ข้ามไปเนื้อหา

รัฐฉี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฉี


*Dzəj
1046 ก่อน ค.ศ.–221 ก่อน ค.ศ.
แผนที่รัฐฉีเมื่อ 260 ก่อน ค.ศ.
แผนที่รัฐฉีเมื่อ 260 ก่อน ค.ศ.
สถานะ
เมืองหลวงอิงฉิว (ศ.11 –866 ก่อน ค.ศ.)
ป๋อกู (866–859 ก่อน ค.ศ.)
หลินจือ (859–221 ก่อน ค.ศ.)
ศาสนา
การปกครองราชาธิปไตย
กงแห่งรัฐฉี 
• 685–643 ก่อน ค.ศ.
ฉีหวนกง
• 547–490 ก่อน ค.ศ.
ฉีจิ่งกง
ช่างชิง (อัครมหาเสนาบดี) 
• 685–645 ก่อน ค.ศ.
ก่วน จ้ง
• 556–500 ก่อน ค.ศ.
ยั่น อิง
ประวัติศาสตร์ 
• สถาปนาเจียงไท่กงเป็นเจ้าผู้ปกครองรัฐ
1046 ก่อน ค.ศ.
• ฉีหวนกงตั้งตัวเป็นอธิราช
667 ก่อน ค.ศ.
• สกุลเถียนเข้าปกครองรัฐฉีแทนสกุลเจียงอย่างเป็นทางการ
386 ก่อน ค.ศ.
• รัฐฉียกฐานะตนเองเป็นราชอาณาจักร
356 ก่อน ค.ศ.
• รัฐฉินพิชิตรัฐฉี
221 ก่อน ค.ศ.
สกุลเงินเงินตรารูปมีด
ก่อนหน้า
ถัดไป
อารยธรรมป๋อกู
จักรวรรดิฉิน
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ สาธารณรัฐประชาชนจีน

รัฐฉี (จีน: )[1] เป็นรัฐในยุคราชวงศ์โจวในจีนโบราณ ซึ่งถูกมองว่าเป็นอาณาจักรชายแดน ดัชชีและอาณาจักรอิสระ มีเมืองหลวงคือหลินจือ ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลซานตงในปัจจุบัน

รัฐฉีก่อตั้งขึ้นไม่นานหลังจากราชวงศ์โจวโค่นล้มราชวงศ์ซางในศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสตกาล เจ้าแคว้นคนแรกคือเจียง จื่อหยา อัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าโจวเหวิน และบุคคลในตำนานในวัฒนธรรมจีน ตระกูลของเขาปกครองรัฐฉีเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนที่จะถูกแทนที่โดยตระกูลเถียนเมื่อ 386 ปีก่อนคริสตกาล ใน 221 ปีก่อนคริสตกาล รัฐฉีเป็นรัฐสุดท้ายที่ถูกผนวกโดยรัฐฉินระหว่างการรวมประเทศจีน[2]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

การก่อตั้ง

[แก้]
เงินตรารูปมีดทำดัวยสำริดของรัฐฉี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ซานตง

ระหว่างที่ราชวงศ์โจวทำสงครามพิชิตราชวงศ์ซาง เจียง จื่อหยา ชาวจวี่เซี่ยน ได้ทำหน้าที่เป็นอัครมหาเสนาบดีให้แก่พระเจ้าโจวอู่หวาง (จิวบู๊อ๋อง) ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันที่เขาเคยรับราชการในสมัยพระเจ้าโจวเหวินหวาง (จิวบุนอ๋อง) ผู้เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าโจวอู่หวาง เมื่อราชวงศ์โจวได้รับชัยชนะ ดินแดนส่วนใหญของคาบสมุทรซานตงและพื้นที่ใกล้เคียงบางส่วนได้ถูกรวบรวมก่อตั้งขึ้นเป็นรัฐฉี มีฐานะเป็นรัฐสามนตราช (รัฐบริวาร) ของกษัตริย์ราชวงศ์โจว โดยมีเจียง จื่อหยา ทำหน้าที่ปกครองและป้องกันดินแดนส่วนนี้ เมื่อพระเจ้าโจวอู่หวางสวรรคต เจียง จื่อหยา ยังคงแสดงความภักดีต่อผู้สำเร็จราชการโจวกงในระหว่างเกิดเหตุการณ์กบฏซานเจี้ยน ในครั้งนั้นเจ้าชายอู่เกิงแห่งราชวงศ์ซางได้ก่อการกบฎร่วมกับดินแดนเหยียน สวี และป๋อกู ในบริเวณตงอี้ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแดนของรัฐฉี เหตุกบฎครั้งนี้่ถูกปราบปรามลงได้ในช่วง 1039 ปีก่อนคริสตกาล แต่ข้อมูลในเอกสาร "บันทึกไม้ไผ่" (汲冢紀年; จี๋จงจิ้นเหนียน) ระบุไว้ว่า ชนพื้นเมืองในเขตป๋อกูยังคงก่อการกบฏมาอีกราว 1 ทศวรรษก่อนจะถูกทำลายลงเป็นครั้งที่ 2 ในช่วง 1026 ปีก่อนคริสตกาล

เอกสารที่ตกทอดมาจากสมัยราชวงศ์โจวตะวันตกนั้นมีหลงเหลิออยู่น้อยมาก แต่เป็นที่รับรู้ว่าในรัชสมัยของพระเจ้าโจวอี๋หวาง (865–858 ปีก่อนคริสตกาล) พระองค์ได้ส่งกองทัพมาปราบรัฐฉีและลงโทษประหารชีวิตฉีอายกงด้วยการให้ต้มในกระทะทั้งเป็น ต่อมาในสมัยพระเจ้าโจวเซวียนหวาง (827–782 ปีก่อนคริสตกาล) ได้เกิดการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการสืบทอดอำนาจในรัฐฉี ในระยะนี้ชนพื้นเมืองชาวตงอี้เผ่าต่างๆ ได้ถูกหลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมราชวงศ์โจวอย่างเต็มที่

ยุคชุนชิว

[แก้]
ซากม้าบูชายัญซึ่งถูกพบในสุสานของฉีจิ่งกง

วิกฤตการณ์การสืบราชสมบัติหลังการสวรรคตอย่างทารุณของพระเจ้าโจวโยวหวาง (จิวอิวอ๋อง) ได้นำไปสู่ความสูญเสียอำนาจทางการเมืองและการทหารของราชสำนักโจวอย่างใหญ่หลวงจนไม่สามารถกอบกู้คืนมาได้ ภายใต้สภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ รัฐฉีได้ขึ้นมามีบทบาทเด่นภายใต้การนำของฉีหวนกง (อยู่ในตำแหน่ง 685–643 ปีก่อนคริสตกาล) ทั้งเขาและเสนาบดีก่วน จ้ง ได้เสริมความเข้มแข็งของรัฐฉีด้วยรวมอำนาจการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางโดยจัดเก็บรายได้จากบรรดาขุนนางเจ้าที่ดิน แบ่งเขตการปกครองด้วยระบบเทศมณฑลซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับโดยตรงของเสนาบดีของรัฐ[3] รัฐฉีได้ผนวกหน่วยการปกครอง 35 หน่วยที่อยู่ในเขตแดนใกล้เคียง เช่น รัฐตั๋น และดินแดนอื่นๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐฉี แผนการปฏิรูปการบริหารรัฐของก่วน จ้ง ยังได้รวมถึงการให้รัฐเป็นผู้ผูกขาดการค้าเหล็กและเกลือ และโดยรวมแล้วได้จัดการปกครองให้อิงตามกฎหมายของรัฐ ซึ่งเป็นลักษณะเบื้องต้นของแนวคิดนิติธรรม (ฝ่าเฉีย) ในปรัชญาจีนที่จะปรากฏชัดเจนในยุคต่อมา[4]: 526 

รัฐฉี
คำว่า "ฉี" ในรูปลักษณ์อักษรจ้วนชู (อักษรตราประทับ) (บน), อักษรจีนตัวเต็ม (กลาง), และอักษรจีนตัวย่อ (ล่าง)
อักษรจีนตัวเต็ม
อักษรจีนตัวย่อ

ในช่วง 667 ปีก่อนคริสตกาล เจ้าผู้ปกครองรัฐฉี รัฐหลู่ รัฐซ่ง รัฐเฉิน และรัฐเจิ้ง ได้จัดการชุมนุมร่วมกันระหว่างรัฐสามนตราชของราชวงศ์โจวเป็นครั้งแรก และที่ประชุมได้เลือกให้ฉีหวนกงเป็นผู้นำของบรรดารัฐสามนตราชเหล่านั้น หลังจากนั้นพระเจ้าโจวฮุ่ยหวาง จึงได้พระราชทานสมัญญานามแก่ฉีหวนกงว่า ป้า (; "Bà"[5] โดยศัพท์แปลว่า ลูกพี่ใหญ่) ซึ่งพอจะแปลโดยนัยได้ว่า "อธิราช" (ในหนังสือเลียดก๊กฉบับแปลภาษาไทยเรียกว่า หัวเมืองเอกใหญ่กว่าหัวเมืองทั้งปวง) โดยเจ้าผู้ครองรัฐที่ดำรงตำแหน่งนี้จะต้องให้สัตย์ในการปกป้องราชสำนักโจวและรับรองพระราชอำนาจของโอรสสวรรค์ (กษัตริย์แห่งราชวงศ์โจว) ฉีหวนกงถือเป็นอธิราชคนแรกในหมู่ห้าอธิราช[6] เขาได้รับเครื่องบรรณาการจากรัฐสามนตราชขนาดรองต่างๆ และมีเกียรติยศได้รับการรับรองจากราชสำนักโจวยิ่งกว่าบรรดาสามนตราชทุกรัฐ และสามารถส่งกองทัพไปรบในพระนามของกษัตริย์แห่งราชวงศ์โจวได้ ด้วยอำนาจเช่นนี้เอง ในช่วง 11 ปีแรกแห่งการเป็นอธิราช ฉีหวนกงจึงได้เข้าแทรกแซงความขัดแย้งทางการเมืองภายในรัฐหลู่ ปกป้องรัฐเยียนจากการรุกรานของชนนอกด่านเผ่าซีหรง ขับไล่ชนเผ่าเป๋ยตี๋ซึ่งเข้ามารุกรายรัฐเหว่ยและรัฐซิง บำรุงราษฎรด้วยการสะสมเสบียงอาหารและจัดหากำลังทหารป้องกันรัฐ และเป็นผู้นำคณะพันธมิตรแปดรัฐในการปราบปรามรัฐไช่และสกัดกั้นไม่ให้รัฐฉู่ขยายอำนาจเข้ามาคุกคามบรรดารัฐสามนตราชทางทิศเหนือได้[7]

หลังจากฉีหวนกงถึงแก่อสัญกรรม เกิดสงครามแย่งชิงการสืบทอดตำแหน่งเจ้าผู้ครองรัฐฉีระหว่างผู้อ้างสิทธิ์กลุ่มต่างๆ ทำให้รัฐฉีอ่อนแลลงมากและเป็นจุดสิ้นสุดแห่งความเป็นรัฐอธิราช ถึง 632 ปีก่อนคริสตกาล รัฐฉีได้ช่วยรัฐจิ้นในการทำสงครามกับรัฐฉู่ในสมรภูมิเฉิงผู ก่อนที่รัฐจิ้นจะเอาชนะรัฐฉีในสงครามได้ในอีกราวสามสิบปีให้หลัง กระทั่งเมื่อ 579 ปีก่อนคริสตกาล รัฐฉิน รัฐจิ้น รัฐฉู่ และรัฐฉี สี่มหาอำนาจแห่งยุคนั้น จึงได้ประกาศพักรบและจำกัดกำลังทหารของแต่ละฝ่ายลง

ยุครณรัฐ - รัฐฉีภายใต้สกุลเถียน (เถียนฉี)

[แก้]

ในช่วงต้นของยุครณรัฐ รัฐฉีได้ทำการผนวกรัฐขนาดเล็กต่างๆ จำนวนหนึ่งเข้าเป็นดินแดนของตนเอง และริเริ่มในการให้ความอุปถัมภ์บัณฑิตและนักปราชญ์ต่างๆ ในช่วง 532 ปีก่อนคริสตกาล สกุลเถียนได้ทำลายตระกูลคู่แข่งต่างๆ ลงและก้าวเข้ามามีบทบาทชี้นำทิศทางของรัฐฉี ถึงช่วง 485 ปีก่อนคริสตกาล สกุลเถียนได้สังหารทายาทผู้สืบทอดสกุลเจียงซึ่งเป็นสกุลผู้ปกครองรัฐฉีโดยชอบธรรม และต่อสู้แย่งชิงอำนาจกับตระกูลอื่นๆ กระทั่งในอีก 4 ปีต่อมา ประมุขสกุลเถียนก็ได้สังหารเจ้าผู้ปกครองหุ่นเชิด ครอบครัวส่วนใหญ่ของเจ้าผู้ปกครองรัฐ และผู้นำสกุลคู่แข่งอีกจำนวนหนึ่ง แล้วเข้ากุมอำนาจการปกครองส่วนใหญ่ของรัฐฉี คงไว้ให้เจ้าผู้ปกครองสกุลเจียงมีอำนาจเพียงในเขตเมืองหลวงหลินจือและพื้นที่แถบเขาไท่ซานเท่านั้น ในช่วง 386 ปีก่อนคริสตกาล สกุลเถียนก็ได้เข้าปกครองรัฐฉีแทนที่สกุลเจียงโดยสมบูรณ์และได้รับการรับรองจากราชสำนักโจว ยุครณรัฐได้ดำเนินต่อมาจนกระทั่งสิ่นสุดลงเมื่อรัฐฉินเข้าพิชิตรัฐฉีได้เป็นรัฐสุดท้ายในสงครามรวมแผ่นดินเมื่อ 222 ปีก่อนคริสตกาล นับเป็นจุดสิ้นสุดของรัฐฉี และเป็นจุดเริ่มต้นยุคจักรวรรดิของชาวจีน

รายนามผู้ปกครองรัฐฉี

[แก้]

สกุลเจียง

[แก้]
ยศ ชื่อตัว ดำรงตำแหน่ง ความสัมพันธ์ หมายเหตุ
ฉีไท่กง
齊太公
ช่าง
ศตวรรษที่ 11 ก่อน ค.ศ. ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระเจ้าโจวอู่หวัง (จิวบู๊อ๋อง), เป็นที่รู้จักทั่วไปในชื่อ เจียงไท่กง หรือ ไท่กงวั่ง, ตั้งเมืองหลวงที่อิงฉิว
ฉีติงกง
齊丁公
จี๋
ศตวรรษที่ 10 ก่อน ค.ศ. ทายาทชั้นลืบ (ทายาทรุ่นที่ 5) นับจากฉีไท่กง (เจียงไท่กง) โดยธรรมเนียมแล้วเชื่อว่าเป็นบุตรของฉีไท่กง
ฉีอี่กง
齊乙公
เต๋อ
ศตวรรษที่ 10 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีติงกง
ฉีกุ่ยกง
齊癸公
สีหมู่
慈母
ราวศตวรรษที่ 10 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีอี่กง
ฉีอายกง
齊哀公
ปู้เฉิน
不辰
ศตวรรษที่ 9 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีกุ่ยกง ถูกพระเจ้าโจวอี๋หวางลงโทษให้ต้มในกระทะทั้งเป็น
ฉีหูกง
齊胡公
จิ้ง
ศตวรรษที่ 9 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีกุ่ยกง ย้ายเมืองหลวงมายังเมืองป๋อกู, ถูกสังหารโดยฉีเซียนกง
ฉีเซี่ยนกง
齊獻公
ชาน
859?–851 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีกุ่ยกง ย้ายเมืองหลวงกลับมายังเมืองหลินจือ
ฉีอู่กง
齊武公
โช่ว
850–825 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีเซี่ยนกง
ฉีลี่กง
齊厲公
อู๋จี้
無忌
824–816 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีอู่กง ถูกสังหารโดยผู้สนับสนุนของฉีหูกง
ฉีเหวินกง
齊文公
ชี่
815–804 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีลี่กง
ฉีเฉิงกง
齊成公
เยฺว่
803–795 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีเหวินกง
ฉีจวงกงที่ 1
(ฉีเฉียนจวงกง)
齊前莊公
โก้ว
794–731 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีเฉิงกง อยู่ในตำแหน่ง 64 ปี
ฉีซีกง
齊僖公
ลู่ฝู่
祿甫
730–698 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีจวงกงที่ 1
ฉีเซียงกง
齊襄公
จูเอ๋อร์
諸兒
697–686 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีซีกง มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับนางเหวิน เจียง ซึ่งเป็นน้องสาวของตนเอง, สังหารหลู่หวนกง สามีของน้องสาว, ยึดครองรัฐจี้สำเร็จ, ถูกกงซุนอู๋จือผู้เป็นญาติสังหาร
ไม่มี อู๋จือ
無知
686 ก่อน ค.ศ. ญาติของฉีเซียงกง, หลานปู่ของฉีจวงกงที่ 1 ถูกสังหารโดยหย่ง หลิน
ฉีหวนกง
齊桓公
เสี่ยวไป๋
小白
685–643 ก่อน ค.ศ. น้องชายของฉีเซียงกง ตั้งตัวเป็นอธิราชคนแรกในหมู่ห้าอธิราช, รัฐฉีเรืองอำนาจมากที่สุดในยุคนี้, ถูกเหล่าเสนาบดีกักบริเวณให้อดอาหารจนถึงแก่อสัญกรรม
ไม่มี อู๋คุ่ย หรือ อู๋กุ้ย
無虧 หรือ 無詭
643 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีหวนกง ถูกสังหารโดยผู้สนับสนุนฉีเซี่ยวกง
ฉีเซี่ยวกง
齊孝公
จาว
642–633 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีหวนกง ผู้สืบทอดโดยชอบธรรม (ไท่จื่อ) แห่งรัฐฉี
ฉีจาวกง
齊昭公
พาน
632–613 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีหวนกง ผู้สนับสนุนของฉีจาวกงสังหารบุตรของฉีเซี่ยวกง
ไม่มี เฉ่อ
613 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีจาวกง ถูกสังหารโดยฉีอี้กง
ฉีอี้กง
齊懿公
ชางเหริน
商人
612–609 ก่อน ค.ศ. อาของกงจื่อเฉ่อ, บุตรของฉีหวนกง ถูกสังหารโดยเสนาบดี 2 คน
ฉีฮุ่ยกง
齊惠公
หยวน
608–599 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีหวนกง ปราบปรามเผ่าตี๋ซึ่งรุกรานชายแดนได้สำเร็จ
ฉีฉิ่งกง
齊頃公
อู่เหย่
無野
598–582 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีฮุ่ยกง พ่ายแพ้ต่อรัฐจิ้นที่สมรภูมิอัน
ฉีหลิงกง
齊靈公
หวน
581–554 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีฉิ่งกง ผนวกรัฐไหล; พ่ายแพ้ต่อรัฐจิ้นที่สมรภูมิผิงอิน, เมืองหลวงหลินจือถูกเผา
ฉีจวงกงที่ 2
(ฉีโฮ่วจวงกง)
齊後莊公
กวง
553–548 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีหลิงกง ได้สืบทอดตำแหน่งโดยการสังหารกงจื่อหยา โดยได้รับความช่วยเหลือจากเสนาบดีชุย จู้; เป็นชู้กับอนุภรรยาของชุย จู้ และถูกชุย จู้ สังหาร
ฉีจิ่งกง
齊景公
ฉู่จิ้ว
杵臼
547–490 ก่อน ค.ศ. พี่น้องต่างมารดาของฉีจวงกงที่ 2 สังหารชุย จู้, ได้ยั่น อิง มาทำหน้าที่อัครมหาเสนาบดี
อันรู่จื่อ
安孺子
ตู่
489 ก่อน ค.ศ. บุตรคนเล็กสุดของฉีจิ่งกง ถูกถอดถอนโดยเสนาบดีเถียน ฉี และถูกเสนาบดีเต้ากงสังหาร
ฉีต้าวกง
齊悼公
หยางเชิง
陽生
488–485 ก่อน ค.ศ. บุตรฉีจิ่งกง ถูกสังหารโดยเสนาบดีคนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเถียน เหิง
ฉีเจี่ยนกง
齊簡公
เหริน
484–481 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีเต่ากง ถูกสังหารโดยเถียน เหิง
ฉีผิงกง
齊平公
อ้าว
480–456 ก่อน ค.ศ. น้องชายของฉีเจี่ยนกง
ฉีเซวียนกง, ฉีซวนกง
齊宣公
จี
455–405 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีผิงกง
ฉีคังกง
齊康公
ไต้
404–386 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีเซวียนกง ถูกเถียน เหอ ถอดออกจากตำแหน่ง, ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ 379 ก่อน ค.ศ.

สกุลเถียน

[แก้]
ยศ/พระนาม ชื่อตัว/พระนามจริง ดำรงตำแหน่ง/ครองราชย์ ความสัมพันธ์ หมายเหตุ
ฉีไท่กง
齊太公
เถียน เหอ
田和
404–384 ก่อน ค.ศ. บุตรของเถียนไป๋ ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้ปกครองรัฐฉีโดยชอบธรรมเมื่อ 386 ก่อน ค.ศ., ในทางประวัติศาสตร์เรียกว่า เถียนฉีไท่กง เพื่อให้แตกต่างจากฉีไท่กงแห่งสกุลเจียง
ไม่มี เถียน เหยี่ยน
田剡
383–375 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีไท่กง ถูกสังหารโดยฉีหวนกง
ฉีหวนกง
齊桓公
เถียน อู่
田午
374–357 ก่อน ค.ศ. น้องชายของเถียนเหยี่ยน ในทางประวัติศาสตร์เรียกว่า เถียนฉีหวนกง เพื่อให้แตกต่างจากฉีหวนกงแห่งสกุลเจียง
พระเจ้าฉีเวยหวาง
齊威王
เถียน อินฉี
田因齊
356–320 ก่อน ค.ศ. บุตรของฉีหวนกง อ๋อง (หวาง) องค์แรกแห่งรัฐฉี, รัฐฉีเรืองอำนาจที่สุดในยุครณรัฐ
พระเจ้าฉีเซวียนหวาง
齊宣王
เถียน ปี้เจี้ยง
田辟彊
319–300 ก่อน ค.ศ. โอรสของพระเจ้าฉีเวยหวาง
พระเจ้าฉีมินหวาง
齊愍王
เถียน ตี้
田地
300–283 ก่อน ค.ศ. โอรสของพระเจ้าฉีเซวียนหวาง ประกาศตัวเป็น "ตงตี้" (จักรพรรดิบูรพา) เป็นระยะเวลาสั้นๆ
พระเจ้าฉีเซียงหวาง
齊襄王
เถียน ฝ่าจาง
田法章
283–265 ก่อน ค.ศ. โอรสของพระเจ้าฉีมินหวาง
ไม่มี เถียน เจี้ยน
田建
264–221 ก่อน ค.ศ. โอรสของพระเจ้าฉีเซียงหวาง รัฐฉินพิชิตรัฐฉีได้สำเร็จ

บุคคลสำคัญ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Qi". Encyclopedia Britannica.
  2. Burton Watson 2003 p.1. Xunzi: Basic Writings. https://books.google.com/books?id=0SE2AAAAQBAJ&pg=PA1
  3. Cho-Yun Hsu, "The Springs and Autumns Period", in Cambridge History of Ancient China 1999, pp. 553–554.
  4. Kiser, Edgar; Cai, Young (2003). "War and bureaucratization in Qin China: Exploring an anomalous case". American Sociological Review. 68 (4): 511–39. doi:10.2307/1519737. JSTOR 1519737.
  5. Goldin, Paul R. (2021). "Etymological Notes on Early Chinese Aristocratic Titles". T'oung Pao. Leiden: Brill. 107: 475–480. doi:10.1163/15685322-10703005.
  6. Cho-Yun Hsu, "The Springs and Autumns Period", in Cambridge History of Ancient China 1999, p. 555.
  7. Cho-Yun Hsu, "The Springs and Autumns Period", in Cambridge History of Ancient China 1999, pp. 555–556.
  8. Jens Østergård Petersen (1992). "What's in a Name? On the Sources concerning Sun Wu". Asia Major. Third Series. Academica Sinica. 5 (1): 1–31. JSTOR 41645475.