ซันโยชิงกันเซ็ง
ซังโยชิงกันเซ็ง 山陽新幹線 | |||
---|---|---|---|
ชินกันเซ็ง N700 ซีรีส์ ทำขบวน | |||
ข้อมูลทั่วไป | |||
เจ้าของ | JR ตะวันตก | ||
ที่ตั้ง | ญี่ปุ่น | ||
ปลายทาง | |||
จำนวนสถานี | 19 | ||
การดำเนินงาน | |||
รูปแบบ | ชิงกันเซ็ง | ||
ผู้ดำเนินงาน | JR ตอนกลาง JR คีวชู JR ตะวันตก | ||
ศูนย์ซ่อมบำรุง | โอซากะ, โอกายามะ, ฮิโรชิมะ, ฮากาตะ | ||
ประวัติ | |||
เปิดเมื่อ | 15 มีนาคม พ.ศ. 2515 | ||
ข้อมูลทางเทคนิค | |||
ระยะทาง | 553.7 กิโลเมตร | ||
รางกว้าง | รางมาตรฐาน 1.435 เมตร | ||
ระบบจ่ายไฟ | 25 kV AC, 50 Hz, จ่ายไฟฟ้าด้านบน | ||
ความเร็ว | 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง | ||
|
ซังโยชิงกันเซ็ง (ญี่ปุ่น: 山陽新幹線; โรมาจิ: San'yō Shinkansen) เป็นหนึ่งในเส้นทางให้บริการรถไฟความเร็วสูงชิงกันเซ็งในญี่ปุ่น เชื่อมต่อระหว่างชินโอซากะในเมืองโอซากะกับฮากาตะในเมืองฟูกูโอกะ ซึ่งเป็นสองเมืองที่ใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังเชื่อมต่อระหว่างเมืองใหญ่ ๆ ของเกาะฮอนชูและคิวชูเข้าด้วยกัน เช่น โคเบะ ฮิเมจิ โอกายามะ ฮิโรชิมะ และคิตะกีวชู ดำเนินการโดยบริษัทรถไฟญี่ปุ่นตะวันตก และยังเชื่อมต่อกับโทไกโดชิงกันเซ็งที่วิ่งจากโอซากะไปยังโตเกียวอีกด้วย ซังโยชิงกันเซ็งนี้เชื่อมต่อระหว่างฮากาตะกับโอซากะโดยใช้เวลาเดินทางเพียง 2.5 ชั่วโมงเท่านั้น นับว่าเป็นหนึ่งในรถไฟโดยสารที่วิ่งเร็วที่สุดในโลกในขณะนี้ด้วยความเร็วประมาณ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถไฟโนโซมิบางขบวนยังให้บริการต่อเนื่องทั้งซังโยและโทไกโดชิงกันเซ็ง ทำให้การเดินทางจากโตเกียวไปยังฮากาตะนั้นใช้เวลาไม่ถึง 5 ชั่วโมงเท่านั้น
ปัจจุบัน สถานีฮากาตะ เป็นสถานีปลายทางของเครือข่ายชิงกันเซ็งทางด้านตะวันตก แต่ถ้าคีวชูชิงกันเซ็งสร้างมาเชื่อมต่อกับซังโยชิงกันเซ็งสำเร็จ ก็จะทำให้สามารถเดินทางจากสถานีฮากาตะต่อไปยังคาโงชิมะได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในฤดูใบไม้ผลิของปี 2011
ประวัติ
[แก้]การก่อสร้างซังโยชิงกันเซ็ง ระหว่างชินโอซากะไปยังชินโอซากะและโอกายามะนั้นมีการลงนามมอบอำนาจเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) และเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) และการก่อสร้างเชื่อมต่อระหว่างโอกายามะและฮากาตะเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970)
ส่วนของชินโอซากะไปยังโอกายามะนั้นเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) และส่วนที่เหลือนั้นเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) รถไฟฮิการิขบวนแรกนั้นเป็นรถไฟชิงกันเซ็ง 0 ซีรีส์ ทำให้การเดินทางจากโอซากะไปยังฮากาตะใช้เวลา 3 ชั่วโมง 44 นาที ต่อมาในปี 2529 ลดลงเหลือ 2 ชั่วโมง 59 นาทีเมื่อมีการเพิ่มความเร็วเป็น 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในปี 2532 มีการใช้รถไฟชิงกันเซ็ง 100 ซีรีส์ที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดถึง 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ทำให้การเดินทางใช้เวลาสั้นลงอีกเหลือเพียง 2 ชั่วโมง 49 นาทีเท่านั้น
ส่วนรถไฟโนโซมิ เริ่มนำมาใช้เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) ซึ่งเป็นรถไฟชิงกันเซ็ง 300 ซีรีส์ การเดินทางจากโอซากะไปยังฮากาตะสามารถร่นระยะเวลาเหลือ 2 ชั่วโมง 32 นาทีเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) รถไฟชิงกันเซ็ง ซีรีส์ 500ก็นำมาให้บริการเป็นรถไฟโนโซมิ ทำให้การเดินทางจากชินโอซากะไปยังฮากาตะใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมง 17 นาทีเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ต่อมา รถไฟชิงกันเซ็ง 700 ซีรีส์ก็ได้นำมาเปิดให้บริการเป็นรถไฟโนโซมิ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) เดินทางจากโตเกียวไปยังฮากาตะ โดยเปิดให้บริการพร้อม ๆ กับการเปิดสถานีอาซะ และรถไฟฮิการิ เรล สตาร์ก็ได้นำรถไฟซีรีส์ 700 รุ่นใหม่มาให้บริการบ้างเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000)
สถานีโอโกริเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีชินยามางูจิ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003)
และรถไฟชิงกันเซ็ง ซีรีส์ N700 ก็เปิดให้บริการเป็นรถไฟโนโซมิ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ขณะที่ซีรีส์ 700 วิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุด 285 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
ทุกวันนี้ ซังโยชิงกันเซ็ง สามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทรถไฟญี่ปุ่นตะวันตกคิดเป็นร้อยละ 40 จากรายได้ที่มาจากการคมนาคมทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เส้นทางรถไฟนี้ก็ต้องแข่งขันกับสายการบินในประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะการเดินทางจากโตเกียวไปยังฟูกูโอกะและจากโอซากะไปยังฟูกูโอกะ จึงมีผลทำให้บริษัทรถไฟญี่ปุ่นตะวันตกยอมปรับลดค่าโดยสารหลายครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสายการบินได้ เช่น การเพิ่มจำนวนรถไฟขบวนสั้น (ฮิการิขนาด 8 โบกี้) หลายรอบมากขึ้น
รถไฟ
[แก้]รถไฟที่นำมาใช้ในเส้นทางนี้ ได้แก่
- ซีรีส์ 0 โคดามะ
- ซีรีส์ 100 โคดามะ
- ซีรีส์ 300 ฮิการิ
- ซีรีส์ 500 โนโซมิ/ฮิการิ เรล สตาร์
- ซีรีส์ 700 โนโซมิ/ฮิการิ เรล สตาร์/โคดามะ
- ซีรีส์ N700 โนโซมิ