ผู้ใช้:พรหมโยธี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นามสกุล พรหมโยธี[แก้]

พรหมโยธี เป็นนามสกุลจาก ราชทินนาม

ที่มาของนามสกุล พรหมโยธี

เริ่มต้นจาก นาย มังกร ผลโยธิน[1] เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2439 ณ บ้านบางขุนเทียน ตำบลบางขุนเทียน อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรหมื่นสาธิตพิทักษ์ (เทียน ผลโยธิน) และนางอุ่น ผลโยธิน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือ เพ็ชร, หอม และพู ผลโยธิน

หมื่นสาธิตพิทักษ์ (เทียน ผลโยธิน) ได้รับนามสกุลพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ช่วง ร.ศ. 113-124 หรือ ค.ศ.1894-1905[2]

นาย มังกร ผลโยธิน เริ่มรับราชการในกองทัพบกตั้งแต่ยศร้อยตรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ หลวงพรหมโยธี[3] ในปีพ.ศ. 2471 และเจริญก้าวหน้าจนถึงพลเอก มีตำแหน่งสูงสุดคือ รองผู้บัญชาการทหารบก ในกองทัพบก รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในกองบัญชาการทหารสูงสุด

พลเอก มังกร พรหมโยธี รับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2481 เป็นรัฐมนตรีไม่ประจำกระทรวง[4] ต่อมาได้ย้ายไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม[5] และย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในเวลาต่อมาเมื่อรัฐบาลจะยกเลิกบรรดาศักดิ์ไทย หลวงพรหมโยธีในฐานะรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีชุดที่ 9 จึงลาออกจากบรรดาศักดิ์ โดยกลับไปใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลได้ว่า มังกร พรหมโยธี เมื่อ พ.ศ. 2484[6]

ต่อมาย้ายกลับมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอีกครั้ง พ.ศ. 2485 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พ้นจากตำแหน่งไปเมื่อ พ.ศ. 2487[7]

ต่อมาในพ.ศ. 2491 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ายมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งใน พ.ศ. 2492[8] เมื่อพ.ศ. 2494 ย้ายกลับไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ[9] และพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อ พ.ศ. 2500

นอกจากนี้ พลเอก มังกร พรหมโยธี ยังเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 8[10] สมาชิกวุฒิสภาในวุฒิสภาไทย ชุดที่ 1[11] และวุฒิสภาไทย ชุดที่ 2[12]


นามสกุลจากราชทินนาม[แก้]

นามสกุลจากราชทินนาม คือ นามสกุลที่ตั้งขึ้นมาโดยมีที่มาจากราชทินนามของขุนนาง ราชทินนาม มีความหมายคือ นามที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งแสดงถึงตำแหน่งหน้าที่ทางราชการของขุนนางผู้นั้น นามพระราชทานนี้อยู่ต่อท้ายบรรดาศักดิ์ (อันได้แก่เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน ทนาย ฯ) ในบางกรณี ราชทินนาม พระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้ากระทรวงแต่งตั้งให้แก่ชนชั้นขุนนางที่ได้รับบรรดาศักดิ์ ดังนั้นราชทินนาม เป็นความดีความชอบที่มอบให้แก่ชนชั้นปกครอง ซึ่งไม่ได้รับเงินเดือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ ราชทินนาม ยังใช้สำหรับสมณศักดิ์ชั้นสัญญาบัตรที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระภิกษุสงฆ์ เช่นเจ้าคณะฯ ทั้งนี้ การที่จะใช้ราชทินนามขุนนางเป็นนามสกุลได้ต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ผู้ขอใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลจึงจะไปแจ้งขอเปลี่ยนนามสกุลได้

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชานุญาตให้ใช้นามสกุลจากราชทินนาม ตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช 2484 [13] ว่า "ผู้ใดประสงค์จะขอใช้ราชทินนามของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นชื่อสกุล ให้ยื่นเรื่องราวต่อรัฐมนตรีเพื่อถวายต่อพระมหากษัตริย์ ถ้าได้รับพระบรมราชานุญาตและได้นำหลักฐานไปจดทะเบียนต่อกรมการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ซึ่งผู้ยื่นเรื่องราวมีภูมิลำเนาแล้ว จึงให้ถือว่าเป็นชื่อสกุลอันชอบด้วยกฎหมาย"

ทันทีที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนั้นประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ได้มีผู้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลในครั้งแรก [14] จำนวน 10 คน ดังนี้

  1. จอมพล หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) ขอใช้นามสกุล พิบูลสงคราม
  2. พลตำรวจตรี หลวงอดุลเดชจรัส (อดุล พึ่งพระคุณ) ขอใช้นามสกุล อดุลเดชจรัส
  3. นาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) ขอใช้นามสกุล ธำรงนาวาสวัสดิ์
  4. พันเอก หลวงเชวงศักดิ์สงคราม (ช่วง ขวัญเชิด) ขอใช้นามสกุล เชวงศักดิ์สงคราม
  5. พลโท หลวงพรหมโยธี (มังกร ผลโยธิน) ขอใช้นามสกุล พรหมโยธี
  6. พลอากาศตรี พระเวชยันตรังสฤษฏ์ (มุนี มหาสันทนะ) ขอใช้นามสกุล เวชยันตรังสฤษฏ์
  7. นายพันเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ (เภา เพียรเลิศ) ขอใช้นามสกุล บริภัณฑ์ยุทธกิจ
  8. นายพลตรี หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล) ขอใช้นามสกุล เสรีเริงฤทธิ์
  9. หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วัฒนปฤดา) ขอใช้นามสกุล วิจิตรวาทการ
  10. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป-ระ โปรคุปต์) ขอใช้นามสกุล สมาหาร

การขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยกเลิกบรรดาศักดิ์ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ข้าราชการเลิกใช้บรรดาศักดิ์ คงเป็นนายเท่าเทียมกันทั้งหมด จึงทำให้บรรดาข้าราชการที่เคยมีบรรดาศักดิ์และเคยรู้จักกันทั่วไปราชทินนามต่างๆ พากันนำราชทินนามมาใช้ร่วมกับนามและนามสกุลเดิม เช่น

ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช 2484 เป็นพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช 2505 [15] โดยในมาตรา 19 บัญญัติว่า "ผู้ใดประสงค์จะใช้ราชทินนามของตน ของผู้บุพการีหรือของผู้สืบสันดานเป็นชื่อสกุล ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แล้วให้นายทะเบียนท้องที่นั้นเสนอต่อไปตามลำดับจนถึงนายทะเบียนกลาง เมื่อนายทะเบียนกลางพิจารณาเห็นสมควร ให้เสนอรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูล เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงให้นายทะเบียนท้องที่รับจดทะเบียนชื่อสกุลนั้น และออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนชื่อสกุลให้แก่ผู้ขอ"

  1. https://sites.google.com/site/thailandsurname/home/-ph
  2. https://sites.google.com/site/namskulkhxngkhnthiy/home
  3. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานบรรดาศักดิ์ เล่ม 45 หน้า 580
  4. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน 25 ราย)
  5. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงการคลัง (นายพันเอก หลวงพรหมโยธี และหลวงนฤเบศร์มานิต)
  6. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการกราบถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์
  7. คณะรัฐมนตรีคณะที่ 10 จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
  8. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๖ ราย)
  9. ประกาศตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรีชั่วคราว (รัฐบาลชั่วคราว ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี)
  10. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป
  11. วุฒิสภา ชุดที่ ๑ (สมาชิกพฤฒสภา พ.ศ. ๒๔๘๙)
  12. วุฒิสภา ชุดที่ ๒ (สมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๔๘๙)
  13. พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช 2484 สืบค้นวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557
  14. ประกาศกระทรวงมหาไทย เรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาติใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 สืบค้นวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557
  15. พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช 2505 สืบค้นวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557