คลองสองต้นนุ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คลองสองต้นนุ่น เป็นคลองขุดเชื่อมต่อจากคลองสามวาด้านทิศใต้ ตั้งแต่จุดบรรจบคลองแสนแสบไปสิ้นสุดที่ฟากเหนือของคลองประเวศบุรีรมย์ คลองนี้ใช้เป็นคลองระบายน้ำสายหลักต่อจากคลองสามวา[1] ในท้องที่เขตมีนบุรีมีความยาว 4,500 เมตร กว้าง 7–24 เมตร ในท้องที่เขตลาดกระบังมีความยาว 5,800 เมตร กว้าง 8–20 เมตร[2]

บริเวณจุดบรรจบกับคลองแสนแสบเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าเจียวตี้เหล่าเอี๊ยะ (ศาลเจ้าพ่อมีนบุรี) อยู่ในชุมชนมีนบุรีอุปถัมภ์ซึ่งเป็นชุมชนชาวจีน เริ่มมีการตั้งชุมชนหลังจาก พ.ศ. 2428 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) มาบุกเบิกพื้นที่ด้วยการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และบ้านเรือนให้เช่า แล้วชาวจีนจึงอพยพเข้ามาตั้งรกรากที่นี่ ชุมชนมีอาคารเก่าแก่ยุคแรกซึ่งสร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2448 เป็นอาคารที่สร้างจากอิฐมวลแดง[3] ริมคลองมีมัสยิดนูรุ้ลฮูดา (คลองสองต้นนุ่น) เป็นอาคารไม้ทรงไทยไม้สัก[4] บริเวณคลองมีเคหะชุมชนรามคำแหงและเคหะชุมชนร่มเกล้าซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2527 และบริเวณจุดบรรจบกับคลองประเวศบุรีรมย์เป็นที่ตั้งของวัดสังฆราชาซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2430 ชื่อเดิมของวัดคือ วัดสอง หรือ วัดที่สอง ตามชื่อคลอง[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. นิกร ด้วงทรง. "ความเหมาะสมด้านกายภาพของการจัดรูปที่ดิน เพื่อการพัฒนาศูนย์ชุมชนชานเมืองมีนบุรี" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย. p. 90.
  2. "บัญชีคลองในเขตกรุงเทพมหานคร".
  3. "ชมห้องแถวโบราณของชาวจีนอพยพแห่งย่านการค้าในอดีต ที่ชุมชนชานกรุงฯ "มีนบุรีอุปถัมภ์"".
  4. "มัสยิดนูรุ้ลฮูดา (คลองสองต้นนุ่น)".
  5. "One Day Trip ไหว้พระ วัดหนึ่ง วัดสอง วัดสาม ย่านลาดกระบัง".