ข้ามไปเนื้อหา

กบฏจูกัดเอี๋ยน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กบฏจูกัดเอี๋ยน
ส่วนหนึ่งของ กบฏสามครั้งในฉิวฉุน

แผนที่ของการก่อกบฏ (ไม่ได้วาดตามสัดส่วนจริง)
วันที่ป. มิถุนายน ค.ศ. 257 – มีนาคมหรือเมษายน ค.ศ. 258
สถานที่
ฉิวฉุน (ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย ประเทศจีน)
ผล วุยก๊กชนะ
คู่สงคราม
วุยก๊ก จูกัดเอี๋ยน
ง่อก๊ก
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สุมาเจียว
จงโฮย
เฮาหุน
อองกี๋
จูกัดเอี๋ยน 
ซุนหลิม
บุนขิม โทษประหารชีวิต
เตงฮอง
กำลัง
260,000[1] 140,000-150,000 (จูกัดเอี๋ยน),[2]
30,000 (ง่อก๊ก)[3]

กบฏจูกัดเอี๋ยน (จีน: 諸葛誕之乱) หรือ กบฏครั้งที่สามในฉิวฉุน (จีน: 寿春三叛) เป็นการก่อการกำเริบนำโดยจูกัดเอี๋ยนขุนพลของรัฐวุยก๊ก เพื่อต่อต้านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเจียว จูกัดเอี๋ยนได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากง่อก๊กรัฐอริของวุยก๊ก เป็นการก่อกบฏครั้งที่สามและครั้งสุดท้ายในชุดกบฏสามครั้งที่เกิดขึ้นในฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว นครลู่อาน มณฑลอานฮุย) ในช่วงทศวรรษ 250 ในยุคสามก๊กในประวัติศาสตร์จีน

ภูมิหลัง

[แก้]

หลังเหตุการณ์กบฏครั้งก่อนหน้าในฉิวฉุนและอุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลง การปกครองและการควบคุมวุยก๊กเกือบทั้งหมดตกอยู่ในเมือของสุมาเจียวและตระกูล หลังการก่อกบฏครั้งที่ 2 สุมาสูเสียชีวิตโดยมอบอำนาจปกครองให้สุมาเจียวที่เป็นน้องชาย เวลานั้นจักรพรรดิแห่งวุยก๊กคือโจมอ ส่วนที่อำเภอฉิวฉุนนั้นตั้งแต่บุนขิมหนีไปง่อก๊ก ราชการในฉิวฉุนก็ได้ถูกมอบให้จูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กดูแล จูกัดเอี๋ยนได้เห็นการก่อกบฏและความล้มเหลวของทั้งหวาง หลิง (王淩) และบู๊ขิวเขียม ตัวจูกัดเอี๋ยนเองยังมีบทบาทสำคัญในการปราบกบฏที่ฉิวฉุนครั้งที่ 2 ที่นำโดยบู๊ขิวเขียมและบุนขิม อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยแฮเฮาเหียนและเตงเหยียงที่เป็นสหายสนิทของจูกัดเอี๋ยนต่างก็ถูกประหารชีวิตด้วยคำสั่งของตระกูลสุมา อีกทั้งก็ได้เห็นการล่มจมของหวาง หลิงและบู๊ขิวเขียมก็ทำให้จูกัดเอี๋ยนรู้สึกไม่สบายใจ จูกัดเอี๋ยนเริ่มเพิ่มความนิยมในหมู่ราษฎรในภูมิภาคแม่น้ำห้วย (淮河 หฺวายเหอ) และยังจ้างองครักษ์จำนวนมากอีกด้วย

เหตุกระตุ้น

[แก้]

ในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 256 ง่อก๊กส่งกำลังทหารเข้าโจมตีสฺวีเย่ (徐堨) ในขณะที่จูกัดเอี๋ยนกำลังรับมือเรื่องนี้ก็ขอกำลังทหารเพิ่ม 100,000 นายจากราชสำนักวุยก๊ก และวางแผนจะก่อสร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันภูมิภาค สุมาเจียวรู้สึกว่าจูกัดเอี๋ยนมีพฤติกรรมน่าสงสัย จึงส่งกาอุ้นคนสนิทไปพบจูกัดเอี๋ยนเพื่อประเมินว่าจูกัดเอี๋ยนภักดีต่อโจมอจักรพรรดิวุยก๊กหรือภักดีต่อสุมาเจียว หลังกาอุ้นรายงานสุมาเจียวว่าจูกัดเอี๋ยนสนับสนุนจักรพรรดิ สุมาเจียวจึงส่งราชโองการในพระนามของจักรพรรดิ เรียกตัวจูกัดเอี๋ยนกลับนครหลวงลกเอี๋ยงเพื่อให้มารับตำแหน่งเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) แม้ว่าดูเหมือนการเป็นเลื่อนตำแหน่งให้จูกัดเอี๋ยน แต่แท้จริงเป็นการถอดจูกัดเอี๋ยนจากการบัญชาการทหารในฉิวฉุนและเรียกกลับมาลกเอี๋ยงเพื่อให้อยู่ภายใต้การจับตาดูของสุมาเจียว

หลังจูกัดเอี๋ยนได้รับราชการก็รู้ว่าสุมาเจียวสงสัยตน จูกัดเอี๋ยนจึงสังหารงักหลิมข้าหลวงมณฑลยังจิ๋วที่เป็นผู้บังคับบัญชาเหนือตน แล้วเข้ายึดกำลังทหาร 40,000 ถึง 50,000 นายที่ประจำอยู่ที่นั่น และก่อกบฏต่อต้านสุมาเจียว จูกัดเอี๋ยนส่งงอก๋ง (吳綱 อู๋ กาง) หัวหน้าเสมียนไปง่อก๊กพร้อมพาตัวจูกัดเจ้งบุตรชายไปเป็นตัวประกันที่ง่อก๊ก เพื่อขอให้ง่อก๊กส่งกำลังเสริมมาช่วย ง่อก๊กจึงส่งกำลังเสริมด้วยกำลังพลที่มากกว่าเมื่อเทียบกับในกบฏที่ฉิวฉุนครั้งที่ 2 ทำให้จูกัดเอี๋ยนมีกำลังพลมากยิ่งขึ้น ด้านสุมาเจียวก็ระดมทัพวุยก๊กจากทั่วอาณาเขตของวุยก๊กเพื่อปราบปรามกบฏจูกัดเอี๋ยน

กบฏ

[แก้]

ความพยายามของง่อก๊ก

[แก้]

การเคลื่อนไหวแรกของสุมาเจียวคือการตั้งมั่นด้วยจำนวนมากมากถึง 260,000 นายที่ชิวโถว (丘頭) จุดยุทธศาสตร์สำคัญใกล้ฉิวฉุน สุมาเจียวสั่งให้อองกี๋และตันเกี๋ยนนำทหารเข้าปิดล้อมฉิวฉุนเพื่อพยายามรับมือการเสียหายครั้งใหญ่ในช่วงต้นของการก่อกบฏ สุมาเจียวรู้ว่าง่อก๊กกำลังส่งกำลังทหารจำนวนมากไปทางใต้ฉิวฉุน สุมาเจียวจึงส่งกำลังทหารจำนวนมากภายใต้การบัญชาการของโจเป๋าและขุนพลคนอื่นอีก 2 คนเพื่อหยุดยั้งการรุดหน้าของทัพเสริมจากง่อก๊ก ทัพง่อก๊กนำโดยบุนขิม (ผู้เคยก่อกบฏก่อนหน้านี้) จวนเต๊ก และต๋องจูคาดการณ์ถึงการเคลื่อนไหวนี้ของทัพวุยก๊ก จึงเร่งเข้าฉิวฉุนได้สำเร็จก่อนที่ทัพวุยก๊กจะปิดล้อมจูกัดเอี๋ยนอย่างสมบูรณ์ บุนขิมพยายามโจมตีตอบโต้โดยนำทหารตีฝ่าวงล้อมหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ด้านทัพง่อก๊กภายใต้การบัญชาการของจูอี้ก็ล้มเหลวในความพยายามที่จะสร้างความเสียหายแก่ทัพวุยก๊ก เมื่อจูอี้นำกำลังสำรองจากด้านตะวันตกเฉียงของฉิวฉุนที่กองทหารรักษาการณ์ที่ตันฉอง (安豐 อานเฟิง) แต่ก็ถูกทัพวุยก๊กตีไล่ไปอย่างรวดเร็ว จูอี้หนีกลับไปพบซุนหลิมได้ ซุนหลิมจึงให้ทัพของตนที่นำโดยเตงฮอง, หลี เฝ่ย์ (黎斐) และจูอี้ให้เคลื่อนทัพไปใกล้ทางทะเลสาบเจาอ๋อ (巢湖 เฉาหู) เพื่อจะใช้เป็นฐานที่มั่นในการตีทัพวุยก๊กที่ฉิวฉุนและสลายวงล้อม ทัพวุยก๊กเคลื่อนมาอย่างรวดเร็วเพื่อสกัดทัพง่อก๊กที่กำลังขึ้นไปที่ฉิวฉุน และสามารถเอาชนะทัพขนาดใหญ่ของง่อก๊กที่ซุนหลิมส่งมา ฝ่ายจูกัดเอี๋ยนและง่อก๊กขวัญกำลังใจลดต่ำลง ด้วยความพยายามที่ไร้ผลและพ่ายแพ้ติดต่อกัน ซุนหลิมจึงสั่งประหารชีวิตจูอี้ ขณะที่ทัพง่อก๊กถูกตีแตกพ่าย เสบียงอาหารของทัพง่อก๊กก็ถูกทำลายโดยการโจมตีกะทันหันของกองกำลังวุยก๊กที่นำโดยเฮาเหลก ทหารจำนวนมากยอมจำนนต่อทัพสุมาเจียวหรือหนีทัพง่อก๊กไป ซุนหลิมที่หมดหวังจึงสั่งทัพให้ออกจากเดินทางออกจากฉิวฉุนกลับไปเกี๋ยนเงียบด้วยความแน่ใจว่าจูกัดเอี๋ยนไม่มีโอกาสต่อต้านวุยก๊กอีกแล้ว

การแปรพักตร์

[แก้]

กองกำลังของจูกัดเอ๋ยนซึ่งยังคงถูกล้อมในฉิวฉุนสามารถสร้างความเสียหายในทัพวุยก๊กเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่กองกำลังของจูกัดเอี๋ยนยังคงมีขวัญกำลังใจต่ำและได้รับความเสียหายอย่างหนัก ผู้ช่วยของจูกัดเอี๋ยนคือเจียวปั้น (蔣班 เจี่ยว ปาน) และเจียวอี้ (焦彝 เจียว อี๋) แนะนำจูกัดเอี๋ยนให้มุ่งเน้นไปที่การตีฝ่าวงล้อมออกทางด้านเดียวเพื่อพยายามพลิกกระแส บุนขิมที่นำกองกำลังวุยก๊กแยกมาจากทัพหลักและยังคงร่วมรบในฉิวฉุนไม่เห็นด้วยการแผนนี้อย่างยิ่ง บุนขิมกล่าวว่ากำลังทหารง่อก๊กที่เหลือจะยกมาเสริมจูกัดเอี๋ยนในไม่ช้า แต่เวลานั้นบุนขิมไม่รู้ว่าซุนหลิมสั่งให้ทัพง่อก๊กล่าถอยกลับเกี๋ยนเงียบนครหลวงของง่อก๊กไปแล้ว จูกัดเอี๋ยนดูถูกคำแนะนำของเจียวปั้นและเจียวอี้และเห็นด้วยกับบุนขิม บอกว่าตนเกือบจะฆ่าพวกเดียวกันเสียแล้ว เจียวปั้นและเจียวอี้กลัวว่าพวกตนจะถูกจูกัดเอี๋ยนลงโทษ ทั้งคู่จึงแปรพักตร์ไปเข้าด้วยสุมาเจียวพร้อมด้วยกำลังพลจำนวนมากจากฝ่ายจูกัดเอี๋ยน ทำความความหวังท้้งหมดของฝ่ายจูกัดเอี๋ยนที่เหลือแทบจะหมาดลง จงโฮยแนะนำสุมาเจียวให้กำลังทหารฝ่ายจูกัดเอี๋ยนแปรพักตร์มากยิ่งขึ้นโดยส่งหนังสือบอกความเท็จจากเฉฺวียน ฮุย (全輝) และเฉฺวียน อี๋ (全儀) ไปถึงจวนฮุย (全禕 เฉฺวียน อี) และจวนตวน (全端 เฉฺวียน ตฺวาน) ให้ยอมจำยย จวนเต๊กก็ได้รับหนังสือในอีกไม่นานและเชื่อว่าความลวงในหนังสือเป็นเรื่องจริง จึงรีบยอมจำนนต่อสุมาเจียว กองกำลังของจูกัดเอี๋ยนยิ่งที่ได้รับความเสียหายมากขึ้น

การปราบปราม

[แก้]

ปลายเดือนกุมภาพันธํและมีนาคม ค.ศ. 258 กองกำลังที่เหลือของจูกัดเอี๋ยน, ต๋องจู, บุนขิม และบุนเอ๋ง (บุตรชายของบุนขิม) ตัดสินใจพยายามตีฝ่าวงล้อม แต่ก็ล้มเหลวอีกครั้งอย่างรวดเร็วและได้รับความเสียหายอย่างหนัก ในเวลานั้นกองกำลังของจูกัดเอี๋ยนเหลือจำนวนน้อย และเสบียงในฉิวฉุนก็หมดลงอย่างรวดเร็ว กำลังพลจำนวนมากยอมจำนนต่อสุมาเจียว

บุนขิมเสนอให้ถนอมกำลังทหารชาวเหนือภายใต้บังคับบัญชาของตนและกำลังพลขากง่อก๊กที่เหลือไว้ในฉิวฉุนเพื่อรักษาเสบียง จูกัดเอี๋ยนเพิกเฉยต่อข้อเสนอของบุนขิม กล่าวหาว่าบุนขิมเป็นคนขี้ขลาดที่พยายามลวงตนให้ช่วยบุนขิมหลีกเลี่ยงสถานการณ์ จากนั้นจูกัดเอี๋ยนตัดสินใจประหารชีวิตบุนขิม ด้านบุนเอ๋งและบุนเฮาบุตรชายของบุนขิมได้ยินว่าบิดาถูกประหารชีวิต จึงรีบหนีออกจากฉิวฉุนและยอมจำนนต่อสุมาเจียว สุมาเจียวรับทั้งคู่กลับเข้าทัพวุยก๊ก แม้ว่าบุนขิมผู้บิดาของทั้งคู่จะเคยต่อต้านตนก็ตาม การแปรพักตร์ของบุตรชายสองคนของบุนขิมทำให้กลุ่มกบฏหมดขวัญกำลังใจไปโดยสิ้นเชิง

ระหว่างวันที่ 22 มีนาคมและ 19 เมษายน ค.ศ. 258 ในที่สุดทัพวุยก๊กบุกทะลวงเข้าฉิวฉุนได้สำเร็จ จูกัดเอี๋ยนที่หมดหวังหลบหนีออกจากฉิวฉุน แต่ก็ถูกสังหารระหว่างหนีออกตัวรอดด้วยฝีมือของเฮาหุน (胡奮 หู เฟิ่น) อีจ้วน (于詮 ยฺหวี เฉฺวียน) ขุนพลง่อก๊กถูกทหารวุยก๊กสังหารในที่รบ ส่วนต๋องจูและหวาง จั้ว (王祚) จากฝ่ายง่อก๊กยอมวางอาวุธและจำนนต่อสุมาเจียวพร้อมกำลังพลที่เหลือไม่กี่นายของจูกัดเอี๋ยน

ผลสืบเนื่อง

[แก้]

หลังกบฏถูกปราบปราม สุมาเจียวถูกมองว่าเป็นวีรบุรุษของรัฐวุยก๊ก และในที่สุดก็ได้รับความภักดีและความเป็นมิตรจากบุคคลสำคัญของวุยก๊กส่วนใหญ่ แม้ว่าหลังจากนั้นไม่นานจักรพรรดิโจมอทรงพยายามจะโค่นล้มสุมาเจียว แต่โจมอกลับเป็นฝ่ายถูกปลงพระชนม์ในลกเอี๋ยงนครหลวงของวุยก๊ก

นอกจากนี้การที่กบฏในฉิวฉุนสิ้นสุดลง ก็ทำให้ทัพวุยก๊กที่เหลือมีโอกาสมุ่งเน้นกำลังทั้งหมดไปที่การบุกจ๊กก๊ก

บุคคลในยุทธการ

[แก้]

ทัพวุยก๊ก

ทัพจูกัดเอี๋ยนและง่อก๊ก

ในวัฒนธรรมประชานิยม

[แก้]

เหตุการณ์กบฏจูกัดเอี๋ยนร่วมด้วยเหตุการณ์กบฏในฉิวฉุนอีก 2 ครั้ง (กบฏหวาง หลิง, กบฏบู๊ขิวเขียมและบุนขิม) เป็นด่านที่เล่นได้ในโหมดเนื้อเรื่องของราชวงศ์จิ้นในซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ โดยปรากฏครั้งแรกในภาค 7

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. (大將軍司馬文王督中外諸軍二十六萬衆,臨淮討之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  2. (斂淮南及淮北郡縣屯田口十餘萬官兵,揚州新附勝兵者四五萬人,聚穀足一年食,閉城自守。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  3. (吴人大喜,遣將全懌、全端、唐咨、王祚等,率三萬衆,密與文欽俱來應誕。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.

บรรณานุกรม

[แก้]