นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า
นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า | |
---|---|
เพศผู้ | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง (Chordate) |
ชั้น: | นก (Aves) |
อันดับ: | นกเกาะคอน (Passeriformes) |
วงศ์: | นกเขียวก้านตอง (Chloropseidae) |
สกุล: | นกเขียวก้านตอง (Chloropsis) |
สปีชีส์: | นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า (C. cochinchinensis) |
ชื่อทวินาม | |
Chloropsis cochinchinensis Gmelin, 1789 |
นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า (อังกฤษ: Blue-winged Leafbird; ชื่อวิทยาศาสตร์: Chloropsis cochinchinensis) เป็นชนิดพันธุ์หนึ่งของสกุลนกเขียวก้านตองลักษณะพิเศษคือมีแถบสีฟ้าที่ขอบปีกด้านนอก ยาวตั้งแต่หัวปีกถึงปลายปีก โดยความเข้มอ่อนขึ้นอยู่กับอายุและชนิดพันธุ์ย่อยของนก ชนิดพันธุ์นี้พบครั้งแรกในเขตโคชินไชนา (ปัจจุบันคือเวียดนามใต้) จึงนำชื่อสถานที่พบมาตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ว่า cochinchinensis
ลักษณะทางกายภาพ
[แก้]นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้ามีความยาวจากปลายปากถึงปลายหาง 19 เซนติเมตร ลำตัวอยู่ในแนวนอน บริเวณตะโพกมีขนยาวและฟูเช่นเดียวกับนกปรอด ปากยาว เรียวโค้ง และมีความยาวพอๆกับหัว เหมาะที่จะใช้สอดเข้าไปในกรวยดอกไม้เพื่อดูดกินน้ำหวานตอนปลายปากงุ้มลงเล็กน้อย รูจมูกเป็นรูปไข่ ขนที่หน้าผากยาวลงมาถึงรูจมูก ที่มุมปากมีขนเส้นเล็กแข็ง ๆ สั้น ๆ มองเห็นไม่เด่นชัดนัก ปีกมนกลม ขนปลายปีกมี 10 เส้น ขนหางมี 12 เส้น หางยาวตัดตรง ขาและนิ้วเท้าสีเทาอมฟ้า ขาท่อนล่างสั้นมาก นิ้วเท้าเล็กยื่นไปข้างหน้า 3 นิ้วยื่นไปข้างหลัง 1 นิ้ว
ส่วนบนของลำตัวตั้งแต่หลังคอ หลัง ไหล่ ตะโพก จนถึงขนคลุมโคนหางด้านบน เป็นสีเขียวสดเช่นเดียวกับบนหัวและท้ายทอย ปีกสีเขียวเข้มแต่มีแถบสีฟ้าสะท้อนแสงที่ขนคลุมปีกเห็นได้ชัดเจน และครีบขนด้านนอกของขนปลายปีกทุกเส้นเป็นสีฟ้า แต่เห็นไม่ค่อยชัดเพราะนกมักหุบปีกตลอดเวลา แต่ถ้าหากนำไปเทียบกับนกเขียวก้านตองชนิดอื่นแล้ว จะเห็นว่านกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า มีปีกสีออกฟ้าชัดเจนกว่าแม้ว่าจะมิได้มีสีฟ้าทั่วทั้งปีก ขนหางคู่กลางเป็นสีเขียวเข้มเช่นเดียวกับปีกแต่ขนหางที่เหลืออีก 5 คู่เป็นสีฟ้าเช่นเดียวกับครีบขนด้านนอกของขนปลายปีก
นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าเป็นนกที่มีความแตกต่างระหว่างเพศ แบบเห็นได้ชัด โดยเพศผู้จะมีขนรอบดวงตา รอบปาก และบริเวณคางเป็นสีดำ ภายในแถบสีดำยังมีขีดสั้น ๆ เฉียง ๆ สีน้ำเงินอยู่สองข้างคางอีกด้วย แต่ไม่ชัดเจน นอกจากนี้รอบแถบสีดำจะมีแถบสีเหลืองล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งค่อย ๆ กลมกลืนส่วนบริเวณหัวจะมีสีเขียวออกไปทางเหลือง หน้าผากและแถบสั้น ๆ เหนือตาเป็นสีเหลืองสดใส แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียวสดทางตอนบนและด้านข้างของหัว บริเวณท้ายทอยเจือสีทองเล็กน้อย ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้มักเข้าใจผิดว่าเป็นนกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง แต่จุดที่ต่างคือสีเหลืองจะไม่เข้มมาก และแถบสีฟ้าที่ปีกจะดูเด่นชัดกว่า
นกที่ยังไม่เต็มวัย ทั้งสองเพศจะมีสีเขียวตลอดตัว และมีสีเหลืองแซมเล็กน้อยที่ท้ายทอย แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์มีแถบสีฟ้าสดใสที่ ขนคลุมปีก ขนปลายปีก ขนหางคู่นอก สีฟ้าจะดูหม่นกว่านกเพศผู้ตัวเต็มวัยเล็กน้อย
ชนิดย่อย C. c. flavocineta (นกเขียวก้านตองกีนาบาลู) ซึ่งพบบนเทือกเขากีนาบาลู ในตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว นกเพศเมีย จะมีแถบสีดำที่คาง หัวตา ใต้ตา และ ใต้คอ เช่นเดียวกับนกตัวผู้ แต่ไม่มีแถบสีเหลืองล้อมรอบ
ชนิดพันธุ์ย่อยและถิ่นอาศัย
[แก้]นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า เป็นนกเขียวก้านตองที่มีชนิดพันธุ์ย่อย (สปีชีส์ย่อย) มากที่สุดในบรรดานกเขียวก้านตองทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น 10 ชนิดย่อยดังนี้
- นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าศรีลังกา หรือ นกเจอร์ดอน (ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. jerdoni) มีถิ่นอาศัยบริเวณที่ราบสูงเดกกัน ประเทศอินเดีย จนถึงศรีลังกา ตั้งชื่อเป็นเกียรติกับ โทมัส เจอร์ดอน นักพฤกษศาสตร์ และสัตววิทยาชาวอังกฤษ เป็นสายพันธุ์ที่สีฟ้าของปีกจางที่สุดจนเกือบมองไม่เห็น
- นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าพายัพ (ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. chlorocephala) ชนิดย่อยนี้มีการแพร่กระจายกว้างขวางมากที่สุด ในประเทศไทยพบในเขตพื้นที่มณฑลพายัพ และฟากตะวันตกของมณฑลมหาราษฎร์เดิม ยาวลงไปจนถึงคอคอดกระ อันได้แก่พื้นที่เขตทิวเขาแดนลาว ทิวเขาอินทนนท์ ทิวเขาถนนธงชัย ทิวเขาขุนตานและทิวเขาผีปันน้ำ ข้ามเข้าไปในเขตประเทศพม่า อันได้แก่พื้นที่เกือบทั้งหมดของพม่า ยกเว้นเขตตะนาวศรีตอนใต้ และยังพบในบังกลาเทศ และรัฐอัสสัมและรัฐมณีปุระ ของอินเดีย
- นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าคินเนียริ (ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. kinneari) มีถิ่นอาศัยบริเวณทางตะวันออกของมณฑลมหาราษฎร์เดิมอันได้แก่ฟากตะวันออกของทิวเขาผีปันน้ำ และพื้นที่ทั้งหมดทิวเขาเพชรบูรณ์และทิวเขาหลวงพระบาง ข้ามไปยังแขวงไชยบุรี และพื้นที่ของประเทศลาวตั้งแต่แขวงสุวรรณเขตขึ้นไปทางเหนือ นอกจากนี้ยังพบในสิบสองปันนา และตอนเหนือของประเทศเวียดนาม[1]
- นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าโคชินไชนา (ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. cochinchinensis) เป็นชนิดพันธุ์แรกที่ค้นพบ มีถิ่นอาศัยบริเวณทิวเขาสันกำแพง ทิวเขาพนมดงรัก ทิวเขาจันทบุรี ทิวเขาบรรทัด เข้าไปในประเทศกัมพูชา และประเทศลาวตั้งแต่แขวงสาละวันลงมา และประเทศเวียดนามตอนใต้
- นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าเสรีไทย หรือ นกเสรีไทย (ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. serithai) ค้นพบครั้งแรกที่บ้านท่าล้อ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย Herbert g. Deignan ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติกับขบวนการเสรีไทย มีถิ่นอาศัยบริเวณทางตอนใต้ของเขตตะนาวศรีในประเทศพม่า และในประเทศไทยตั้งแต่คอคอดกระลงมาจนถึงจังหวัดตรัง
- นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าโมลุกกะ (ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. moluccensis) พบที่หมู่เกาะโมลุกกะ แต่ตามบันทึกนั้นพบครั้งแรกที่มะละกา ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังพบในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ส่วนในอินโดนีเซียพบที่หมู่เกาะโมลุกกะ และอิเรียนจายา
- นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าสุมาตรา (ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. ictercephala) มีถิ่นอาศัยบริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย
- นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าชวา (ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. nigricollis) มีถิ่นอาศัยบริเวณเกาะชวา เกาะบาหลี และเกาะอื่นๆในเขตหมู่เกาะซุนดาน้อย ของประเทศอินโดนีเซีย ในเพศผู้จะไม่มีสีเหลืองที่หัวมากเหมือนกับพันธุ์ไทย และขนสีดำที่คางกินอาณาบริเวณน้อยกว่า
- นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าบอร์เนียว (ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. viridinucha) มีถิ่นอาศัยบริเวณที่ราบของเกาะบอร์เนียว ในเขตประเทศอินโดนีเซีย
- นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้ากีนาบาลู (ชื่อวิทยาศาสตร์: C. c. flavocineta) มีถิ่นอาศัยบริเวณภูเขาสูงของเกาะบอร์เนียว ซึ่งพบได้มากที่ภูเขากีนาบาลู ประเทศมาเลเซีย นกเพศเมีย จะมีแถบสีดำที่คาง หัวตา ใต้ตา และ ใต้คอ เช่นเดียวกับนกตัวผู้ แต่ไม่มีแถบสีเหลืองล้อมรอบ
นอกจากทั้ง 10 ชนิดพันธุ์ย่อยแล้ว นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ นกเขียวก้านตองหน้าผากทองเกือบทุกประการ เว้นแต่สีขนบริเวณหน้าผาก ซึ่งจะมีสีทองเพิ่มขึ้นมา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 中国科学院动物研究所. "蓝翅叶鹎云南亚种". 《中国动物物种编目数据库》. 中国科学院微生物研究所. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2009-04-04.
- "นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า". เว็บไซต์บ้าน-นก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 February 2009.
- BirdLife International (2006). Chloropsis cochinchinensis. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 12 May 2006.
- R. Grimmett, C. Inskipp, T. Inskipp และคณะ. Birds of India. Princeton : Princeton University Press, 1999. 384 หน้า. ISBN 978-0-691-04910-6
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Blue-winged Leafbird videos[ลิงก์เสีย] on the Internet Bird Collection
- จันทร์น้อย. นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า
- ดูนกที่เขาใหญ่ ประสบการณ์ประทับใจของมือใหม่หัดส่อง เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ตอนที่ 2-2, tourthai.com