ช่วง มูลพินิจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ช่วง มูลพินิจ

เกิด7 ธันวาคม พ.ศ. 2483 (83 ปี)
จังหวัดสมุทรสงคราม ประเทศไทย
อาชีพนักเขียน จิตรกร
สัญชาติไทย ไทย

ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2556 เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงชาวไทย มีผลงานปรากฏทั้งในด้านจิตรกรรมและประติมากรรมตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา งานของช่วงในระยะแรกเริ่มเป็นภาพลายเส้นประยุกต์ลายไทย ต่อมาจึงใช้เทคนิคสีน้ำ และสีน้ำมัน ผลงานส่วนใหญ่แสดงถึงเรื่องราวของดอกไม้ แมลง สัตว์ มนุษย์ ผนึกเรื่องราวทางอุดมคติกับธรรมชาติ

ประวัติและงานศิลปะ[แก้]

ช่วง มูลพินิจ เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงชาวไทย เกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ที่อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบัน ช่วง มูลพินิจ พำนักอยู่ที่ย่านบางกะปิ ชีวิตครอบครัวสมรสกับ จินดารัตน์ ผู้เป็นภริยา มีบุตรสาวด้วยกันทั้งหมดหนึ่งคน และมีหอศิลป์ที่แสดงผลงานเป็นของตนเองชื่อ "หอศิลป์ช่วง มูลพินิจ" ที่บ้านของตนเอง [1]

การศึกษา[แก้]

จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดบางน้อย ชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดกลางเหนือ สากลวิสุทธิ์ ด้วยความที่เป็นเด็กโรงเรียนวัด จึงทำให้มีความชื่นชอบในศิลปะแนวประติมากรรม จึงเข้ามาศึกษาด้านศิลปะที่กรุงเทพมหานคร ที่โรงเรียนศิลปศึกษา และเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะเรียนก็ทำงานรับจ้างทำฉากภาพยนตร์ เขียนภาพฝาผนัง และงานศิลป์ต่างๆ จนจบอนุปริญญา [2]

งานศิลปะ[แก้]

งานของช่วงในระยะแรกเริ่มเป็นภาพลายเส้น ที่ประยุกต์ความอ่อนช้อยของลายไทย เข้ากับรูปทรงแบบเหมือนจริงได้อย่างกลมกลืน ต่อมาจึงได้พัฒนามาใช้เทคนิคสีน้ำและสีน้ำมัน ส่วนใหญ่แสดงถึงเรื่องราวของดอกไม้ แมลง สัตว์ มนุษย์ ทั้งในแง่อีโรติก จนกระทั่งถึงนัยการมองเห็นในวัฏสงสารของชีวิต เป็นการผนึกเรื่องราวทางอุดมคติกับธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกันอย่างงดงาม แนบเนียน ลงตัว

นอกจากนั้น ยังมีผลงานออกแบบและปั้นเกี่ยวกับศาสนาอีกหลายชิ้น เช่น ออกแบบและปั้นพระพุทธรูปยืนลีลาห้ามญาติ "พระพุทธอภัยมงคลสมังคี" ที่สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ทรงสร้างถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อนำไปพระราชทานแก่ทุกจังหวัดในวโรกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ได้ออกแบบ และควบคุมการตกแต่งพระมหาเจดีย์ วัดธรรมมงคล ที่ซอยสุขุมวิท 101 และวาดภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่ 8 ภาพเป็นภาพปริศนาธรรมภายในวัด เป็นต้น[3]

ผลงานที่รู้จักกันดีอีกอย่างหนึ่งคือ การออกแบบตัวหนังสือชื่อเรื่องและโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยในแนววรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้านของไทย เช่น แผลเก่า, เลือดสุพรรณ, เพื่อน-แพง, ไกรทอง, กากี ซึ่งภาพโปสเตอร์เรื่อง เพื่อน-แพง ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในโปสเตอร์ที่งามที่สุดในโลกในการส่งเข้าประกวด ที่สถาบันโรงภาพยนตร์แห่งชาติ กรุงลอนดอน เมื่อปี พ.ศ. 2526

การทำงาน[แก้]

เริ่มต้นทำงานที่ศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ตำแหน่งออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องเขิน ระหว่างการทำงานอยู่ ที่นี่ได้รับการชักชวนจากสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ให้มาเขียนภาพลายเส้นประกอบ หนังสือสยามสมัย ต่อมาได้เขียนภาพประดับในหนังสือและนิตยสารต่าง ๆ เช่น ช่อฟ้า, ชาวกรุง, เฟื่องนคร และสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ จนเริ่มเป็นที่รู้จักด้วยผลงานเขียนลายเส้นแบบฟรีแฮนด์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมถึงได้เขียนลายเส้นที่หน้าปกหนังสือ เสเพลบอยชาวไร่ ของ’รงค์ วงษ์สวรรค์ และหน้าปกหนังสือ กามนิต วาสิฏฐี ด้วย

จากนั้นได้ลาออกจากกระทรวงอุตสาหกรรมหลังจากทำอยู่ 9 ปี เพื่อเริ่มงานใหม่ ที่บริษัทโฆษณาอีก 3 ปี และหลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นศิลปินอิสระแบบเต็มตัว

หอศิลป์ ช่วง มูลพินิจ[แก้]

อาคารหอศิลป์ 3 ชั้น ตั้งอยู่บนถนนรามคำแหง เขตสะพานสูง ด้านในจัดแสดงผลงานกว่า 80 ชิ้น ที่เก็บสะสมผลงานตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน อาทิเช่น ภาพลายเส้น, สีน้ำ, สีน้ำมัน, ภาพพิมพ์, งานปฏิมากรรม, งานออกแบบต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสแก่ นักศึกษา และผู้สนใจงานศิลปะได้เข้าชม (ไม่คิดค่าเข้าชม) รวมทั้งเป็นการแสดงให้เห็นถึง วิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบผลงานของคุณช่วง หอศิลป์ช่วง มูลพินิจเริ่มเปิดเป็นทางการในเดือน มีนาคม ปีพ.ศ. 2545 [4]

จุดเริ่มต้นของหอศิลป์นี้เนื่องจากบ้านเดิมที่ ลาดพร้าวหลังเล็ก เก็บงานได้น้อย คนมาชมงานก็ลำบาก ถึงคราวน้ำท่วมก็เสียหาย จึงทำหอศิลป์ขึ้นมาเป็นที่ทำงานและจัดแสดงผลงานให้ผู้สนใจงานมาดู โดยได้อาจินต์ ปัญจพรรค์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารฟ้าเมืองไทยรายสัปดาห์มาเปิด ที่ผ่านมามีผู้สนใจเข้ามาเรื่อยๆ โดยมาเป็นหมู่คณะ เป็นนักเรียนนักศึกษา หอศิลป์ช่วง มูลพินิจ เปิดให้เข้าชมเป็นประจำในทุกวันอาทิตย์ สุดท้ายของเดือน เวลา 10.00 – 17.00 น. หรือหากต้องการเข้าชมนอกเวลาทำการ สามารถโทรนัดล่วงหน้า [5]

ผลงานศิลปะ[แก้]

ประวัติการแสดงงานนิทรรศการเดี่ยว

  • พ.ศ. 2513 : มินิ-เมนิ สยามสแควร์
  • พ.ศ. 2519 : สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน
  • พ.ศ. 2523 : สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน
  • พ.ศ. 2530 : หอศิลปแห่งชาติถนนเจ้าฟ้า
  • พ.ศ. 2530 : โรงแรมอิมพีเรียล
  • พ.ศ. 2543 : ห้องแสดงศิลปกรรมศยาม จ.ภูเก็ตนิทรรศการกลุ่ม
  • พ.ศ. 2524-พ.ศ. 2543 ในประเทศและต่างประเทศ (จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกา)
  • พ.ศ. 2556 : หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ผลงานศิลปะทางพุทธศาสนา

  • พ.ศ. 2524 : ออกแบบพระประธานพระธรรมกาย วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี
  • พ.ศ. 2525 : ออกแบบและปั้นพระพุทธอภัยมลคงสมังคีที่สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ทรงสร้างถวายสมเด็จพระจ้าอยู่หัวฯ เพื่อนำไปพระราชทานแก่ทุกจังหวัดในวโรกาส เฉลิมฉลองรัตนโกสินทร์ 200 ปี
  • พ.ศ. 2526 : ออกแบบและควบคุมภาพปั้นนูนต่ำ ขนาน 12×27 เมตร 2 ภาพ (ภาพปฐมเทศนา และภาพมารผจญ) ประดับพระมหาเจดีย์ (พระวิริยะมงคลมหาเจดีย์) วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร สุขุมวิท 101 ก.ท.ม.
  • พ.ศ. 2528 : ออกแบบและควบคุมภาพปั้นนูนต่ำปฏิปทาของท่านพระอาจารย์ วัน อุตตโม โดยรอบพิพิธภัณฑ์ของพระอาจารย์วัน อุตตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จ.สกลนคร
  • พ.ศ. 2532 : ออกแบบอุโบสถวัดเขาดินวนาราม อ.เมือง จ.ชุมพร
  • พ.ศ. 2534 : ออกแบบพระพุทธประธานที่มรูปลักษณ์เหมือนคนจริงให้บริษัทบุญรอดบริเวอรี่
  • พ.ศ. 2535 : ออกแบบเจดีย์ที่ระลึก หลวงปู่คำดี วัดถ้ำผาปู่ อ.เมือง จ.เลย
  • พ.ศ. 2536 : ออกแบบพระพุทธวิสุทธิธรรมกายนิมิตร วัดราชโอรส
  • พ.ศ. 2539 : ออกแบบจิตรกรรมฝาผนังภายใน โดมมหาวิหาร พระไตรปิฎกหินอ่อน พุทธมณฑล
  • พ.ศ. 2541 : ออกแบบและควบคุม การปั้นหล่อพระนาคปรกจอมปลวก เศียรเดียว ขนาด 2 เท่า คนจริง

ผลงานอื่นๆ

  • พ.ศ. 2534 : ออกแบบภาพปั้นนูนต่ำ “นักรบที่แท้จริง” ขนาด 6X2 เมตร ติดตั้งที่หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ หนังสือพิมพ์มติชน
  • พ.ศ. 2538 : ออกแบบและควบคุมการปั้น “สิงโตคู่” ปฏิมากรรมโลหะสำริด ติดตั้งที่สำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทย (ขนาดแต่ละตัวยาว 3.50 เมตร กว้าง 2.50 เมตร น้ำหนัก 5 ตัน)

[6]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. หอศิลป์ช่วง มูลพินิจ "ความงามไม่เคยเปลี่ยน" จากข่าวสด[ลิงก์เสีย]
  2. "ประวัติช่วง มูลพินิจ จาก ช่วง มูลพินิจ เว็บไซต์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-12. สืบค้นเมื่อ 2012-01-30.
  3. 60 ปี ช่วง มูลพินิจ จากนิตยสารผู้จัดการ[ลิงก์เสีย]
  4. "หอศิลป์ช่วง มูลพินิจ จาก ช่วง มูลพินิจ เว็บไซต์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-12. สืบค้นเมื่อ 2012-01-30.
  5. หอศิลป์ช่วง มูลพินิจ "ความงามไม่เคยเปลี่ยน" จากข่าวสด[ลิงก์เสีย]
  6. "ประวัติช่วง มูลพินิจ จาก ช่วง มูลพินิจ เว็บไซต์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-12. สืบค้นเมื่อ 2012-01-30.
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๗ เก็บถาวร 2022-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑ ข หน้า ๙๙, ๙ มกราคม ๒๕๕๘