ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าอ็องรีที่ 1 แห่งฝรั่งเศส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าอ็องรีที่ 1 แห่งฝรั่งเศส
พระมหากษัตริย์แห่งชาวแฟรงก์
ครองราชย์20 กรกฎาคม พ.ศ. 1574 – 4 สิงหาคม พ.ศ. 1603
ก่อนหน้าพระเจ้ารอแบร์ที่ 2 แห่งฝรั่งเศส
ถัดไปพระเจ้าฟิลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส
พระราชสมภพ20 กรกฎาคม พ.ศ. 1574
สวรรคต4 สิงหาคม พ.ศ. 1603
พระอัครมเหสีมาทิลดาแห่งฟรีเชีย
อันนาแห่งเคียฟ
ราชวงศ์กาเปเซียง
พระราชบิดาพระเจ้ารอแบร์ที่ 2 แห่งฝรั่งเศส
พระราชมารดากงส์ต็องส์แห่งอาร์ล

พระเจ้าอ็องรีที่ 1 แห่งฝรั่งเศส (20 กรกฎาคม พ.ศ. 1574 – 4 สิงหาคม พ.ศ. 1603) พระมหากษัตริย์แห่งชาวแฟรงก์ที่ครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. 1574 จนกระทั่งพระองค์สวรรคต พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 38 แห่งฝรั่งเศส และเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์กาเปเตียง พระราชบิดาของพระองค์คือพระเจ้ารอแบร์ที่ 2 แห่งฝรั่งเศส และพระราชมารดาของพระองค์คือกงส์ต็องส์แห่งอาร์ล พระมหากษัตริย์ที่ได้ครองราชย์ต่อจากพระองค์คือพระเจ้าฟีลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส

ประวัติ

[แก้]

อ็องรีเป็นสมาชิกของราชวงศ์กาเปเซียง เสด็จพระราชสมภพในแร็งส์ เป็นพระโอรสของพระเจ้ารอแบร์ที่ 2 กับกงส์ต็องส์แห่งอาร์ล[1]

พระองค์ได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสที่อาสนวิหารแร็งส์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1027[2] ขณะที่พระบิดายังมีชีวิตอยู่ตามธรรมเนียมของชาวกาเปเซียง พระองค์ไม่ค่อยมีอิทธิพลและอำนาจจนกระทั่งกลายเป็นผู้ปกครองเพียงหนึ่งเดียวหลังการสิ้นพระชนม์ของพระบิดา

รัชสมัยของอ็องรีที่ 1 ไม่ต่างกับกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ โดดเด่นในเรื่องการต่อสู้แย่งชิงอาณาเขต ตอนแรกพระองค์เคยร่วมมือกับพระอนุชา รอแบร์ ก่อกบฏต่อพระบิดาในปี ค.ศ. 1025 โดยมีพระมารดาให้การสนับสนุน ทว่าพระมารดาสนับสนุนให้รอแบร์เป็นทายาทของกษัตริย์เฒ่าที่ต่อมาสิ้นพระชนม์ ทิ้งให้อ็องรีต้องรับมือกับพี่น้องร่วมสายเลือดที่เป็นกบฏ[3] ในปี ค.ศ. 1032 อ็องรีเอาใจพระอนุชาด้วยการมอบดัชชีแห่งบูร์กอญ[3] ที่พระบิดาเคยมอบให้พระองค์ในปี ค.ศ. 1016[4] ให้

อ็องรีช่วยดยุคน้อยวิลเลียมแห่งนอร์ม็องดี (ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต) ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งปราบปรามการปฏิวัติของข้าราชบริพารของวิลเลียม ในปี ค.ศ. 1047 อ็องรีรักษาตำแหน่งดยุคไว้ให้วิลเลียมได้ด้วยชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือข้าราชบริพารของวิลเลียมที่สมรภูมิวาแล็สดูน ใกล้กับก็อง[5] ทว่าต่อมาอ็องรีกลับสนับสนุนเหล่าบารอนให้ต่อต้านวิลเลียม[6]

ในปี ค.ศ. 1051 วิลเลียมแต่งงานกับมาทิลดา บุตรสาวของเคานต์แห่งฟลานเดอส์กับพระขนิษฐาของพระองค์ อาเดลา ซึ่งอ็องรีมองว่าเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ของพระองค์[7] ในปี ค.ศ. 1054 และอีกครั้งในปี ค.ศ. 1057 อ็องรีบุกนอร์ม็องดี แต่พระองค์พ่ายแพ้ในทั้งสองครั้ง[7]

พระเจ้าอ็องรีที่ 1 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1060 ในวินทรีอ็องบรี ประเทศฝรั่งเศส และถูกฝังในมหาวิหารแซ็ง-เดอนี พระโอรสของพระองค์ พระเจ้าฟีลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส สืบทอดราชบัลลังก์ต่อด้วยพระชนมายุเพียง 7 พรรษา พระราชินีของอ็องรี แอนน์แห่งเคียฟ ปกครองเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นเวลาหกปี ในตอนที่สิ้นพระชนม์ อ็องรีกำลังปิดล้อมตีแมร์ที่ถูกชาวนอร์มันยึดครองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1058

การอภิเษกสมรส

[แก้]

อ็องรีที่ 1 ถูกหมั้นหมายกับมาทิลดา พระธิดาของค็อนราทที่ 2 จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่มาทิลดาสิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันควรในปี ค.ศ. 1034[8] ต่อมาอ็องรีอภิเษกสมรสกับมาทิลดาแห่งฟริเซีย แต่มาทิลดาสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1044[9] หลังการผ่าท้องคลอด

อ็องรีอภิเษกสมรสครั้งที่สามกับแอนน์แห่งเคียฟเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1051[9] ทั้งคู่มีพระโอรสธิดาสี่คน คือ

  1. พระเจ้าฟีลิปที่ 1[10]
  2. แอมา
  3. รอแบร์
  4. อูกมหาราชแห่งแวร์ม็องดัว[11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Jim Bradbury, The Capetians: The History of a Dynasty, (Bloomsbury, 2007), 93.
  2. William W. Clark, Medieval Cathedrals, (Greenwood Publishing, 2006), 87.
  3. 3.0 3.1 Elizabeth Hallam and Judith Everard, Capetian France 987-1328, (Routledge, 2013), 95.
  4. Jim Bradbury, The Capetians: The History of a Dynasty, 100.
  5. David C Douglas, William the Conqueror, (Yale University Press, 1999), 1026.
  6. R. Allen Brown, The Normans and the Norman Conquest, (Boydell Press, 1969), 49.
  7. 7.0 7.1 Jim Bradbury, The Capetians: The History of a Dynasty, 106-108.
  8. Herwig Wolfram, Conrad II, 990-1039: Emperor of Three Kingdoms, transl. Denise A Kaiser, (The Pennsylvania State University Press, 2000), 38.
  9. 9.0 9.1 Jim Bradbury, The Capetians: The History of a Dynasty, 108-109.
  10. Jim Bradbury, The Capetians: The History of a Dynasty, (Bloomsbury Publishing, 2007), 111.
  11. Gislebertus (of Mons), Chronicle of Hainaut, transl. Laura Napran, (The Boydell Press, 2005), 28 note108.