ยะไข่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อาระกัน)

บทความนี้เป็นบทความเกี่ยวกับชาติพันธุ์ สำหรับเขตการปกครอง ดูที่ รัฐยะไข่ สำหรับแคว้นโบราณ ดูที่ แคว้นยะไข่

ชาวยะไข่
ရခိုင်လူမျိုး (พม่า)
ประชากรทั้งหมด
5,800,000 (ประมาณ ค.ศ. 2020)
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
 พม่า3,600,000
 อินเดีย50,000
 บังกลาเทศ16,000
ภาษา
ยะไข่, พม่า
ศาสนา
พุทธเถรวาท
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ชาวจีน-ทิเบต (รวมชาวพม่า, ชาวมาร์มา, ชาวมอก)

ยะไข่, อะระกัน หรือ ระขึน (พม่า: ရခိုင်လူမျိုး, สำเนียงยะไข่: [ɹəkʰàɪ̯ɰ̃ lùmjó], สำเนียงพม่า: [jəkʰàɪ̯ɰ̃ lùmjó]) เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์หลักกลุ่มหนึ่งในประเทศพม่า อาศัยในรัฐยะไข่

ชาวยะไข่ถือเป็นชาวพม่าพื้นถิ่นในรัฐยะไข่กลุ่มหนึ่ง ภาษาพูดของชาวยะไข่นั้นถือเป็นสำเนียงหนึ่งในภาษาพม่า และยังมีร่องรอยของภาษาพม่าโบราณหลงเหลืออยู่ อันมีเสียงบางเสียงซึ่งในภาษาพม่าสำเนียงย่างกุ้งไม่มีใช้แล้ว เช่น เสียง ร โดยภาษายะไข่นั้นยังรักษาเสียง ร ไว้ได้ครบแทบทุกตำแหน่ง หากต้องการสะกดคำที่มีอักษร ร จึงควรดูที่การออกเสียงของภาษายะไข่ ทั้งนี้เนื่องจากยะไข่ห่างไกลศูนย์กลางจากพม่า โดยมีเทือกเขาอาระกันโยมาขวางกั้นอยู่ อีกทั้งยะไข่เองก็เคยมีอิสรภาพในการปกครองตนเองเป็นอาณาจักรอยู่ร่วมหลายร้อยปี ภายหลังจากการมาของอังกฤษ ยะไข่ถูกมองว่าต่างจากชาวพม่าทั่วไป ดินแดนยะไข่จึงถูกกำหนดเป็นรัฐหนึ่งเฉกเช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยในพม่า

ลักษณะนิสัยของชาวยะไข่[แก้]

แม้ชาวยะไข่จะมีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายเดียวกันกับชาวพม่า แต่กระนั้นชาวพม่าก็ยังมองชาวยะไข่ว่ามีนิสัยใจคอออกไปทางแขก ทั้งนี้เนื่องจากรัฐยะไข่นั้นตั้งอยู่ใกล้กับประเทศบังกลาเทศและประเทศอินเดีย ที่มีทั้งชาวมุสลิมและฮินดู อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน โดยอยู่ร่วมและใกล้ชิดกับชาวมุสลิม พม่าจึงมีโวหารเปรียบเปรยไว้ว่า "หากสู้แขกไม่ไหว ให้ถามพวกยะไข่"[1] ทั้งนี้เนื่องจากชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธอยู่ร่วมสังคมเดียวกับชาวมุสลิมได้ นอกจากนี้พม่ายังกล่าวกันว่าชาวยะไข่นั้นไม่ค่อยจะยอมอ่อนข้อให้ผู้อื่น และร้ายจนพวกแขกก็ไม่กล้ามาตอแยด้วย บ้างก็ว่ายะไข่มักรู้เห็นเป็นใจกับชาวมุสลิม ด้วยนิสัยของชาวยะไข่ พม่าจึงมีโวหารอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับชาวยะไข่คือ "หากเจองูกับยะไข่ ให้ตียะไข่ก่อนตีงู"[1] ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันเองระหว่างชาวพม่าและชาวยะไข่ ชาวพม่าบางคนยังให้ทัศนะเกี่ยวกับสตรีชาวยะไข่มักไม่นิยมแต่งงานกับชายที่มีเชื้อสายพม่า ส่วนชาวพม่าเองก็ไม่นิยมชาวยะไข่เนื่องจากมองว่ามีอุปนิสัยออกไปทางแขกมากกว่า[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "ผู้หญิงสองคน : ทัศนะพม่าต่อผู้หญิงที่มีสามีต่างชาติต่างศาสนา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-06. สืบค้นเมื่อ 2010-04-08.