ยูโรปา ยูนิเวอร์ซาลิส 3

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยูโรปา ยูนิเวอร์ซาลิส 3
Europa Universalis III
Cover art of Europa Universalis III
ผู้พัฒนาพาราด็อกซ์ ดีวีลอปเมนต์ สตูดิโอ
ผู้จัดจำหน่ายพาราด็อกซ์ อินเตอร์แอ็คทีฟ
เอนจินClausewitz Engine
เครื่องเล่นวินโดวส์
แม็คโอเอสเท็น
วางจำหน่าย
แนววางแผนการรบแบบเรียลไทม์
รูปแบบเล่นคนเดียว, หลายผู้เล่น

ยูโรปา ยูนิเวอร์ซาลิส 3 (อังกฤษ: Europa Universalis III) เรียกโดยย่อว่า EUIII หรือ EU3 เป็นวีดีโอเกมแนววางแผนการรบแบบเรียลไทม์ที่เน้นยุทธศาสตร์ระดับประเทศ พัฒนาโดยพาราด็อกซ์ ดีวีลอปเมนต์ สตูดิโอ และจัดจำหน่ายโดยบริษัทพาราด็อกซ์ อินเตอร์แอ็คทีฟ ตัวเกมหลักสำหรับวินโดวส์วางจำหน่ายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2550 และต่อมาได้รับการพอร์ทไปยังแม็คโอเอสเท็น โดยเวอร์ชวล โปรแกรมมิง วางจำหน่ายในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[1]

ผู้เล่นสามารถควบคุมประเทศและทำการจัดการในด้านต่างๆ ได้แก่การทำสงคราม, การทูต, การค้าและเศรษฐกิจ ตัวเกมดั้งเดิม (ไม่มีภาคเสริม) เริ่มเกมในปี ค.ศ. 1453 หลังการเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิล และดำเนินต่อไปจนถึง ค.ศ. 1789 หลังจากการเริ่มต้นการปฏิวัติฝรั่งเศส ภาคเสริมนโปเลียนส์ แอมบิชัน (Napoleon's Ambition) ขยายเวลาของตอนจบเกมไปจนถึง ค.ศ. 1821 ต่อมาภาคเสริมอิน โนมีเน (In Nomine) ถอยร่นเวลาในจุดเริ่มต้นไปเป็น ค.ศ. 1399

ยูโรปา ยูนิเวอร์ซาลิส 3 ใช้เอนจิน 3D ที่รองรับเฉพาะคอมพิวเตอร์ที่สามารถรองรับความต้องการของพิกเซล เชดเดอร์ 2.0 แผนที่ในเกมประกอบไปด้วยจังหวัดรวมทั้งบนบกและในทะเลกว่า 1,700 จังหวัด ครอบคลุมเกือบทั่วโลก และมีประเทศตามประวัติศาสตร์ให้เลือกเล่นกว่า 300 ประเทศ เกมนี้ยังมีองค์ประกอบจากเกมอื่นๆ ของพาราด็อกซ์เช่นครูเซเดอร์ คิงส์, วิคตอเรีย, และฮาร์ทส์ออฟไอเอิร์น II

การเล่น[แก้]

ผู้เล่นเริ่มเกมด้วยการเลือกวันที่ต้องการเริ่มเล่นและประเทศที่ต้องการเล่น เมื่อเข้าสู่เกมแล้ว ผู้เล่นสามารถปรับเปลี่ยนประเทศของตนเองได้ในหลายๆ ทาง ระบอบการปกครองของแต่ละประเทศมีตั้งแต่ระบอบราชาธิปไตย, ระบอบสาธารณรัฐ, ระบอบเทวาธิปไตย ไปจนถึงรัฐบาลเผ่า ผู้เล่นสามารถกำกับสังคมและค่านิยมของประเทศด้วยการปรับแต่ง "แถบเลื่อน" (slider) ในด้านต่างๆ เช่นการค้าเสรี/การค้าผูกขาด และยังสามารถว่าจ้างที่ปรึกษาของรัฐเช่นโวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท เมื่อเกมดำเนินไป ผู้เล่นจะสามารถเลือก "แนวคิดของชาติ" (national idea) เช่นเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่ส่งผลดีต่อประเทศในแบบที่ต่างกันไป

มีกว่า 300 ประเทศให้เลือกเล่นในเกม ตั้งแต่มหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างราชวงศ์หมิง ไปจนถึงมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างโบฮีเมียและคาแซน ไปจนถึงประเทศเล็กๆ อย่างมัลดีฟส์ เกมไม่กำหนดเงื่อนไขในการชนะ ดังนั้นผู้เล่นจึงเป็นผู้ที่ตั้งเป้าหมายให้ตนเอง เช่นการยกระดับนครรัฐขนาดเล็กไปเป็นมหาอำนาจระดับโลก แผนที่โลกประกอบไปด้วยจังหวัด (ทางบก) และเขตทะเลรวมกันกว่า 1,700 เขต โดยมีหลายจังหวัดในทวีปอเมริกา, ทวีปแอฟริกาและภูมิภาคโอเชียเนีย ที่ไม่มีเจ้าของ ทำให้สามารถสร้างอาณานิคมในจังหวัดว่างเปล่าเหล่านั้นได้

ระบบเศรษฐกิจในยุคสมัยใหม่ตอนต้น ถูกจำลองผ่านการเก็บภาษีและรายได้จากการผลิตทรัพยากรจากจังหวัดต่างๆ และยังมีระบบการค้า ที่ให้พ่อค้าแข่งขันกันในศูนย์การค้าที่ตั้งอยู่ในเมืองอย่างเวนิซ และลือเบค ประเทศที่เน้นรายได้จากการค้า (อย่างฮอลแลนด์) ก็จะมีความได้เปรียบทางการค้า แต่ถ้าประเทศไหนผลิตเงินตรา หรือพึ่งการทำเหมืองทองมากเกินไป ก็จะได้รับโทษจากภาวะเงินเฟ้อ การลงทุนวิจัยเทคโนโลยีมีความสำคัญในระยะยาว โดยเกมนี้ไม่ได้ใช้แผนผังต้นไม้เทคโนโลยีอย่างเกมซิวิไลเซชัน แต่แบ่งเทคโนโลยีออกเป็นหลายประเภท ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้สามารถสร้างยูนิตทางทหารและสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ได้

ระบบการทูตมีความซับซ้อน โดยผู้เล่นสามารถแต่งงานกับราชวงศ์อื่น, ส่งสาส์นดูหมิ่น, ขอเป็นพันธมิตร, สั่งห้ามทำการค้า และอื่นๆ ซึ่งการตัดสินใจทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผู้เล่นสามารถควบคุมประเทศอื่นได้อย่างสันติผ่านการเป็นผู้นำรัฐร่วมประมุข และประเทศราช ผู้เล่นสามารถมีส่วนร่วมในสถาบันระหว่างประเทศในเวลานั้นอย่างจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และสภาปกครองโรมันในรัฐสันตะปาปา ทุกประเทศมีวัฒนธรรมและศาสนาเป็นของตนเอง ซึ่งอาจเป็นที่มาของมิตรภาพหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศได้

ผู้เล่นสามารถสร้างกองทัพบก, กองทัพเรือ หรือเกณฑ์ทหารรับจ้าง ผู้เล่นไม่มีส่วนในการควบคุมการรบโดยตรง แต่เกมจะจำลองการรบให้ผู้เล่นดูในลักษณะนามธรรม (ต่างจากเกมในชุดโททัลวอร์) ผู้เล่นสามารถเกณฑ์นายพล และนายพลเรือผ่านระบบประเพณีทางทหาร ประเทศแต่ละประเทศมีระบบ "ชื่อเสีย" (infamy) ที่จะเพิ่มขึ้นถ้าประเทศนั้นไปยึดดินแดนมาจากประเทศอื่น โดยไม่มีสิทธิ์ชอบธรรม

เกมนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ โดยผู้เล่นสามารถเริ่มเล่น "แกรนด์แคมเปญ" (Grand Campaign) ที่เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1453 (ตัวเกมดั้งเดิม) หรือ ค.ศ. 1399 (ถ้ามีภาคเสริมอิน โนมิเน) หรือจะเลือกวัน/เดือน/ปี ใดก็ได้ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส (หรือ ค.ศ. 1821 ถ้ามีภาคเสริมนโปเลียนส์ แอมบิชัน) เกมยังมีวันที่ ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในประวัติศาสตร์ให้เลือกได้อีกด้วย ผู้เล่นจึงสามารถเลือกเล่นในสงครามสันนิบาตคัมไบร เป็นต้น ตัวเกมนั้นไม่ได้เป็นไปตามประวัติศาสตร์เสมอไป อาจจะมีกรณีเช่นโปรตุเกสสามารถสร้างอาณานิคมในทวีปอเมริกาเหนือได้ หรือเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียไม่ล่มสลายเป็นต้น

เกมนี้สามารถเล่นได้ทั้งแบบเล่นคนเดียวและเล่นหลายคน โดยในแบบเล่นหลายคน ผู้เล่นจะสามารถเลือกประเทศต่างๆ ได้ ในขณะที่ประเทศที่ผู้เล่นมนุษย์ไม่ได้เลือกจะถูกควบคุมโดย AI

การตั้งค่าเกมส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบข้อความธรรมดา ทำให้ผู้เล่นสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลเกี่ยวกับแผนที่, เหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ หรือข้อมูลอื่นๆ ได้ง่าย และยังมีส่วนแก้ไขหรือม็อด (mod) ที่ผู้เล่นสามารถติดตั้งลงไปในเกม โดยม็อดสามารถเปลี่ยนลักษณะของเกม, เพิ่มความสมจริงทางประวัติศาสตร์, เพิ่มองค์ประกอบแฟนตาซี หรือปรับเปลี่ยนกลไกของเกม เป็นต้น

ภาคเสริม[แก้]

พาราด็อกซ์ปล่อยภาคเสริมสำหรับ EU3 ออกมา 4 ภาคด้วยกัน โดยภาคเสริมแต่ละภาคต้องการทั้งตัวเกมดั้งเดิมและภาคเสริมที่มีมาก่อน ในเกมเวอร์ชัน ยูโรปา ยูนิเวอร์ซาลิส 3 คอมพลีท (Europa Universalis III Complete) ประกอบด้วยตัวเกมเดิมและภาคเสริม 2 ภาคแรก อีกเวอร์ชันนึงคือ ยูโรปา ยูนิเวอร์ซาลิส 3 (Europa Universalis III Chronicles) ครอนิเคิลส์ ที่รวมตัวเกมเดิมกับภาคเสริมทั้งหมด

นโปเลียนส์ แอมบิชัน[แก้]

ในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 พาราด็อกซ์ประกาศเปิดตัวภาคเสริมที่มีชื่อว่า นโปเลียนส์ แอมบิชัน (Napoleon's Ambition) และปล่อยภาคเสริมออกมาอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ผ่านแพล็ทฟอร์มเกมเมอร์สเกท ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดเวอร์ชันวินโดวส์ของภาคเสริมนี้ผ่านทางเกมเมอร์สเกทหรือซื้อแพ็คเกจยูโรปา ยูนิเวอร์ซาลิส 3 คอมพลีทจากร้านค้า ภาคเสริมนี้เน้นการปรับปรุงอินเตอร์เฟซ, เพิ่มความซับซ้อนให้กับระบบการค้า, เพิ่มตัวเลือกและเพิ่มเนื้อหาเพื่อครอบคลุมระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น เวอร์ชวล โปรแกรมมิงปล่อยนโปเลียนส์ แอมบิชันสำหรับแม็กโอเอสเท็นในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2550[2][3]

สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาใน นโปเลียนส์ แอมบิชัน ได้แก่:

  • ขยายระยะเวลาไปอีก 29 ปี จาก ค.ศ. 1793 ถึง 1822 ครอบคลุมระยะเวลาที่เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสและนโปเลียน
  • ผู้นำใหม่, ผู้ปกครองใหม่, ที่ปรึกษาใหม่, ระบอบการปกครองใหม่, แนวคิดของชาติถูกเพิ่มขึ้น รวมไปถึงยูนิตใหม่อีกหลาย 10 แบบ
  • เพิ่มเหตุการณ์ใหม่อีกหลายร้อยเหตุการณ์ ผู้เล่นสามารถเลือกให้ผู้นำ, ผู้ปกครองและที่ปรึกษาปรากฏขึ้นมาตามวันเวลาที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ได้
  • เพิ่มบัญชีแยกประเภทไว้แสดงข้อมูลเกี่ยวกับอาณานิคมและผู้นำ รวมถึงเพิ่มแผนที่การค้าที่แสดงข้อมูลทางการค้าของแต่ละจังหวัด
  • เพิ่มตัวเลือกให้ผู้เล่นสามารถย้ายเมืองหลวง นอกจากนี้ผู้เล่นยังสามารถสร้างศูนย์การค้าใหม่ หรือทำลายศูนย์การค้าที่มีอยู่ได้
  • ผู้เล่นสามารถส่งพ่อค้าไปยังศูนย์การค้าต่างๆ ได้โดยอัตโนมัติ ผู้เล่นสามารถทำการทูตหรือการสงครามที่มีมูลเหตุมาจากการค้า เช่นทำการทูตหรือการสงครามเพื่อเข้าถึงตลาดโพ้นทะเล
  • เพิ่มตัวเลือกที่ส่งผลต่อเกมโดยรวม ผู้เล่นสามารถปิดระบบจำลองภาวะเงินเฟ้อ ตั้งค่าให้ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการสร้างอาณานิคม และปรับแต่งความก้าวร้าวของ AI เป็นต้น

อิน โนมีเน[แก้]

ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2551 พาราด็อกซ์ประกาศเปิดตัวภาคเสริมตัวที่สองชื่อ อิน โนมีเน (In Nomine) และปล่อยภาคเสริมออกมาอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 สิ่งที่เพิ่มเข้ามาได้แก่ การขยายระยะเวลาเริ่มเกม, ปรับปรุง AI ให้มีเป้าหมายระยะยาว และเปลี่ยนแปลงระบบกบฏใหม่ให้กบฏมีเป้าหมายและความสามารถเป็นของตนเอง เวอร์ชวล โปรแกรมมิงปล่อยภาคเสริมอิน โนมีเนสำหรับแม็คโอเอสเท็นในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551[4] ในภาคเสริมนี้ ผู้เล่นสามารถเริ่มเกมได้ตั้งแต่ ค.ศ. 1399 หลังพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษ เนื่องจากระยะเวลาของเกมร่นไปกว่าเดิม ทำให้มีประเทศอย่างจักรวรรดิไบแซนไทน์และจาเลอิริดส์, ผู้นำอย่างตีมูร์และเหตุการณ์อย่าง ช่วงปลายสงครามร้อยปี ปรากฏขึ้นมาในเกม

ข้อแตกต่างสำคัญจากภาคที่แล้วคือ การเพิ่มระบบการติดสินใจให้ผู้เล่นสามารถเลือกตัดสินใจในสิ่งที่ส่งผลต่ออนาคตของประเทศ เช่นการสถาปนาสหราชอาณาจักร, การตราพระราชกฤษฎีกานองซ์ และการก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออก ผู้เล่นสามารถตัดสินใจได้ทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัด การตัดสินใจมีหลายร้อยการตัดสินใจ โดยแต่ละการตัดสินใจขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของประเทศในเวลานั้น (เช่นศาสนาประจำชาติ เป็นต้น)

ระบบใหม่อีกระบบที่เพิ่มขึ้นมาคือระบบภารกิจ โดยทั้งผู้เล่นมนุษย์และ AI ต่างก็ได้เป้าหมายให้บรรลุ เช่นภารกิจพิชิตไอร์แลนด์ของอังกฤษ บังคับลอแรนให้เป็นประเทศราชของฝรั่งเศส ปลดปล่อยดินแดนที่เป็นของประชาชน หรืออ้างสิทธิ์ในดินแดนอื่นด้วยกำลังทางทหาร

อิน โนมีเนปรับปรุงระบบกบฏใหม่ ทำให้กบฏมีจุดหมาย แบ่งออกได้เป็นสิบๆ ประเภท (เช่นกบฏคลั่งศาสนา, กบฏรักชาติ, กบฏชาวนา เป็นต้น) โดยกบฏแต่ละประเภทก็จะมีจุดหมายและความสามารถที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่นถ้ากบฏรักชาติสามารถยึดจังหวัดมาได้ จะทำให้จังหวัดนั้นมีโอกาสเกิดกบฏมากขึ้น และเสี่ยงต่อการแปรพักตร์ กบฏประเภทอื่นๆ เช่นกบฏอาณานิคมที่ต้องการประกาศเอกราช หรือกบฏขุนนางที่ต้องการลดอำนาจไพร่และเพิ่มอำนาจให้ตนเอง คุณสามารถเลือกที่จะปราบกบฏ เจรจากับกบฏ หรือปล่อยกบฏไว้จนพวกเขาสามารถบังคับให้คุณทำตามข้อเรียกร้องได้

ความยอมรับในการนับถือศาสนาถูกเปลี่ยนจากการปรับแต่งแถบเลื่อนไปเป็นระบบที่ขึ้นอยู่กับแนวคิดของชาติและการตัดสินใจ อำนาจของผู้ควบคุมพระสันตปาปาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ควบคุมสันตะปาปาสามารถประกาศให้ผู้ปกครองประเทศอื่นถูกตัดออกจากศาสนา และเรียกร้องให้มีการทำสงครามครูเสดกับประเทศที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งจะส่งผลดีกับประเทศคาธอลิกที่ทำสงครามกับเป้าหมายครูเสด

อิน โนมีเนยังนำเสนอระบบอาณานิคมใหม่ที่เป็นตัวกำหนดว่าผู้เล่นจะสามารถสร้างอาณานิคมที่ใดได้ โดยอ้างอิงจากระยะห่างระหว่างพื้นที่ที่ต้องการสร้างอาณานิคมกับท่าเรือที่ใกล้ที่สุด เพิ่มการเลือกตั้งในประเทศระบอบสาธารณรัฐ, เพิ่มตัวเลือกในการใช้ยุทธวิธี Scorched earth และตัวเลือกใหม่ในการเลือกภารกิจของสายลับ

ภาคเสริมนโปเลียนส์ แอมบิชัน กับอิน โนมีเน รวมกับตัวเกมเดิมอยู่ใน ยูโรปา ยูนิเวอร์ซาลิส 3 คอมพลีท

แอร์ทูเดอะโธรน[แก้]

ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552 พาราด็อกซ์ประกาศเปิดตัวภาคเสริมที่สามที่มีชื่อว่า แอร์ทูเดอะโธรน (Heir to the Throne) และวางจำหน่ายเวอร์ชันวินโดวส์ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 และเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ขึ้นมาตามคำเรียกร้องของสมาชิกในบอร์ดผู้พัฒนาเกม โดยเฉพาะระบบเกี่ยวกับการแต่งงานระหว่างราชวงศ์ เวอร์ชวล โปรแกรมมิงวางจำหน่ายเวอร์ชันแม็คโอเอสเท็นในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[5]

สิ่งที่เพิ่มเข้าไปมาในแอร์ทูเดอะโธรนได้แก่:

  • ระบบเหตุแห่งสงครามใหม่ ทำให้แต่ละสงครามที่เป้าหมายที่ชัดเจน
  • เพิ่มราชวงศ์ให้กับผู้ปกครองที่เป็นกษัตริย์ ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อระบบการทูต
  • เพิ่มบทบาทให้กับระบบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และสภาปกครองโรมัน
  • เพิ่มตัวเลือกพิเศษทางการทูตให้กับวาณิชสาธารณรัฐ (Merchant republic)
  • กำหนดความสนใจของชาติไปยังจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตและเสริมความแข็งแกร่งในภูมิภาคโดยรอบ
  • ดินแดนที่ไม่รู้จัก (Terra Incognita) แบบถาวร ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ที่ผ่านไปไม่ได้
  • เพิ่มระบบประเพณีทางวัฒนธรรม ทำให้สามารถจ้างที่ปรึกษาที่ความสามารถสูงได้ โดยความสามารถที่ได้จะแปรผันตามประเพณี
  • เพิ่มระบบเขตอิทธิพล (Sphere of Influence) ทำให้มหาอำนาจสามารถเพิ่มประเทศที่เล็กกว่าเข้าไปในเขตอิทธิพล สร้างมูลเหตุแห่งสงครามให้กับมหาอำนาจนั้นถ้าชาติอื่นเข้ามาติดต่อกับรัฐในเขตอิทธิพล
  • เพิ่มเจ้าหนาที่ปกครองขึ้นมา ทำให้สามารถทำการตัดสินใจใหม่ๆ และทำการปฏิรูปจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

ดิไวน์ วินด์[แก้]

ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ทีมงานพาราด็อกซ์ได้ทำการตั้งกระทู้โพลในบอร์ด โดยเสนอให้สมาชิกสามารถลงคะแนนให้กับเกมที่อยากให้สร้างภาคเสริมใหม่ ตัวเลือกก็มีภาคเสริมของยูโรปา ยูนิเวอร์ซาลิส 3, ยูโรปา ยูนิเวอร์ซาลิส: โรม, ฮาร์ทส์ ออฟ ไอเอิร์น 3 และวิคตอเรีย ผลคือ ยูโรปา ยูนิเวอร์ซาลิส 3 ชนะโพลด้วยคะแนน 46% โดยภาคเสริมใหม่จะเน้นการเพิ่มเนื้อหาให้กับพื้นที่นอกทวีปยุโรป ในวันที่ 9 กันยายน พาราด็อกซ์ประกาศเปิดตัวภาคเสริมที่มีชื่อว่า ดิไวน์ วินด์ (Divine Wind)[6] ในวันที่ 30 พฤศจิกายน จึงเปิดให้สั่งซื้อล่วงหน้า[7] และในวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553 จึงวางจำหน่าย เวอร์ชวล โปรแกรมมิงพอร์ท ดิไวน์ วินด์ ลงแม็คโอเอสเท็นและวางจำหน่ายในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554[8]

สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในดิไวน์ วินด์ ได้แก่

  • เพิ่มรายละเอียดให้กับแผนที่ใหม่ เพิ่มจังหวัดและปรับปรุงกราฟิก
  • ผู้เล่นสามารถเลือกเล่นเป็นหนึ่งในสี่ไดเมียว ของญี่ปุ่น แข่งขันเพื่อตำแหน่งโชกุน มีอิทธิพลเหนือจักรพรรดิ และรวมญี่ปุ่นเป็นหนึ่งเดียว
  • เล่นเป็นราชวงศ์หมิง และจัดการกับก๊กต่างๆ เพื่อรักษาอาณัติสวรรค์
  • ปรับปรุงระบบการทูต เพิ่มตัวเลือกสำหรับพันธมิตรและการตกลงสันติภาพ
  • ปรับปรุงระบบเขตอิทธิพล, ประเทศราช และจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
  • นำเสนอระบบสิ่งก่อสร้างที่ทำให้ผู้เล่นสามารถควบคุมทิศทางการพัฒนาของแต่ละจังหวัดได้
  • ปรับปรุงระบบการค้า
  • เพิ่มระบอบการปกครองแบบฮอร์ด (Horde) สำหรับชนเร่ร่อนในทุ่งหญ้าสเตปป์
  • เพิ่มระบบ Achievement โดยมีกว่า 50 รายการให้ผู้เล่นปลดล็อก

อ้างอิง[แก้]

  1. "Europa Universalis III Released". Inside Mac Games. November 2, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-14. สืบค้นเมื่อ 2010-08-20.
  2. "Napoleon Invades Europa Universalis III". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-21. สืบค้นเมื่อ 2007-05-06.
  3. "Europa Universalis III: Napoleon's Ambition Available". Inside Mac Games. December 7, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-16. สืบค้นเมื่อ 2010-08-20.
  4. "Europa Universalis III: In Nomine Available". Inside Mac Games. December 7, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-16. สืบค้นเมื่อ 2010-08-20.
  5. "Europa Universalis III: Heir to the Throne Now Shipping". Inside Mac Games. May 24, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-22. สืบค้นเมื่อ 2010-08-20.
  6. "Europa Universalis III: Divine Wind announced". Paradox Plaza. September 9, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-12. สืบค้นเมื่อ 2010-09-09.
  7. "Europa Universalis available for pre-order". Paradox Plaza. November 30, 2010. สืบค้นเมื่อ 2010-11-30.
  8. "Europa Universalis III: Divine Wind Now Available". Inside Mac Games. March 17, 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-26. สืบค้นเมื่อ 2011-03-30.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]