นิสิต สินธุไพร
นิสิต สินธุไพร | |
---|---|
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด | |
ดำรงตำแหน่ง 6 มกราคม พ.ศ. 2544 – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (7 ปี 331 วัน) | |
เขตเลือกตั้ง | เขต 6 (2544–2548) เขต 5 (2548–2550) เขต 2 (2550–2551) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 12 มีนาคม พ.ศ. 2499 อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | เพื่อไทย (2557–ปัจจุบัน) |
การเข้าร่วม พรรคการเมืองอื่น | ความหวังใหม่ (2533–2545) ไทยรักไทย (2545–2550) พลังประชาชน (2550–2551) |
คู่สมรส | เอมอร สินธุไพร |
บุตร | จิราพร สินธุไพร ชญาภา สินธุไพร |
นิสิต สินธุไพร (เกิด 12 มีนาคม พ.ศ. 2499) เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอลร้อยเอ็ด ยูไนเต็ด
ประวัติ
[แก้]นิสิต สินธุไพร เกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2499[1] เป็นชาวบ้านโนนชัยศรี ตำบลโพธิ์ใหญ่ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นบุตรของนายใส และนางผาด สินธุไพร มีน้องสาวคือ จุรีพร สินธุไพร[2]
นิสิตสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี การศึกษาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาสังคมศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม โดยขณะศึกษาในระดับปริญญาตรี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปนายกองค์การนิสิตนักศึกษา, ระดับปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,ระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และได้รับประกาศนียบัตรวิชาการเมืองการปกครองชั้นสูง จาก สถาบันพระปกเกล้า
นิสิตเป็นนักเคลื่อนไหวคนสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เคยรับราชการครู และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการศึกษามากมาย เช่น คณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้นำครูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น ก่อนผันตัวเข้าสู่แวดวงการเมือง
นิสิต สมรสกับ เอมอร สินธุไพร มีบุตรสาวสองคนได้แก่ จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และชญาภา สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 8 จังหวัดร้อยเอ็ด
งานการเมือง
[แก้]นิสิตได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 ภายใต้สังกัดพรรคความหวังใหม่ ซึ่งต่อมาถูกยุบรวมกับ พรรคไทยรักไทย โดยสามารถเอาชนะเจ้าของพื้นที่เก่าอย่าง ชัชวาลย์ ชมภูแดง ต่อมาได้รับเลือกให้เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด ในปี พ.ศ. 2548 สังกัด พรรคไทยรักไทย ในขณะนั้นนิสิตเป็นผู้ริเริ่มนำเสนอ โครงการอาจสามารถโมเดล หรือโมเดลแก้จนใน อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด จนนำไปสู่การลงพื้นที่ของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ร่วมกับคณะรัฐมนตรีและข้าราชการทุกภาคส่วน โดยมีนักการทูตจากหลายประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ ได้มีการถ่ายทำรายการเรียลลิตี้โชว์ปฏิบัติการแก้จนออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก แต่โครงการไม่ได้รับการสานต่อเนื่องจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 โครงการนี้จึงถูกพับไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งภายใต้สังกัด พรรคพลังประชาชน ซึ่งนิสิตดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ต่อมานิสิตถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี โดยเป็นหนึ่งในสมาชิก บ้านเลขที่ 109 จากคดียุบพรรคพลังประชาชน หลังพ้นจากการตัดสิทธิ์ทางการเมืองได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในปีพ.ศ. 2557 สังกัดพรรคเพื่อไทย แต่ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ
นิสิตเคยถูกจำคุกในคดี เหตุการณ์ก่อความไม่สงบของกลุ่ม นปช. เมษายน พ.ศ. 2552 ในศาลชั้นต้น ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558 ต่อมาใน วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558 เขาได้รับการประกันตัวในวงเงิน 8 แสนบาท เขาถูกจำคุกอีกครั้งในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560 ตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ในคดีดังล่าว และไม่ได้รับการประกันตัว
ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 39[3] แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
[แก้]นิสิต สินธุไพร ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 3 สมัย คือ
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดพรรคความหวังใหม่ → พรรคไทยรักไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดพรรคไทยรักไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 จังหวัดร้อยเอ็ด สังกัดพรรคพลังประชาชน
การเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดง
[แก้]หลังการรัฐประหารในปี 2549 นิสิต สินธุไพร เริ่มเคลื่อนไหวในฐานะประธานกลุ่มคนรักทักษิณไม่เอาเผด็จการ โดยเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วง คมช. ตลอดระยะเวลาการรัฐประหาร จากนั้นเป็นแกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ นปก. ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. นอกจากนี้ยังเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน นปช. ซึ่งเน้นให้ความรู้ด้านประชาธิปไตยแก่ประชาชน ปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินรายการทาง "เปิดปมสู่ปฏิรูป" ร่วมกับนายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ และนายพิพัฒนชัย ไพบูลย์ ทางพีซทีวี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2551 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[4]
- พ.ศ. 2547 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ นายนิสิต สินธุไพร
- ↑ "จุรีพร สินธุไพร" ลงสมัครนายก อบจ.ร้อยเอ็ด ในนามอิสระ ได้หมายเลข 4
- ↑ เปิด 97 บัญชีรายชื่อเพื่อไทย 'บรรยิน'ลุ้นได้เป็นส.ส.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2009-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑๑, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๓๗, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2499
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลจากอำเภอพนมไพร
- ครูชาวไทย
- นักการเมืองไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด
- พรรคความหวังใหม่
- นักการเมืองพรรคไทยรักไทย
- พรรคพลังประชาชน (พ.ศ. 2541)
- นักการเมืองพรรคเพื่อไทย
- แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
- บุคคลจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- บุคคลจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.