ทรัพย์อุปกรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บทความนี้ว่าด้วยกฎหมาย และคำบางคำเปลี่ยนทางมาที่นี่ สำหรับความหมายอื่นโปรดดู
หน้าแก้ความกำกวมสำหรับ อุปกรณ์, Accessory



อุปกรณ์ (อังกฤษ: accessory) หรือ ทรัพย์อุปกรณ์ (อังกฤษ: accessory thing) หมายถึง สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปรกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน (อังกฤษ: principal thing) เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณ เพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแลใช้สอยหรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อ หรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น[1] โดยทรัพย์ที่เป็นอุปกรณ์ย่อมตกติดตามไปกับทรัพย์ที่เป็นประธานทุกเมื่อ เว้นแต่จะมีการกำหนดกันเป็นอย่างอื่น

ตัวอย่างเช่น กรงนก เป็นสังหาริมทรัพย์ที่นำมาใช้กับนกซึ่งเป็นทรัพย์ประธาน เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษานก กับทั้งยังเป็นของใช้ประจำอยู่กับตัวนกเป็นอาจิณ ที่ได้มาสู่นกนั้นโดยเจ้าของนกกระทำด้วยประการอื่นใดนอกจากการติดต่อหรือปรับเข้าไว้ในฐานะที่กรงเป็นของใช้ประกอบกับนก ในกรณีฉะนี้ กรงนกจึงชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ของนก[2]

อนึ่ง อุปกรณ์นั้นแต่ก่อนเรียกกันว่า "ทรัพย์ส่วนประกอบ"[3] และ "เครื่องอุปกรณ์" [4]

เหตุผลของอุปกรณ์[แก้]

มานิตย์ จุมปา รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า

"บทบัญญัติเรื่องอุปกรณ์มีขึ้นก็เพื่อประโยชน์ในการใช้ทรัพย์ที่เป็นประธาน โดยกฎหมายกำหนดเป็นข้อสันนิษฐานไว้ว่า อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น[5]

...โดยมีเจตนารมณ์ที่จะให้ทรัพย์ที่โอนไปมีอุปกรณ์ใช้ประจำทรัพย์นั้นอย่างมีประสิทธิภาพ"[6]

ลักษณะของอุปกรณ์[แก้]

จากบทบัญญัติของกฎหมายไทย คือ ป.พ.พ. ม.147 ทำให้จำแนกลักษณะของอุปกรณ์ได้ ดังนี้[2]

อุปกรณ์เป็นสังหาริมทรัพย์[แก้]

อุปกรณ์ต้องเป็นสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์เคลื่อนที่ได้เท่านั้น เช่น ซื้อกรงมาใส่นก กรงย่อมเป็นอุปกรณ์ของนก แต่คอกม้า แม้ใช้ประโยชน์เยี่ยงเดียวกับกรงนกก็หาเป็นอุปกรณ์ของม้าไม่ เหตุว่าคอกม้าเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์เคลื่อนที่มิได้[2] ซึ่ง พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล) ประธานศาลฎีกา อธิบายถึง "สังหาริมทรัพย์" ในที่นี้ว่า[7]

"...คำว่า 'สังหาริมทรัพย์' ในมาตรา 147 เก็บถาวร 2009-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นี้ แม้จะใช้คำเดียวกับมาตรา 140 เก็บถาวร 2009-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แต่ความหมายที่ใช้ในมาตรา 147 นี้จำกัดเฉพาะแต่สังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีรูปร่างเท่านั้น โดยไม่รวมถึงสิทธิต่าง ๆ...ที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นได้ชัดจากต้นร่างภาษาอังกฤษ คำว่า 'สังหาริมทรัพย์' ในมาตรา 140 ใช้ว่า 'movable property' ในขณะที่มาตรา 147 ใช้ว่า 'movable thing'"

อุปกรณ์เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณ[แก้]

"อุปกรณ์ หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของ ทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณ เพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อ หรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น

อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราว ก็ยังไม่ขาดจากการเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น

อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น"
ป.พ.พ. ม.147

อุปกรณ์นั้น นอกจากเป็นสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังต้องเป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณ โดยปกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้นเอง เช่น กล่องดินสอย่อมเป็นอุปกรณ์ของดินสอ ซองใส่โทรศัพท์มือถือย่อมเป็นอุปกรณ์ของโทรศัพท์มือถือ หรือแม่แรงรถยนต์ก็ย่อมเป็นอุปกรณ์ของรถยนต์ เว้นแต่สังหาริมทรัพย์นั้นจะนำมาใช้กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราว ก็จะไม่ชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ เช่น ในฤดูฝนน้ำท่วมโรงนา เจ้าของโรงนาจึงจำต้องจัดหาแม่แรงมาดีดรถยนต์ให้พ้นน้ำ, นอกเหนือไปจากแม่แรงที่มีประจำรถอยู่แล้วอันหนึ่ง เขาได้จัดหามาเพิ่มอีกสามอันเพื่อการนี้, ดังนั้น แม่แรงทั้งสามอันที่จัดหามาเพิ่มนี้เป็นเพียงเพื่อใช้ชั่วคราว ไม่ชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ของรถ เว้นแต่แม่แรงที่ประจำรถอยู่แล้วนั้น[8]

ที่ว่า "โดยปกตินิยมเฉพาะถิ่น" นั้น เช่น ฝาหม้อแกงก็นิยมกันอยู่ว่าเป็นของใช้ประจำหม้อแกงจะขาดมิได้ ฝาจึงชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ของหม้อแกง[8] ขณะที่โค กระบือ ไถ และแอก แม้ใช้ทำนาเป็นประจำสม่ำเสมอ แต่ก็ไม่นิยมว่าเป็นของใช้ประจำเพื่อประโยชน์ของนาเป็นอาจิณ[9] เช่นเดียวกับสุนัข ก็ไม่มีใครนิยมว่าเป็นของใช้ประจำบ้านเพื่อประโยชน์ของเจ้าบ้านเป็นอาจิณฉะนั้น[10] เป็นต้น

ที่ว่า "โดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน" นั้น เช่น เจ้าของเรือยนต์เอาพายมาประจำเรือยนต์ไว้สำหรับแก้ขัดในกรณีที่เครื่องยนต์เกิดปัญหา แม้ปรกติพายกับเรือยนต์มิใช่ของคู่กัน แต่โดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของเรือยนต์แล้ว พายในกรณีนี้จึงเป็นอุปกรณ์ของเรือยนต์ เช่นเดียวกับกรอบที่ซื้อมาใส่รูป กรอบรูปย่อมชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ของรูป[10]

ฎ.399/2509 ว่า เครื่องจักรโรงสี แม้จะมีน้ำหนักหรือราคามากสักเท่าใด โดยสภาพย่อมถอดถอนโยกย้ายได้ มิใช่ทรัพย์ที่ติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน แต่ย่อมแยกออกจากตัวโรงสีได้โดยไม่ต้องทำลายหรือทำให้ตัวโรงสีนั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรง ฉะนั้น แม้เครื่องจักรจะเป็นสาระสำคัญ แต่ก็มิใช่ส่วนควบ เป็นแต่เพียงของใช้ประจำอยู่กับโรงสี จึงเป็นอุปกรณ์ของโรงสีเท่านั้น (วินิจฉัยโดยประชุมใหญ่ศาลฎีกา ครั้งที่ 4/2509)

ฎ.2003/2523 ว่า รถยนต์โจทก์ถูกชนเสียหายจนไม่อาจซ่อมได้ โจทก์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายคิดเท่าราคารถที่โจทก์ซื้อกับราคาค่ายางที่ติดรถกับยางอะไหล่ ยางรถและยางอะไหล่เป็นส่วนควบและอุปกรณ์ของตัวรถตามปรกติประเพณีการค้า ย่อมรวมอยู่ในราคาของรถที่ทำการซื้อขาย เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับรถ การเสื่อมค่าหรือราคาย่อมเป็นไปตามสภาพอยู่ด้วยกันทั้งหมด

อุปกรณ์มีเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน[แก้]

"จำเลยนำวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพง และอุปกรณ์เครื่องเสียง มาสู่รถที่เช่าซื้อก็เพื่อประโยชน์ของจำเลย มิใช่เพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธานคือรถที่เช่าซื้อ ทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่อุปกรณ์อันจะตกติดไปกับทรัพย์ประธานตาม ป.พ.พ. ม.147 วรรคท้าย"
ฎ.1814/2545

นอกจากนี้ อุปกรณ์ยังต้องเป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณ เพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น เช่น ปลอกแว่นตาที่มีไว้รักษาเลนส์แว่นตา ปลอกแว่นตาย่อมเป็นอุปกรณ์ของแว่นตา หรือผ้าคลุมรถย่อมเป็นอุปกรณ์ของรถ หรือพายที่เจ้าของเรือยนต์มีไว้ประจำเรือยนต์สำหรับแก้ขัดในกรณีที่เครื่องยนต์ไม่ทำงาน แม้โดยปรกติพายมิใช่ของคู่กับเรือยนต์ แต่โดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของเรือยนต์ที่มีไว้คู่กัน ประกอบกับเพื่อประโยชน์แก่การใช้สอบเรือยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ประธานนั้นแล้ว พายในกรณีนี้ก็ชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ของเรือยนต์ เป็นต้น[10]

แต่หากสังหาริมทรัพย์นั้นมีไว้เพื่อประโยชน์ของเจ้าของทรัพย์ประธานเอง มิใช่เพื่อประโยชน์ของทรัพย์ประธาน หรือมีเพียงเพื่อการประดับตกแต่งทรัพย์ประธาน เป็นต้น เช่นนี้ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ประธาน[11]

อุปกรณ์นั้นเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธาน[แก้]

อนึ่ง อุปกรณ์ยังต้องเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธาน โดยการนำมาติดต่อ หรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น หากเป็นคนอื่นนำมาก็ไม่ชื่อว่าเป็นอุปกรณ์

ตัวอย่างเช่น "...มีนกอยู่ แต่ไม่มีกรงใส่รักษาไว้ เกรงว่านกจะบินหนีไปเสีย จึงซื้อกรงมาใส่นกเพื่อรักษานกไว้ เป็นการเอากรงมาสู่นก กรงเป็นอุปกรณ์ของนก...แต่หากเป็นกรณีที่มีกรงนกทำด้วยงาช้างอย่างสวยงาม แต่เห็นว่าเป็นกรงเปล่า ๆ จึงไปหาซื้อนกมาใส่ เป็นการเอานกมาสู่กรง ไม่ใช่เอากรงไปสู่นก กรงในกรณีหลังนี้ไม่ใช่อุปกรณ์ของนก"[11]

ฎ.427-430/2500 ว่า ต้นฉำฉาปลูกอยู่ในที่ดิน เป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน, แต่ครั่งเป็นแมลงซึ่งคนนำไปปล่อยไว้ที่ต้นฉำฉา ไม่ใช่ส่วนควบหรืออุปกรณ์ของต้นฉำฉา, ผู้ที่ปล่อยครั่งเพาะไว้ย่อมมีสิทธิดีกว่าผู้อื่น, จำเลยตัดครั่งในที่ดินของโจทก์ โดยจำเลยพิพาทกรรมสิทธิ์ที่ดินกับโจทก์, การตัดกิ่งฉำฉา จำเลยไม่มีเจตนาทุจริต, แต่ถ้าจำเลยรู้ว่าเป็นครั่งของโจทก์ และเอาครั่งไปด้วยเจตนาลัก จำเลยก็อาจมีความผิดฐานลักทรัพย์

ผลของการเป็นอุปกรณ์[แก้]

"อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราว ก็ยังไม่ขาดจากการเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น

อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธาน เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น"
ป.พ.พ. ม.147 ว.2 และ ว.3

อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ประธาน เว้นแต่มีการกำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่น เช่น ซื้อขายรถยนต์กัน ผู้ขายจะไม่ส่งมอบยางอะไหล่กับแม่แรงรถหาได้ไม่ เว้นแต่ผู้ซื้อผู้ขายจะตกลงกันว่าไม่ต้องส่งมอบ[6] ทั้งนี้ เพราะอุปกรณ์เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า เจ้าของทรัพย์ประธานได้ตกลงโอนอุปกรณ์ของทรัพย์ประธานด้วยในเวลาเดียวกัน[12]

อนึ่ง อุปกรณ์ แม้แยกจากทรัพย์ประธานเป็นการชั่วคราว ก็ไม่ทำให้ขาดจากการเป็นอุปกรณ์ของทรัพย์ประธานนั้น เช่น นาย ก มีรถยนต์ใช้มานานหลายสิบปี โดยมีแม่แรงเป็นอุปกรณ์ของรถยนต์นั้นเสมอมา, เมื่อนาย ก ซื้อรถยนต์คันใหม่ ได้ย้ายแม่แรงจากรถยนต์คันเก่ามาใช้สอยกับรถยนต์คันใหม่, ครั้นเมื่อนาย ก ขายรถยนต์คันเก่าให้แก่นาย ข เขาต้องส่งมอบแม่แรงประจำรถคันเก่าให้ด้วย เว้นแต่ผู้ซื้อผู้ขายจะตกลงกันว่าไม่ต้องส่งมอบ[11]

มีข้อสังเกตว่า อุปกรณ์นั้นไม่มีการรวมสภาพเข้ากับทรัพย์ประธานจนแยกกันไม่ออกเช่นเดียวกับส่วนควบ อุปกรณ์นั้นสามารถแยกออกจากทรัพย์ประธานได้โดยไม่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์ทั้งสอง[6]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, 2551 : ออนไลน์.
  2. 2.0 2.1 2.2 บัญญัติ สุชีวะ, 2551 : 42.
  3. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์), 2549 : 148.
  4. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์), 2549 : 63-64.
  5. มานิตย์ จุมปา, 2551 : 94.
  6. 6.0 6.1 6.2 มานิตย์ จุมปา, 2551 : 98.
  7. พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล), 2502 : 384.
  8. 8.0 8.1 มานิตย์ จุมปา, 2551 : 95.
  9. เสนีย์ ปราโมช, 2521 : 70.
  10. 10.0 10.1 10.2 มานิตย์ จุมปา, 2551 : 96.
  11. 11.0 11.1 11.2 มานิตย์ จุมปา, 2551 : 97.
  12. มานิตย์ จุมปา, 2551 : 99.

อ้างอิง[แก้]

ภาษาไทย[แก้]

ภาษาต่างประเทศ[แก้]

  • Langenscheidt Translation Service. (2009). German Civil Code. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 12 September 2009).
  • Thailand Civil and Commercial Code (online). (n.d.). [Online]. Available: <click>. (Accessed: 26 September 2009).