งูเห่าหม้อ
งูเห่าหม้อ | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Reptilia |
อันดับ: | Squamata |
อันดับย่อย: | Serpentes |
วงศ์: | Elapidae |
สกุล: | Naja |
สปีชีส์: | N. kaouthia |
ชื่อทวินาม | |
Naja kaouthia Lesson, 1831 | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ | |
ชื่อพ้อง | |
|
งูเห่าไทย งูเห่าดง งูเห่าหม้อ งูเห่าปลวก หรือ งูเห่าพ่นพิษอินเดีย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Naja kaouthia) เป็นงูพิษร้ายแรงชนิดหนึ่ง จำพวกงูเห่า อยู่ในวงศ์งูพิษเขี้ยวหน้า (Elapidae)
หัวมีลักษณะกลมเรียว หางเรียวยาว มีสีสันลำตัวต่าง ๆ ทั้ง สีดำ, เขียว หรือน้ำตาลเหลืองหรือน้ำตาลเข้ม รวมทั้งเป็นสีขาวนวลปลอดตลอดทั้งตัวด้วย งูเห่าไทยมีดอกจันเป็นรูปตัว O โดยที่มิใช่เป็นงูเผือกเรียกว่า "งูเห่านวล" (N. k. var. suphanensis Nutaphand, 1986) มีทั้งที่มีลายตามตัว และไม่มีลาย ไม่มีดอกจัน พบที่แถบจังหวัดสุพรรณบุรี[1] มีนิสัยดุร้าย มีพิษมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทที่รุนแรง และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่ถูกกัดเสียชีวิต พิษของงูเห่านับว่ามีความร้ายแรงมาก
ตัวผู้หัวจะทู่ใหญ่ พังพานจะแผ่กว้างเป็นวงกลม ส่วนตัวเมียหัวจะหลิมปลายจมูกเรียว พังพานแคบกว่าตัวผู้ โดยงูเห่าชนิดนี้สามารถแผ่พังพานได้กว้างกว่างูเห่าชนิดอื่น ๆ และใกล้เคียงกับงูเห่าอินเดีย (N. naja) ที่พบได้ในประเทศอินเดีย และเมื่อยกตัวชูคอแผ่พังพานได้สูงที่สุดประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว เกล็ดบนหัวมีขนาดใหญ่
งูเห่าไทย จัดเป็นงูเห่าที่มีขนาดใหญ่มากชนิดหนึ่ง โดยความยาวเฉลี่ยเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 100–180 เซนติเมตร โดยขนาดยาวที่สุดที่วัดได้ของสถานเสาวภา โดยสภากาชาดไทย คือ 225 เซนติเมตร
งูเห่าไทย พบกระจายพันธุ์อย่างชุกชุมในประเทศไทย โดยพบได้ทุกภาค พบชุกชุมโดยเฉพาะภาคกลาง ส่วนใหญ่ในภาคกลาง พบมากที่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม อยุธยา นครนายก อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี นอกจากนี้แล้วยังพบกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางตั้งแต่อินเดีย, เนปาล, พม่า, จีน, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว ไปจนถึงแหลมมลายู ในประเทศไทยถือเป็นงูเห่าชนิดที่พบได้ชุกชุมมากที่สุด โดยมักในบริเวณที่ลุ่มค่อนข้างชื้น มักอาศัยอยู่ในจอมปลวก, ทุ่งนา หรือพบบนภูเขาที่ระดับความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเลและชุมชนป่าในเมือง ออกหากินในเวลาพลบค่ำโดยหากินตามพื้นดิน งูเห่าหม้อบางตัวมีความสามารถในการพ่นพิษ ทำให้พวกมันได้รับฉายาว่า "งูเห่าพ่นพิษอินเดีย"[2][3] ผสมพันธุ์ช่วงเดือนสิงหาคมถึงมกราคม วางไข่ครั้งละ 15–37 ฟอง ในช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ระยะฟักไข่นาน 51–69 วัน (เฉลี่ย 60 วัน) เมื่อแรกเกิดมีน้ำหนัก 13.2–18.8 กรัม และความยาว 31.5–35.5 เซนติเมตร
กินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเช่น หนู และ นก, กบ, เขียด และบางครั้งก็กินงูชนิดอื่นเป็นอาหาร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ วิโรจน์ นุตพันธุ์ น.อ.(พิเศษ), ลายงูไทย (พ.ศ. 2544) ISBN 9747751917
- ↑ Wuster, Wolfgang; Thorpe, Roger S. (1992). "Dentitional phenomena in cobra revisited: spitting and fang structure in the Asiatic species of Naja (Serpentes: Elapidae)" (PDF). Herpetologica. 48 (4): 424–434.
- ↑ Santra, Vishal; Wüster, Wolfgang (2017). "Naja kaouthia behavior/spitting" (PDF). Herpetological Review. 48 (2): 455.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Naja kaouthia ที่วิกิสปีชีส์