พระเจ้าฟีลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส
พระเจ้าฟีลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส | |
---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งชาวแฟรงก์ | |
ครองราชย์ | 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1059 - 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1108 |
ราชาภิเษก | 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1059 |
ก่อนหน้า | พระเจ้าอ็องรีที่ 1 แห่งฝรั่งเศส |
ถัดไป | พระเจ้าหลุยส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศส |
พระราชสมภพ | 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1052 |
สวรรคต | 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1108 เมอเลิง, ในประเทศฝรั่งเศส |
พระอัครมเหสี | เบอร์ธาแห่งฮอลแลนด์ สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส แบร์ทราด เดอ มงฟอร์ สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส |
พระราชบุตร | พระเจ้าหลุยส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศส |
ราชวงศ์ | กาเปเตียง |
พระราชบิดา | พระเจ้าอ็องรีที่ 1 แห่งฝรั่งเศส |
พระราชมารดา | อันนาแห่งเคียฟ |
พระเจ้าฟีลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส (อังกฤษ: Philip I of France หรือ Philip the Amorous[1] หรือ ฝรั่งเศส: Philippe I de France) (23 พฤษภาคม ค.ศ. 1052 - 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1108) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งชาวแฟรงก์ในราชวงศ์กาเปเตียง ผู้ทรงครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศสระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1059 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1108 รัชสมัยของพระองค์ก็เช่นเดียวกับรัชสมัยของกษัตริย์ของราชวงศ์กาเปเตียงเป็นรัชสมัยที่ยืดยาว พระองค์ทรงได้รับราชบัลลังก์ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากสมัยที่ตกต่ำของพระราชบิดาและทรงได้ดินแดน เวอแซ็ง (Vexin) และ บูร์ก (Bourges) เข้ามาเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
พระเจ้าฟีลิปที่ 1 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1052 เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าอ็องรีที่ 1 แห่งฝรั่งเศสและอันนาแห่งเคียฟ (Anne of Kiev) พระนามของพระองค์มาจากภาษากรีก “Philippos” ที่แปลว่า “ผู้รักม้า” ซึ่งเป็นชื่อที่แปลกสำหรับยุโรปตะวันตกในขณะนั้น เป็นชื่อที่ได้รับพระราชมารดาผู้ทรงมาจากยุโรปตะวันออก ฟีลิปขึ้นครองราชสมบัติเมื่อมีพระชนมายุได้ 7 พรรษา[2] โดยมีพระราชมารดาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จนพระชนมายุได้ 14 พรรษาในปี ค.ศ. 1066 อานแห่งเคียฟจึงเป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศสองค์แรกที่ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อานทรงเป็นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมกับบอลด์วินที่ 5 เคานต์แห่งแฟลนเดอร์ส (Baldwin V, Count of Flanders)
พระเจ้าฟีลิปอภิเษกสมรสครั้งแรกกับเบอร์ธาแห่งฮอลแลนด์บุตรีของฟลอริสที่ 1 เคานต์แห่งฮอลแลนด์ (Floris I, Count of Holland) ในปี ค.ศ. 1072 แม้ว่าจะมีพระราชโอรสที่เป็นรัชทายาทตามพระราชประสงค์ แต่พระเจ้าฟีลิปทรงหันไปหลงรักกับแบร์ทราด เดอ มงฟอร์ ภริยาของฟุลก์ที่ 4 เคานต์แห่งอ็องชู (Fulk IV, Count of Anjou) พระองค์จึงทรงหย่ากับเบอร์ธาแห่งฮอลแลนด์โดยทรงกล่าวหาว่าเบอร์ธาอ้วนเกินไป พระเจ้าฟีลิปทรงเสกสมรสกับเบอร์เทรด์เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1092 ในปี ค.ศ. 1094 พระองค์ทรงถูกตัดขาดจากศาสนา (excommunicate) โดยอูกแห่งดี (Hugh of Die) อาร์ชบิชอปแห่งลียงเป็นครั้งแรก หลังจากไม่มีข่าวอะไรอยู่เป็นเวลานานสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ก็ทรงประกาศคว่ำบาตรเป็นครั้งที่สองในสภาสังคายนาแห่งแคลร์มง (Council of Clermont) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1095 การคว่ำบาตรถูกยกเลิกหลายครั้ง เมื่อพระเจ้าฟีลิปทรงสัญญาว่าจะหันหลังให้แบร์ทราด แต่ทุกครั้งพระองค์ก็ทรงกลับไปหาแบร์ทราด หลังจากปี ค.ศ. 1104 ก็ไม่มีการคว่ำบาตรอีก ในฝรั่งเศสเองอีโวแห่งชาร์ตร์ (Ivo of Chartres) อาร์ชบิชอปแห่งชาร์ตร์ก็ต่อต้านพระเจ้าฟีลิป
สังคายนาแห่งแคลร์มงต์เป็นจุดเริ่มของสงครามครูเสดครั้งที่ 1 เมื่อเริ่มแรกพระเจ้าฟีลิปก็มิได้ทรงสนับสนุนเพราะทรงมีความขัดแย้งกับสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 และถึงอย่างไรก็ตามพระสันตะปาปาเออร์บันก็ไม่ทรงสามารถให้พระเจ้าฟีลิปเข้าร่วมได้เพราะทรงไปประกาศคว่ำบาตรในสภาการประชุมแต่อูกที่ 1 แห่งแวร์ม็องดัว (Hugh I of Vermandois) พระอนุชาเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเข้าร่วมสงคราม
พระเจ้าฟีลิปเสด็จสวรรคตที่ปราสาทที่เมอเลิง (Melun) และทรงได้รับการบรรจุที่แซ็ง-เบอนัว-เซอร์-ลัวร์ (Saint-Benoît-sur-Loire) ไม่ใช่ที่มหาวิหารแซ็ง-เดอนีที่บรรจุพระมหากษัตริย์และพระประยูรญาติองค์อื่นๆ หลังจากการเสด็จสวรรคตแล้วพระราชโอรสก็ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งก็มิได้เป็นไปอย่างราบรื่นเพราะมีผู้ท้าทายสิทธิ ตามคำกล่าวของอธิการซูว์เฌแห่งแซ็ง-เดอนีที่ว่า:
“ | … พระเจ้าฟีลิปทรงอ่อนแอลงทุกวัน เพราะหลังจากที่ทรงลักตัวเคานเทสแห่งอองชูไปแล้วพระองค์ก็ไม่ทรงสามารถทำอะไรที่ควรค่าต่อพระราชภารกิจของพระเจ้าแผ่นดิน; ทรงเต็มไปด้วยราคะสำหรับสตรีที่ทรงนำมากักตัว, ทรงมอบพระวรกายและพระทัยไปกับความลุ่มหลงทั้งหมด ที่ทำให้ทรงหมดความสนพระทัยในกิจการการบ้านเมือง และทรงหาแต่ความสำราญจนเกินขอบเขตจนทรงเลิกสนพระทัยกับพระวรกายของพระองค์เอง ที่ทรงเคยเป็นผู้มีความสง่างาม สิ่งเดียวที่รักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรคือความกลัวและความรักที่ทรงมีต่อการสืบราชบัลลังก์ของพระราชโอรส เมื่อมีพระชนมายุได้เกือบหกสิบพรรษาพระองค์ก็ทรงยุติการเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงสูดลมหายใจสุดท้ายที่ปราสาทแห่งเมอเลิง-เซอร์-แซนน์ ต่อพระพักตร์ของหลุยส์[พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา] ...ร่างของพระองค์ได้รับการแห่ไปยังอารามแซ็ง-เบอนัว-เซอร์-ลัวร์, ตามพระราชประสงค์ที่ระบุไว้ มีบางคนที่กล่าวว่าได้ยินกับหูตนเองถึงสาเหตุที่ไม่มีพระประสงค์จะบรรจุในที่เดียวกับบรรพบุรุษของพระองค์ที่อารามแซงต์เดอนีส์ว่าพระองค์มิได้ทรงปฏิบัติต่อวัดเช่นเดียวกับที่ผู้อื่นได้ทำ และถ้าฝังร่วมกับพระเจ้าแผ่นดินผู้มีพระราชานุภาพอื่น ๆ พระบรมศพของพระองค์ก็คงจะไม่มีความหมายแต่อย่างใด | ” |
อ้างอิง
[แก้]ดูเพิ่ม
[แก้]