เขตการปกครองของประเทศเซอร์เบีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เขตการปกครองของประเทศเซอร์เบีย ได้รับการกำหนดไว้ในกฎหมายรัฐบาลเซอร์เบีย ลงวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1992[1] และตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบดินแดนซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเซอร์เบียมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 2007[2][3]

เซอร์เบียแบ่งออกเป็น 29 เขตบริหารตามกฤษฎีกาฉบับหนึ่งที่รัฐบาลตราขึ้นใน ค.ศ. 1992 ส่วนหน่วยการปกครองประเภทอื่น ๆ ได้แก่ เทศบาลและเมือง และจังหวัดปกครองตนเอง ซึ่งได้รับการระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบดินแดน[2]

ภูมิภาค[แก้]

ภูมิภาคทางสถิติในประเทศเซอร์เบีย

รัฐธรรมนูญแห่งเซอร์เบียรับรองจังหวัดปกครองตนเอง (аутономна покрајина / autonomna pokrajina) 2 จังหวัด ได้แก่ วอยวอดีนาทางตอนเหนือ และดินแดนพิพาทคอซอวอและเมตอคิยาทางตอนใต้[2] ในขณะที่พื้นที่ที่เหลือของเซอร์เบียตอนกลางไม่เคยมีอำนาจในระดับภูมิภาคเป็นของตนเอง หลังสงครามคอซอวอ เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพที่นำโดยเนโทได้เข้าสู่คอซอวอหลังจากที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติรับข้อมติที่ 1244 จากนั้นใน ค.ศ. 2008 คอซอวอประกาศเอกราช[4] รัฐบาลเซอร์เบียไม่ยอมรับคำประกาศเอกราชดังกล่าวโดยถือว่าผิดกฎหมายและไม่ชอบธรรม[5]

จังหวัดวอยวอดีนามีสภาและรัฐบาลเป็นของตนเอง มีความเป็นอิสระในบางเรื่อง เช่น โครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ การศึกษา วัฒนธรรม[6]

จังหวัดปกครองตนเองคอซอวอและเมตอคิยาถูกถ่ายโอนไปสู่การบริหารงานของคณะผู้แทนบริหารชั่วคราวของสหประชาชาติในคอซอวอตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 หลังสงครามคอซอวอ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 รัฐบาลคอซอวอได้ประกาศเอกราชจากเซอร์เบียเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ได้รับการยอมรับจากประเทศต่าง ๆ (รวมถึงสหภาพยุโรปส่วนใหญ่และสหรัฐ) แต่ไม่ได้รับการรับรองจากเซอร์เบีย รัสเซีย จีน อินเดีย บราซิล อาร์เจนตินา อินโดนีเซีย และประเทศสมาชิกสหประชาชาติอีก 87 ประเทศ รวมถึงประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 5 ประเทศ

ภูมิภาคทางสถิติ[แก้]

ภูมิภาคทางสถิติทั้งห้าของเซอร์เบีย ได้แก่

เขตบริหาร[แก้]

เขตบริหารในประเทศเซอร์เบีย

เขตบริหาร (управни округ / upravni okrug) เป็นเขตการปกครองระดับบนสุดของประเทศ ประกอบไปด้วยเทศบาลและนครต่าง ๆ เขตบริหารเหล่านี้เป็นศูนย์กลางของอำนาจรัฐในระดับภูมิภาค แต่ไม่มีสภาเป็นของตนเองและไม่ได้รับการกล่าวถึงในกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบดินแดน ค.ศ. 2007 แต่ได้รับการจัดระเบียบตามกฎหมายรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1992[1]

เซอร์เบียแบ่งออกเป็น 29 เขตบริหาร (18 เขตในเซอร์เบียตอนกลาง, 7 เขตในวอยวอดีนา และ 5 เขตในคอซอวอ ในขณะที่กรุงเบลเกรดมีสถานะพิเศษคล้ายกับเป็นเขตบริหารเขตหนึ่งในตัวเอง)[7]

เทศบาลและนคร[แก้]

เทศบาล

เซอร์เบียแบ่งออกเป็น 145 เทศบาล (општина / opština) และ 29 นคร (град / grad) ซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานของการปกครองในระดับท้องถิ่น แต่ละเทศบาลมีสภาเป็นของตนเอง (สมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งท้องถิ่นทุก 4 ปี) โดยปกติเทศบาลของเซอร์เบียจะมีประชากรมากกว่า 10,000 คน

นคร

นครเป็นหน่วยการปกครองตนเองในท้องถิ่นอีกประเภทหนึ่ง ดินแดนที่มีสถานะเป็น "นคร" มักจะมีประชากรมากกว่า 100,000 คน นอกเหนือจากนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับเทศบาลมาก ปัจจุบันมีนคร 27 นคร แต่ละนครมีสภาและงบประมาณเป็นของตนเอง เฉพาะนครเท่านั้นที่มีตำแหน่งนายก แต่ในชีวิตประจำวันมักเรียกตำแหน่งประธานเทศบาลว่า "นายก" เช่นกัน

นครหนึ่ง ๆ อาจแบ่งออกเป็น "เทศบาลนคร" (градска општина / gradska opština) หรือไม่ก็ได้ นคร 6 นคร ได้แก่ เบลเกรด นอวีซาด นีช ปอฌาเรวัตส์ อูฌิตเซ และวราเญ แบ่งออกเป็นเทศบาลนครหลายเทศบาลโดยจัดประเภทเป็นเทศบาลเขตเมืองและเทศบาลเขตชานเมือง

เขตการปกครองของคอซอวอ[แก้]

แม้ว่ากฎหมายของเซอร์เบียจะถือว่าคอซอวอเป็นส่วนหนึ่งของเซอร์เบียและแบ่งคอซอวอออกเป็น 5 เขตบริหาร, 28 เทศบาล และ 1 นคร[2] แต่คณะผู้แทนบริหารชั่วคราวของสหประชาชาติในคอซอวอได้นำการจัดระเบียบดินแดนรูปแบบใหม่มาใช้ใน ค.ศ. 2000 ความเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากเซอร์เบีย แต่ได้รับการยอมรับจากสาธารณรัฐคอซอวอซึ่งประกาศตนเองเป็นเอกราช ตามการจัดระเบียบดินแดนรูปแบบใหม่ คอซอวอแบ่งออกเป็น 7 เขต (ใหม่)[ต้องการอ้างอิง] และ 37 เทศบาล (มีเทศบาลใหม่ 8 เทศบาล)[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Government of Serbia: Districts In Serbia
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Law on Territorial Organization and Local Self-Government เก็บถาวร 2011-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Parliament of Serbia (ในภาษาเซอร์เบีย)
  3. "Lokalni i pokrajinski izbori u maju". b92.net (ภาษาเซอร์เบีย). Beta, Tanjug. 29 December 2007. สืบค้นเมื่อ 20 March 2017.
  4. Hamilton (17 February 2008). "Kosovo declares independence from Serbia". Reuters.
  5. Decision on the annulment of the illegitimate acts of the provisional institutions of self-government in Kosovo and Metohija on their declaration of unilateral independence Government of Serbia, 2008
  6. Republic of Serbia. Закон о утврђивању надлежности Аутономне Покрајине Војводине  [The Law Establishing the Jurisdiction of the Autonomous Province of Vojvodina] (ภาษาเซอร์เบีย) – โดยทาง Wikisource. (ในภาษาเซอร์เบีย)
  7. Hooghe, Liesbet; Marks, Gary N.; Schakel, Arjan H. (2010). The Rise of Regional Authority: A Comparative Study of 42 Democracies. Routledge. p. 95. ISBN 978-1-13697-465-6.
  8. Organization for Security and Co-operation in Europe Mission in Kosovo: Municipal profiles