ประหยัด พงษ์ดำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประหยัด พงษ์ดำ
ม.ป.ช., ม.ว.ม., จ.ภ., ร.จ.พ.
เกิด28 ตุลาคม พ.ศ. 2477
อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
เสียชีวิต19 กันยายน พ.ศ. 2557 (79 ปี)
กรุงเทพมหานคร
ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ
สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) พ.ศ. 2541
คู่สมรสนางประภาศรี พงษ์ดำ
บิดามารดา
  • นายสายบัว พงษ์ดำ (บิดา)
  • นางเป้ พงษ์ดำ (มารดา)
หมวดหมู่:ศิลปินแห่งชาติ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ (28 ตุลาคม พ.ศ. 2477 - 19 กันยายน พ.ศ. 2557) ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ประจำปี พ.ศ. 2541 เป็นอดีตคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ

ประวัติ[แก้]

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ เป็นบุตรของนายสายบัว และนางเป้ พงษ์ดำ เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ที่ตำบลโพกรวม อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ได้รับการศึกษาในระดับประถม ที่โรงเรียนประชาบาลวัดกุฎีทอง จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมที่โรงเรียนนาคประดิษฐ์วิทยา และโรงเรียนสิงหวัฒนาพาหะ ตามลำดับ

ความสนใจในศิลปะของท่านนั้นมีมาตั้งแต่เยาว์วัย โดยท่านชอบวาดรูปเล่นเสมอ ๆ ในยามว่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปสัตว์ต่างๆ ดังนั้น ท่านจึงให้ความสนใจกับวิชาศิลปะที่โรงเรียนมากเป็นพิเศษ ซึ่งส่งผลให้ท่านมีพื้นฐานทางศิลปะที่มั่นคง และสามารถสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่างได้เมื่อจบการศึกษาในระดับมัธยม ท่านได้ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่างเป็นเวลา 2 ปี ก็สามารถสอบเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้

การเรียนของท่านดำเนินไปด้วยดีจนได้รับความไว้วางใจจาก ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ให้ช่วยสอนวิชาพื้นฐานทางศิลปะในขณะที่ท่านยังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 10 และเมื่อท่านจบการศึกษาแล้ว ท่านก็ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

ท่านได้ทำงานสอนอยู่ระยะหนึ่งก็สามารถสอบชิงทุนไปศึกษาศิลปะที่ประเทศอิตาลีได้ ด้วยพื้นฐานอันมั่นคงที่ได้รับมาเมื่อยังศึกษาอยู่ที่เมืองไทย และความสามารถเฉพาะตัวในเชิงศิลปะ ตลอดจนผลงานอันโดดเด่นที่เป็นประจักษ์ของคณาจารย์ที่นั่น ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเริ่มเรียนในชั้นปีที่ 1 และ 2 เหมือนคนอื่น แต่ให้ข้ามไปเรียนในชั้นปีที่ 3 เลย ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างการศึกษาท่านได้สร้างความประทับใจ เป็นที่ชื่นชมแก่คณาจารย์เป็นอย่างยิ่ง โดยสามารถทำคะแนนสอบวิชาศิลปะดีเด่นและมีผลงานจำนวนมากที่ได้รับรางวัล ท่านสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรดังเดิม เมื่อ พ.ศ. 2504

หน้าที่การงานของท่านเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ โดยได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ตั้งแต่หัวหน้าภาควิชาศิลปะภาพพิมพ์ จนถึงตำแหน่งคณบดี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ศาสตราจารย์ ระดับ 10 นอกเหนือจากงานสอนศิลปะ อันเป็นงานหลักแล้ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ยังได้เป็นกรรมการและอนุกรรมการในทางวิชาการของทั้งภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันการศึกษาอื่นๆ อีกหลายแห่ง เป็นประธานกรรมการและกรรมการตัดสินการประกวดศิลปกรรมที่สถาบันต่าง ๆ จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปะของภาครัฐและเอกชนหลายคณะ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาศิลปะภาพพิมพ์ในสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ เกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ. 2538 ถึงแม้ท่านจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ยังคงได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรต่อมาอีก นอกเหนือจากงานทางวิชาการที่กล่าวมาแล้ว ท่านยังมีผลงานภาพพิมพ์และงานจิตรกรรม อีกทั้งท่านยังเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญในการพัฒนาการออกแบบแสตมป์ไทยให้ทันสมัยเป็นสากล โดยการนำเอกลักษณ์ของไทยที่มีแบบอย่างในทางศิลปวัฒนธรรมที่งดงามมาออกแบบเป็นดวงแสตมป์ ที่ได้ใช้ติดจดหมายและไปรษณียภัณฑ์ไปยังทั่วทุกมุมโลก อันเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์อันดีงามของชาติไทยอีกวิธีหนึ่งด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ เคยจัดงานแสดงผลงานหลายครั้งทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

งานที่ภาคภูมิใจที่สุดงานหนึ่งในชีวิตของศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ คือการที่ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เขียนภาพประกอบในหนังสือพระมหาชนก หลังจากนั้น ท่านก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ออกแบบลวดลายพื้นและเขียนภาพเพดานพระอุโบสถใหม่ วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ร่วมกับศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง อีกด้วย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ได้รับเลือกเป็นศิลปินเกียรติยศ สาขาภาพพิมพ์ จากสถาบันศิลปะกรุงฟลอเรนส์ อิตาลี โดยรัฐบาลอิตาลี เมื่อ พ.ศ. 2506 ได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม ในการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติในประเทศไทย และได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ได้รับการยกย่องว่าเป็นทั้งครูผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้แก่ศิษย์ด้วยความเสียสละ ด้วยวิญญาณแห่งความเป็นครูอย่างแท้จริง และเป็นศิลปินที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะทั้งระดับชาติและระดับสากล อีกทั้งยังอุทิศตนทำงานเพื่อวงการศิลปะและสังคมอย่างสม่ำเสมอ ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) พ.ศ. 2541

การศึกษา[แก้]

  • พ.ศ. 2491 - สำเร็จสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จาก โรงเรียนนาคประดิษฐ์วิทยา อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
  • พ.ศ. 2492 - สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสิงห์บุรี
  • พ.ศ. 2494 - โรงเรียนเพาะช่าง
  • พ.ศ. 2500 - ปริญญาตรีศิลปบัณฑิต (สาขาจิตรกรรม) มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • พ.ศ. 2504 - Diploma of Fine Arts จาก L’Accademia di Belle Arti di Roma กรุงโรม ประเทศอิตาลี

การรับราชการ[แก้]

งานด้านวิชาการ[แก้]

เป็นอาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยสอนวิชาจิตรกรรม องค์ประกอบศิลป์ วาดเส้น ทฤษฎีศิลป์ ทัศนียวิทยา และกายวิภาควิทยา ปัจจุบัน สอนวิชาภาพพิมพ์

งานเขียนหนังสือ และตำรา[แก้]

ประหยัด พงษ์ดำ. กรรมวิธีสร้างแม่พิมพ์ผิวนูนภาพพิมพ์แกะไม้. กรุงเทพมหานคร: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), พ.ศ. 2536, 168 หน้า

งานบริการวิชาการ[แก้]

กรรมการสภาต่าง ๆ[แก้]

การแสดงงานศิลปะที่สำคัญ และรางวัลเกียรติยศ[แก้]

ผลงานภาพพิมพ์รูปไก่ขันของศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ
  • พ.ศ. 2499 - รางวัลที่ 3 ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 7
  • พ.ศ. 2500 - รางวัลที่ 2 ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 8
  • พ.ศ. 2501 - รางวัลที่ 2 ประเภทเอกรงค์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 9, รางวัลที่ 3 ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 9 และรางวัลที่ 3 ประเภทมัณฑนศิลป์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 9
  • พ.ศ. 2502 - รางวัลภาพจิตรกรรมจากแคว้นบราซาโน ประเทศอิตาลี และรางวัลที่ 2 ประเภทเอกรงค์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 10
  • พ.ศ. 2503 - รางวัลภาพจิตรกรรมจากแคว้นกูปิโอ ประเทศอิตาลี
  • พ.ศ. 2504 - รางวัลภาพจิตรกรรมจากสถาบันศิลปะกรุงโรม ประเทศอิตาลี และรางวัลที่ 2 ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 12
  • พ.ศ. 2505 - รางวัลที่ 2 ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 และรางวัลจิตรกรรมจากกรุงไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม
  • พ.ศ. 2506 - รางวัลที่ 1 ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 14 และรางวัลที่ 3 ประเภทเอกรงค์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 13
  • พ.ศ. 2506 - ได้รับเลือกเป็นศิลปินเกียรติยศสาขาภาพพิมพ์ (Accademic Onorario Classe Incisione) โดยรัฐบาลอิตาลี จากสถาบันศิลปะกรุงฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี (L’Accademia Florentina delle Arti del Disegno)
  • พ.ศ. 2507 - รางวัลที่ 2 ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 15, รางวัลจิตรกรรม (ภาพพิมพ์) ประเทศยูโกสลาเวีย และรางวัลจิตรกรรม ประเทศบังคลาเทศ
  • พ.ศ. 2524 - รางวัลที่ 1 ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 27 และได้รับเกียรติเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2539 - ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2541 - ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์)
  • พ.ศ. 2543 - ศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาพพิมพ์) มหาวิทยาลัยศิลปากร

อนิจกรรม[แก้]

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยม และฉัตรเบญจาตั้งประดับเป็นเกียรติยศ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยสาเหตุระบบหายใจและไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ณ บ้านเลขที่ 237/1 ซอยเพชรเกษม 72 แขวงบางแคเหนือ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. ของวันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557 สิริรวมอายุ 79 ปี 326 วัน[1][2][3][4]

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยม พร้อมฉัตรเบญจาตั้งประกอบเกียรติยศ และพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ณ ศาลา 1 (เตชะอิทธิพร) วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 19.00 น. และรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พร้อมทั้งพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ มีกำหนด 7 วัน ระหว่างวันที่ 19 ถึง 25 กันยายน พ.ศ. 2557 ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพวงมาลาหลวง และพวงมาลาของพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย[5]

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • ส่งเสริมวัฒนธรรม,กรม. ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2541. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
  • ส่งเสริมวัฒนธรรม, กรม. โครงการเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ : ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ[10]
  • ราชภัฏเทพสตรี, มหาวิทยาลัย. สารสนเทศท้องถิ่น : บุคคลจากจังหวัดสิงห์บุรี[11]
  1. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, ข่าวสิ้นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ[ลิงก์เสีย], 19 กันยายน พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2557.
  2. ไทยรัฐออนไลน์, ข่าวอาลัยศิลปินแห่งชาติ 'ศ.ประหยัด พงษ์ดำ' เสียชีวิตแล้ว, 19 กันยายน พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2557.
  3. โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, ข่าวสิ้นศิลปินแห่งชาติอีกราย"ศ.ประหยัด พงษ์ดำ"[ลิงก์เสีย], 19 กันยายน พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2557.
  4. แนวหน้าออนไลน์, ข่าว 'ประหยัด พงษ์ดำ' ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 79 ปี, 19 กันยายน พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2557.
  5. ไทยรัฐออนไลน์, ข่าวในหลวงพระราชทานโกศแปดเหลี่ยม บรมครูศิลปะ 'ประหยัด พงษ์ดำ', 19 กันยายน พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2557.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2010-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๘ ข หน้า ๗, ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๙, ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๒๓, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๕๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๓๔, ๑๔ เมษายน ๒๕๒๙
  10. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, ประวัติและผลงาน ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 15 มีนาคม พ.ศ. 2557 สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2557.
  11. มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี, ประวัติศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ[ลิงก์เสีย] สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2557.