ข้ามไปเนื้อหา

มหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน

พิกัด: 50°56′05″N 1°23′45″W / 50.93463°N 1.39595°W / 50.93463; -1.39595
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน
University of Southampton
ละติน: Universitas de Sotoniensis
คติพจน์ลาติน: Strenuis Ardua Cedunt
ไทย: ความลำบากก่อเกิดความมุมานะ[1]
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
สถาปนา29 เมษายน พ.ศ. 2495 ได้รับพระบรมราชโองการให้เป็นมหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2445 วิทยาลัยอุดมศึกษา
พ.ศ. 2405 สถาบันฮาร์ตเลย์
ที่ตั้ง,
สีน้ำเงินคราม เขียวน้ำทะเล และแดงเลือดหมู
เครือข่ายกลุ่มรัสเซล
ACU
EUA
WUN
มาสคอต
เก้ง
เว็บไซต์http://www.southampton.ac.uk/
The University of Southampton logo

มหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน (University of Southampton, ชื่อย่อ UoS หรือ Soton[2]) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเน้นวิจัยในสหราชอาณาจักร มีที่ตั้งในเมืองเซาท์แฮมป์ตัน และเมืองวินเชสเตอร์ จังหวัดแฮมป์เชอร์ มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งของกลุ่มรัสเซล ซึ่งเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยอันดับต้นของสหราชอาณาจักร

มหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตันถือกำเนิดจากสถาบันฮาร์ตเลย์ (Hartley Institute) ซึ่งตั้งในปี พ.ศ. 2405 ตามชื่อของเฮนรี ฮาร์ตเลย์ ในย่านใจกลางเมืองเก่าเซาท์แฮมป์ตัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2445 สถาบันฮาร์ตเลย์ได้ยกฐานะเป็นวิทยาลัยอุดมศึกษาภายใต้การกำกับของมหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้สอบได้ตามหลักสูตรจะได้รับปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยลอนดอน[3] ครั้นสถาบันพัฒนาจนมีความก้าวหน้าก็ได้มีพระราชบัญญัติให้แยกตัวออกเป็นมหาวิทยาลัยอิสระเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2495 นับเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่มีสถานภาพอิสระในรัชกาลสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง

ประวัติ

[แก้]
ลอร์ดปาล์เมอสตัน (นายเฮนรี เทมเปิล) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กระทำพิธีเปิดสถาบันฮาร์ตเลย์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2405

สถาบันฮาร์ตเลย์

[แก้]

มหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตันก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2405 ในฐานะสถาบันฮาร์ตเลย์ ตามชื่อของเฮนรี โรบินสัน ฮาร์ตเลย์ (Henry Robinson Hartley, พ.ศ. 2320-2393) ทายาทธุรกิจค้าไวน์[4] ก่อนที่ฮาร์ตเลย์จะวายชนม์ เขาได้เขียนพินัยกรรมสั่งให้นำมรดกจำนวน 103,000 ปอนด์สำหรับใช้เป็นทุนประเดิมตั้งสถาบันศึกษา ณ บ้านของเขาซึ่งตั้งที่ใจกลางเมืองเซาท์แฮมป์ตัน

...ให้ใช้ดอกผล เงินปันผล และเงินรายได้ประจำปีของกองมรดกนี้ สำหรับสนับสนุนการศึกษาและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดีตะวันตกและตะวันออกในเมืองแห่งนี้ โดยอาจสร้างเป็นห้องสมุดประชาชน สวนพฤกษศาสตร์ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ และพิพิธภัณฑสถานจัดแสดงวัตถุที่เกี่ยวกับศาสตร์ข้างต้น[5]

— ถ้อยคำส่วนหนึ่งในพินัยกรรมของเฮนรี ฮาร์ตเลย์ อุทิศทรัพย์สินของเขาให้แก่สถาบัน

ในชั้นแรกฮาร์ตเลย์มิได้หวังว่าเงินจำนวนนี้จะใช้สร้างเป็นมหาวิทยาลัยดังเช่นที่ก่อตั้งตามเมืองท่าและเมืองอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักรอื่น ๆ เขาเพียงแต่หวังว่าให้สร้างสถานเผยแพร่ความรู้เพื่อให้เมืองมีชื่อเสียงทางวิชาการ[6]นอกเหนือจากการเป็นเมืองท่าและเมืองชุมทางรถไฟ จึงเป็นเหตุให้มีการถกเถียงขัดแย้งเกี่ยวกับข้อความในพินัยกรรมจนถึงขั้นขึ้นโรงศาล จนในที่สุดก็ได้มีการตั้ง "สถาบัน" ขึ้นตามเจตนารมณ์ของฮาร์ตเลย์ ซึ่งผิดไปจากความประสงค์ของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบางคนที่ต้องการให้เป็น "วิทยาลัย" สถาบันฮาร์ตเลย์เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2405 โดยเฮนรี เทมเปิล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในพิธีมีผู้คนคับคั่งเป็นอย่างมาก[7]

หลังจากสถาบันฮาร์ตเลย์ก่อตั้งได้ 21 ปีแล้ว ได้เปลี่ยนสถานะเป็นวิทยาลัยฮาร์ตเลย์พร้อม ๆ กับรับนักศึกษาและคณาจารย์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงหอพักที่เพิ่มขึ้นด้วย

วิทยาลัยอุดมศึกษาฮาร์ตเลย์ และวิทยาลัยอุดมศึกษาเซาท์แฮมป์ตัน

[แก้]
หอสมุดฮาร์ตเลย์ ก่อสร้างราว พ.ศ. 2470 จากเงินบริจาคที่อุทิศให้แก่สถาบัน

วิทยาลัยฮาร์ตเลย์ดำเนินกิจการตามปกติเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2445 คณะกรรมการวิทยาลัยอุดมศึกษา (University College Grants Committee) ได้ตรวจสอบประเมินคุณภาพการสอนและการบริหารการเงิน เห็นสมควรให้วิทยาลัยฮาร์ตเลย์เป็นวิทยาลัยอุดมศึกษา (University College) สมทบอยู่กับมหาวิทยาลัยลอนดอน[8]เมื่อมีผู้สอบได้ตามหลักสูตรแล้วก็ขออนุมัติมหาวิทยาลัยลอนดอนเพื่อให้ปริญญา ในการนี้ วิลเลียม ดาร์วิน (William Darwin) ผู้อำนวยการกองคลัง รวมถึงสมาชิกสภาสถาบันฯ ได้รวมกันบริจาคเงินเพื่อใช้ในการยกฐานะครั้งนี้ ต่อมาทางวิทยาลัยเห็นความจำเป็นต้องย้ายที่ตั้งไปที่ทุ่งนาแถบตำบลไฮฟิลด์ ทางตอนเหนือของเมือง ก็ได้ดำเนินการระดมทุนและจัดสร้างอาคารเรียนในที่ตั้งใหม่

ครั้นแล้วเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2457 ริชาร์ด ฮอลเดน (Richard Haldane) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (Lord Chancellor) ในขณะนั้นได้กระทำพิธีเปิดวิทยาลัยอุดมศึกษาซึ่งเพิ่งย้ายจากใจกลางเมือง ชื่อของวิทยาลัยได้เปลี่ยนจากเดิมเป็นวิทยาลัยอุดมศึกษาเซาท์แฮมป์ตัน หกสัปดาห์จากนั้นวิทยาลัยถูกใช้เป็นที่พยาบาลทหารซึ่งบาดเจ็บจากการสู้รบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จนต้องงดการเรียนการสอน ด้วยความจำกัดด้านสถานที่นั้นเอง ก็ทำให้กระทรวงกลาโหมต้องสร้างเพิงไม้ไว้ท้ายตึกของวิทยาลัย หลังสงครามเพิงไม้ได้ถูกบริจาคให้แก่วิทยาลัย พร้อม ๆ กับการย้ายที่ตั้งออกจากใจกลางเมืองอย่างสมบูรณ์

เพื่อเป็นการรองรับจำนวนนักศึกษาจากต่างเมือง วิทยาลัยได้ซื้อหอไฮฟิลด์ (Highfield Hall) ซึ่งเป็นโรงนาเก่าตั้งใกล้กับเขตที่เลี้ยงสัตว์สาธารณะประจำเมือง (ปัจจุบันคือสวนสาธารณะ)[9] และหอเซาท์ฮิล สำหรับทำเป็นหอพักนักศึกษาหญิง (ปัจจุบันคือหอพักถนนเกลนแอร์) และบ้านเซาท์สโตนแฮม (South Stoneham House) สำหรับทำหอพักนักศึกษาชาย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของหอพักถนนเวสเซกส์)

ระหว่าง พ.ศ. 2460 - 2470 วิทยาลัยได้รับเงินและที่ดินบริจาคจากผู้สนับสนุน เช่นบุตรสาวทั้งสองของเอ็ดเวิร์ด เทอร์เนอร์ ซิมส์ (Edward Turner Sims) ได้บริจาคเงินสำหรับสร้างหอสมุดสำหรับนักศึกษาและประชาชนชาวเมือง รวมถึงสร้างอาคารใหม่ ๆ ถึงกระนั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อาคารที่สร้างมาก่อนหน้าส่วนมากรวมถึงหอพักนักศึกษาก็ถูกโจมตีโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดของนาซีเยอรมัน[10] ระหว่างสงครามแทนที่วิทยาลัยจะอพยพตามคำสั่งทางการ กลับใช้โอกาสนี้พัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการสำรวจ และสาขาวิชาโทรเลข ต่อมาหลังสงครามวิทยาลัยได้ก่อตั้งสถาบันวิจัยเสียงและการสั่น รวมทั้งปรับปรุงพัฒนาสาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีแอริช เซปเลอร์ (Erich Zepler) นักอิเล็กทรอนิกส์ชาวเยอรมันเป็นผู้นำ

มหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน

[แก้]

ครั้นแล้ว ณ วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2495 หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองขึ้นครองราชสมบัติแทนพระชนก (สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จที่หก) ซึ่งเสด็จสวรรคตไปเมื่อราวสองเดือนก่อน ก็ทรงตราพระราชบัญญัติให้วิทยาลัยอุดมศึกษาเซาท์แฮมป์ตันยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในรัชกาลสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง[11] มหาวิทยาลัยประกอบด้วยคณะวิชาทั้งสิ้น 6 คณะ ได้แก่ คณะศิลปศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะครุศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ โดยมีเจอราลด์ เวลเลสเลย์ (Gerald Wellesley) ดยุคแห่งเวลลิงตันเป็นนายกสภา ต่อมาในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 มหาวิทยาลัยจัดพิธีประสาทปริญญาบัตรแก่ผู้สอบได้ตามหลักสูตรเป็นครั้งแรก กิจการของมหาวิทยาลัยเจริญรุดหน้าขึ้นตามลำดับ มีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะสมุทรศาสตร์ หอพักที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ที่ถนนเกลนแอร์และถนนเวสเซกส์ก็ได้ขยายเพื่อรองรับจำนวนนักศึกษาที่มากขึ้นอีกด้วย

ราว ๆ พ.ศ. 2520-2530 มหาวิทยาลัยได้สร้างอาคารเรียนใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพัฒนาที่ดินที่ชิลเวิร์ทมาเนอร์ (Chilworth manor) ให้เป็นอุทยานวิทยาศาสตร์และสถานที่ประชุม ที่ดินที่ท่าเรือก็ได้พัฒนาเป็นศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติ รวมทั้งซื้อที่ดินโรงเรียนทอนตัน (Taunton College) และถนนไวด์เลน (Wide lane) สำหรับใช้เป็นที่ตั้งคณะมนุษยศาสตร์และศูนย์กีฬา ตามลำดับ ขณะเดียวกันแม้จะมีการตัดงบประมาณรัฐบาลกลางสำหรับอุดหนุนสถานศึกษา แต่สภามหาวิทยาลัยก็ได้จัดการปรับอัตรากำลังตามสัดส่วนงบประมาณที่ลดแทนการไล่พนักงานออกจากตำแหน่ง

ในฐานะมหาวิทยาลัยวิจัย

[แก้]
การจัดสวนในบริเวณวิทยาเขตไฮฟิลด์ด้านตะวันตก ผลงานของเบซิล สเปนซ์

ขณะที่โฮเวิร์ด นิวบี (Howard Newby) ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ก็ได้วางวิสัยทัศน์เพื่อให้มหาวิทยาลัยลงทุนเพื่อการวิจัยมากขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ[12] ในช่วงปี พ.ศ. 2535 มหาวิทยาลัยได้รับวิทยาลัยศิลปกรรมวินเชสเตอร์ (Winchester School of Art) และโรงเรียนผู้ใหญ่ลาแซงต์อูเนียง (La Sainte Union College)เข้าสมทบในมหาวิทยาลัย พร้อมกับขยายสาขาพยาบาลและการผดุงครรภ์เพื่อบริการวิชาการแก่บุคลากรสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service;NHS) ในเขตอังกฤษตอนใต้ ส่งผลให้มีนักศึกษาจำนวนมากยิ่งขึ้น พื้นที่สอนของมหาวิทยาลัยจึงขยายออกไปถึงเมืองเบซิงสโตก พอร์ตสมัท รวมถึงเกาะไวต์ด้วย[12]

มหาวิทยาลัยได้รับรายได้ส่วนมากจากการวิจัย และได้ลงทุนซ่อมสร้างและปรับปรุงอาคารใหม่ ๆ จำนวนมาก ดังต่อไปนี้

  • พ.ศ. 2545 ปรับปรุงขยายสโมสรนักศึกษา[13][14]
  • พ.ศ. 2547 ศูนย์กีฬาจูบิลี (Jubilee Sport Centre) สร้างเพื่อฉลองครบรอบห้าสิบปีนับจากการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัย[15][16]
  • พ.ศ. 2548 อาคารหอสมุดฮาร์ตเลย์ และอาคารสำนักบริการนักศึกษา[17][18][19]
  • พ.ศ. 2549 อาคารโบราณคดี ณ คณะมนุษยศาสตร์[20][21]
  • พ.ศ. 2550 อาคารครุศาสตร์-อิเล็กทรอนิกส์[22][23][24] และสถาบันวิจัยวิทยาการพัฒนายีน ที่โรงพยาบาลกลางเซาท์แฮมป์ตัน[25]
  • พ.ศ. 2551 อาคารเมาท์แบทเทน ซึ่งเป็นอาคารภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์และวิทยาการคอมพิวเตอร์[26][27] อนึ่งอาคารนี้สร้างทดแทนของเดิมที่ไฟไหม้[28][29]
  • พ.ศ. 2553 อาคารวิทยาศาสตร์สุขภาพ[30][31][32]
  • พ.ศ. 2557 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านทางทะเล ร่วมกับบริษัทลอยด์รีจิสเตอร์ (Lloyd's Register)

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยและ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ วิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน และวิทยาลัยอุดมศึกษาลอนดอน (University College London) ได้ร่วมมือจัดตั้งกลุ่มสถาบันวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ภาคใต้ (SES-5) เพื่อเป็นคลังความรู้ ความร่วมมือ สาธารณูปโภค และวิทยาการ เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำทางด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต[33]

ที่ตั้ง

[แก้]

มหาวิทยาลัยประกอบด้วยพื้นที่ทำการสอน (วิทยาเขต) 6 แห่ง โดย 4 แห่งอยู่ในเมืองเซาท์แฮมป์ตัน 1 แห่งในเมืองวินเชสเตอร์[34] และอีก 1 แห่งที่ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมีศูนย์วิจัย อุทยานวิทยาศาสตร์ และหอพักนักศึกษากระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ ในเมือง

วิทยาเขตไฮฟิลด์

[แก้]

วิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัยคือ วิทยาเขตไฮฟิลด์ (Highfield Campus) มีพื้นที่ราว 150 ไร่ หน่วยงานบริหารและคณะวิชาส่วนมากตั้งบริเวณนี้ อาคารเก่าก่ออิฐที่ตั้งในบริเวณนี้ได้แก่หอสมุดฮาร์ตเลย์ และสโมสรนักศึกษา ซึ่งออกแบบโดยไจลส์ สกอตต์ (Giles Scott)[35] ส่วนอาคารใหม่ ๆ และการจัดสวนในมหาวิทยาลัยเป็นผลงานของเบซิล สเปนซ์ (Basil Spence)[36] ซิดนีย์ คิมเบอร์ (Sidney Kimber) และริก มาเทอร์ (Rick Mather) ภูมิทัศน์โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ที่แบ่งครึ่งโดยถนนมหาวิทยาลัย มีต้นไม้เรียงตามถนน และมีลำห้วยเล็ก ๆ ในสวน

วิทยาเขตอเวนิว

[แก้]
อาคารโรงเรียนทอนตัน

เนื่องจากวิทยาเขตไฮฟิลด์คับแคบ มีที่จอดรถน้อย ส่งผลให้มหาวิทยาลัยย้ายคณะมนุษยศาสตร์ไปยังที่ตั้งใหม่ คือวิทยาเขตอเวนิว (Avenue) ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนเทศบาลทอนตัน (Taunton College) ที่ทางเทศบาลเมืองเซาท์แฮมป์ตันขายให้มหาวิทยาลัยในราคา 2 ล้านปอนด์เมื่อ พ.ศ. 2536[37] ปัจจุบันอาคารโรงเรียนอยู่ในสภาพดี นอกจากนี้มหาวิทยาลัยได้ซ่อมสร้างต่อเติมอาคารใหม่ รวมถึงอาคารโบราณคดีมูลค่าสองล้านเจ็ดแสนปอนด์ด้วย[38]

ศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติ

[แก้]
ท่าน้ำศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติ

ศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติ ณ เมืองเซาท์แฮมป์ตัน (National Oceanography Centre, Southampton; NOCS) เป็นพื้นที่ทำการสอนและวิจัยส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่ท่าเรือเซาท์แฮมป์ตัน ห่างจากวิทยาเขตไฮฟิลด์ราว 5 กิโลเมตร ภายในศูนย์ฯ มีภาควิชาวิทยาศาสตร์โลกและทางทะเล รวมถึงศูนย์วิจัยของสภาวิจัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Environment Research Council) ด้วย[39] Five of the National Oceanography Centre's research divisions are based on the campus.[39] พื้นที่ศูนย์สมุทรศาสตร์เดิมทีเป็นพื้นที่ของท่าเรือ โดยได้เริ่มวางแผนงานราว พ.ศ. 2532 และก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2537 แม้จะประสบปัญหาการตัดงบประมาณเพราะความไม่แน่ใจว่าศูนย์วิจัยแห่งชาติกับมหาวิทยาลัยจะเข้ากันได้ดี[40] ครั้นสร้างเสร็จ เจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์ฯ เมื่อ พ.ศ. 2539

โรงพยาบาลกลางเซาท์แฮมป์ตัน

[แก้]

มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนในคณะแพทยศาสตร์และคณะสหเวชศาสตร์ ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ณ โรงพยาบาลกลางเซาท์แฮมป์ตัน (Southampton General Hospital) โดยร่วมมือกับสำนักบริการสุขภาพแห่งชาติ

วิทยาลัยศิลปกรรมวินเชสเตอร์

[แก้]

วิทยาลัยศิลปกรรมวินเชสเตอร์ (Winchester School of Art) ก่อตั้งเมื่อราว ๆ พ.ศ. 2500 ต่อมาได้สมทบเข้าเป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2539 เพื่อทำการเรียนการสอนและวิจัยในด้านศิลปะ สิ่งทอ รวมถึงการออกแบบ

วิทยาเขตมาเลเซีย

[แก้]

มหาวิทยาลัยมีวิทยาเขตนอกสหราชอาณาจักรที่รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ทำการสอนในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์[41][42]

ส่วนงาน

[แก้]

มหาวิทยาลัยประกอบด้วยคณะวิชาต่าง ๆ 8 คณะ แบ่งย่อยออกเป็นภาควิชาและสถาบันวิจัยได้หลายสถาบัน ได้แก่

  • คณะบริหารธุรกิจและนิติศาสตร์
    • ภาควิชานิติศาสตร์
    • ภาควิชาการจัดการ
    • วิทยาลัยศิลปกรรมวินเชสเตอร์
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
    • ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม
    • ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์
    • สถาบันวิจัยเสียงและการสั่น
  • คณะสหเวชศาสตร์
    • ภาควิชาสหเวชศาสตร์
  • คณะมนุษยศาสตร์
    • ภาควิชาโบราณคดี
    • ภาควิชาภาษาอังกฤษ
    • ภาควิชาภาพยนตรศึกษา (film studies)
    • ภาควิชาประวัติศาสตร์
    • ภาควิชาภาษาสมัยใหม่
    • ภาควิชาดนตรี
    • ภาควิชาปรัชญา
  • คณะแพทยศาสตร์
    • ภาควิชาแพทยศาสตร์
    • หน่วยวิจัยแพทยศาสตร์ทางเลือก (complementary medicine)
  • คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    • ภาควิชาชีววิทยา
    • ภาควิชาเคมี
    • ภาควิชาสมุทรศาสตร์และโลกศาสตร์
    • ศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติอังกฤษ
  • คณะวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรมศาสตร์
    • ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์และวิทยาการคอมพิวเตอร์
    • ภาควิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์
    • ศูนย์วิจัยออปโตอิเล็กทรอนิกส์
  • คณะสังคมศาสตร์
    • ภาควิชาครุศาสตร์
    • ภาควิชาภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
    • ภาควิชาคณิตศาสตร์
    • ภาควิชาจิตวิทยา
    • ภาควิชาสังคมศาสตร์
    • สถาบันวิจัยสถิติศาสตร์เซาท์แฮมป์ตัน
    • ศูนย์ศึกษาจีนร่วมสมัย
    • ศูนย์วิจัยประชากรศาสตร์

การเดินทางภายในมหาวิทยาลัย

[แก้]
รถบัสยูนิลิงก์ชนิดสองชั้นขณะผ่านหน้าหอสมุดฮาร์ตเลย์

เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีพื้นที่กระจัดกระจายตามจุดต่าง ๆ ทั่วเมือง จึงได้จัดให้มีรถบัสยูนิลิงก์ (Unilink) ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2539 ให้บริการแก่นักศึกษา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ในชั้นแรกมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการเดินรถเอง[43] นักศึกษา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่เมื่อซื้อตั๋วจะได้ส่วนลด และนักศึกษาหอพักจะมีสิทธิ์ใช้รถโดยไม่เสียค่าโดยสารเพิ่มเติม การเดินรถระยะแรกมีสองสาย คือ สายหนึ่งผ่านถนนพอร์ตสวูดไปจนถึงท่าเรือ อีกสายหนึ่งผ่านวิทยาเขตอเวนิว สองปีให้หลังมหาวิทยาลัยจ้างบริษัทเฟิร์สต์เพื่อเดินรถ[44][45] อย่างไรก็ตามเนื่องจากการบริการที่ไม่ดี ในปี พ.ศ. 2544 มหาวิทยาลัยจึงได้จัดตั้งบริษัทเดินรถขึ้นเอง โดยจ้างบริษัทภายนอกมาดำเนินการ ในครั้งแรกบริษัทมิโนวา (Minova) เป็นผู้ดำเนินการ ต่อมาบริษัทมิโนวาถูกซื้อกิจการ ทำให้บริษัทบลูสตาร์ (Bluestar) เข้ามาดำเนินการจนถึงปัจจุบัน

รถบัสยูนิลิงก์มี 4 สาย ในระยะแรกมี 2 สาย คือ U1 เดินระหว่างสนามบินเซาท์แฮมป์ตันถึงท่าเรือเซาท์แฮมป์ตัน และ U2 เดินระหว่างศาลาว่าการเมืองและตำบลบาสเสต (Bassett) ในเวลาต่อมาได้มีการเพิ่มรถอีกสองสายคือ U6 เดินระหว่างโรงพยาบาลกลางเซาท์แฮมป์ตันกับท่าเรือ และ U9 เดินระหว่างมหาวิทยาลัยและหมู่บ้านทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิตเชน (River Itchen)

เนื่องจากรถบัสยูนิลิงก์เป็นที่นิยมมากทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะสาย U1 ส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนรถมากขึ้น ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 บริษัทยูนิลิงก์จัดซื้อรถสองชั้นให้บริการเพิ่มเติมและยกเลิกรถเก่า[46][47]

อ้างอิง

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. "University of Southampton Calendar 2013/14 - Preface". University of Southampton. สืบค้นเมื่อ 2013-02-25.
  2. None (20 June 2013). Independent Schools Yearbook 2012–2013. ISBN 9781408181188.
  3. "Student lists". Senate House Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กันยายน 2010. สืบค้นเมื่อ 4 เมษายน 2013.
  4. Mann, John Edgar & Ashton, Peter (1998). Highfield, A Village Remembered. Halsgrove. ISBN 1-874448-91-4.
  5. Patterson, A. Temple (1962). "Henry Robinson Hartley and the Establishment of the Hartley Institution". The University of Southampton : A Centenary History of the Evolution and Development of the University of Southampton, 1862-1962. Southampton: The Camelot Press Ltd. pp. 9=-24.
  6. Patterson, A. Temple (1962). "Southampton in the Middle of the Nineteenth Century". The University of Southampton : A Centenary History of the Evolution and Development of the University of Southampton, 1862-1962. Southampton: The Camelot Press Ltd. pp. 1–9.
  7. Nash, Sally; Martin Sherwood (2002). "Growing Pains". University of Southampton : An Illustrated History. London: James and James. pp. 13–17. ISBN 0-907383-94-7.
  8. Patterson, A. Temple (1962). "Reorganization and Achievement: 1892-1902". The University of Southampton : A Centenary History of the Evolution and Development of the University of Southampton, 1862-1962. Southampton: The Camelot Press Ltd. pp. 89–107.
  9. Patterson, A. Temple (1962). ""The Old Hartley"". The University of Southampton : A Centenary History of the Evolution and Development of the University of Southampton, 1862-1962. Southampton: The Camelot Press Ltd. pp. 107–138.
  10. Nash, Sally; Martin Sherwood (2002). "War and the Years After, 1939-1952". University of Southampton : An Illustrated History. London: James and James. pp. 44–57. ISBN 0-907383-94-7.
  11. "Becoming a University". University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-29. สืบค้นเมื่อ 13 June 2012.
  12. 12.0 12.1 Nash, Sally; Martin Sherwood (2002). "Into the Premier League". University of Southampton : An Illustrated History. London: James and James. pp. 116–130. ISBN 0-907383-94-7.
  13. "Students' Union Building". Estate Development. University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-16. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  14. "University of Southampton Students' Union". Perkins Ogden Architects. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-20. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  15. "Jubilee Sports Centre". Estates Development. University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-16. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  16. "Jubilee Sports Complex". Rick Mather Architects. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-18. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  17. "Hartley Library Extension". University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-16. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  18. "George Thomas Student Services Building (B37)". Estates Development. University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-18. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  19. "George Thomas Building". Sustainable Planning Centre SISCo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-21. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  20. "Archaeology". Estate Development. University of Southampton. สืบค้นเมื่อ 23 June 2013.
  21. "University of Southampton: New Archaeology and E-Languages Building" (PDF). Perkins Odgen Architects. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-12-20. สืบค้นเมื่อ 23 June 2013.
  22. "EEE Building (B32)". Estate Development. University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-16. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  23. "EEE Building". John McAslan and Partners. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-13. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  24. "John McAslan and Partners: EEE Building University of Southampton". Architecture Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-07. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  25. "Institute of Developmental Sciences". Estate Development. University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-16. สืบค้นเมื่อ 23 June 2013.
  26. "Mountbatten Building". Estate Development. University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-02. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  27. "Case Study: Mountbatten Building, University of Southampton". WYG Group. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  28. "Fire destroys top research centre". news.bbc.co.uk. 31 October 2005. สืบค้นเมื่อ 2009-04-10.
  29. "Jestico & Whiles: Nanotechnology building, University of Southampton". Architecture Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-25. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  30. "Life Sciences Building (B85)". Estates Development. University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-11. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  31. "A Meeting Place of the Minds". NBBJ. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  32. "NBBJ: Life Sciences Building, the University of Southampton". Architecture Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-13. สืบค้นเมื่อ 22 June 2013.
  33. "Science and Engineering South Consortium (SES-5)". Ucl.ac.uk. 2013-05-09. สืบค้นเมื่อ 2013-08-17.
  34. "Our campuses: University of Southampton". University of Southampton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-06. สืบค้นเมื่อ 15 April 2011.
  35. Gavin Stamp, 'Giles Gilbert Scott' in Oxford Dictionary of National Biography, Oxford University Press, 2004.
  36. Nash, Sally; Martin Sherwood (2002). "Building a Vision". University of Southampton : An Illustrated History. London: James and James. pp. 272–281. ISBN 0-907383-94-7.
  37. Sally Nash and Martin Sherwood (2002). The University of Southampton: An Illustrated History. Southampton: University of Southampton. p. 276. ISBN 0907383947.
  38. "Archaeology overview". University of Southampton. สืบค้นเมื่อ 25 January 2013.
  39. 39.0 39.1 "National Oceanography Centre, Southampton". National Oceanography Centre. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 23 June 2013.
  40. Sally Nash and Martin Sherwood (2002). The University of Southampton: An Illustrated History. Southampton: University of Southampton. pp. 235–247. ISBN 0907383947.
  41. "University of Southampton: Malaysia Campus". University of Southampton. สืบค้นเมื่อ 17 January 2012.
  42. "University of Southampton: Malaysia" (PDF). สืบค้นเมื่อ 17 January 2012.[ลิงก์เสีย]
  43. "Bus Service 93/93a". University of Southampton Bulletin. 3 (20): 1. 3 February 1997.
  44. Sally Nash and Martin Sherwood (2002). The University of Southampton: An Illustrated History. James & James. p. 126. ISBN 0907383947.
  45. "A new look for Uni-link". University of Southampton Bulletin. 7 (45): 1. 3 September 2001.
  46. "Unilink - new fleet launches". Unilink (Bluestar). 4 September 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-12. สืบค้นเมื่อ 27 September 2013.
  47. Osborn, Steven (6 September 2013). "Unilink relaunch marks franchise anniversary". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-12. สืบค้นเมื่อ 27 September 2013.

ข้อมูลเพิ่มเติม

[แก้]
  • Patterson, A. Temple (1962). The University of Southampton : A Centenary History of the Evolution and Development of the University of Southampton, 1862–1962. Southampton: The Camelot Press Ltd.
  • Nash, Sally and Martin Sherwood (2002). University of Southampton: An Illustrated History. London: James and James
  • B. L. Clarkson (1971). "The Institute of Sound and Vibration Research, University of Southampton". Review of Physics in Technology. 2 (1): 1–24. Bibcode:1971RvPT....2....1C. doi:10.1088/0034-6683/2/1/301.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

50°56′05″N 1°23′45″W / 50.93463°N 1.39595°W / 50.93463; -1.39595