โคมไฟบังคับทิศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การฝึกโคมไฟบังคับทิศในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

โคมไฟบังคับทิศ[ก] (อังกฤษ: Directional Flashlight)[ก] หรือ โคมไฟสัญญาณ โคมไฟเอดิส โคมไฟมอร์ส (อังกฤษ: Signal lamp, Aldis lamp, Morse lamp[4]) เป็นอุปกรณ์ส่งสัญญาณภาพสำหรับการสื่อสารด้วยแสงโดยการกระพริบของโคมไฟ โดยปกติจะใช้ในการส่งรหัสมอร์ส แนวคิดเรื่องการกระพริบไฟเป็นแสงวับ (จุด) และแสงวาบ (ขีด) จากตะเกียงนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดย กัปตัน ฟิลิป ฮาวเวิร์ด โคลอมบ์ แห่งราชนาวีอังกฤษในปี พ.ศ. 2410 ซึ่งเขาออกแบบด้วยการใช้แสงไลม์ไลท์ (ไฟแก๊ส) ในการส่องสว่าง และชุดรหัสที่เขาใช้ในการส่งก็ไม่เหมือนกับรหัสมอร์ส ต่อมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นายทหารสื่อสารของฝ่ายเยอรมนีได้ใช้เครื่องส่งสัญญาณแบบออปติคอลมอร์สที่เรียกว่า Blinkgerät ซึ่งมีระยะในการส่งไกลถึง 8 กิโลเมตร (5 ไมล์) ในเวลากลางคืน โดยใช้ตัวกรองแสงสีแดงเพื่อหลีกเลี่ยงการมองเห็นการสื่อสารดังกล่าว

โคมไฟบังคับทิศสมัยใหม่จะสร้างพัลส์ของแสงที่โฟกัส ไม่ว่าจะด้วยการเปิดและปิดบาดเกล็ดที่ติดอยู่หน้าโคมไฟ หรือโดยการเอียงกระจกเว้า ซึ่งยังคงใช้งานมาจนถึงปัจจุบันในเรือเดินทะเลและสำหรับไฟสัญญาณการบินในหอควบคุมจราจรทางอากาศ โดยเป็นอุปกรณ์สำรองในกรณีที่วิทยุของเครื่องบินขัดข้องจนไม่สามารถสื่อสารได้

ประวัติ[แก้]

ผู้ใช้เฮลิโอกราฟชาวออตโตมันกำลังใช้ Blinkgerät (ซ้าย)
โคมไฟตะเกียงน้ำมันส่งสัญญาณเบบี้ พ.ศ. 2461

โคมไฟบังคับทิศถูกบุกเบิกการใช้งานโดยราชนาวีอังกฤษในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยมันเป็นเครื่องส่งสัญญาณในยุคที่สองของราชนาวี หลังจากธงสัญญาณถูกใช้อย่างแพร่หลายรวมถึงข้อความสัญญาณของลอร์ดเนลสันที่ว่า "อังกฤษหวังว่าทุกนายจะทำตามหน้าที่" (England expects that every man will do his duty) ก่อนยุทธนาวีที่ตราฟัลการ์[5]

แนวคิดเรื่องไฟวับและไฟวาบจากตะเกียงถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยกับตัน ต่อมาคือรองพลเรือเอก ฟิลิป ฮาวเวิร์ด โคลอมบ์ แห่งราชนาวีอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2410 การออกแบบของพลเรือเอก โคลอมบ์ นั้นใช้ไลม์ไลท์ในการส่องสว่าง[6] โดยรหัสที่ใช้ในการส่งของเขาไม่เหมือนกับรหัสมอร์ส ซึ่งต่อมาก็ได้นำรหัสมอร์สมาปรับใช้ในภายหลัง[5]

สำหรับโคมไฟบังคับทิศอีกดวงที่มีการนำมาใช้งานคือโคมไฟเบบี้ (Begbie lamp) ซึ่งเป็นตะเกียงน้ำมันก๊าดที่มีเลนส์เพื่อโฟกัสให้แสงสว่างขึ้นทำให้เห็นได้จากระยะไกล[7]

ในช่วงสงครามสนามเพลาะระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อการสื่อสารผ่านสายถูกตัดขาด นายทหารสื่อสารของเยอรมันใช้เครื่องส่งสัญญาณแบบออปติคัลส์มอร์ส 3 ประเภทในการส่งสัญญาณ เรียกว่า Blinkgerät ซึ่งเป็นเครื่องสัญญาณทางไกล ในเวลากลางวันระยะสูงสุด 4 กิโลเมตร (2.5 ไมล์) และในเวลากลางคืนระยะสูงสุด 8 กิโลเมตร (5 ไมล์) โดยใช้ที่กรองแสงสีแดงเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับการสื่อสาร[8]

ในปี พ.ศ. 2487 อาเธอร์ ไซริล เวบบ์ อัลดิส ได้จดสิทธิบัตรการออกแบบโคมบังคับทิศทางแบบมือถือ[9] ซึ่งมีม่านบานเกล็ดที่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพในการส่องสว่างแล้ว[10]

การออกแบบ[แก้]

โคมไฟบังคับทิศทางสมัยใหม่สามารถสร้างพัลส์แสงเฉพาะจุดได้ ซึ่งในรุ่นทีมีขนาดใหญ่สามารถสร้างพัลส์ได้ด้วยการเปิดและปิดบานเกล็ดที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าของหลอดไฟ โดยบังคับได้ทั้งแบบสวิตช์แรงดันที่บังคับด้วยตัวเอง หรือในเวอร์ชั่นใหม่ที่เป็นระบบอัตโนมัติ[11] ในขณะที่โคมไฟมือถือจะใช้กระจกเว้าที่เอียงด้วยสวิตช์แบบไกปืนเพื่อให้แสงเป็นพัลส์ โดยจะมีศูนย์เล็ง (Optical sight) และมักใช้งานบนเรือรบหรือหอควบคุมจราจรทางอากาศ โดยใช้สัญญาณสีสำหรับการสื่อสารในการหยุด หรือหลบเลี่ยง ตามข้อกำหนดของ ICAO[11] ซึ่งการส่งสัญญาณที่บังคับด้วยมือ ผู้ให้สัญญาณจะเล็งแสงไปที่เรือของผู้รับ และหมุนคันโยก เปิดและปิดบานเกล็ดหน้าโคมไฟ เพื่อปล่อยแสงวับวาบเพื่อส่งข้อความเป็นรหัสมอร์สไปสู่เรือของผู้รับ ซึ่งเรือผู้รับจะสังเกตเห็นแสงกระพริบและใช้กล้องส่องทางไกลในการรับและแปลรหัสเป็นข้อความ

โคมไฟบังคับทิศบางดวงจะถูกติดตั้งอยู่บนเสากระโดงเรือ ในขณะที่บางรุ่นเป็นรูปแบบมือถือขนาดเล็ก บางรุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่ากำลังส่งสูงกว่าจะถูกติดตั้งอยู่บนฐานติดตั้งบนเรือ โดยโคมไฟบังคับทิศทางขนาดใหญ่จะใช้ไฟจากหลอดคาร์บอนอาร์คเป็นแหล่งกำเนิดแสง[12] โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 นิ้ว (510 มิลลิเมตร) ซึ่งโคมไฟบังคับทิศทางเหล่านี้มีกำลังส่งที่สามารถส่งสัญญาณไฟไปยังเส้นขอบฟ้าได้ แม้ในสภาวะมีแดดจ้าก็ตาม

การใช้งานสมัยใหม่[แก้]

กะลาสีเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ กำลังส่งรหัสมอร์สโดยโคมไฟบังคับทิศ

โคมไฟบังคับทิศยังคงมีการใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบันในเรือรบ โดยถือว่าเป็นการสื่อสารที่สะดวกและปลอดภัย มีประโยชน์อย่างยิ่งในช่วงการห้ามใช้วิทยุ (Radio Silence) เช่น สำหรับขบวนเรือระหว่างการปฏิบัติการยุทธนาวีแห่งแอตแลนติก

กองทัพเรือในเครือจักรภพและกองกำลังเนโทใช้โคมไฟบังคับทิศทางเมื่อการสื่อสารทางวิทยุจำเป็นต้องระงับหรือเกิดการปลอมแปลงสัญญาณทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ เนื่องจากอุปกรณ์การมองกลางคืนมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายในกองทัพปัจจุบัน การส่งสัญญาณในเวลากลางคืนมักจะทำด้วยการใช้แสงในช่วงอินฟราเรด (IR) ของสเป็กตรีมแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้มีโอกาสน้อยที่จะถูกตรวจพบด้วยตาเปล่า ซึ่งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบดิจิทัลดังกล่าวทำให้กองกำลังสมัยใหม่ในปัจจุบันได้ใช้รูปแบบดังกล่าว[13]

ปัจจุบันยังมีการใช้โคมไฟบังคับทิศสำหรับสัญญาณไฟทางการบินในหอควบคุมจราจรทางอากาศ โดยเป็นอุปกรณ์สำรองในกรณีที่วิทยุของเครื่องบินขัดข้องจนใช้การไม่ได้ สัญญาณอาจใช้เป็นสีเขียว แดง หรือขาว คงที่หรือกระพริบ โดยข้อความที่ส่งจะถูกจำกัดไว้เฉพาะชุดคำแนะนำพื้นฐานส่วนหนึ่ง เช่น "ลงจอด" "หยุด" เป็นต้น ไม่ได้มีไว้เพื่อการส่งข้อความด้วยรหัสมอร์ส ซึ่งเครื่องบินสามารถตอบรับว่ารับทราบสัญญาณได้ด้วยการโยกปีกหรือกระพริบไฟลงจอด[14]

หมายเหตุ[แก้]

  1. 1.0 1.1 ตามชื่อเรียกในระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติเกี่ยวกับการสื่อสาร พ.ศ. 2525[1] และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Directional Flashlight ซึ่งมีการใช้งานในเอกสาร หนังสือ และข่าวประชาสัมพันธ์[2][3] แต่คือเครื่องมือเดียวกันกับที่สากลเรียกว่า Signal lamp

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติเกี่ยวกับการสื่อสาร พ.ศ. 2525 (PDF). สำนักนายกรัฐมนตรี. 2525.[ลิงก์เสีย]
  2. "ราชนาวีไทย ร่วมกองทัพเรือสิงคโปร์ เปิดฝึกผสม SINGASIAM 2018". mgronline.com. 2018-06-04.
  3. @4FORCENEWS (2022-04-22). ""มิตรภาพ"ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นการลาดตระเวนร่วม ระหว่าง กองทัพเรือไทย และ กองทัพเรือเวียดนาม ครั้งที่ ๔๕". หนังสือพิมพ์ข่าว ๔ เหล่าทัพ.
  4. Walter Lord. The Night Lives On.
  5. 5.0 5.1 "The Dead media Project:Working Notes:24.1". www.deadmedia.org.
  6. Sterling, Christopher H., บ.ก. (2008). Military Communications: From Ancient Times to the 21st Century. Santa Barbara, California: ABC-CLIO, Inc. p. 209. ISBN 978-1-85109-732-6.
  7. Neal McEwen, K5RW. "Victorian Era Visual Signalling Instruments -Black Watch, 42nd Royal Highland Regiment Signalling Unit, c. 1898". Telegraph-office.com. สืบค้นเมื่อ 2012-06-13.
  8. Galvin (May 29, 2002). "Battle Management Language" (PDF). สืบค้นเมื่อ April 7, 2019.
  9. "Visual Signalling". HMS Collingwood Heritage Collection.
  10. "Signaling lamp".
  11. 11.0 11.1 "ปืนไฟสัญญาณแบบพกพาสำหรับสนามบิน | AEROTHAI Business". www.aerothai.co.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. van Bommel, Wout (2014), Luo, Ronnier (บ.ก.), "Carbon Arc Lamp", Encyclopedia of Color Science and Technology (ภาษาอังกฤษ), Springer, pp. 1–7, doi:10.1007/978-3-642-27851-8_119-13#bib1, ISBN 978-3-642-27851-8, สืบค้นเมื่อ 2023-10-09
  13. Jerry Proc. "Directional and Non-Directional Light Signalling". Visual Signalling in the RCN. สืบค้นเมื่อ 2016-08-05.
  14. "FAA Aeronautical Information Manual, section 4-3-13. Traffic Control Light Signals". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 4, 2012.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]