ปลาหางบ่วง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาหางบ่วง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Osteichthyes
ชั้นย่อย: Actinopterygii
อันดับ: Cypriniformes
วงศ์: Cyprinidae
วงศ์ย่อย: Labeoninae
เผ่า: Labeonini
สกุล: Barbichthys
Bleeker, 1860[1]
สปีชีส์: B.  laevis
ชื่อทวินาม
Barbichthys laevis
(Valenciennes, 1842)
ชื่อพ้อง
  • Barbichthys nitidus Sauvage, 1878
  • Barbus brachynemus Bleeker, 1850
  • Barbus gobioides Bleeker, 1852
  • Barbus laevis Valenciennes, 1842

ปลาหางบ่วง (อังกฤษ: Golden carp, Sucker carp) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Barbichthys laevis อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) มีรูปร่างเพรียวยาว ส่วนหัวเล็ก ด้านหลังค่อนข้างลึก ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย จะงอยปากยื่น มีริมฝีปากหนาอยู่ด้านล่าง มีหนวดสั้น 2 คู่ ตาเล็ก ครีบหลังและครีบหางใหญ่ เกล็ดเล็ก ลำตัวสีเงินอมเทาหรือเหลืองอ่อน ที่ด้านข้างลำตัวใกล้ครีบอกมีแต้มเล็ก ๆ สีคล้ำ ครีบมีสีเหลืองอ่อนหรือชมพูเรื่อ ขอบบนและขอบล่างของครีบหางมีแถบสีคล้ำ มีขนาดประมาณ 35 เซนติเมตร พบใหญ่สุด 40 เซนติเมตร

นับเป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Barbichthys[2]

อาศัยอยู่ในแม่น้ำที่ไหลแรงและลำธารในป่า พบตั้งแต่แม่น้ำแม่กลองถึงแม่น้ำโขง มีพฤติกรรมอพยพย้ายถิ่นเป็นครั้งคราวในฤดูน้ำหลาก โดยอาหารได้แก่ อินทรียสารและตะไคร่น้ำ พบขายเป็นครั้งคราวในตลาดสด นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

ปัจจุบัน พบได้เฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เดียวเท่านั้น และเป็นปลาที่ใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว ซึ่งในอดีตจะพบชุกชุมที่แม่น้ำสะแกกรัง[3]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]