ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา คือ ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ยกเว้นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ (สถาบันอุดมศึกษานอกระบบ)

ประวัติ[แก้]

ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เริ่มมีการกำหนดรูปแบบขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2507 โดยการออกพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2507 ขึ้น เพื่อกำหนดรูปแบบ และวิธีการต่างๆ เกี่ยวกับข้าราชการในสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน[1] ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2545 โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าข้าราชการ คือ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับข้าราชการ สาย ก. และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สำหรับข้าราชการ สาย ข. และ สาย ค.[2]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547[3] ขึ้น จึงมีการเรียกชื่อ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" แทนข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย

ปัจจุบันไม่มีการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว โดยสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ จะใช้การบรรจุและแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัยทดแทนอัตราข้าราชการเดิม ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัย มีสิทธิที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ และตำแหน่งผู้บริหารเช่นเดียวกันกับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา[4]

คุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับราชการ[แก้]

ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ต้องมีคุณสมบัติทั่วไป ดังนี้

  • มีสัญญชาติไทย
  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
  • เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และไม่มีลักษณะต้องห้ามลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

ประเภท[แก้]

ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • (ก) ตำแหน่งวิชาการ ซึ่งทำหน้าที่สอนและวิจัย ได้แก่
  • (ข) ตำแหน่งประเภทผู้บริหาร ได้แก่
    • อธิการบดี
    • รองอธิการบดี
    • คณบดี
    • หัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ
    • ผู้ช่วยอธิการบดี
    • รองคณบดีหรือรองหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ
    • ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขต ผู้อำนวยการกอง หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง
    • ตำแหน่งอื่นตามที่ ก.พ.อ. กำหนด
  • (ค) ตำแหน่งประเภททั่วไป วิชาชีพเฉพาะ หรือเชี่ยวชาญเฉพาะ ได้แก่
    • ระดับเชี่ยวชาญพิเศษ (ระดับ 10,11)
    • ระดับเชี่ยวชาญ (ระดับ 9)
    • ระดับชำนาญการพิเศษ (ระดับ 7,8)
    • ระดับชำนาญการ (ระดับ 6,7)
    • ระดับปฏิบัติการ (ระดับ 3-5)
    • ระดับอื่นตามที่ ก.พ.อ. กำหนด

การจำแนกประเภทตำแหน่งดังกล่าวนี้ยังคงอิงอยู่กับระบบมาตรฐานกลาง 11 ระดับ (เฉพาะประเภทวิชาการ และประเภททั่วไปฯ ส่วนประเภทผู้บริหาร หน่วยราชการในสถาบันอุดมศึกษาจะคัดเลือกข้าราชการที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งโดยข้าราชการผู้นั้นจะต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 3) เช่น ศาสตราจารย์ ระดับ 11, รองศาสตราจารย์ ระดับ 9, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 8, นักวิชาการศึกษาชำนาญการ ระดับ 7 เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2507
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-14. สืบค้นเมื่อ 2010-05-21.
  3. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547
  4. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551

ดูเพิ่ม[แก้]