ข้ามไปเนื้อหา

แผนฉกฟ้าแลบ ลวงสะท้านโลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Argo (2012 film))
แผนฉกฟ้าแลบ ลวงสะท้านโลก
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับเบน แอฟเฟล็ก
บทภาพยนตร์คริส เทอร์ริโอ
สร้างจากThe Master of Disguise
โดย อันโตนิโอ เจ. เมนเดซ
The Great Escape
โดย โจชัวห์ แบร์แมน
อำนวยการสร้างเบน แอฟเฟล็ก
จอร์จ คลูนีย์
แกรนต์ เฮสลอฟ
นักแสดงนำเบน แอฟเฟล็ก
ไบรอัน แครนสตัน
อลัน อาร์คิน
จอห์น กูดแมน
กำกับภาพโรดรีโก ปรีเอโต
ตัดต่อวิลเลียม โกลเดนเบิร์ก
ดนตรีประกอบอาแล็กซ็องดร์ แดสปลาต์
บริษัทผู้สร้าง
GK Films
Smokehouse Pictures
ผู้จัดจำหน่ายWarner Bros.
วันฉาย31 สิงหาคม พ.ศ. 2555
(เทศกาลภาพยนตร์เทลลูไรด์)
11 ตุลาคม พ.ศ. 2555 (ไทย)
12 ตุลาคม พ.ศ. 2555
(สหรัฐอเมริกา)
ความยาว120 นาที[1]
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง44.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]
ทำเงิน232.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

แผนฉกฟ้าแลบ ลวงสะท้านโลก (อังกฤษ: Argo) เป็นภาพยนตร์อเมริกันแนวดรามาทริลเลอร์ในปี พ.ศ. 2555 กำกับ ร่วมอำนวยการสร้างและร่วมแสดงโดยเบน แอฟเฟล็ก ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากหนังสือชื่อ The Master of Disguise ที่แต่งโดยโทนี เมนเดซ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการซีไอเอ และบทความ The Great Escape แต่งโดยโจชัวห์ แบร์แมน ลงตีพิมพ์ในนิตยสารไวร์ (Wired) ในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับปฏิบัติการแคนาเดียนคาเปอร์ (Canadian Caper)[3] ซึ่งเมนเดซเป็นผู้นำทีมช่วยเหลือนักการทูตชาวอเมริกันหกคนจากกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ในช่วงวิกฤติตัวประกันอิหร่านในปี พ.ศ. 2522[4]

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เบน แอฟเฟล็กแสดงเป็นโทนี เมนเดซ โดยมีไบรอัน แครนสตัน, อลัน อาร์คิน และจอห์น กูดแมนในบทสมทบ ภาพยนตร์ดังกล่าวออกฉายในอเมริกาเหนือเมื่อ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 และได้รับผลตอบรับทั้งเสียงวิจารณ์และรายได้ในแง่บวก เรื่องราวของการช่วยเหลือครั้งนี้เคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์สำหรับโทรทัศน์ชื่อ Escape from Iran: The Canadian Caper มาก่อนแล้ว และมีลามอนต์ จอห์นสันเป็นผู้กำกับ [5][6]

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 85 รวม 7 รางวัล และได้รับรางวัลทั้งสิ้น 3 รางวัล ได้แก่สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม[7] สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง Driving Miss Daisy ในปี พ.ศ. 2532 ภาพยนตร์ดังกล่างยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำรวม 5 รางวัล โดยได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทดรามา และรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม โดยอลัน อาร์คินได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม อาร์โกยังได้รับรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมในรางวัลสมาคมนักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์ ครั้งที่ 19 โดยอาร์คินได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม นอกจากนี้อาร์โกยังได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ลำดับภาพยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม (เบน แอฟเฟล็ก) ในงานประกาศผลรางวัลบาฟต้าครั้งที่ 66 อีกด้วย

เนื้อเรื่อง

[แก้]

ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2522 กลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเตหะราน เพื่อตอบโต้กรณีที่ซีไอเอมีส่วนร่วมในความขัดแย้งในอิหร่าน เจ้าหน้าที่สถานทูตกว่า 50 คนถูกจับเป็นตัวประกัน แต่มีหกคนหนีออกมาได้และไปซ่อนตัวอยู่ในบ้านของเคน เทย์เลอร์ (แสดงโดยวิกเตอร์ กาเบอร์) ทูตแคนาดา ในขณะที่เหตุการณ์การหลบหนีของตัวประกันยังถูกปกปิดเป็นความลับ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้พยายามหาทางที่จะนำตัวประกันออกจากอิหร่าน และโทนี เมนเดซ (เบน แอฟเฟล็ก) ผู้เชี่ยวชาญด้านการนำคนออกจากประเทศของซีไอเอได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมหารือแผนดังกล่าวด้วย เมนเดซวิจารณ์แต่ละแผนที่มีผู้เสนอมาว่าไม่สามารถปฏิบัติได้จริง แต่เขาเองก็ไม่สามารถเสนอแผนที่ดีกว่านี้ จนกระทั่งเมื่อเขาคุยโทรศัพท์กับบุตรชายและได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Battle for the Planet of the Apes จากโทรทัศน์ เขาจึงเริ่มคิดแผนสร้างเรื่องปลอมให้ผู้หลบหนีหกคนเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ชาวแคนาดา ผู้มาดูสถานที่ในต่างแดนเพื่อใช้สำหรับสร้างหนังแนวไซไฟดังกล่าว

เมนเดซและหัวหน้าของเขา แจ็ค โอ'ดอนเนล (ไบรอัน แครนสตัน) ติดต่อไปยังจอห์น เชมเบอร์ส (จอห์น กูดแมน) ช่างแต่งตัวในฮอลลีวูดที่เคยทำเรื่องอำพรางรูปลักษณ์ให้กับซีไอเอ เชมเบอร์สให้พวกเขาไปหาโปรดิวเซอร์เลสเตอร์ ซีกัล (อลัน อาร์คิน) ทั้งหมดช่วยกันสร้างสตูดิโอภาพยนตร์ที่มีโทรศัพท์เข้าถึง เปิดเผยแผนการต่อสาธารณชน และลวงให้เห็นว่าภาพยนตร์เรื่องอาร์โก ภาพยนตร์แนวแฟนตาซีวิทยาศาสตร์ทำนองเดียวกับสตาร์ วอร์สกำลังจะเริ่งสร้าง เพื่อให้การสร้างเรื่องเป็นผู้ถ่ายทำภาพยนตร์มีน้ำหนักมากขึ้น ในระหว่างนั้นในที่พักของทูตแคนาดา ผู้หลบหนีทั้งหกเริ่มเกิดความกลัว ในขณะที่คณะปฏิวัติพยายามนำเอกสารในสถานทูตที่ถูกตัดทำลายมาเรียงต่อกันจนพบว่ามีคนบางคนหนีไปได้

เมนเดซซึ่งแสดงตัวเป็นโปรดิวเซอร์ของอาร์โกเข้าไปยังอิหร่านและสามารถติดต่อกับผู้หลบหนีได้ เขาให้หนังสือเดินทางแคนาดาและอัตลักษณ์ปลอมของแต่ละคนเพื่อฝึกทุกคนให้ผ่านการตรวจตราที่สนามบินไปได้ ผู้หลบหนีทั้งหมดที่รู้สึกไม่เชื่อกับแผนนี้แต่แรกตัดสินใจที่จะยอมทำตามแผนนี้ไป เพราะรู้ว่าเมนเดซก็เสี่ยงชีวิตเขาเองด้วย การสำรวจสถานที่ที่บาซาร์เพื่อทำให้เรื่องการสร้างภาพยนตร์ยังมีน้ำหนักอยู่เป็นไปอย่างไม่ดีนัก แต่คนอิหร่านซึ่งมาด้วยกันสามารถพาพวกเขาออกจากสถานการณ์อันย่ำแย่ได้ ต่อมาเมื่อเมนเดซได้รับการบอกกล่าวว่าปฏิบัติการนี้ยกเลิกเพื่อไม่ให้กระทบกับปฏิบัติการทางทหารที่จะเข้าช่วยเหลือตัวประกัน เขากลับดื้อดึงที่จะดำเนินแผนต่อไป ทำให้โอ'ดอนเนลต้องเร่งขออนุญาตเพื่อดำเนินแผนการนี้ต่อเพื่อให้ทุกคนได้ตั๋วเครื่องบินในเที่ยวบินของสวิสแอร์ ความตึงเครียดเกิดขึ้นที่สนามบินเมื่อตั๋วเครื่องบินได้รับการยืนยันในนาทีสุดท้าย และโทรศัพท์ของหน่วยรักษาความปลอดภัยที่สนามบินที่โทรไปยังสตูดิโอที่ฮอลลีวูดได้รับการตอบรับในนาทีสุดท้าย เมนเดซและผู้หลบหนีทั้งหมดขึ้นเครื่องบินได้ก่อนที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของอิหร่านจะทราบความจริงและพยายามสกัดเครื่องบินไม่ให้ขึ้นบิน แต่ก็ไม่ทัน เพราะเครื่องบินบินออกจากอิหร่านไปเรียบร้อยแล้ว

เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวประกันที่เหลือในเตหะรานถูกแก้แค้น สหรัฐฯ จึงไม่มีชื่อในฐานะผู้เกี่ยวข้องในการพาคนหลบหนีครั้งนี้เลย โดยให้แคนาดาและทูตเทย์เลอร์เป็นผู้รับความดีความชอบไปทั้งหมด (ทูตเทย์เลอร์และภรรยาใช้สถานะความเป็นทูตออกจากอิหร่านระหว่างวิกฤตตัวประกันนั้นเอง ส่วนแม่บ้านชาวอิหร่านผู้ทราบถึงเรื่องคนอเมริกันหลบหนีแต่โกหกกับคณะปฏิวัติเพื่อช่วยพวกเขาได้หลบหนีไปยังอิรัก) เมนเดซได้รับเหรียญ Intelligence Star แต่เนื่องจากความเป็นปฏิบัติการลับ เขาจึงไม่สามารถเก็บเหรียญดังกล่าวไว้ได้จนกระทั่งข้อมูลของปฏิบัติการนี้ได้รับการเปิดเผยในปี 2540 ตัวประกันทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 20 มกราคม 2524 วันที่โรนัลด์ เรแกนสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 40 แห่งสหรัฐอเมริกา ภาพยนตร์จบด้วยคำกล่าวของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์เกี่ยวกับวิกฤตการณ์และแผนการแคนาเดียนคาเปอร์

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Argo". British Board of Film Classification (BBFC). Retrieved September 18, 2012.
  2. 2.0 2.1 "Argo (2012)". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ 2013-04-27.
  3. Bearman, Joshuah (April 24, 2007). "How the CIA Used a Fake Sci-Fi Flick to Rescue Americans from Tehran". Wired. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  4. Killoran, Ellen (October 13 2012). "'Argo' Review: Ben Affleck Pinches Himself In Stranger-Than-Fiction CIA Story". International Business Times. สืบค้นเมื่อ 25 February 2013. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  5. Escape from Iran: The Canadian Caper (TV 1981) - IMDb
  6. "escape-from-iran-the-canadian-caper-1981-true-story-dvd-94c7%255B2%255D.jpg (image)". Lh4.ggpht.com. สืบค้นเมื่อ 2012-10-29.
  7. "Argo Wins the Academy Award For Best Film Editing". Stories99. 2013-02-09. สืบค้นเมื่อ 2013-02-25.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]