ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขุนหลวงพระยาไกรสี
(เปล่ง เวภาระ)
เกิด27 ตุลาคม พ.ศ. 2405
เสียชีวิต29 เมษายน พ.ศ. 2444 (38 ปี)
คู่สมรสคุณหญิงทองคำ
บุตร4 คน
ลายมือชื่อ

ขุนหลวงพระยาไกรสี สุภาวภักดี ศรีมนธาตุราช อำมาตยคณาการ (เปล่ง เวภาระ) (27 ตุลาคม พ.ศ. 2405 – 29 เมษายน พ.ศ. 2444) เป็นนักกฎหมายชาวไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษ[ต้องการอ้างอิง] อดีตอธิบดีกรมอัยการคนแรกของประเทศสยาม[ต้องการอ้างอิง] อดีตผู้ดำรงตำแหน่งลูกขุน ณ ศาลหลวง[ต้องการอ้างอิง] และอดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา[ต้องการอ้างอิง]

คำว่าขุนหลวงในที่นี้มีที่มาจากตำแหน่งลูกขุน ณ ศาลหลวง ซึ่งมีหน้าที่ด้านการรักษาตัวบทกฎหมายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งนี้มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระ ปรากฏนามในทำเนียบศักดินาว่า "ขุนหลวงพระไกรสี" ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ของข้าราชการตำแหน่งดังกล่าวจากชั้นพระเป็นพระยา จึงเรียกชื่อขุนนางตำแหน่งนี้ใหม่ว่า "ขุนหลวงพระยาไกรสี"[ต้องการอ้างอิง] ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) เป็น 1 ใน 2 คนที่ปรากฏหลักฐานว่าได้ดำรงตำแหน่งลูกขุน ณ ศาลหลวง ในบรรดาศักดิ์ชั้นพระยา[ต้องการอ้างอิง]

ประวัติ[แก้]

ขุนหลวงพระยาไกรสี สุภาวภักดี ศรีมนธาตุราช อำมาตยคณาการ มีนามเดิมว่า เปล่ง เวภาระ เกิดเมื่อวันจันทร์ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 ปีจอ จุลศักราช 1224 ตรงกับวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2405 ที่บ้านของหม่อมเจ้าหญิงประดับ ตำบลบางลำพู ริมวัดบวรนิเวศวิหาร บิดาเป็นมหาดเล็กหลวงชื่อนายหริ่ง ซึ่งเป็นบุตรคนที่ 9 ของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) มารดาชื่อ แก้ว

เริ่มเรียนหนังสือไทยเมื่ออายุได้ 9 ขวบ กับสำนักพระครูปริตโกศล (แปร่ม) วัดบวรนิเวศวิหาร เรียนได้ปีเศษ ก็มาเรียนกับป้าชื่อแสง ซึ่งเป็นบุตรีของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) เรียนทั้งหนังสือไทย หนังสือขอมและภาษาบาลี จนอายุได้ 13 ปี ก็ไปเป็นศิษย์เรียนหนังสือไทย หนังสือขอม ภาษาบาลีและวิชาเลข อยู่กั่บพระอริยมุนี (เอม) แต่เมื่อยังเป็นพระครูพุทธมนต์ปรีชา ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

จนอายุได้ 15 ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ทรงเอาไปบำรุงเลี้ยง และทรงสั่งสอนและฝึกหัดกฎหมายไทยและขนบธรรมเนียมราชการอยู่ 2 ปีเศษ จึงโปรดส่งให้ไปเล่าเรียนที่โรงเรียนพระราชวังนันทอุทยาน ซึ่งเป็นโรงเรียนชายล้วนสอนภาษาอังกฤษ มีหมอแมคฟาร์แลนด์ (S.G. Mcfarland) เป็นอาจารย์ใหญ่ และ แหม่มโคล (Miss Edna S.Cole) เป็นครูสอน

พออายุได้ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งตัวไปเรียนกฎหมายที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เรียนกฎหมายโรมัน กฎหมายอังกฤษ กฎหมายระหว่างประเทศ ฯลฯ และฝึกหัดว่าความ จนจบเป็นเนติบัณฑิตในปี พ.ศ. 2431 นับเป็นคนไทยคนแรกที่ไปเรียนกฎหมายสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ จากสำนักมิดเดิลเทมเปิล (Middle Temple) แห่งกรุงลอนดอน ได้รับพระราชทานเงินรางวัลเรียนดีชั้นที่ 1 จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเงิน 50 ปอนด์ และได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา หลังจากนั้นจึงได้เริ่มรับราชการที่กรมท่า (กระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน) เป็นแห่งแรก และมีความเจริญก้าวหน้าในทางราชการมาตามลำดับ

ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) มีบุตรกับคุณหญิงทองคำ 4 คน คือ คุณชื่นจิต คุณสฤษดิ์ลาภ คุณผ่องศรี (สมรสกับ พระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค)) และคุณสฤษดิ์พร

ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) ป่วยเป็นโรคมานกษัย ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2444[1] อายุได้ 38 ปี 6 เดือน แต่ศพของท่านได้ถูกเก็บไว้ที่วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี โดยไม่มีผู้ใดทราบ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 มีผู้ไปพบศพและแจ้งให้นายมารุต บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น (ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานตาของท่าน) ทราบ จึงได้ดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพตามประเพณี โดยประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2526[2]

การรับราชการ[แก้]

  • พ.ศ. 2431 - เริ่มรับราชการที่กระทรวงต่างประเทศ มีหน้าที่ร่างหนังสือโต้ตอบกับราชทูตและกงสุลต่างๆ
  • พ.ศ. 2432 - รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น หลวงรัตนาญัป์ติ ศักดินา 800 ไร่ เป็นตัวแทนรัฐบาลไปนั่งชำระความในศาลกงสุลต่างประเทศ
  • พ.ศ. 2435 - รับราชการในตำแหน่ง เจ้ากรมสารบบ
  • พ.ศ. 2436 - ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมอัยการคนแรก
  • พ.ศ. 2437 - ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ "ขุนหลวงพระไกรสี" ตำแหน่งลูกขุน ณ ศาลหลวง
  • พ.ศ. 2439 - ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา
  • พ.ศ. 2441 - ได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนหลวงพระยาไกรสี สุภาวภักดีศรีมนธาตุราช อำมาตยคณาการ" ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลพระราชอาญา จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2444

ผลงานโดยสังเขป[แก้]

  • รวบรวมและจัดพิมพ์ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดกฎหมายที่ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 รวม 492 ฉบับ
  • จัดทำสารบบความขึ้นเป็นครั้งแรก แบบคำฟ้อง คำให้การ ที้ใช้ในงานราชการ
  • เป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม
  • เป็นกรรมการสอบเนติบัณฑิต
  • ทำการช่วยเหลือวิ่งเต้นขอพระราชทานอภัยโทษให้ได้สำเร็จ หลังจากเทียนวรรณถูกจำคุกเป็นเวลาถึง ๑๗ ปี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา (5 May 1901). "ข่าวตายในกรุง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 18, ตอน 5, 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2444, หน้า 70. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2 March 2023. สืบค้นเมื่อ 2 March 2023.
  2. วงนอก, คนไกล (29 July 2022). "จัดงานฌาปนกิจศพ หลัง "ตาย" ไป 80 กว่าปี". ศิลปวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 March 2023. สืบค้นเมื่อ 2 March 2023.
  3. ราชกิจจานุเบกษา (1 February 1890). "พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 7, ตอน 44, 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433, หน้า 339. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2 March 2023. สืบค้นเมื่อ 2 March 2023.
  4. ราชกิจจานุเบกษา (16 September 1887). "ข่าวฉลองพระประจำพระชนม์พรรษา และพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลานายเปล่ง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 4, ตอน 23, 16 กันยายน พ.ศ. 2430, หน้า 180. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2 March 2023. สืบค้นเมื่อ 2 March 2023.
  5. ราชกิจจานุเบกษา (1 September 1887). "นักเรียนสยามกลับจากยุโรป เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แลเรื่องนายเปล่ง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 4, ตอน 21, 1 กันยายน พ.ศ. 2430, หน้า 163. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2 March 2023. สืบค้นเมื่อ 2 March 2023.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]