วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดธรรมมงคล |
ที่ตั้ง | ซอย ปุณณวิถี 20 ซอยสุขุมวิท 101 ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | เถรวาท ธรรมยุติกนิกาย |
พระประธาน | พระพุทธสุพิโนภาสศาสดา (หลวงพ่อใหญ่), พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย |
เจ้าอาวาส | พระวิริยวัชรญาณ วิ. (บุรมณ์ เตชธมฺโม) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร หรือมักเรียกโดยย่อว่า วัดธรรมมงคล สังกัดธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ที่แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2506 เดิมเป็นป่าสะแก ซึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร) ใช้เป็นที่พักธุดงค์ในระหว่างเดินทางเข้ากรุงเทพฯ นายเถา-นางบุญมา อยู่ประเทศ มีศรัทธาจึงมอบที่ให้ และได้สร้างเป็นวัดขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2506 ปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 32 ไร่ มี พระภิกษุ สามเณร จำพรรษาประมาณ 300 กว่ารูป ปัจจุบันมีพระวิริยวัชรญาณ วิ. (บุรมณ์ เตชธมฺโม) เป็นเจ้าอาวาส
สิ่งสำคัญภายในวัด
[แก้]พระวิริยะมงคลมหาเจดีย์
[แก้]ชั้นบนสุดบรรจุพระเกศา พระอุรังคธาตุ พระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้รับจากประเทศบังกลาเทศ ฐานเจดีย์เป็นทรง 4 เหลี่ยม สูง 94.78 เมตร มี 14 ชั้น ประกอบด้วยห้องแสดงพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ส่วนฐานเจดีย์เป็นโรงเรียนครูสอนสมาธิ (สถาบันพลังจิตตานุภาพ) ประกอบด้วย ห้องเรียนขนาดใหญ่ รองรับนักศึกษาครั้งละ ประมาณ 500 คน มีห้องเดินจงกรม ห้องนั่งสมาธิ ถ้ำวิปัสสนา ห้องอาหาร และห้องประชุม
อุโบสถ
[แก้]เป็นอาคารขนาดใหญ่ 2 ชั้น สร้างขึ้นใหม่เพื่อทดแทนอุโบสถหลังเดิมที่มีขนาดเล็ก ชั้นล่างเป็นห้องอเนกประสงค์ ส่วนชั้นบนเป็นอุโบสถ ภายในประดิษฐานพระประธานขนาดใหญ่เนื้อโลหะสัมฤทธิ์ นามว่า "พระพุทธสุพิโนภาสศาสดา"
พระหยกเขียว
[แก้]ประดิษฐานอยู่ในศาลาหลังคาแบบโดมแก้ว พระพุทธรูปหยกเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีนามว่า "พระพุทธมงคลธรรมศรีไทย" หยกชิ้นใหญ่นี้ได้ถูกค้นพบที่ใต้ทะเลสาบน้ำแข็ง ประเทศแคนาดา
ถ้ำวิปัสสนา
[แก้]ตั้งอยู่ในบริเวณสวนของวัด มีเนื้อที่ 4 ไร่ จำลองบรรยากาศการปฏิบัติในป่า-ถ้ำ เพื่อเข้าไปนั่งสมาธิและฟังธรรมในถ้ำได้โดยปราศจากกังวลจากสัตว์ป่า ปากถ้ำมีประตูมุ้งลวด จุคนได้กว่า 200 คน ล้อมรอบด้วยสวนป่า มีไม้ดอกไม้ใบ สระน้ำและเนินเขาซึ่งให้บรรยากาศร่มรื่น
ศูนย์สมาธิวิริยานุภาพ
[แก้]ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของวัด ในหมู่บ้านรังสิยาเป็นสถานที่ที่สร้างขึ้น เพื่อช่วยให้ฆราวาสผู้มาปฏิบัติธรรมมีที่พัก ภายในมีห้องพักแบบโรงแรม 80 ห้อง จุผู้มาปฏิบัติได้ ประมาณ 180 คน แบ่งห้องพักเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อไม่ให้แออัดและไม่รบกวนกัน มีทั้งห้องเดียว ห้องคู่ และห้องรวมสำหรับครอบครัว ทุกห้องมีเตียง ที่นอนสปริง หมอน ผ้าปูที่นอน ตู้เสื้อผ้า และเครื่องปรับอากาศ ไว้อำนวยความสะดวก รองรับผู้มาปฏิบัติสมาธิพักค้างคืนได้ตั้งแต่ 3 วัน ถึง 7 วัน มีห้องนั่งสมาธิ บริเวณจงกรม มุมหนังสือธรรมมะและห้องอาหารให้บริการผู้มาเข้าอบรม
สถาบันพลังจิตตานุภาพ
[แก้]สถาบันพลังจิตตานุภาพ วัดธรรมมงคล เป็นสถาบันที่มีหน้าที่สอนหลักสูตรครูสมาธิให้แก่ บุคคลทั่วไป ทำการสอนเกี่ยวกับสมาธิเบื้องต้นตั้งแต่การเริ่มบริกรรม จนถึงสมาธิชั้นสูงที่หลวงพ่อวิริยังค์ได้เล่าเรียนศึกษามาจากพระอาจารย์ใหญ่ทางวิปัสสนา ได้แก่ พระอาจารย์มั่น และ พระอาจารย์กงมา รวมถึงประสบการณ์ชีวิตในการปฏิบัติสมาธิของหลวงพ่อวิริยังค์เองกว่า 60 ปี นอกจากผู้เรียนจะได้เข้าใจการทำสมาธิ ทั้งสมถะ-วิปัสสนาอย่างถี่ถ้วนแล้ว และยังสามารถเป็นครูสอนสมาธิให้แก่บุคคลอื่นได้โดยถูกต้องด้วย
ลำดับเจ้าอาวาส
[แก้]ลำดับที่ | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
---|---|---|---|
1 | สมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร) | พ.ศ. 2509 | 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563 |
รักษาการ | พระพรหมวชิรรังษี (จิรพล อธิจิตฺโต ป.ธ.7) | 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563 | 29 กันยายน พ.ศ. 2565 |
2 | พระวิริยวัชรญาณ วิ. (บุรมณ์ เตชธมฺโม) | 29 กันยายน พ.ศ. 2565 | ยังดำรงตำแหน่ง |