สมเด็จพระอริยวงษญาณ (สุก ญาณสังวร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระอริยวงษญาณ
(สุก ญาณสังวร)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชไทย พระองค์ที่ 4
ดำรงพระยศพ.ศ. 2363 — 2365
สถาปนา7 ธันวาคม พ.ศ. 2363
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ก่อนหน้าสมเด็จพระสังฆราช (มี)
ถัดไปสมเด็จพระอริยวงษญาณ (ด่อน)
พรรษา69
สถิตวัดราชสิทธารามราชวรวิหาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
ศาสนาพุทธ
นิกายมหานิกาย
ประสูติ5 มกราคม พ.ศ. 2276
กรุงศรีอยุธยา
สุก
สิ้นพระชนม์4 ตุลาคม พ.ศ. 2365 (89 ปี)
กรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระอริยวงษญาณ พระนามเดิม สุก เป็นสมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ได้รับการสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 2363 อยู่ในตำแหน่ง 3 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2365 สิริพระชันษาได้ 89 ปี 272 วัน

พระประวัติ[แก้]

พระองค์ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู จ.ศ. 1095 ตรงกับวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2276[1] ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งอาณาจักรอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรี ได้เป็นพระอธิการอยู่วัดท่าหอย แขวงรอบกรุงเก่า มีพระเกียรติคุณในทางวิปัสสนาธุระ[2]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดให้นิมนต์พระองค์มาอยู่ที่วัดพลับ[2] (วัดราชสิทธารามราชวรวิหาร) และให้เป็นพระราชาคณะที่พระญาณสังวรเถร พระองค์เป็นพระอาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ตั้งแต่ยังอยู่ที่วัดท่าหอย การที่โปรดให้นิมนต์มาอยู่ที่วัดพลับ ก็เนื่องจากเป็นวัดสำคัญฝ่ายอรัญวาสีของกรุงธนบุรี ซึ่งต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดราชสิทธาราม

ปี พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร[3] นับว่าเป็นตำแหน่งพิเศษในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่พระราชทานแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระโดยเฉพาะ เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ เดิมทรงพระราชดำริจะตั้งสมเด็จพระพนรัตน (อาจ) วัดสระเกศ เปนสมเด็จพระสังฆราช แต่ภายหลังสมเด็จพระพนรัตนต้องอธิกรณ์จนถูกถอดจากสมณศักดิ์ แล้วทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระญาณสังวรเปนสมเด็จพระราชาคณะผู้ใหญ่ และเปนพระอาจารย์ที่เคารพในพระราชวงศ์ ในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2363 จึงโปรดให้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ เมื่อถึงวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม ศกนั้น จึงทรงตั้งเปนสมเด็จพระสังฆราช[2]

เมื่อครั้งเกิดอหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2363 มีผู้คนเสียชีวิตมากมาย ประมาณถึง สามหมื่นคนเศษ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงให้ตั้งพระราชพิธีอาพาธพินาศ โดยพระองค์ทรงศีลและให้ตั้งโรงทาน ส่วนสมเด็จพระสังฆราชทรงให้สังคายนาบทสวดมนต์ในพระราชพิธีดังกล่าว

ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกพระองค์ว่า "พระสังฆราชไก่เถื่อน" เพราะร่ำลือกันว่า ทรงช่ำชองวิปัสสนาธุระถึงขนาดทำให้ไก่ป่าเชื่องด้วยอำนาจพรหมวิหารได้[4]

พระองค์เป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ 1 ปี 10 เดือน จึงสิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ แรม 4 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเมีย[5] ตรงกับวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2365

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพ เมื่อตั้งที่พระเมรุท้องสนามหลวง พระโกศองค์นี้ นอกจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระเกียรติยศสูงบางพระองค์ มีปรากฏว่าได้ทรงแต่พระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้พระองค์เดียว นับเป็นการถวายพระเกียรติอย่างสูงด้วยเหตุที่ทรงเป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่งนั้นเอง[6]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. พระมหาสมคิด สุรเตโช. ประวัติวัดราชสิทธาราม ราชวรวิหาร. กรุงเทพฯ : ธรรมเมธี-สหายพัฒนาการพิมพ์, 2548. 142 หน้า. หน้า 2.
  2. 2.0 2.1 2.2 พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ : ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
  3. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ : ตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
  4. กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2489). ความทรงจำ. ม.ป.ท. หน้า 43.
  5. พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒ : ๗๖. เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
  6. 89 (2019-12-08). "สมเด็จพระอริยวงษญาณสมเด็จพระสังฆราช (สุก) : อริยะโลกที่ 6". ข่าวสด.{{cite web}}: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์)
บรรณานุกรม
ก่อนหน้า สมเด็จพระอริยวงษญาณ (สุก ญาณสังวร) ถัดไป
สมเด็จพระสังฆราช (มี)
สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
(พ.ศ. 2363 — 2365)
สมเด็จพระอริยวงษญาณ (ด่อน)