สัญญาณแจ้งเหตุร้าย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สัญญาณแจ้งเหตุร้าย

สัญญาณแจ้งเหตุร้าย (อังกฤษ: distress signal หรือ distress call) หรือที่เรียกกันว่า สัญญาณขอความช่วยเหลือ เป็นวิธีการขอความช่วยเหลือที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยสัญญาณแจ้งเหตุร้ายจะได้รับการสื่อสารด้วยการส่งสัญญาณวิทยุ การแสดงวัตถุให้มองเห็นได้ การส่องแสงสว่าง หรือการทำให้ได้ยินเสียงจากในระยะไกล

สัญญาณแจ้งเหตุร้ายนั้น สามารถบ่งชี้ได้ว่าบุคคล หรือกลุ่มบุคคล, พาหนะทางน้ำ, อากาศยาน, หรือยานพาหนะอื่น ๆ กำลังถูกคุกคามจากอันตรายร้ายแรง หรืออันตรายที่ใกล้เข้ามา และต้องการความช่วยเหลือในทันที[1]: PCG D−3  การใช้สัญญาณแจ้งเหตุร้ายในสถานการณ์อื่น ๆ อาจขัดต่อกฎหมายท้องถิ่นหรือกฎหมายระหว่างประเทศ โดยในสถานการณ์ที่ไม่วิกฤตจะมีสัญญาณเร่งด่วนเพื่อขอความช่วยเหลือในอีกรูปแบบหนึ่ง

เพื่อให้การสัญญาณแจ้งเหตุร้ายมีประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องสื่อสารโดยอาศัยตัวแปรสองตัว คือ

  • การเตือนหรือการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินที่กำลังดำเนินอยู่
  • พิกัดหรือตำแหน่ง (หรือจุดสังเกตในพื้นที่หรือการระบุตำแหน่ง) ของฝ่ายที่อยู่ในเหตุร้าย

ตัวอย่างเช่น พลุแฟลร์ทางอากาศเดี่ยว จะแจ้งเตือนผู้สังเกตการณ์ถึงการมีอยู่ของเรือที่กำลังประสบเหตุร้ายอยู่ที่ไหนสักแห่งในทิศทางทั่วไปของแสงแฟลร์ที่มองเห็นบนขอบฟ้า แต่จะดับลงภายในหนึ่งนาทีหรือน้อยกว่านั้น ในขณะที่พลุมือถือจะไหม้เป็นเวลาสามนาที และสามารถใช้เพื่อระบุตำแหน่งหรือระบุตำแหน่งที่ตั้งหรือตำแหน่งของบุคคลที่ประสบภัยได้แม่นยำยิ่งขึ้น ส่วนเครื่องวิทยุคมนาคมบอกตำแหน่งผ่านดาวเทียมในกรณีฉุกเฉิน (EPIRB) จะเตือนหรือแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ ในขณะเดียวกันก็จะส่งข้อมูลตำแหน่งให้เจ้าหน้าที่ด้วย

ทางทะเล[แก้]

สัญญาณแจ้งเหตุร้ายในทะเลถูกกำหนดไว้ในกฎข้อบังคับระหว่างประเทศเพื่อป้องกันเรือโดนกันในทะเล และในประมวลสากล (International Code of Signals) โดยจะสามารถใช้สัญญาณเมย์เดย์ก็ต่อเมื่อมีอันตรายร้ายแรงและใกล้จะเกิดขึ้นภัยอันตรายต่อชีวิตเท่านั้น หากยังไม่ถึงขั้นนั้นสามารถส่งสัญญาณเร่งด่วนอื่น เช่น แพน-แพนแทนได้ เขตอำนาจศาลส่วนใหญ่มักจะมีบทลงโทษอย่างหนักสำหรับสัญญาณแจ้งเหตุร้ายที่เป็นเท็จ ไม่สมควรต่อเหตุ หรือการกลั่นแกล้งกัน

การแจ้งเหตุร้ายต่าง ๆ ทางทะเล สามารถแจ้งตามช่องทางอย่างเป็นทางการได้ตามวิธีการต่อไปนี้:

สัญญาณควัน
  • การส่งสัญญาณเสียงพูดข้อความเมย์เดย์ ทางวิทยุผ่านช่องความถี่สูงมาก ช่อง 16 (156.8 MHz) หรือความถี่กลางที่ 2182 kHz
  • การส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือแบบดิจิทัลโดยการเปิดใช้งาน (หรือกด) ปุ่มขอความช่วยเหลือบนวิทยุทางทะเลที่ติดตั้งระบบการเรียกอย่างจาเพาะเจาะจงโดยใช้วิธีดิจิทัล (Digital selective calling: DSC) ผ่านความถี่สูงมากช่อง 70 หรือผ่านความถี่ DSC อื่นที่กำหนดในย่านความถี่กลางและความถี่สูงทางทะเล
  • การส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือแบบดิจิทัลโดยการเปิดใช้งาน (หรือกด) ปุ่มขอความช่วยเหลือ (หรือคีย์) บนอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Inmarsat-C
  • การส่งกลุ่มรหัสมอร์ส SOS (  ▄ ▄ ▄ ▄▄▄ ▄▄▄ ▄▄▄ ▄ ▄ ▄ ) ด้วยแสงวาบหรือเสียง
  • การจุดพลุแฟลร์สีแดง (พลุแบบมือถือหรือพลุร่มชูชีพ)
  • การปล่อยจรวดแจ้งเหตุร้าย
  • ปล่อยสัญญาณควันสีส้มออกจากกระป๋อง
  • แสดงเปลวไฟบนเรือ (เช่น จากถังน้ำมันดินที่ลุกไหม้ ถังน้ำมัน ฯลฯ)
  • ยกและลดแขนทั้งสองข้างออกช้า ๆ และซ้ำ ๆ กัน
  • สร้างเสียงต่อเนื่องด้วยอุปกรณ์ส่งสัญญาณหมอก
  • ยิงปืนหรือสัญญาณระเบิดอื่น ๆ เป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งนาที
  • เชิญธงประมวลสากลอักษร NC ขึ้นบนเสาเรือ
  • การแสดงสัญญาณภาพประกอบด้วยธงสี่เหลี่ยมที่มีลูกบอลด้านบนหรือด้านล่าง หรือสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายลูกบอล (มีลักษณะเป็นวงหรือกลม)

เสาลอยคนตกน้ำ หรือทุ่นหมายเขต สามารถใช้เพื่อแสดงว่าบุคคลอยู่ในภาวะอันตรายในน้ำ และโดยปกติจะติดธงสีเหลืองและสีแดง (รหัสธงประมวลสากล "O") และวาบไฟหรือแฟลชไฟ

ในทวีปอเมริกาเหนือ หน่วยงานค้นหาและช่วยเหลือทางทะเลในแคนาดาและสหรัฐยังตอบรับสัญญาณแจ้งเหตุร้ายอื่น ๆ บางรูปแบบ เช่น

  • สีย้อมน้ำทะเล
  • แสงแฟลชความเข้มสูงสีขาวกะพริบที่ 60 ครั้งต่อนาที

สัญญาณวิทยุอัตโนมัติ[แก้]

นอกจากนี้ การแจ้งเหตุร้ายยังสามารถส่งสัญญาณได้โดยใช้สัญญาณวิทยุอัตโนมัติ เช่น เครื่องทวนสัญญาณเพื่อการค้นหาและช่วยเหลือ (Search and Rescue Transponder: SART) ซึ่งจะตอบสนองต่อสัญญาณเรดาร์ความถี่ 9 GHz หรือเครื่องวิทยุคมนาคมบอกตำแหน่งผ่านดาวเทียมในกรณีฉุกเฉิน (EPIRB) ซึ่งทำงานในวิทยุความถี่ 406 MHz สัญญาณ EPIRB ได้รับและประมวลผลโดยกลุ่มดาวดาวเทียมที่เรียกว่า Cospas-Sarsat ขณะที่ EPIRB รุ่นเก่าที่ใช้งานความถี่ 121.5 MHz นั้นถือว่าล้าสมัยแล้ว ซึ่งหน่วยงานที่กำกับดูแลทางทะเลหลายแห่งกำหนดให้เรือที่แล่นออกนอกชายฝั่งต้องมีเครื่อง EPIRB ติดอยู่บนเรือด้วย

EPIRB จำนวนมากมีตัวรับระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (GPS) ในตัว เมื่อเปิดใช้งาน EPIRB ประเภทนี้จะรายงานละติจูดและลองจิจูดของเหตุฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว มีความแม่นยำสูงภายในระยะ 120 เมตร (390 ฟุต) ตำแหน่งของ EPIRB ที่ไม่ใช่ GPS จะถูกกำหนดโดยดาวเทียมที่โคจรอยู่ ซึ่งอาจใช้เวลาเก้าสิบนาทีถึงห้าชั่วโมงหลังการเปิดใช้งาน และมีความแม่นยำในระยะ 5 กิโลเมตร (3.1 ไมล์) โดยหน่วยงานความปลอดภัยทางทะเลแนะนำให้ใช้ EPIRB ที่ติดตั้ง GPS[2]

EPIRB ขนาดจิ๋วที่สามารถพกพาไปพร้อมกับเสื้อผ้าของลูกเรือได้เรียกว่าเครื่องระบุตำแหน่งส่วนบุคคลขนาดเล็กแบบพกพา (Personal Locator Beacon) หรือ PLB หน่วยงานกำกับดูแลทางทะเลมักจะไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้อุปกรณ์ทดแทน EPIRB ของเรือ ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่ "มีคนตกน้ำ" เช่น การแข่งเรือยอชท์ในมหาสมุทรเปิด ผู้จัดงานอาจกำหนดให้มีการติดเครื่อง PLBs บนเสื้อผ้า นอกจากนี้ PLB มักถูกพกพาระหว่างกิจกรรมกลางแจ้งบนบกที่มีความเสี่ยงเช่นกัน

EPIRB และ PLB แต่ละเครื่องจะมีหมายเลขประจำตัวที่ไม่ซ้ำกัน (UIN หรือ "HexID") ผู้ซื้อควรลงทะเบียน EPIRB หรือ PLB กับหน่วยงานค้นหาและช่วยเหลือแห่งชาติของตน ซึ่งมักจะไม่มีค่าใช้จ่ายในเขตอำนาจศาลส่วนใหญ่ การลงทะเบียน EPIRB ช่วยให้ผู้มีอำนาจในพื้นที่นั้นสามารถแจ้งเตือนผู้ที่ร่วมค้นหาเกี่ยวกับชื่อ ป้าย ประเภทเรือ ขนาด และงานสีของเรือ เพื่อแจ้งให้ญาติใกล้ชิดทราบทันที และเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วในกรณีการเปิดใช้งานโดยไม่ตั้งใจ

สัญญาณแจ้งเหตุร้ายจากวิทยุ DSC สามารถรวมตำแหน่งไว้ได้ หากป้อนละติจูด / ลองจิจูดลงในวิทยุด้วยตนเอง หรือหากตำแหน่งที่ได้รับจาก GPS ถูกส่งผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังเครื่องวิทยุโดยตรง

เมย์เดย์[แก้]

ข้อความเมย์เดย์ (mayday) ประกอบด้วยคำว่า “เมย์เดย์” ที่พูดติดต่อกันสามครั้ง เป็นสัญญาณแจ้งเหตุร้าย ตามด้วยข้อความแจ้งเหตุร้ายซึ่งควรประกอบไปด้วย

  • ชื่อเรือที่ประสบภัย
  • ตำแหน่ง (ปัจจุบัน ที่ทราบล่าสุด หรือประมาณ โดยแสดงเป็นละติจูด / ลองจิจูด หรือระยะทาง / ทิศทางจากสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง)
  • ลักษณะของสภาพหรือสถานการณ์เหตุร้ายของเรือ (เช่น ไฟไหม้ จม เกยตื้น โดนน้ำ ลอยลำอยู่ในน้ำที่เป็นอันตราย)
  • จำนวนบุคคลที่มีประสบเหตุร้ายหรือต้องได้รับการช่วยเหลือ มีอาการบาดเจ็บสาหัส
  • ประเภทของความช่วยเหลือที่จำเป็น หรือกำลังร้องขอ
  • รายละเอียดอื่น ๆ เพื่ออำนวยในการแก้ไขเหตุฉุกเฉิน เช่น การดำเนินการ (เช่น การสละเรือ การสูบน้ำน้ำท่วมออกจากเรือ) เวลาที่เหลืออยู่โดยประมาณในการลอยน้ำ

รูปลักษณ์ที่ผิดปกติหรือพิเศษ[แก้]

เมื่อไม่มีสัญญาณที่ได้รับการอนุมัติใช้งานอย่างเป็นทางการตามที่อธิบายไว้ข้างต้น การให้ความช่วยเหลืออาจถูกทำให้สังเกตเห็นได้โดยสิ่งใดก็ตามที่ดูผิดปกติ หรือผิดปกติ เช่น ใบเรือที่ยกขึ้นกลับหัว

ในช่วงเวลากลางวันเมื่อมองเห็นดวงอาทิตย์ สามารถใช้กระจกเฮลิโอกราฟเพื่อฉายแสงที่สว่างจ้าและเข้มข้นได้ ไฟเลเซอร์แบบใช้แบตเตอรี่ขนาดเท่าไฟฉายขนาดเล็ก (คบเพลิงไฟฟ้า) มีจำหน่ายเพื่อใช้งานในการส่งสัญญาณฉุกเฉินเช่นกัน

ธงกลับหัว[แก้]

เป็นเวลาหลายร้อยปีที่ธงชาติกลับหัวถูกใช้งานเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ[3] อย่างไรก็ตาม สำหรับธงชาติของบางประเทศ เป็นเรื่องยาก (เช่น สเปน เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร) หรือเป็นไปไม่ได้ (เช่น ญี่ปุ่น ไทย และอิสราเอล) ที่จะระบุว่าธงเหล่านั้นกลับด้านหรือไม่ ประเทศอื่น ๆ มีธงที่ตรงกันข้ามกัน ตัวอย่างเช่น ธงชาติโปแลนด์เป็นสีขาวที่ครึ่งบนและสีแดงที่ด้านล่าง ในขณะที่ธงของอินโดนีเซียและโมนาโกจะอยู่ตรงกันข้าม กล่าวคือ ครึ่งบนเป็นสีแดง ครึ่งล่างเป็นสีขาว เรือที่ไม่มีธงก็อาจจะถูกเข้าใจได้ว่ากำลังแจ้งเหตุร้าย[4] สำหรับประเทศหนึ่ง คือฟิลิปปินส์ ธงกลับหัวเป็นสัญลักษณ์ของสงครามมากกว่าการแจ้งเหตุร้าย[5]

หากมีธงอื่น ๆ ใช้งานไม่ใช่ในรูปแบบของธงชาติ อาจแสดงการแจ้งเหตุร้ายได้ด้วยการผูกปมแล้วโบกคว่ำลงจนกลายเป็นธง[6]

ตัวอย่างธงกลับหัวเป็นสัญญาณแจ้งเหตุร้าย
เอชเอ็มเอส รอมนีย์ เกยตื้นนอกเกาะ เทกเซล ในปี พ.ศ. 2347 ในภาพพิมพ์ของริชาร์ด คอร์โบลด์ ภาพพิมพ์ รอมนีย์' ธงแสดงสัญชาติสีน้ำเงิน ที่ท้ายเรือถูกแสดงกลับด้าน เพื่อแสดงสัญญาณแจ้งเหตุร้าย
เอชเอ็มเอส รอมนีย์ เกยตื้นนอกเกาะ เทกเซล ในปี พ.ศ. 2347 ในภาพพิมพ์ของริชาร์ด คอร์โบลด์ ภาพพิมพ์ รอมนีย์' ธงแสดงสัญชาติสีน้ำเงิน ที่ท้ายเรือถูกแสดงกลับด้าน เพื่อแสดงสัญญาณแจ้งเหตุร้าย 
เอชเอ็มเอส ปิเก้ ท่ามกลางพายุ ประดับ ธงแสดงสัญชาติสีขาว กลับหัว
เอชเอ็มเอส ปิเก้ ท่ามกลางพายุ ประดับ ธงแสดงสัญชาติสีขาว กลับหัว 

การสูญหายและการกำจัดอุปกรณ์[แก้]

เพื่อหลีกเลี่ยงการค้นหาโดยใช่เหตุและไร้เหตุร้าย อุปกรณ์บางอย่างจะต้องรายงานเมื่อสูญหาย ข้อกำหนดนี้ใช้กับเครื่อง EPIRB ห่วงชูชีพ แพ และอุปกรณ์ที่มีชื่อเรือและท่าเรือโดยเฉพาะ

ไม่ควรนำพลุแฟลร์ที่หมดอายุมาใช้งานเพื่อทำลาย เนื่องจากอาจจะทำให้สับสนว่าเป็นการแจ้งเหตุร้าย การทำลายโดยเจ้าหน้าที่ประจำท่าเรือส่วนใหญ่จะใช้อุปกรณ์เฉพาะในการกำจัดพลุแฟลร์แจ้งเหตุร้ายที่หมดอายุแล้ว ในบางพื้นที่จะมีการจัดฝึกอบรมพิเศษเพื่อให้พลุแฟลร์สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย

เครื่อง EPIRB ที่เสื่อมสภาพไม่ควรทิ้งรวมกับขยะทั่วไป เนื่องจาก EPIRB ที่ถูกทิ้งมักจะถูกกระตุ้นให้ทำงานในสถานที่กำจัดของเสีย ในปี พ.ศ. 2556 การเปิดใช้งาน EPIRB ส่วนใหญ่ที่ตรวจสอบโดยหน่วยงานความปลอดภัยทางทะเลของออสเตรเลีย เกิดจากการกำจัดเครื่องบีคอน EPIRB รุ่นที่ใช้ความถี่ 121.5 MHz ที่ล้าสมัยอย่างไม่ถูกต้อง[7]

การบิน[แก้]

คลื่นความถี่อากาศยานพลเรือนสำหรับการแจ้งเหตุร้ายด้วยเสียงคือ 121.5 MHz อากาศยานทหารใช้คลื่นความถี่ 243 MHz (ซึ่งเป็นฮาร์มอนิกที่ 121.5 MHz ดังนั้นบีคอนพลเรือนจึงส่งความถี่นี้ด้วย) อากาศยานยังสามารถส่งสัญญาณเหตุฉุกเฉินได้ด้วยการตั้งรหัสเครื่องรับส่งเรดาร์ช่องสัญญาณพิเศษรหัสใดรหัสหนึ่ง เช่น 7700

สัญญาณ COSPAS/SARSAT สามารถส่งผ่านเครื่องส่งตำแหน่งอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Locator Transmitter) หรือ ELT ซึ่งคล้ายกับ EPIRB ทางทะเล บนความถี่วิทยุ 406 MHz (EPIRB ทางทะเลถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ลอยได้ ในขณะที่ ELT สำหรับการบิน ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ทำงานโดยการชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว และบางครั้งเรียกว่าเครื่องส่งสัญญาณฉุกเฉิน หรือ (Crash Position Indicator: CPI)

"รูปแบบแจ้งเหตุร้ายแบบสามเหลี่ยม" คือรูปแบบการบินที่ไม่ค่อยได้ใช้กันบ่อยนัก ซึ่งบินโดยอากาศยานที่กำลังประสบภาวะฉุกเฉิน แต่ไม่มีการสื่อสารทางวิทยุ รูปแบบมาตรฐาน คือชุดการเลี้ยวแบบ 120°

รหัสฉุกเฉินทางอากาศภาคพื้นดิน[แก้]

รหัสเหตุฉุกเฉินทางอากาศภาคพื้นดิน เป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือที่นักบินและเจ้าหน้าที่ทหารที่ประสบอุบัติเหตุใช้เพื่อส่งสัญญาณจากภาคพื้นดินไปยังอากาศยาน[8][9]

ชวาร์ซวัลด์[แก้]

สัญญาณแจ้งเหตุร้ายบนภูเขาที่ได้รับการยอมรับนั้น อิงรูปแบบมาจากกลุ่มสามหรือหกคนในสหราชอาณาจักรและชวาร์ซวัลด์ (ป่าดำ) ของยุโรป สัญญาณแจ้งเหตุร้ายอาจเป็นไฟหรือกองหิน 3 กองเป็นรูปสามเหลี่ยม เสียงนกหวีด 3 ครั้ง การยิงปืน 3 นัด หรือการกะพริบ 3 ครั้งติดต่อกัน ตามด้วยการหยุด 1 นาทีและทำซ้ำ ๆ จนกระทั่งได้รับการตอบสนอง การระเบิดหรือการวาบไฟสามครั้งถือเป็นรูปแบบการตอบสนองพื้นฐานในการตอบรับว่าทราบเหตุดังกล่าว

ในชวาร์ซวัลด์ (ป่าดำ) วิธีส่งสัญญาณแจ้งเหตุร้ายที่ได้รับการแนะนำคือสัญญาณแจ้งเหตุร้ายชวาร์ซวัลด์ โดยให้สัญญาณ 6 สัญญาณภายในหนึ่งนาที จากนั้นหยุดสักครู่หนึ่งนาที ทำซ้ำจนกว่าหน่วยกู้ภัยจะมาถึง สัญญาณอาจเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ (การโบกเสื้อผ้าหรือแสงไฟ การใช้กระจกสัญญาณ) หรือเสียง (เสียงตะโกน นกหวีด ฯลฯ) ซึ่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะรับทราบด้วยสัญญาณสามสัญญาณต่อนาที

ในทางปฏิบัติ รูปแบบสัญญาณใดรูปแบบหนึ่ง มีแนวโน้มที่จะได้รับการยอมรับในพื้นที่ภูเขาที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ เนื่องจากทีมปีนเขาในบริเวณใกล้เคียงมีแนวโน้มที่จะมีนักปีนเขาอื่นที่เป็นชาวยุโรปหรืออเมริกาเหนืออยู่ในพื้นทีใกล้เคียงนั้น

หากต้องการสื่อสารกับเฮลิคอปเตอร์ที่อยู่ในระยะสายตา ให้ยกแขนทั้งสองข้างขึ้น (เป็นรูปตัวอักษร Y) เพื่อระบุว่า "ใช่" หรือ "ฉันต้องการความช่วยเหลือ" หรือเหยียดแขนข้างหนึ่งขึ้นและอีกข้างหนึ่งลง (เลียนแบบตัวอักษร N) สำหรับ "ไม่" หรือ "ฉันไม่ต้องการความช่วยเหลือ" หากมีธงสองมือ ก็สามารถใช้เพื่อสื่อสารกับผู้ช่วยเหลือได้

สัญญาณ "ใช่ ฉันต้องการความช่วยเหลือ"

กระโจมภาคพื้นดิน[แก้]

สัญญาณแจ้งเหตุร้ายด้วยความถี่วิทยุ COSPAS-SARSAT 406 MHz สามารถส่งโดยนักเดินป่า แบ็คแพ็คเกอร์ นักเดินป่าระยะไกล นักปีนเขา และผู้แสวงหาการผจญภัยทางไกลภาคพื้นดินรูปแบบอื่น ๆ และบุคคลที่ทำงานในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล โดยใช้เครื่องระบุตำแหน่งส่วนบุคคลขนาดเล็กแบบพกพา (Personal Locator Beacon) หรือ PLB

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Aeronautical Information Manual, U.S. Federal Aviation Administration, 2016
  2. "GPS versus Non-GPS: A comparison of GPS vs non-GPS 406 MHz distress beacons". Australian Maritime Safety Authority. สืบค้นเมื่อ 21 March 2014.
  3. For example, 36 U.S. Code §176(a) provides: "The flag should never be displayed with the union down, except as a signal of dire distress in instances of extreme danger to life or property."
  4. "Slave Ship Mutiny Program Transcript" เก็บถาวร 15 พฤศจิกายน 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Educational Broadcasting Corporation. 2010. Retrieved 2012-02-15.
  5. "U.S. Apologizes for flying Philippine flag upside down". Reuters. 27 September 2010.
  6. "Flying flags upside down". Allstates-flag.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-13. สืบค้นเมื่อ 2009-07-27.
  7. Gaden, Phil. "A 406Mhz beacon is your best chance of being rescued". Australian Maritime Safety Authority. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-12. สืบค้นเมื่อ 21 March 2014.
  8. The Handbook Of The SAS And Elite Forces. How The Professionals Fight And Win. Edited by Jon E. Lewis. p.185-Tactics And Techniques, Evasion, Capture And Escape. Robinson Publishing Ltd 1997. ISBN 1-85487-675-9
  9. "International Ground-to-Air Signaling Code". December 2017.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]