เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ
ไอยูซีเอ็นกลุ่ม 4 (เขตบริหารสิ่งแวดล้อม)
แผนที่แสดงที่ตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ
แผนที่แสดงที่ตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ
ตำแหน่งที่ตั้งในประเทศไทย
แผนที่แสดงที่ตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ
แผนที่แสดงที่ตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ (ประเทศไทย)
ที่ตั้งอำเภอกาบเชิง อำเภอบัวเชด อำเภอสังขะ อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
เมืองใกล้สุดจังหวัดสุรินทร์
พิกัด14°26′11″N 103°37′08″E / 14.4365°N 103.6189°E / 14.4365; 103.6189
พื้นที่313,750 ไร่
จัดตั้งพ.ศ. 2538
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ มีเนื้อที่ครอบคลุม 4 อำเภอ จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ประวัติ[แก้]

สืบเนื่องมาจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินหมู่บ้านจรัส หมู่ที่ 1 อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2536 และทรงทราบว่าป่าเตรียมการสงวนป่าห้วยทับทัน มีสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีแหล่งน้ำอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีพระราชดำริที่จะให้มีการอนุรักษ์ป่าแห่งนี้ โดยจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อให้ป่าแห่งนี้ได้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและแหล่งต้นน้ำลำธารสืบไป จึงได้มีการก่อตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ห้วยทับทัน-ห้วยสำราญขึ้นเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2538[1]

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ครอบคลุมพื้นที่ 313,750 ไร่ ตั้งอยู่ใน ท้องที่ตำบล กาบเชิง ตำบลโคกตะเคียน ตำบลตะเคียน ตำบลด่าน ตำบลแนงมุด อำเภอกาบเชิง ตำบลบักได ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก ตำบลตาตุม ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ และตำบลอาโพน ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์

พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดเพียงแห่งเดียวของจังหวัดสุรินทร์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ ได้แก่ ห้วยทับทัน ห้วยสำราญ ห้วยเสนง ห้วยลำชี ฯลฯ ซึ่งไหลหล่อเลี้ยงชีวิตชาวสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียงตลอดมา เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก แปลว่า ภูเขาไม้คาน เพราะมีสัณฐานแคบยาวเหมือนไม้คาน เทือกเขาพนมดงรักเป็นแนวเทือกเขาที่มีความสำคัญสองนัย คือ เป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา และเป็นเสมือนสะพานเชื่อมให้สัตว์ป่า ทั้ง 2 ประเทศ สามารถแพร่กระจายพันธุ์ และเคลื่อนที่ไปมาหาสู่กัน

พื้นที่รับผิดชอบ ประมาณ 313,750 ไร่ ในท้องที่ อำเภอกาบเชิง อำเภอบัวเชด อำเภอสังขะ อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์

ลักษณะภูมิประเทศ[แก้]

มีลักษณะป็นที่ราบและเทือกเขาสูงชัน อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 200-476 เมตรจึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สามารถส่งน้ำไปช่วยเหลือและพัฒนาพื้นที่ราบชายแดนในโครงการต่างๆ มีลำห้วยที่สำคัญหลายสายคือ ห้วยสิงห์ ห้วยประเดก ห้วยขนาดมอญ ห้วยจรัส ห้วยหมอนแบก ห้วยสำราญ ห้วยเสียดจะเอิง ห้วยจำเริง ฯลฯ จึงมีการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นในพื้นที่ เช่น อ่างเก็บน้ำจรัส อ่างเก็บน้ำขนาดมอญ อ่างเก็บน้ำขยอง อ่างเก็บน้ำห้วยสิงห์ อ่างเก็บน้ำห้วยเขิง อ่างเก็บน้ำห้วยด่าน อ่างเก็บน้ำตาเกาว์และอ่างเก็บน้ำห้วยจำเริง อันเป็นผลให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นโดยทั่วไป มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ปราศจากการรบกวนกลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิดภูมิประเทศที่ติดแนวชายแดนมีความสวยงาม โดยเฉพาะใกล้เขตชายแดนประเทศไทยกับกัมพูชาประชาธิปไตย พื้นที่ยิ่งสูงขึ้นเป็นป่าทึบ มีภูเขาสลับซับซ้อนตลอดแนวชายแดนและเป็นหุบเหว มีหน้าผาลึกไปทางกัมพูชา

ลักษณะภูมิอากาศ[แก้]

สภาพภูมิอากาศของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ อยู่ใต้อิทธิพลของลมมรสุมซึ่งเป็นลมพัดประจำฤดู 2 ฤดู โดยพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาวเรียกว่า ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้อากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง ลมมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งลมชนิดนี้จะพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้ เป็นส่วนใหญ่ในฤดูฝน มีผลทำให้อากาศชุ่มชื้นและมีฝนตกชุกทั่วไป

ความอุดมสมบูรณ์[แก้]

ชนิดป่าและพันธุ์ไม้[แก้]

สภาพพื้นที่ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดิบแล้ง มีไม้มีค่าทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เช่น ไม้มะค่าโมง, ไม้มะค่าแต้, ไม้ประดู่, ตะเคียนหิน, ยางนา, ชิงชัน, ตะเคียนทอง, พยุง, เคี่ยมคะนอง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีไม้พื้นล่างและกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น เฟิร์นชนิดต่าง ๆ

สัตว์ป่า[แก้]

เนื่องจากพื้นที่นี้มีสภาพเป็นป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่กว้างขวาง แต่ในปัจจุบันพื้นที่ป่าถูกทำลายลงไปมากและสัตว์ป่าก็ถูกล่าไปมิใช่น้อย จากการเข้าไปสำรวจของเจ้าหน้าที่และได้รับการบอกเล่าว่า เมื่อประมาณปี 2535 ได้มีผู้พบเห็น “กูปรี” ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนที่หายากมากชนิดหนึ่งนอกจากนั้นยังพบเลียงผา ซึ่งก็เป็นสัตว์ป่าสงวนอีกชนิดหนึ่ง และยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดเป็นจำนวนมาก เช่น ตะกวด, ตะพาบน้ำ, นิ่ม, งูชนิดต่าง ๆ และนกชนิดต่าง ๆ ได้แก่ นกขุนทอง, นกเงือก, นกหัวขวาน, นกปรอด, เหยี่ยวรุ้ง, เป็ดแดง ซึ่งจากการสำรวจในปัจจุบันพบแล้ว ประมาณ 130 ชนิด

มีสัตว์ป่าอยู่หลายชนิดอยู่มากมาย เช่น เก้ง กวาง ลิ่น วัวแดง กระจง ลิง ค่าง ชะนี เสือโคร่ง เลียงผา อีเห็น แมวดาว ชะมด เม่น ไก่ฟ้าพญาลอ นกนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมูป่า และกระจงมีอยู่จำนวนมากทั่วพื้นที่ สัตว์ที่มีลักษณะเด่นในพื้นที่ ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ เก้ง

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ มีสังคมของพืช แบบป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้า ซึ่งมีความหลากหลายทางธรรมชาติ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายประเภท เช่น ช้างป่า เสือโคร่ง แมวป่า หมาจิ้งจอก หมูป่า และสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นกซึ่งไม่น้อยกว่า 150 ชนิดที่พบพบเห็นเป็นประจำ ได้แก่ ไก่ป่า ไก่ฟ้าพญาลอ นกเขาเปล้า นกโพระดกหูเขียว นกกางเขนดง นกกะรางหัวหงอก และตามแหล่งน้ำที่เป็นอ่างเก็บน้ำ เขื่อน ห้วยขนาดเล็กจะพบเป็ดแดง นกกาน้ำเล็ก และ นกอ้ายงั่ว ซึ่งหายากมากที่สุดที่จะพบในแถบภาคอีสานได้เช่นนี้

จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ[แก้]

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ทีจุดเด่น และแหล่งความงามทางธรรมชาติอยู่หลายแห่ง ประกอบด้วย น้ำตก ลานหิน ทุ่งหญ้า หน้าผา บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำต่างๆ แต่ก็แฝงไปด้วยอันตราย เนื่องจากมีกับระเบิดที่มีมาตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนามอยู่ในพื้นที่ ในอนาคต ถ้าสามารถเก็บกู้ระเบิดได้ทั้งหมด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ จะเป็นสถานที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

  • น้ำตกไตรคีรี
  • น้ำตกโอตราว
  • น้ำตกถ้ำเสือ
  • น้ำตกกรูงคลา
  • น้ำตกวังตะเคียน(ทะมอบั๊ก)
  • น้ำตกปะอาว
  • น้ำตกโอทะลัน
  • น้ำตกอลงกรณ์
  • ถ้ำผาพระ
  • พุทธอุทยานวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร
  • เขื่อนห้วยตาเกาว์ใหม่
  • เขาพนมอัลลองสวายตันยู
  • ปราสาทตาควาย
  • อุทยานประวัติศาสตร์กลุ่มปราสาทตาเมือน
  • ผานางคอย
  • อ่างเก็บน้ำบ้านจรัส
  • ด่านการค้าชายแดนช่องจอม
  • รอยพระพุทธบาทขอมโบราณ เขาศาลา
  • ถ้ำผาไทร
  • หน่วยพิทักษ์ป่าเขาศาลา
  • วนอุทยานป่าสนสองใบหนองคู
  • จุดชมวิวช่องปลดต่าง
  • ค่ายกองพันทหารชายแดนช่องปลดต่าง กองกำลังสุรนารี

สิ่งอำนวยความสะดวก[แก้]

เนื่องจากหน่วยงานของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ เป็นหน่วยงานอยู่ในการควบคุมพื้นที่ยังและประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่สมบูรณ์ แต่ยังไม่มีงบประมาณมากพอที่จะสร้างบ้านพักรับรอง โดยส่วนรวมแล้วการศึกษาค้นคว้าวิจัยและทัศนะศึกษาทางธรรมชาติด้วยการเดินเท้าและพักแรมด้วยการกางเต้นท์ ด้านหน้าสำนักงาน และ สถานที่ศึกษาวิจัยสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และ หากมาเวลาตอนเช้าเวลา 10.00 น. - 18.00 น. จะมีร้านอาหารริมเขื่อนไว้คอยต้อนรับ และชมธรรมชาติริมเขื่อนได้อย่างสวยงาม

การเดินทาง[แก้]

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ อยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ ประมาณ 59 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปได้ 1 เส้นทาง ได้แก่

  1. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 214 สายสุรินทร์ - ช่องจอม ผ่านอำเภอปราสาท ถึงอำเภกาบเชิงไปอีก 4 กิโลเมตร ถึงนิคมเลี้ยงไหม เลี้ยวขวาไปอีก 500 เมตร ผ่านอ่างเก็บน้ำเขื่อนห้วยตาเกาว์ใหม่ ถึงสำนักงานเขต

การปกครอง[แก้]

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย มีการปกครองแบบหน่วยพิทักษ์ป่าย่อยๆดังนี้

  • พุทธอุทยานเขาศาลาอตุลฐานะจาโร พุทธอุทยานแห่งแรกของประเทศไทย และ ของโลก พุทธอุทยาน วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีป่าและภูเขาล้อมรอบ รวมทั้งสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร มีทัศนียภาพที่งดงาม สภาพแวดล้อมเงียบสงบร่มเย็น เหมาะกับการศึกษาปฏิบัติธรรมและท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญยิ่ง ที่ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมด้วยป่าไม้ สัมผัสได้ถึงธรรมชาติอย่างแท้จริงผืนป่าบางส่วนติดชายแดนไทย-กัมพูชา แม้ว่าโดยรอบพื้นที่ป่าของวัดจะยังมีร่องรอยการบุกรุก

หรือ ตัดไม้ทำลายป่าให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็ยังสามารถปกปักรักษาผืนป่าแห่งนี้ให้คงสภาพมาได้ นานกว่าทศวรรษ ป่าทั้งผืนแห่งนี้ จัดได้ว่าอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในอิสานใต้ของประเทศไทย

  • วนอุทยานป่าสนสองใบหนองคู อยู่ที่บ้านหนองคู ตำบลทับทัน อำเภอสังขะ เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้สนสองใบที่ถือว่าเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุดที่ขึ้นในที่ราบสูง เป็นโครงการร่วมระหว่างไทย-เดนมาร์ก มีเนื้อที่ 6,250 ไร่ มีลักษณะเด่นคือ เป็นสนสองใบที่ขึ้นในที่ราบแห่งเดียวในประเทศไทยที่ขึ้นอยู่ทั่วไปผสมกับป่าเต็งรัง และมีต้นยางที่อยู่ในเขตอนุรักษ์ฯ ด้วย มีลักษณะเป็นเถาว์เลื้อยขึ้นตามต้นไม้ มีผลสีเหลืองออกลูกในราวเดือนเมษายน และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวสุรินทร์อีกแห่งหนึ่ง สัตว์ป่าที่พบเห็นได้แก่ กระรอก บ่าง กระต่าย นกกาเหว่า ผีเสื้อ เป็นต้น นอกจากนั้นทางวนอุทยานฯ ยังได้จัดทำ เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่จะได้สัมผัสกับต้นสนขนาดใหญ่ด้วย


อ้างอิง[แก้]

  1. "เว็บไซต์ โครงการ "สื่อศิลปิน รวมใจ ถวายในหลวง"". www.rdpb.go.th.
  • หนังสือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของจังหวัดสุรินทร์
  • หนังสือวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร
  • หนังสือโบว์ชัวร์สุรินทร์ มีมากกว่าที่คุณคิด