วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
โบสถ์หลัก และวิหารด้านหลัง.JPG
Map
ชื่อสามัญวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์, วัดเมือง
ที่ตั้งถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ หรือวัดเมือง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงฝั่งตะวันตก เลขที่ 156 ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประวัติ[แก้]

วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยโปรดให้ เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยามหาโยธา หาที่จะสร้างเมืองฉะเชิงเทราใหม่ และโปรดให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 33 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เป็นแม่กองทำการสร้างกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา และพระองค์ได้สร้างวัดหนึ่งด้วย ดังในพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงไว้ว่า

"...แล้วโปรดให้กรมหลวงรักษรณเรศออกไปสร้างป้อมกำแพงที่เมืองฉเชิงเทราอีกตำบล 1 โปรดให้สร้างวัดไว้ในกลางเมือง ซึ่งพระราชทานนามในบัดนี้ว่า วัดปิตุลาธิราชรังสฤษดิ..."[1]

เดิมทีวัดเมืองตั้งอยู่ตรงอยู่ที่กลางเมืองฉะเชิงเทรา แต่ เมื่อเกิดกบฏอั้งยี่ขึ้นในปี พ.ศ. 2391 ทำให้วัดเมืองถูกเผาทำลาย ภายหลังการกบฏแล้ว ราวปี พ.ศ. 2427 พระยาวิเศษฤๅไชย(ช้าง) ได้ทำการย้ายวัดออกมาสร้างใหม่ในสถานที่ตั้งปัจจุบัน (จึงเป็นหลักฐานที่สำคัญว่าแท่นประหารอั้งยี่ที่วัดนี้ไม่ใช่เรื่องจริง) ปรากฏหลักฐานในบันทึกของ เซอร์ เออร์เนสต์ เมสัน ซาโตว (Sir Ernest Mason Satow) อัครราชทูตอังกฤษ ประจำกรุงสยาม เมื่อคราวตรวจพื้นที่ เมืองต่างๆในแม่น้ำบางปะกง ว่า

"...เจ้าเมืองปล่อยเรื่องหยุมหยิมในการบริหารปกครองอยู่ในอำนาจของน้องชาย ผู้ซึ่งเป็นปลัดและอายุได้ 75 ปีแล้ว ท่านสนใจแต่เพียงการเตรียมตนสำหรับโลกหน้าโดยการสร้างวัดแห่งหนึ่ง..."[2]

เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว ในระยะแรกยังเรียกชื่อวัดว่า วัดท้ายเมือง เนื่องจากสร้างในพื้นที่ท้ายเมืองฉะเชิงเทรา และได้รับพระราชทานนามวัดใหม่ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฏ์” อันเป็นการเฉลิมพระเกียรติให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวาระฉลองพระชนมายุครบรอบ 100 พรรษา ในปี พ.ศ. 2430 และวัดนี้ได้ใช้เป็นที่พระราชทานเพลิงศพพระยาวิเศษฤๅไชย(ช้าง) เจ้าเมืองฉะเชิงเทราในปีเดียวกันนั้นเอง ในเวลานั้นวัดน่าจะมีแค่ พระอุโบสถเพียงอย่างเดียว ส่วนพระวิหารน่าจะสร้างขึ้นในสมัยหลัง ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าการที่ต้องสร้างพระวิหารขึ้นมานั้นอาจจะใช้เป็นที่จัดพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแทนการใช้ที่อุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร[3]

พุทธาวาสของวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ มีพระอุโบสถและพระวิหารล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ประกอบด้วยพระปรางค์หลายองค์ที่บริเวณมุมของกำแพงแก้วปัจจุบันได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์จนอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ มีชื่ออยู่ในทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมีสภาพเป็นวัดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ว่า ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2385 และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2395 ซึ่งมีเจ้าคณะปกครองฝ่ายสงฆ์ได้ปกครองดูแลตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2551 เนื่องใน โอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 วันที่ 5 ธันวาคม 2550 นับแต่ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระอารามหลวง

ทำเนียบเจ้าอาวาส[แก้]

วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เดิมเป็นวัดราษฎร์ ตั้งแต่สร้างวัดมาตามหลักฐาน ที่ปรากฏ มีพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสที่พอสืบค้นได้ ดังนี้

  • พระอธิการแก้ว
  • พระครูธรรมภาณีวรคุณ (ช่วย แย้มจินดา) พ.ศ. 2454 - 2485
  • พระครูอุดมสมณคุณ (เติม ทองเสริม) พ.ศ. 2485 - 2514
  • พระครูจินดาภิรมย์ (ชด แย้มจินดา) พ.ศ. 2514 - 2524
  • พระครูไพโรจน์ธรรมาภิวัฒน์ (สง่า ธมฺมโสภโณ) พ.ศ. 2524 - 2545
  • พระสมุห์พงษ์พันธ์ วีรธมฺโม (ปัจจุบัน พระครูวีรศรัทธาธรรม เจ้าอาวาสวัดสุนีย์ศรัทธาธรรม)รักษาการเจ้าอาวาส วันที่ 15 มิถุนายน 2545 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546
  • พระเทพปัญญาเมธี (ประยนต์ อจฺจาทโร ป.ธ.9) พ.ศ. 2547 (20 กุมภาพันธ์ 2547 ) ถึง พ.ศ. 2552
  • พระธรรมปริยัติมุนี (ประยนต์ อจฺจาทโร ป.ธ. 9) พ.ศ. 2552 (4 มีนาคม 2552) - ปัจจุบัน (พ.ศ. 2561)

ด้านการศาสนศึกษา[แก้]

มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา อยู่ในความผิดชอบของ กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการจัดการศึกษาทางวิชาการพระพุทธศาสนา แผนกนักธรรม-ภาษาบาลี และหลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในระดับมัธยมศึกษา (ม.1-ม.6)

การศึกษา แผนกธรรม นักธรรม (ตรี-โท-เอก), ธรรมศึกษา (ตรี-โท-เอก)

การศึกษาแผนกบาลี เปรียญธรรม  1-2 ถึง 9

การศึกษาแผนกสามัญ  ในระดับมัธยมศึกษา (ม.1-ม.6)

อ้างอิง[แก้]

  1. https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3_%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_%E0%B9%93%E0%B9%93
  2. หนังสือ 100 เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย เล่มที่ 15 เอกสารลำดับที่ 67 หน้า174-175 เอกสารบันทึกประจำวันฯ เพชรรุ่ง เทียนปิ๋วโรจน์
  3. ข้อนำเสนอใหม่หลักฐานว่าด้วยที่ตั้งเดิมของวัดเมือง