แผนการเล่น (ฟุตบอล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนผังแสดงแผนการเล่นในนัดระหว่างแบล็กเบิร์นโรเวอส์ กับ เชฟฟีลด์เวนส์เดย์ ในปี ค.ศ. 1887 โดยทั้ง 2 ทีมใช้แผนการเล่น 2–3–5

แผนการเล่น (อังกฤษ: Formation) ในกีฬาฟุตบอล จะบ่งบอกถึงการที่ผู้เล่นในทีมจะยืนตำแหน่งใดในสนาม ซึ่งฟุตบอลเป็นเกมที่มีความยืดหยุ่นและเร็ว (ยกเว้น ผู้รักษาประตู) ผู้เล่นอาจจะปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้ในระหว่างการแข่งขัน เช่นในรักบี้ ผู้เล่นจะไม่ยืนเป็นแถวในตำแหน่งเดิมตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม การกำหนดตำแหน่งมีเพื่ออธิบายถึงผู้เล่นในตำแหน่งนั้นว่าจะเน้นการรุกหรือรับ หรือการเล่นในด้านใดด้านหนึ่งของสนาม

แผนการเล่นจะอธิบายด้วยตัวเลขจำนวน 3–4 ตัว (หรืออาจจะมากกว่านั้นในแผนการเล่นฟุตบอลสมัยใหม่) โดยตัวเลขจะแสดงตั้งแต่แถวของผู้เล่นในตำแหน่งเกมรับไปจนถึงเกมรุก เช่น 4–5–1 แผนการเล่นนี้จะมีกองหลัง 4 คน, กองกลาง 5 คน และ กองหน้า 1 คน โดยในแต่ละช่วงเวลาของการแข่งขันอาจจะใช้แผนการเล่นที่แตกต่างกันไปตามกลยุทธ์และสถานการณ์ของทีม

การเลือกแผนการเล่นจะเลือกโดยผู้จัดการทีมหรือหัวหน้าผู้ฝึกสอนของทีม ทักษะและวินัยของผู้เล่นเป็นสิ่งที่สำคัญในการเล่นฟุตบอลอาชีพ แผนการเล่นอาจจะถูกเลือกตามผู้เล่นที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่ถนัด หรือบางแผนการเล่นจะใช้เพื่อกำจัดจุดอ่อนหรือเพิ่มจุดแข็งของทีมด้วยทักษะของผู้เล่นแต่ละคน

ในสมัยก่อน ทีมจะใช้ผู้เล่นที่เล่นเกมรุกมากกว่า แต่ในยุคปัจจุบัน แทบทุกแผนการเล่นจะมีผู้เล่นเกมรับมากกว่าเกมรุก

ชื่อ[แก้]

แผนการเล่นจะอธิบายถึงประเภทของผู้เล่น (ไม่รวมผู้รักษาประตู) เรียงตามตำแหน่งจากเกมรับไปยังเกมรุก เช่น 4–4–2 หมายถึงมีกองหลัง 4 คน, กองกลาง 4 คน และ กองหน้า 2 คน

ในอดีต หากใช้แผนการเล่นเดียวกัน อาจจะยืนตำแหน่งไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจจะมีผู้เล่นด้านกว้างหรือยืนตำแหน่งสูงต่ำไม่เท่ากัน แต่ในยุคปัจจุบันนั้นมีวิวัฒนาการที่มากขึ้นในการแสดงแผนการเล่นแบบใหม่ ที่จะแสดงแผนการเล่นในรูปแบบตัวเลข 4–5 ตัว เช่น 4–2–1–3 โดยกองกลางจะถูกแบ่งเป้นกองกลางตัวรับ 2 คน และตัวรุกอีก 1 คน ซึ่งแผนนี้อาจจะคล้างคลึงกันกับ 4–3–3 หรือแผนการเล่นที่แสดงตัวเลข 5 ตัว เช่น 4–1–2–1–2 โดยกองกลางจะแบ่งเป็นกองกลางตัวรับ 1 คน, ตัวกลาง 2 คน และตัวรุก 1 คน ซึ่งอาจจะคล้ายคลึงกันกับ 4–4–2 (หรือ 4–4–2 ไดมอนด์)

ระบบเลขแผนการเล่นนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่มีการใช้แผนการเล่น 4–2–4 ในยุค 1950

การเลือกใช้[แก้]

การเลือกใช้แผนการเล่นส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับผู้เล่นที่มีอยู่ในทีม

  • แผนการเล่นแบบแคบ (อังกฤษ: Narrow formation) เหมาะกับทีมที่มีกองกลางตัวกลางที่ดีหรือทีมที่บุกจากกลางสนามได้ดี จะใช้แผนการเล่นแบบแคบ เช่น 4–1–2–1–2 หรือ 4–3–2–1 โดยจะใช้ผู้เล่นกองกลาง 4–5 คน อย่างไรก็ดี อาจจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งฟุลแบ็ก ซึ่งแม้ว่าแผนการเล่นจะแสดงถึงกองหลัง 4 คน แต่อาจจะช่วยในการเติมเกมจากด้านกว้างของสนามเมื่อทีมกำลังทำเกมบุกได้
  • แผนการเล่นแบบกว้าง (อังกฤษ: Wide formation) เหมาะกับทีมที่มีกองหน้าและปีกที่ดี จะใช้แผนการเล่นแบบกว้าง เช่น 4–2–3–1, 3–5–2 และ 4–3–3 โดยกองหน้าและปีกจะยืนอยู่ในตำแหน่งสูง ซึ่งแผนการเล่นแบบกว้างจะทำให้การเล่นมีความหลากหลายมากขึ้นและมีผู้เล่นยืนคุมพื้นที่อยู่รอบสนาม

ทีมอาจจะทำการเปลี่ยนแผนการเล่นระหว่างเกมเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป:

  • เปลี่ยนเป็นเกมบุก เมื่อทีมกำลังถูกนำอยู่ อาจจะทำการเปลี่ยนผู้เล่นกองหลังหรือกองกลางออก แล้วเปลี่ยนกองหน้าลงมาเล่นแทน เช่น เปลี่ยนจาก 4–5–1 เป็น 4–4–2, 3–5–2 เป็น 3–4–3 หรือ 5–3–2 เป็น 4–3–3.
  • เปลี่ยนเป็นตั้งรับ เมื่อทีมกำลังนำอยู่หรือต้องการที่จะป้องกันประตู ผู้จัดการทีมอาจจะเลือกที่จะเปลี่ยนผู้เล่นในเกมรับด้วยการเปลี่ยนกองหน้าออก หรือเพิ่มตำแหน่งในกองกลาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมพื้นที่ เช่น เปลี่ยนจาก 4–4–2 เป็น 5–3–2, 3–5–2 เป็น 4–5–1 หรือ 4–4–2 เป็น 5–4–1

แผนการเล่นของทีมอาจจะไม่ใช่แผนการเล่นจริงในสนาม เช่น ทีมที่ใช้แผนการเล่น 4–3–3 สามารถเปลี่ยนเป็น 4–5–1 ได้อย่างรวดเร็วหากผู้จัดการทีมต้องการผู้เล่นไปช่วยในเกมรับมากขึ้น

แผนการเล่นในอดีต[แก้]

ในการแข่งขันฟุตบอลยุคศตวรรษที่ 19 ไม่มีการเล่นฟุตบอลแบบตั้งรับ ทุกการแข่งขันมีเพียงการบุกใส่กันเท่านั้น

ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1872 การแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรทีมชาตินัดแรก ระหว่างสกอตแลนด์ กับ อังกฤษ โดยทีมชาติอังกฤษเล่นในแผนการเล่นกองหน้า 7 หรือ 8 คน ในแผนการเล่น 1–1–8 หรือ 1–2–7 ส่วนสกอตแลนด์เล่นในแผนการเล่น 2–2–6 สำหรับอังกฤษนั้นมีกองหลังเพียง 1 คน คอยเก็บบอลที่ทำเสีย ส่วน 1 หรือ 2 คน คอยวิ่งช่วยในตำแหน่งกองกลางและเปิดบอลไปด้านหน้า ซึ่งรูปแบบการเล่นของอังกฤษนั้นใช้เพียงความสามารถส่วนตัวของผู้เล่น ซึ่งมีผู้เล่นที่มีทักษะการเลี้ยงบอลที่ดี ผู้เล่นจะทำเพียงเปิดบอลยาวไปด้านหน้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือเปิดไปให้ผู้เล่นคนอื่นคอยวิ่งไล่บอล ส่วนสกอตแลนด์ใช้การส่งบอลระหว่างผู้เล่นเป็นคู่ ๆ แต่ในท้ายที่สุดแม้ว่าจะใช้ตำแหน่งกองหน้ามากเพียงใด เกมก็จบลงที่ผลเสมอกัน 0–0

แผนการเล่นดั้งเดิม[แก้]

2–3–5 (พีระมิด) [แก้]

แผนการเล่นแบบพีระมิด

เป็นแผนการเล่นที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในอดีต ซึ่งถูกบันทึกไว้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1880[1] อย่างไรก็ดี เคยมีการเผยแพร่โดยคักซ์ตันในปี ค.ศ. 1960 ตามฉบับที่ 2 หน้าที่ 432 ความว่า "เร็กซ์แฮม ... ชนะเลิศครั้งแรกในเวลส์คัพ ปี ค.ศ. 1877 ... เป็นครั้งแรกในเวลส์และอาจจะเป็นครั้งแรกในสหราชอาณาจักร ที่มีทีมเล่นด้วยกองกลาง 3 คน และกองหน้า 5 คน ..."

แผนการเล่น 2–3–5 หรือรู้จักกันในชื่อ "พีระมิด" เป็นแผนการเล่นที่ได้รับการอ้างอิงในภายหลัง ในยุค 1890 เคยเป็นแผนการเล่นพื้นฐานในประเทศอังกฤษและต่อจากนั้นได้ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งเคยถูกใช้ในทีมชั้นนำจำนวนมากในยุค 1930

ในเริ่มแรก ความสมดุลระหว่างเกมรุกกับเกมรับได้ถูกค้นพบขึ้น โดยมีกองหลัง 2 คน (ฟุลแบ็ก) คอยคุมพื้นที่กองหน้าฝ่ายตรงข้าม (ส่วนใหญ่ยุคนั้นใช้กองหน้า 3 คน) ส่วนกองกลาง (ฮาล์ฟแบ็ก) จะคอยสอดแทรกในช่องว่าง (หรือคอยประกบปีกและกองหน้าด้านในของฝ่ายตรงข้าม)

ฮาล์ฟแบ็กตัวกลางเป็นตำแหน่งสำคัญที่ช่วยควบคุมเกมระหว่างเกมรุกของทีมกับการประกอบกองหน้าตัวกลางของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นผู้เล่นที่มีความอันตรายมากที่สุด

แผนการเล่นนี้เคยถูกใช้โดยทีมชาติอุรุกวัย ในการได้แชมป์โอลิมปิกฤดูร้อนปี ค.ศ. 1924 และ ค.ศ. 1928 และฟุตบอลโลก 1930 อีกด้วย

จึงเป็นรูปแบบในการให้หมายเลขเสื้อของผู้เล่นเรียงจากกองหลังไปหน้าและจากซ้ายไปขวา[2]

โรงเรียนดานูเบียน[แก้]

โรงเรียนฟุตบอลดานูเบียน ได้ปรับการเล่นของแผน 2–3–5 โดยใช้กองหน้าตัวกลางที่ถอยลงมามากขึ้น จะเห็นการเล่นแบบนี้ได้ในทีมในประเทศออสเตรีย, สาธารณรัฐเช็ก และฮังการี ในยุค 1920 โดยประสบผลสำเร็จเป้นอย่างมากกับออสเตรียในยุค 1930 ซึ่งจะใช้การส่งบอลสั้นและทักษะส่วนตัว โรงเรียนดานูเบียนได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายจาก อูโก เมเซิล และ จิมมี โอแกน หัวหน้าผู้ฝึกสอนชาวอังกฤษที่ได้เดินทางไปออสเตรียในช่วงนั้น

เมโทโด (2–3–2–3)[แก้]

แผนการเล่นแบบเมโทโด

แผนการเล่นแบบเมโทโดได้ถูกคิดค้นโดย วิตโตรีโอ ปอซโซ หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติอิตาลี ในยุค 1930[3] ซึ่งมีการดัดแปลงมาจากแผนการเล่นของโรงเรียนดานูเบียน โดยจะเล่นในแผนการเล่น 2–3–5 ปอซโซได้ใช้ฮาล์ฟแบ็กคอยช่วยดึงตัวประกบผู้เล่นกองกลางฝ่ายตรงข้าม กลายเป็นแผนการเล่น 2–3–2–3 ช่วยสร้างเกมรับที่แข็งแกร่งมากกว่าแผนการเล่นเดิม หรือที่เรียกว่าการตั้งรับรอสวนกลับ (Counter-attacks) ทำให้ทีมชาติอิตาลีได้แชมป์โลกในปีค.ศ. 1934 และ ค.ศ. 1938 ด้วยแผนการเล่นนี้ ซึ่งในยุคปัจจุบันอาจจะได้เห็นแผนการเล่นนี้ที่นำมาปรับปรุงใหม่ของเปป กวาร์ดิโอลา ที่ใช้กับบาร์เซโลนา และ บาเยิร์นมิวนิก[4] และแผนการเล่นนี้จะเห็นได้ในฟุตบอลโต๊ะ ที่จะใช้กองหลัง 2 คน, กองกลาง 5 คน และกองหน้า 3 คน (ซึ่งผู้เล่นจะถูกติดตั้งมากับไม้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้)

ดับเบิลยูเอ็ม[แก้]

แผนการเล่นแบบดับเบิลยูเอ็ม

แผนการเล่นแบบดับเบิลยูเอ็ม (WM) ตั้งชื่อตามการยืนตำแหน่งของผู้เล่นในสนาม ถูกคิดค้นในช่วงกลางยุค 1920 โดย เฮอร์เบิร์ต แชปแมน ผู้จัดการทีมอาร์เซนอล เพื่อที่จะรับมือกับการใช้กฎการล้ำหน้า ในปี ค.ศ. 1925 โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ลดผู้เล่นในเกมรุกลง สิ่งที่สำคัญและเพิ่มขึ้นมาในระบบนี้คือการใช้กองหลังตัวกลางคอยหยุดกองหน้าของคู่ต่อสู้ และมีความสมดุลมากขึ้นระหว่างเกมรุกและเกมรับ ซึ่งแผนการเล่นแบบนี้เคยประสบความสำเร็จในช่วงปลายยุค 1930 โดยสโมสรในประเทศอังกฤษได้นำแผนนี้มาใช้เป็นอย่างมาก ในอดีตแผนการเล่นแบบดับเบิลยูเอ็ม อาจแสดงในรูปแบบ 3–2–5 หรือ 3–4–3 แต่รูปแบบแผนการเล่นที่แท้จริงคือ 3–2–2–3 โดยช่องว่างระหว่างวิงฮาล์ฟ 2 คน และกองหน้า 2 คน ทำให้อาร์เซนอลสามารถเล่นเกมรับแล้วสวนกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ แผนการเล่นแบบดับเบิลยูเอ็มถูกปรับมาใช้ในหลายทีมแต่ก็ยังไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับแชปแมน ซึ่งมีผู้เล่นอย่าง อเล็กซ์ เจมส์ ที่เป็นหนึ่งในกองกลางตัวสร้างสรรค์เกมในยุคบุกเบิกของโลกฟุตบอล ต่อมาในปี ค.ศ.​ 2016 ปาทริก วีเยรา อดีตผู้เล่นอาร์เซนอล ได้นำแผนการเล่นนี้มาใช้กับ นิวยอร์กซิตี[5]

ดับเบิลยูดับเบิลยู[แก้]

แผนการเล่นแบบดับเบิลยูดับเบิลยู (WW) ถูกพัฒนามาจากแผนการเล่นแบบดับเบิลยูเอ็ม (WM) ถูกคิดค้นโดย มาร์ตอน บูโควี หัวหน้าผู้ฝึกสอนชาวฮังการี ที่ปรับเปลี่ยนจากแผนการเล่น 3–2–5 (ดับเบิลยูเอ็ม) เป็น 2–3–2–3 ที่กลับหัวตัว "M" ลง[6] ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้เล่นกองหน้าตัวกลาง โดยใช้กองกลางสร้างสรรค์เกมแทน ส่วนกองกลางจะเน้นเล่นเกมรับมากกว่า ทำให้เกิดเป็นแผนการเล่น 2–3–1–4 และเปลี่ยนเป็น 2–3–2–3 เมื่อทีมเสียการครองบอล ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างแผนการเล่นแบบดับเบิลยูเอ็มและ 4–2–4 แผนการเล่นนี้เคยประสบความสำเร็จกับฮังการี ในช่วงต้นยุค 1950

3–3–4[แก้]

แผนการเล่น 3–3–4 มีความคล้ายคลึงกับแผนการเล่นแบบดับเบิลยูดับเบิลยู (WW) ด้วยการมีกองหน้าตัวในแทน ยืนอยู่ด้านหน้ากองกลางระหว่างวิงฮาล์ฟทั้งสองคน แผนการเล่นนี้ได้ถูกนำมาใช้ในช่วงยุค 1950 และต้นยุค 1960 แผนการเล่นนี้เคยประสบความสำเร็จกับ ทอตนัมฮอตสเปอร์ ที่ใช้ แดนนี บลันช์ฟลาวเออร์, จอห์น ไวท์ และ เดฟ แมคเคย์ เล่นในตำแหน่งกองกลาง และ โปร์ตู เคยได้แชมป์ปรีไมราลีกา ในฤดูกาล 2005–06 ด้วยแผนการเล่นนี้

4–2–4[แก้]

แผนการเล่น 4–2–4

แผนการเล่น 4–2–4 เป็นส่วนผสมระหว่างเกมรุกและเกมรับที่แข็งแกร่ง และสามารถใช้เมื่อฝ่ายตรงข้ามใช้แผนการเล่นแบบดับเบิลยูเอ็ม คาดว่ามีการพัฒนามาจากแผนการเล่นแบบดับเบิลยูดับเบิลยู โดยแผนการเล่น 4–2–4 เป็นแผนการเล่นแรกที่ใช้ระบบอธิบายแผนการเล่นด้วยตัวเลข

การพัฒนาแผนการเล่น 4–2–4 ถูกคิดค้นโดย มาร์ตอน บูโควี โดยคาดว่าอาจจะมาจาก ฟลาวีอู กอสตา หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติบราซิลในต้นยุค 1950 หรือ เบลา กัตต์มัน หัวหน้าผู้ฝึกสอนชาวฮังการี ซึ่งต่อมาได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยชาวบราซิลที่ใช้แผนการเล่นนี้อย่างแพร่หลาย[6][7][8]

กอสตา ได้เผยแพร่ความคิดของเขาในหนังสือพิมพ์บราซิลที่มีชื่อว่า "อูครูเซรู" ถึงระบบการเล่นแบบแนวทแยงนี้ โดยเป็นแหล่งอ้างอิงถึงแผนการเล่นที่เคยใช้ในบทความที่เคยปรากฏนี้[7]

กัตต์มัน ได้ย้ายมาอยู่ที่ประเทศบราซิลในภายหลัง ช่วงยุค 1950 เพื่อช่วยพัฒนาแผนการเล่นจากประสบกาณ์ของเขา

แผนการเล่น 4–2–4 ใช้ผู้เล่นที่มีทักษะและความฟิตมากขึ้น เพื่อใช้การตั้งรับ 6 คน และการรุก 6 คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกองกลางจะต้องช่วยทั้งเกมรับและรุก ส่วนผู้เล่นกองหลังทั้ง 4 คนอาจจะช่วยบีบเข้ามาตรงกลางเพื่อช่วยให้เกมรับแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

กองกลางที่มีเพียง 2 คน อาจจะทำให้มีช่องว่างที่เยอะ นอกจากจะต้องคอยวิ่งแย่งบอลแล้ว จะต้องครองบอล, ส่งบอล และวิ่งเพื่อทำเกมรุก ดังนั้นแผนการเล่นนี้จึงต้องใช้ผู้เล่นที่มีทักษะแตกต่างกันไป และมีการใช้กลยุทธ์อย่างสูง เนื่องจากกองกลางทั้ง 2 คนจะต้องคอยช่วยแก้ปัญหาเกมรับ แต่แผนการเล่นนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ระหว่างการแข่งขัน

แผนการเล่น 4–2–4 ประสบความสำเร็จกับ ปัลเมรัส และ ซังตูซ สโมสรในประเทศบราซิล อีกทั้งยังเคยใช้กับทีมชาติบราซิล ช่วยให้พวกเขาได้แชมป์ฟุตบอลโลก 1958 และ ฟุตบอลโลก 1970 ซึ่งมี เปเล่ และ มารีอู ซากายู เป็นผู้เล่นในปี ค.ศ. 1958 และเป็นผู้ฝึกสอนในปี ค.ศ. 1970 ทำให้แผนการเล่นนี้ได้แพร่หลายไปทั่วโลกจากการประสบความสำเร็จของทีมชาติบราซิล ซึ่งเซลติก ภายใต้การคุมทีมของ จอห์น สไตน์ ใช้แผนการเล่นนี้ทำให้ทีมเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศในการแข่งขันยูโรเปียนคัพ 1969–70

แผนการเล่นสมัยใหม่[แก้]

แผนการเล่นสมัยใหม่

แผนการเล่นดังต่อไปนี้ใช้ในฟุตบอลสมัยใหม่ รูปแบบจะมีความยืดหยุ่นตามความต้องการของทีมตามผู้เล่นที่มีอยู่ และตำแหน่งของผู้เล่นเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกันกับการแทนกองหลังแบบดั้งเดิมด้วย สวีปเปอร์

4–4–2[แก้]

แผนการเล่นนี้เป็นแผนการเล่นทั่วไปในฟุตบอลยุค 1990 และต้นยุค 2000 อีกทั้งเป็นที่มาของนิตยสารชื่อดัง โฟร์โฟร์ทู โดยผู้เล่นกองกลางจะต้องช่วยในเกมรับและรุก โดยอาจจะมีกองกลางตัวกลาง 1 คนที่คอยเล่นเกมรุกและช่วยเหลือกองหน้า ส่วนที่เหลือจะคอยคุมเกมและป้องกันกองหลัง ส่วนผู้เล่นกองกลางด้านกว้างทั้ง 2 คนจะวิ่งไปยังด้านกว้างและคอยเปิดบอลเข้าสู่พื้นที่เขตโทษ หรือช่วยเหลือฟุลแบ็ก[9][10] ในการแข่งขันฟุตบอลยุโรป มีการใช้แผนการเล่น 4–4–2 เช่น เอซี มิลาน ที่คุมทีมโดย อาร์รีโก ซัคคี และ ฟาบีโอ กาเปลโล ซึ่งได้แชมป์ ยูโรเปียนคัพ 3 สมัย, อินเตอร์คอนติเนนทัลคัพ 2 สมัย และ ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 3 สมัย ระหว่างปี ค.ศ. 1988 ถึง ค.ศ. 1995 ทำให้เป็นที่นิยมในประเทศอิตาลีตั้งแต่ช่วงปลายยุค 1980 ถึงต้นยุค 1990

ในปัจจุบันแผนการเล่น 4–4–2 ได้ถูกพัฒนามาอยู่ในรูปแบบของแผนการเล่น 4–2–3–1[11] ในปี ค.ศ. 2010 ไม่มีทีมแชมป์ในลีกของประเทศสเปน, ประเทศอังกฤษ และประเทศอิตาลี หรือแม้แต่ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ทีมใด ที่ใช้แผนการเล่นนี้ หลังจากการที่ทีมชาติอังกฤษได้แพ้ให้กับเยอรมนีที่ใช้แผนการเล่น 4–2–3–1 ในฟุตบอลโลก 2010 ฟาบีโอ กาเปลโล ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษที่เคยประสบความสำเร็จกับแผนการเล่น 4–4–2 เมื่อคุมทีมเอซี มิลาน ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าแผนการเล่น 4–4–2 ได้ล้าสมัยไปแล้ว[12]

อย่างไรก็ดี แผนการเล่น 4–4–2 ยังคงเป็นแผนกานเล่นที่คุมพื้นที่ด้านกว้างของสนามทั้งหมดจากผู้เล่นที่มากกว่าได้ ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีการนำกลับมาใช้อีกครั้งดังเห็นได้จาก อัตเลติโกเดมาดริด ของ ดิเอโก ซิเมโอเน, เรอัลมาดริด ของ การ์โล อันเชลอตตี และ เลสเตอร์ซิตี ของ เกลาดีโอ รานีเอรี[13][14]

4–4–1–1[แก้]

เป็นแผนการเล่นในอีกรูปแบบหนึ่งของแผนการเล่น 4–4–2 ที่มีกองหน้า 1 คนเป็นกองหน้าตัวต่ำ โดยยืนอยู่ด้านหลังของกองหน้า.[15] โดยกองหน้าคนที่สองจะคอยสร้างสรรค์เกม และวิ่งไปยังตำแหน่งกองกลางเพื่อเก็บบอล ก่อนที่จะส่งบอลให้เพื่อหรือเลี้ยงบอลไปด้านหน้า[15] การตีความของแผนการเล่น 4–4–1–1 อาจจะสับสนเล็กน้อย โดยกองหน้าคนที่สองจะเล่นในตำแหน่งกองหน้า ไม่ใช่กองกลาง โดยแผนการเล่นนี้เคยเป็นที่ประสบความสำเร็จกับ ฟูลัม โดยใช้ โซลตัน เกรา ยืนอยู่ด้านหลัง บ็อบบี ซาโมรา ซึ่งทำให้พวกเขาเขาถึงรอบชิงชนะเลิศในการแข่งขันยูฟ่ายูโรปาลีก 2010

4–3–3[แก้]

แผนการเล่น 4–3–3 ถูกพัฒนามากจากแผนการเล่น 4–4–2 และได้นำมาใช้โดยทีมชาติบราซิลในฟุตบอลโลก 1962 แม้ว่าแผนการเล่นนี้เคยใช้โดยทีมชาติอุรุกวันในฟุตบอลโลก 1950 และ 1954 ผู้เล่นกองกลางที่เพิ่มขึ้นมาจะมีผู้เล่นเกมรับที่แข็งแกร่ง ส่วนผู้เล่นที่เหลือจะมีหน้าที่แตกต่างกันไป โดยกองกลางทั้ง 3 คน จะเล่นแบบแคบใกล้กันเมื่อต้องป้องกัน และขยายไปทางด้านกว้างเมื่อต้นการส่งบอลและเปิดเกมรุก ส่วนกองหน้าทั้ง 3 คนจะยืนตำแหน่งกระจายอยู่ทุกด้านของสนามเพื่อการโจมตีที่หลากหลาย และยังมีฟุลแบ็กคอยช่วยสนับสนุนการทำเกมรุก เหมือนกันกับแผนการเล่น 4–4–2 เมื่อนำแผนการเล่นนี้มาใช้ในช่วงต้นเกม จะทำให้ทีมสามารถครองบอลได้ทั่วสนาม หรือสามารถเปลี่ยนจากแผนการเล่น 4–4–2 ด้วยการเพิ่มกองหน้าเข้าไป 1 คนแทนกองกลาง ซึ่งแผนนี้สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับการเล่นต่อบอลสั้นและการเน้นการครองบอล

แผนการเล่น 4–3–3 ได้มีกองกลางตัวรับ 1 คน (ส่วนใหญ่จะสวมเสื้อหมายเลข 4 หรือ 6) และกองกลางตัวรุก 2 คน (ส่วนใหญ่จะสวมเสื้อหมายเลข 8 และ 10) เป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศอิตาลี, ประเทศอาร์เจนตินา และประเทศอุรุกวัย ในช่วยยุค 1960 และ 1970 โดยในอิตาลีนั้น รูปแบบของแผนการเล่น 4–3–3 มาจากการปรับใช้แผนการเล่นแบบดับเบิลยูเอ้ม โดยเปลี่ยนจากวิงฮาล์ฟ 1 คนเป็นสวีปเปอร์ ส่วนในอาร์เจนตินาและอุรุกวัย พัฒนามาจาก 2–3–5 ซึ่งคงไว้ในตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟตัวรุก ส่วนการแข่งขันระดับทีมชาติที่เป็นชื่อเสียงคือทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1974 และ 1978 แม้ว่าทีมจะไม่ได้แชมป์ก็ตาม

ในฟุตบอลสโมสร แผนการเล่นนี้มีชื่อเสียงจากอายักซ์ ในต้นยุค 1970 ซึ่งได้แชมป์ยูโรเปียนคัพ 3 สมัย กับโยฮัน ไกรฟฟ์ และ เดเน็ก เซมัน และฟอคเคีย ในอิตาลี ช่วงปลายยุค 1980 ที่มีการใช้แผนการเล่นนี้

ปัจจุบันหลายทีมใช้แผนการเล่นนี้และใช้กองกลางตัวรับ ที่แข็งแกร่ง เช่น โปร์ตู และ เชลซี ซึ่งคุมทีมโดย โชเซ มูรีนโย และอย่างยิ่งกับบาร์เซโลนาที่ได้ถึง 6 แชมป์ในฤดูกาลเดียวภายใต้การคุมทีมของ เปป กวาร์ดิโอลา

4–3–1–2[แก้]

เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ 4–3–3 ซึ่งจะมีกองกลางตัวรุกตัวกลาง แผนการเล่นนี้จะเน้นไปที่การเคลื่อนที่ของกองกลางตัวรุกที่อยู่ด้านหลังกองหน้า ซึ่งแผนการเล่นนี้จะเน้นการเล่นด้านแคบหรือด้านในมากกว่า 4–3–3 และให้กองกลางตัวรุกสร้างโอกาสเพิ่มมากขึ้น แผนนี้เคยประสบความสำเร็จกับโปร์ตู ที่คุมทีมโดยโชเซ มูรีนโย ทำให้ทีมได้แชมป์ยูฟ่าคัพ 2002–03 และ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2003–04 เช่นเดียวกันกับการ์โล อันเชลอตตี สำหรับแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2002–03 และ เซเรียอา 2003–04 กับมิลาน และ พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2009–10 กับเชลซี โดยแผนการเล่นนี้ มัสซีมีเลียโน อัลเลกรี ได้นำมาปรับใช้กับมิลาน และทำให้ได้แชมป์เซเรียอาในฤดูกาล 2010–11

4–1–2–3[แก้]

เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ 4–3–3 ซึ่งจะมีกองกลางตัวรับตัวกลาง และมีกองกลางตัวกลาง 2 คน[16]

4–4–2 ไดมอนด์ หรือ 4–1–2–1–2[แก้]

แผนการเล่น 4–4–2 ไดมอนด์ (หรือ 4–1–2–1–2) มีกองกลางที่ยืนคุมพื้นที่ตรงกลางได้ดี ส่วนด้านกว้างนั้นจะใช้ฟุลแบ็กคอยเติมเกมแทน ส่วนกองกลางตัวรับอาจจะใช้กองกลางตัวลึกแทน แต่หน้าที่สำคัญยังคงเป็นการตัดบอลก่อนจะถึงกองหลัง[17] กองกลางตัวรุกตัวกลางเป็นผู้เล่นที่คอยสร้างสรรค์เกม, คอยเก็บบอล และเปิดบอลไปด้านข้างให้ฟุลแบ็กหรือเล่นบอลกับ 2 กองหน้า[18] เมื่อทีมเสียการครองบอล กองกลางทั้ง 4 คนจะถอยลงมาช่วยเกมรับ ส่วนกองหน้าทั้ง 2 คนจะยืนรออยู่ด้านหน้าเพื่อรอเล่นเกมสวนกลับ[18] แผนนี้เป็นแผนที่ประสบความสำเร็จอย่างมากกับเอซี มิลาน ซึ่งคุมทีมโดยการ์โล อันเชลอตตี โดยได้แชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2002–03 และรองชนะเลิศในฤดูกาล 2004–05 ซึ่งในขณะนั้นมิลานมีกองกลางตัวกลางที่มีความสามารถสูงอย่าง อันเดรอา ปีร์โล และมีผู้เล่นตัวรุกอย่าง รุย กอชตา ซึ่งต่อมาเป็น กาก้า[19] โดยแผนการเล่นนี้มิลานได้เลิกใช้นับตั้งแต่การย้ายออกจากทีมของ อันดรีย์ เชฟเชนโค ในปี ค.ศ. 2006 แผนการเล่นนี้ทำให้เกิดแผนการเล่นแบบต้นคริสต์มาสขึ้น

4–1–3–2[แก้]

แผนการเล่น 4–1–3–2 เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ 4–1–2–1–2 โดยมีกองกลางตัวรับตัวกลางที่มีความสามารถสูง ช่วยเหลือผู้เล่นกองกลางอีก 3 คนคอยสร้างเกมรุกไปด้านหน้าอย่างเต็มที่ และคอยส่งกลับคืนหลังหากทีมกำลังเสียการครองบอลจากการโต้กลับ โดยแผนการเล่นนี้จะต้องมีกองหน้าที่แข็งแกร่งเพื่อการโจมตีที่มีประสิทธิภาพ หากฝ่ายตรงข้ามมีปีกที่รวดเร็วและส่งบอลได้ดี สามารถใช้แผนนี้ด้วยการให้กองกลางทั้ง 3 คนช่วยวิ่งกลับมาช่วยเกมรับได้ โดย วาเลรี ลอบานอฟสกี เคยใช้แผนการเล่นนี้กับ ดีนาโมคียิว โดยได้แชมป์ยุโรป 3 ฤดูกาลติดต่อกัน อีกทั้งยังเห็นได้จาก ทีมชาติอังกฤษ ในฟุตบอลโลก 1966 โดย อัลฟ์ แรมซีย์

อ้างอิง[แก้]

  1. Murphy, Brenden. From Sheffield with Love. SportsBooks Limited. p. 83. ISBN 978-1-899807-56-7.
  2. "England's Uniforms — Shirt Numbers and Names". Englandfootballonline.com. สืบค้นเมื่อ 28 June 2010.
  3. Ingle, Sean (15 November 2000). "Knowledge Unlimited: What a refreshing tactic (November 15, 2000)". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 10 July 2006.
  4. Wilson, Jonathan (26 October 2010). "The Question: Are Barcelona reinventing the W-W formation?". The Guardian. London.
  5. Araos, Christian. "NYCFC comfortable in unconventional formation". Empire of Soccer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-18. สืบค้นเมื่อ 12 May 2016.
  6. 6.0 6.1 "Gusztáv Sebes (biography)". FIFA. สืบค้นเมื่อ 10 July 2006.
  7. 7.0 7.1 Lutz, Walter (11 กันยายน 2000). "The 4–2–4 system takes Brazil to two World Cup victories". FIFA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 มกราคม 2006. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2006.
  8. "Sebes' gift to football". UEFA. 21 พฤศจิกายน 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2003. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2006.
  9. "Formations: 4–4–2". BBC News. 1 September 2005. สืบค้นเมื่อ 2 May 2010.
  10. "National Soccer Coaches Association of America". Nscaa.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-17. สืบค้นเมื่อ 28 June 2010.
  11. Wilson, Jonathan (18 December 2008). "The Question: why has 4–4–2 been superseded by 4–2–3–1?". The Guardian. London.
  12. "England's World Cup disaster exposes the antiquity of 4–4–2". CNN. 30 June 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-22. สืบค้นเมื่อ 2019-03-03.
  13. "Why is 4-4-2 thriving? Is it the key to Leicester and Watford's success?".
  14. "The Rebirth of 4-4-2". 19 February 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-25. สืบค้นเมื่อ 2019-03-03.
  15. 15.0 15.1 "Formations: 4–4–1–1". BBC News. 1 September 2005. สืบค้นเมื่อ 2 May 2010.
  16. "Tactics for Beginners – No.14 – The Tomkins Times".
  17. Srivastava, Aniket. (18 May 2005) "Explaining the Role of a CDM" manager.protegesportshq.com. Retrieved 21 October 2017.
  18. 18.0 18.1 "Tactical Analysis: The 4-1-2-1-2 Formation" social.shorthand.com. 25 March 2017. Retrieved 21 October 2017.
  19. "News – Notizie, rassegna stampa, ultim'ora, calcio mercato". A.C. Milan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 เมษายน 2009. สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2012.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]