นเมื่อ 5 June 2022.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่กรุงเทพมหานคร เก็บถาวร 2007-06-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร
13°44′57.878″N 100°32′25.035″E / 13.74941056°N 100.54028750°E