ผู้ใช้:Pz2312/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เมืองมาว[แก้]

เมืองมาว (ไทใหญ่: မိူင်းမၢဝ်း; ไทเหนือ: ᥛᥫᥒᥰ ᥛᥣᥝᥰ; พม่า: မိုင်းမော; จีน: 勐卯; อังกฤษ: Möng Mao) หรืออาณาจักรเมืองมาว เป็นอาณาจักรของชาวไทโบราณ ปกครองรัฐไทเล็กๆหลายแห่งครอบคลุมอาณาเขตทางตอนเหนือของเมียนมาร์, รัฐอัสสัมและรัฐอรุณาจัลประเทศทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียในปัจจุบัน และมีศูนย์กลางการปกครองอยู่บริเวณเมืองรุ่ยลี่ใกล้แม่น้ำมาวหรือแม่น้ำชเวลีในเขตปกครองตนเองชนชาติไทและจิ่งพัว เต๋อหงของจีนในปัจจุบัน มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มสลับกับภูเขาซับซ้อน เป็นแนวยาวจากเหนือลงใต้

ชื่อ[แก้]

เมืองมาว เป็นภาษาไทเหนือและไทใหญ่ เรียกอีกอย่างว่า เมืองมาวหลวง หรือเมืองหมอกขาวมาวหลวง (ดอกไม้ขาวมาวหลวง) เป็นอาณาจักรไทโบราณ ตามพงศาวดารและตำนานของไทใหญ่[1] กล่าวถึงตำนานเมืองมาว ผูกโยงตำนานนางเกศาวดีที่ห่มผ้าคลุมผ้าแดงออกมานอนอาบแดด นกตีลังกาหรือนกถิหลั่งก่า (นกหัสดีลิงค์) คิดว่าเป็นก้อนเนื้อจึงคาบไปวางไว้ที่บนยอดงิ้ว ทำให้นางเกิดเป็น “ไข้หัวเมา” จนฤาษีช่วยไว้ได้ ต่อมานางคลอดลูกมาชื่อเจ้าอู่ติ่ง ผู้ได้รับติ่งหรือพิณจากพระอินทร์ หากดีดติ่งแล้วสามารถเรียกช้างทั้งป่าได้ ดินแดนนั้นจึงเรียกว่าเมืองมาว

โกสัมพี (อังกฤษ: Kosambi) เป็นชื่อรัฐโบราณสมัยพุทธกาลของอินเดียที่ใช้เรียกเมืองมาวอีกชื่อหนึ่ง ปรากฏในตำนานเมืองมาว[1] ประกอบไปด้วย เมืองแสนหวี, เมืองซิงกู่, เมืองตี และเมืองมาว[2]

ลู่ฉวน (จีน: 麓川) เป็นชื่อที่ชาวจีนบันทึกในพงศาวดารของจีน ปรากฏครั้งแรกในพงศาวดารราชวงศ์หยวนหรือหยวนสื่อ พงศาวดารบางเล่มเรียกเมืองมาวว่า ไป่อี๋ (จีน: 百夷) แต่ส่วนใหญ่แล้วใช้เป็นชื่อเรียกรวมของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดทางตะวันตกเฉียงใต้ของยูนนาน หรือหมายถึงชาวไทโดยเฉพาะ

ปง (อังกฤษ: Pong) เป็นชื่อที่ชาวกระแซบันทึกในพงศาวดารของมณีปุระ ซึ่งนักวิชาการบางคนระบุว่าเป็นเมืองมาว[3]

ประชากร[แก้]

ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่พูดภาษาไท มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่น ไทมาว (Tai Mao) หรือชาวไทใหญ่ที่อยู่เมืองมาวเป็นการเรียกตามที่อยู่ของเมือง, ชาวไทใหญ่ที่อยู่ในจีนเรียกว่า ไทเหนือ (Tai Nuea) และชาวไทใหญ่ที่อยู่ในพม่าเรียกดัวเองว่า ไต (Tai) ชาวพม่าเรียกชาวไทใหญ่ว่า ฉาน (Shan) ส่วนชาวไทยเรียก ไทใหญ่ (Tai Yai)

ประวัติศาสตร์[แก้]

ตำนาน[แก้]

เมืองมาว เป็นอาณาจักรไทโบราณ มีเจ้าฟ้าปกครองมาตั้งแต่สมัยตำนาน จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ ซึ่งตำนานและพงศาวดารมักพบความขัดแย้งในเรื่องชื่อและวันที่ นำไปสู่การตีความที่แตกต่างกัน

ตำนานเมืองมาว[1] เริ่มต้นด้วย ขุนลู ขุนไล ไต่บันไดทองคำลงจากฟ้า มาครองเมืองฮี เมืองฮำ เมืองลา ริมฝั่งโขง บางตำนานกล่าวว่า ขุนลู ขุนไล เป็นโอรสสวรรค์ ทั้งสองเป็นโอรสของขุนตึงคำ หรือขุนแถนคำ ที่ส่งลงมาปกครองมนุษย์ กำเนิดลูกหลานและขยายอาณาจักรออกไป

อาณาจักรเมืองมาว[แก้]

ในพุทธศตวรรษที่ 18 อาณาจักรต้าหลี่ ซึ่งปกครองเมืองมาวและรัฐไทใหญ่ทางตอนเหนือ ล่มสลายลงจากการพิชิตของมองโกลเมือปี พ.ศ.1796 ทำให้เกิดสูญญากาศทางการเมืองขึ้น เจ้าขุนผางคำ (Khun Hpang Hkam) เจ้าฟ้าเมืองมาวสบโอกาสขยายอำนาจขึ้นเป็นผู้นำในกลุ่มรัฐไท ต่อมาในรัชสมัยของ เจ้าคำจิงฟ้า (Han Jingfa) ได้สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์หยวนของมองโกลที่ได้ปกครองแผ่นดินจีนแล้ว ราชสำนักหยวนมอบตำแหน่งผู้ว่าราชการแคว้นลู่ฉวนให้และเรียกเมืองมาวว่าลู่ฉวน[4] เป็นการปกครองทางอ้อมผ่านระบบถู่ซือ (จีน: 土司) หรือระบบผู้นำพื้นเมือง

เสือข่านฟ้า[แก้]

ในพุทธศตวรรษที่ 19 ราชวงศ์หยวนของมองโกล อำนาจการปกครองส่วนภูมิภาคเริ่มอ่อนแอ ขณะที่ทางเมียนมาร์อาณาจักรปิ้นยะและอาณาจักรซะไกง์ ก็ขัดแย้งกันเอง ตรงข้ามกับเมืองมาวในรัชสมัยของเจ้าเสือข่านฟ้าหรือขุนยี่ข่างคำ (Hso Hkan Hpa) เจ้าฟ้าเมืองมาว สถาปนาราชวงศ์เสือขึ้นปกครองชาวไทใหญ่ที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำมาวหรือแม่น้ำชเวลี

ทศวรรษที่ 1890 ได้รวบรวมรัฐไทใหญ่และขยายอาณาเขตเข้าไปถึงยูนนานในจีน รัฐอัสสัมในอินเดีย และรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สุโขทัย (ไทสยาม), ล้านนา (ไทเขิน), ล้านช้าง (ไทลาว), สิบสองปันนา (ไทลื้อ), หงสาวดี (มอญ) เป็นต้น แต่นักวิชาการชาวจีนบอกว่าเจ้าเสือข่านฟ้าส่งทูตไปยังอาณาจักรต่างๆนี้เพื่อสร้างพันธมิตรในช่วงที่มีอำนาจสูงสุดทางทหารหลังเอาชนะกองทัพหยวน[5] ยังไม่มีเรียกร้องขอบรรณาการ[6] ส่วนพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ผู้เรียบเรียงพงศาวดารไทใหญ่ก็ทรงวิจารณ์เรื่องนี้เอาไว้ว่า "แต่ชั่วแต่ชายตาไปแลดู นามเมืองออกบางเมือง เช่นยะข่ายตลีฟู ฯลฯ ก็น่าจะร้องตะโกนบอกอยู่ในตัวเองแล้วว่าโก่งเกินจริงไปมากๆ"[7] เป็นต้น

การยึดครองดินแดนในยูนนานของเจ้าเสือข่านฟ้าถือเป็นกบฏต่อราชวงศ์หยวน ทางราชสำนักหยวนพยายามปราบปรามด้วยกำลังและด้วยการทูตแต่ล้วนล้มเหลว พ.ศ.1898 เจ้าเสือข่านฟ้ายอมสวามิภักดิ์ ราชสำนักหยวนยอมรับการผนวกดินแดนและตั้งสำนักข้าหลวงปกครองพม่าขึ้นเพื่อเป็นผูกไมตรีกับเจ้าเสือข่านฟ้า[8]

ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 อาณาจักรเมืองมาวขยายอำนาจลงใต้ไปเมียนมาร์ รุกรานอาณาจักรปิ้นยะและอาณาจักรซะไกง์จนล่มสลายลงเมื่อปี พ.ศ.1907 ส่งผลให้อาณาจักรเมืองมาวมีอำนาจมากในเมียนมาร์ตอนบน นับเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของอาณาจักรเมืองมาวและประวัติศาสตร์ไทใหญ่

จักรวรรดิหมิงและอาณาจักรอังวะ[แก้]

อาณาจักรเมืองมาวของชาวไทใหญ่เริ่มอ่อนแอลงหลังจากเจ้าเสือข่านฟ้าสวรรคตในปี พ.ศ.1912 ในขณะที่ทางใต้อาณาจักรอังวะของชาวพม่าที่สถาปนาขึ้นจากการล่มสลายของอาณาจักรปิ้นยะและอาณาจักรซะไกง์เมื่อปี พ.ศ.1907 เริ่มแข็งแกร่งขึ้นและได้ทำการรุกรานรัฐไทใหญ่อย่างต่อเนื่อง ส่วนทางเหนือจักวรรดิหมิงของชาวจีนถูกสถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1911 หลังจากโค่นล้มราชวงศ์หยวนของชาวมองโกลได้สำเร็จ จากนั้นจึงออกปราบปรามกองกำลังต่างๆที่เหลืออยู่ในเสฉวนและยูนนาน

ในปี พ.ศ.1918 พระเจ้าฝรั่งมังศรีชวาแห่งอังวะ ต้องการฟื้นฟูจักรวรรดิพุกามอีกครั้ง จึงได้ส่งกองทัพมารุกรานรัฐไทใหญ่ของเมืองมาว กองทัพไทใหญ่พ่ายแพ้ต่อพม่าเสียเมืองกะเล่ ส่วนเมืองยางสามารถขับไล่กองทัพอังวะกลับไปได้

ในปี พ.ศ.1925 จักรพรรดิหมิงไท่จูแห่งราชวงศ์หมิงรวมแผ่นดินจนมีความเป็นปึกแผ่น หลังจากกองทัพหมิงยึดครองยูนนานที่มั่นสุดท้ายของราชวงศ์หยวนได้ เจ้าเสือหลวงฟ้า (Hso Long Hpa) เจ้าฟ้าเมืองมาวตัดสินใจยอมสวามิภักดิ์และรับตำแหน่งถู่ซือเป็นข้าหลวงปกครองผิงเหมี่ยนแห่งลู่ฉวนจากราชวงศ์หมิง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกรุกรานจากกองทัพหมิงอันยิ่งใหญ่และเพื่อใช้คานอำนาจกับทางอังวะอีกทางหนึ่งด้วย

สงครามหมิง-เมืองมาว (พ.ศ.1929-1931)[แก้]

ปี พ.ศ.1929 เกิดเหตุการณ์เมืองจิ้งตงก่อกบฏต่อเมืองมาวไปสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์หมิง เสือหลวงฟ้าจึงส่งกองทัพไปปราบ กองทัพจิ้งตงถอยไปเมืองต้าหลีที่กองทัพหมิงประจำการอยู่จนเกิดการปะทะกัน ราชวงศ์หมิงมองว่าเป็นการุกรานของเมืองมาว เป็นภัยต่อความมั่นคงภายในอย่างรุนแรง ทั้งนี้เมืองจิ้งตงตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำลานช้าง (แม่น้ำโขง) ในยูนนาน หากเสียเมืองจิ้งตงไปเมืองต้าหลี่และฉู่สงจะถูกคุกคามทันที สงครามจบลงในปี พ.ศ.1931 เมืองมาวเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

เมืองมาวส่งคณะทูตและเครื่องบรรณาการไปยังราชสำนักหมิงเพื่อยอมจำนน หลังประสบความพ่ายแพ้ในหารรุกรานดินแดนจีน เสือหลวงฟ้าหันมาขยายอำนาจทางใต้ส่งกองทัพเข้ารุกรานอังวะ ระหว่างปี พ.ศ.1930-1935 ซึ่งเป็นช่วงที่อังวะกำลังทำสงครามกับชาวมอญหงสาวดี (สงครามสี่สิบปี) แต่กองทัพเมืองมาวก็ถูกขับไล่กลับไป นับจากนี้เมืองมาวไม่มารุกรานอังวะอีก

กบฏและการแยกตัวของรัฐไทใหญ่[แก้]

ปี พ.ศ.1940 เกิดกบฏเจ้าท้าวขวางเมือง (Tao Kang Mong) เจ้าฟ้าเมืองแสนหวียึดเมืองมาว เจ้าเสือหลวงฟ้าหลบหนีไปพึ่งจีน จักรพรรดิหมิงไท่จู่ สบโอกาสจัดการเมืองมาวจึงส่งกองทัพเข้าปราบกบฏจนสำเร็จ แล้วจัดการทำให้อาณาจักรเมืองมาวอ่อนแอลงด้วยการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นหลายเขตและแต่ละเขตก็แต่งตั้งถู่ซือขึ้นมาปกครอง

ทศวรรษที่ 1950 อาณาจักรเมืองมาวสลายตัว รัฐไทใหญ่ต่างพากันแยกเป็นอิสระ เช่น เมืองยาง, แสนหวี, สีปอ, กะเล่ เป็นต้น เมืองมาวกลายเป็นเพียงอาณาจักรเล็กๆเท่านั้น พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องแห่งอังวะฉวยโอกาสนี้เข้ารุกรานและยึดครองรัฐไทใหญ่ในปี พ.ศ.1949 สานต่อนโยบายฟื้นฟูจักรวรรดิพุกามของชาวพม่า

ฟื้นฟูอาณาจักรเมืองมาว[แก้]

ทศวรรษที่ 1980 เจ้าเสืองานฟ้า (Hso Ngan Hpa) ต้องการฟื้นฟูอำนาจของอาณาจักรเมืองมาวขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการส่งกองทัพไปผนวกเขตการปกครองของถู่ซือโดยรอบ ทางจักรพรรดิหมิงเซวียนจงทำได้เพียงส่งทูตมาไกล่เกลี่ย ไม่ใช้กำลังทหารเข้าจัดการ เนื่องจากราชวงศ์หมิงติดศึกปราบกบฏอยู่หลายแห่ง เช่น กบฏที่เจียวจื่อในเวียดนามปี พ.ศ.1961 และกบฏที่ซงพันในเสฉวนปี พ.ศ.1970

เจ้าเสืองานฟ้าจึงมีเวลาสร้างกองทัพจนแข็งแกร่ง ปี พ.ศ.1973 กองทัพเมืองมาวรุกรานและยึดครองเมืองยาง, ปี พ.ศ.1976 รุกรานแสนหวี และปี พ.ศ.1979 รุกรานยูนนาน จักรพรรดิหมิงอิงจงหมดความอดทนต่อเมืองมาว จึงเปิดยุทธการลู่ฉวน (จีน: 麓川之役) เพื่อปราบเมืองมาว

ปี พ.ศ.1981 กองทัพหมิงเสียท่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้ในปี พ.ศ.1982 กองทัพหมิงระดมพลกว่า 150,000 นาย เพื่อปราบเมืองมาว และปี พ.ศ.1984 เมืองมาวพ่ายแพ้ เจ้าเสืองานฟ้าหลบหนีไปเมืองยางพร้อมเจ้าเสือจีฟ้า (Hso Ji Hpa) พระโอรส

อาณาจักรเมืองมาวล่มสลาย[แก้]

เมื่อปี พ.ศ.1982 อาณาจักรอังวะสบโอกาสรุกรานและยึดครองเมืองยางและรัฐไทใหญ่กลับคืนอีกครั้ง ทำให้ปี พ.ศ.1986 กองทัพอังวะสามารถจับกุมเจ้าเสืองานฟ้าได้ที่เมืองยาง ส่วนเจ้าเสือจีฟ้าหลบหนีกลับเมืองมาว

เจ้าเสือจีฟ้าขอยอมจำนน กองทัพหมิงจึงวางแผนจับกุมตัวเจ้าเสือจีฟ้าโดยส่งพระอนุชาและพระราชโอรสของเจ้าเสือจีฟ้ากับคณะทูตพร้อมเครื่องบรรณาการไปราชสำนักหมิงเป็นองค์ประกันเพื่อไม่ให้เจ้าเสือจีฟ้าคิดหลบหนี

ขณะเดียวกันทางอังวะได้เสนอขอรัฐไทใหญ่ของเมืองมาวแลกเปลี่ยนกับการส่งตัวเจ้าเสืองานฟ้า อีกทั้งทางราชวงศ์หมิงต้องประหารเจ้าเสือจีฟ้าก่อนด้วย แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายกันทางราชวงศ์หมิงไม่ได้มา

ในปี พ.ศ.1987 อาณาจักรเมืองมาวของราชวงศ์เสือก็มาถึงจุดจบเมื่อกองทัพหมิงบุกยึดเมืองมาวเพื่อจับเจ้าเสือจีฟ้า เจ้าเสือจีฟ้าหลบหนีไปได้แต่สมาชิกในราชวงศ์เสืออีกกว่า 90 ชีวิตถูกจับ

เมืองยาง[แก้]

เจ้าเสือจีฟ้าสถาปนาราชวงศ์เสือปกครองเมืองยาง (ไทเหนือ: ᥛᥫᥒᥰ ᥕᥣᥒᥰ, จีน: 孟养, อังกฤษ: Möngyang) เป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ในปี พ.ศ.1987 และได้ส่งคณะทูตพร้อมเครื่องบรรณาการไปราชสำนักหมิง

จักรพรรดิหมิงอิงจงยอมรับบรรณาการและละเว้นโทษตายให้ แต่เจ้าเสือจีฟ้าต้องมาปักกิ่งเพื่อขอโทษด้วยตัวเอง หากไม่ทำตามทางราชวงศ์หมิงจะส่งกองทัพโจมตีเมืองยาง และปี พ.ศ.1990 ราชวงศ์หมิงส่งทูตมาเรียกตัวเจ้าเสือจีฟ้าไปปักกิ่ง แต่เสือจีฟ้าไม่กล้าไปเพราะครั้งที่แล้วส่งพระอนุชาและพระโอรสไปกับกับคณะทูตแล้วไม่ได้กลับมา

ปี พ.ศ.1991 จักรพรรดิหมิงอิงจงสั่งกวาดล้างราชวงศ์เสือ กองทัพหมิงร่วมกับกองทัพอังวะและกองทัพแสนหวีบุกโจมตีเมืองยาง เจ้าเสือจีฟ้าถูกกองทัพอังวะจับกุมได้ในปี พ.ศ.1993 ต่อมาถูกส่งตัวไปปักกิ่งและถูกประหารชีวิตในปี พ.ศ.1997

พุทธศตวรรษที่ 21 จักรวรรดิหมิงฟื้นฟูความสัมพันธทางการทูตกับเมืองยางราชวงศ์หมิงยอมรับอำนาจราชวงศ์เสือที่ปกครองเมืองยางแต่ไม่มอบตำแหน่งถู่ซือให้ กลางศตวรรษที่ 21 เมืองยางเป็นแกนนำรัฐไทใหญ่ก่อตั้งสมาพันธรัฐฉาน (Confederation of Shan States) ต่อสู้กับอาณาจักรอังวะของพม่า และพุทธศตวรรษที่ 22 ราชวงศ์เสือได้ล่มสลายลง

ลักษณะการปกครองของเมืองมาว[แก้]

อาณาจักรเมืองมาว ปกครองด้วยระบอบเจ้าฟ้า (ไทเหนือ: ᥓᥝᥲ ᥜᥣᥳ, ไทใหญ่: ၸဝ်ႈၾႃႉ, พม่า: စော်ဘွား, จีน: 召法, อังกฤษ: Chao Pha) ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการปกครอง ตำแหน่งรองลงมาเรียกว่า เจ้าคำเมือง (Chao Khun Muang) ในภาษาพม่าเรียกว่า เมียวซา (Myoza) เป็นผู้สืบสายเลือดมาจากเจ้าฟ้า และตำแหน่งส่วนท้องถิ่น เรียกว่า พ่อเมือง (Paw Muang), เฒ่าเมือง (Tao Muang) และปู่เห็ง (Pu Haeng) เป็นการกระจายอำนาจไปสู่ชาวไทใหญ่โดยผ่านผู้ปกครองของแต่ละเมืองอย่างทั่วถึง

รายชื่อเจ้าฟ้า[แก้]

ชื่อภาษาไทย ทับศัพท์ภาษาไทย ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ทับศัพท์ภาษาจีน ปี พ.ศ. ที่ครองราชย์
ขุนผางคำ คุนผางคัม Khun Hpang Hkam 芳罕

Fāng hǎn

1799-1836
คำหาว คัมหาว Han Hao 罕好

Hǎn hǎo

1851-1871
คำจิงฟ้า คัมจิงพะ Han Jingfa 罕静法

Hǎn jìng fǎ

1871-1878
เสือข่านฟ้า, ขุนข่างยี่คำ โสขานพะ Hso Hkan Hpa 思可法

Sī kě fǎ

1878-1912
เสือเปี่ยมฟ้า โสแปมพะ Hso Pem Hpa 思并法

Sī bìng fǎ

1912-1920
เสือจิวฟ้า โสจิวพะ Hso Siu Hpa 思秀法

Sī xiù fǎ

1920-1921
เสือเก็บฟ้า โสเกบพะ Hso Kap Hpa 思戛法

Sī jiá fǎ

1921-1922
เสือวาวฟ้า โสวอพะ Hso Vau Hpa 思瓦法

Sī wǎ fǎ

1922-1925
เสือหลวงฟ้า โสลองพะ Hso Long Hpa 思伦法

Sī lún fǎ

1925-1940
เสือเหยียบฟ้า โสเยบพะ Hso Yep Hpa 思佑法

Sī yòu fǎ

1940-1941
เสือหลวงฟ้า โสลองพะ Hso Long Hpa 思伦法

Sī lún fǎ

1941-1942
เสือสิงฟ้า โสสิงพะ Hso Xing Hpa 思行法

Sī xíng fǎ

1942-1956
เสืองานฟ้า โสงันพะ Hso Ngan Hpa 思任法

Sī rèn fǎ

1956-1985
เสือจีฟ้า โสจีพะ Hso Ji Hpa 思机法

Sī jī fǎ

1985-1987

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ (Thailand and Southeast Asia Ethnic Groups Research Database)". www.sac.or.th.
  2. เจียงอิ้งเหลียง, 2534, น. 4-5
  3. พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์, 2505, น.94
  4. เจียงอิ้งเหลียง, 2534, น. 57
  5. 江应樑. (1983). 233页
  6. 方国瑜(2001). 539页
  7. พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์, 2505, น.111-114
  8. เจียงอิ้งเหลียง, 2534, น. 60-62

บรรณานุกรรม[แก้]

  • เจียงอิ้งเหลียง. (2534). ประวัติชนเชื้อชาติไทย ตอนที่ 2. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.. สืบค้นจาก https://www.finearts.go.th.
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. (2505). พงศาวดารไทยใหญ่ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. สืบค้นจาก https://www.finearts.go.th.
  • 江应樑. 傣族史. 成都: 四川民族出版社. 1983. CSBN 11140·24.
  • 方国瑜. 麓川思氏谱牒笺证. 方国瑜文集 第三辑. 昆明: 云南教育出版社. 2001: 532-559. ISBN 7-5415-1942-1.