ข้ามไปเนื้อหา

สมาพันธรัฐไอร์แลนด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมาพันธรัฐคาทอลิกไอร์แลนด์

Cónaidhm Chaitliceach na hÉireann
ค.ศ. 1642–ค.ศ. 1652
คำขวัญHiberni unanimes pro Deo Rege et Patria    (ละติน)
Éireannaigh aontaithe le Dia, rí agus tír'    (ไอริช)
ชาวไอริชจงสามัคคีกันเพื่อพระผู้เป็นเจ้า องค์กษัตริย์ และบ้านเมือง
เมืองหลวงคิลล์เคนนี
ภาษาทั่วไปไอริช อังกฤษ
ศาสนา
โรมันคาทอลิก
การปกครองสมาพันธรัฐภายใต้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
พระมหากษัตริย์ 
• ค.ศ. 1641–1649
พระเจ้าชาลส์ที่ 1
• ค.ศ. 1649–1653
พระเจ้าชาลส์ที่ 2
สภานิติบัญญัติสมัชชาใหญ่
ยุคประวัติศาสตร์สงครามสมาพันธรัฐไอริช
23 ตุลาคม ค.ศ. 1641 – พฤษภาคม ค.ศ. 1642
• ก่อตั้ง
ค.ศ. 1642
ค.ศ. 1652
ก่อนหน้า
ถัดไป
ราชอาณาจักรไอร์แลนด์
เครือจักรภพแห่งอังกฤษ

 

ธงของฝ่ายสมาพันธรัฐซึ่งจำลองขึ้นใหม่ ณ คฤหาสน์รอท คิลล์เคนนี แสดงถึงการการสวมมงกุฎพระนางมารีย์เป็นราชินีแห่งสวรรค์โดยพระตรีเอกภาพ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนิกายคาทอลิกอย่างชัดเจน

สมาพันธรัฐไอร์แลนด์ (ละติน: Hiberni Unanimes อังกฤษ: Confederate Ireland หรือ Union of the Irish) เป็นช่วงเวลาที่ชาวไอริชซึ่งนับถือนิกายคาทอลิก ได้ปกครองตนเองระหว่าง ค.ศ. 1642 ถึง ค.ศ. 1649 ระหว่างสงครามสิบเอ็ดปี ในช่วงนี้ สองในสามของไอร์แลนด์ถูกปกครองโดย สมาพันธรัฐคาทอลิกไอร์แลนด์ (อังกฤษ: Irish Catholic Confederation ไอริช: Cónaidhm Chaitliceach na hÉireann) หรือรู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า สมาพันธรัฐคิลล์เคนนี (อังกฤษ: Confederation of Kilkenny) เพราะสมาพันธรัฐมีเมืองหลวงอยู่ที่คิลล์เคนนี สมาพันธรัฐถูกก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มขุนนาง เจ้าที่ดิน นักบวช และผู้นำทางทหารชาวไอริชที่นับถือนิกายคาทอลิก ภายหลังกบฎไอร์แลนด์ ค.ศ. 1641 ซึ่งมีทั้งผู้ที่เป็นชาวเกลล์และชาวแองโกล–นอร์มัน กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการยุติความเกลียดชังนิกายคาทอลิกในราชอาณาจักรไอร์แลนด์ สิทธิ์การปกครองตนเองที่มากขึ้น และบางส่วนต้องการย้อนกลับผลลัพธ์ของการตั้งนิคมของชาวอังกฤษและสกอตในไอร์แลนด์ สมาชิกสมาพันธ์ส่วนใหญ่สวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ด้วยเชื่อว่าพวกตนจะบรรลุข้อตกลงกับทางราชสำนักได้โดยการช่วยปราบปรามปรปักษ์ของพระองค์ในสงครามสามอาณาจักร[1] สถาบันการปกครองของสมาพันธรัฐประกอบไปด้วยฝ่ายนิติบัญญัติ คือ "สมัชชาใหญ่" (General Assembly) ฝ่ายบริหาร คือ "อภิสภา" (Supreme Council) และฝ่ายทหารหรือกองทัพ สมาพันธ์สามารถผลิตเหรียญกษาปณ์ จัดเก็บภาษี และมีโรงพิมพ์เป็นของตนเอง[1] เอกอัครราชทูตของสมาพันธรัฐได้รับการรับรองจากฝรั่งเศส สเปนและรัฐสันตะปาปา[1] ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายสมาพันธรัฐด้านการเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์

กองทัพของสมาพันธ์ต่อสู้กับทั้งฝ่ายนิยมกษัตริย์ ฝ่ายรัฐสภา ทหารอาสาชาวอัลสเตอร์โปรแตสเตนท์ และกองทัพของกลุ่มพันธสัญญาสกอต ซึ่งถูกส่งมายังอัลสเตอร์ กองกำลังเหล่านี้ยึดครองบริเวณเดอะเพล บางส่วนทางตะวันออกและทางเหนือของอัลสเตอร์ และอาณาเขตโดยรอบคอร์ก พระเจ้าชาลส์มีพระบรมราชานุญาตให้เปิดการเจรจาลับกับฝ่ายสมาพันธรัฐ ส่งผลให้เกิดการสงบศึกระหว่างสมาพันธรัฐกับฝ่ายนิยมกษัตริย์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1643 และการเจรจาเพิ่มเติม ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ ใน ค.ศ. 1644 กองกำลังทหารของสมาพันธรัฐได้ขึ้นฝั่งที่สกอตแลนด์เพื่อช่วยสนับสนุนฝ่ายนิยมกษัตริย์ ขณะเดียวกันสมาพันธรัฐก็ยังรบกับฝ่ายรัฐสภาในไอร์แลนด์อย่างต่อเนื่อง และยังสามารถเอาชนะกลุ่มพันธสัญญาสกอตได้อย่างเด็ดขาดที่ยุทธการที่เบนเบอ เมื่อมาถึง ค.ศ. 1647 สมาพันธรัฐก็เริ่มเพลี่ยงพล้ำให้แก่ฝ่ายรัฐสภา เช่นการรบที่ดุนแกนฮิลล์ คาเซล และคน็อกนาส ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สมาพันธรัฐยอมร่วมมือกับฝ่ายนิยมกษัตริย์ ความร่วมมือดังกล่าวก่อให้เกิดความแตกแยกภายในสมาพันธรัฐ และทำให้การป้องกันการรุกรานจากฝ่ายรัฐสภาล่าช้าลงเช่นกัน ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1649 กองทัพตัวแบบใหม่ซึ่งนำโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ได้เข้ารุกรานไอร์แลนด์ เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1652 ครอมเวลล์ก็สามารถตีกองทัพผสมของฝ่ายนิยมกษัตริย์–สมาพันธรัฐแตกพ่ายไป แม้ทหารของสมาพันธรัฐจะทำรบต่อไปในรูปแบบการสงครามกองโจรเป็นเวลาอีกหลายปีก็ตาม

การก่อตั้ง

[แก้]

สมาพันธรัฐคาทอลิกไอร์แลนด์ก่อตั้งขึ้นภายหลังกบฎไอร์แลนด์ ค.ศ. 1641 เพื่อควบคุมการลุกฮือของมวลชน และเป็นศูนย์รวมตัวของชาวไอริชที่นับถือนิกายคาทอลิกเพื่อขับไล่กองทัพอังกฤษและสกอตแลนด์ที่ยังคงเหลืออยู่ในไอร์แลนด์ ชาวคาทอลิกไอริชหวังว่าการทำเช่นนี้จะสามารถช่วยต้านการรุกรานระลอกใหม่จากกองทัพอังกฤษหรือสกอตแลนด์ได้

ความคิดริเริ่มในการก่อตั้งสมาพันธรัฐมาจากบิชอปนิโคลัส เฟรนช์ และทนายความนามนิโคลัส พลังเก็ต ทั้งสองนำแนวคิดดังกล่าวไปเสนอให้แก่เหล่าขุนนางคาทอลิกไอริช เช่น ไวเคานต์กอร์แมนสตัน ไวเคานต์เมาท์การ์เร็ต ไวเคานต์มัสเคอร์รี และบารอนแห่งนาวาน โดยขุนนางเหล่านี้จะต้องส่งมอบไพร่พลของตนให้แก่รัฐบาลสหพันธ์ และทำหน้าที่โน้มน้าวกบฏกลุ่มอื่น ๆ ให้เข้าร่วมด้วย จุดประสงค์ของสมาพันธรัฐค่อนข้างคล้ายคลึงกับคำประกาศดุนแกนนอน ซึ่งออกในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1641 ของเซอร์เฟลิม โอนีลล์ ผู้นำการกบฎในช่วงแรกที่อัลสเตอร์

ในวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1642 ขุนนางเหล่านั้นได้ร่วมกันลงนามใน "ข้อประท้วงคาทอลิก" (Catholic Remonstrance) ที่ทริม ซึ่งถูกส่งไปให้พระเจ้าชาลส์ทอดพระเนตร ต่อมาในวันที่ 22 ของเดือนเดียวกัน สมาชิกส่วนใหญ่ของสภาสงฆ์ซึ่งจัดขึ้นใกล้กับเมืองเคลล์ อันมีฮิวจ์ โอเรลลี อาร์ชบิชอปแห่งอาร์มาเป็นประธาน ได้ลงมติว่าการกบฎเป็นสงครามอันชอบธรรม[2]

อาสนวิหารเซนต์แคนิซ ซึ่งสมาชิกสมัชชาใช้ประกอบพิธีมิสซา[3]

วันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1642 บรรดานักบวชคาทอลิกได้จัดสภาสงฆ์ ขึ้นอีกครั้งที่คิลล์เคนนี โดยมีเหล่าอาร์ชบิชอปแห่งอาร์มา คาเซลและทูม บิชอปสิบเอ็ดองค์หรือผู้แทน และผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ๆ เข้าร่วม[4] พวกเขาร่วมกันร่างคำปฏิญาณความร่วมมือสมาพันธรัฐ และเรียกร้องให้ชาวคาทอลิกในไอร์แลนด์เข้าสาบานตนกับคำปฏิญาณดังกล่าว ผู้เข้าปฏิญาณตนจะต้องถวายสัตย์แก่พระเจ้าชาลส์ที่ 1 และสาบานว่าจะเชื่อฟังคำสั่งและโองการซึ่งร่างโดย "อภิสภาสมาพันธรัฐคาทอลิก" (Supreme Council of the Confederate Catholics) กองกำลังกบฎจึงกลายมาเป็นที่รู้จักในนาม "พวกสมาพันธรัฐ" (Confederates) การประชุมดังกล่าวยังคงยืนยันว่าการกบฎเป็น "สงครามอันชอบธรรม"[5] นอกจากนี้ยังมีการร่างโครงสร้างสำหรับสภาท้องถิ่น (ซึ่งมีนักบวชและขุนนางเป็นสมาชิก) ของแต่ละมณฑล ซึ่งจะอยู่ภายใต้สภาแห่งชาติที่ถืออำนาจบริหารทั้งเกาะไอร์แลนด์อีกต่อหนึ่ง ที่ประชุมยังให้คำมั่นว่าจะลงโทษเหล่าทหารที่เคยก่ออาชญากรรมสงคราม และจะทำการบัพพาชนียกรรมชาวคาทอลิกที่เป็นศัตรูกับสมาพันธรัฐ สภาสงฆ์ยังได้ทำการส่งผู้แทนไปยังฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี เพื่อหาผู้สนับสนุน เงินทุน อาวุธยุทโธปกรณ์ และเพื่อชักชวนชาวไอริชที่รับราชการในต่างประเทศให้เข้าร่วม[6] ไวเคานต์เมาท์การ์เร็ตได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานอภิสภา และมีการกำหนดวันประชุมสมัชชาสมาพันธรัฐเป็นเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน[7]

การประชุมสมัชชาสมาพันธรัฐครั้งแรก

[แก้]

การประชุมสมัชชาสมาพันธรัฐครั้งแรกถูกจัดขึ้นที่คิลล์เคนนีในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1642 โดยเป็นการตั้งรัฐบาลชั่วคราว[8] ตัวสมัชชาเองนั้นนับได้ว่าเป็นรัฐสภาโดยพฤตินัย ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งแรกแบ่งออกเป็นขุนนางฝ่ายอาณาจักร 14 คน และ ขุนนางฝ่ายศาสนจักร จำนวน 11 คน ซึ่งเป็นสมาชิกของรัฐสภาไอร์แลนด์ รวมถึงสมาชิกสภาสามัญชนอีก 226 คนด้วยเช่นกัน[9] ธรรมนูญของสมาพันธรัฐถูกร่างขึ้นโดยแพททริก ดิอาร์ซี นักกฎหมายชาวกอลเวย์ สมาชิกสมัชชายังมีมติเห็นชอบให้แต่ละเทศมณฑลมีสภาท้องถิ่นเป็นของตัวเอง ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของสภามณฑลอันประกอบด้วยผู้แทนจากแต่ละเทศมณฑลอย่างละสองคน โดยสมัชชาได้สรุปว่า "ให้ใช้ระบอบดังกล่าวเป็นแบบอย่างของการปกครอง" ("To be observed as the model of their government")[10][11]

ที่ประชุมสมัชชาได้ทำการเลือกสมาชิกฝ่ายบริหารชื่อว่า "อภิสภา" ใน หรือประมาณวันที่ 14 พฤศจิกายน อภิสภาชุดแรกมีสมาชิกทั้งสิ้น 24 คน โดยในจำนวนนี้ จะต้องมี 12 คนคอยประจำอยู่ที่คิลล์เคนนี หรือเมืองอื่น ๆ ตามแต่เห็นสมควร[12]

สมาชิกอภิสภาชุดแรก มีรายชื่อดังต่อไปนี้:[13]

ไลนสเตอร์ อัลสเตอร์ คอนนักค์ มุนสเตอร์
ทอมัส เฟลมมิง อาร์ชบิชอปแห่งดับลิน ฮิวจ์ โอเรลลี อาร์ชบิชอปแห่งอาร์มา มาลาเซียส โอควีลีย์ อาร์ชบิชอปแห่งทูม มัวริซ เดอ รอยซ์ ไวเคานต์รอยซ์แห่งเฟอร์มอย
ไวเคานต์กอร์แมนสตัน เฮอร์เบอ แมกมาฮอน บิชอปแห่งดาวน์ ไมล์ บรูก ไวเคานต์ที่ 2 แห่งเมโย ดาเนียล โอไบรอัน ไวเคานต์ที่ 1 แห่งแคลร์
ไวเคานต์เมาท์การ์เร็ต ฟิลิป โอไรลีย์ จอหน์ เดอ เบิร์ก บิชอปแห่งคล็อนเฟิร์ต เอ็ดมันด์ ฟิตซ์มัวริซ
นิโคลัส พลังเก็ต นายพันไบรอัน แมกมาฮอน เซอร์ลูคัส ดิเลียน นายแพทย์ฟันเนล
ริชาร์ด เบลล์ลิง เฮอร์เบอ มาเจนนิส เจฟฟรีย์ บราวน์ โรเบิร์ต แลมเบิร์ต
เจมส์ คูแซค ตูลงก์ โอนีลล์ แพททริก ดิอาร์ซี จอร์จ คอมยิน

เจมส์ ทูแซต เอิรล์ที่ 3 แห่งคาสเซิลฮาเวน (James Tuchet, 3rd Earl of Castlehaven) ทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระองค์และเป็นสมาชิกลำดับสุดท้ายของอภิสภา

อภิสภามีอำนาจเหนือบรรดาแม่ทัพ นายทหารและข้าราชการพลเรือน[14] สิ่งแรกที่สมาชิกอภิสภาทำคือการแต่งตั้งผู้บังคับบัญชาทหารของสมาพันธรัฐ: โอเวน โร โอนีลล์ (Owen Roe O'Neill) คุมกองทัพอัลสเตอร์ ทอมัส เพรสตัน (Thomas Preston) คุมกองทัพไลนสเตอร์ การ์เร็ต แบร์รี (Garret Barry) คุมกองทัพมุนสเตอร์ และจอหน์ เบิร์ก (John Burke) คุมกองทัพคอนนักค์ อูลริค เบิร์ก มาร์ควิสที่ 1 แห่งแคลนริคาร์เด (Ulick Burke, 1st Marquess of Clanricarde) ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เนื่องจากที่ประชุมเชื่อว่าเขาอาจจะเข้าร่วมกับทางสมาพันธ์ในภายหลัง[15] อภิสภายังได้ออกคำสั่งให้รวบรวมเงินจำนวน 30,000 ปอนด์และเกณฑ์ไพร่พลจำนวน 31,700 นายในเขตมณฑลไลนสเตอร์ ซึ่งจะถูกส่งเข้ารับการฝึกโดยทันที[16]

นอกจากนี้อภิสภายังได้จัดทำตราเอกของตนขึ้นด้วย โดยมีนิยามทางมุทราศาสตร์ดังนี้: "ผิวตราเป็นทรงกลม ตรงกึ่งกลางตรามีไม้กางเขน ประดิษฐานบนพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ เหนือยอดไม้กางเขนประดับด้วยนกพิราบกางปีก ทางซ้ายและขวาของไม้กางเขนมีพิณฮาร์ปและมงกุฎวางเคียง" พร้อมคำขวัญบนผิวตราว่า เพื่อพระผู้เป็นเจ้า องค์กษัตริย์ และบ้านเมือง ไอร์แลนด์จงสามัคคีกัน (Pro Deo, Rege, et Patria, Hiberni Unanimes) [17]

กรมคลัง (National Treasury) โรงผลิตเหรียญกษาปณ์ และโรงพิมพ์สำหรับใช้ตีพิมพ์ประกาศจากทางสมาพันธรัฐ ได้รับการจัดตั้งขึ้นในคิลล์เคนนี เมืองหลวงของสมาพันธรัฐ[18][19] สมัชชาใหญ่ชุดแรกอยู่ในวาระประชุมจนถึงวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1643[20]

พระเจ้าชาลส์ที่ 1 กษัตริย์แห่งอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ ซึ่งฝ่ายสมาพันธรัฐถือเอาเป็นประมุขแห่งรัฐ แต่ไม่ได้เป็นพันธมิตรกับพระองค์ในสงครามกลางเมืองอังกฤษ

เป้าหมาย

[แก้]

อย่างไรก็ตาม สมาพันธรัฐคาทอลิกไอร์แลนด์ก็ไม่เคยประกาศตนเป็นรัฐบาลอิสระ เพราะว่า (ตามบริบทของสงครามสามอาณาจักร) พวกเขาถือว่าตนเองเป็นฝ่ายนิยมกษัตริย์ ผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าชาลส์ที่ 1 และสมัชชาใหญ่ของสมาพันธรัฐเองก็ไม่เคยถือว่าตนเองเป็นรัฐสภา แม้สมัชชาจะทำหน้าที่นี้โดยพฤตินัยก็ตาม เนื่องจากตามกฎหมายในเวลานั้นมีเพียงพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่สามารถเรียกประชุมสภาได้ ในการเจรจากับพวกแควาเลียร์ ฝ่ายสมาพันธรัฐได้เรียกร้องให้ข้อตกลงต่างๆ ที่ตกลงในการเจรจานี้ได้รับการเห็นชอบอีกครั้งในรัฐสภาไอร์แลนด์ ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ซึ่งจะมีสมาชิกสมัชชาสมาพันธรัฐและผู้นิยมกษัตริย์ที่นับถือนิกายโปรแตสเตนท์เป็นสมาชิกของสภาชุดใหม่นี้

เป้าหมายตั้งต้นของฝ่ายสมาพันธรัฐคือการบรรลุข้อตกลงกับพระเจ้าชาลส์ โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้: สิทธิและการยอมรับทางศาสนาสำหรับผู้นับถือนิกายคาทอลิก และสิทธิ์การปกครองตนเองสำหรับไอร์แลนด์ ทั้งนี้พระเจ้าชาลส์ทรงสัญญาว่าจะพระราชทานขันติธรรมทางศาสนาให้พวกเขา หลังจากการเรียกร้องในช่วงค.ศ. 1628–1634 แต่ก็ทรงผ่อนผันเรื่อยมาจนถึง ค.ศ. 1641

สมาชิกอภิสภาส่วนใหญ่มีเชื้อสายไฮเบอร์โน-นอร์มัน (Hiberno-Norman) ทำให้พวกเขาไม่ได้รับความไว้วางใจจากชาวเกลิกไอริช ผู้มองว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาประนีประนอมเกินไป สมาชิกสมาพันธรัฐหัวรุนแรงยังได้ผลักดันให้ยกเลิกการการตั้งถิ่นฐานของชาวโปรแตสแตนท์ และเรียกร้องให้ประกาศนิกายคาทอลิกเป็นศาสนาประจำรัฐของไอร์แลนด์ด้วย

ฝ่ายสมาพันธ์เชื่อว่าเป้าหมายของตนจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ต่อเมื่อพวกเขายอมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายนิยมกษัตริย์อังกฤษ และนั้นทำให้การสนับสนุนพระเจ้าชาลส์กลายเป็นหัวใจหลักของแผนการนี้ ทังนี้เป็นเพราะสมาชิกรัฐสภาอังกฤษและกลุ่มพันธสัญญาสกอต บางส่วนในช่วงก่อนสงครามได้แสดงท่าทีจะเข้ารุกรานไอร์แลนด์ ทำลายความเชื่อแบบคาทอลิกและชนชั้นเจ้าครองที่ดินชาวไอริช แต่ท่าทีดังกล่าวก็ไม่ได้รับการยึดถือเป็นแนวคิดอย่างจริงจัง ในทางตรงกันข้าม พระเจ้าชาลส์ได้ทรงสัญญาจะทรงยอมรับข้อเรียกร้องบางข้อ ปัญหาสำหรับพระเจ้าชาลส์คือพระองค์ได้ทราบข่าวอาชญกรรมสงครามในช่วงการกบฏเมื่อค.ศ. 1641 จึงทรงออกกฤษฏีกานักผจญภัย (Adventurers Act) ในปีต่อมา ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการริบดินแดนที่พวกกบฏถือครอง มีการถกเถึยงกันทั้งในกรุงลอนดอนและดับลินในเรื่องการปฏิเสธที่จะพระราชทานอภัยโทษให้แก่กบฎไอริช (การพระราชทานอภัยโทษเป็นวิธีที่นิยมใช้ยุติการกบฎในไอร์แลนด์มาตั้งแต่หลายศตวรรษก่อนหน้า) ดังนั้นกองกำลังของพระองค์จึงเป็นปรปักษ์กับฝ่ายสมาพันธรัฐไปจนถึง ค.ศ. 1643 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์เริ่มเสียเปรียบทางการทหาร เหล่าเจ้าที่ดินฝ่ายสมาพันธรัฐหลายรายต้องเสียที่ดินไปจากการบังคับใช้กฤษฏีกานักผจญภัย ทำให้พวกเขาตระหนักว่าการยอมร่วมมือกับพระเจ้าชาลส์เป็นหนทางเดียวในการได้ที่ดินเหล่านั้นคืนมา

ธงศึกของกองทัพสมาพันธรัฐซึ่งมีคำปลุกใจว่า พระเจ้าชาลส์ทรงพระเจริญ ('Vivat Rex Carolus')

กระนั้น แม้สมาชิกสมาพันธ์สายประนีประนอมจะรู้สึกยินดีที่สามารถเจรจากับราชสำนักเป็นผลสำเร็จ และไม่ได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองและศาสนาแบบสุดโต่ง แต่สมาชิกสมาพันธ์สายหัวรุนแรงต้องการให้พระเจ้าชาลส์ยอมจัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเองของชาวคาทอลิกไอริชเสียก่อน เมื่อเป้าหมายดังกล่าวไม่ประสบผล พวกเขาก็หันไปเรียกร้องให้สมาพันธรัฐเป็นพันธมิตรกับสเปนหรือฝรั่งเศสแทน

การพักรบกับฝ่ายนิยมกษัตริย์

[แก้]

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1643 สมาพันธรัฐได้เจรจาพักรบกับเจมส์ บัตเลอร์ เอิร์ลที่ 12 แห่งออร์มอนด์ (James Butler, 12th Earl of Ormond) ผู้บัญชาการทัพฝ่ายนิยมกษัตริย์ในไอร์แลนด์ ข้อตกลงได้รับการลงนามที่จิกกินส์ทาวน์ (Jigginstown) ใกล้กับเมืองนาซ (Naas) เป็นอันยุติความเป็นปรปักษ์ระหว่างสมาพันธรัฐและกองกำลังนิยมกษัตริย์ของออร์มอนด์ ซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เมืองดับลิน ทว่ากองทหารอังกฤษที่คอร์ก (ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเมอร์รอก โอไบรอัน เอิร์ลที่ 1 แห่งอินไชควิน (Murrough O'Brien, 1st Earl of Inchiquin) ชาวเกลิกส่วนน้อยที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ไม่เห็นด้วยกับการพักรบดังกล่าวและก่อกบฏ โดยเมอร์รอกได้เข้าสวามิภักดิ์กับรัฐสภายาวแทน ในด้านกลุ่มพันธสัญญาสกอตเองก็ได้นำทหารขึ้นฝั่งที่อัลสเตอร์ในค.ศ. 1642 โดยยังคงความเป็นปรปักษ์กับสมาพันธรัฐและพระเจ้าชาลส์อยู่ – เช่นเดียวกับกองทัพลาเกน (Laggan Army) ของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวสกอตในอัลสเตอร์

นักประวัติศาสตร์สายจาโคไบต์ ทอมัส คาร์ต (Thomas Carte) ได้กล่าวถึงเงื่อนไขเกี่ยวกับการเงินของสัญญาพักรบไว้ว่า สมาพันธรัฐจะต้องจ่ายเงินงวดละ 30,000 ปอนด์ ให้แก่ออร์มอนด์จนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1644 โดยแบ่งจ่ายเป็นเงินสดกึ่งหนึ่งและอีกกึ่งหนึ่งจ่ายด้วยฝูงโค[21]

ในค.ศ. 1644 ฝ่ายสมาพันธรัฐได้ส่งไพร่พลจำนวนประมาณ 1,500 นาย ภายใต้การนำของอลัสแดร์ แม็กคอลลา (Alasdair MacColla) ไปยังสกอตแลนด์ เพื่อสนับสนุนกองกำลังฝ่ายนิยมกษัตริย์ของเจมส์ แกรม มาร์ควิสแห่งมอนท์โรสที่ 1 ในการต่สู้กับกลุ่มพันธสัญญา ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองสกอตแลนด์ – นับเป็นการแทรกแซงทางทหารครั้งเดียวของฝ่ายสมาพันธรัฐในสงครามกลางเมืองบนเกาะบริเตนใหญ่

การมาถึงของเอกอัครสมณทูต

[แก้]
จีโอวานนี บัตติสตา รีนุกชีนี เอกอัครสมณทูตของพระสันตะปาปา

สมาพันธรัฐไอร์แลนด์ได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากราชสำนักฝรั่งเศสและสเปน ซึ่งต้องการเกณฑ์ชาวไอร์แลนด์ให้มารับราชการในกองทัพของตน แต่ผู้สนับสนุนหลักของสมาพันธรัฐบนภาคพื้นทวีปคือสันตะสำนัก สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8 ทรงส่งเปียร์ฟรานเซสโก สการัมปี (Pierfrancesco Scarampi) มาในค.ศ. 1643 เพื่อประสานงานและช่วยเหลืออภิสภาของสมาพันธรัฐ สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 10 ผู้ดำรงตำแหน่งต่อจากพระองค์ก็ทรงสนับสนุนสมาพันธรัฐไอร์แลนด์อย่างแข็งขัน ทรงเพิกเฉยคำทัดทานของพระคาดินัลมาซาแร็งและสมเด็จพระราชินีอ็องเรียต มารี พระมเหสีของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ผู้ทรงย้ายมาประทับที่กรุงปารีสในค.ศ. 1644 สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ทรงต้อนรับคณะทูตของสมาพันธรัฐไอร์แลนด์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1645 และทรงตัดสินพระทัยส่งจีโอวานนี บัตติสตา รีนุกชีนี (Giovanni Battista Rinuccini) อาร์ชบิชอปแห่งเฟอร์โม (Archbishop of Fermo) ไปยังไอร์แลนด์ในฐานะเอกอัครสมณทูตวิสามัญ รีนุกชีนีออกเดินทางโดยเรือจากลารอแชลพร้อมกับริชาร์ด เบลล์ลิง (Richard Bellings) เลขานุการของสมาพันธรัฐ โดยนำยุทโธปกรณ์ เสบียงทางทหารและเงินจำนวนมากมาด้วย ทำให้เขากลายเป็นผู้มีอิทธิพลต่อกิจการภายในสมาพันธ์รัฐ นอกจากนี้รีนุกชีนียังได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสมาพันธ์สายหัวรุนแรง เช่น โอเวน โร โอนีลล์ องค์เอกอัครสมณทูตได้รับการต้อนรับจากรัฐบาลสมาพันธ์อย่างดีที่คิลล์เคนนี รีนุกชีนียืนยันว่าจุดประสงค์หลักของเขาคือการช่วยสนับสนุนพระเจ้าชาลส์ แต่เป้าหมายเหนือสิ่งอื่นใดอื่นของภารกิจนี้คือการช่วยเหลือชาวคาทอลิกในไอร์แลนด์ให้สามารถนับถือศาสนาของตนได้อย่างเสรีและเปิดเผย รวมไปถึงการฟื้นฟูและคืนทรัพย์สินให้แก่บรรดาโบสถ์ แต่ไม่รวมไปถึงทรัพย์สินของอดีตอาราม

"สันติภาพออร์มอนด์" ครั้งที่หนึ่ง

[แก้]
เจมส์ บัตเลอร์ เอิร์ลที่ 12 แห่งออร์มอนด์ (ภายหลังได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นดยุก)

เหล่าสมาชิกอภิสภาได้ฝากความคาดหวังอย่างสูงไว้กับสนธิสัญญาลับที่พวกเขาลงนามไว้กับเอ็ดเวิร์ด ซัมเมอร์เซ็ต มาร์ควิสที่ 2 แห่งวุร์สเตอร์ (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเอิร์ลแห่งกลามอร์แกน) (Earl of Glamorgan) ผู้เป็นตัวแทนมาเจรจากับสมาพันธรัฐในพระปรมาภิไธยกษัตริย์ สนธิสัญญาดังกล่าวให้คำมั่นว่าพระเจ้าชาลส์จะทรงยอมรับข้อเรียกร้องเพิ่มเติมของชาวคาทอลิกไอร์แลนด์ในอนาคต เอิร์ลแห่งกลามอร์แกนเป็นขุนนางอังกฤษฝ่ายกษัตริย์นิยมผู้มีฐานะดี เขาถูกส่งไปยังไอร์แลนด์ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1645 พร้อมรับสั่งลับส่วนพระองค์จากพระเจ้าชาลส์ให้ยอมรับข้อเรียกร้องของสมาชิกสมาพันธรัฐ เพื่อแลกกับการที่กองทัพของสมาพันธรัฐจะต่อสู้ให้กับราชสำนักในดินแดนอังกฤษ แผนการดังกล่าวจะเป็นที่ครหาอย่างมากหากรั่วไหลออกไป เมื่อฝ่ายรัฐสภา ค้นพบสำเนารับสั่งลับดังกล่าว พวกเขาก็นำมันไปตีพิมพ์และแจกจ่ายโดยทันที ทำให้พระเจ้าชาลส์ต้องรีบออกมาปฏิเสธว่าทรงไม่มีความเกี่ยวข้องด้วยเพื่อรักษาการสนับสนุนของประชาชนชาวอังกฤษ ซึ่งนับถือนิกายโปรเตสแตนต์เป็นส่วนใหญ่ พระองค์ทรงประกาศให้ซัมเมอร์เซ็ตมีความผิดฐานกบฏ และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ทหารไอร์แลนด์ในการรบบนเขตแดนอังกฤษ รัฐสภายาวได้ผ่านกฤษฏีกาไม่จับเชลยไอริช (Ordinance of no quarter to the Irish) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1644

รีนุกชีนีมองตัวเองว่าเป็นผู้นำที่แท้จริงของชาวคาทอลิกในไอร์แลนด์ ต่อมาในค.ศ. 1646 บรรดาสมาชิกอภิสภาของสมาพันธรัฐได้ตกลงในสนธิสัญญากับออร์มอนด์ และได้รับการลงนามในวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1646 ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาดังกล่าว ผู้นับถือนิกายคาทอลิกจะสามารถเข้ารับราชการและตั้งสถานศึกษาได้ นอกจากนี้ยังมีการให้คำมั่นเรื่องความเท่าเทียมทางศาสนาในอนาคต มีการพระราชทานอภัยโทษสำหรับอาชญกรรมที่ก่อขึ้นระหว่างการกบฎ ค.ศ. 1641 และการรับรองว่าจะไม่มีการริบที่ดินตามกฎหมายการริบทรัพย์ของผู้เป็นกบฏเพิ่มเติมอีก

กระนั้น สนธิสัญญาดังกล่าวก็มิได้เพิกถอนกฎหมายพอยย์นิง (Poynings' Law) หมายความว่าร่างพระราชบัญญัติใดๆ ที่จะยกร่างให้รัฐสภาไอร์แลนด์พิจารณาเป็นกฎหมายจะยังคงต้องได้รับการเห็นชอบจากสภาองคมนตรีอังกฤษเสียก่อน ผู้นับถือนิกายโปรแตสแตนท์ยังคงถือครองเสียงส่วนมากในสภาสามัญชนไอร์แลนด์ และไม่มีการยกเลิกนโยบายการตั้งถิ่นฐานในอัลสเตอร์และมุนสเตอร์ นอกเหนือไปจากนี้ เงื่อนไขด้านศาสนาของสนธิสัญญาดังกล่าวได้ระบุว่าโบสถ์ทุกแห่งที่ฝ่ายคาทอลิกยึดได้ในระหว่างสงครามจะต้องถูกส่งกลับคืนให้ฝ่ายโปรแตสแตนท์ และไม่มีการรับประกันถึงสิทธิ์ในการนับถือนิกายคาทอลิกได้อย่างเปิดเผยแต่อย่างใด

เพื่อเป็นการตอบแทนการประนีประนอมดังกล่าว ทหารของสมาพันธ์จะถูกส่งไปยังอังกฤษเพื่อทำการรบให้กับฝ่ายนิยมกษัตริย์ในสงครามกลางเมืองอังกฤษ ทว่าข้อแม้ดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ทั้งเหล่านักบวชคาทอลิก บรรรดาแม่ทัพนายกอง โดยเฉพาะโอเวน โร โอนีลล์และทอมัส เพรสตัน สมาชิกสมัชชาใหญ่ส่วนมาก และตัวแทนเจรจาฝ่ายเอกอัครสมณทูต ซึ่งไม่ได้หยิบเป้าหมายของตนออกมาหารือด้วย รีนุกชีนีได้พยายามชักชวนบิชอปไอริชจำนวนเก้าองค์ให้ต่อต้านการเจรจาใดๆ กับออร์มอนด์หรือราชสำนัก หากไม่มีคำมั่นว่านิกายคาทอลิกจะได้รับการทำนุบำรุง

หลายฝ่ายเชื่อว่าอภิสภาไม่สามารถไว้วางใจได้ เนื่องจากสมาชิกหลายคนมีความเกี่ยวดองกับออร์มอนด์หรือมีพันธะบางอย่างกับเขา นอกจากนี้ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายรัฐสภาน่าจะเป็นผู้ชนะในสงครามกลางเมืองอังกฤษ และการส่งทหารไอริชไปร่วมสู้กับฝ่ายนิยมกษัตริย์จะเป็นการเสียไพร่พลไปโดยเปล่าประโยชน์ ในอีกด้านหนึ่ง กองทัพอัลสเตอร์ของโอเวน โร โอนีลล์ สามารถเอาชนะพวกสกอตได้ในยุทธการที่เบนเบอ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1646 ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าสมาพันธรัฐมีศักยภาพมากพอที่จะทำการขับไล่ผู้รุกรานทั้งหมด อีกทั้งฝ่ายที่ต่อต้านการสงบศึกได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านความเชื่อและการเงินจากรีนุกชีนี ผู้ขู่จะประกาศบัพพาชนียกรรม "ฝ่ายสันติภาพ" สมาชิกอภิสภาต่างถูกจับกุม และสมัชชาใหญ่ก็ลงมติปฏิเสธข้อเสนอของออร์มอนด์

ความพ่ายแพ้ทางการทหารและสันติภาพออร์มอนด์ครั้งใหม่

[แก้]

หลังจากฝ่ายสมาพันธ์รัฐปฏิเสธข้อเสนอสงบศึก ออร์มอนด์ได้ทำการส่งมอบเมืองดับลินให้แก่กองทัพของฝ่ายรัฐสภาภายใต้การนำของไมเคิล โจนส์ (Michael Jones) ทางด้านสมาพันธรัฐจึงพยายามทำลายค่ายทหารของฝ่ายรัฐสภาที่ตั้งอยู่โดยรอบดับลินและคอร์ก แต่กลับประสบความล้มเหลว โดยในค.ศ. 1647 กองทัพของสมาพันธรัฐได้ประสบกับความพ่ายแพ้ทางทหารอย่างต่อเนื่อง เริ่มด้วยกองทัพไลนสเตอร์โดยมีทอมัส เพรสตันเป็นแม่ทัพ ถูกกองกำลังฝ่ายรัฐสภาของโจนส์ตีแตกที่ดุนแกนฮิลล์ในเขตเทศมณฑลมีท (County Meath) จากนั้นไม่เกินสามเดือนต่อมา กองทัพมุนสเตอร์ก็ประสบความพ่ายแพ้แบบเดียวกันจากฝีมือของเอิร์ลแห่งอินไชควินที่คน็อกนาส

สภาวะดังกล่าวทำให้สมาชิกสมาพันธ์โดยส่วนใหญ่เริ่มกระตือรือร้นในการหาทางเจรจากับฝ่ายนิยมกษัตริย์ อภิสภาของสมาพันธรัฐได้รับเงื่อนใหม่จากพระเจ้าชาลส์และออร์มอนด์ ซึ่งมีเนื้อหาที่ผ่อนปรนกว่าเดิม อันประกอบด้วยการยอมมอบขันติธรรมทางศาสนา คำสัญญาที่จะทำการเพิกถอนกฎหมายพอยย์นิงในอนาคต (ซึ่งจะนำไปสู่สิทธิ์ในการปกครองตนเอง) การรับรองเอกสิทธิ์ในที่ดินที่ชาวคาทอลิกไอริชยึดมาได้ระหว่างสงคราม และการยุตินโยบายตั้งถิ่นฐานในอัลสเตอร์ลงในบางพื้นที่ นอกจากนี้ยังจะมีการออกฎหมายนิรโทษกรรม หรือการพระราชทานอภัยโทษสำหรับอาชญากรรมสงครามในคราวการกบฏ ค.ศ. 1641 และสงครามสมาพันธรัฐ – โดยเฉพาะการสังหารผู้ตั้งรกรากชาวโปรแตสแตนท์ในค.ศ. 1641 – สนธิสัญญาดังกล่าวยังอนุญาตให้สมาพันธรัฐคงกองทัพของตัวเองไว้เช่นเดิมด้วย

อย่างไรก็ตาม พระเจ้าชาลส์ทรงต้องจำยอมพระราชทานเงื่อนไขเหล่านี้เพราะสถานการณ์บีบให้พระองค์ทำเช่นนั้น และในภายหลังพระองค์ก็ทรงปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าว และทรงออกเงื่อนไขใหม่ให้สมาพันธรัฐยุบตัวเองลง ถ่ายโอนกองกำลังไปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของแม่ทัพฝ่ายนิยมกษัตริย์และต่อสู้ร่วมกับทหารอังกฤษ เอิร์ลแห่งอินไชควินยังได้แปรพักตร์จากฝ่ายรัฐสภาและทำการเข้าสวามิภักดิ์กับฝ่ายนิยมกษัตริย์อีกครั้งด้วย

สงครามกลางเมืองภายในสมาพันธรัฐ

[แก้]
ภาพพิมพ์ของโอเวน โร โอนีลล์ สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19

กระนั้น ชาวคาทอลิกไอริชจำนวนมากก็ยังคงไม่ยอมร่วมมือกับฝ่ายนิยมกษัตริย์ โอเวน โร โอนีลล์ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายนิยมกษัตริย์ และก่อสงครามกลางเมืองระยะสั้นขึ้นภายในสมาพันธรัฐ ในหน้าร้อนของค.ศ. 1648 โอนีลล์ ผู้มองว่าพันธมิตรครั้งใหม่ระหว่างสมาพันธรัฐและฝ่ายนิยมกษัตริย์อังกฤษเป็นการทรยศเป้าหมายสงครามแบบคาทอลิก (Catholic war aims) จึงทำให้เขาพยายามเจรจาสงบศึกกับฝ่ายรัฐสภา และกลายมาเป็นพันธมิตรของกองกำลังฝ่ายรัฐสภาอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลร้ายกับเป้าหมายหลักของสมาพันธรัฐ นอกจากนี้มันยังคาบเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองครั้งที่สองในอังกฤษ รีนุกชีนีพยายามช่วยสนับสนุนโอนีลล์ด้วยการประกาศปัพพาชนียกรรม ผู้เห็นด้วยกับการพักรบอินไชควิน (Inchiquin Truce) ที่จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1648 กับฝ่ายนิยมกษัตริย์ แต่รีนุกชีนีไม่สามารถโน้มน้าวเหล่าบิชอปไอริชได้ ดังนั้นเขาจึงออกเดินทางจากกัลเวย์กลับไปยังโรมในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1649

เหตุการณ์ดังกล่าวมักจะถูกมองว่าเป็นตัวแทนความไม่ลงรอยกันระหว่างชาวเกลิกไอริชและชาวอังกฤษเก่า (Old English) มีการให้เหตุผลว่าชาวเกลิกไอริชได้สูญเสียที่ดินและอิทธิพลเป็นจำนวนมากหลังการเข้าพิชิตไอร์แลนด์ของอังกฤษ ส่งผลให้ข้อเรียกร้องของพวกเขารุนแรงขึ้นตามไปด้วย[ต้องการอ้างอิง] แม้กระนั้น ทั้งฝ่ายประนีประนอมและฝ่ายหัวรุนแรงก็ต่างมีผู้สนับสนุนจากทั้งสองชาติพันธุ์ ยกตัวอย่างเช่น เซอร์เฟลิม โอนีลล์ ชาวเกลิกผู้นำการกบฎใน ค.ศ. 1641 สนับสนุนฝ่ายประนีประนอม ในขณะที่บริเวณเซาท์เวกซ์ฟอร์ด (South Wexford) ซึ่งประชากรส่วนมากมีเชื้อสายชาวอังกฤษเก่าไม่เห็นด้วยกับการสงบศึก เหล่านักบวชคาทอลิกเองก็ขัดแย้งกันในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน

ข้อสำคัญที่สุดของเหตุการณ์ดังกล่าว คือ มันได้แสดงความแตกต่างระหว่างกลุ่มเจ้าที่ดิน ซึ่งพร้อมที่จะยอมรับข้อเสนอของฝ่ายนิยมกษัตริย์ ตราบใดที่ที่ดินและสิทธิของพวกตนยังได้รับความคุ้มครอง และกลุ่มคนเฉกเช่นโอนีลล์ ผู้ต้องการขจัดอิทธิพลของอังกฤษให้หมดไป พวกเขาต้องการสร้างรัฐคาทอลิกไอร์แลนด์ที่เป็นอิสระ พร้อมทั้งขับไล่ผู้ตั้งรกรากชาวอังกฤษและสกอตแลนด์ออกไปอย่างถาวร ฝ่ายหัวรุนแรงจำนวนมากมีเป้าหมายหลักคือการทวงคืนที่ดินอันสืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ซึ่งเสียไปในคราวเริ่มนโยบายตั้งถิ่นฐาน หลังจากทำการลอบโจมตีฝ่ายสมาพันธรัฐอย่างยืดเยื้อ โอเวน โร โอนีลล์จึงล่าถอยไปยังอัลสเตอร์ ก่อนที่จะกลับมาเข้าร่วมกับสมาพันธรัฐอีกครั้งเมื่อครอมเวลล์ เข้ารุกรานในค.ศ. 1649 การเกิดสงครามภายในยังทำให้การเตรียมตัวด้านการศึกกับกองทัพตัวแบบใหม่ ของกองกำลังผสมฝ่ายนิยมเจ้า-สมาพันธรัฐต้องล่าช้าลงไปด้วย

การรุกรานของครอมเวลล์

[แก้]
โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ แม่ทัพในการพิชิตไอร์แลนด์ของฝ่ายรัฐสภา

โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ เข้ารุกรานไอร์แลนด์ในค.ศ. 1649 เพื่อทำลายการรวมกำลังครั้งใหม่ระหว่างฝ่ายสมาพันธรัฐและฝ่ายนิยมกษัตริย์ การพิชิตไอร์แลนด์ของครอมเวลล์ นับเป็นความขัดแย้งที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์ และนำมาซึ่งการแพร่ระบาดของกาฬโรคและทุพภิกขภัย คิลล์เคนนี เมืองหลวงของสมาพันธรัฐแตกหลังจากการล้อมระยะสั้น ในค.ศ. 1650 สงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของพวกคาทอลิกไอริชและฝ่ายนิยมกษัตริย์ ชนชั้นเจ้าครองที่ดินชาวคาทอลิกไอริชที่มีมาแต่ครั้งก่อนสงครามถูกทำลายลงในช่วงนี้ เช่นเดียวกับสถาบันโรมันคาทอลิก สมาชิกอาวุโสส่วนมากของสมาพันธรัฐลี้ภัยไปฝรั่งเศสพร้อมกับราชสำนักอังกฤษ หลังจากการฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ สมาชิกสมาพันธรัฐที่สนับสนุนการเป็นพันธมิตรกับฝ่ายนิยมกษัตริย์ในช่วงสงครามต่างได้รับความชอบ และได้รับพระราชทานที่ดินของตนคืนอย่างน้อยสามส่วนจากเดิม ตรงกันข้ามกับผู้ที่ยังคงอยู่ในไอร์แลนด์ระหว่างยุคช่วงว่างระหว่างรัชกาล ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะถูกริบที่ดิน สำหรับผู้เป็นเชลยสงครามมักจะถูกประหารหรือส่งไปยังทัณฑนิคม

สิ่งสืบทอด

[แก้]

รูปแบบรัฐสภาของสมาพันธรัฐไอร์แลนด์มีความคล้ายคลึงกับรัฐสภาไอร์แลนด์ ที่ก่อตั้งโดยชาวชาวนอร์มันใน ค.ศ. 1297 ซึ่งมีความเป็นคณาธิปไตยของเจ้าที่ดินสูงและไม่ได้ใช้หลักการประชาธิปไตยในการออกเสียง แม้สมาพันธรัฐจะมีฐานอำนาจขนาดใหญ่ในระดับชาติ พวกเขากลับประสบความล้มเหลวในการบริหารและปฏิรูปไอร์แลนด์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวคาทอลิกไอริช สงครามสมาพันธรัฐไอร์แลนด์ และการรุกรานของครอมเวลล์ที่ตามมา (ค.ศ. 1649–53) ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตอย่างใหญ่หลวง และจบลงด้วยการริบที่ดินของชาวคาทอลิกไอริชตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1650 แม้จะมีการพระราชทานที่ดินส่วนหนึ่งคืนมาในคริสต์ทศวรรษที่ 1660 ก็ตาม การสิ้นสุดของสมาพันธรัฐยังทำให้เกิดนโยบายตั้งถิ่นฐานระลอกใหม่ที่เรียกว่าการตั้งถิ่นฐานครอมเวลล์เลียน (Cromwellian Settlement) ด้วย

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 The Confederate Assembly of Kilkenny. British Civil Wars Project.
  2. Austin 1913, p. 294: "He convened a provincial synod at Kells early in February 1642 in which the bishops declared the war undertaken by the Irish people for their king, religion, and country to be just and lawful." ("เขา [ฮิวจ์ โอเรลลี] เรียกประชุมสภาสงฆ์ระดับมณฑลในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1642 ที่ซึ่งเหล่าบิชอปประกาศว่าสงคราม [อาจหมายถึงกบฎไอร์แลนด์ ค.ศ. 1641 หรือ สงครามสิบเอ็ดปี] ที่ดำเนินการโดยชาวไอริช เพื่อองค์กษัตริย์ พระศาสนา และประเทศชาตินั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรมตามกฎหมาย")
  3. Meehan 1882, p. 176.
  4. Meehan 1882, p. 20: "... the synod met at Kilkenny on the 10th May 1642. The Archbishops of Armagh, Cashel and Tuam, with 6 other bishops and the proxys of five more ..." ("...สภาสงฆ์พบปะกันที่คิลล์เคนนีในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1642 ประกอบด้วยาอาร์ชบิชอปแห่งอาร์มา คาเซล และทูม บิชอปองค์อื่นอีกหกองค์ และผู้รับฉันทะอีกห้าคน...")
  5. Meehan 1882, p. 23: "... declare that war, openly Catholic, to be lawful and just;" (...[ที่ประชุม]ประกาศว่าสงคราม ซึ่งเป็น[ไปเพื่อนิกาย]คาทอลิกอย่างเปิดเผย นั้นชอบธรรมและสอดคล้องด้วยกฎหมาย")
  6. Meehan 1882, p. 25, line 11: "Agents from the synod crossed over into France, Spain and Italy, to solicit support ..." ("ผู้แทนของสภาสงฆ์เดินทางไปสู่ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี เพื่อเสาะแสวงหาผู้สนับสนุน...")
  7. Meehan 1882, p. 25, line 27: "Lord Mountgarret was appointed President of the Council, and the October following was fixed for a general assembly for the whole kingdom." ("ลอร์ดเมาท์การ์เร็ตได้รับการแค่งตั้งเป็นประธานสภา และ[มีกำหนด]นัดหมายสมัชชาใหญ่สำหรับทั่วทั้งราชอาณาจักรในเดือนตุลาคม[ของปีนั้น]")
  8. Meehan 1882, p. 43: "The assembly, therefore, had all the appearances of a parliament ..." ("ดังนั้นแล้ว ที่ประชุมจึงมีลักษณะเยี่ยงรัฐสภาทุกประการ...")
  9. Meehan 1882, p. 42: "On the 24th of October [1642] therefore twenty-five peers,—eleven spiritual, fourteen temporal,—and two hundred and twenty-six commoners had met within the walls of Kilkenny ..." ("ในวันที่ 24 ตุลาคม [ของปี 1642] ขุนนางยี่สิบห้าราย [เป็น] ฝ่ายศาสนจักรสิบเอ็ดองค์ [ฝ่าย]อาณาจักรสิบสี่ท่าน และ[สมาชิกสภา]สามัญชนสองร้อยยี่สิบหกคน ประชุมกันภายในกำแพงเมือง [หมายถึงประชุมกัน ณ...] คิลล์เคนนี...")
  10. Edmund Curtis and R. B. McDowell (eds), "Irish Historical Documents 1172–1922". Barnes & Noble London and New York (1943; reprinted 1968)
  11. "Text of the Orders of 24 October 1642". Ucc.ie. สืบค้นเมื่อ 14 February 2012.
  12. Meehan 1882, p. 44: "From these there lay a further request to the supreme council of twenty-four persons who were to be elected by the general assembly of which twelve were to be constantly resident in Kilkenny." ("มีคำขอเพิ่มเติมไปยัง[สมาชิก]อภิสภาจำนวนยี่สิบสี่คนที่จะถูกคัดเลือก[เหล่าสมาชิกของ]สมัชชาใหญ่ ว่าในจำนวนนี้ จะต้องมีสิบสองคนอาศัยอยู่ในคิลล์เคนนีเสมอ ๆ")
  13. Cusack 1871, p. 312.
  14. Meehan 1882, p. 45: "It was also enacted that the council should be vested with power over all generals, military officer, and civil magistrates ..."
  15. Meehan 1882, p. 46: "Their first act was to name the generals who were to command under their authority." etc.
  16. Meehan 1882, p. 47, line 14: "One of the earliest documents signed with this great seal was an order to raise thirty thousand pounds sterling in Leinster, and at the same time, in the same province, thirty-one thousand seven hundred men who were to be drilled and disciplined ..."
  17. Meehan 1882, p. 47, line 4: "But as no act or instrument emanating from the supreme council could be genuine and of force, unless sealed with their own seal, they caused one to be made ..." etc.
  18. Meehan 1882, p. 47, line 30: "Under same seal an order was issued to establish a mint in Kilkenny ..."
  19. Meehan 1882, p. 48, line 30: "Along with the mint the supreme council caused printing presses to be set up in Waterford and Kilkenny ..."
  20. Meehan 1882, p. 54: "The Assembly broke up on the 9th of January [1643], and fixed their next meeting for the following May."
  21. Carte 1851, p. 263: "... the thirty thousand pounds which by the articles of the cessation was to be paid, half in money and the rest in beeves and ammunition."

บรรณานุกรม

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • Canny, Nicholas, Making Ireland British 1580–1650, Oxford University Press, Oxford, 2001.
  • Lenihan, Pádraig, Confederate Catholics at War 1641–49, Cork University Press, Cork, 2001.
  • Ohlmeyer, Jane & Kenyon, John (eds.), The Civil Wars, Oxford University Press, Oxford, 1998.
  • Siochrú, Micheál (1998). Confederate Ireland 1642–1649 A constitutional and political analysis. Four Courts Press. ISBN 1-85182-400-6.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]