พระพุทธชินราช
พระพุทธชินราช | |
---|---|
พระพุทธชินราช (เฉพาะองค์พระไม่มีเรือนแก้ว) | |
ชื่อเต็ม | พระพุทธชินราช |
ชื่อสามัญ | หลวงพ่อใหญ่ |
ประเภท | พระพุทธรูป |
ศิลปะ | ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หมวดพระพุทธชินราช |
ความกว้าง | 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว |
ความสูง | 7 ศอก |
วัสดุ | สำริด ลงรักปิดทอง |
สถานที่ประดิษฐาน | พระวิหารด้านทิศตะวันตก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร |
ความสำคัญ | พระพุทธรูปสำคัญ |
หมายเหตุ | มีซุ้มเรือนแก้ว ได้รับถวาย เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2469 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา |
พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารด้านตะวันตกในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1900 ตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย พร้อมกับพระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระเหลือ พระพุทธชินราชได้รับการยอมรับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่งและยังเป็นพระพุทธรูปที่นิยมจำลองกันมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นพระพุทธรูปที่ประชาชนชาวไทยศรัทธาและนิยมเดินทางมากราบไหว้มากที่สุดองค์หนึ่งด้วย
ประวัติ
[แก้]พระพุทธชินราช ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด คงมีแต่พงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นเอกสารที่เล่าถึงตำนานเมืองเหนือเรื่องต่าง ๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ในปี พ.ศ. 2350 ที่อ้างถึงกษัตริย์เชียงแสนพระนามพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเป็นผู้สร้าง พร้อมกับการสร้างเมืองพิษณุโลกและพระพุทธรูปอีก 2 องค์คือพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา
พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ในชื่อ "ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา" ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ โดยใช้พงศาวดารเหนือในการอ้างอิงจึงทำให้มีเนื้อหาหลักคล้ายคลึงกัน แต่เพิ่มเติมการสร้างพระเหลือเข้าไป และมีการระบุศักราชในการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ไว้ดังนี้ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาหล่อในปี พ.ศ. 1498 และพระพุทธชินราชหล่อขึ้นในปี พ.ศ. 1500 (หย่อนอยู่ 7 วัน)
พ.ศ. 2423 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้ทรงแต่งตำนานการสร้างพระพุทธชินราชขึ้นอีกสำนวนหนึ่ง ชื่อ "พงษาวดารเหนือ : เป็นลิลิตเรื่องนิทานพระร่วง แลนิทานพระเจ้าธรรมไตรปิฎก นิทานพระชินศรี พระชินราช พระศาสดา" ซึงมีเนื้อเรื่องเช่นเดียวกับพงศาวดารเหนือและพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างพระบรมราชจักรีวงศ์กับพระพุทธชินราชเข้าไปด้วย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีพระดำริเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราชจากหลักฐานทางพุทธศิลป์นำมาเปรียบเทียบกับพงศาวดารเหนือว่าพระพุทธชินราช ถูกสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เนื่องจากพุทธศิลป์อย่างพระพุทธรูปสุโขทัยระคนกับพุทธศิลป์เชียงแสนแต่มีพัฒนาการไปกว่าพระพุทธรูปที่มีอยู่เดิม และช่างผู้สร้างพระพุทธชินราชกับพระพุทธชินสีห์นั้นเป็นช่างเดียวกัน หากแต่พระศรีศาสดาเป็นช่างอื่นจากลักษณะประติมากรรมของพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ที่ปรากฏ แต่จะสร้างพร้อมกันทั้ง 3 องค์หรือไม่นั้นไม่ทราบแน่ชัด และเมื่อพิจารณาช่วงเวลาการสร้างแล้วทรงคาดว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์น่าจะสร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ในปี พ.ศ. 1900 มิใช่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โดยประทานเหตุผลว่า "พระเจ้าแผ่นดินซึ่งปรากฏพระเกียรติในเรื่องพระไตรปิฎกนั้นมีแต่พระองค์เดียวคือพระมหาธรรมราชาลิไทย...พระมหาธรรมราชานี้เองที่พงศาวดารเหนือเรียกว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก"
นอกจากนี้ยังมีการสันนิษฐานเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราชว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยพิชญา สุ่มจินดา ซึ่งได้กำหนดอายุเวลาของพระพุทธชินราชขึ้นใหม่จากพุทธลักษณะขององค์พระพุทธรูปจากรูปแบบของเรือนแก้ว โดยเทียบเคียงกับลวดลายบนซุ้มเรือนแก้วที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช อายุเวลาของลวดลายดังกล่าวอาจกำหนดได้ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย และจากสถาปัตยกรรมของพระวิหาร ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2232)
อย่างไรก็ตามความเห็นที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ณ ขณะนี้คือความเห็นในแนวทางเดียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เชื่อว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ถูกสร้างขึ้นในราว พ.ศ. 1900 ในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย)
หมายเหตุ: ซุ้มเรือนแก้ว รูปหล่ออาฬวกยักษ์และท้าวเวสสุวัณเป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นคนละยุคกับองค์พระโดยเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาโดยสังเกตจากลักษณะลวดลายและลักษณะทางสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ยังมีการบูรณะพระพุทธชินราชโดยการเพิ่มอุณาโลมบริเวณพระนลาฏในสมัยหลัง (คาดว่าน่าจะทำขึ้นในสมัยอยุธยา เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานการบูรณะเพิ่มเติม)
การลงรักปิดทอง
[แก้]เดิมพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสำริดมิได้มีการลงรักปิดทองตั้งแต่แรกสร้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2146 สมเด็จพระเอกาทศรถได้เสด็จแปรพระราชฐานมายังเมืองพิษณุโลกและพระราชดำเนินมานมัสการ พร้อมทั้งโปรดให้มีการนำเครื่องราชูปโภคมาตีแผ่เป็นทองคำเปลวสำหรับปิดทองพระพุทธชินราช ครั้งนั้นจึงถือเป็นการลงรักปิดทองครั้งแรก ต่อมายังมีการลงรักปิดทองอีก 2 ครั้งใน พ.ศ. 2444 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการถวายสังวาลย์เพชรเป็นพุทธบูชาพร้อมกับการหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร และ พ.ศ. 2547 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
การสงคราม
[แก้]พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารด้านตะวันตกของหมู่พระวิหารและระเบียงคต ทำให้เมื่อมีการศึกสงครามโดยเฉพาะในศึกอะแซหวุ่นกี้ พ.ศ. 2318 เมื่ออะแซหวุ่นกี้และทัพพม่าสามารถตีเมืองพิษณุโลกได้ จึงเผาทำลายพระราชวังจันทน์กับพระวิหารประธานด้านตะวันออกที่ประดิษฐานพระอัฏฐารสเท่านั้น พระพุทธชินราชและพระวิหารที่ประดิษฐานไม่ได้โดนเผาทำลายไปด้วย
การเคลื่อนย้ายที่ประดิษฐานและการจำลอง
[แก้]พ.ศ. 2442 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงประจำพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะอัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ดังข้อความในพระราชปรารภ "เห็นพระพุทธลักษณะแห่งพระพุทธชินราชว่างาม หาพระพุทธรูปองค์ใดเปรียบมิได้ ครั้นเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้น ได้พยายามหาพระพุทธรูปซึ่งจะเป็นพระประธาน ทั้งในกรุงแลหัวเมือง...ก็ไม่เป็นที่พอใจ จึงคิดเห็นว่าจะหาพระพุทธรูปองค์ใดให้สวยงามเสมอพระพุทธชินราชนั้นไม่มีแล้ว..."
แต่ด้วยเหตุที่พระพุทธชินราชไม่เคยถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ที่แห่งใดเลย และทรงเกรงว่าเมื่อราษฎรชาวพิษณุโลกทราบข่าวการอัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครจะพากันเศร้าโศกเหมือนเมื่อครั้งที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2372 และในเวลาไล่เลี่ยกันมีพระสงฆ์รูปหนึ่งได้อัญเชิญพระศรีศาสดาลงไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริที่จะหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) ขึ้นแทน ดังความในพระราชปรารภที่ว่า "ครั้นจะเชิญพระพุทธชินราชลงมาก็เห็นว่าเป็นหลักเป็นศิริของเมืองพิศณุโลก...จึงได้ปรารภที่จะคิดหล่อขึ้นใหม่ให้เหมือนพระพุทธชินราช..." ในปี พ.ศ. 2444 จึงได้มีการหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) ณ บริเวณเดิม (โพธิ์ 3 เส้า) ที่มีการหล่อพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา และอัญเชิญพระพุทธชินราช (จำลอง) ลงแพแล้วล่องลงมายังกรุงเทพมหานครต่อไป
ลักษณะทางพุทธศิลป์และการจัดหมวดหมู่
[แก้]ลักษณะทางพุทธศิลป์
[แก้]พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง พระเกศาขดเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูมเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ มีพระอุณาโลมผลิกอยู่ระหว่างพระขนง พระวรกายอวบอ้วนมีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบฝังด้วยแก้ว นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน (ทีฆงคุลี) ฝ่าพระบาทแบนราบค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ ส้นพระบาทยาว มีรูปอาฬวกยักษ์และรูปท้าวเวสสุวัณหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เฝ้าอยู่ที่พระเพลาเบื้องขวาและซ้ายขององค์ตามลำดับ มีซุ้มเรือนแก้วและสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทองประดับเบิ้องพระปฤษฎางค์ปราณีตอ่อนช้อยช่วยเน้นให้พระวรกายของพระพุทธชินราชมีความงดงามยิ่งขึ้น
การจัดหมวดหมู่
[แก้]พระพุทธชินราช ถูกจัดให้อยู่ในพระพุทธรูปหมวดพระพุทธชินราช (พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองพิษณุโลก ซึ่งมีลักษณะต่างจากหมวดใหญ่เล็กน้อย คือพระพักตร์ที่อวบอ้วนมากกว่าและที่สำคัญคือการทำปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปหมวดนี้) ถือเป็น 1 ใน 4 หมวดของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
พระมหากษัตริย์ที่เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการ
[แก้]- สมเด็จพระราเมศวร
- สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
- สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
- สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4
- สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
- สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
- สมเด็จพระเอกาทศรถ
- สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- สมเด็จพระเพทราชา
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
- สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
- พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
หมายเหตุ: รายพระนามตามที่ปรากฏมาในพระราชพงศาวดาร
คำสรรเสริญที่มีต่อพระพุทธชินราช
[แก้]พระพุทธชินราชพระพุทธชินศรีสองพระองค์นั้นงามแหลมแก่ตามมากกว่าพระพุทธรูปใหญ่น้อยบรรดามีในแผ่นดินสยามทั้งปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ และตลอดกาลนานมาถึง 900 ปีมีผู้เลียนปั้นเอาอย่างไปมากก็หลายตำบล จะมีพระพุทธรูปที่คนเป็นอันมากดูเห็นว่าเป็นดีเป็นงามกว่าพระพุทธชินราชพระพุทธชินศรีสองพระองค์นี้ก็ไม่มี
— พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เห็นพระพุทธลักษณะแห่งพระพุทธชินราชว่างามหาพระพุทธรูปองค์ใดเปรียบมิได้ ครั้นเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้น ได้พยายามหาพระพุทธรูปซึ่งจะเป็นพระประธาน ทั้งในกรุงแลหัวเมือง...ก็ไม่เป็นที่พอใจ จึงคิดเห็นว่าจะหาพระพุทธรูปองค์ใดให้สวยงามเสมอพระพุทธชินราชนั้นไม่มีแล้ว
— พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธชินราช ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธมานักแล้ว ไม่เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย...ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่เมืองพิษณุโลกตราบใด เมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงในเมืองพิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่ามีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือหรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ว่าได้
— พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พวกฝรั่งพากันออกปากว่ายังไม่เคยเห็นของโบราณที่แห่งอื่นในเมืองไทยจับใจ Impressive เหมือนพระชินราช
— สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ข้าพเจ้าเคยไปราชการที่จังหวัดพิษณุโลกกับฝรั่งหลายคราว เขาเคยกล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า พระพุทธรูปองค์นี้สวยเหลือเกิน เขาอาจนั่งนั่งดูอยู่ในวิหารได้โดยไม่เบื่อตั้ง ๒-๓ ชั่วโมง บางคนถึงกับกล่าวว่าเขารู้สึกอิจฉาคนไทยมากที่มีพระพุทธรูปงามเช่นนี้ ฯลฯ ถ้าท่านเป็นคนไทย...ความงามของพระพุทธชินราชจะปรากฏแก่ท่านในขณะที่นั่งอยู่ในวิหาร ถึงทำให้น้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้สึกตัว
— หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์
ประเพณี
[แก้]งานสมโภชพระพุทธชินราช ช่วงวันมาฆบูชา (วันเพ็ญเดือน 3 ของทุกปี) รวมเวลา 7 วัน 7 คืน
การขึ้นทะเบียน
[แก้]- กรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 34 หน้า 1526 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479
- กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเป็นพระพุทธรูปสำคัญ ตามบัญชีแนบท้ายระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ. 2520
อ้างอิง
[แก้]- บัญชีแนบท้ายระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ. 2520
- พิริยะ ไกรฤกษ์. (2551). ลักษณะไทย ๑ พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
- ชาตรี ปีะกิตนนทการ. (2551). พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
- ดำรงราชานุภาพ. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยา. (2548). ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- พระสมุห์วันชัย เกสรธมฺโม (มีมาก). (๒๕๕๐). การศึกษาศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระพุทธชินราชจังหวัดพิษณุโลก ในฐานะสื่อพุทธศิลป์ เก็บถาวร 2017-02-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. วิทยานิพนธ์ พธ.ม. (พุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาธรรมนิเทศ). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. อัดสำเนา.
- ศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เก็บถาวร 2006-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ พระพุทธชินราช
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
16°49′25″N 100°15′44″E / 16.82372°N 100.26226°E