ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ (อังกฤษ: charge on immovable property) เป็นทรัพยสิทธิประเภทหนึ่งที่ตัดทอนกรรมสิทธิ์ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ กล่าวคือ อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระติดพันอันเป็นเหตุให้ผู้รับประโยชน์มีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นคราว ๆ จากอสังหาริมทรัพย์นั้น หรือได้ใช้และถือประโยชน์แห่งอสังหาริมทรัพย์นั้นตามที่ระบุกันไว้ เช่น อนุญาตให้เพื่อนสามารถเข้าอาศัยในบ้านพักตากอากาศชายทะเลได้ในเดือนเมษายนของทุกปีเป็นเวลาสามสิบปี หรืออนุญาตให้เพื่อนได้รับเงินหนึ่งล้านบาทจากค่าเช่าที่ดินที่ตนเก็บมาทุกครั้งเป็นเวลาสามสิบปี เป็นต้น[1]

ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ย่อมชื่อว่าเป็นทรัพยสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์เท่านั้น หากเหนือสิ่งอื่นก็ไม่เป็นภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ยกที่ดินให้เพื่อนโดยตกลงว่าเพื่อนจะมาเฝ้าบ้านให้ในทุก ๆ ครั้งที่ตนไม่อยู่บ้าน เช่นนี้เป็นสิทธิเหนือบุคคลผู้มาเฝ้าบ้านนั้น มิใช่สิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์[2]

คำว่า "ภาระติดพัน" (อังกฤษ: charge) นั้น หมายความว่า ความผูกพันที่จะต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง[3] โบราณเขียนโดยไม่ประวิสรรชนีย์เป็น "ภารติดพัน"[4]

การได้มาซึ่งภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์[แก้]

"ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์นั้น จะก่อให้เกิดโดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตแห่งผู้รับประโยชน์ก็ได้

ถ้าไม่มีกำหนดเวลา ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์มีอยู่ตลอดชีวิตผู้รับประโยชน์

ถ้ามีกำหนดเวลา ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา 1403 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม"
ป.พ.พ. ม.1430
"ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระติดพันไซร้ ท่านว่าภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์นั้นจะโอนกันไม่ได้แม้โดยทางมรดก"
ป.พ.พ. ม.1431

ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์จะได้มาก็แต่โดยทางนิติกรรมเท่านั้น ไม่อาจได้มาโดยทางอื่น เป็นต้นว่า ทางอายุความเช่นเดียวกับภาระจำยอม (อังกฤษ: servitude)[2]

เนื่องจากภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์เป็นทรัพยสิทธิ (อังกฤษ: real right; ละติน: jus in rem) ประเภทหนึ่ง นิติกรรมการได้มา เปลี่ยนแปลง ระงับ และกลับคืนมาของภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์จึงอยู่ในบังคับที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกับทรัพยสิทธิอื่น ๆ มิฉะนั้น ไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ จะเป็นแต่บุคคลสิทธิ (อังกฤษ: personal right; ละติน: jus in personam) เท่านั้น กล่าวคือ จะเป็นแต่สิทธิที่ใช้ยันกันได้เฉพาะคู่กรณีเท่านั้น ไม่อาจใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. ม.1299[ลิงก์เสีย] ม.1300[ลิงก์เสีย] และ ม.1301[ลิงก์เสีย][5]

อนึ่ง ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์นั้นจะก่อให้เกิดโดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตแห่งผู้รับประโยชน์ก็ได้ ถ้าไม่ได้กำหนดเวลากัน กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากำหนดเวลานั้นคือชั่วชีวิตผู้รับประโยชน์ แต่ถ้ามีการกำหนดเวลากัน กฎหมายห้ามกำหนดเกินสามสิบปี ถ้ากำหนดไว้นานกว่านั้นให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี และจะต่ออายุก็ได้แต่ต้องไม่เกินสามสิบปีนับแต่วันต่ออายุ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. ม.1430 และ ม.1403 ว.3

นอกจากนี้ ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์นั้นจะโอนกันไม่ได้แม้โดยทางมรดก เว้นแต่จะกำหนดในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระติดพันนั้นว่าให้โอนได้ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. ม.1431

ผลของภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์[แก้]

"ถ้าผู้รับประโยชน์ละเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญซึ่งระบุไว้ใน นิติกรรมก่อตั้งภาระติดพันนั้นไซร้ ท่านว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสิทธิของผู้รับประโยชน์เสียก็ได้"
ป.พ.พ. ม.1432
"ถ้าเจ้าของทรัพย์สินมิได้ชำระหนี้ตามภาระติดพันไซร้ ท่านว่านอกจากทางแก้สำหรับการไม่ชำระหนี้ ผู้รับประโยชน์อาจขอให้ศาลตั้งผู้รักษาทรัพย์เพื่อจัดการทรัพย์สินและชำระหนี้แทนเจ้าของ หรือสั่งให้เอาทรัพย์สินออกขายทอดตลาด และเอาเงินที่ขายได้จ่ายให้ผู้รับประโยชน์ตามจำนวนที่ควรได้ เพราะเจ้าของทรัพย์สินไม่ชำระหนี้กับทั้งค่าแห่งภาระติดพันด้วย

ถ้าเจ้าของทรัพย์สินหาประกันมาให้แล้ว ศาลจะไม่ออกคำสั่งตั้งผู้รักษาทรัพย์หรือคำสั่งขายทอดตลาด หรือจะถอนผู้รักษาทรัพย์ที่ตั้งขึ้นไว้นั้นก็ได้"
ป.พ.พ. ม.1433
"ท่านให้นำ มาตรา 1388 ถึง 1395 และมาตรา 1397 ถึง 1400 เก็บถาวร 2009-05-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มาใช้บังคับถึงภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์โดยอนุโลม"
ป.พ.พ. ม.1434

หน้าที่ของผู้รับประโยชน์ในการปฏิบัติตามเงื่อนไข[แก้]

ตามกฎหมายไทยแล้วนั้น เมื่อบุคคลหนึ่งทำนิติกรรมให้อสังหาริมทรัพย์ของตนตกอยู่ในภาระติดพันเพื่อประโยชน์ของอีกบุคคลหนึ่งโดยบริบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว บุคคลผู้รับประโยชน์จากภาระติดพันดังกล่าวมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดในนิติกรรมนั้นด้วย หาไม่แล้วคู่กรณีอีกฝ่ายสามารถบอกเลิกนิติกรรมเช่นว่าได้ (ป.พ.พ. ม.1432)

ความรับผิดของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในการไม่ชำระหนี้[แก้]

นอกจากนี้ ในกรณีที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีหนี้จะต้องชำระตามภาระติดพัน ถ้าไม่ชำระ ผู้รับประโยชน์อาจขอให้ศาลตั้งผู้รักษาทรัพย์เพื่อจัดการทรัพย์สินของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์และชำระหนี้แทนเจ้าของผู้นั้นด้วย หรืออาจร้องขอให้ศาลสั่งให้เอาทรัพย์สินของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ออกขายทอดตลาด แล้วนำเงินที่ได้จ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามจำนวนที่เขาควรได้ แต่ถ้าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์สามารถหาประกันมาให้ได้ ศาลจะไม่ออกคำสั่งเช่นนั้นหรือจะถอนคำสั่งตั้งผู้รักษาทรัพย์ดังกล่าวก็ได้ (ป.พ.พ. ม.1433)

บทอนุโลมแก่ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์[แก้]

บทอนุโลมประกอบ ป.พ.พ. ม.1434


"เจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์หรือในสามยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์"
ป.พ.พ. ม.1388
"ถ้าความต้องการแห่งเจ้าของสามยทรัพย์เปลี่ยนแปลงไป ท่านว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ให้สิทธิแก่เจ้าของสามยทรัพย์ที่จะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ได้"
ป.พ.พ. ม.1389
"ท่านมิให้เจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก"
ป.พ.พ. ม.1390
"เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง ในการนี้ เจ้าของสามยทรัพย์จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์ได้ก็แต่น้อยที่สุดตามพฤติการณ์

เจ้าของสามยทรัพย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเองรักษาซ่อมแซมการที่ได้ทำไปแล้วให้เป็นไปด้วยดี แต่ถ้าเจ้าของภารยทรัพย์ได้รับประโยชน์ด้วยไซร้ ท่านว่าต้องออกค่าใช้จ่ายตามส่วนแห่งประโยชน์ที่ได้รับ"
ป.พ.พ. ม.1391
"ถ้าภาระจำยอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ต้องไม่ทำให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง"
ป.พ.พ. ม.1392
"ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายหรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น

ท่านว่า จะจำหน่ายหรือทำให้ภาระจำยอมตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่นต่างหากจากสามยทรัพย์ไม่ได้"
ป.พ.พ. ม.1393
"ถ้ามีการแบ่งแยกภารยทรัพย์ ท่านว่าภาระจำยอมยังคงมีอยู่ทุกส่วนที่แยกออก แต่ถ้าในส่วนใดภาระจำยอมนั้นไม่ใช้และใช้ไม่ได้ตามรูปการ ท่านว่าเจ้าของส่วนนั้นจะเรียกให้พ้นจากภาระจำยอมก็ได้"
ป.พ.พ. ม.1394
"ถ้ามีการแบ่งแยกสามยทรัพย์ ท่านว่าภาระจำยอมยังคงมีอยู่เพื่อประโยชน์แก่ทุกส่วนที่แยกออกนั้น แต่ถ้าภาระจำยอมนั้นไม่ใช้และใช้ไม่ได้ตามรูปการเพื่อประโยชน์แก่ส่วนใดไซร้ ท่านว่าเจ้าของภารยทรัพย์จะเรียกให้พ้นจากภาระจำยอมอันเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนนั้นก็ได้"
ป.พ.พ. ม.1395
"ถ้าภารยทรัพย์หรือสามยทรัพย์สลายไปทั้งหมด ท่านว่าภาระจำยอมสิ้นไป"
ป.พ.พ. ม.1397
"ถ้าภารยทรัพย์และสามยทรัพย์ตกเป็นของเจ้าของคนเดียวกัน ท่านว่าเจ้าของจะให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมก็ได้ แต่ถ้ายังมิได้เพิกถอนทะเบียนไซร้ ภาระจำยอมยังคงมีอยู่ในส่วนบุคคลภายนอก"
ป.พ.พ. ม.1398
"ภาระจำยอมนั้น ถ้ามิได้ใช้สิบปี ท่านว่าย่อมสิ้นไป"
ป.พ.พ. ม.1399
"ถ้าภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมนั้นสิ้นไป แต่ถ้าความเป็นไปมีทางให้กลับใช้ภาระจำยอมได้ไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมนั้นกลับมีขึ้นอีกแต่ต้องยังไม่พ้นอายุความที่ระบุไว้ในมาตราก่อน

ถ้าภาระจำยอมยังเป็นประโยชน์แก่สามยทรัพย์อยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับภาระอันตกอยู่แก่ภารยทรัพย์แล้ว ประโยชน์นั้นน้อยนักไซร้ ท่านว่าเจ้าของภารยทรัพย์จะขอให้พ้นจากภาระจำยอมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ แต่ต้องใช้ค่าทดแทน"
ป.พ.พ. ม.1400

อนึ่ง ป.พ.พ. ม.1434 ยังกำหนดให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องมาใช้แก่กรณีภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ด้วยโดยอนุโลม คือ บทบัญญัติในเรื่องภาระจำยอมตั้งแต่ ม.1388-1395 และ ม.1397-1400 เก็บถาวร 2009-05-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ส่งผลเกี่ยวกับภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ดังนี้

1. เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ภายในภาระติดพัน ไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในอสังหาริมทรัพย์นั้นซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ผู้รับประโยชน์ (ป.พ.พ. ม.1388)

2. ถ้าความต้องการของผู้รับประโยชน์เปลี่ยนแปลงไป ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ให้สิทธิแก่เขาที่จะทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่อสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ภายในภาระติดพัน (ป.พ.พ. ม.1389)

3. เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ภายในภาระติดพันจะประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระติดพันลดไปหรือเสื่อมความสะดวกหาได้ไม่ (ป.พ.พ. ม.1390)

4. ผู้รับประโยชน์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระติดพัน แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ในการนี้ เขาจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่อสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ภายในภาระติดพันได้ก็แต่น้อยที่สุดตามพฤติการณ์ ป.พ.พ. ม.1391 ว.1)

5. ผู้รับประโยชน์ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเองรักษาซ่อมแซมการที่ได้ทำไปแล้วให้เป็นไปด้วยดี แต่ถ้าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ภายในภาระติดพันได้รับประโยชน์ด้วย เขาก็ต้องออกค่าใช้จ่ายตามส่วนแห่งประโยชน์ที่ได้รับ (ป.พ.พ. ม.1391 ว.2)

6. ถ้าภาระติดพันแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นอาจเรียกให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ต้องไม่ทำให้ความสะดวกของผู้รับประโยชน์ลดน้อยลง (ป.พ.พ. ม.1392)

7. ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระติดพัน ภาระติดพันนั้นย่อมติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายหรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น แต่การจะจำหน่ายหรือทำให้ภาระจำยอมตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่นต่างหากจากของผู้รับประโยชน์ในภาระติดพันไม่ได้ (ป.พ.พ. ม.1393)

8. ถ้ามีการแบ่งแยกอสังหาริมทรัพย์ ภาระติดพันยังคงมีอยู่ทุกส่วนที่แยกออก แต่ถ้าในส่วนใดภาระติดพันนั้นไม่ใช้และใช้ไม่ได้ตามรูปการ เจ้าของอสังหาริมทรัพ์ส่วนนั้นจะเรียกให้อสังหาริมทรัพย์ตนพ้นจากภาระติดพันก็ได้ (ป.พ.พ. ม.1394)

9. ถ้ามีการแบ่งแยกประโยชน์ที่ได้รับจากภาระติดพันนั้น ภาระติดพันยังคงมีอยู่เพื่อประโยชน์แก่ทุกส่วนที่แยกออกนั้น แต่ถ้าภาระติดพันนั้นไม่ใช้และใช้ไม่ได้ตามรูปการเพื่อประโยชน์แก่ส่วนใด เจ้าของอสังหาริมทรัพ์ส่วนนั้นจะเรียกให้อสังหาริมทรัพย์ตนพ้นจากภาระติดพันก็ได้ (ป.พ.พ. ม.1395)

10. ถ้าอสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ภายในภาระติดพันหรือประโยชน์ที่ได้รับจากภาระติดพันได้สลายไปทั้งหมด ภาระติดพันสิ้นไป (ป.พ.พ. ม.1397)

11. ถ้าอสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ภายในภาระติดพันและประโยชน์ที่ได้รับจากภาระติดพันตกเป็นของคน ๆ เดียวกัน เจ้าของอสังหาริมทรัพย์จะให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระติดพันก็ได้ แต่ถ้ายังมิได้เพิกถอนทะเบียน ภาระติดพันยังคงมีอยู่ในส่วนบุคคลภายนอก (ป.พ.พ. ม.1398)

12. ภาระติดพันนั้น ถ้ามิได้ใช้สิบปี ย่อมสิ้นไป (ป.พ.พ. ม.1399)

13. ถ้าภาระติดพันหมดประโยชน์แก่ผู้รับประโยชน์ ภาระติดพันนั้นสิ้นไป แต่ถ้าเป็นไปได้ที่ภาระติดพันนั้นอาจจะเป็นประโยชน์ขึ้นมาได้อีกภายในสิบปีหลังจากการสิ้นไปดังกล่าว ภาระติดพันก็จะกลับมีขึ้นได้อีกหน (ป.พ.พ. ม.1340 ว.1)

14. ถ้าภาระติดพันยังเป็นประโยชน์แก่ผู้รับประโยชน์อยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับภาระอันตกอยู่แก่อสังหาริมทรัพย์นั้นแล้ว ประโยชน์นั้นน้อยเหลือใจ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ภายในภาระติดพันจะขอให้พ้นจากภาระติดพันทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ แต่ต้องใช้ค่าทดแทน (ป.พ.พ. ม.1340 ว.2)

การสิ้นสุดลงของภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์[แก้]

ตามกฎหมายไทยแล้ว อสังหาริมทรัพย์ย่อมพ้นจากการตกอยู่ภายในบังคับแห่งภาระติดพันในกรณีดังต่อไปนี้[6]

1. หากกำหนดว่าให้มีภาระติดพันถึงเมื่อไร เมื่อครบกำหนดนั้น ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ก็สิ้นสุดลง (ป.พ.พ. ม.1430 ว.3)

2. เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ภายในภาระติดพันบอกเลิกนิติกรรมที่ก่อให้เกิดภาระติดพันนั้น เนื่องจากผู้รับประโยชน์ละเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในนิติกรรมดังกล่าว (ป.พ.พ. ม.1432)

3. อสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ภายในภาระติดพันได้สูญสลายไปทั้งหมด (ป.พ.พ. ม.1434 ประกอบกับ ม.1397)

4. อสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ภายในภาระติดพันตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับประโยชน์ หรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้รับโอนภาระติดพันมายังตน (ป.พ.พ. ม.1434 ประกอบกับ ม.1389)

5. ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้รับการใช้เป็นเวลาสิบปี (ป.พ.พ. ม.1434 ประกอบกับ ม.1399)

6. ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์หมดประโยชน์แก่ผู้รับประโยชน์แล้ว (ป.พ.พ. ม.1434 ประกอบกับ ม.1400)

เชิงอรรถ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. มานิตย์ จุมปา, 2551 : 450.
  2. 2.0 2.1 มานิตย์ จุมปา, 2551 : 451.
  3. ราชบัณฑิตยสถาน, 2551 : ออนไลน์.
  4. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์), 2549 : 267.
  5. มานิตย์ จุมปา, 2551 : 452.
  6. มานิตย์ จุมปา, 2551 : 453.

ภาษาไทย[แก้]

ภาษาต่างประเทศ[แก้]

  • Langenscheidt Translation Service. (2009). German Civil Code. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 12 September 2009).
  • Thailand Civil and Commercial Code (online). (n.d.). [Online]. Available: <click>. (Accessed: 26 September 2009).

ดูเพิ่ม[แก้]