วัดคลองโพธิ์ (จังหวัดอุตรดิตถ์)

พิกัด: 17°36′50″N 100°05′50″E / 17.613952°N 100.097223°E / 17.613952; 100.097223
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดคลองโพธิ์
วัดคลองโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของจังหวัดอุตรดิตถ์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดคลองโพธิ์
ที่ตั้งถนนเจริญธรรม ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท (มหานิกาย)
พระประธานหลวงพ่อเรือง
เจ้าอาวาสพระศรีปริยัติวิมล (ตึ๋ง ปริธมฺโม ป.ธ.9)
ความพิเศษสำนักเรียนพระปริยัติธรรม- แผนกบาลีประจำจังหวัด
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดคลองโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของจังหวัดอุตรดิตถ์[1] วัดคลองโพธิ์ ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบันวัดคลองโพธิ์เป็นวัดจำพรรษาของเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ และมีสำนักเรียนพระปริยัติธรรมซึ่งถือได้ว่า เป็นสำนักเรียนของคณะสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนเหนือ มีการศึกษาทั้งแผนกนักธรรม แผนกบาลี โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ และโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์

ประวัติ[แก้]

วัดเดิม[แก้]

วัดคลองโพธิ์ ในที่ตั้งปัจจุบันนี้ เป็นวัดที่ย้ายขึ้นมาสร้างใหม่ เพราะตัววัดเดิมนั้นสร้างติดอยู่ที่ฝั่งคลองโพ ด้านตะวันออกติดกับแม่น้ำน่านในปัจจุบัน เดิมนั้นชื่อว่า “วัดป่าข่อย” ไม่มีโบสถ์ เป็นวัดเก่าแก่ที่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด สืบถามคนเก่าแก่ที่มีอายุมาก ก็พอจะทราบว่าเมื่อเกิดมาก็เห็นวัดอยู่ในสภาพนี้แล้ว ต่อมาวัดได้ถูกภัยธรรมชาติน้ำซัดตลิ่งพังลงมาเรื่อย ๆ นานเข้าก็ถึงกุฏิและศาลาการเปรียญ ท่านเจ้าอาวาสในสมัยนั้นคือท่านอุปัชฌาย์เรือง จึงได้ย้ายวัดป่าข่อยมาสร้างใหม่ทางด้านตะวันตกของวัดเก่า เพียงแต่มีข้ามคลอง (คลองโพ) ห่างจากแม่น้ำน่านประมาณ 2 เส้น ประชาชนมักนิยมเรียกวัดที่ย้ายมาสร้างใหม่นี้ว่า “วัดใหม่”

ความเป็นมาชื่อ "วัดคลองโพธิ์"[แก้]

ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2462 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะสงฆ์หนเหนือ ในขณะที่เสด็จตรวจการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้จอดเรือพระประเทียบประทับแรมริมฝั่งแม่น้ำน่านหน้าวัดใหม่ ซึ่งเป็นท่าข้ามไปมาระหว่างฝั่งแม่น้ำ มีตามคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ว่า ในครั้งนั้นคณะสงฆ์ร่วมกับคณะอุบาสกอุบาสิกา ได้มารอรับเสด็จที่หน้าวัดจำนวนมาก และได้สร้างปะรำพิธีรับเสด็จที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านหน้าวัดใหม่นั่นเอง

เมื่อพระองค์ประทานโอวาทแก่คณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาที่มารอรับเสด็จแล้วมีรับสั่งกับเจ้าอาวาสวัดใหม่นั้นว่า "วัดนี้ชื่ออะไร มีพระภิกษุสามเณรกี่รูป และมีการศึกษาพระปริยัติหรือไม่" ท่านเจ้าอาวาสได้กราบทูลตามความเป็นจริงทุกประการ และพระองค์ได้ทรงถามคลองที่ผ่านหน้าวัดว่าชื่ออะไร ท่านเจ้าอาวาสจึงกราบทูลชื่อ “คลองโพ” พระองค์จึงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้นวัดนี้ก็ควรจะชื่อว่า “วัดคลองโพธิ์”

วัดใหม่จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดคลองโพธิ์ จนมาถึงปัจจุบันนี้

พระอารามหลวงชั้นตรี[แก้]

ต่อมาวัดคลองโพธิ์ได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ นับแต่วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2530 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2530

ปูชนียวัตถุ[แก้]

พระประธานในพระอุโบสถ[แก้]

พระประธานในพระอุโบสถ หน้าตักกว้าง 1.28 เมตร สูง 1.45 เมตร ชาวบ้านเรียกชื่อว่า “หลวงพ่อเรือง” ( เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ) และพระอัครสาวกคือพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ภายในพระอุโบสถ 2 องค์ สูง 1.35 เมตร

หลวงปู่ทิม และ หลวงปู่เรือง[แก้]

หลวงปู่ทิม และ หลวงปู่เรือง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประจำวัด อยู่มาพร้อมกับการตั้งวัดคลองโพธิ์

พระบรมสารีริกธาตุ[แก้]

พระบรมสารีริกธาตุ รับประทานจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เพื่อประดิษฐานที่บุษบกภายในพระอุโบสถ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549

รูปหล่ออดีตเจ้าอาวาส[แก้]

รูปหล่ออดีตเจ้าอาวาส ประดิษฐาน ภายในวิหารอดีตเจ้าอาวาส

ลำดับเจ้าอาวาสวัดคลองโพธิ์[แก้]

1. พระอุปัชฌาย์เรือง สิริสมฺปนฺโน พ.ศ. 2468

2. พระอุปัชฌาย์ไฝ พ.ศ. 2468 - 2493

3. พระครูโอภาสคุณาธาร พ.ศ. 24932511

4. พระครูปริยัติสาทร พ.ศ. 25122530

5. พระธรรมมหาวีรานุวัตร (อำนวย จนฺทสโร ป.ธ.๔) พ.ศ. 2531 – 2563

6. พระศรีปริยัติวิมล (ตึ๋ง ปริธมฺโม) พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน

กิจกรรมหลักของวัด[แก้]

อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดคลองโพธิ์

วัดคลองโพธิ์ ในปัจจุบันจัดว่าเป็น ศูนย์กลางของการปกครองคณะสงฆ์ การเผยแผ่และสาธารณูปการของคณะสงฆ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นแหล่งให้ความรู้ภาษาบาลีแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ โดยเป็นที่ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี, สำนักศาสนศึกษาแผนกธรรม – บาลี โดยทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ พ.ศ. 2513

เป็นศูนย์อบรมก่อนสอบคณะสงฆ์ภาค 5

ศูนย์กลางการเรียนการสอนบาลีพิเศษ

ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์

ศูนย์ศึกษาเด็กก่อนเกณฑ์

ศูนย์ครูพระปริยัตินิเทศจังหวัดอุตรดิตถ์

ศูนย์ปฏิบัติธรรมวันอาทิตย์ ของอุบาสก อุบาสิกา

เกียรติคุณของวัด[แก้]

ได้รับยกย่องให้เป็น สำนักเรียนตัวอย่างดีเด่น จากกรมการศาสนา พ.ศ. 2523

เป็น วัดพัฒนาที่มีผลงานดีเด่น จากกรมการศาสนา พ.ศ. 2525

วัดคลองโพธิ์เป็น โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 1 จากแม่กองบาลีสนามหลวง พ.ศ. 2542

เป็น วัดดีเด่นด้านการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม – บาลี ของ สอศ. พ.ศ. 25452547

เป็น วัดที่มีนักเรียนสอบบาลีผ่านมากที่สุด ปี พ.ศ. 2546

เป็น โรงเรียนพระปริยัติธรรมที่มีนักเรียนสอบได้มากเป็นอันดับ 3 ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนเหนือ

เป็น ศูนย์ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ของคณะสงฆ์ ภาค ๕(โครงการนำร่อง)ตั้งแต่ เปรียญธรรม ๖ ประโยด ถึง เปรียญธรรม ๙ ประโยค

(ป.ธ.๖-๗-๘-๙)พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยได้รับมอบหมายจากสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวงแผนกบาลีและกองศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ข้อมูลจำเพาะ[แก้]

วัดคลองโพธิ์ ตั้งอยู่ในเขตปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย เลขที่ 1/1 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ เลขที่ 9 ถนนเจริญธรรม ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

เนื้อที่ตั้งวัด[แก้]

เนื้อที่ตั้งวัด 12 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา ที่ธรณีสงฆ์ 2 แปลง เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 98 ตารางวา (ใช้จัดประโยชน์สงเคราะห์ ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยของประชาชน)

หลักฐานการสร้างวัด[แก้]

ได้รับอนุญาตให้สร้างวัด ประมาณปี พ.ศ. 2365 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2462 เนื้อที่กว้าง 20 เมตร ยาว 38 เมตร

การติดต่อวัด[แก้]

  • โทร. 0-5541-2049,413-589,411107,442596

อ้างอิง[แก้]

  • แผ่นพับประชาสัมพันธ์วัดคลองโพธิ์. เอกสาร . อุตรดิตถ์ : วัดคลองโพธิ์, ๒๕๕๐.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

17°36′50″N 100°05′50″E / 17.613952°N 100.097223°E / 17.613952; 100.097223