ข้ามไปเนื้อหา

ไฮนทซ์ กูเดรีอัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไฮนซ์ กูเดเรียน)
ไฮนทซ์ วิลเฮ็ล์ม กูเดรีอัน
กูเดรีอันที่แนวรบด้านตะวันออก เดือนกรกฎาคม 1941
ชื่อเล่นไฮนทซ์จอมพุ่ง
เกิด17 มิถุนายน ค.ศ. 1888(1888-06-17)
คุล์ม ราชอาณาจักรปรัสเซีย จักรวรรดิเยอรมัน (ปัจจุบันอยู่ในโปแลนด์)
เสียชีวิต14 พฤษภาคม ค.ศ. 1954(1954-05-14) (65 ปี)
ชวังเกา รัฐบาวาเรีย เยอรมนีตะวันตก
รับใช้ เยอรมนี (ถึง 1918)
 เยอรมนี (ถึง 1933)
 ไรช์เยอรมัน
ประจำการ1907 – 1945
ชั้นยศ พลเอกอาวุโส (Generaloberst)
การยุทธ์
บำเหน็จกางเขนเหล็กกางเขนอัศวินประดับด้วยใบโอ๊ก
ลายมือชื่อ

ไฮนทซ์ วิลเฮ็ล์ม กูเดรีอัน (เยอรมัน: Heinz Wilhelm Guderian) เป็นนายพลชาวเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งภายหลังสงคราม ได้กลายเป็นนักบันทึกที่ประสบความสำเร็จ แต่ก่อนเป็นผู้บุกเบิกและสนับสนุนการโจมตีแบบ "สงครามสายฟ้าแลบ"(บลิทซ์ครีค) เขามีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาแนวคิดกองพลยานเกราะ ในปี 1936 เขาได้กลายเป็นผู้ตรวจการกองกำลังยานยนต์

ในช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง กูเดรีอันได้นำกองพลน้อยยานเกราะในการบุกครองโปแลนด์ ในช่วงการบุกครองฝรั่งเศส เขาได้บัญชาการหน่วยยานเกราะที่เข้าโจมตีผ่านป่าอาร์แดนและเอาชนะการป้องกันของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ยุทธการเซอด็อง เขาได้นำกองทัพยานเกราะที่สอง ในช่วงปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา การบุกครองสหภาพโซเวียต การทัพได้ยุติลงด้วยความล้มเหลว ภายหลังจากเยอรมันได้ทำการรุกด้วยปฏิบัติการไต้ฝุ่นได้ล้มเหลวในการเข้ายึดกรุงมอสโก ซึ่งหลังจากนั้นกูเดรีอันได้ถูกปลดออก

ในช่วงต้นปี 1943 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้แต่งตั้งกูเดรีอันให้ดำรงตำแหน่งนายพลผู้ตรวจการของกองกำลังยานเกราะที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ ในบทบาทนี้ เขาได้รับผิดชอบอย่างกว้างขวางในการสร้างและฝึกกองกำลังยานเกราะใหม่ แต่ประสบความสำเร็จที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจสงครามของเยอรมนีที่เลวร้ายลง กูเดรีอันได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการเสนาธิการกองทัพบกประจำกองบัญชาการใหญ่กองทัพบกในทันที ภายหลังจากแผนลับ 20 กรกฎาคม ที่จะลอบสังหารฮิตเลอร์

กูเดรีอันถูกวางตัวโดยฮิตเลอร์ให้เป็นผู้รับผิดชอบ "ศาลเกียรติยศ" ซึ่งเป็นแผนการเพื่อปลดนายทหารจากกองทัพ ซึ่งพวกเขาจะถูกนำตัวมาพิจารณาคดีใน "ศาลประชาชน" แทนที่ศาลทหาร และถูกประหารชีวิต เขาได้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของฮิตเลอร์ในแนวรบด้านตะวันออกและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับระบอบนาซี กองกำลังของกูเดรีอันได้ดำเนินตามคำสั่งคอมมิสซาร์ที่เป็นอาชญากรรมในช่วงบาร์บาร็อสซา และเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการการโต้กลับในภายหลังจากการก่อการกำเริบในกรุงวอร์ซอในปี 1944

กูเดรีอันได้ยอมจำนนต่อกองกำลังสหรัฐ เมื่อวันที 10 พฤษภาคม 1945 และถูกคุมขังจนถึงปี 1948 เขาได้รับการปล่อยตัวโดยปราศจากการถูกตั้งข้อหาใด ๆ และเกษียณอายุเพื่อเขียนบันทึกความทรงจำของเขา ในชื่อเรื่องว่า ผู้นำยานเกราะ (Panzer Leader) หนังสืออัตชีวประวัติได้กลายเป็นหนังสือที่ขายดี ซึ่งได้มีการอ่านกันอย่างแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้ งานเขียนของกูเดรีอันได้ส่งเสริมเรื่องปรัมปราหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่อง "แวร์มัคท์บริสุทธิ์" ในอัตชีวประวัติของเขา กูเดรีอันได้แสดงให้เห็นว่า ตัวเองเป็นเพียงผู้ริเริ่มกองกำลังยานเกราะของเยอรมัน เขาได้เว้นการกล่าวถึงความสัมพันธ์ของเขากับฮิตเลอร์และระบอบนาซีหรืออาชญากรรมสงคราม กูเดรีอันได้เสียชีวิตในปี 1954 และศพถูกฝังในเมืองกอสลาร์

ประวัติ

[แก้]

ไฮนทซ์ วิลเฮ็ล์ม กูเดรีอัน เกิดที่เมืองคุล์ม ราชอาณาจักรปรัสเซีย จักรวรรดิเยอรมัน เขาเกิดในครอบครัวมีอันจะกิน เป็นบุตรของร้อยโท ฟรีดริช กูเดรีอัน (Friedrich Guderian) กับนางคลารา เคียร์ชฮ็อฟ (Clara Kirchhoff)[1] ใน 1901 เขาเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยคาลส์รูเออ ก่อนที่จะย้ายมายังโรงเรียนนายร้อยโกรส-ลิชเทอร์เฟ็ลเดอ (Groß-Lichterfelde) ใกล้กับกรุงเบอร์ลิน

เข้ารับราชการทหาร

[แก้]

เมื่อเขาสำเร็จการศึกษานายร้อยในเดือนกุมภาพันธ์ 1907 เขาก็ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการทหารจักรวรรดิเยอรมัน ที่กองพันทหารราบเบาที่ 10 แห่งฮันโนเฟอร์ ซึ่งเป็นกองพันที่บิดาของเขาเป็นผู้บังคับกองพัน ใน 1908 เขาก็ได้รับการประดับยศร้อยตรี ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันชายแดนด้านตะวันออกของจักรวรรดิเยอรมัน ตั้งแต่ไซลีเชียไปจนถึงทะเลบอลติก เขามีความคิดเหมือนกับทหารหลาย ๆ คนว่าเยอรมนีไม่ควรลงนามในสัญญาสงบศึก 1918 เขาคิดว่าจักรวรรดิเยอรมันควรสู้ต่อ[2]

หลังสงคราม เขาเป็นหนึ่งในทหารสี่พันคนที่ยังคงได้รับราชการต่อในกองทัพเยอรมันที่ถูกลดขนาดลง เขาไปประจำการยังชายแดนด้านตะวันออกของประเทศเป็นเวลาห้าเดือนเพื่อรับมือความวุ่นวายจากสงครามกลางเมืองรัสเซีย[3] ก่อนที่จะถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในกองพลน้อยที่ 10 แห่งไรชส์แวร์ ในเมืองฮันโนเฟอร์เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่ใน 1920 เขาจะได้รับการเลื่อนขั้นให้เป็นผู้บังคับการกองพันทหารราบเบาที่ 10 แห่งฮันโนเฟอร์ ต่อมาใน 1922 เขาได้รับการทาบทามให้เป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ โดยได้รับมอบหมายหน้าที่ตรวจสอบการลำเลียงกำลังพลประจำกองพันยานยนต์ขนส่งที่ 7 แห่งบาวาเรีย ในนครมิวนิก ภายใต้สังกัดกรมยานยนต์ขนส่ง

ผู้เชี่ยวชาญยานเกราะ

[แก้]
กูเดรีอันขณะตรวจจถถังทีเกอร์ 1 ในปี 1943

ด้วยหน้าที่นี้เอง ที่ทำให้เขาได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้าด้านยานยนต์และยานเกราะ หนังสือที่เขาศึกษาส่วนมากเป็นหนังสือที่เขียนโดยร้อยเอก ลิดเดิลล์ ฮาร์ต (Liddell Hart) ทหารอังกฤษผู้มากประสบการณ์ด้านยานเกราะ ร้อยเอก ฮาร์ต ให้ความสำคัญกับการใช้กำลังรถถังและยานเกราะในการรบระยะไกล รวมทั้งได้เสนอแนวคิดการรุกแบบประสานงานระหว่างยานเกราะและทหารราบ ซึ่งในยุคนั้น ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนารถถังและยานเกราะยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับกองทัพเยอรมัน การค้นคว้าอย่างจริงจังของกูเดรีอันทำให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ไปโดยปริยาย บทความด้านยานเกราะของเขาได้รับการตีพิมพ์ในวารสารกองทัพเป็นประจำ ซึ่งได้ทำให้ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ในปี 1923–1924 พันโทวัลเทอร์ ฟ็อน เบราคิทช์ จำลองการรบที่มีการประสานงานกันระหว่างรถถัง ยานเกราะ ทหารราบ และอากาศยาน การฝึกนี้เป็นที่สนใจของกรมการฝึกทหารบกอย่างมาก กูเดรีอันได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ฝึกสอนด้านยุทธวิธีและประวัติศาสตร์การทหาร ทำหน้าที่เผยแพร่การรบแบบใหม่ให้แก่หน่วยทหารทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนยุทธวิธีให้กับกองรถถัง ถือเป็นครั้งแรกที่เขามีโอกาสได้เห็นรถถังอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะอุปกรณ์ภายในรถถัง เกิดเป็นแนวความคิดที่ว่า :

การใช้รถถังรบอย่างเพียงลำพังหรือรบพร้อมทหารราบนั้น จะประสบความสำเร็จได้ยากยิ่ง จุดเด่นที่รถถังควรมีในการรบสมัยใหม่คือความเร็ว และสามารถเคลื่อนผ่านภูมิประเทศที่หลากหลายได้เป็นอย่างดี การรุกด้วยรถถังจำเป็นต้องมียุทโธปกรณ์อื่น ๆ คอยสนับสนุน รถถังทำหน้าที่ในการรุก และยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ทำหน้าที่รองลงไป

กองทัพเยอรมันตอบรับแนวคิดของเขาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการจัดตั้งกองพลยานเกราะ แม้จะมีนายพลหัวเก่าบางคนที่ยังคงมองว่าแนวคิดของเขาเป็นเรื่องเพ้อฝัน กูเดรีอันก็ยังคงมุ่งเสนอความคิดที่จะทำการรบโดยใช้รถถังและยานเกราะในแบบฉบับของเขา

สมัยนาซีเยอรมนี

[แก้]
กูเดรีอันระหว่างเดินทางไปแนวรบด้านตะวันออก 1943

ในปี 1933 เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งฟือเรอร์ กูเดรีอันได้มีโอกาสฟังสุนทรพจน์ของฮิตเลอร์ในงานแสดงรถยนต์ในกรุงเบอร์ลิน เขามีความประทับใจมากที่ฮิตเลอร์ประกาศว่าจะยกเลิกภาษีรถยนต์ และสร้างทางหลวงเอาโทบาน รวมทั้งจะสร้างรถยนต์ราคาย่อมเยาสำหรับประชาชน นั่นคือรถฟ็อลคส์วาเกิน นอกจากนี้ ฮิตเลอร์ยังแต่งตั้งพลเอก แวร์เนอร์ ฟ็อน บล็อมแบร์ค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม บล็อมแบร์คเป็นบุคคลหัวสมัยใหม่ ตรงกับแนวทางการพัฒนาการรบโดยใช้รถถังเป็นหลักของกูเดรีอัน นอกจากนั้น ฮิตเลอร์ซึ่งเป็นทหารเก่าก็สนใจเรื่องการเคลื่อนย้ายกำลังพลและการใช้ยานเกราะในการรบอยู่มากพอควร ในห้วงเวลานี้เองที่เยอรมันได้ร่วมกับสหภาพโซเวียตทำการพัฒนารถถังอย่างลับ ๆ ในดินแดนของโซเวียต

ในเดือนเมษายน 1933 กูเดรีอันได้รับการเลื่อนยศเป็นพันเอก และสองเดือนต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นเสนาธิการกองบัญชาการทหารยานเกราะ และมีโอกาสได้นำเสนออาวุธยุทโธปกรณ์ที่เยอรมันพัฒนาขึ้นต่อฮิตเลอร์เป็นครั้งแรก เขาได้สาธิตการเข้าตีของหมวดจักรยานยนต์, หมวดต่อสู้รถถัง, หมวดรถถังพันท์เซอร์ 1, หมวดรถหุ้มเกราะเบา และหมวดยานเกราะลาดตระเวน ฮิตเลอร์ประทับใจการสาธิตของกูเดรีอันอย่างมาก ถึงกลับกล่าวว่า "นี่แหละสิ่งที่ฉันต้องการ นี่แหล่ะสิ่งที่ฉันอยากจะมี" ตั้งแต่นั้นมาการฝึกจู่โจมโดยหน่วยรถถังก็เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง แม้ระยะแรกจะเป็นเพียงการใช้รถถังจำลองจากไม้ในการฝึกก็ตาม แต่ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสยังคงมองรถถังและยานเกราะเป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนทหารราบเท่านั้น

ในช่วงเดือนมีนาคม 1938 กูเดรีอันในยศพลโทเป็นหนึ่งในผู้บัญชาการในการส่งกำลังเข้าผนวกประเทศออสเตรีย กองพลยานเกราะที่ 2 ของเขาใช้เวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมงกับระยะทาง 670 กิโลเมตรถึงกรุงเวียนนา ซึ่งในการเคลื่อนพลครั้งนี้ เขาพบจุดอ่อนของกองพลยานเกราะ นั่นคือการบำรุงรักษายุทโธปกรณ์มีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกับรถถัง ทำให้ต้องประสบปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้องระหว่างเดินทาง นอกจากนี้ยังพบปัญหาด้านการส่งกำลังบำรุงโดยเฉพาะน้ำมัน ถือเป็นอุปสรรคใหญ่อีกข้อหนึ่ง เนื่องจากรถบรรทุกน้ำมันไม่สามารถตามขบวนยานเกราะได้ทัน ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมัน ภายหลังการผนวกออสเตรีย ฮิตเลอร์ตระหนักดีว่ากองพลยานเกราะมีความสำคัญเพียงใด ฮิตเลอร์ได้สั่งการให้จัดตั้งกองพลยานเกราะที่ 4 ขึ้นเพิ่มเติม พร้อมทั้งเตรียมการจัดตั้งกองพลยานเกราะที่ 5 และกองพลเบาที่ 4 ทำให้ขีดความสามารถของกองพลยานเกราะเยอรมันเพิ่มสูงขึ้นจนทิ้งห่างชาติอื่น ๆ อย่างขาดลอย

ในการบุกฝรั่งเศส หน่วยยานเกราะของเขาและของร็อมเมิลเลือกบุกต่อเข้าไปฝรั่งเศสโดยไม่สนคำสั่งของพลเอกไคลสท์ที่ให้หยุดรอทหารราบ กูเดรีอันใช้เวลาไปถึงเซด็องเพียงสามวัน(จากสองสัปดาห์) กองทัพที่หกในเซด็องยอมจำนน เขารีบรุดนำหน่วยยานเกราะหน้าข้ามแม่น้ำเมิซและมุ่งหน้าไปที่ช่องแคบอังกฤษ

ยศทหาร

[แก้]
  • กุมภาพันธ์ 1907 : นักเรียนทำการนายร้อย (Fähnrich)
  • มกราคม 1908 : ร้อยตรี (Leutnant)
  • พฤศจิกายน 1914 : ร้อยโท (Oberleutnant)
  • ธันวาคม 1915 : ร้อยเอก (Hauptman)
  • กุมภาพันธ์ 1927 : พันตรี (Major)
  • กุมภาพันธ์ 1931 : พันโท (Oberstleutnant)
  • เมษายน 1933 : พันเอก (Oberst)
  • สิงหาคม 1936 : พลตรี (Generalmajor)
  • กุมภาพันธ์ 1938 : พลโท (Generalleutnant)
  • พฤศจิกายน 1938 : พลเอกทหารยานเกราะ (General der Panzertruppe)
  • กรกฎาคม 1940 : พลเอกอาวุโส (Generaloberst)

อ้างอิง

[แก้]
  1. Frank N. Magill (5 March 2014). The 20th Century Go-N: Dictionary of World Biography. Routledge. pp. 1490–. ISBN 978-1-317-74060-5.
  2. Hargreaves 2009, p. 29.
  3. Hart 2006, p. 16.
ก่อนหน้า ไฮนทซ์ กูเดรีอัน ถัดไป
พลโท อาด็อล์ฟ ฮ็อยซิงเงอร์ เสนาธิการกองทัพบก
(กรกฎาคม 1944 – มีนาคม 1945)
พลเอกทหารราบ ฮันส์ เครพส์