ข้ามไปเนื้อหา

ลอเรนซ์แห่งอาราเบีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลอเรนซ์แห่งอาราเบีย
โปสเตอร์ต้นฉบับของ ลอเรนซ์แห่งอาราเบีย
กำกับเดวิด ลีน
เขียนบทโรเบิร์ต โบลต์
ไมเคิล วิลสัน
สร้างจากSeven Pillars of Wisdom
โดย ที. อี. ลอว์เรนซ์
อำนวยการสร้างแซม สปีเกล
นักแสดงนำปีเตอร์ โอทูล
อุมัร อัชชะรีฟ
อเล็ก กินเนสส์
แอนโทนี ควินน์
แจ็ก ฮอว์กินส์
โฮเซ เฟร์เรร์
แอนโทนี เควย์ล
โคลด เรนส์
กำกับภาพเฟรดดี ยัง
ตัดต่อแอนน์ วี. โคอาเตส
ดนตรีประกอบมอรีซ ฌาร์
บริษัทผู้สร้าง
ฮอไรซัน พิกเจอส์
ผู้จัดจำหน่ายโคลัมเบียพิคเจอร์ส
วันฉายสหราชอาณาจักร 10 ธันวาคม 1962
สหรัฐ 10 ธันวาคม 1962
ความยาว227 นาที
ประเทศสหราชอาณาจักร
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง15,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ทำเงิน70,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ต่อจากนี้A Dangerous Man: Lawrence After Arabia (1990)

ลอเรนซ์แห่งอาราเบีย (อังกฤษ: Lawrence of Arabia) เป็นภาพยนตร์มหากาพย์อิงประวัติศาสตร์ จากสหราชอาณาจักร ออกฉายในโรงภาพยนตร์ครั้งแรกในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1962 โดยโคลัมเบียพิกเจอร์ส ดัดแปลงมาจากหนังสือ Seven Pillars of Wisdom ซึ่งเป็นหนังสืออัตชีวประวัติและเรื่องราวของ พันเอก ที. อี. ลอว์เรนซ์ นักโบราณคดีและเจ้าหน้าที่การทูตชาวบริติช ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1926 กำกับการแสดงโดย เดวิด ลีน อำนวยการสร้างโดย แซม สปีเกล หลังจากที่ทั้งคู่เคยมีผลงานร่วมกันใน สะพานเดือดเลือดเชลยศึก เมื่อ ค.ศ. 1957 เขียนบทภาพยนตร์ โดย โรเบิร์ต โบลต์ และ ไมเคิล วิลสัน นำแสดงโดย ปีเตอร์ โอทูล ในบท ที. อี. ลอว์เรนซ์ และ อเล็ก กินเนสส์ ในบท เจ้าชายฟัยศ็อลแห่งมักกะฮ์และฮิญาซ

ภาพยนตร์มีการดำเนินเนื้อเรื่องในยุคปลายคริสต์ทศวรรษ 1910 บอกเล่าเรื่องราวของ ที.อี. ลอว์เรนซ์ ชาวบริติชผู้มีส่วนสำคัญกับเหตุการณ์กบฏอาหรับ ที่ลุกขึ้นต่อต้านจักรวรรดิออตโตมัน ในเขตสงครามตะวันออกกลางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่จังหวัดฮิญาซและจังหวัดซีเรีย นำเสนอเหตุการณ์บุกโจมตีเมืองอะเกาะบะฮ์และดามัสกัส และการมีบทบาทสำคัญในสภาแห่งชาติอาหรับของลอว์เรนซ์ นอกจากนี้ยังนำเสนอการต่อสู้กับความขัดแย้งภายในจิตใจของเขาทั้งเชื้อชาติและอัตลักษณ์ รวมถึงตัวตนของเขาในด้านความเป็นผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศ ความแตกต่างระหว่างชาวบริติชที่เป็นมิตรสหายของเขาในกองทัพกับมิตรสหายชาวอาหรับที่เพิ่งค้นพบในดินแดนที่เต็มไปด้วยทะเลทราย

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ ถึง 10 สาขา โดยได้รับรางวัล 7 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม, เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ สาขาออกแบบงานศิลป์ยอดเยี่ยม รวมทั้งได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ 5 สาขารางวัล โดย อุมัร อัชชะรีฟ ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และ นักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม

ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์ทั่วโลกให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยในปี ค.ศ. 1991 หอสมุดรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา ยกย่องให้เป็นภาพยนตร์ที่ "มีความสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์" อีกทั้งยังได้รับเลือกให้เข้าสู่หอทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติในฐานะภาพยนตร์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์[1][2] ในปี ค.ศ. 1999 สถาบันภาพยนตร์อังกฤษ ได้จัดอันดับภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เป็นภาพยนตร์จากสหราชอาณาจักรที่ดีที่สุดลำดับที่ 3 รองจาก เดอะเติร์ดแมน ใครคือฆาตกร (1949) และ บรีฟเอนเคาน์เตอร์ ปรารถนารัก มิอาจลืม (1945) ต่อมาในปี ค.ศ. 2007 สถาบันภาพยนตร์อเมริกันได้จัดอันดับให้เป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดลำดับที่ 7 ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในรอบ 100 ปี

เรื่องย่อ

[แก้]
ปีเตอร์ โอ ทูล ในบท ที. อี. ลอเรนซ์

พันเอก โทมัส เอดเวิร์ด ลอเรนซ์ ทหารชาวอังกฤษที่ใช้ชีวิตในอาหรับ เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าชายฟัยศ็อลแห่งมักกะฮ์ (ฟัยศ็อล บิน ฮุซัยน์ บิน อะลี อัลฮาชิมี, ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระเจ้าฟัยศ็อลที่ 1 แห่งซีเรีย และกลายเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอิรัก) ในช่วงการปฏิวัติอาหรับ เพื่อปลดแอกจากจักรวรรดิออตโตมัน-เติร์ก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ช่วงปี ค.ศ. 1916 - 1918

ภาพยนตร์มีความยาวถึง 3 ช.ม. 40 นาที จึงแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน โดยมีฉากตัดพักครึ่งระหว่างเรื่องด้วยเพลงโหมโรงโดย มอริส ฌาร์

นักแสดง

[แก้]

งานสร้าง

[แก้]

ภาพยนตร์ผลิตโดยฮอไรซัน พิกเจอส์ จากสหราชอาณาจักรและเผยแพร่โดยโคลัมเบียพิกเจอส์ เริ่มถ่ายทำตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1961 จนถึงวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1962[3]

ฉากทะเลทรายในภาพยนตร์เรื่องนี้ ถ่ายทำที่ประเทศจอร์แดนและประเทศโมร็อกโก โดยมีบางส่วนถ่ายทำที่จังหวัดอัลเมเรียและอุทยานแห่งชาติดอญญานา แคว้นอันดาลูซิอาในประเทศสเปน ในส่วนของการถ่ายทำที่ประเทศจอร์แดนได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนแห่งจอร์แดน ทั้งทางด้านการขนส่ง, การสำรวจสถานที่ถ่ายทำ, การเดินทาง และด้านอื่นๆ โดยสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมกองถ่ายหลายครั้งในระหว่างการถ่ายทำ และทรงรักษาความสัมพันธ์อันดีกับนักแสดงและทีมงาน อย่างไรก็ดีอุปสรรคในการถ่ายทำที่จอร์แดนยังมีอยู่บ้างเมื่อ เฮนรี ออสการ์ นักแสดงชาย ไม่สามารถพูดและออกเสียงภาษาอาหรับได้ แต่มีฉากที่เขาต้องท่องคัมภีร์อัลกุรอาน การถ่ายทำฉากนี้จึงจำเป็นต้องมีอิหม่ามอยู่ด้วย เพื่อกำกับไม่ให้ความหมายในคัมภีร์ผิดเพี้ยนขณะถ่ายทำ

ศาลาทรงศิลปะแบบมูเดฆาร์ในสวนสาธารณะสมเด็จพระราชินีนาถมาเรีย ลุยซา ที่เมืองเซบิยา ประเทศสเปน ถูกนำมาใช้ถ่ายทำเป็นฉากในเมืองดามัสกัส
จตุรัสสเปน ที่เมืองเซบิยา ถูกนำมาใช้ถ่ายทำเป็นสำนักงานกองกำลังรบนอกประเทศบริติช ในไคโร

เดิมที เดวิด ลีน วางแผนจะถ่ายทำส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่อ่าวอะเกาะบะฮ์และนครหินเปตราแหล่งมรดกโลก ของประเทศจอร์แดน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ ที.อี. ลอว์เรนซ์ มักจะใช้เป็นแหล่งศึกษาทางโบราณคดี แต่ต้องล้มเลิกการใช้สถานที่ดังกล่าวและย้ายไปถ่ายทำที่แคว้นอันดาลูซิอา ประเทศสเปน เพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายและอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับนักแสดงและทีมงานเนื่องจากสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ โดยฉากการสู้รบที่อ่าวอะเกาะบะฮ์ มีการถ่ายทำที่หาดอัลการ์โรบิโก เมืองอัลเมเรีย โดยทีมงานได้จำลองอาคารมากกว่า 300 หลังและสร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันตามลักษณะของอาคารในปี ค.ศ. 1917

ฉากการประหารชีวิต กอซิม, การโจมตีด้วยรถไฟ และภายนอกของเมืองดัรอา ล้วนถ่ายทำในเมืองอัลเมเรีย โดยการถ่ายทำบางส่วนล่าช้าเนื่องจากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ส่วนเทือกเขาซิเอร์รา เนบาดา ในจังหวัดกรานาดา ถูกนำมาใช้ถ่ายทำเพื่อประกอบฉากที่พักฤดูหนาวของ ที.อี. ลอว์เรนซ์ และฉากการสังหารหมู่ที่ตาฟัสถูกถ่ายทำในเมืองวาร์ซาซัต ประเทศโมร็อกโก โดยมีทหารจากกองทัพบกโมร็อกโกแสดงเป็นทหารของตุรกี

แม้ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้จะถ่ายทำที่ประเทศจอร์แดน แต่รัฐบาลจอร์แดนได้สั่งห้ามเผยแพร่ภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศเนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาบางส่วนไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมอาหรับ ส่วนประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของ อุมัร อัชชะรีฟ เป็นประเทศอาหรับเพียงประเทศเดียวที่อนุญาตให้เผยแพร่ภาพยนตร์เรื่องนี้ภายในประเทศได้โดยผ่านการอนุญาตจากประธานาธิบดีญะมาล อับดุนนาศิร ที่ชื่นชมการแสดงออกถึงภาพลักษณ์ชาตินิยมอาหรับที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้

การตอบรับ

[แก้]

ประสบความสำเร็จด้านรายได้และคำชม พร้อมกับคำวิจารณ์การนำเสนอบุคลิกภาพของที. อี. ลอเรนซ์ในด้านลบ เช่น เป็นคนมีอีโกจัด มีรสนิยมทางเพศเป็นโฮโมเซ็กชวล และเป็นซาดิสม์และมาโซคิสม์ รวมถึงการนำปีเตอร์ โอ ทูล ที่มีความสูงถึง 6 ฟุต 2 นิ้ว (1.87 ม.) มารับบทที. อี. ลอเรนซ์ ที่มีความสูงเพียง 1.64 เมตร (ต่างกัน 23 ซม.) และตัวละครที่ไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

รางวัล[4]

[แก้]

นอกจากนี้ สถาบันภาพยนตร์อเมริกัน ได้จัดอันดับให้เป็น ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลอันดับ 7

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Complete National Film Registry Listing". Library of Congress. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 October 2020. สืบค้นเมื่อ 8 October 2020.
  2. Andrews, Robert M. (26 September 1991). "Cinema: 'Lawrence of Arabia' is among those selected for preservation by Library of Congress". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 September 2015. สืบค้นเมื่อ 4 September 2015.
  3. Phillips, Gene D. (2006). Beyond the Epic: The Life and Films of David Lean. Lexington: The University Press of Kentucky. pp. 291, 303. ISBN 978-0-8131-2415-5.
  4. http://www.imdb.com/title/tt0056172/awards

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]