มูแลงรูจ!
มูแลงรูจ! | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์อย่างเป็นทางการ | |
กำกับ | บาซ เลอห์มานน์ |
เขียนบท | บาซ เลอห์มานน์ เครก เพียร์ซ |
อำนวยการสร้าง | บาซ เลอห์มานน์ เฟรด แบรอน มาร์ติน บราวน์ |
นักแสดงนำ | ยวน แมคเกรเกอร์ นิโคล คิดแมน จิม บรอดเบนต์ ริชาร์ด ร็อกซ์เบิร์ก จอห์น เลกูชิอาโน ไคลี มิโนก |
กำกับภาพ | Donald McAlpine |
ตัดต่อ | Jill Bilcock |
ดนตรีประกอบ | เครก อาร์มสตรอง |
ผู้จัดจำหน่าย | 20th Century Fox |
วันฉาย | สหรัฐอเมริกา: 1 มิถุนายน, พ.ศ. 2544 ไทย: 3 สิงหาคม, พ.ศ. 2544 |
ความยาว | 128 นาที |
ประเทศ | ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหรัฐ |
ภาษา | ภาษาอังกฤษ |
ทุนสร้าง | $52,500,000[1] |
ทำเงิน | $179,213,434[2] |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
มูแลงรูจ! (อังกฤษ: Moulin Rouge!) เป็นภาพยนตร์เพลงเรื่องที่สามในภาพยนตร์ชุดไตรภาค "The Red Curtain Trilogy" ของบาซ เลอห์มานน์ ออกฉายในปี พ.ศ. 2544 เขียนบทโดยเลอห์มานน์ ดัดแปลงจากเรื่องของออร์ฟิอุสและยูริดิซี ในตำนานเทพปกรณัมกรีก และจากอุปรากรเรื่อง La Traviata ของจูเซปเป แวร์ดี
ภาพยนตร์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 8 สาขา และได้รับรางวัลสองสาขา จากการออกแบบเครื่องแต่งกาย และการออกแบบฉาก โดยแคเทอรีน มาร์ติน (ภรรยาของเลอห์มานน์) และได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ภาพยนตร์ตลกและเพลง) นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (นิโคล คิดแมน) และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม และได้รับรางวัลบาฟตา สาขานักแสดงประกอบชายยอดเยี่ยม (จิม บรอดเบนท์) [3]
เรื่องย่อ
[แก้]เรื่องราวในภาพยนตร์เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1899 ที่โรงละครมูแล็งรูฌ ย่านม็องมาร์ ในกรุงปารีส ซึ่งมีจุดเด่นที่อาคารโรงละครเป็นรูปกังหันลม (ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า มูแลงส์)
กวีและนักเขียนหน้าใหม่ชาวอังกฤษชื่อ คริสเตียน (รับบทโดย แมคเกรเกอร์) ได้รับการชักชวนจากตูลูส-โลแตร็ก (รับบทโดย เลกูซิอาโน) ให้เขียนบทละครเพลงเรื่องใหม่ให้กับคณะคาบาเรต์ของแฮโรลด์ ซิดเลอร์ (รับบทโดย บรอดเบนท์) ชื่อเรื่อง "Spectacular Spectacular" เขามีความรักกับ ซาทีน (รับบทโดย คิดแมน) นางเอกระบำแคนแคนและหญิงงามเมืองในคณะของซิดเลอร์ ละครเพลงเรื่องใหม่นี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากท่านดยุกแห่งมอนร็อธ (รับบทโดย ร็อกซ์เบิร์ก) โดยมีเงื่อนไขว่าซาทีนจะต้องตกเป็นนางบำเรอของท่านดยุกก่อนจะเปิดการแสดงรอบแรก
ละครเพลง Spectacular Spectacular ที่ซ้อนอยู่ในเรื่อง เป็นละครเพลงแบบโบฮีเมีย คือมีเนื้อเรื่องในอุดมคติเกี่ยวกับความจริง ความสวยงาม อิสรภาพ และความรัก เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมอินเดีย [4] เกี่ยวกับนางบำเรอของมหาราชาอินเดีย ที่ลักลอบมีความรักกับนักเล่นซีตาร์พเนจร เปรียบเทียบกับความรักของซาทีน กับคริสเตียน และดยุก
ก่อนการแสดงรอบแรกจะเริ่มขึ้น ดยุกพบความจริงว่า คริสเตียนกับซาทีนลักลอบมีความสัมพันธ์กันตลอดมา จึงยื่นคำขาดกับซิดเลอร์ ให้กำจัดคริสเตียนให้พ้นทาง มิฉะนั้นจะให้ลูกสมุนสังหารคริสเตียนเสีย ซาทีนจึงบอกกับคริสเตียนว่า เธอเลือกที่จะแต่งงานกับดยุก เช่นเดียวกับในเรื่อง Spectacular Spectacular ที่นางสนมเลือกอภิเษกกับมหาราชา แทนที่จะเป็นนักเล่นซีตาร์ ทั้งนี้เพื่อผลักไสให้เขาเดินออกไปจากชีวิตของเธอ และไม่ถูกสมุนของดยุกสังหาร
ด้วยความคับแค้นใจ คริสเตียนกลับมาขึ้นบนเวทีระหว่างการแสดงรอบแรก ในชุดแต่งกายของนักเล่นซีตาร์ เขาประกาศตัดสัมพันธ์กับซาทีนต่อหน้าผู้ชมทั้งโรงละคร แล้วเดินจากไป แต่เมื่อซาทีนร้องเพลง "Come What May" เพลงที่ทั้งคู่เคยตกลงกันว่าจะใช้แสดงความรักต่อกัน ในตอนท้ายของการแสดง ทั้งคริสเตียนและซาทีนก็รับรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงของอีกฝ่าย
การแสดงละครรอบแรกสำเร็จลงด้วยดี ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามจากผู้ชม แต่ซาทีนก็เสียชีวิตลงหลังการแสดงจบ จากอาการป่วยเป็นวัณโรคเรื้อรัง ในอ้อมกอดของคริสเตียน ก่อนตายเธอให้เขาสัญญาว่า จะเขียนเรื่องราวความรักระหว่างคนทั้งคู่ เกี่ยวกับ "สิ่งที่ดีที่สุดที่เราได้เรียนรู้ คือการได้รัก และถูกรักตอบ" [5]
หนึ่งปีหลังการเสียชีวิตของซาทีน คริสเตียนได้เริ่มเขียนบทละคร พรรณนาความรักของเขากับซาทีน ชื่อเรื่องว่า "มูแลงรูจ"
นักแสดง
[แก้]- ยวน แมคเกรเกอร์ เป็น คริสเตียน
- นิโคล คิดแมน เป็น ซาทีน
- จิม บรอดเบนต์ เป็น แฮโรลด์ ซิดเลอร์
- ริชาร์ด ร็อกซ์เบิร์ก เป็น ดยุก
- จอห์น เลกูชิอาโน เป็น อองรี เดอ ตูลูส-โลแตร็ก
- จาเซ็ก โคแมน เป็น ชาวอาร์เจนตินา
- แมททิว วิทที เป็น ซาที (นักแต่งเพลง)
- แกรี แมคโดนัลด์ เป็น หมอ
- เดวิด เวนแฮม เป็น ออเดรย์ (คนเขียนบท)
- แคโรไลน์ โอ คอนเนอร์ เป็น นีนี
- นาตาลี เมนโดซา เป็น ไชน่าดอล
- คิรูนา สตาเมล เป็น นักเต้นตัวเล็ก
- เคอร์รี วอล์กเกอร์ เป็น มารี (พี่เลี้ยงหลังเวที)
- ดีโอเบีย โอปาเร เป็น ช็อกโกแลต
- ไคลี มิโนก และ ออซซี ออสบอร์น เป็น นางฟ้าสีเขียว
ดนตรีประกอบภาพยนตร์
[แก้]ดนตรีประกอบภาพยนตร์ในเรื่องมีความโดดเด่นที่การนำเพลงในสมัยนิยม ทั้งทำนองเพลง หรือคำร้องบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นเพลงป็อบ ร็อก ริทึมแอนด์บลู มาสอดแทรกนำเสนอในเนื้อหาของภาพยนตร์ ได้แก่
- "Nature Boy" ของ เดวิด โบอี
- "The Sound of Music" และ "The Lonely Goatherd" จากภาพยนตร์ มนต์รักเพลงสวรรค์
- "Lady Marmalade" ขับร้องโดย คริสติน่า อากีเลร่า ลิล คิม มิย่า มิสซี เอลเลียต และพิงก์
- "Because We Can" โดย แฟตบอยสลิม
- "Rhythm of the Night" ของ ไดแอน วาร์เรน
- "Material Girl" และ "Like a Virgin" โดย มาดอนนา
- "Smells Like Teen Spirit" โดย เนอร์วานา
- "Diamonds Are a Girl's Best Friend" ที่เคยขับร้องโดย มาริลิน มอนโร
- "Diamond Dogs" และ "Heroes" ของ เดวิด โบวี
- "One Day I'll Fly Away" ของ โจ แซมเปิล และเดอะครูเซเดอร์ส
- "Children of the Revolution" ของ ที.เร็กซ์ ขับร้องโดย โบโน
- "Roxanne" ของ เดอะโพลิซ
- "The Show Must Go On" ของ ควีน
- "Your Song" ของ เอลตัน จอห์น
- "Love is Like Oxygen" ของ สวีต
- "Love is a Many-Splendored Thing" ของ The Four Aces
- "Up Where We Belong" ของ โจ ค็อกเกอร์
- "All You Need Is Love" ของ เดอะบีทเทิลส์
- "I Was Made for Lovin' You" ของ คิส
- "One More Night" ของ ฟิล คอลลินส์
- "Pride (In the Name of Love)" ของ ยูทู
- "Silly Love Songs" ของ พอล แมคคาร์ตนีย์
- "Don't Leave Me This Way" ของ Kenneth Gamble, Leon Huff และ Cary Gilbert
- "Fool To Believe" แต่งโดย บาซ เลอห์มานน์ และเครก อาร์มสตรอง
- "I Will Always Love You" ของ ดอลลี พาร์ตัน ที่เคยขับร้องโดยดอลลี พาร์ตัน และวิทนีย์ ฮูสตัน
ในภาพยนตร์มีเพลงที่แต่งขึ้นใหม่หนึ่งเพลง คือเพลง "Come What May" แต่งโดย David Baerwald (เป็นคนละเพลงกับเพลง Come What May ที่ขับร้องในปี 1952 โดย แพตตี เพจ) ขับร้องโดยยวน แมคเกรเกอร์ และนิโคล คิดแมน เป็นเพลงที่เดิมแต่งขึ้นสำหรับใช้ในภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้าของเลอห์แมนน์ คือเรื่อง โรมิโอ + จูเลียต แต่ได้นำมาใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้แทน [6] โดยใช้เป็นเพลงสำหรับลักลอบแสดงความรักต่อกันระหว่างคริสเตียนและซาทีนในเรื่อง
การที่ภาพยนตร์ใช้เพลงฮิตจำนวนมาก ทำให้เลอห์มานน์ต้องใช้เวลาเกือบสองปีในการติดต่อเรื่องลิขสิทธิ์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Moulin Rouge! (2001) - Box Office and Business". The Internet Movie Database. สืบค้นเมื่อ 2009-03-27.
- ↑ "Moulin Rouge!". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ 2009-03-27.
- ↑ http://www.imdb.com/title/tt0203009/awards
- ↑ Murray, Rebecca. "Baz Luhrmann Talks Awards and "Moulin Rouge"". About.com Hollywood Movies. สืบค้นเมื่อ 2009-03-27.
- ↑ the greatest thing you'll ever learn is just to love, and be loved in return จากเนื้อเพลง "Nature Boy" ปี 1947 แต่งโดย eden ahbez ดัดแปลงคำร้องสำหรับใช้ในภาพยนตร์โดยเดวิด โบวี
- ↑ "Alex's Oscar Column #09 for the 74th Annual Academy Awards". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-25. สืบค้นเมื่อ 2009-09-28.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บทางการ เก็บถาวร 2002-11-13 ที่ Library of Congress Web Archives
- Moulin Rouge! ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส