เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน ตั้งอยู่บริเวณน้ำตกวิภาวดี หมู่ที่ 8 ตำบลตะกุกใต้ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ห่างจากที่ว่าการอำเภอวิภาวดี ไปตามถนนรพช. สายตะกุกเหนือ - บ้านยาง มีทางแยกขวาบริเวณบ้านปากพาย ระยะทาง8 กิโลเมตร ถึงบริเวณน้ำตกและที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ตำบลปากฉลุย อำเภอท่าฉาง ตำบลตะกุกเหนือ ตำบลตะกุกใต้ อำเภอวิภาวดี ตำบลน้ำหัก ตำบลท่าขนอน ตำบลกะเปา อำเภอคีรีรัฐนิคม และตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ลักษณะภูมิประเทศ[แก้]

ภูมิประเทศในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน ความลาดชันของพื้นที่เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ตามแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ มีเทือกเขาสูงสุดคือ หัวเขาแดนมุย มีความสูง 1,028 เมตร เป็นเทือกเขาที่มีความสูงลดหลั่นกันไปและไม่ค่อยมีหน้าผาที่สูงชัน ลักษณะภูมิประเทศของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยันพื้นที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเหนือ มีลักษณะเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มียอดเขาหลังคาตึกเป็นจุดเด่น สูงจากระดับน้ำทะเล 1,010 เมตร ลักษณะเป็นภูเขาดินดานและ หินทราย เป็นจุดกำเนิดของต้นน้ำคลองยัน จังหวัดสุราษฎร์ธานีและ ต้นน้ำลำคลองกะเปอร์ จังหวัดระนอง พื้นที่ส่วนนี้เป็นศูนย์กลางของป่าผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าคลองนาคา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง และอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ส่วนใต้ มีลักษณะเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน วางแนวยาวจากเหนือจรดใต้ ประกอบด้วย ทิวเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,007 เมตร ทิวเขาแดนมุย 1,028 เมตร และทิวเขาแดนยัน 1,019 เมตร ทิศทางการไหลของน้ำส่วนใหญ่จะไหลไปทางทิศตะวันออกลงสู่หมู่บ้านเป็น จุดกำเนิดของลำคลองหลายสายที่ไหลลงสู่คลองยัน และส่วนหนึ่งจะไหลไปทางทิศตะวันตกลงสู่คลองมุย และไหลลงเขื่อนรัชชประภา แนวเขตด้านตะวันตกจะติดกับพื้นที่ป่าสมบูรณ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง และพื้นที่น้ำของเขื่อนรัชชประภา ซึ่งอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติเขาสก

ทรัพยากรป่าไม้[แก้]

เป็นป่าดิบชื้น มีพันธุ์ไม้เด่นเช่น ยาง ตะเคียน หลุมพอ จำปา เสียดช่อ นาคบุตร รักเขา และป่าชนิดอื่น ๆ อาทิ เช่น ป่าไผ่ ยอดเขาที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ยอดเขาหลังคาตึก เขาสูง เขาขี้ชัน

ทรัพยากรสัตว์ป่า[แก้]

1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม คือ เสือลายเมฆ เสือโคร่ง สมเสร็จ กระทิง ชะนีธรรมดา เสือดาว ช้างป่า เก้งหม้อ วัวแดง เลียงผา ค่างแว่นถิ่นใต้ กวาง เสือดำ และ เสือไฟ เป็นต้น

2. สัตว์ปีก มีไม่ต่ำกว่า 155 ชนิด เช่น นกชนหิน นกกก หรือ นกกาฮัง นกเงือก ตระกูลนกปรอด นกหัวขวาน นกขุนทอง เหยี่ยว และ นกหว้า เป็นต้น

3. แมลง ชนิดต่างๆ มีไม่น้อยกว่า 187 ชนิด เช่น ผีเสื้อ เป็นต้น

4. สัตว์เลื้อยคลาน มีไม่น้อยกว่า 64ชนิด เช่น จำพวกงู เต่า กิ้งก่า จิ้งเหลน เห่าช้าง และ เหี้ย เป็นต้น

5. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มีไม่น้อยกว่า 17 ชนิด เช่น กบ เขียด ปาด อึ่งจิ๋วหลังลาย อึ่งอ่างมลายู เป็นต้น

6. สัตว์น้ำ จำพวกปลา มีประมาณ 80 ชนิด ปลาหางบ่วง ปลาหนามหลัง ปลาเสือพ่นน้ำ ปลาพรม ปลากระทิง ปลาชะโด และ ปลาไหล โดยเฉพาะปลาตะพัด หรือ ปลามังกร ปลาน้ำจืดทีใกล้จะสูญพันธุ์เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]