สะพานฉะเชิงเทรา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานฉะเชิงเทรา
สะพานฉะเชิงเทรามองจากหอนาฬิกาฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ
พิกัด13°41′16″N 101°04′38″E / 13.6879°N 101.0771°E / 13.6879; 101.0771
เส้นทาง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 กม. 71+600
ข้ามแม่น้ำบางปะกง
ที่ตั้งตำบลบางตีนเป็ด และ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา
ชื่อทางการสะพานฉะเชิงเทรา
ชื่ออื่น • สะพานฉะเชิงเทรา เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 5 ธันวาคม 2542
 • สะพานเฉลิมพระเกียรติ
ผู้ดูแลแขวงทางหลวงฉะเชิงเทรา, กรมทางหลวง
เหนือน้ำสะพานทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก
ท้ายน้ำสะพานทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 365
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทสะพานแบบคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง (Box Girder)
วัสดุคอนกรีตเสริมเหล็ก
ความยาว340 เมตร (1,120 ฟุต) (สะพานเดิม)
647 เมตร (2,123 ฟุต) (สะพานใหม่)
ประวัติ
วันเริ่มสร้าง3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497
วันสร้างเสร็จ23 ธันวาคม พ.ศ. 2498
วันเปิด2 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 (สะพานใหม่)
สร้างใหม่พ.ศ. 2539
ที่ตั้ง
แผนที่

สะพานฉะเชิงเทรา หรือ สะพานฉะเชิงเทรา เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 5 ธันวาคม 2542 หรือ สะพานเฉลิมพระเกียรติ[1] เป็นสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลบางตีนเป็ด และตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ขนาด 4 ช่องจราจร ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง

ประวัติ[แก้]

สะพานฉะเชิงเทรา[แก้]

สะพานฉะเชิงเทรา เป็นสะพานที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อข้ามแม่น้ำบางปะกงหลังจากการสร้างสะพานเทพหัสดิน สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 และสร้างเสร็จในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งก่อนหน้านี้การข้ามแม่น้ำของประชาชนในต่างอำเภอจะต้องเดินทางด้วยรถโดยสารไปยังท่าเรือท่าข้าม เพื่อนั่งเรือข้ามฝากไปยังท่าเรือฝั่งตัวเมือง หากจะรับส่งสินค้าหรือของขนาดใหญ่จะต้องใช้เรือที่ผูกโยงกันติดเครื่องยนต์ หรือที่เรียกกันว่าเรือโยง[2]

ในปี พ.ศ. 2498 นายจวน กุลละวณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทราในขณะนั้นจึงได้เสนอของบประมาณในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ขนาด 2 ช่องจราจร เพื่อเชื่อมต่อถนนศุขประยูรในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกับถนนมหาจักรพรรดิ์ในฝั่งตะวันตก[a] โดยจากเอกสารของทางราชการซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2499 สะพานฉะเชิงเทราได้รับการตั้งชื่อจาก จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ซึ่งระบุความยาวของสะพานขณะนั้นว่ามีความยาว 340.00 เมตร[3] และปรากฎอีกครั้งในประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2524[4] ซึ่งเป็นตำแหน่งของอธิบดีกรมทางหลวงในขณะนั้น ในการจำกัดน้ำหนักรถที่วิ่งบนสะพานฉะเชิงเทราไม่เกิน 12 ตันเนื่องจากสะพานชำรุด และเพิ่มเติมห้ามรถตั้งแต่หกล้อขึ้นไปวิ่งขึ้นบนสะพานในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2525[5]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนพื้นที่บริเวณสะพานฉะเชิงเทราเพิ่มเติม เพื่อขยายความกว้างของเส้นทาง โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2537[6] และมีประกาศเร่งรัดการเวนคืนให้มีความจำเป็นเร่งด่วนอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2538[7]

สะพานฉะเชิงเทรา เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 5 ธันวาคม 2542[แก้]

หลังจากสะพานเดิมใช้งานมาเป็นระยะเวลายาวนาน และขนาดความกว้างของช่องจราจรที่มีเพียง 2 ช่อง รวมถึงตัวสะพานนั้นผ่านการซ่อมแซมมาหลายครั้งจนไม่สามารถที่จะใช้งานได้อย่างปลอดภัย ประกอบกับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการในการใช้เส้นทาง ในปี พ.ศ. 2538 กรมทางหลวงจึงได้ดำเนินการรื้อถอนสะพานเดิม และสร้างสะพานขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2539 โดยผ่านความเห็นชอบจาก นายฐิระวัตร กุลละวณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราในขณะนั้น เพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคตและความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทางในการใช้งานสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง และสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2542[a]

ตัวสะพานฉะเชิงเทรามีโครงสร้างเป็นสะพานคอนกรีตอัดแรง ขนาด 4 ช่องจราจร มีความยาว 647.00 เมตร ซึ่งในปีที่สะพานสร้างแล้วเสร็จนั้นตรงกับพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 จึงได้ใช้ชื่อสะพานที่สร้างใหม่ว่า "สะพานฉะเชิงเทรา เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 5 ธันวาคม 2542" และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 โดยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น[a]

การจราจร[แก้]

สะพานฉะเชิงเทรา เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 มีขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ที่ถูกเรียกในชื่อท้องถิ่นในฝั่งตะวันออกของสะพานว่าถนนศุขประยูร ขนาด 6 ช่องจราจร และฝั่งตะวันตกของสะพานคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ที่ถูกเรียกชื่อท้องถิ่นว่าถนนมหาจักรพรรดิ์ ขนาด 6 ช่องจราจร

การจัดการจราจร[แก้]

สะพานฉะเชิงเทราช่วงทางลาดลงไปสู่แยกมหาจักรพรรดิ์ ขนานไปกับสะพานอีกส่วนซึ่งข้ามไปบรรจบถนนมหาจักรพรรดิ์

สะพานฉะเชิงเทรา มีการจัดช่องจราจรเป็น 2 ช่วง ประกอบไปด้วย

  • ช่วงข้ามแม่น้ำบางปะกง เริ่มต้นจากถนนศุขประยูรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ในทิศตะวันตกของแม่น้ำ จำนวน 4 ช่องจราจร ทิศทางละ 2 ช่องจราจร ข้ามแม่น้ำบางปะกงไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำบางปะกงและพาดข้ามถนนมรุพงษ์ช่วงเลียบแม่น้ำบางปะกง ซึ่งอนุญาตให้รถความสูงไม่เกิน 3.20 เมตรผ่านเท่านั้น เนื่องจากเป็นช่วงต่อเนื่องกับทางลาดซึ่งมีความสูงเพียง 3.50 เมตร[8]
  • ช่วงแยกมหาจักรพรรดิ์ หลังจากข้ามแม่น้ำบางปะกงและถนนมรุพงษ์ช่วงเลียบแม่น้ำมาแล้ว สะพานจะแบ่งช่องจราจรด้านริมนอกทั้ง 2 ทิศทาง เป็นทางลาดลงมาสู่แยกมหาจักรพรรดิ์ เพื่อเชื่อมต่อกับถนนมรุพงษ์ซึ่งมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ และถนนชุมพลซึ่งมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอีก 2 ช่องจราจรจะทอดข้ามแยกมหาจักรพรรดิ์ และลาดลงบนถนนมหาจักรพรรดิ์ในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 เช่นกัน

จำกัดยานพาหนะ[แก้]

สะพานฉะเชิงเทรานั้น ได้มีการประกาศจากกรมทางหลวงเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 จำกัดไม่ให้รถมากกว่า 6 ล้อขึ้นไป ยกเว้นรถโดยสารประจำทาง ขึ้นใช้งานสะพานฉะเชิงเทรา เพื่อรักษาสภาพโครงสร้างของสะพานและพื้นผิวจราจรให้มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน[5] นอกจากนี้ยังมีการประกาศจากสถานีตำรวจภูธรเมืองฉะเชิงเทราและเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเดินรถเข้าไปในเขตเทศบาลในชั่วโมงเร่งด่วน ในช่วงเวลา 07.00 - 09.00 น. และเวลา 15.00 - 17.00 น. ซึ่งสะพานฉะเชิงเทราก็อยู่ในเขตของเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราเช่นกัน แต่ยังคงมีการฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยกวดขัน ทำให้สร้างความเสียหายให้กับตัวสะพาน พื้นผิวถนนเนื่องจากน้ำหนักที่มากเกินว่าที่กำหนดตามกฎหมายจนเกิดการสั่นสะเทือน รวมถึงก่อให้เกิดอุบัติเหตุให้กับผู้ใช้เส้นทางสัญจรในการข้ามสะพาน[9]

โทรมาตร[แก้]

สะพานฉะเชิงเทรามีการติดตั้งระบบโทรมาตร โดยกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำของลุ่มน้ำบางปะกง ซึ่งร่วมมือกับเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราในการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัด[10]

สถานที่สำคัญใกล้เคียง[แก้]

ระเบียงภาพ[แก้]

สะพานฉะเชิงเทรามักถูกประดับประดาด้วยไฟเพื่อความสวยงามในเทศกาลต่าง ๆ อาทิ วันขึ้นปีใหม่

หมายเหตุ[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 ข้อมูลจากป้ายหินอ่อนแสดงประวัติสะพานฉะเชิงเทราบริเวณหัวสะพานฝั่งตะวันออก

อ้างอิง[แก้]

  1. "แผนพัฒนาท้องถิ่นสี่ปี 2561-2564". www.tbmccs.go.th.
  2. อิงตะวัน แพลูกอินทร์. (2560). ฉะเชิงเทรา: เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจแห่งลุ่มน้ำบางปะกง (พ.ศ. 2398-2554) เก็บถาวร 2023-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ดุษฎีนิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฎิต). ชลบุรี: มหาวิทยาลัยบูรพา.
  3. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งชื่อสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง (สะพานฉะเชิงเทรา). เล่ม 73 ตอนที่ 34 ง, วันที่ 24 เมษายน 2499, หน้า 1302
  4. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนัก รวมทั้งน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่ได้กำหนดบนสะพานฉะเชิงเทรา ข้ามแม่น้ำบางปะกง ในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๔ สายปากเกร็ด - หลักสี่ - มีนบุรี - ฉะเชิงเทรา - พนมสารคาม - กบินทร์บุรี - นครราชสีมา ตอนฉะเชิงเทรา - พนมสารคาม ในท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา. เล่ม 98 ตอนที่ 64 ง, วันที่ 29 เมษายน 2524, หน้า 7-8
  5. 5.0 5.1 ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะรถบรรทุกตั้งแต่หกล้อขึ้นไปบนสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง (ในเขตเทศบาลฉะเชิงเทรา) ที่ กม. 79 + 182.00 ในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 สายปากเกร็ด - หลักสี่ - มีนบุรี - ฉะเชิงเทรา - พนมสารคาม - กบินทร์บุรี - นครราชสีมา  ตอนมีนบุรี - ฉะเชิงเทรา ในท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา. เล่ม 99 ตอนที่ 101 ง, วันที่ 22 กรกฎาคม 2525, หน้า 18-19
  6. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 สายปากเกร็ด - นครราชสีมา ที่สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง พ.ศ. 2537. เล่ม 111 ตอนที่ 36 ก, วันที่ 24 สิงหาคม 2537, หน้า 12-14
  7. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อขยายทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 304 สายปากเกร็ด - นครราชสีมา ที่สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน. เล่ม 112 ตอนพิเศษ 9 ง, วันที่ 22 มีนาคม 2538, หน้า 21-22
  8. "ทัวร์นำเที่ยวชนติดใต้สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง โชคดีไร้เจ็บ". mgronline.com. 2016-06-20.
  9. "ชาวบ้าน สุดทน รถพ่วง รถสิบล้อ ลักลอบข้ามสะพานแม่น้ำบางปะกง โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย - TOPNEWS" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-12-14.
  10. "ระบบส่งสัญญาณด้วยภาพ CCTV กองวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ". mekhala.dwr.go.th.
สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
สะพานทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก
สะพานฉะเชิงเทรา
ท้ายน้ำ
สะพานทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 365